วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ย้อนหลัง

๑) ตามที่กราบทูลมาก่อนถึงเรื่องสัตว์หิมพานต์ คิดจะพูดคลุมเครือกลัวจะไม่เข้าพระทัยแจ่มแจ้ง จึ่งได้กราบทูลมาต่อไปนี้เพื่อให้ชัดเจนขึ้น

อันว่าสัตว์หิมพานต์ จะตัดพูดตรงไปในบัดนี้ จำเพาะแต่รูปราชสีห์ ทำกันอยู่เป็นสองอย่างที่ตรงหงอน คือ ทำกันบากเป็นกระหนกอย่างหนึ่งแลเป็นเส้นขนานอย่างหนึ่ง เห็นว่าทำได้ทั้งสองอย่าง แต่จะต้องเข้าใจว่าทำเป็นอย่างไร ถ้าทำเป็นตัวจริงแลหงอนเป็นขนถูก เพราะว่าหงอนสัตว์สี่เท้าจะต้องเป็นขนบากเป็นกระหนก คือใบไม้นั้นหลงมาจากลาย ถ้าทำเป็นรูปราชสีห์คชสีห์ในลาย บากหงอนเป็นใบไม้จึ่งควร เพราะเป็นลาย ผูกขึ้นแต่ใบไม้

คำว่า “กนก” นั้นก็หลง กนกในภาษามคธแปลว่าทอง คงเอามาใช้แก่ตู้ลายทอง คือ ตู้ลายรดน้ำก่อน แล้วเข้าใจกันเคลื่อนผิดไป เป็นว่าใบไม้อย่างสะบัดไปสะบัดมานั้นเป็นกนก

ความเข้าใจผิดนั้นดูก็เห็นขัน จะกราบทูลถวายตัวอย่างที่สัตว์หิมพานต์นั้นเอง ในตำรามีรูปหนึ่งทำเป็นราชสีห์หัวเป็นหงส์ จดชื่อว่า “เหมราช” ดูเป็นหลงเอาคำ “เหม” ว่าเป็นหงส์ เอาคำ “ราช” เป็นราชสีห์ ที่แท้คำ “เหมราช” ก็แปลได้ความว่าพญาทองเท่านั้นเอง หัวเหมราชนั้นมีฟันตลอดปาก อาจคิดทำให้เป็นสัตว์กินเนื้อเข้าพวกราชสีห์ได้ก็เป็นได้ แต่ที่ทำหงส์กันก็มีฟันตลอดปาก ดูไม่เข้าทีเลยที่นกมีฟัน หรือจะเอาอย่างหัวเหมราชไปทำก็ไม่ทราบ ได้พบที่บานมุกการเปรียญวัดป่าโมก ซึ่งเอามาบรรจุไว้ที่วิหารยอดในวัดพระแก้ว ทำปากหงส์เป็นปากนกไม่มีฟัน เห็นเข้าก็ชอบใจ และมียิ่งกว่านั้น นกหัสดินก็แก้งาเป็นปากนก มีงวงทับไปบนปากดุจไก่งวงฉะนั้น ที่ทำกันมาก็เอาหัวคชสีห์ไปต่อเข้ากับตัวนกอย่างดื้อๆ เพราะชื่อมันแปลว่านกช้างเป็นการทำที่ไม่ได้คิดโดยรอบคอบ จึ่งนำทางให้เข้าใจไปว่า การทำปากหงส์ให้เป็นปากนกก็ดี การแก้งานกหัสดินให้เป็นปากนกก็ดี เป็นของท่านครูซึ่งเป็นผู้ให้ลายบานมุกท่านคิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่ทำตามแบบแผนซึ่งเคยทำกันมาแต่เก่าก่อน

พูดถึงหงส์ก็นึกถึงคำเครื่องเล่นมหาพนขึ้นมาได้ มีว่า “ทโส อันว่าหงส์เหมราชธาตุชอบเย็น ถ้าใครสงสัยไม่เคยเห็นก็ห่านเรานี่แหละ ที่เขาเขียนประดิษฐ์และนั่นมันเกินไป เอากระหนกแนมเข้าแซมใส่ให้สวย ดูนอกอย่างหางระรวยอะไรนั่น ยาวเป็นวาสองวา” คิดว่าคำแต่งนี้ผู้รู้แต่งไม่มีหลงอยู่ในนั้นเลย

๒) เบญจรงค์ คือ สี ขาว เหลือง แดง เขียว (คราม) กับดำ กราบทูลเผื่อจะยังไม่ทรงทราบ ด้วยเป็นทางวิชาช่าง ไม่ปรากฏอยู่ทั่วไป แม้ทรงทราบแล้วก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นแต่หนังสือบรรทัดเดียวเท่านั้น คือ ดูสีเบญจรงค์ก็ประหลาดอยู่ที่เขาจัดเอาแม่สีมาไว้ทั้งนั้น อีกกี่ร้อยปีก็ผสมจากแม่สีนั้นทั้งสิ้น ที่แม่สีมีจำนวนเป็น ๕ เข้าจำนวนซึมซาบที่เขาชอบใช้กัน ก็เป็นการประหลาดอยู่ คำว่าเขียวนั้นหมายถึงสีคราม อาจเห็นได้อยู่ที่คำ “สุดหล้าฟ้าเขียว” และ “เขียวคราม” เป็นต้น ที่มาเข้าใจกันเดี๋ยวนี้ว่าเขียวเป็นสีใบไม้นั้นเคลื่อนคลาดไป สีใบไม้เป็นสีผสม คือเหลืองกับคราม หาใช่แม่สีไม่ คำว่าน้ำเงินนั้นเป็นคำนอก พวกช่างเขาไม่เรียกกัน เขาเรียกว่า “คราม” หรือ “ขาบ” คำว่าครามก็มาแต่ต้นครามซึ่งเอามาทำสีนั้น ขาบก็คือ สีเหมือนนกตะขาบ ที่เรียกว่าสีน้ำเงิน ถ้าแปลตามคำก็เป็นสีครามที่อ่อนมากจนคล้ายกับสีเงิน ตาพวกช่างนั้นก็ประหลาดอยู่มาก เมื่อดูสีอะไรก็แยกได้ว่ามีสีอะไรผสมอยู่ในนั้นบ้าง ซึ่งนอกจากพวกช่างแล้วจะเห็นไม่ได้เลย มีเรื่องจะเล่าถวายได้นายริโกสีแกเขียนมาลัยดอกมะลิ แกดูพวงมาลัยจริงแล้วก็ควักเอาสีแดงผสมลงไปในสีที่จะเขียน หญิงปลื้มจิตรทักว่าใส่ลงไปทำไม ไม่เห็นมีสีแดงสักหน่อย แกเถียงว่า “ก็ฉันเห็นมีนี่” มีของแกจริง จะเห็นปรากฏเป็นพยานได้มากเมื่อมันเหี่ยวลง

ปัญหา

๓) การเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วเป็นสามผลัดสามฤดู ทำขึ้นเมื่อไร แผ่นดินไหน ได้ทรงทราบพอที่จะตรัสบอกได้หรือไม่ เป็นการแปลกหนักหนา ไม่เคยได้ยินว่ามีแบบฉบับมาแต่ก่อนเลย พระแก้วมีมานานแล้วแต่ไม่ได้ทำ ทางเขมรเขาจะได้ทำตามอย่างหรือไม่ก็ไม่ทราบ การทรงเครื่องอย่างไรต้องมีรูปเปลี่ยนไปด้วย ไม่อย่างนั้นก็ดูไม่ดี ข้อนี้ได้เคยกราบทูลมาก่อนแล้ว

ลายพระหัตถ์

๔) ลายพระหัตถ์เวรปะปิด ซึ่งลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายนได้รับแล้วเมื่อวันที่ ๓๐ นี้อันควรแก่เวลา จะกราบทูลสนองความลางข้อต่อไปนี้

๕) ได้ทรงทราบตามลายพระหัตถ์ ว่าชายพิบูลย์ตายด้วยเจ็บเป็นอัมพาต เป็นโรคที่เกล้ากระหม่อมกลัว แต่ไม่ใช่กลัวตาย กลัวเจ็บไม่รู้หายทรมาทรกรรมอยู่นับด้วยปี จะตายก็ไม่ตาย ทำให้ลำบากแก่ผู้พยาบาล ที่ตายทันทีดุจเป็นลม หมอสมัยใหม่เขาบอกว่าเป็นอัมพาตอย่างแรงก็มี แต่ขยับจะไม่เข้าใจตามที่เคยเห็น พอสมัยใหม่เขาวุ่นกันด้วยเรื่องเลือดฉีดแรง ไม่เข้าใจว่าจะมีโทษอย่างไร เพิ่งจะเข้าใจในลายพระหัตถ์ฉบับนี้ ว่ามีโทษที่อาจทำให้เป็นอัมพาตได้ อันว่าหมอนั้นจำต้องขี้หก ถ้าพูดจริงก็ไม่มีใครนับถือเพราะคนชอบหลอก

๖) เป็นพระเดชพระคุณที่ตรัสบอกให้ทราบได้ ว่าหลวงเทวพรหมาคนนั้นชื่อหมอดี ส่วนคำว่า “ขวัญ” นั้นเกล้ากระหม่อมเคยคิดมาหนักแล้วว่าจะเป็นอะไร ไปแปลพะเข้าว่าเป็นศรีไว้ที อาศัยคำว่า “บายศรี” บายภาษาเขมรว่าข้าว ก็มาตรงกับคำ “ข้าวขวัญ” ของเรา ได้คิดไปถึงคำ “สมโภชน์” ด้วย คำนั้นก็แปลว่าของกินดีๆ ลงกันได้ คำว่า “ศรี” เป็นภาษาสังสกฤต จะแปลว่ากระไรดูก็เลื่อนลอย เลื่อนลอยอยู่อย่างเดียวกับคำว่า “ขวัญ” มาบัดนี้ได้ฟังพระดำริเป็นว่า “ขวัญ” นั้นคือ “ฝัน” เข้าทีมาก เหมือนกับเรียกควายว่า “ฟาย” จะต้องตราไว้อย่างหนึ่ง อักษร ขว คว กับ ฝ ฟ นั้นสับสนกันอยู่มีมากทีเดียว ลางคำก็ตัดสินไม่ได้อย่างใดถูก อ่านหนังสือเก่า คำที่กล่าวค่า “ฝัน” ดูเป็นไม่หมายความแต่จะเกิดขึ้นเมื่อขณะนอนหลับ เป็นคิดอะไรซึ่งเป็นไปไม่ได้ในขณะตื่นอยู่ก็เรียกว่าฝันเหมือนกัน ตามที่หลวงเทวพรหมากับเกล้ากระหม่อมเป็นมาซึ่งได้เล่าถวายนั้นเป็นฝันที่เกิดขึ้นเมื่อหลับต่อกับตื่น ถ้าจะว่าไปแล้วที่เข้าใจว่าแทงหน้าต่างปิดนั้นเป็นตื่นแล้ว แต่มีการไปหยิบหอกมาเตรียมแทงด้วย นั่นเห็นจะประกอบทั้งละเมอ อย่างที่เขาว่าละเมอตักน้ำสามโอ่ง ส่วนที่เป็นแก่เกล้ากระหม่อมก็ประกอบด้วยละเมอเหมือนกัน คือในการที่เดินไปเพื่อจะปิดหน้าต่างนั้นเป็นละเมอ

๖) คำ “สตปกรณ” ก็มาแต่ “สัตตัปปกรณ” เรียกกันว่า “สัปตปกรณ” ก็มี “สดับปกรณ” ก็มี เป็นหลายอย่างอยู่ กรมพระสมมตทรงเลือกเอาคำ “สดับปกรณ” เพราะแปลว่าฟังปกรณะก็ได้ ทั้งเหมือนกับที่พูดกันอยู่โดยมากด้วย เกล้ากระหม่อมที่เห็นตามและใช้อยู่อย่างนั้น ที่จริงถูกหมดทุกคำ แต่ที่เอาไปใช้ปนกับคำ “บังสกุล” แยกเป็นยศนั้นผิด ที่แท้เป็นคนละคำมีความหมายต่างกันทีเดียว ตามที่ทรงพระดำรินั้นถูกที่สุด ไม่ว่าอะไร กลายเป็นยศไปหมดทั้งสิ้น

๘) งานฉลองอายุสมเด็จพระสังฆราชนั้น รู้สึกว่าเป็นความผิดที่ไม่ได้กราบทูลมาให้ทรงทราบ ที่จริงได้ทราบก่อนเขาลงพิมพ์นานแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะมีเกี่ยวข้องอะไรแก่ฝ่าพระบาท

๙) จะกราบทูลถวายวิสัชนาในการทำพระพุทธรูป ตามที่มีพระทัยหวังว่าเกล้ากระหม่อมจะวิสัชนาได้ ช่างทุกคนที่ทำพระพุทธรูปก็ย่อมตั้งใจจะทำให้ดีให้คนชอบหมดด้วยกัน แต่ความดีนั้นเป็นของไม่เที่ยง ในสมัยหนึ่งถือว่าอย่างไรดี เมื่อพ้นสมัยไปแล้วก็กลายเป็นไม่ดี หรือในสมัยเดียวกันก็มีความเห็นไปต่างกัน คนทำก็ต้องถือเอาความเห็นของคนหมู่มากเป็นที่ตั้ง อย่างไรก็ดี ที่เจ้าของผู้สร้างพระพุทธรูปบังคับช่าง ว่าให้ทำพระพักตร์เหมือนองค์นั้น ทำพระองค์เหมือนองค์นี้ ทำพระกรพระชงฆ์เหมือนองค์โน้น เห็นว่านั่นจะงามไปไม่ได้เลย เพราะธรรมดาการทำรูป จะต้องเป็นไปพร้อมกัน คือยาวก็ยาวด้วยกัน สั้นก็สั้นด้วยกัน ที่สั้นบ้างยาวบ้าง เช่นพระพักตร์สั้นพระองค์ยาวนั้นหาได้ไม่

๑๐) คำว่า พญา พระยา พระ เพี้ย ฟ้า เกล้ากระหม่อมเห็นเป็นคำเดียวกันหมด ลางทีจะมีคำอื่นอีก คิดว่าตั้งใจจะผสมตัวอักษรให้เป็นตัว ฟ เพราะหนังสือของเราเป็นโครงสังสกฤต ซึ่งไม่มีตัว ฟ ใช้ภาษาผิดอยู่ ไม่ว่าถิ่นไหนที่ใกล้บ้านเราหนังสือเป็นโครงสังสกฤต ไม่มีตัว ฟ ใช้ ต้องผสมอักษรใช้ด้วยกันทั้งนั้น ยังเห็นปรากฏอยู่หลายถิ่นจนทุกวันนี้ ครั้นทีหลังเขาขีดหางตัว พ ใช้เป็นตัว ฟ ขึ้นจึงพ้นความลำบาก จะเห็นได้ที่พระนามเจ้าพระขวัญนั้นควรเป็นเจ้าฟ้าขวัญ หากเรียกเป็นอย่างเก่าไปเท่านั้น ส่วนการปะปนกันนั้นก็เป็นธรรมดาที่จับโน่นชนนี่ ความยุ่งเหยิงจะเห็นได้ที่คำ “หลวง” “ขุน” แต่แรกใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดิน ทีหลังกลายเป็นตำแหน่งขุนนางไป คำ “ออก” นั้นหายไปทีเดียว

คิดถึงคำคลาดก็เห็นเป็นขัน คำว่า “เจ้าคุณ” นั้นใช้แทนคำพระยาทีเดียว ส่วน “คุณพระ” “คุณหลวง” เป็นหนุนกี๋ แต่ “คุณขุน” ใช้ไม่ได้ต้องเป็น “ท่านขุน” จะเรียกว่า “คุณขุน” ก็ไม่เห็นขัดอะไร แต่เขาไม่พูดกันก็ใช้ไม่ได้

๑๑) เตาถ้วยชาม เกล้ากระหม่อมได้ไปถึงเตาทุเรียงแห่งเดียวเห็นแต่ของที่เผาเสียไม่มีใครต้องการแล้ว กับเป็นหลักที่รองถ้วยชามเผามีอยู่มากมาย เป็นเตาร้างไม่เห็นการทำ และไม่ได้ตรวจเนื้อดิน ด้วยบ้านเตาไหนั้นก็ได้ยินแต่ฝ่าพระบาทตรัสเท่านั้น ด้วยอำนาจที่ค้นคำในตำนานพระชินศรี ซึ่งกล่าวว่าเป็นบ้านเต่าหาย ว่ามาแต่คำปะขาวหายจึ่งจำไว้ได้ ถ้าดินที่นั่นเป็นปนทรายทำไหไม่ได้ ก็คงขนเอาดินที่อื่นไปทำ เตาที่สุโขทัยเป็นหินฟันม้าอย่างเลวทำได้แต่ชามกะลา ลางทีเขาก็จะทำแต่ชามกะลาเท่านั้น ถ้าจะทำของที่ดีขึ้นไปกว่าจะขนเอาสิ่งที่ดีไปทำของที่ดีก็เป็นได้ ธรรมดาของดีย่อมต้องการน้อยกว่าของเลวอยู่เอง

ข่าว

๑๒) เมื่อวันที่ ๒๗ เดือนก่อน อ่านหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ พบโฆษณาของโรงหนังเฉลิมกรุง ลงว่าจะฉายหนังหมอไซโคลปป์เป็นกาลา ในวันนั้น เวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา เมื่ออ่านพบนั้นเกินเวลามาเสียแล้ว ออกจะตกใจ แต่ลูกบอกว่าไม่เป็นไร เขาได้หนังใหม่ที่ดีมาเขาก็ฉายเป็นเวลาพิเศษก่อน เพื่อเก็บเงินแก่ผู้ “– – รจนา” เข้ากระเป๋าไว้ แล้วเขาก็ฉาย “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” ต่อไป

๑๓) เมื่อวันที่ ๑ เดือนนี้ ไปเผาศพพระยามนตรีสุริยวงศ์ (เขียน บุนนาค) ที่สุสานวัดเทพศิรินทราวาส เขาแจกหนังสือตั้งชื่อเรื่องว่า “ที่ระลึก” เป็นหนังสือออกจากกรมศิลปากร เนื้อเรื่องเป็นประวัติพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) เมื่อครั้งออกไปเป็นข้าหลวงที่เมืองภูเก็ต กับประวัติคุณหญิงเลื่อม ในคำนำเขาว่าฝ่าพระบาททรงเรียบเรียงจึงไม่ได้ขวนขวายส่งมาถวาย

๑๔) เมื่อวันที่ ๒ เดือนนี้ ไปเผาศพพระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ถึก เสมรสุนทร) ที่วัดมกุฎกษัตริย์ เขาแจกหนังสือเรียกชื่อเรื่องว่า “จดหมายเหตุ ร.ศ. ๑๑๒” เป็นหนังสือออกจากกรมศิลปากร โดยเจ้าภาพต้องการเรื่องชนิดนั้น ท้องเรื่องปรากฏในคำนำว่าเป็นรายงานของพระณรงค์วิชิต (เลื่อน ณ นคร) เขียนถวายกรมหลวงพิชิตปรีชากร คิดว่าฝ่าพระบาทคงได้ทรงมาก่อนแล้ว จึงไม่ได้ขวนขวายส่งมาถวายเช่นเดียวกัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ