วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม มาถึงหม่อมฉันแล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) ทรงพรรณนาลักษณะเตาเผาศพ ที่วัดไตรมิตรประทานมาดีนัก อ่านเข้าใจได้ถนัดว่าเป็นอย่างไร หม่อมฉันเคยได้ฟังคนที่เขาไปถวายเพลิงพระศพกรมพระจันทบุรี เล่าลักษณะเตาเผาศพในยุโรปดูผิดกันมาก ที่ในยุโรปเขาเผาด้วยไฟฟ้ามีช่องกระจกให้คนข้างนอกมองดูเวลาเผาได้ ว่าเปลวไฟขึ้นท่วมทั้งหีบ ไหม้หีบและเยื่ออะไรสูญไปหมด เหลือแต่โครงกระดูกเป็นร่างกายนอนอยู่บนแผ่นเหล็ก เมื่อดับไปแล้วทิ้งร่างให้หายร้อนก่อน แล้วจึงเลื่อนแผ่นเหล็กกลับออกมาจากประตูเตา ยังเห็นเป็นโครงร่างกาย แต่เมื่อถูกไอเย็นกระดูกยุ่ยเป็นผง กวาดเอาลงกล่องพากลับมา หม่อมฉันได้เคยเห็นพระอัฐิกรมหลวงราชบุรีฯ ก็เป็นผงดูเหมือนกับปูนขาว เตาที่วัดไตรมิตรเป็นของญี่ปุ่นคิดแก้เตาอย่างฝรั่งมาทำ ให้เผาศพได้อย่างถูกๆ จะให้เรียบร้อยสะอาดสะอ้านอย่างของฝรั่งไม่ได้อยู่เอง ที่เอามาทำขึ้นที่วัดไตรมิตร ถ้าค่าเผาศพสิ้นเปลืองน้อยกว่าเผาด้วยฟืน ก็เห็นจะมีผู้ส่งศพคนชั้นต่ำไปเผามาก แต่ศพผู้ดีที่มีกำลังพาหนะน่าจะไม่ใคร่มีใครนิยม เพราะการเผาศพนั้นเจ้าภาพมักรังเกียจสถานที่สำหรับเผาศพเป็นสาธารณะมาแต่โบราณ แต่ความคิดที่จะแก้สิ้นเปลืองในการเผาศพก็มีมาแต่โบราณ พึงเห็นได้เช่นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระราชดำริสร้างเมรุปูนที่วัดสุวรรณาราม แล้วมาสร้างถวายวังหลวงที่วัดอรุณอีก ๑ ก็เพื่อให้เป็นที่เผาศพผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นรองจากทำเมรุกลางเมืองลงมา ถึงกระนั้นพระศพเจ้านายที่ไปลง ณ วัดอรุณหรือวัดสุวรรณก็ปลูกเมรุผ้าขาวต่างหาก โดยอ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ควรเสด็จเข้าไปพระราชทานเพลิงศพในเมรุปูน แสดงความรังเกียจที่เผาศพเป็นสาธารณะมาแต่แรก ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ ทำเมรุขึ้นที่วัดสระเกศอีกแห่ง ๑ เมรุปูนที่วัดสระเกศทำวิจิตรพิสดารกว่าที่วัดสุวรรณและวัดอรุณ ดูเหมือนเจตนาจะให้ปลงได้จนถึงพระศพเจ้านายและเสนาบดี มีทั้งโรงครัว โรงโขน โรงหุ่น รัดทาจุดดอกไม้เพลิง และที่สุดจนพุ่มกัลปพฤกษ์ ล้วนก่ออิฐถือปูน บรรดาเป็นอุปกรณ์แก่การปลงศพผู้มีบรรดาศักดิ์สูงสร้างไว้ครบทุกอย่าง ใช่แต่เท่านั้นยังสร้างโรงทึมปูนอีกหลัง ๑ ห่างออกไปอีกบริเวณหนึ่งต่างหาก สำหรับปลงพระศพชั้นบรรดาศักดิ์ต่ำลงมา แต่ว่าตามที่เคยเห็น ปลงพระศพเจ้านายที่วัดสระเกศก็ยังปลูกพระเมรุผ้าขาวขึ้นต่างหากอยู่นั่นเอง หรือว่าอีกอย่าง ๑ คือตัวเมรุที่ปลงพระศพเป็นสิ่งที่คนไม่ชอบร่วมกันเป็นสาธารณะ เพราะฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตั้งสุสานหลวง ณ วัดเทพศิรินทร จึงโปรดให้สร้างของถาวรสิ่งอื่นๆ ส่วนตัวเมรุต้องสร้างใหม่ทุกงาน หม่อมฉันก็ได้สร้าง “ศาลาดำรงธรรม” ถวายหลัง ๑ และยังมีคนอื่นสร้างสิ่งอื่นถวายอีกจนบริบูรณ์

แต่การปลงศพผู้มีบรรดาศักดิ์ในชั้นหลังมา มีผู้สร้างโรงทึมไม้อย่างรื้อปลูกใหม่ได้ สำหรับให้เช่าไปปลูกเหมือนปลูกเมรุใหม่ และบางแห่งปลูกที่เผาศพประจำไว้ สมมติเหมือนอย่างว่าปลูกใหม่ เช่นที่วัดสระเกศทำด้วยไม้หรือเช่นที่วัดมงกุฎกษัตริย์ดูเหมือนทำด้วยคอนกรีต ก็พอแก้ความรังเกียจของเจ้าภาพได้

แต่เตาเผาศพที่วัดไตรมิตร สร้างที่เผาศพบุคคลชั้นสูง กับบุคคลชั้นต่ำร่วมในเมรุเดียวกัน อาจจะเป็นที่รังเกียจของเจ้าภาพศพคนชั้นสูง แต่ข้อสำคัญมีอยู่ ๒ อย่าง อย่าง ๑ ถ้าเตาแบบญี่ปุ่นห้ามกลิ่นศพมิให้ฟุ้งซ่านได้ อีกอย่าง ๑ ถ้าเผาศพได้ด้วยสิ้นเปลืองน้อยลง ก็ต้องนับว่าดี เห็นจะมีผู้สร้างที่อื่นแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

๒) หม่อมฉันนึกเสียดายเนืองๆ ที่มีความรู้เรื่องคติต่างๆ ของพราหมณ์น้อยนัก เป็นเช่นนั้นด้วยวาสนาของหม่อมฉัน มิใช่ไร้โอกาส หม่อมฉันเข้าใจว่าการค้นคติพราหมณ์ เริ่มเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงอ่านหนังสือมหาภารตะ แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาเมื่อรัชกาลที่ ๕ ทรงทราบอย่างไรมักตรัสเล่าให้พวกเราฟังเนืองๆ หม่อมฉันก็อยากศึกษาตามเสด็จแต่ครั้งนั้น แต่จรดเข้าไปมุขไหน ก็ไปเกิดแหนงความเท็จของพวกพราหมณ์เหมือนอย่างดื่มยาขมทุกครั้ง จึงเลยกระดาก มาถึงรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงศึกษาลึกซึ้งหนักขึ้นและโปรดประทานอธิบายกว้างขวางออกไป หม่อมฉันเข็ดมาเสียแล้วก็ไม่เกิดศรัทธาเลยไม่ตามเสด็จได้ความรู้เพียงที่เปลวมาเข้าหู จึงได้แต่เพียงรับรู้ หาอาจจะคิดวินิจฉัยไม่ แต่ก็มิได้ติเตียนว่าเป็นคติที่ไม่ควรค้นหาความรู้ ว่าพวกพราหมณ์ตาแกหลงหรือปดมาอย่างไร บางแห่งหม่อมฉันก็ยอมชมว่าแกช่างคิด เช่นว่าพระเป็นเจ้าและฤาษีเป็น “ปาปมุติ” จึงจะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือล่วงประเวณีก็ไม่มีโทษเพราะอยู่เหนือบาปกรรม ประหลาดที่ฝรั่งก็อ้างทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญ ว่า The King can do no wrong ก็ตรงกับว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นปาปมุตินั่นเอง แต่เขาหมายความว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินทำผิดอย่างไร รัฐบาลต้องรับบาปแทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน

ถ้าว่าอย่างง่ายๆ ดูมันเกิดแต่มีผู้ถามอะไรที่ท่านอาจารย์ไม่รู้ จะบอกว่าไม่รู้ก็อาย จึงคิดอธิบายให้ลึกซึ้งเหนือความรู้ของผู้ถามขึ้นชี้แจง ฝ่ายผู้ฟังไม่รู้เท่าก็ไม่อาจคัดค้าน ผู้นับถือท่านอาจารย์ก็เลยช่วยคิดติดต่อให้วิจิตรพิสดารหนักไป ยกตัวอย่างเพียงเรื่องในเมืองไทย เช่นมีผู้ไปถามท่านอาจารย์ว่าเหตุใดจึงเรียกตำบล ๑ ว่า “สามเสน” ท่านอาจารย์รู้แต่คำสามตรงกับจำนวน ๓ คำเสนใกล้กับจำนวนแสน เป็นแต่เพี้ยนเสียงสระเล็กน้อย ก็สมมติเอาสามแสนเป็นอธิบาย แต่คนยังสงสัยว่าเหตุใดจึงเรียกว่าสามแสน ตัวท่านอาจารย์เอง หรือศิษย์หาของท่านอาจารย์นั้นจึงคิดผูกเรื่องนิทานพระพุทธรูปตกน้ำต้องใช้คนถึง ๓๐๐,๐๐๐ จึงชะลอขึ้นเป็นที่สุด ในเรื่องกำเนิดอะไรต่ออะไรต่างๆ ที่ในอินเดียก็จะเป็นทำนองเดียวกัน เช่นมีผู้ไปถามว่าเหตุใดจึงเรียกชื่อแม่น้ำหนึ่งว่าคงคา ถ้าผู้อื่นก็ต้องบอกว่าไม่รู้ แต่ท่านอาจารย์จะบอกเช่นนั้นเห็นเสียแก่ตัว จึงคิดนิทานของแม่คงคาขึ้น หม่อมฉันจะลองทูลถามปัญหาเช่นนั้นสักมุก ๑ ว่า “ตุ๊ดตู่” นั้นเป็นสัตว์อย่างใด และเหตุใดมันจึงชอบเรียกให้คนกินหมาก ขอให้ทรงลองคิดอธิบายดู

๓) ที่กรมหมื่นเทววงศ์ถวายรายงานว่าเธอได้ไปดูปราสาทหินที่เมืองสิงห์ ริมแม่น้ำทางไปไทรโยค เป็นเค้าปราสาทมีบริเวณกว้างขวางนั้น คิดดูโดยธรรมดาการสร้างปราสาทหินต้องลงแรงมาก ปราสาทหินมี ณ ที่ใดชวนให้เห็นว่าในถิ่นที่สร้างต้องมีคนมาก ที่ประชุมชนมีคนมากก็ต้องเป็นบ้านเป็นเมือง เพราะฉะนั้นที่เมืองสิงห์น่าจะเป็นเมืองใหญ่มีผู้คนพลเมืองมากมาแต่ก่อน แต่ธรรมดาบ้านเมืองย่อมตั้งในที่มีข้าวน้ำบริบูรณ์ คือมีที่ทำไร่นาและมีทางน้ำหรือห้วยน้ำ พอผู้คนพลเมืองจะเลี้ยงชีพได้ด้วยกันหมด ท้องทุ่งนาคราชที่สร้างปราสาทหินที่เป็นที่ทำไร่ทำนาได้ดี จึงจะเป็นเมืองใหญ่ได้ ข้อนี้ยังไม่ได้ชันสูตรจึงรู้ไม่ได้ แต่ปราสาทหินมีที่อื่นหลายแห่งซึ่งเห็นได้ว่า สร้างในทำเลที่อันจะเป็นบ้านเมืองมีผู้คนอยู่มากไม่ได้ เช่นที่พนมกุเลน เขาลิ้นจี่ในเมืองเขมร และที่พระวิหารตรงต่อแดนเมืองไทยกับเขมรเป็นต้น การสร้างปราสาทหินในที่เปลี่ยวเช่นนั้น เห็นจะถือเอาความศักดิ์สิทธิ์สำคัญของที่เป็นเหตุ เกณฑ์คนให้ไปสร้างอยู่ชั่วคราว จึงลงยุติว่าปราสาทหินจะสร้างในที่ประชุมชนทุกแห่งไม่ได้ ปราสาทหินที่เมืองสิงห์นั้นรู้แน่แต่อย่างหนึ่ง ว่าสร้างในที่พักระหว่างทางเดินจากด่านพระเจดีย์สามองค์มาเมืองไทย แต่ในสมัยเมื่อพระปฐมเจดีย์เป็นราชธานี เพราะต่อเข้ามาอีกระยะ ๑ มีปราสาทหินอีกแห่ง ๑ ที่พงตึกตรงปากน้ำนครปฐมแยกมาจากลำน้ำราชบุรี ชาวนครปฐมสร้างก่อน แล้วพม่าและเขมรมาสร้างแก้ไขเพิ่มเติมในสมัยเมื่อชาตินั้นๆ ได้ครอบงำเมืองไทย ว่าโดยนัยนี้ปราสาทหินที่เมืองสิงห์จะเป็นของพวกชาวเมืองนครปฐมสร้างก็ได้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านมีจดหมายมาถึงหม่อมฉันแล้วถามว่า ยศสมเด็จพระสังฆราชเทียบกับยศเจ้าชั้นไหน หม่อมฉันอาศัยที่ท่านทรงตักเตือนตอบไปว่า หม่อมฉันไม่เคยเห็นเทียบไว้ในกฎหมายลายลักษณ์อักษรอันใด จะเรียนไปตามคิดเห็นด้วยอัตโนมัติก็ไม่เป็นหลักฐาน จึงยอมจำนนว่าไม่ทราบ ได้เคยเห็นแต่ในหนังสือเก่าครั้งรัชกาลที่ ๓ ใช้สรรพนามเรียกสมเด็จพระสังฆราชว่าพระพุทธองค์ และเรียกคำสั่งของสมเด็จพระสังฆราชว่า พระพุทธฎีกา เพราะเหตุใดจึงยกขึ้นไปสูงถึงเพียงนั้นหม่อมฉันก็ไม่ทราบ

๕) หม่อมฉันอ่านทราบประเพณีจีนอีกอย่าง ๑ ว่าจีนเรียกเมียไม่ออกชื่อ เรียกแต่ว่าแม่ของลูก เพราะฉะนั้นคำที่ไทยเราใช้ว่า “แม่อีหนู” หรือคำนางพราหมณีพูดกับชูชกในเทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูชกแลทวงทอง ที่ว่า

“จนพ่อออฉิมเขาโกรธ เขาคาดโทษว่าจะตี”

เป็นคำพูดตามประเพณีจีน จึงทูลให้ทรงทราบ

๖) โคมไฟฟ้าสำหรับใช้ในเวลาปิดมืด อย่างเช่นพระองค์หญิงสี่ได้ไปถวายนั้น หม่อมฉันยังไม่เคยเห็นและไม่ได้ยินว่ามีขายในเมืองปีนัง แต่คิดถึงความต้องการใช้โคมไฟเช่นนั้น เห็นว่าที่ในกรุงเทพฯ กับที่ปีนัง ถ้าต้องเสี่ยงภัยก็จะเท่าๆ กัน ขอบพระคุณแล้วแต่อย่าประทานมาเลย โดยจะเกิดสงครามทางตะวันออกนี้ และมีการทิ้งลูกระเบิดทางอากาศเห็นจะเพียงเป็นครั้งเป็นคราว ไม่ต้องปิดมืดแต่พลบไปจนรุ่งเสมอทุกคืนเหมือนอย่างในยุโรป ถึงที่ในยุโรป สังเกตในหนังสือพิมพ์เมื่อปิดมืดกันทุกวันมาช้านาน ดูก็ชินกันไปตามวิสัยมนุษย์ หม่อมฉันคิดอยู่ว่าถ้าต้องถูกปิดมืดทุกคืน ก็เห็นจะต้องงเปลี่ยนอิริยาบถไปเอาอย่างกาใช้แต่แสงพระอาทิตย์ พอมืดก็มุดหัวนอน เห็นอาการจะหนักแต่ถ้าถูกต้องลงรูอย่างในยุโรป แต่ก็นึกหวังอยู่ว่าสงครามไม่ลามมาถึงทางนี้

๗) อาศัยสังเกตในหมายกำหนดการที่ประทานมา หม่อมฉันขอถวายพรแก่พระองค์ท่าน กับทั้งพระญาติให้มีความสุขความสำราญตลอดปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๘๔ นี้ทั้งหมดด้วยกัน เทอญ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ