วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ค้างเก่า

๑) ตามที่กราบทูลขอเลื่อนการสนองความในลายพระหัตถ์ข้อท้าย ในเรื่องนิทานโบราณคดีไว้ จะได้กราบทูลต่อไปนี้

ก) ข้อแรกในการที่ทรงตั้งชื่อเรียงว่า “นิทานโบราณคดี” นั้นไม่ชอบใจ เพราะคำว่านิทานนั้นหนักไปในทางว่าเป็นเรื่องปรุงแต่งขึ้น ซึ่งไม่มีความจริงอยู่ในนั้นก็ได้ แต่ที่ทรงพระนิพนธ์เป็นเรื่องจริง จึงอยากให้เปลี่ยนชื่อเสียเป็น “เรื่องเตร็จโบราณคดี”

ข) ในคำนำตรัสเล่าถึงพระธิดา ทูลถามถึงเรื่องเก่าๆ ในเวลาเสวย ทำให้รำลึกถึงครั้งรัชกาลที่ ๕ เสด็จลงเสวยที่เฉลียงชั้นล่าง แห่งพระที่นั่งอัมพรสถาน ได้ตรัสเล่าถึงเรื่องเก่าๆ เหมือนกัน ฝ่าพระบาทก็ได้เสด็จเข้าประทับโต๊ะนั้นด้วย หวังว่าจะทรงระลึกเอามาเขียนขึ้นในครั้งนี้ด้วยเป็นลางเรื่อง แต่ลางเรื่องก็เห็นจะเขียนไม่ได้ ด้วยจะมีคนรู้สึกเดือดร้อน

ค) การหาสำรับให้กิน เห็นจะเป็นธรรมเนียมของชาวบ้านนอกซึ่งเขาแสดงน้ำใจดีต่อแขก

ฆ) “ประพาสต้น” เห็นจะมีเรื่องมาก เช่น ตาช้างก็เลยติดต้อยห้อยตามเข้ามาในงานซึ่งมีที่กรุงเทพฯ อยู่บ่อยๆ ได้ยินว่ากรมหลวงสรรพสาตร์ถูกยายพลับเมียตาช้างดุเอา ฝ่าพระบาทได้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปทุกเที่ยว หวังว่าจะทรงเก็บเรื่องมาแต่งขึ้นได้ เช่นเดียวกับที่ลูกชาวบ้านถวายบังคม เกล้ากระหม่อมไปเที่ยวอย่างจอมปลอมก็มีคนรู้จักหลายหนทีเดียว จนนึกว่าคนอย่างเราหนีไม่ได้ จะเล่าถวายอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเกล้ากระหม่อมขึ้นไปพิษณุโลก เป็นทางปฏิบัติของเกล้ากระหม่อมโดยปกติ เวลาเช้าก็ออกเดินไปทางริมแม่น้ำ ซึ่งมีคนเขาเดินกันอยู่เสมอจนเป็นทางเพื่อยืดแข้งขา ปล่อยให้พวกคนงานหุงข้าวกินกันเสียก่อน แล้วถอยเรือตามขึ้นไป ในคราวนั้นมีพระยาสามภพพ่ายไปด้วย แต่ไม่ใช่ไปในพวกเกล้ากระหม่อม ทางบ้านเมืองเขาขอแรงให้แกไปช่วยดูแลการทำพลับพลา แต่แกอาศัยไปด้วยในกระบวนเรือเกล้ากระหม่อม เมื่อเกล้ากระหม่อมออกเดินในวันที่กราบทูลนี้แกก็ตามไปด้วย แกแต่งตัวเป็นราชการ คือ นุ่งผ้าพื้นสวมเสื้อชั้นนอก ส่วนเกล้ากระหม่อมมีแต่กางเกงเจ๊กกับเสื้อชั้นใน เผอิญทางไปจะต้องเดินผ่านที่ว่าการอำเภอสรรพยา เกล้ากระหม่อมจึงให้พระยาสามภพซึ่งแต่งตัวดีนั้นขึ้นหน้า ส่วนเกล้ากระหม่อมลดมาเดินหลังทำตัวเป็นบ่าว นายอำเภอสรรพยา (ทราบทีหลังว่าเป็นตำแหน่งหลวงนา) แกนอนอยู่บนเก้าอี้ พอเห็นคนแปลกหน้าเดินผ่านไป ก็เผยอตัวขึ้นดู นึกว่าจะสิ้นเรื่องเพียงงเท่านั้น ก็เดินต่อไปถึงวัดซึ่งอยู่ข้างหน้า จึงบอกพระยาสามภพให้ขึ้นไปนั่งคอยอยู่บนศาลาการเปรียญ ส่วนตัวเองแวะเข้าไปฐาน อีกครู่เดียวนายอำเภอก็พาพวกกรมการตามไปที่วัด นายอำเภอสำคัญใจว่าพระยาสามภพเป็นเกล้ากระหม่อมก็ขึ้นไปถวายคำนับ ส่วนเกล้ากระหม่อมพอออกมาจากฐานก็พบพระสมภารมายืนคอยอยู่ต้นทาง บอกว่า “เชิญเสด็จ ขอถวายพระพร” เกล้ากระหม่อมก็เข้าตาจน คิดเห็นควรที่ท่านจะไปหลงตอมพระยาสามภพตามนายอำเภอ แต่ท่านไม่ยักตาม กลับตรงมาหา จึงถามท่านว่า “ทำไมจึงรู้จักผม” ท่านบอกว่า “อาตมาภาพบวชอยู่วัดมหาธาตุ” แปลว่าเคยอยู่มาที่หลังบ้านในกรุงเทพฯ นั่นเองเจ็บปวดมาก สิ้นเคราะห์ไปเถิด ในการที่ท่านพยายามมาตามตัว ก็เพราะท่านปลูกปะรำไว้รับ และเกลามะพร้าวอ่อนไว้เป็นอันมากด้วย เกล้ากระหม่อมออกจะ “ปวดหัว” ที่ต้องออกแขกเฝ้ากันแน่นหนาทั้งแต่งตัวปอนๆ ไปฉะนั้น

ง) จะกราบทูลอย่างขวางโลก ว่าเทวดากับผีเป็นอันเดียวกันต่างแต่ที่อยู่เท่านั้น ชาวเหนือเรียกเทวดาว่า “ผีฟ้า” ในคำเช่นแม่ซื้อแบ่งไว้เป็น ๔ ว่า “แม่ซื้อเมืองล่าง แม่ซื้อเมืองบน แม่ซื้อเดินหน แม่ซื้อใต้ที่นอน” คิดว่า “แม่ซื้อเมืองล่าง” ได้แก่เทวดาในแผ่นดิน “แม่ซื้อเมืองบน” ได้แก่เทวดาบนสวรรค์ “แม่ซื้อเดินหน” ได้แก่อากาศเทวดา “แม่ซื้อใต้ที่นอน” ได้แก่ผีเรือน

จ) เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปเมืองสุพรรณครั้งแรก เกล้ากระหม่อมไม่ได้ตามเสด็จพระราชดำเนิน เป็นแต่ขึ้นไปกับเสด็จกับรถไฟที่บางปะอินคราวนั้นอยู่ข้างจะลำบาก ด้วยเสด็จจะกลับถึงเวลาไรก็ไม่มีกำหนดแน่ ต้องดูกาละสั่งรถซึ่งคอยอยู่ให้หลีกให้ผ่านไป ไม่เช่นนั้นรถกระบวนอื่นก็จะถึงที่หมายช้ากว่าเวลาอันสมควรไปมาก ได้ตั้งใจไว้ว่าถ้าเสด็จกลับถึงในเวลาที่รถกระบวนอื่นอยู่ในทาง ก็จะต้องกราบบังคมทูลให้ประทับรอ แต่เดชะบุญไม่ต้องกราบบังคมทูล เพราะไม่มีกระบวนรถอื่นขวางอยู่ในทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปครั้งหลังนั้นได้ตามเสด็จพระราชดำเนินแต่ได้ไปเที่ยวดูอะไรต่ออะไรน้อยแห่ง ด้วยเป็นหน้าน้ำน้ำท่วม ไปเที่ยวดูได้แต่ที่ดอน เห็นมีสิ่งเก่าๆ ต้องใจอยู่มาก จึงได้หมายมั่นปั้นมือไว้ว่าหน้าแล้งจะไปเที่ยวดูอะไรอีก ทีหลังก็ได้ไปจริงๆ ในหน้าแล้ง แต่ไม่ไหวร้อนเต็มที ไปเที่ยวไหนไม่รอด แม้จะดูในเรือก็ไม่เห็นอะไรได้ ด้วยตลิ่งสูงบังตาเสีย เพราะน้ำมีน้อย มีติดอยู่แต่ก้นแม่น้ำ

ลายพระหัตถ์

๒) เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน (วันเสาร์) ได้ลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๔ กันยายน อย่างเกินกว่าเรียบร้อยตามเคยไปอีก คือไม่มีตราสามเหลี่ยมประทับสั่งผ่าน ตรงกันข้ามกับตามที่ตรัสบอกว่าหนังสือเวรซึ่งมีไปถวาย ได้ทรงรับถูกตัดตรวจ แต่ก็ไม่เป็นอะไร หนังสือเวรนั้นจะตัดตรวจที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างไร คิดว่าไม่ใช่เพราะฐานะแห่งความเป็นไป เข้าใจว่าเพราะหลงลืม หรือเพราะคนใหม่ไม่รู้การอันเคยทำมาอย่างไรเท่านั้น จะกราบทูลสนองความลางข้อต่อไปนี้

๓) เรื่องลายพระหัตถ์ออกพระนามพระมหากษัตริย์ผิด จะแก้เสียตามรับสั่ง

๔) ตามที่ตรัสถึงรูปสัตว์ ซึ่งเราทำผิดกับตัวจริงนั้นจับใจมาก ราชสีห์ถึงแม้ได้ตัวจริงเข้ามาก็ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นราชสีห์ เข้าใจกันว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งต่างหาก แม้ที่เรียกชื่อว่า “สีห์” กับ “สิงห์” ก็เข้าใจว่าเป็นสัตว์คนละอย่าง หาเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงภาษามคธกับสังสกฤตเท่านั้นไม่ ที่เป็นไปดังนั้นก็คงเป็นเพราะสัตว์ชนิดนั้นไม่มีในบ้าน จึงกลับไม่ได้เหมือนกับแรด

รูปราชสีห์ซึ่งเราทำกันอยู่นั้น สังเกตเห็นทางมอญทางพม่าก็ทำรูปเหมือนกัน ใครจะเอาอย่างใครก็ไม่ทราบ

รูปสัตว์หิมพานต์ ตามตำราที่ตรัสถึงนั้นเห็นเป็นเหลวที่สุด ตกลงผสมเอาตามชอบใจ เช่น “เหมราอัศดร” ตัวเป็นม้าหน้าเป็นหงส์ หรือ “มังกรวิหค” ตัวเป็นนกหน้าเป็นมังกรเป็นต้น ในการคิดผสมเห็นจะเป็นเพราะต้องการรูปสัตว์แห่มาก สัตว์หิมพานต์เดิมมีไม่พอก็คิดผสมขึ้น ตามที่ตรัสอ้างถึงสัตว์หิมพานต์ของฝรั่ง ทำให้นึกได้อีกเป็นหลายอย่าง ที่เรียกว่า “กริฟฟิน” ตัวเป็นราชสีห์มีปีกหน้าเป็นนกนั้น ก็มาตรงกับ “ไกรสรปักษา” ของเรานั่นเอง “สฟิง” ของอียิปต์ ตัวเป็นราชสีห์หน้าเป็นคน ก็มาตรงกับ “นรสิงห์” ของเรา ที่จริงนรสิงห์ก็ไม่ใช่สัตว์หิมพานต์ทางอินเดียผูกขึ้นตามนิทานอวตารปางหนึ่ง พม่าก็ทำ สัตว์หิมพานต์ซึ่งกล่าวไว้ในคัมภีร์ไตรภูมิเป็นต้น ก็เป็นสัตว์ป่าเราตามปกตินั่นเอง หาได้เป็นสัตว์อย่างพิลึกกึกกืออะไรไปไม่ เห็นได้ว่าสัตว์หิมพานต์ที่มีรูปพิลึกกึกกือไปนั้นเกิดขึ้นทีหลัง

มังกร ถึงอย่างไรก็เป็นงูไม่ได้ เพราะมีตีน งูไม่มีตีน จะต้องเป็นพวกจิ้งเหลน

๕) ตามที่ตรัสบอกถึงเมืองเก่าริมแม่น้ำเก่า ระหว่างเมืองสุโขทัยกับกำแพงเพชร ซึ่งทรงสันนิษฐานว่าลำน้ำนั้นจะมาถึงบางคลาน และทรงสันนิษฐานว่าเมืองเก่าจะชื่อเมืองคกานนั้นดีเต็มที ทำให้รู้เค้าขึ้นได้ว่าเมืองควานทีจะอยู่ที่ไหน

๖) เรื่องเครื่องทำเงินหมุนด้วยแรงคน ซึ่งเกล้ากระหม่อมกราบทูลว่าเป็นบรรณาการฝรั่งเศสนั้น เมื่อได้ทรงทราบว่าเป็นบรรณาการอังกฤษโดยได้ทรงพบหนังสือ ก็เป็นอันแน่กว่ามากทีเดียว เกล้ากระหม่อมกราบทูลก็โดยที่ได้ฟังคำบอก แล้วเกล้ากระหม่อมจะจำผิดไปก็ได้ ด้วยเป็นกาลนานมาแล้ว แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผิดกันไปก็เป็นกะพี้ อาจถือเอาแก่นได้

๗) อีแปะที่ใช้ในชวา เห็นเขาเอามาเล่นเบี้ยกัน เกล้ากระหม่อมก็ไม่ได้หยิบดูพิจารณาตราว่าเป็นอย่างไร ด้วยเชื่อเอามั่นเหมาะว่าเป็นอีแปะจีน เมื่อเป็นเงินของเขาไม่ได้ใช้อีแปะจีน ตราก็จะต้องเป็นอย่างอื่นไม่เหมือนกับอีแปะจีน เป็นแต่เอาอย่างสัณฐานเท่านั้น ชวากับมลายูก็จัดว่าเป็นพวกเดียวกัน ชวาทำอย่างไรมลายูก็ทำอย่างนั้น ที่สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ใช้อีแปะก็เอาอย่างมลายูมานั่นเอง อีแปะจีนซึ่งเราเก็บร้อยไว้ เมื่อตราต่างกันแลกทางปักษ์ใต้ไม่ได้ก็เป็นเก็บไว้เล่นเท่านั้นเอง

๘) เรื่องลืมหลง ตามที่ทรงตัดสินว่าแม้ไม่รู้ตัวว่าเหลว จึงนับว่าเป็นหลงได้นั้น ก็ถูกโดยปริยายอย่างหนึ่งซึ่งเถียงไม่ได้ แต่ดูเหมือนจะมีคั่น อย่างไม่รู้ตัวนั้นทีจะเป็นหลงอย่างอุกฤษฐ์ หลงต่ำกว่านั้นก็มี เช่น อะไรอยู่แค่ริมฝีปากแต่นึกไม่ออก เหมือนหนึ่งกรมพระสมมติตรัสเล่าว่ามีหมอชราคนหนึ่งเขาตามเอาไปนอนเฝ้าไข้ เจ้าบ้านอยากจะปฏิบัติหมอให้ได้อะไรสมใจนึก จึงถามว่าอยากกินอะไรบ้าง ตาหมอนึกชื่อสิ่งที่อยากกินไม่ออก จึงบอกว่าอยากกินอะไรอ้ายไผ่ๆ นั่นแหละ เจ้าบ้านจึงเดาให้ว่าหน่อไม้หรือ ตาหมอบอกว่าเออนั่นแหละ

นึกได้ว่าเคยเห็นรูปในหนังสือพิมพ์ เขาตีพิมพ์มาเป็นว่าหัวคน (คือความคิด) จัดเป็นสามชั้น เขาเขียนดุจพื้นเรือน ชั้นบนเป็นรูปคนผู้ใหญ่ ชั้นกลางเป็นรูปเด็ก ชั้นต่ำเป็นรูปสัตว์เดียรัจฉาน (คือลิง เห็นจะเลือกเอาสัตว์เดียรัจฉานที่คล้ายคน) คำอธิบายว่า มนุษย์เราอาจเปลี่ยนฐานะไปตามรูปที่เขียนนั้นได้ ด้วยมีอันเป็นไปต่างๆ เช่นตกม้าเป็นต้น ผู้คิดนั้นคงจะคิดแบ่งเป็นสามชั้น คือรู้ผิดรู้ชอบมาก และรู้ผิดรู้ชอบน้อย กับไม่รู้ผิดรู้ชอบเลย เกล้ากระหม่อมเห็นว่านั่นเป็นแบ่งอย่างหยาบ ควรจะแบ่งอย่างละเอียดไปกว่าอีก เอาอย่างต่ำเช่นสัตว์เดียรัจฉาน ลิงกับคางคกความรู้ผิดชอบก็ผิดกัน

ในคำว่าหลงนั้นให้เกิดความสงสัยมานานแล้ว ว่าอย่างไรจึงเรียกว่าหลง ที่แปลคำบาลี โมหะ ว่า หลงนั้น หนักไปในทางว่าไม่รู้ ความไม่รู้นั้นมีอีกศัพท์หนึ่งต่างหากเรียกว่าอวิชชา ดูเป็นแปลเอา โมหะ กับอวิชชา มาปนกันเสีย ทางเขมรเขาแปล โมหะ ว่าวังเวง เข้าจะเข้าใจว่า คำวังเวงเป็นประการใดไม่ทราบ แต่ความเข้าใจทางเราดูไกลจากความไม่รู้อยู่มาก ได้ปรึกษาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถึงคำ หลง ซึ่งแปล โมหะ ท่านเห็นว่าความหลงนั้น จะต้องเป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ดีแต่ขืนทำ เช่น นักเลงสุรา รู้อยู่แล้วว่าสุราเป็นของชั่วแต่ขืนกินฉะนั้น ท่านว่าเข้าทีอยู่มาก แต่สังเกตคำ หลง ที่ใช้อยู่ในภาษาของเรา เป็นอย่างที่ท่านว่าก็มี เป็นอย่างลืมก็มี เป็นอย่างไม่รู้ก็มี

บรรเลง

๙) เรื่องกล่าวมนต์เปิดประตูไกรลาศ ในการขึ้นพระอู่สมเด็จเจ้าฟ้านั้นได้สืบถามทางสำนักพระราชวังแล้ว ได้ความว่ากล่าวก่อนกล่อมทั้งเปิดและปิดประตูไกรลาศ นึกดูเห็นว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควร ควรจะเปิดประตูไกรลาศก่อนแล้วจึงกล่อม กล่อมแล้วจึงปิดประตูไกรลาศ

ส่วนการจำเริญพระเกศาไฟ ได้ความว่าเมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ไม่มีพิธีอะไรนอกจากภูษามาลาจำเริญพระเกศา แต่ก่อนนี้สืบได้ความว่ามีเจ้านายผู้หญิงผู้ใหญ่จรดพระกรรบิด ไม่มีการใช้กรรไกร เห็นเป็นถูกที่สุด คงเป็นเพราะเหตุนั้นจึงไม่มีการเชิญผู้ใหญ่ทางฝ่ายหน้าเข้าไปจำเริญ (คือตัด) พระเกศา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ