บันทึก เรื่องเห่ช้า

ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

๑) พระนามพระเจ้าอู่ทอง มีนิทานแปลพระนามว่าบรรทมพระอู่ทอง แต่มีผู้รู้เห็นหลายคนว่าจะผูกนิทานผิด คำว่า “อู่ทอง” จะหมายความว่าขุมทอง คือที่เกิดทอง อย่างเดียวกับคำว่า “อู่ข้าวอู่น้ำ” ความคาดเช่นนั้นก็เห็นชอบด้วยอย่างยิ่ง บัดนี้มาได้พบตำราสมโภชเดือนเจ้าปรากฏเป็นบรรทมพระอู่ทอง จะเป็นนิทานนั้นผูกแปลพระนามตามที่เห็นพระอู่ทองก็ได้ หรือพระอู่ทองทำตามนิทานก็ได้ ไม่มีหลักอันใดจะทราบแน่ได้ นอกจากพอใจจะเชื่อว่าพระอู่ทองนั้นทำขึ้นทีหลัง ทำเข้าหานิทานแปลพระนามพระเจ้าอู่ทอง

ในตำราสมโภชเดือนนั้นเป็นอันขึ้นพระอู่ ๒ หน ขึ้นพระอู่ทองแทนที่ภายหลังเป็นผู้ใหญ่เชิญเสด็จ (อุ้ม) ให้เวียนเทียนครั้งหนึ่งก่อน แล้วจึงขึ้นพระอู่ผ้าทีหลังอีกหนหนึ่ง ข้อผิดแผกกันตามที่เป็นอยู่ภายหลังนั้น ได้กราบทูลทักมาก่อนแล้ว

๒) คำว่า “อู่” กับ “เปล” เห็นจะต่างความกัน “เปล” จะหมายความว่าแขวน มีตัวอย่างอยู่หลายอย่าง เช่น เสาเมรุเป็นต้น เอาหักเสาพาดไว้บนเปลในเวลาทำพิธีเตรียมยก เพื่อให้ยกขึ้นได้ง่าย เพราะหัวเสาสูงอยู่แล้ว และไม่ติดอะไร เรียกว่า “ขึ้นเปล” คำว่า “อู่” จะหมายความว่าที่เก็บหรือที่เกิด แล้วทีหลังเอามาปนกันเสียเป็นว่าสิ่งเดียวกัน สำหรับเด็กเจ้านอนเรียกว่า “พระอู่” สำหรับเด็กสามัญเรียกว่า “เปล นั่นดูก็หลวงไปมากอยู่แล้ว ยังซ้ำอะไรที่เป็นรูปยาวรีคล้ายกับที่ให้เด็กนอนก็เรียกว่า “เปล” เช่นชามรูปรีเรียกว่า “ชามเปล” เป็นต้น นั่นต้องตัดสินว่าเรียกผิด

๓) อันที่เด็กนอนซึ่งเรียกว่า “อู่” หรือ “เปล” นั้น มี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งตันอย่างหนึ่งโปร่ง อย่างตันสำหรับใช้ให้เด็กอ่อนนอน ด้วยถือว่าเด็กอ่อนถูกลมไม่ดี หากตันก็กันลมได้เมื่อไกว อย่างโปร่งสำหรับใช้เด็กโตแล้วนอนเพื่อให้ถูกไปกับลมเมื่อไกวเย็นสบายดี เพราะฉะนั้นคำว่า “พระกรงทอง” ได้แก่ที่นอนเด็กอย่างโปร่ง สำหรับพระราชบุตรบุตรีที่ทรงจำเริญแล้วบรรทม บทเห่บทใดซึ่งมีคำว่า “พระกรงทอง” จะต้องเป็นบทเห่ในภายหลัง จะเป็นบทเห่สำหรับเวลาสมโภชเดือนหาได้ไม่

๔) บทเห่เจ้านายดูเป็นจำเป็นที่จะต้องแต่งขึ้นใหม่ ให้เป็นภาคเป็นภูมิสมแก่เจ้านาย จะเอาบทเห่ของชาวบ้าน เช่น “กินข้าวนึ่ง น้ำผึ้งกะนมควาย” มาใช้ก็เลวเต็มที ในการแต่งใหม่นั้นจะเป็นตามระบอบเก่าหรืออย่างไรก็ตามที่ แต่คงมีคราวหนึ่งซึ่งฮือแต่งใหม่กันเป็นแน่ ย่อมเห็นได้จากบทกล่อมเจ้าหญิงเยาวเรศรนั้นแสดงว่าแต่งตาม “แฟแช่น”

๕) ให้นึกพระหลาดใจที่ได้เห็นบทเห่ เทวดาจับระบำ จำได้ว่าในบทแกะบายศรีเครื่องเล่นเทศน์มหาราชเวสสันดรชาดก ก็มีที่จ่าไว้ได้ในลางแห่งถ้อยคำเหมือนกับที่มีในบทเห่เดียวกัน เป็นแน่ว่ามิใครก็ใครจะต้องถ่ายเอากันไป

๖) ดูคำแต่งบทเห่ทั้งหมด เห็นเป็นมีอยู่ ๓ อย่างคือ กลอนกับกาพย์และฉันท์ คิดว่าที่เป็นกาพย์และฉันท์นั้นเป็นของแต่งใหม่ทีหลังกลอน คิดดูถึงกระบวนแต่งของเราเท่าที่นึกได้เห็นมีอยู่ ๓ อย่าง คือ (ก) โคลง (ข) กลอน (ค) ร่าย โคลงนั้นมีบังคับทั้งต้องเป็นกี่คำและเอกโทด้วย บังคับทำไมคิดว่าเดิมจะสำหรับร้องเป็นเพลงบังคับเอกโทเพื่อไม่ให้ขัดกับเนื้อเพลงที่ร้อง แต่จะร้องอย่างไรพูดไม่ถูกเพราะไม่เคยได้ยิน กลอนนั้นคำเก่าที่สุดสังเกตเห็นว่าเป็นวรรคละ ๔ พยางค์ วรรคแรกจะน้อยเพียงมีแต่ ๒ พยางค์เท่านั้นก็ได้ เช่น “เมื่อนั้น” เป็นต้น ทีหลังแต่งกันยาวออกไปทุกทีเมื่อยาวถึง ๘ พยางค์ก็เรียกกันว่า “กลอนแปด” แล้วคนที่แต่ง ๘ พยางค์นั้นเอง ย้อนไปดูกลอนเก่าพบเท่าที่เขาแต่งต่อแล้วเป็น ๖ พยางค์ ก็ตั้งชื่อเรียกว่า “กลอนหก” เดี๋ยวนี้แต่งต่อกันยาวไปจนถึง ๑๒ พยางค์ ก็ควรเรียกว่า “กลอนสิบสอง” ส่วนสัมผัสนั้นเดิมก็กระทบแต่คำท้าย ยืนไปเท่าไรๆ อย่างที่ร้องเพลงปรบไก่กันฉะนั้น เมื่อเบื่อหูเข้าจึงเปลี่ยนสัมผัสไปเสียทีหนึ่ง ทีหลังแก้เป็นเปลี่ยนทุกกลอน นั่นยังผลให้คำแห่งกลอนต้องเป็นคู่ จะเป็นคำคี่หาได้ไม่ แต่ก่อนเขาได้ เช่น “รุ่งเช้า ท้าวเสด็จออกท้องโรงคัล” แล้วลงหน้าพาทย์ต่อไปว่า “ลากชาย” ติดไปทีเดียว (จะสังเกตได้ในชื่อหน้าพาทย์ว่าหมายถึงนุ่งลอยชาย) สัมผัสนั้นสำคัญขึ้นทุกที ทีหลังเกิดมีสัมผัสในขึ้นอีกด้วย ส่วนร่ายนั้นแต่งตามสบายใจ จะว่าไปกี่คำก็ได้สุดแต่ให้คำท้ายของวรรคหน้ามีสัมผัสคล้องกับวรรคหลังก็เป็นแล้ว กระบวนคำแต่งของเรานึกได้แต่ ๓ อย่างเท่านี้

ส่วนการแต่งกาพย์และฉันท์นั้น เราได้มาโดยทางบาลีอันเป็นของอินเดียเอามาผสมเข้ากับวิธีแต่งคำของเรา แม้เราจะมีตำราแต่งกาพย์และฉันท์อยู่ก็ดี ก็รู้ได้ว่าผูกเอาเองในนี้ เห็นได้จากทางมคธสังสกฤตเขาไม่มีสัมผัสกันเลย แต่ทางเรานี้ถือเอาสัมผัสกันเป็นสำคัญยิ่งใหญ่ แต่งกาพย์พอแต่งได้ด้วยมีกำหนดแต่เพียงว่าต้องเป็นกี่คำและต้องมีสัมผัสคล้องกันเท่านั้น แต่ฉันท์มีบังคับว่าต้องเป็นกี่คำ และบังคับครุลหุทุกคำไปด้วย ทั้งต้องมีสัมผัสด้วย แต่งยากเต็มที ผู้แต่งก็มักขี้ฉ้อเอาครุใช้ในที่ลหุ เพราะในภาษาเราหาลหุยาก แม้ผู้คิดจะไม่แต่งขี้ฉ้อก็ต้องเอาคำมคธมาใช้ เช่นแต่งฉันท์วสันตดิลกว่า “นานาธุมาผลธารา” โดยตั้งใจจะให้อ่านถูกตามครุลหุ ถ้าเป็นฉันท์ภาษามคธแล้วจะอ่านผิดไปไม่ได้ แต่เมื่อเป็นภาษาไทยก็ไม่สำเร็จ เพราะเราอ่านออกเสียงต่างคนก็ต่างอ่านไปต่างๆ กัน ไม่ลงรอยเช่นเดียวกัน เช่นคำ “ผล” ถ้าเป็นฉันท์ภาษามคธจะต้องอ่านว่า ผะละ ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ แต่เมื่อเป็นไทยจะมีคนอ่านว่า ผน จะโปรดว่ากระไร จึ่งตกเป็นว่าผู้อ่านต้องรู้จักฉันท์รู้จักคณะ ถ้าไม่รู้จักก็อ่านให้เป็นฉันท์ไปไม่ได้ ที่สุดก็เห็นว่าฉันท์นั้นเป็นของไม่ควรแก่ภาษาเรา ไม่ควรเอามาเล่นเลย

บ้านปลายเนิน

วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๘๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ