วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เบ็ดเตล็ด

๑) ปากนำโพที่จริงควรจะเป็นปากน้ำพิง แล้วลำนำโพธิ์จะอยู่ที่ไหน เคยเห็นในพงศาวดารมีกล่าวถึงปากน้ำพิง ดูอยู่แถวพิษณุโลก ทำให้เข้าใจว่าแต่ก่อนนี้ร่วมน้ำแม่พิงจะตกอยู่แถวพิษณุโลก คลองพิงก็เคยได้ยิน เข้าใจว่านั้นคือลำน้ำซึ่งน้ำเดินอ่อนๆ ทำให้แคบเล็กจนกลายเป็นคลอง (คนขุด) ไปเสียแล้ว แม่น้ำโพธิ์จะเป็นลำน้ำตั้งแต่ที่ร่วมกับแม่น้ำใหญ่ (ซึ่งเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่าน้ำน่าน) ขึ้นไปจดคลองพิง (ซึ่งเข้าใจว่ามาต่อกับแม่พิง) อันแผนที่ตามเข้าใจกันก่อนนี้ “ย่อมหมายเอาลำน้ำเป็นหลัก แต่เมื่อลำน้ำเปลี่ยนไปแผกที่ซึ่งกล่าวมาแต่ก่อนก็เสียหลัก เหมือนหนึ่งแม่น้ำที่เมืองพิจิตรทุกวันนี้ทราบว่าเป็นคลองเรียง แล้วน้ำเดินแรงกัดให้ใหญ่กลายเป็นแม่น้ำไป ที่จริงแม่น้ำและเมืองพิจิตรเก่าก็ยังมี แต่นับวันก็จะศูนย์หายไป เมืองพิจิตรเดี๋ยวนี้เป็นเมืองตั้งใหม่ ยังจำได้ที่ตรัสว่าอาจเลิกได้ในชั่วโมงเดียว คำว่าสระหลวงเข้าใจว่าที่เรียกกันว่าบึงสีไฟอยู่ในทุกวันนี้ ที่กราบทูลมาครั้งนี้ก็ด้วยคิดว่า แม้ทรงทราบการเก่าอย่างไร ก็จะได้โปรดตรัสอธิบายให้เข้าใจแน่ได้

ทะเลสาบ ในคำว่า “สาบ” เกรงจะเป็นชื่อจำเพาะห้วงน้ำที่กว้างที่เมืองเขมร ไม่ใช่เรียกห้วงน้ำกว้างว่าทะเลสาบทุกหนทุกแห่งไป คำว่าทะเลหมายความว่ากว้าง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นห้วงน้ำ เป็นบกก็ได้ เช่นทะเลหญ้า ทะเลตม และหัวทะเล เป็นต้น

๒) ทีนี้จะกราบทูลด้วยเรื่องสีมา อันเป็นเรื่องซึ่งได้กราบทูลมาแล้ว แต่เป็นเรื่องเข้าป่าสำหรับทรงทราบเท่านั้น ไม่ใช่รับรองอะไร

ตามปกติของเกล้ากระหม่อม ถ้าอยากรู้อะไรในทางพระศาสนาก็ถามพระเถระสุดแต่โอกาสจะอำนวย ในเรื่องสีมาได้ถามพระอุบาลี (เผื่อน) ก่อน ท่านบอกว่ามีมากในอรรถกถา ฎีกาโยชนา ส่วนในพระบาลีมีแต่ในพระวินัย ในพระสูตรไม่มี ท่านไม่ได้บอกรายละเอียด เห็นจะฝั่นเฟือหนัก ครั้นได้พบสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จึงถามท่านอีก ท่านบอกไม่ได้ด้วยท่านไม่เข้าใจพอ เป็นแต่บ่นว่าอะไรเป็นประโยชน์ๆ กว้างขวางเต็มที เป็นปกติของท่าน ถ้าท่านบอกไม่ได้ก็หาอะไรซึ่งควรดูได้มาให้ดูพิเคราะห์เอาเอง ในเรื่องสีมานี้ท่านส่ง “วินัยมุข” ซึ่งสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณทรงเรียบเรียงมาให้ดู

เกล้ากระหม่อมอ่านดูก็เห็นว่า ท่านทรงกล่าวอ้างถึงไว้ทุกอย่างแต่เราจะต้องจับเอาคำในพระบาลี อันเป็นรากเง่าของเรื่องสีมานั้น แต่คำในพระบาลีเข้าใจยาก ก็เหมือนกับกฎมนเทียรบาลของเรานั้น เป็นเหตุให้มีอาจารย์เป็นอันมาก แปลวินิจฉัยกันไปต่างๆ จึงเกิดเป็นหนังสือขึ้นมากมาย มีอรรถกถาฎีกาเป็นต้น คำที่อาจารย์ทั้งหลายแต่งก็วินิจฉัยไปตามความเห็นแห่งตนขัดกันให้ยุ่งไปฟังเอาเป็นยุติอะไรไม่ได้ ลางอาจารย์ก็มีความเห็นถี่ถ้วนเกินไป ลางอาจารย์ก็มีความเห็นมักง่ายเกินไป ลางความเห็นท่านก็ทรงเห็นด้วย ลางความเห็นก็ไม่ทรงเห็นด้วย จึงเป็นเหตุให้ทรงวินิจฉัยใหม่ไปตามพระดำริ

ในข้อที่คิดวินิจฉัยของใครนั้นจะไม่กล่าวถึง จะกราบทูลแต่ความที่กล่าวไว้ในพระบาลี อันเป็นคำเก่าและเป็นหลักของเรื่องสีมานี้มีอยู่ว่าห้ามไม่ให้สงฆ์สมมติสีมาคับแคบ จนอยู่ในนั้น ๒๑ คนไม่ได้ และไม่ให้สมมติสีมากว้างใหญ่เกิน ๓ โยชน์ไป และให้สงฆ์ซึ่งอยู่ในสีมานั้นประชุมกันทำสังฆกรรม

พิจารณาความในพระบาลี หาใช่วัดหนึ่งมีสีมาล้อมโบสถ์จำเพาะวัดเดี๋ยวนี้ไม่ ใกล้ไปทางมหาสีมา แต่มหาสีมาก็เป็นจำเพาะวัดหนึ่งผิดไปจากทางพระบาลีอยู่เหมือนกัน อันมหาสีมานั้นก็มีอาจารย์คนหนึ่งคิดจัดมาแล้ว แต่ก่อนเข้าใจว่าทูลกระหม่อมของเราทรงอะลุ้มอล่วย จัดเอาโน่นนิดนี่หน่อยผสมกัน เพื่อให้ใกล้กับทางพระบาลี ที่ในพระบาลีกล่าวห้ามมิให้สมมติสีมาเกิน ๓ โยชน์นั่นทำให้เกิดความสงสัย ว่าโยชน์หนึ่งในพระบาลีจะไม่ใช่ ๔๐๐ เส้นอย่างที่เข้าใจกันอยู่ทุกวันนี้ ได้เปิดดูพจนานุกรมบาลีก็บอกแต่เพียงว่าโยชน์หนึ่ง ๔ คาวุต พลิกดูศัพท์ “คาวุต” เพื่อจะรู้ว่ายาวเท่าไร ก็ซัดกลับไปว่าคาวุตหนึ่งเป็น ๑/๔ แห่งโยชน์ เลยไม่รู้ว่าโยชน์หนึ่งยาวเทาไร แต่ก็ดีดอกที่เขียนไว้ให้เข้าใจว่า “คาวุต” สังกฤตเป็น “คาวยูติ” ตรงกับที่เรียกว่า “คาพยุต” ทำให้ได้ความรู้งอกออกไปว่าคาพยุตนั้นเป็น ๑/๔ แห่งโยชน์ ทางพระบาลีที่ว่าไว้ดูเป็นประสงค์ให้พระสงฆ์ ซึ่งอยู่ในระแวกเดียวกันมารวมทำสังฆกรรมด้วยกัน ทีจะเป็นที่ไหนก็ได้ภายในสีมาแล้วแต่จะบอกนัดกัน แต่สีมาซึ่งกำหนดอย่างใหญ่ไว้ ๓ โยชน์นั้น ถ้าว่าตามที่เข้าใจกันอยู่ในขณะนี้ก็เป็น ๑,๒๐๐ เส้น เป็นการพ้นวิสัยที่จะบอกนัดและมาประชุมกันได้สะดวก กลัวจะมีเข้าใจผิดมิอะไรก็อะไรอยู่ในนั้น ตามวิธีที่เขาผูกสีมากันในเมืองมอญ ซึ่งฝ่าพระบาทเคยตรัสเล่าประทานครั้งหนึ่งว่าเขาทำอย่างไรกันนั้น ก็เป็นการกระทำตามลัทธิของเกจิอาจารย์สำนักหนึ่ง ซึ่งมิได้ต้องด้วยพระบาลี

๓) พูดถึงความไม่เข้าใจก็นึกขึ้นได้อีกเรื่องหนึ่ง เจ้าพระยาเทเวศรเล่นละครเรื่องรามเกียรติ์ตอนอาสา มีตัวอากาศตะไลออกรบกับหนุมาน ชื่อนั้นจะแปลว่ากระไรก็ไม่ทราบ มีลางคนคิดเห็นว่าเป็นอากาศประลัย แต่หากคำตะไลจะเทียบด้วยชื่อดอกไม้ไฟซึ่งจุดให้บินขึ้นไปบนอากาศก็ได้เหมือนกัน ในบทรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑ มีว่า “อสูรเสื้อเมืองมารหาญกล้า” ไม่ได้ออกชื่อ เกล้ากระหม่อมมีหน้าโขนตัวนั้นอยู่ ก็เป็นหน้าผู้ชายสมกับที่ว่าพระเสื้อเมืองซึ่งควรเป็นผู้ชาย แต่ที่เจ้าพระยาเทเวศรจัดเล่นนั้นเป็นผู้หญิง ท่านว่าในบทรัชกาลที่ ๒ มีชัดว่า “นางอากาศตะไลมารหาญกล้า” และนางอากาศตะไลนั้นนุ่งผ้า “จีบโจง” ตามที่นุ่งห่มจีบอย่างผู้หญิง แต่รวบชายล่างขึ้นโจงกระเบนดูก็เห็นไม่ผิดกันกับยักษ์ทั้งปวง ท่านก็คงทำตามที่ทำกันมาก่อน แต่เกล้ากระหม่อมให้นึกไปว่าเข้าใจผิดคำว่า “นุ่งจีบโจง” กลัวจะหมายความว่านุ่งอย่างผู้ดีชาวฮินดู คือจีบชายหนึ่ง โจงชายหนึ่ง ฝ่าพระบาพเข้าพระทัยแล้ว

คิดแปลคำ “นุ่งจีบโจง” นึกขึ้นมาได้ เคยถูกกรมหมื่นวรวัฒน์ถามว่านุ่ง “รัดโกปินำ” นุ่งอย่างไร เกล้ากระหม่อมก็ลา ท่านว่าท่านเห็นคำนั้นใน บททรงเครื่องเมื่ออินทรชิตจะเข้าพิธี ท่านคิดจะเขียนรูปอินทรชิตเข้าพิธีให้ถูกตามที่มีบทกล่าวไว้หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ จำได้ว่าฝ่าพระบาทได้เคยทรงทำอะไรทีหนึ่ง เป็นรูปอินทรชิตเข้าพิธีในโพรงไม้โรหันติ์ ตัวโตเท่าคน ศีรษะโพกผ้าเหมือนรูปเขียน แต่งตัวก็แต่งเหมือนโขนละครจับ เอานุ่งรัดโกปินำไม่ได้ มาพลิกดูพจนานุกรมบาลีของอาจารย์จิลเดอมี “โกปิน” ให้ตัวสังสกฤตไว้เป็น “เกาปีน” แปลว่าขัดเตี่ยว เห็นจะเป็นนุ่งซับในซึ่งจะเห็นไม่ได้

๔) เจ้ากรมของเกล้ากระหม่อม ฝ่าพระบาททรงรู้จัก ตายแล้ว เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนนี้ แรกเจ็บก็มีอาการแต่ให้อ่อนเพลรบ เกล้ากระหม่อมก็ได้จัดหมอซึ่งเคยรักษาพยาบาลตัวเกล้ากระหม่อมกับทั้งครอบครัวให้ช่วยรักษา แต่ก็เป็นธรรมดาที่รักษาไม่ฟื้นก็ต้องเปลี่ยน ทีหลังมีอาการให้เบาไหลไปไม่เป็นเวลา ทำให้ไม่รู้ว่าต้องเจ็บในกระเพาะหรือไต ได้ส่งหมออีกคนหนึ่งไปให้ตรวจ เขาบอกว่าเป็นมะเร็งที่ไต เมื่อเป็นดังนั้นก็พ้นวิสัยที่จะช่วยได้อยู่เอง

ลายพระหัตถ์

๕) ลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ได้รับแล้วเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม โดยบริสุทธิ์ จะกราบทูลสนองต่อไปนี้

๖) เรื่อง โล โหล่ โล่ โล้ โหล นั้นเข้ารูปคำซ้ำอันได้เคยกราบทูลมาแล้ว ที่เสียงสูงต่ำก็เป็นแต่เน้นเสียงเท่านั้น เช่นชาวโคราชพูดม้าเป็น ม่า, ช้าง เป็น ช่าง ช่าง เป็น ช้าง ก็เป็นเรื่องเน้นเสียง หรือจะว่าให้ใกล้ เช่นเราสอนให้อ่านหนังสือว่า กอ ข้อ ขอ ค่อ คอ เฆาะ งอ นั้นเป็นเรื่องเน้นเสียงให้ปรากฏเป็นเบาหนัก เห็นได้ว่าวรรณยุกต์ เกิดทีหลังที่สอนให้อ่านเช่นนั้น การผันอักษรมีนิทานเล่ากันถึงหนังสือไทยใหญ่ ไทยพวกนั้นส่งเสริมกันให้ทำบุญ ใครสร้างอะไรเป็นการบุญก็มีคำนำชื่อ มีคนหนึ่งสร้างศาลาเป็นที่พักคนเดินทางไว้ข้างทาง แล้วขุดบ่อน้ำไว้ที่ศาลาด้วย แต่ลับไปจนสังเกตไม่ได้ว่ามีบ่อน้ำ จึงเขียนหนังสือเป็นสลากปักไว้ว่า “ที่นี่หมีหนำ” เลยเปิดหนีไปเพราะกลัวหมีไม่ได้พักศาลาและกินน้ำ ทีเราจะเห็นไม่เป็นการในเรื่องไม่มีเครื่องหมายอักษร จึงได้คิดวรรณยุกต์ขึ้น แต่ก็ไม่ได้ใช้ในหนังสือไทยทุกหนทุกแห่งไป

๗) เรื่องหญิงจงเรียบร้อยไปได้นั้นดีอย่างยิ่ง

๘) พระรูปสมเด็จพระนารายณ์ตามที่ตรัสอ้างถึงนั้นเป็นรูปในสมุดพระรูปซึ่งเสด็จออกสิงหบัญชร เกล้ากระหม่อมก็เคยเห็นทั้งได้เคยเห็นพระรูปอื่นอีกด้วย แต่เล็กเต็มทีจะสังเกตเอาพระพักตร์ว่าเป็นอย่างไรหาไม่ได้ ตามที่กราบทูลนั้นเป็นพระรูปใหญ่หน้าถึง ๒ เซนติเมตร ขนาดเดียวกับรูป ๑๐ ชาติ ซึ่งเกล้ากระหม่อมเขียนแจกสงกรานต์ เป็นรูปทำสำหรับให้ดูโดยจำเพาะ เธอเอาเข้ากรอบไว้ จะกราบทูลให้ทรงทราบว่าคำ “บัญชร” ทางบาลีหมายความว่าหน้าต่างลูกกรง ทำให้นึกไปถึงหน้าต่างปราสาทหินในเมืองเขมรว่าทำเข้าแบบ นั่นเป็นความหมายเก่า เช่นกฎมนเทียรบาลซึ่งเราเข้าใจไม่ได้แล้วเช่นกล่าวมาข้างต้น

๙) เรื่อง “คุณเสือขอลูก” มีข้อสงสัยหลายอย่าง ดังได้เขียนถวายมาในหนังสือเวรฉบับก่อนนั้นแล้ว ข้อที่ทำรูปไปฝังติดไว้นั้นไม่สงวัยว่าใครจะทำ นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ตรัสสั่ง ในคำโคลงก็มีปรากฏอยู่แล้วว่า “เฉลยเหตุธิเบศรให้สฤษดิแสร้งแต่งผล” ตามที่ตรัสเล่าถึงประวัติคุณเสือนั้นดีมาก เกล้ากระหม่อมก็ได้ทราบบ้างแต่ไม่ตลอด เขาเล่าว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรได้กัน คุณเสือก็เป็นคนกราบทูลดับพระพิโรธด้วย

๑๐) เรื่องยกศัพท์อวดตุ๊กแก เป็นถูกแน่ตามพระดำริ แม้ในชั้นหลังซึ่งไม่มีสังเคตแล้วก็ยังได้เห็นพระสัพพี ๔ รูปขึ้นเตียงสวดอรรถ แล้วท่านผู้เทศน์จึ่งเทศน์ไปตามอรรถที่สวดนั้น เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นสวดเมื่อเทศน์จบแล้วเป็นคาถานอกทางจากที่เทศน์ไป และเป็นแฟชั่นด้วย ถ้างานศพใดไม่มีสวดท้ายเทศน์ก็ไม่เป็นงานศพ

๑๑) จะกราบทูลถึงชื่อซึ่งตรัสเรียกว่า อมนุษย์ ๔ จำพวก ยักษ์ เห็นอธิบายในทางสังสกฤตว่าผอมสูงอดอยาก ที่จะเป็นด้วยเห็นนั้นจึงว่ากินคน คนกินคนนั้นฝรั่งก็เล่ากันอยู่ถมไป คนธรรพ ว่าเป็นคนเต้นรำขับร้องของเทวดา ว่าเป็นครึ่งเทวดา เป็นชื่อจำเพาะผู้ชายเท่านั้นด้วย ถ้าเป็นผู้หญิงเรียกว่า อัปสร กุมภัณฑ์ สังสกฤตเขียนกุมภาณฑ์ ว่าอัณฑะใหญ่ราวกับหม้อ ดูก็เป็นแปลไปตามศัพท์เท่านั้นเอง นาค ว่าใหญ่ เอาใช้แก่งู ก็หมายความว่างูตัวใหญ่ เอาใช้กับช้างก็หมายความว่าตัวใหญ่อย่างเดียวกัน ดูจะแปลกไปตามศัพท์เหมือนกัน เอามาใช้แก่คนจะหมายความร่างใหญ่ก็เป็นได้ ดุจคำ “ปุํนาค” (บุนนาค) ก็จะหมายความว่าคนผู้ใหญ่หรือคนโตฉะนั้น พวกอริยกถือตัวว่าตัวเป็นคน นอกจากพวกของตัวถือว่าไม่ใช่คนทั้งสิ้น

จะกราบทูลรับรองพระราชดำริ ด้วยชายงั่วเคยท่องปาฏิโมกข์ บอกอาบัติถุลลัจจัยไม่มีในปาฏิโมกข์ ข้อนี้เห็นได้ชัดทีเดียวว่าอาบัติถุลลัจจัยนั้นเติมเข้าทีหลัง เพื่อจะให้สูงขึ้นไปกว่าปาจิตตีย์อีกชั้นหนึ่ง

๑๒) เรื่องทำรูปคนเป็นคนนั้น ลืมนึกถึงรูปพระสังฆราช (แตงโม) ไปเสียทีเดียว ถ้าเป็นของจริงก็คือทำรูปคนเป็นคนนั้นมีมาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศแล้ว แต่อาจทำขึ้นทีหลังแล้วซัดไปก็ได้ ไม่ได้จับพิรุธให้รู้แน่อย่างพระเหลือ เช่นได้กราบทูลมาแล้ว แต่นั้นพอเห็นก็รู้ได้ไม่ต้องพิจารณา.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ