พระวิจารณ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ

ว่าด้วยหนังสือ พราหมณ์ศาสตร์ทวาทสพิธี”

หนังสือเรื่องนี้ ต้นฉบับที่หอสมุดฯ ได้มา ว่าเป็นคัมภีร์ใบลานจารภาษาไทยด้วยอักษรขอม แต่สำเนาที่ส่งมาคัดเขียนเปลี่ยนเป็นอักษรไทย พิจารณาดูเห็นเป็นตำราพิธี ๒ ประเภท เอามารวบรวมไว้ด้วยกัน ข้างต้นเป็นประเภทพิธี “สมโภชลูกหลวง” ต่อนั้นไปเป็นประเภทพิธีทำประจำปีครบทั้ง ๑๒ เดือนเรียกว่า “พิธีทวาทสมาส” จึงเขียนคำวิจารณ์แยกเป็น ๒ ภาคตามประเภทของพิธี

วิจารณ์พิธีสมโภชลูกหลวง

พิธีสมโภชลูกหลวงมีที่สอบอยู่ในหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ซึ่งหอสมุดฯ พิมพ์ (ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗) ในหนังสือนั้นว่า เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีการพิธีสมโภชลูกหลวง คือ พระราชโอรสธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ละ ๑๐ ครั้ง เป็นประเพณี คือ

ครั้งที่ ๑ สมโภชเมื่อประสูติได้ ๓ วัน (ยังทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)

ครั้งที่ ๒ สมโภชเมื่อพระชันษาได้เดือน ๑ คือพิธีขึ้นพระอู่ ที่พรรณนาในตำราฉบับนี้ (ยังทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)

ครั้งที่ ๓ สมโภชเมื่อแรกพระทนต์ขึ้น พระชันษาราว ๗ เดือน หรือ ๘ เดือน (ไม่เคยได้ยินว่าทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)

ครั้งที่ ๔ สมโภชเมื่อแรกทรงพระดำเนินได้ พระชันษาราวขวบปี เรียกว่าพิธีจรดปัถพีที่พรรณนาไว้ในตำรานี้ (ดูเหมือนจะเคยทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เลิกเสียนานแล้ว)

ครั้งที่ ๕ สมโภชเมื่อลงสรงที่ท่าน้ำ เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “พิธีลงท่า” ทำเมื่อชันษาล่วง ๓ ขวบแล้ว (ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เคยทำพิธีลงสรงแต่ ๒ ครั้ง ทำเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ลงสรงในรัชกาลที่ ๒ ครั้ง ๑ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ลงสรงในรัชกาลที่ ๕ อีกครั้ง ๑ ทำเป็นการใหญ่โตทั้ง ๒ ครั้ง แต่เจ้าฟ้าพระองค์อื่นนอกจาก ๒ พระองค์นั้นทำแต่ “พิธีรับพระสุพรรณบัฏ” (ขนานพระนาม) อันเป็นส่วนที่ทำบนบกในพิธีลงสรง ทำเมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี เป็นกำหนด (ทั้งลงสรงและรับพระสุพรรณบัฏ)

สมโภชครั้งที่ ๖ เมื่อโสกันต์ พระชันษา ๙ ขวบบ้าง ๑๐ ขวบบ้าง ๑๑ ขวบบ้าง (ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยปกติพระองค์ชายโสกันต์ เมื่อพระชันษา ๑๓ ปี พระองค์หญิงโสกันต์เมื่อพระชันษา ๑๑ ปี เป็นกำหนด)

สมโภชครั้งที่ ๗ เมื่อทรงผนวช คือ พระองค์ชายทรงผนวชเป็นสามเณร เมื่อพระชันษาได้ ๑๔ ปี และว่าพระองค์หญิงผนวชเป็นรูปชี (เมื่อชันษาได้ ๑๒ ปี) แต่ข้อที่ว่าพระองค์หญิงทรงผนวชเป็นรูปชีแต่ยังทรงพระเยาว์ ไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นในหนังสืออื่น นอกจากคำให้การชาวกรุงเก่า จึงสงสัยว่าจะผิด ถ้าหากว่าเจาะพระกรรณเพื่อทรงกุณฑลอาจจะเป็นได้ (ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีแต่พระองค์ชายทรงผนวชเป็นสามเณร)

สมโภชครั้งที่ ๘ เมื่อพิธีภิเศกสมรส ในระหว่างพระชันษา ๑๖ ปี ไปจนครบ ๑๙ ปี (ยังทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เปลี่ยนกระบวนพิธีไปเป็นอย่างอื่น)

สมโภชครั้งที่ ๙ มีแต่เฉพาะพระองค์ชาย เมื่อชันษา ๒๑ ปี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ (ยังทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)

สมโภชครั้งที่ ๑๐ ทำพิธี “มงคลเบญจาภิเษก” (เรียกกันเป็นสามัญว่า “เบญจเพศ”) เมื่อพระชันษาได้ ๒๕ ปี (ยังทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)

ในตำราฉบับที่หอพระสมุดฯ ได้มาใหม่มีแต่พิธีสมโภชครั้งที่ ๒ เมื่อขึ้นพระอู่กับพิธีสมโภชครั้งที่ ๔ เมื่อจรดปัถพี ๒ อย่างเท่านั้น ขาดอยู่ถึง ๘ อย่าง พิจารณาต่อไปถึงลักษณะทำการพิธีตามที่กล่าวในหนังสือนี้ ก็ผิดกับที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร์หลายประการ จะเปรียบเทียบลักษณะพิธีสมโภชขึ้นพระอู่ให้เห็นข้อที่ผิดกัน

วิจารณ์พิธีสมโภชขึ้นพระอู่

๑) ตำราฉบับนี้ว่าทำพิธีวันเดียว และทำเป็นพิธีพราหมณ์ แต่ตามแบบที่ทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ทำพิธี ๒ วัน คือก่อนวันขึ้นอู่พระสงฆ์สวดมนต์เย็น และเลี้ยงพระเวลาเช้าในวันฤกษ์ขึ้นพระอู่ คือมีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์

๒) ในตำราฉบับนี้ ไม่กล่าวถึงการโกนผมไฟไว้จุก ชวนให้สันนิษฐานว่าแต่ก่อนเห็นจะไม่ทำการนั้น เป็นส่วนหนึ่งในพิธีขึ้นพระอู่ แต่ตามแบบในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีพิธีจรดพระกรรบิดกรรไตรไว้พระเกษาจุกพระราชกุมาร ตอนเช้าในวันฤกษ์ขึ้นพระอู่

๓) ตามตำราฉบับนี้เริ่มการพิธีด้วยพระครูพราหมณ์ เชิญพระราชกุมารขึ้นพระอู่ พี่เลี้ยงนางนมเห่กล่อมเป็นส่วนหนึ่งในการพิธี แล้วจึงเวียนเทียนสมโภช แต่ตามแบบที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร พระครูพราหมณ์เชิญพระราชกุมารลงสรง และเวียนเทียนสมโภชก่อน แล้วจึงเชิญขึ้นพระอู่

๔) ลักษณะของการเห่กล่อม พระราชกุมารเมื่อขึ้นพระอู่แล้วก็ผิดกัน ในตำราฉบับนี้ว่า “พระพี่เลี้ยง พระแม่นม ช้าข้างละ ๗ ท่า ช้ากล่อมข้างละ ๗ คำ บทต้นว่าคนละคำ” (และลงบทกล่อมไว้ในตำราด้วย)

บทที่ ๑ ว่า “หลับไม้หลับไล่ หลับพระไพรใบเขียว เอย”

บทที่ ๒ ว่า “หลับพระเนตรผู้บุญเรือง หลับเขาพระสุเมรุราช เอย”

บทที่ ๓ ว่า เหมือนอย่างบทที่ ๑ ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

บทที่ ๔ ว่า “หลับพระเนตรแต่องค์เดียว หลับเขาพระสุเมรุราช เอย”

ตามแบบที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระครูพราหมณ์เชิญพระราชกุมารขึ้นพระอู่แล้ว ตัวพระครูพราหมณ์เองเป็นผู้ชักสายไกวพระอู่ และเห่กล่อมพระราชกุมาร ด้วยมนต์ภาษาสังสกฤต ๓ ลา ถ้าพระราชกุมารเป็นเจ้าฟ้ามีพวกขับไม้ (ล้วนผู้ชาย) ขับต่ออีกตอนหนึ่ง จึงเป็นเสร็จการพิธี

ทีนี้จะว่าด้วยวินิจฉัยต่อไป (ขอบอกเสียก่อนว่าเป็นวินิจฉัยตามความสันนิษฐาน ซึ่งอาจจะผิดได้) สังเกตสำนวนที่แต่งตำราฉบับนี้ดูไม่เก่านัก น่าจะแต่งในสมัยเมื่อแรกกลับตั้งบ้านเมืองเป็นอิสระ ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาได้ไม่ช้านัก ในพงศาวดารก็ว่าสมัยนั้นหนังสือตำรับตำราพิธีต่างๆ เป็นอันตรายศูนย์ไปเสียเมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยาโดยมาก ต้องพยายามสืบสวนสร้างขึ้นใหม่ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีมาจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ลักษณะการที่สร้างตำราขึ้นใหม่ครั้งนั้น มีเค้าเงื่อนอยู่ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “เรื่องลงโสกันต์” (หอพระสมุดฯ พิมพ์ไว้ไนหนังสือ “ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย” ภาค ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓) ว่าเจ้าฟ้าหญิงพินทดีพระราชธิดาของพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งมาอยู่ในสมัยกรุงธนจนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ตรัสบอกรายการพิธีสมโภชลูกหลวงให้ทำตำรา เพราะพระองค์ท่านได้เคยเข้าพิธีเอง และได้เคยเห็นการพิธีสมโภชเจ้านายพี่น้องของท่านมาแต่ก่อน นอกจากนั้นยังมีในบางแผนกตำราพิธีอื่น ที่ผู้หญิงฝ่ายในไม่รู้ เช่นพิธีบรมราชาภิเษกเป็นต้น เลือกหาผู้เคยรู้เห็นขนบธรรมเนียมครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งยังมีตัวเหลืออยู่มารวมกันเป็นคณะ ถ้าเรียกตามคำที่ใช้กันในชั้นหลังก็ คือเป็น “กรรมการ” ปรึกษาหาหลักฐานแต่งตำราใหม่

ยังมีข้อควรสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ด้วยพิธีสมโภชพระราชกุมารตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยามี ๑๐ อย่าง เหตุไฉนจึงมีตำรานี้แต่ ๒ อย่าง ข้อนี้สันนิษฐานว่าเพราะหาตำราพิธีสมโภชอย่างอื่นไม่ได้ ๆ มาแต่ ๒ พิธีก็เขียนไว้เพียงเท่านั้น ดูน่าพิศวง อนึ่งลำดับที่ขาดนั้นก็แปลกอยู่ เพราะขาดพิธีที่ ๑ (สมโภช ๓ วัน) ได้พิธีที่ ๒ (สมโภชขึ้นพระอู่) ขาดพิธีที่ ๓ (สมโภชเมื่อพระทนต์ขึ้น) ได้พิธีที่ ๔ (สมโภชเมื่อจรดปัถพี) เหตุใดจึงได้ตำราพิธีสลับกันเช่นนั้น ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า ทางสันนิษฐานอีกทางหนึ่งว่าพิธีที่ ๑ กับพิธีที่ ๓ มีแต่การเวียนเทียนสมโภช ซึ่งเป็นประเพณีรู้กันแพร่หลายอยู่แล้ว แต่พิธีที่ ๒ กับที่ ๔ มีการอย่างอื่นที่ต้องทำด้วยอีกหลายอย่าง ไม่ใช่แต่เวียนเทียนสมโภชอย่างเดียว มูลอาจจะเกิดขึ้นด้วยมีพระราชกุมารประสูตรใหม่ จะต้องทำพิธีขึ้นพระอู่ เมื่อพระชันษาได้เดือน ๑ และพิธีจรดปัถพี เมื่อพระชันษาได้ขวบปี ๑ ตามราชประเพณี จึงแต่งตำราพิธีสมโภชซึ่งต้องการโดยด่วนแต่ ๒ อย่างก่อน ความที่ว่านี้มีเค้าเงื่อนประกอบอยู่ในตำรานี้เอง ที่เรียกพระราชกุมารว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” หมายความว่าเป็นเจ้าฟ้า เจ้าฟ้าที่ “เกิดในเศวตฉัตร” คือประสูติเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสวยราชย์แล้วนั้น เมื่อสมัยกรุงธนบุรีมีเจ้าฟ้าชายสุพันธวงศ์ (พระราชนัดดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ พระองค์ ๑ เมื่อใกล้จะสิ้นรัชกาลกรุงธนบุรีอยู่แล้ว ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ ไม่มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ “เกิดในเสวตฉัตร” เลย เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเมื่อประสูติก็เป็นแต่พระองค์เจ้า ทรงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่อเมื่อพระชันษาได้ ๖ ปีแล้ว ความที่กล่าวมามีเค้าเงื่อนให้เห็นว่าลักษณะพิธีเจ้าฟ้าขึ้นพระอู่ กับพิธีเจ้าฟ้าจรดปัถพี ที่ปรากฏในตำราฉบับนี้ เห็นจะแต่งขึ้นเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ตำราพิธีอย่างอื่นในเรื่องสมโภชพระราชกุมารจะมาแต่งต่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ แต่พิธีเจ้าฟ้าขึ้นพระอู่กับพิธีเจ้าฟ้าจรดปัถพีอย่างพรรณนาไว้ในตำรานี้ เมื่อล่วงสมัยกรุงธนบุรีแล้วไม่ได้ทำกว่า ๓๐ ปี จนถึงรัชกาลที่ ๒ มีเจ้าฟ้าประสูติ “ในเศวตฉัตร” ๔ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลาง (สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์) เจ้าฟ้าปิ๋ว และเจ้าฟ้าหญิงที่สิ้นพระชนม์ไปเสียแต่ยังทรงพระเยาว์อีก พระองค์ ๑ จึงทำได้อีก ถึงรัชกาลที่ ๓ ไม่มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ แม้พระองค์เจ้าลูกเธอก็มีประสูติเมื่อเสวยราชย์แล้วเพียง ๔ ปี แต่นั้นขาดพระราชกุมารประสูติใหม่ไม่ได้ทำพิธีสมโภชขึ้นพระอู่และจรดปัถพีว่างมากว่า ๒๒ ปี จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงกลับมีเจ้าฟ้าประสูติในเศวตฉัตร เมื่อการพิธีสมโภชขึ้นพระอู่และจรดปัถพีเรื้อมาเสียนาน จึงเป็นมูลเหตุที่จะแก้แบบพิธีมาเป็นอย่างที่ทำในชั้นหลังดังพรรณนามาแล้ว พิจารณาลักษณะการที่จะแก้นั้นเห็นได้ว่าผู้ที่แก้ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระองค์ทรงเป็นอุดมบัณฑิตทั้งทางพระพุทธศาสนาและไสยศาสตร์ อาจจะค้นตำหรับตำรามาปรับปรุงเป็นระเบียบใหม่ พึงเห็นได้ในรายการพิธีสมโภชขึ้นพระอู่ดังกล่าวต่อไปนี้

๑) ให้มีพิธีสงฆ์สวดมนต์เลี้ยงพระเพิ่มขึ้นใหม่ ให้สมกับที่เป็นพระพุทธศาสนิกชน

๒) เอาการโกนผมไฟไว้จุก ซึ่งเดิมทำต่างหากจากการพิธีมาเข้าต่อพิธีสงฆ์ตามเค้าพิธีโกนจุก

๓) พิธีโกนจุกมีการรดน้ำทำขวัญ ในพิธีขึ้นพระอู่ทรงอนุโลมเอาระเบียบพิธีลงสรงมาใช้ แต่ให้พระราชกุมารสรงในขันสาคร ข้อนี้เห็นได้ด้วยทำกรงและรูปกุ้งปลาลอยในน้ำเหมือนกับพิธีลงสรง

๔) ตามตำราเก่าขึ้นพระอู่เห่กล่อมแล้วจึงเวียนเทียนสมโภช เห็นจะทรงพระราชดำริว่าเหมือนสมโภช เมื่อพระราชกุมารบรรทมหลับเสียแล้ว จึงแก้ระเบียบให้เวียนเทียนสมโภชแต่ยังบรรทมตื่น แล้วจึงเชิญขึ้นพระอู่

๕) ที่พระครูพราหมณ์เชิญพระราชกุมารขึ้นพระอู่โปรดฯ ให้คงไว้เดิม แต่ที่พี่เลี้ยงนางนมไกวพระอู่เห่ช้าในพิธี โปรดฯ ให้เลิกเสีย อาจจะเป็นเพราะทรงพระราชดำริว่าบทเห่ไม่เป็นแก่นสาร จึงเปลี่ยนเป็นให้พระครูพราหมณ์ไกวพระอู่ ขับกล่อมด้วยมนต์ภาษาสังสกฤตตามเค้าพิธีไกวเปลเห่ช้าเจ้าหงส์ สังเกตรายการที่เปลี่ยนแปลงเห็นได้ว่าต้องเป็นความคิดของผู้รอบรู้อย่างยิ่งทั้งนั้น

วิจารณ์พิธีสมโภชพระราชกุมาร

ลักษณะพิธีจรดปัถพี ไม่มีหนังสืออื่นหรือแม้ความรู้เห็นที่จะใช้เทียบทาน เหมือนอย่างพิธีสมโภชขึ้นพระอู่ เพราะเป็นพิธีที่เลิกเสียช้านานแล้ว มิแต่เค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐานว่าเพราะเหตุใดจึงเลิกพิธีสมโภชจรดปัถพีเสียด้วยกันกับพิธีสมโภช เมื่อพระทนต์ขึ้น ด้วยพิเคราะห์ดู พิธีสมโภชพระราชกุมารอีก ๘ อย่างที่ยังทำต่อมา ล้วนมีเหตุเนื่องกับประเพณีบ้านเมือง ดังจะพรรณนาต่อไป

๑) เหตุที่ทำพิธีสมโภชเมื่อประสูติได้ ๓ วันนั้น เพราะแต่โบราณ ทารกที่คลอดมักตายภายใน ๓ วัน โดยมาก จนมีคำภาษิตว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน” ด้วยเชื่อกันว่าผีปั้นรูปให้มาเกิด เมื่อเกิดแล้วถ้าผีชอบรูปโฉมอยากจะเอาไปเลี้ยงเองก็บันดาลให้ตาย ถ้าไม่ชอบก็ทิ้งไว้ให้มนุษย์เลี้ยง เพราะเชื่อกันอย่างนั้น เวลาทารกคลอดจึงทำอุบายกีดกันผีด้วยประการต่างๆ เช่นวงสายสิญจน์แขวนยันต์กันผีมิให้เข้ามาใกล้ทารกเป็นต้น และยังมีอุบายอย่างอื่นอีกมาก เมื่อทารกรอดมาได้พ้น ๓ วัน ถือว่าพ้นเขต “เป็นลูกผี” จึงทำขวัญ แต่ทำกันเพียงในครัวเรือน ด้วยยังไม่วายหวาดหวั่น

๒) เหตุที่สมโภชขึ้นพระอู่เมื่อประสูติได้เดือน ๑ เกิดมีแต่ความมั่นใจว่าทารกนั้นจะรอดอยู่ได้จนโต จึงตั้งต้นเลี้ยงอย่างสามัญ เช่นเอาขึ้นนอนเปลเป็นต้น และปลดสายสิญจน์กันผีที่วงเสีย ทั้งบอกกล่าวแก่วงญาติเหมือนอย่างขึ้นทะเบียนสมาชิกใหม่ในสกุล พวกญาติจะพากันมาทำขวัญ

๓) เหตุที่ทำพิธีสมโภชลงสรง (หรือลงท่า) นั้น น่าสันนิษฐานว่า เนื่องกับหัดว่ายน้ำแต่มีการให้ชื่ออยู่ในพิธีด้วย

๔) เหตุที่ทำพิธีโสกันต์ เกิดแต่เจริญวัยเปลี่ยนสภาพพ้นจากเป็นเด็ก เข้าเขตหนุ่มสาว

๕) เหตุที่สมโภชเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร เกิดด้วยประเพณีการศึกษา แต่โบราณเด็กชายเมื่ออายุพอรักษาตัวเองได้ ให้ไปศึกษาวิชาการต่อพระภิกษุสงฆ์ที่วัด และบวชเป็นสามเณรอยู่ในเวลาที่ศึกษานั้น

๖) เหตุที่สมโภชเมื่ออภิเษกสมรส ก็คือทำพิธีแต่งงานบ่าวสาวนั้นเอง

๗) เหตุที่สมโภชเมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เกิดแต่การที่ละเพศคฤหัสถ์ ออกบวชเป็นสมณเพศเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ช่วยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

๘) เหตุที่สมโภชเบญจเพศ เกิดแต่เชื่อกันตามโหราศาสตร์ ว่าเมื่ออายุถึง ๒๕ ปี เป็นเขตเคราะห์ร้ายอาจจะมีภัยพิบัติ จึงทำพิธีเพื่อเสดาะเคราะห์

พิธีสมโภช ๘ อย่างที่กล่าวมาล้วนมีเหตุประกอบ แต่การพิธีสมโภชเมื่อพระทนต์ขึ้น กับพิธีจรดปัถพีไม่มีเหตุอื่น นอกจากฟันขึ้นหรือเดินได้ตามธรรมดาเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นจะทรงพระราชดำริว่าไม่มีแก่นสาร จึงโปรดให้เลิกเสียหรือจะเลิกมาแต่ก่อนรัชกาลที่ ๔ แล้วก็เป็นได้

การพิธีสมโภชที่วิจารณ์มานี้ ในต้นฉบับเรียกว่า “พิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ” อันหมายความว่าเฉพาะแต่ที่เป็นเจ้าฟ้าลูกเธอ ถ้าเป็นพระองค์เจ้าลูกเธอจะทำพิธีสมโภชผิดกันอย่างไร อธิบายตามความรู้เห็นมาก็ทำทุกอย่างหมด เป็นแต่ลดหลั่นลงกว่าเจ้าฟ้า แต่พิธีลงสรงรับพระสุพรรณบัฏนั้นหาทำสำหรับพระองค์เจ้าไม่

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ