วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ถอยหลังเข้าคลอง

๑) จะย้อนหลังกราบทูลเรื่องป่าหิมพานต์ เพราะว่าจับใจในพระดำรัสยิ่งนัก

ที่ตั้งชื่อว่าสัตว์หิมพานต์นั้น หมายถึงสัตว์ที่ทำประกอบด้วยกระหนกทกทวยไม่ได้หมายว่าเป็นสัตว์ที่อยู่ในป่าหิมพานต์ อันสัตว์ที่อยู่ในป่าหิมพานต์นั้น ก็เป็นสัตว์อย่างตรงๆ ดื้อๆ เช่น พรรณนาถึงสระอโนดาตก็ว่า มีทางน้ำไหลออก ๔ ทิศ ทางน้ำไหลออกนั้นเป็นหน้าม้า หน้าช้าง หน้าโค หน้าสิงห์ (คือ Lion) แล้วตกไปเป็นลำน้ำไหลไปสู่ที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ ไม่ปรากฏว่ามีสัตว์อะไรซึ่งไม่มีอยู่ที่อื่น

สัตว์ซึ่งประกอบด้วยกระหนกทกทวย อันเรียกว่าสัตว์หิมพานต์นั้น เห็นทีจะมาแต่สิงห์หรือสีห์มากกว่าอื่น เพราะในลางประเทศไม่มีตัวจริงจนทำให้ไม่รู้จัก จึ่งเขียนเดาไปตามชอบใจ แล้วก็จำไปทำต่อๆ กันไป

ทีหลังพวกคำพูดเปรียบต่างๆ เช่น คชสีห์ ก็เปรียบว่าช้างกล้า ราวกับว่า สีห์ หรือ นรสิงห์ ก็เปรียบว่าคนกล้าราวกับสิงห์ เมื่อไม่เข้าใจว่าเป็นคำเปรียบก็ทำเป็นรูปครึ่งช้างครึ่งสีห์ และเป็นรูปครึ่งคนครึ่งสิงห์ ก็เป็นอันมีรูปแปลกไป เอารวมกันเข้ากับสัตว์ซึ่งเดาทำขึ้น เรียกว่าสัตว์หิมพานต์ แต่ที่จริงสัตว์ในป่าหิมพานต์หาได้มีรูปวิปลาสเช่นนั้นไม่เลย

บรรดาสัตว์ซึ่งเรียกว่าสัตว์หิมพานต์ สังเกตจัดได้ว่ามี ๔ จำพวก คือ (๑) เป็นสัตว์ตรงๆ (๒) ลอกอย่างเขามา (๓) คิดขึ้นจากคำ กับ (๔) ผสมเอาตามชอบใจ อย่างที่ว่าเป็นสัตว์ตรงๆ นั้นก็เช่น ช้าง ม้า เป็นต้น อย่างที่ว่าลอกจากเขามานั่นก็เช่น สิงห์ สีห์ เป็นต้น ที่คัดมาแล้วผิดจากเดิมไปนั้นเป็นธรรมดาที่ปลายมือของช่าง อย่างที่ว่าคิดขึ้นจากคำก็คือ ทักทอ และ สางแปรง (หรือแปลงก็ไม่ทราบ) เป็นต้น คำ “ทักทอ” ก็มีมาในคำกลอนว่า “ทักทอนรสิงห์เม่นหมี” ทักทอ จะเป็นตัวอะไรก็ไม่ทราบ สางนั้นมีคำอยู่ว่า “เสือสาง” มีคนเดาว่าเป็นเสือช้าง คำ “สาง” เขาเห็นว่ามาแต่ซ่าง ว่าก็เข้าที แต่น่าจะเป็นไปทางผีก็ได้ ด้วยมีคำอยู่ว่า “ผีสาง” อย่างที่ว่าผสมก็เช่น “เหมราอัศดร” ตามที่กราบทูลมาก่อนแล้วนั้น

๒) จะย้อนหลังกราบทูลอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อจับใจในพระดำรัสอยู่เหมือนกัน ที่ว่าการสังเกตวันเดือนปีด้วยสิ่งที่เห็นอยู่หยาบๆ นั้น ในคำที่เรียกว่า “เดือน” ก็หมายถึงดวงจันทร์ คือ ดูพระจันทร์ เมื่อเพ็ญถึงเพ็ญก็นับว่าเดือนหนึ่ง แต่แรกทีก็จะนับเป็นเดือนที่ ๑ ที่ ๒ ทีหลังก็สังเกตว่า เพ็ญที่ดาวฤกษ์อันใดก็เอาฤกษ์นั้นมาให้ชื่อเดือน นี่ว่าตามคติทางอินเดีย แต่เราคงถือเอาเดือนที่ ๑ ที่ ๒ เป็นเกณฑ์ อย่างเดียวกับจีน แต่ก็สงสัยอยู่ว่าดาวฤกษ์นั้นนับเอาฤกษ์อัศนีเป็นต้น อันชื่อนี้เลือนมาแต่ภาษาสังสกฤต ซึ่งเรียกว่า “อัศวินี” แต่ภาษามคธเรียกไปเสียอย่างหนึ่งเป็น “อัสสยุช” ชื่อเดือนก็เป็นไปตามภาษามคธ แต่ทำไมชื่อฤกษ์นั้นจึงไปตกอยู่ที่เดือน ๑๑ หรือเขาจะถือเอาการออกวัสสาเป็นขึ้นฤดูหนาวตั้งต้นปีใหม่ที่เดือน ๑๑ พระเจนจีนอักษรก็เคยบอกว่า ข้างจีนเป็นวันขึ้นปีใหม่มา ๔ ตกแล้ว แต่แรกเป็นขึ้นเดือน ๓ แล้วเปลี่ยนเป็นเดือน ๑๒ แล้วเปลี่ยนเป็นเดือน ๑๑ แล้วเปลี่ยนเป็นเดือน ๓ ลงอย่างเก่า ทางเขมรก็เรียกเดือนว่า “แข” ตรงกับว่า “เดือน” ของเรา เป็นอันว่าดูสังเกตเอาดวงพระจันทร์เหมือนกัน แต่ชื่อเดือนเขาเรียกตามดาวฤกษ์อย่างอินเดีย ไม่ได้เรียกเดือนที่ ๑ ที่ ๒ อย่างเรา

ลายพระหัตถ์

๓) ลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๑ ตุลาคม ได้รับแล้วเมื่อเมล์วันเสาร์ตุลาคมวันที่ ๕ แต่ไม่บริสุทธ์ มีการตัดตรวจที่ออฟฟิศไปรษณีย์ปีนังปิดตราที่รอยตัดมา

พูดถึงตราก็นึกเห็นขันในการกลับไปกลับมา ประเพณีเราแต่ก่อนนี้ ถ้าใครมีกิจจะต้องเซ็นชื่อแล้วก็ต้องทำตราขึ้นประจำตัว ใช้ประทับเป็นเซ็นชื่อ ต้องเป็นภาระอันใหญ่ในการเก็บตรานั้นไว้มิให้ใครลักเอาไปประทับได้ ทีหลังมีการใช้เซ็นชื่อแทนตรา ก็เป็นอันเลิกตรากันไปได้มาก นับว่าดีขึ้นที่ไม่ต้องเป็นภาระรักษาตรา ทีหลังกลับทำตราเป็นลายเซ็นชื่อ ก็คือถอยหลังเข้าคลองไปใช้ตรานั่นเอง แต่วิธีหลังนี้เกล้ากระหม่อมไม่ทำตามด้วยเห็นลำบากมาก

ต่อไปนี้จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์แต่ลางข้อ

๔) พระดำริเรื่องถือทิศและซ้ายขวาหน้าหลังนั้น คิดต่อพระดำริไปไหนจะเป็นได้ดั่งนี้

การถือทิศตะวันออกเป็นใหญ่นั้น คงเป็นการถือมาก่อนตามพระบาลีเช่นกระแสพระดำริ ส่วนที่ถือว่าทิศเหนือเป็นใหญ่เห็นจะมาถือกันทีหลังทางเรา โดยคำเรียกทิศว่าเหนือใต้ เหนือต้องเป็นสูงกว่าใต้อยู่เอง ที่เรียกทิศใต้ว่าหัวนอนนั้น ทีจะเป็นการเคารพท่านผู้ใหญ่ด้วยนอนหันหัวไปทิศนั้น เมืองซึ่งท่านผู้ใหญ่อยู่มักตั้งอยู่ทางใต้ ข้อที่ชาวปักษ์ใต้เรียกทิศ่ใต้ว่าหัวนอนเหมือนชาวเหนือนั้น เคยได้ยินเขาพูดกันว่า ชาวปักษ์ใต้นั้นเดิมเป็นชาวเมืองเหนือ ถูกกวาดครัวเอาไปไว้ทางใต้ จะเอาไปไว้เมื่อไร จะจริงหรือไม่จริงก็ยังไม่ทราบเลย แต่เห็นมีพยานอยู่ที่คำลางคำของชาวปักษ์ใต้ข้ามไปเหมือนกับคำของชาวเหนือก็มี เช่น “ญานัด” เป็นต้น ถ้าเป็นความจริงเขาจะเรียกทิศใต้ว่าหัวนอนก็ไม่ประหลาด เพราะความเคยเท่านั้นเอง ในการที่ทำโบสถ์หันหน้าไปตะวันออกนั้น ไปสันนิษฐานได้จากคัมภีร์ “อมิตายุะ” ว่าเมืองสุขาวดีที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้นอยู่ทางทิศตะวันตก ถ้าเป็นเพราะเหตุนั้นก็เป็นความตั้งใจจะให้คนที่ไปไหว้พระ หันหน้าไปทางเมืองสุขาวดี จะสันนิษฐานถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ทราบ

๕) เรื่องพระยาอุทัยธรรม อยากทราบอยู่ทีเดียว ว่าเมืองแสนปางอยู่ที่ไหน ทราบแต่เพียงว่าคู่กับเมืองอัตปือ แต่หนักปากไปไม่ได้ทูลถามมา พอดีที่ตรัสบอกให้ทราบโดยไม่ต้องทูลถาม เป็นพระเดชพระคุณล้นพ้น

๖) ชั้นฉายก็ได้แก่นาฬิกาแดดนั้นเอง แต่ที่วัดด้วยย่างเท้านั้นทำไปด้วยเข้าใจผิด ควรจะมีหลักปักไว้แล้วแบ่งเงาเป็นชั่วโมง

๗) จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ แม้แต่ตรัสบอกแล้วก็มืดเต็มที แต่พระณรงค์วิชิตตรัสบอกว่าพรหมธิบาลจรนั้นซึมซาบดี เพราะรู้จักตัว

๘) เรื่องเตร็จโบราณคดี ซึ่งโปรดประทานสำเนาพระนิพนธ์ไปคราวนี้เป็น “เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพร” อ่านสนุกดี พอจบลงก็นึกถึงเรื่องที่พระยาสโมสรเคยเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับเสือเหมือนกันว่า ฝ่าพระบาทตรัสใช้ให้ไปข้างไหนลืมเสียแล้ว มีพระยาป๊อกเจี๊ยกเป็นหัวหน้า (ชื่อนี้เรียกตามลูก โดยเหตุที่แกเล่าถึงบ่างที่พระพุทธบาท แกเป็นพระยาวจีสัตยารักษ์หรืออะไรจำไม่ได้แน่ คือ หลวงกำจัดเก่า เพราะจำชื่อแกไม่ได้จึงเรียกว่าพระยาป๊อกเจี๊ยกตามลูก) ว่าคราวนั้นไปนอนพักอยู่ที่ศาลากลางทางในป่า ตื่นเช้าขึ้นพระยาป๊อกเจี๊ยกตกใจมาก เพราะเห็นพื้นศาลาแดงเถือกเป็นทางไปสำคัญว่าเลือด เข้าใจว่าเสือดอดมากัดเอาใครในพวกที่ไปด้วยไปกินเสียคนหนึ่ง ถึงนับตัวคนที่ไปด้วยกัน (ลงนิ้วชี้เข้าอกนับตัวเองเป็นต้นก่อน) ก็ปรากฏว่าอยู่ครบกันหมดไม่มีใครขาดไป เมื่อปรากฏดังนั้นจึงเกิดไต่สวนขึ้นว่าอ้ายน้ำแดงๆ นั่นเป็นอะไร ได้ความว่า ใครที่ไปด้วยผลัดผ้านุ่งแดงทิ้งไว้ในเวลากลางคืน ฝนตกลงมา หลังคาศาลารั่ว น้ำฝนไหลลงมาถูกผ้านุ่งแดงซึ่งย้อมด้วยสีกำมะลอ ทำให้เป็นสีแดงไหลเอิบอาบไปที่พื้นศาลา ไม่ใช่เลือด

ปัญหา

๙) ในเรื่องเตร็จโบราณคดี ซึ่งโปรดประทานสำเนาพระนิพนธ์ไปคราวนี้ มีตรัสเล่าถึงได้เสด็จไปเมืองตระเมืองระนอง ทำให้ความอยากรู้เรื่องลำน้ำตระกำเริบขึ้นจึงกราบทูลถาม ที่จริงได้เคยตรัสถึงลำน้ำนั้นมาแต่ก่อนแล้ว แต่ไม่พอกับความอยากรู้จึ่งกราบทูลถามอีก เพราะไม่เคยไปถึงเมืองตระเมืองระนองเลย ไม่รู้ตำบลแห่งหนอะไรที่นั่นหมด

เข้าใจว่าไปเมืองระนองทางเรือ ต้องเข้าปากน้ำปากจั่นถูกหรือไม่ ได้เคยเห็นแผนที่แม่น้ำปากจั่นเป็นรูปกรวยอย่างสั้นๆ ทั้งมีบอกไว้ว่าซอกไหนเรือเข้าได้และไม่ได้ เข้าใจว่าหมายถึงว่าเรือใหญ่เข้าไปได้ถึงไหนยังไม่ทราบ ถ้าเข้าใจถูกว่าเมืองระนองอยู่ในปากจั่นนั้นแล้ว ห้วงน้ำที่เมืองระนองกว้างสักกี่มากน้อย จึ่งข้ามไปถึงฝั่งข้างอังกฤษ ในการที่เข้าไปถึงเมืองตระต้องไปด้วยเรือเล็กนั่นทราบแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ