วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ซึ่งมาถึงปีนังในคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ อย่างแปลกสักหน่อย ด้วยในคราวเมล์นั้นมีจดหมายลูกหลานส่งมาจากวังวรดิศด้วย พนักงานไปรษณีย์เขาเชิญแต่ลายพระหัตถ์มาส่งในวันศุกร์ตอนบ่าย แต่จดหมายลูกหลานเขาเอาส่งต่อวันเสาร์เช้า ดูราวกับเขาแก้ตัวที่ส่งลายพระหัตถ์ฉบับเมล์ก่อนช้าไปถึงวันอังคาร

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม

๑) คำว่า “บาลี” ดูใช้ความหมายต่างกันเป็น ๒ นัย นัย ๑ เมื่อพูดถึงพระไตรปิฎกเรียกความในคัมภีร์พระธรรมวินัยที่สังคายนาว่า “บาลี” และเรียกคัมภีร์เอกชนแต่งอธิบายคำในบาลีว่า “อรรถกถา” และเรียกคัมภีร์ที่เอกชนแต่งอธิบายคำในอรรถกถาว่า “ฎีกา” ตามนัยนี้คำว่า “บาลี” หมายความว่าหนังสือพวก ๑ อีกนัยหนึ่ง พวกนักปราชญ์ชาวตะวันตกเรียกภาษาที่แต่งพระไตรปิฎกว่า “ภาษาบาลี” ความ ๒ นัยขัดกัน หม่อมฉันไม่ทราบว่าพระเถระผู้รู้ท่านตัดสินกันอย่างไร

แต่มีคำที่พระเถระแต่ก่อนท่านใช้อีกคำ ๑ อาจจะเป็นทูลกระหม่อมจะทรงริก็เป็นได้ เรียกว่า “ภาษามคธ” นักปราชญ์ฝรั่งบางคนก็ใช้ว่า Magathi หมายความว่าภาษาที่ใช้กันในมคธราษฎ์ ถ้าใช้คำนี้ไม่ขัดกับนัยที่เรียกคัมภีร์ บาลี อรรถกถา ฎีกา หม่อมฉันจึงชอบใช้คำว่า “ภาษามคธ” แต่ไม่ได้หมายจะตัดสินว่าอย่างไรเป็นถูก

๒) พระเจดีย์ที่เรียกว่า “พระธาตุอุเทน” นั้น เป็นพระมหาธาตุของเมืองท่าอุเทน หม่อมฉันได้เคยเห็นแล้ว ถ่ายแบบพระธาตุพนมไปสร้างนั้นเอง พระธาตุเชิงชุมที่เมืองสกลนครเดิมเป็นปรางค์ขอมอย่างย่อมๆ ก่อหุ้มแปลงเป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยม อย่างพระธาตุพนม พระเจดีย์ ๔ เหลี่ยมที่ถ่ายแบบพระธาตุพนมไปสร้างที่อื่นในภาคอีสานเห็นจะยังมีอีก คติที่ชอบถ่ายแบบพระเจดีย์สำคัญไปสร้างที่อื่นๆ ยังมีตามหัวเมืองภาคอื่นอีก เช่นในมณฑลนครศรีธรรมราช พระสถูปกลมของเก่าที่เมืองพัทลุงและเมืองสงขลาก็ถ่ายแบบพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชไปสร้างทั้งนั้น ทางมณฑลพายัพที่เมืองลำพูนมีพระเจดีย์ ๔ เหลี่ยมแบบเมืองละโว้ ทำเป็นชั้นๆ ซ้อนกันขึ้นไปจนถึงยอด แต่ละชั้นมีคูหาตั้งพระพุทธรูปยืนรายตลอดด้าน อยู่ที่วัดหนึ่งข้างนอกเมือง เดิมเรียกกันว่า “วัดกู่กุด” หมายความว่า พระเจดีย์ยอดด้วน หม่อมฉันไปเห็นรู้แน่ว่าเป็นแบบพระเจดีย์เมืองละโว้ จึงบอกให้เรียกชื่อวัดนั้นว่า วัดจามเทวี มาจนบัดนี้ พระเจดีย์ ๔ เหลี่ยมองค์นั้นก็ถ่ายแบบไปสร้างไว้ที่เมืองเชียงใหม่ และเมืองเชียงแสน

หม่อมฉันเคยสังเกตแบบพระเจดีย์ที่สร้างในกรุงเทพฯ เข้าใจว่าในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ สร้างแต่พระปรางค์ เช่นที่วัดระฆัง วัดอรุณ และวัดราชบุรณะ เป็นต้น กับพระเจดีย์เหลี่ยม “ไม้เรียวหวดฟ้า” เช่นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพน และพระสมุทรเจดีย์ เป็นต้น ทูลกระหม่อมเสด็จขึ้นไปเมืองเหนือเมื่อทรงผนวช ทรงนำแบบพระสถูปกลมลงมาสร้างที่วัดบวรนิเวศและวัดบรมนิวาสก่อน แล้วสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เอาอย่างไปสร้างที่วัดประยูรวงศ์ ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ แต่ไม่ปรากฏว่ามีพระสถูปกลมของหลวงสร้างที่ไหนในรัชกาลนั้น

๓) อธิบายที่พระยาอนุมานทูลถึงเรื่องชื่อแม่น้ำตาปี และเมืองสุราษฎร์ธานีนั้นถูกแล้ว เมืองท่าทองเดิมตั้งที่บ้านท่าทองอยู่ริมทะเลอ่าวบ้านดอน เป็นเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อรัชกาลที่ ๓ เจ้าพระยานคร (น้อย) ตั้งต่อเรือรบของหลวงที่บ้านดอนในแม่น้ำหลวง จึงย้ายเมืองท่าทองเข้าไปตั้งที่บ้านดอน ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ยกศักดิ์เมืองท่าทองเป็นหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ จึงขนานนามใหม่ว่า เมืองกาญจนดิษฐ แต่ก็คงตั้งอยู่ที่บ้านดอนนั่นเอง ผู้ที่บอกอธิบายชื่อแม่น้ำตาปี ว่าเพราะน้ำไหลตาปีสี่ตาชาตินั้น ก็คือได้ตำรามาแต่พวกอาจารย์ที่แปลชื่อตำบลสามเสนว่ามาแต่ ๓๐๐,๐๐๐ และชื่อเมืองสุพรรณว่ามาแต่ ๒๐๐๐ ประหลาดอยู่ที่ตำรานั้นยังไม่สูญ

๔) ชื่อเมืองเวียงจันท นั้นอธิบายในพงศาวดารลานช้างว่าเพราะสร้างระเนียดปราการด้วยไม้จันท จึงเรียกว่าเมืองเวียงจันท หมายความอย่างเดียวกับวังจันท ตำหนักจันท และเรือนจันทนั้นเอง จะเลยทูลต่อไป ถึงอธิบายชื่อวังจันทรเกษม เคยถามเป็นปัญหามาแต่ก่อนว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกชื่อว่าวังจันทร บางคนเห็นว่าจะเป็นเพราะอุปราชจันทของขุนวรวงศาธิราชสร้าง ก็ไม่มีใครเห็นชอบด้วย แต่ก็ยังไม่พบอธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกว่าวังจันทร ครั้งหนึ่งหม่อมฉันขึ้นไปเมืองพิษณุโลกไปถามหาของโบราณในเมืองนั้น เขาบอกว่ามีวังจันทเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณอยู่ทางฝั่งตะวันตก หม่อมฉันไปตรวจดูก็เห็นจริงดังเขาบอก จึงสั่งให้ถางถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตร (เข้าใจว่าท่านก็ได้เคยเสด็จไปทอดพระเนตรแล้ว) วังจันทนั้นคงสร้างเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปประทับอยู่เมืองพิษณุโลก แลเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และสมเด็จพระนเรศวรเมื่อทรงครองเมืองพิษณุโลกในชั้นหลังต่อมา

ในเรื่องพงศาวดารมีว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรครองเมืองพิษณุโลกในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้น ทรงสร้าง “วังใหม่” เป็นที่ประทับเวลาเสด็จลงมาพระนครศรีอยุธยา วังใหม่นั้นคือที่เรียกว่า วังจันทรเกษมเดี๋ยวนี้เป็นแน่ เพราะเมื่อไทยประกาศเป็นอิสระ สมเด็จพระนเรศวรกวาดคนเมืองเหนือลงมาหมด มาตั้งสู้ศึกหงสาวดีที่ในกรุงแต่แห่งเดียว เป็นเหตุให้วังจันทรที่เมืองพิษณุโลกร้างแต่นั้นมา สมเด็จพระนเรศวรลงมาประทับที่ “วังใหม่” พวกชาวเมืองเหนือจึงเอาชื่อวังที่เคยประทับแต่เดิมมาเรียกวังใหม่ว่าวังจันทร ชื่อวังจันทรในพระนครศรีอยุธยาจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนั้น คำว่า “เกษม” เห็นจะต่อใหม่เมื่อภายหลังมาช้านาน ยังมีวินิจฉัยต่อไปอีก ว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกว่าวังจันทเปลี่ยนเป็น “พระราชวังบวรสถานมงคล” อธิบายข้อนี้ก็มีเค้าในหนังสือพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ว่าสมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๓ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๑๓๖ จึง “เสด็จเถลิงมหาปราสาท” คือเสวยราชย์แล้วทำศึกติดพันอยู่กับเมืองหงสาวดี ๓ ปี จนได้เมืองหงสาวดีแล้วจึงทำพระราชพิธีราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร ในตอน ๓ ปีนี้ในเวลาว่างสงครามสมเด็จพระนเรศวรคงประทับอยู่ที่วังจันท คงเรียกว่า “พระราชวังจันท” เป็นคู่กับ “พระราชวังหลวง” ถึงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรวังจันท ก็เห็นจะเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถ ต่อนั้นมาไม่ปรากฏว่าเจ้านายพระองค์ใดประทับที่วังจันท พระศรีสุธรรมราชากับพระนารายณ์ช่วยกันกำจัดเจ้าฟ้าชัยแล้ว พระศรีสุธรรมราชาเสวยราชย์อยู่พระราชวังหลวง ให้พระนารายณ์เป็นพระมหาอุปราชอยู่วังจันท เมื่อพระนารายณ์ชิงราชสมบัติได้จากพระศรีสุธรรมราชาธิราชแล้ว ต้องปราบศัตรู คือพวกพระไตรภูวนาทิตยวงศ์เป็นต้น ต่อมาอีกหลายปี (หาจำนวนปีไม่พบ) แต่คงประทับอยู่จนสร้างพระที่นั่งแล้วจึงเสด็จไปประทับพระราชวังหลวง แต่ที่วังจันทรก็ยังเอาเป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งเวลาแปรสถาน ข้อนี้พึงเห็นได้ที่สร้างพระที่นั่งพิมานรัตยา และพระที่นั่งพิไลยศัลลักขล้วนเป็นของถาวรทั้งนั้น น่าจะเป็นในตอนนี้ที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้เปลี่ยนนามวังจันทรเป็น “พระราชวังบวรสถานมงคล” โดยนิมิตที่ท่านผู้ได้เสด็จอยู่ได้ประสบชัยมงคลทั้งสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระองค์สมเด็จพระนารายณ์เอง เพราะฉะนั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาธิราช ทรงตั้งหลวงสรศักดิ์เป็นพระมหาอุปราชให้ประทับอยู่ที่วังจันทร ขุนนางในพระมหาอุปราชจึงได้นามเรียกรวมกันว่า “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” นามข้าราชการ “กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข” ก็น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่เห็นได้ว่าผูกขึ้นจากคำ “วังหลัง” ต่างกันกับพระราชวังบวรสถานมงคล แต่คนก็คงเรียกตัววังว่า “วังจันทร” อยู่อย่างเดิม ชื่อวังจันทรจึงคงอยู่ต่อมา

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม

๕) ที่ทรงปรารภชื่อมหาดไทยและกลาโหมนั้น หม่อมฉันเคยเขียนอธิบายให้พระยาอินทรมนตรีครั้ง ๑ ดูเหมือนได้ถวายสำเนาไว้แล้วทรงค้นดูเถิด จะทูลตามความสังเกตด้วยเรื่อง “นามบัญญัติ” คือชื่อที่คิดประดิษฐ์ขึ้นเรียกเฉลิมพระเกียรติตั้งแต่พระนามพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้น ลงมาจนนามขุนนางต่างๆ ที่มีในทำเนียบ หม่อมฉันเห็นว่าต้นตำรามาแต่อินเดีย จึงใช้คำภาษามคธและสังสกฤตเป็นพื้น เหมือนกันทั้งในเมืองไทย เมืองเขมรและเมืองพม่า ที่เอามาสวมกันลงไม่สนิทก็มี เช่นตำแหน่งจตุสดมภ์ เดิมเรียกเป็นภาษาไทยว่า เมือง วัง คลัง นา เอาคำภาษาสังสกฤตมาสวมว่า นครบาล มนเทียรบาล โกษาธิบดี เกษตราธิการ คนก็ยังพอใจเรียกอย่างเดิม แต่กรมมหาดไทยกลาโหมภายหลัง ชื่อภาษาไทยไม่เคยมีมาแต่ก่อน ชื่อจึงเป็นภาษามาแต่อินเดีย ที่เรียกว่ามหาดไทยและกลาโหมอาจจะเพี้ยนคำเดิมบ้างก็เป็นได้ จึงยังมีเค้า “กลห” ปรากฏอยู่

๖) ที่หนังสือ กฎหมายทำเนียบศักดินา แบ่งข้าราชการเป็น “พลเรือน” ภาค ๑ และ “ทหารหัวเมือง ภาค ๑ นั้น แต่เดิมหม่อมฉันก็สงสัย มาจับเหตุได้ต่อภายหลัง คือ เป็นพระทำเนียบข้าราชการพลเรือนยาวเขียนเต็มสมุดไทยเล่ม ๑ แต่ทำเนียบข้าราชการทหารกับข้าราชการหัวเมืองสั้นเอาเขียนรวมกันไว้ในสมุดไทยเล่ม ๑ จึงจดใบปกว่า “ศักดินาทหาร (และ) หัวเมือง” เมื่อพิมพ์กฎหมายผู้พิมพ์ไม่พิจารณาว่าทำเนียบหัวเมืองมีบานแผนกต่างหาก พิมพ์ตามต้นสมุดไทย จึงดูเป็นหัวเมืองรวมอยู่ในข้าราชการฝ่ายทหาร ที่ถูกควรพิมพ์แยกเป็น ๓ ภาค พลเรือนภาค ๑ ทหารภาค ๑ หัวเมืองภาค ๑

๗) เรื่องสัตว์หิมพานต์ที่ประทานอธิบาย ว่ากินนรจีนทำเมื่องานพระเมรุสมเด็จพระนางสุนันทานั้นเป็นความจริงที่ข้องใจหม่อมฉันชอบกลนักหนา คือคิดไม่เห็นว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะโปรดรูปกินนรจีนว่างดงามอย่างไร จึงให้เอามาทำแทนรูปสัตว์หิมพานต์ในงานพระเมรุ รูปกินนรจีนที่หม่อมฉันได้เห็นเอาไปไว้ที่วัดเดิม ก็ไม่ทราบว่าทำงานในพระเมรุครั้งไหน ถามผู้ใหญ่ (จะเป็นใครก็นึกไม่ออก) เขาบอกว่าทำเมื่องานพระเมรุสมเด็จพระเทพศิรินทร (หรือมิฉะนั้นออกพระนามสมเด็จพระนางสุนันทา แต่หากหม่อมฉันลืมไปเสีย และบอกต่อไปว่าเหมือนอย่างครั้งพระเมรุสมเด็จพระเทพศิรินทร) หม่อมฉันจึงจับเอามาจำว่าทำเมื่องานพระเมรุสมเด็จพระเทพศิรินทร แต่ก็มีเค้าอยู่ ด้วยเมื่องานพระศพสมเด็จพระนางสุนันทานั้น ดูเหมือมสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตั้งพระราชหฤทัยทำตามแบบอย่างครั้งพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทร ที่มีกงเต็ก เพราะเหตุนั้น ชวนให้เห็นว่าที่โปรดให้ทำกินนรจีนก็เพราะเหตุอันเดียวกัน

๘) คำที่พรรณนาถึงสัตว์หิมพานต์ก็ดี ป่าหิมพานต์ก็ดี ยกตัวอย่างเช่นที่พรรณนาในเทศน์มหาชาติเป็นต้น ล้วนเป็นคำของผู้ที่ไม่เคยเห็นสัตว์และสถานที่ที่พรรณนาทั้งนั้น ฝรั่งบวชที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ เคยแต่งหนังสือลงพิมพ์อธิบายเรื่องอะไรต่างๆ หม่อมฉันสังเกตมา ก็ไม่เห็นมีอะไรเป็นแก่นสารที่ว่าจะไปอยู่ถ้ำในป่าหิมพานต์ ก็ว่าไปตามเชื่อถือคำของผู้ไม่เคยไปนั่นเอง หม่อมฉันมีเรื่องจะเล่าถวายเมื่อครั้งหม่อมฉันกลับจากยุโรปมาทางอินเดีย พระยาศิริธรรมบริรักษ์ (ทับ) เวลานั้นยังเป็น “นายทับ” มหาดเล็กรับใช้ของหม่อมฉันออกไปรับที่เมืองกาลกัตตา หม่อมฉันพาไปเที่ยวถึงเมืองดาชีลิงที่บนภูเขาหิมาลัยด้วย หม่อมฉันบอกว่าที่เรามานี้อยู่ในป่าหิมพานต์ เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ พระยาศิริธรรมฯ ไปหาท่านธรรมทานาจารย์ (จุ่น) วัดสระเกศผู้เป็นอาจารย์ ท่านถามว่าได้ไปถึงไหน พระยาศิริธรรมบอกว่า “ผมได้ไปถึงบนเขาในป่าหิมพานต์” ถูกท่านเจ้าจุ่นเอ็ดขนานใหญ่ ว่าไปเมืองนอกประเดี๋ยวเดียวไปเรียนวิชาโกหกกลับมา พระยาศิริธรรมว่าหม่อมฉันได้บอกเองว่าไปถึงป่าหิมพานต์ ท่านก็ยิ่งโกรธว่า “พูดดูราวกับข้าไม่รู้ ป่าหิมพานต์นั้นไปได้แต่เทวดากับฤาษีสิทธิวิทยาธรที่รู้เหาะเหิน เองเป็นมนุษย์เดินดินจะไปได้อย่างไร” ข้าไม่เชื่อ พระยาศิริธรรมฯ ก็สิ้นพูด

๙) พระกริ่งที่สมเด็จพระสังฆราชวัดสุทัศน์หล่อนั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าหล่อ ๓ คราว คราวแรกหล่อเมื่อท่านยังเป็นสมเด็จพระวันรัตนหม่อมฉันได้ไปเห็นที่กุฏิของท่าน เมื่อหม่อมฉันออกมาอยู่ปีนังหม่อมฉันเคยสั่งมหาภุชงค์ให้ไปขอท่านสักองค์ ๑ จะเอามาไว้ให้ลูกเมื่อบวช ท่านตอบมาว่าพระกริ่งที่หล่อนั้นให้เขาไปเสียหมดแล้วหามีเหลืออยู่ไม่ ต่อมาเมื่อท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว หม่อมฉันได้ทราบจากพระพรหมมุนี (ปลด) เมื่อออกมาปีนัง ว่าสมเด็จพระสังฆราชกำลังปรารภจะหล่อพระกริ่ง คงหล่อพระกริ่งที่แจกเมื่อฉลองอายุ พระที่หล่อเมื่องานฉลองอายุนั้นหม่อมฉันนึกว่าก็เห็นจะหล่อพระกริ่งอีกเป็นครั้งที่ ๓ ด้วยมีคนขอมาก

๑๐) ซึ่งทรงปรารภถึงลักษณะคนชอบเล่นของเก่านั้น พิเคราะห์ตามกระบวนที่เล่นกันดูข้อใหญ่อยู่ที่คำว่า “เล่น” คือชอบของประเภทใดก็เสาะแสวงหาของประเภทนั้น “ที่คนอื่นไม่มี” มาเป็นของตน คำว่า “เก่า” ก็คือว่ามีน้อย “หาได้ยาก” เท่านั้น หาเกี่ยวกับต้องเป็นของดีของงามอย่างไรไม่ หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง เล่นแต่ด้วยอุปาทานมิใช่เล่นด้วยความรู้ พึงเห็นได้ดังเช่นรูปพระกาฬจำหลักไม้ที่ตรัสเล่ามาว่าจางวางรอดเอาถวายขาย

นายรอดคนนั้นหม่อมฉันรู้จัก เหตุที่จะรู้จักก็อยู่ข้างประหลาด ด้วยนายรอดไปขโมยพระเศียรพระศิลาลงมาจากเมืองลพบุรี กรมการเขาให้คนตามลงมาจับได้ในกรุงเทพฯ หม่อมเจ้าปิยภักดีนาถมาอ้อนวอนให้หม่อมฉันช่วยขอโทษอย่าให้ต้องติดคุก เพราะนายรอดเป็นคนเคยหาของเข้าพิพิธภัณฑ์ของเธอ เธอจึงตั้งเป็นจางวางของเธอ หม่อมฉันช่วยไว้ได้ครั้ง ๑ แต่ภายหลังมาจางวางรอดก็ต้องติดคุก ด้วยไปขโมยพระพุทธรูปที่วัดเทวราชกุญชร

รูปพระกาฬที่ตรัสว่าจางวางรอดเอาไปขายนั้น หม่อมฉันคิดดูไม่เห็นว่าจะมีที่อื่น นอกจากเจว็ดในเทวสถานหนึ่งที่หน้าหับเผย จางวางรอดคงขโมยจากเทวสถานนั้น หรือเมื่อไปอยู่ที่อื่นภายหลังรื้อเทวสถาน เจ้าปิยะไม่กล้ารับไว้จึงเอาไปขายที่อื่น หม่อมฉันเคยเห็นรูปพระกาฬอีกรูปหนึ่ง แต่เป็นรูปหล่อโลหะรมสีดำพวกตำรวจเขาจับได้จากคนจรจัดคน ๑ ไม่รู้ว่าเดิมอยู่ที่ไหน จึงส่งไปถามหม่อมฉันที่หอพระสมุดฯ หม่อมฉันก็ไม่เคยเห็นรูปพระกาฬองค์นั้นมาแต่ก่อน แต่พิจารณาดูเห็นทำรูปพระกาฬนุ่งผ้าโจงกระเบน หม่อมฉันก็บอกเขาได้แต่เป็นของหล่อใหม่มิใช่ของโบราณ ต่อมาไม่ช้าก็ได้ความว่ารูปพระกาฬนั้นเป็นของพระครูปลื้มหล่อ เอาขึ้นไปไว้ที่พระนครหลวง พวกขโมยไปลักเอาลงมา

ยังมีอีกเรื่อง ๑ เนื่องกับพระยาดำรงธรรมสาส์นที่ท่านเสด็จไปเผาศพ เขาเป็นคนคุ้นเคยกับหม่อมฉันมาแต่ก่อน เดิมหม่อมฉันได้พระนาคปรกหล่อทองสัมฤทธิ์ของโบราณมาจากเมืองไชยาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดให้ตั้งไว้ในศาลาหม่อมเฉื่อยที่วัดเบญจมบพิตร ครั้นถึงรัชกาลที่ ๗ มีพวกขโมยปีนกำแพงวัดเข้าไปลักเอาองค์พระพุทธรูปไป ต่อมาสัก ๓ วัน พระยาดำรงธรรมสาส์นไปเห็นพระองค์นั้นอยู่ที่โรงโปเกแห่ง ๑ แกจำได้รีบมาบอกหม่อมฉัน ๆ ไปตามเอาพระกลับมาได้ จึงให้ไปเอานาคมาจากวัดเบญจมบพิตรคุมเข้ากับองค์พระอย่างเดิม รักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานจนบัดนี้

๑๑) เมืองทุ่งยั้งนั้นเป็น ๒ เมืองอยู่ใกล้ๆ กัน เมืองที่มีวัดมหาธาตุเป็นเมืองสร้างครั้งสมัยสุโขทัย มีแนวคูแลปราการปรากฏอยู่ อีกเมืองหนึ่งเรียกกันว่า “เมืองเจ้าเงาะ” คือเมืองท้าวสามนต์ ด้วยสมมติกันว่าเจ้าเงาะตีคลีกับพระอินทรที่นั่น ชี้หลุมที่มีอยู่ตามพื้นศิลาแลงให้ดู อ้างว่าเป็นหลุมคลีของเจ้าเงาะ แต่แรกหม่อมฉันก็ “เชื่อ” ไม่ได้พยายามไปดูเมืองนั้น จนถึงรัชกาลที่ ๗ ได้ทราบว่ามีผู้ขุดทรัพย์แผ่นดินที่เมืองเจ้าเงาะ เมื่อหม่อมฉันขึ้นไปเมืองเชียงใหม่คราวจัดการรับเสด็จ จึงสั่งให้เขาถางเมืองเจ้าเงาะไว้ให้ดู ได้ไปดูด้วยกันกับศาสตราจารย์เซเดส์เห็นเข้าก็ประหลาดใจด้วยแผนผังเมืองทำแนวปราการเป็นรูปไข่แปลกกับเมืองอื่นๆ ในเมืองไทยมีแต่เมืองลำพูนอีกเมืองเดียวที่แผนผังเป็นรูปไข่อย่างเมืองเจ้าเงาะ ศาสตราจารย์เซเดส์ว่าแผนผังอย่างรูปไข่นั้น นักปราชญ์เขาสังเกตกันว่า เป็นเมืองสร้างก่อนสมัยประวัติศาสตร์ ทรัพย์แผ่นดินที่ขุดได้ก็ได้มโหรทึกซึ่งนับว่าเป็นของชั้นก่อนประวัติศาสตร์หลายใบ หม่อมฉันตามเอามาได้ดูเหมือน ๓ ใบ เอาไว้ในพิพิธภัณฑสถานจนบัดนี้ แต่ในบริเวณเมืองเจ้าเงาะไม่มีของก่อสร้างสิ่งใด

๑๒) ลักษณะพระพุทธรูปธิเบตนั้น พระยาอนุมานเขาพรรณนาไว้ในหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” มีพิสดารมาก แต่หม่อมฉันไม่สู้จะได้เอาใจใส่นักจึงไม่สามารถทูลอธิบายได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. ชื่อเมืองนี้ พิมพ์ตามต้นฉบับทุกแห่ง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ