วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม มาถึงหม่อมฉันอย่างผิดคาด ต้องรู้สึกขอบใจเจ้าพนักงาน ด้วยแต่เดิมเมื่อยังไม่มีการตรวจตราจดหมายนั้น เมล์มาถึงวันพฤหัสบดีเวลาเย็น พอวันศุกร์เช้าเขาก็เอาจดหมายมาส่ง ตั้งแต่มีการตรวจเขาเลื่อนไปส่งต่อวันเสาร์ บางสัปดาหะก็ส่งถึงวันจันทร์ แต่ไม่ถูกเปิดซองมาจนเมื่อสักสามสัปดาหะนี้ ลายพระหัตถ์สัปดาหะนี้ได้รับความปรานีเขาเอามาส่งแต่วันศุกร์เวลาเที่ยง และไม่เปิดซองด้วยมีแต่ตรารูปสามเหลี่ยมกองตรวจที่ ๖ ประทับหลังซองเป็นสำคัญ จะเป็นอย่างนี้ต่อไปหรืออย่างไรยังไม่ทราบ แต่ถึงจะอย่างไรถ้าได้รับก็เป็นพอแก่ใจ

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) หม่อมฉันยินดี ที่ทราบว่าสมเด็จพระพันวัสสาจะเสด็จแปรสถานไปประทับที่บางปะอินเมื่อทรงทอดพระกฐินแล้ว ด้วยเห็นว่าจะเป็นคุณแก่พระอนามัย คิดต่อไปถึงพระองค์ท่านเอง ถ้ามีเวลาทรงแปรสถานเปลี่ยนอากาศบ้าง ก็จะดีกว่าไม่เสด็จไปไหนเลยทีเดียว

๒) การที่เจ้าพนักงานมอบเครื่องพระกฐินให้ผู้ทอดพระกฐินแทนพระองค์รับไปนั้น แต่ก่อนเคยมีแต่กฐินหัวเมือง ดูก็จำเป็น เพราะทางไกลและเขารู้ไม่ได้ว่าจะทอดวันใด หม่อมฉันก็เคยรับไป แต่ก็เอาไปมอบให้เจ้าเมืองกรมการเขาทำการเป็นพนักงาน หาเอาทอดอย่างงุบงิบไม่ ถ้าทอดกฐินพระราชทานในกรุงเทพฯ เคยเป็นแต่ให้ใบบอกกรมวังว่าจะไปทอดวันนั้นเวลานั้น เจ้าพนักงานก็ไปคอยอยู่พรักพร้อม และไปด้วยยินดีเพราะได้เงินแจก แต่อยู่ข้างเป็นการสิ้นเปลืองแก่ผู้ทอด น่าจะเป็นเพราะผู้ที่มีกำลังน้อยร้องทุกข์จึงใช้วิธีมอบเครื่องพระกฐินให้ผู้ทอดรับไปแม้ทอดที่วัดในกรุงเทพฯ ที่ท่านไม่ทรงยอมรับเครื่องพระกฐินไปทอดที่วัดมหาธาตุนั้น หม่อมฉันเห็นว่าเป็นการถูกต้องทีเดียว ได้ยินว่าเมื่อปีกลายนี้สมเด็จพระพันวัสสาเสด็จไปทอดพระกฐินที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ กรมวังจะให้ทรงรับเครื่องพระกฐินไปท่านก็ไม่ยอมรับเหมือนกัน เป็นแต่ประทานเงินค่าโดยสารรถไฟให้พนักงานขึ้นไป

๓) ด่านสิงขรนั้นมีแห่งเดียว แต่อยู่ในทางระหว่างเมืองตะนาวศรีกับเมืองประจวบคีรีขันธ์ หม่อมฉันได้สอบทั้งในเรื่องพงศาวดารและได้ไต่ถามคนในท้องถิ่นได้ความแน่ชัดแล้ว ที่เรียกแห่งอื่นว่าด่านสิงขรนั้นผิดทั้งสิ้น เหตุที่ไทยไปตั้งรับทัพพม่าที่ยกมาทางด่านสิงขร ณ เมืองเพชรบุรินั้น เพราะพ้นด่านสิงขรข้ามเทือกภูเขาบรรทัดเข้ามาตกชายทะเลอ่าวสยาม ท้องที่ชายทะเลตั้งแต่เมืองเพชรบุรีลงไปจนถึงเมืองชุมพรไม่มีเสบียงอาหารบ้านเมืองที่ข้าศึกจะอาศัยตั้งอยู่ได้ ใช่แต่เท่านั้นท้องที่ทางตะวันออกเป็นทะเล ทางตะวันตกเป็นเทือกภูเขาบรรทัด ข้าศึกยกเข้ามาเหมือนมาอยู่ในกระบอกมีช่องทางแต่จะขึ้นมาข้างเหนือลงไปข้างใต้ ในระหว่างทะเลกับภูเขา ถ้าไทยตั้งสกัดอยู่ที่เมืองเพชรบุรี อาจจะสั่งกองทัพเรือลงไปตีตัดลำเลียงเสบียงอาหารทางข้างหลังข้าศึก เอาชัยชนะได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นจึงตั้งทัพรับพม่าซึ่งจะยกมาทางด่านสิงขรที่เมืองเพชรบุรีอันเป็นที่มีเสบียงอาหารบริบูรณ์

๔) ด่านแม่สอดนั้นตั้ง ณ “เมืองฉอด” ที่เรียกในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั้นเอง เขาบอกหม่อมฉันว่าวัดวาซากเมืองโบราณยังมีอยู่เรียกชื่อด่านตามชื่อลำห้วยแม่สอด ห้วยแม่ละเมานั้นมีอีกห้วยหนึ่งต่างหาก เข้าใจว่าอยู่นอกเมืองฉอดไปทางตะวันตก ห้วยนั้นเห็นจะเป็นเขตแดนเมืองไทยกับเมืองมอญต่อกันมาแต่เดิมจึงเรียกว่า “ด่านแม่ละเมา” ต่อมาจะเป็นด้วยเมื่อปันแดนกันใหม่กับอังกฤษเมื่อรัชกาลที่ ๔ หรือเป็นด้วยย้ายด่านที่แม่ตะเมาเข้ามาตั้งที่เมืองฉอด เพราะเป็นที่มีบ้านช่องไร่นาหรือว่าอีกอย่าง ๑ เพราะไม่มีกิจจะต้องคอยสืบสวนข้าศึกเหมือนแต่ก่อน ข้อนี้หม่อมฉันยังไม่ทราบแน่ จึงเรียกชื่อเปลี่ยนเป็น “ด่านแม่สอด”

๕) คำว่า “นาฬิกา” ที่ดอกเตอรแลงกาต์พบใช้ในกฎหมายเก่าว่า “กะลาลอย” นั้นดีหนักหนา ด้วยได้ความชัดว่าเครื่องกำหนดเวลาของไทยเดิมเรียกเป็นภาษาไทยตามวัตถุที่ใช้ว่า “กะลาลอย” มาเปลี่ยนใช้เป็นคำภาษาสังสกฤตว่า “นาฬิกา” ต่อมาภายหลัง แต่ก็หมายความว่ากะลาเหมือนกัน ครั้นว่าได้เครื่องกลอย่างฝรั่งสำหรับกำหนดเวลาเข้ามา ก็เอาชื่อเครื่องใช้ที่อยู่ก่อนมาเรียก “นาฬิกา” ยังคิดเห็นต่อไปว่าคำชั่วโมงเดิมเห็นจะเรียกว่า “ล่ม” หรือ“กะลาล่ม” แล้วจึงเปลี่ยนไปเรียกว่า นาฬิกา แต่คำ “นาฬิกา” ใช้แต่บุคคลชั้นสูง คนสามัญจึงเรียกกำหนดเวลาตามเสียงฆ้องที่ตีกลางวันว่า “โมง” และเรียกตามเสียงกลองที่ตีกลางคืนว่า “ทุ่ม” เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กเคยเข้าไปดูในโรงนาฬิกา ยังจำได้เป็นเค้าว่าอ่างน้ำสำหรับลอยกะลายังอยู่ แต่ใช้นาฬิกากลอย่างฝรั่งดูเวลา ถึงกระนั้นยังมีไม้คะแนนทำด้วยไม้ไผ่เหลาขนาด ไม้ตีกลองของเจ๊กผูกเชือกล่ามติดกันดูเหมือน ๑๒ อัน ถึงเวลาชั่วโมง ๑ ก็เอาไม้คะแนนขึ้นปักราวไว้เป็นสำคัญอัน ๑ เรียงกันไป คงถอนออกเมื่อย่ำรุ่งครั้ง ๑ ย่ำค่ำครั้ง ๑ หม่อมฉันนึกว่าที่โรงนาฬิกาหลวงเห็นจะใช้กะลาลอยมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ เพิ่งเอานาฬิกาฝรั่งไปตั้งต่อเมื่อรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมได้ทรงประดิษฐ์เครื่องหมายเวลาขึ้นอย่าง ๑ เป็นแผ่นกระดานขนาดสักเท่ากระดานเครื่องเล่นน้ำเต้ากุ้งปูปลา เขียนหน้านาฬิกาติดทั้งเข็มยาวและเข็มสั้นเรียงไว้เป็น ๒ แถว หลายๆ วันเห็นเอาไปถวายทรงตั้งเข็มหน้านาฬิกาในแผ่นกระดานนั้นครั้ง ๑ ดูเหมือนมีพระราชประสงค์จะให้ตีระฆังตรงกับเวลาโคจรพระอาทิตย์ แต่ยังเด็กนักไม่เข้าใจได้แน่

๖) บทกลอนสำหรับ สวด หรือ ขับร้อง ของเก่าสังเกตดูแต่งเป็นกาพย์เป็นพื้น และมักแต่งแต่ด้วยกาพย์ ฉบัง สุรางคณางค์ และยานี ๓ อย่างเท่านั้น บทละครกรุงศรีอยุธยาชั้นเก่า และบทละครที่พวก “โนห์รา” ยังร้องกันอยู่จนบัดนี้ก็เป็นกาพย์ ที่แต่งเป็นกลอนแปดดูจะเกิดขึ้นต่อเมื่อตอนกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา หาตัวอย่างกลอนเพลงยาว นึกได้ว่ามีเพียงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างเก่า มาชอบแต่งกันมีตัวอย่างมากแต่รัชกาลพระเจ้าบรมโกศสืบมา ข้อที่เรียกกลอนแปดหรือกลอนสุภาพนั้นหม่อมฉันก็สงสัยว่าจะเรียกกันต่อชั้นหลัง เดิมเห็นจะเรียกว่า “กลอนเพลงยาว” หรือ “กลอนยาว” ที่มาเรียกแต่กลอนเกี้ยวพานว่า “เพลงยาว” ดูไม่ได้ความ น่าจะเข้าใจผิด สุนทรภู่อวดตัวไว้แห่งหนึ่งว่า “เป็นอาลักษณ์นักเลงแต่งเพลงยาว” ความก็หมายว่าถนัดแต่งกลอนแปดมิใช่แต่งหนังสือเกี้ยวพาน คำฉันท์นั้นมิใช่สำหรับแต่งภาษาไทย เป็นแต่ผู้เรียนรู้ภาษามคธและสังสกฤตมาก แต่งประลองความรู้ หม่อมฉันอ่านหนังสือฉันท์วรรณพฤติของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ถึงบางบทออกสงสารเพราะจำต้องใช้คำภาษามคธแทบทั้งหมด หม่อมฉันเห็นว่า ภาษาไทยแต่งได้สะดวกแต่ กาพย์ กลอน กับโคลง ๓ อย่างเท่านั้น

๗) คำว่า สีพาย ดูเป็นแต่คำพูด ในหนังสือเขียนว่าฝีพายทั้งนั้น หม่อมฉันยังคิดไม่เห็นว่าจะมาแต่คำ สีชัย ในบทเห่

๘) เกาะถลางนั้นที่ทำไร่นาได้มีแต่ทางข้างเหนือ จึงตั้งเมืองถลางอยู่ข้างเหนือแต่เดิมมา ตอนข้างใต้ไม่มีที่ทำไร่นา แต่มีแร่ดีบุกมาก มีแต่คนพวกหาปลาอยู่่ริมทะเลกับคนไปตั้งขุดหาแร่ดีบุกอยู่ชั่วคราว แต่ดีบุกเป็นของต้องการใช้ราชการมาแต่โบราณ จึงตั้งเมืองภูเก็ตเป็นเมืองขึ้นของเมืองถลางมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อราคาดีบุกสูงขึ้นก็มีคนไปตั้งขุดแร่มากขึ้นโดยลำดับมาเมื่อรัชกาลที่ ๓ หลวงมหาดไทย ชื่อทัด เป็นกรมการเมืองถลางไปตั้งเป็นหลักแหล่งหาเลี้ยงชีพด้วยทำการขุดแร่ดีบุกที่ตำบลทุ่งคา (อันเป็นมูลของชื่อที่ฝรั่งเรียกเมืองภูเก็ต............) สำเร็จผลมั่งมีศรีสุขก็ได้เป็นที่พระภูเก็ตเจ้าเมือง แต่ยังขึ้นอยู่กับเมืองถลางมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) ออกไปสักเลขที่เมืองภูเก็ต ไปขอนางสาวเลื่อมธิดาพระภูเก็ต (ทัด) ให้แต่งงานกับพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น) บุตรคนใหญ่ ต่อมาไม่ช้าเมืองภูเก็ตก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พระภูเก็ตก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ ทำนุบำรุงเมืองภูเก็ตจนเติบใหญ่ เมืองถลางไม่มีแร่ดีบุกก็ด้อยลงไปโดยลำดับ จนที่สุดตกเป็นเต่อำเภอในในจังหวัดภูเก็ตอยู่บัดนี้

เบ็ดเตล็ด

เมื่อเร็วๆ นี้หม่อมฉันอ่านเรื่องสมณศักดิ์ในลานช้าง ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) แต่ง ท่านบอกอธิบายพิธี “หด” คือสรงน้ำพระ เมื่อเลื่อนสมณศักดิ์ คำว่า “หด” นั้นเป็นคำเดียวกับ ว่า “รด” คือรดน้ำนั้นเอง หม่อมฉันคิดไถลไปถึงทางลานนา ที่พูดเสียงอักษร “ร” ออกเป็น “ฮ” ก็มีหลายคำเช่น “เรือน” พูดว่า “เฮือน” “เรา” พูดว่า “เฮา” “แรด” เรียกว่า “แฮด” และคิดต่อลงไปถึงข้างใต้ พวกชาวละคร (อันสืบสายมาแต่ไทยลื้อ) ก็พูดเสียง “ง” เป็น “ฮ” เช่นเรียกเงินว่าเฮิน เรียกงูว่าฮู เป็นต้น ชวนให้นึกว่าเดิมไทยเห็นจะออกเสียงอักษรไม่ได้หลายตัว พอนึกเท่านั้นก็คิดเห็นกว้างออกไป ว่าอักษรของไทยรับแบบอักษรภาษาสังสกฤตมาใช้ ชาวอินเดียเขาออกเสียงพยัญชนะผิดกันทุกตัว ไทยเราไม่สามารถออกเสียงได้หมดเหมือนชาวอินเดีย ก็ต้องใช้แต่จำตัวอักษรเหมือนอย่างชาวละครจำวรรณยุกต์ เสียงที่ไทยอ่านพยัญชนะจึงวิปริตผิดแบบเดิมที่ได้มาจากอินเดียไปหลายตัว คงเป็นเพราะเหตุนั้น ในกาลครั้งหนึ่งจึงมีนักปราชญ์ในเมืองไทยคิดแก้ไขความลำบาก ด้วยตัดอักษรวรรค ฏ ออกเสียทั้งวรรค และตัดอักษร ษ ศ ออกเสียสำเร็จรูปเป็น “กอ ข้อเล็ก” สอนกันทั่วไปเป็นพื้นเมือง หม่อมฉันยังจำได้เป็นเงาๆ ว่าเมื่อหม่อมฉันแรกเรียนหนังสือก็เรียนกอข้อเล็กแล้วครูว่า “เป็นเจ้าเป็นนายต้องรู้กอข้อใหญ่” จึงให้เรียนกอข้อใหญ่เมื่อภายหลัง การที่เรียนกอข้อใหญ่กันเป็นสามัญทั่วไป มาเกิดเมื่อมีโรงเรียนหลวงและใช้หนังสือมูลบทบรรพกิจเป็นต้นมา ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด ถ้าว่าโดยทั่วไปดูเหมือนมนุษย์ต่างชาติมีเสียงพูดซึ่งชาติอื่นพูดไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น

๙) หม่อมฉันขอพึ่ง ให้ช่วยตรัสบอกพระองค์เจ้าธานีนิวัตสักหน่อยว่า ที่เธอจะพิมพ์เรื่อง “พระเชตวัน” ที่หม่อมฉันเขียนให้เธอไปลงในหนังสือของสยามสมาคมและที่เธอเพิ่มชื่อเมืองเชียงใหม่ ซึ่งหม่อมฉันลืมเสียว่ามีวัดเชตุพนด้วยนั้นหม่อมฉันเห็นชอบด้วยแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ