วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ย้อนหลัง

๑) คิดถึงเรื่องหนังสือ ซึ่งชายดำส่งมาถวาย แล้วพลัดไปไหนต่อไหนว่าจะเป็นต้นด้วยเหตุใด เห็นทางว่าจะต้องไปถึงสำนักไปรษณีย์เมื่อเขาผูกถุงไปรษณีย์เสียแล้ว เขาคงส่งไปเป็นหนังสือร่วง จึงมีตราไปรษณีย์เมืองต่างๆ ประทับไม่ได้เข้าถุงส่งตรงมาปีนัง เป็นเหตุให้พลัดไป

๒) เรื่องกาพย์ สอบสวนได้ความพอที่จะกราบทูลได้ ที่เดาว่า “กาพย์” จะเป็น “กาวย” และเป็นวิธีที่กวีแต่งทุกอย่างจะรวมอยู่ในกาพย์นั้น เป็นการที่เดาถูก ซ้ำได้ความว่าที่มีสัมผัสก็เป็นวิธีอย่างหนึ่ง ซึ่งกวีทางอินเดียเขาเล่นมาแล้วคงสรุปได้ว่าทีจะเป็นดังนี้ คือพวกกวีผูกไปต่างๆ ตามคราวตามชอบใจ เป็นแต่มีมาตราว่ากี่คำเท่านั้นก็มี มีสัมผัสด้วยก็มี ให้มีครุลหุด้วยในลางแห่งก็มี ให้มีครุลหุทั้งหมดก็มี แล้วมีคนเก็บเอาวิธีที่กวีผูกขึ้นเป็นอย่างต่างๆ มาทำเป็นตำราจัดแยกไปตามชนิดที่กวีผูกขึ้น ให้ชื่อตำราไปต่างๆ เราได้ตำราทางอินเดียมา แต่ตำรานั้นเป็นภาษามคธสังสกฤตก็มาคิดแต่งเปลี่ยนให้เป็นภาษาไทย เลือกเอาแต่ที่คล่องพอจะเป็นไปได้ให้ชื่อตามตำราเดิมก็มี ตั้งใหม่ก็มี แต่ตำราข้างไทยเป็นอันมีวิธีแต่งน้อยอย่างลงกว่าตำราทางอินเดียทั้งนั้น

ข่าว

๓) ประสบศรีตาย ตายเมื่อไรเป็นโรคอะไรย่อมต้องที่ทรงทราบแล้ว ไม่ต้องกราบทูล เมื่อวันที่ ๒๐ ได้ไปอาบน้ำศพ เห็นศพประกอบหีบทองทึบตั้งบนชั้นกระจก ๒ ชั้น มีฉัตรเบญจา ๔ คัน

ความคิด

๔) ฉัตรเบญจากับฉัตรเครื่องนั้น แต่ก่อนรู้ได้ที่ฉัตรเบญจาแล้วสลับสี ฉัตรเครื่องเป็นสีเดียวล้วน กับขนาดใหญ่เล็กกว่ากัน แต่เดี๋ยวนี้ฉัตรเบญจาก็ไม่สลับสี คงรู้ได้แต่ที่มีขนาดย่อมกว่ากันเท่านั้น ฉัตรเครื่องกับฉัตรเบญจาคงเป็นฉัตรอย่างเดียวกันมี ๕ สี ฉัตรเครื่องจึ่งมีสำรับเป็น ๑๐ เป็น ๕ คู่ สีละคู่ ที่เรียกชื่อว่า “ฉัตรเบญจา” คงมาแต่คำเบญจรงค์ ฉัตรเบญจาทำสีสลับคงเป็นมีที่แยกใช้ไม่ครบสำรับ เพื่อจะไม่ให้สีขาดไป “ฉัตรเครื่อง” คงเป็นต้นชื่อของเครื่องพระอภิรมย์

ลายพระหัตถ์

๕) เมื่อวันที่ ๒๓ เดือนนี้ ได้รับลายพระหัตถ์เวรปะปิด ซึ่งลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ตามกำหนดซึ่งควรได้รับ จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นต่อไปนี้

๖) พระดำรัสเรื่องประดิทินแล้วเพรื่อไปถึงโหรด้วยนั้น จับใจเป็นอันมาก ตามปกติโหรย่อมนับถือดาวเคราะห์เป็นสรณ ดวงชาตาก็คือแผนที่ดาวเคราะห์ว่าดวงไหนอยู่ที่ไหนเท่านั้น โดยสังเกตว่าดาวเคราะห์ดวงไหนอยู่ที่ไหน ได้ผลดีร้ายเป็นอย่างไร อาจเห็นได้ในคำว่า “เคราะห์ดีเคราะห์ร้าย” คำว่า “เคราะห์” ก็คือดวงดาวนั่นเอง ค่าที่คนไม่เอื้อแก่ดวงดาวว่าอยู่ที่ไหน ต้องการแต่คำทำนายร้ายดี โหรจึงไปเข้ากับพวกหมอดู เป็นเหตุให้เกิดคำ “ดาราศาสตร์” ขึ้น เพราะเข้าใจผิดว่า “โหราศาสตร์” แปลว่าวิชาหมอดู แต่ที่แท้ก็เป็นอันเดียวกันนั่นเอง

๗) เรือนไทยที่ทำใต้ถุนว่างโปร่งนั้น เห็นจะต้องการประโยชน์หลายอย่าง ต้องการให้ลมเดินอย่างพระดำรินั้นก็อย่างหนึ่ง ต้องการว่าน้ำท่วมก็ช่างนั้นก็อย่างหนึ่ง เป็นที่ทำงานไม่ให้ต้องตากแดดในเวลาน้ำไม่ท่วมก็อีกอย่างหนึ่ง ลางทีจะมีอย่างอื่นอีก การเปลี่ยนอากาศเอาร้อนออกเอาเย็นเข้านั้น ฝรั่งเขาคิดมาก เคยไปเห็นที่เกาะชวามีทำกันหลายอย่าง จะควรทำอย่างไรก็เห็นจะต้องเป็นไปแล้วแต่ประเทศ จะเอาอย่างกันหาได้ไม่ เช่นจะทำรางไว้ใต้พื้นอย่างเมืองเวนิส เปรียบว่าทำไว้ใต้พื้นโรงหนังฉายในเมืองเรา เกรงว่าน้ำจะเข้าไปอยู่แทนที่ลมเย็น เคยเห็นเขาทำตึกมีห้องใต้ดินอย่างยุโรปด้วยคิดจะเก็บอะไรไว้อย่างยุโรป แต่เก็บไม่ได้ ถ้าขืนเก็บไว้ก็ชื้นเสียไปหมด

ไปเห็นเขาทำตึกกันที่เมืองบันดุงก็ออกอิจฉา เขาไม่ต้องทำอะไรขุดดินรางลงไปแล้วก็ก่อผนังขึ้นมาเท่านั้น บ้านเราทำเช่นนั้นไม่ได้ ซุดฉิบหายหมด

๓) พระดำรัสในเรื่องสีดีมาก ลางอย่างที่ไม่ได้คิดก็ได้สติขึ้น สีที่พอใจและไม่พอใจนั้นมีเป็นแน่ การรักษาบ้าด้วยสีนั้นก็เคยทราบ แต่จะสำเร็จผลไปได้เพียงไรนั้นไม่ทราบ ได้พบตำราฝรั่งเขาห้ามไม่ให้ใช้สีเขียว เขาว่าสีนั้นทำด้วยสนิมทองแดง มันเป็นยาพิษส่งมาเข้าปอด ทำให้คนอยู่เรือนทาสีเขียวไม่สบาย ฟังก็คัดค้านไม่ได้ แต่เห็นเล็กเต็มที อาจเป็นเขาพูดถึงเรือนฝรั่งซึ่งต้องอุดอู้ต่อสู้กับความหนาว เรามานึกถึงเรือนไทยที่โปร่งจึ่งเห็นเล็กเต็มที

แม่คลอง (เมียชายถาวร) แกเรียกสีแดงแจ๊ดเขียวจี๋ว่า “สีตายโหง” ได้ฟังก็นึกชอบใจ ไทยเราแต่ก่อนก็ใช้ทาแต่สองสี คือดำหรือแดงเท่านั้น สีดำเป็นมากเพราะหาง่าย ขูดเอาก้นหม้อเท่านั้นก็ได้ ส่วนสีแดงต้องพยายามลำบากถึงสีแดงก็เป็นดินแดงอันเป็นสีแดงคล้ำ ส่วนสีตายโหงนั้นเพิ่งมีเข้ามาให้ใช้แต่ต่างประเทศทีหลัง

สีผสมอ่อนนั้นออกจะเป็นแบบต่างประเทศ ได้ยินเขาว่าทางฝรั่งข้างเหมือนนั้นเป็นสี “ย่ำกรุ่ย” หมด ตลอดจนของธรรมดาเช่นนกหนูก็เป็นสีย่ำกรุ่ย (สีย่ำกรุ่ยเป็นภาษาของนายวัน ทึกเอาว่าเป็นสีมอๆ ตุ่นๆ) คนผสมสีทาอะไรก็เป็นสีย่ำกรุ่ย มาเป็นสีตายโหงขึ้นที่ยุโรปทางใต้ ตลอดจนนกหนูอะไรก็เป็นสีตายโหง

ตามที่ตรัสยกตัวอย่างว่าญี่ปุ่นใช้สีไม่มีขัดตานั้นเป็นความจริง จึงได้นึกว่าการใช้สีนั้นจะมีหลัก

คำว่า “บาดตา” นั้นไม่ใช่ความหมายว่าดี

สีดอกไม้นั้นข้างฝรั่งเขาเป็นการใหญ่ มีสีพิเศษต่างหากทีเดียวสำหรับเขียนดอกไม้ นั่นแสดงว่าสีดอกไม้เป็นสีอีกอย่างหนึ่งไม่เหมือนกับสีธรรมดา

๙) พูดถึงสีก็เลยนึกไปถึงที่ทำหน้าเป็นกระหนก เช่นหน้ายักษ์และหน้าสัตว์หิมพานต์ อันหน้ายักษ์ซึ่งทำเป็นกระหนกมากมายนั้น เข้าใจว่ามาเป็นไปในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง เคยเห็นรูปยักษ์กรุงเก่าตอนต้นก็ทำเป็นหน้าคนดุจเงาะ ครั้นตอนปลายกรุงเก่าก็สบัดปลายหนวดและคิ้วเป็นกระหนกไปบ้าง ตกมาถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ทำเป็นกระหนกไปเสียเต็มตัวทีเดียว ส่วนหน้าสัตว์หิมพานต์ที่ทำเป็นกระหนกนั้น เห็นจะทำไปด้วยความหลงจากหน้าสัตว์ในลาย ลายนั้นเขาตั้งใจผูกใบไม้ให้เป็นหัวสัตว์ไม่ใช่ตัดเอาหัวสัตว์มาเสียบกับกิ่งไม้ จะเห็นได้จากทำรูปสัตว์โดยลำลองทำขนเป็นใบไม้ คนที่เขาทำเป็นเขาไม่ทำอย่างนั้น ที่ขนเขาก็ทำเป็นขน แต่ก็ได้รูปกับที่ทำเป็นใบไม้นั้น ได้ไปเห็นลายเสาที่วัดพระนอนป่าโมก เขาทำเป็นลายทรงข้าวบิณฑ์เทพประนม แต่รูปเทพประนมนั้นเขาผูกเป็นกิ่งเป็นใบไม้ให้ดูเป็นไปเองว่าเป็นเทพประนม ไม่ใช่ตัดเอาเทวดาครึ่งตัวมาเสียบเข้า เห็นเข้าก็เข้าใจและรู้สึกว่าเราทำหลงไป

๑๐) เรื่องพิธีตรุษซึ่งมีพระวิจารณ์ติดอยู่ในนั้น เดี๋ยวนี้ต้นฉบับซึ่งประทานไปอยู่ที่พระองค์เจ้าธานีแล้ว ไม่ต้องส่งให้หญิงจงเอาไปให้ เกล้ากระหม่อมส่งไปให้เอง เพราะจะคัดให้ก็มากมายนัก ถ้าอยากได้สำเนาไว้ก็ให้คัดเอาเอง เธอได้อ่านแล้วเธอชอบใจเธอจึงได้บอกกับหญิงจงว่าอยากให้ตีพิมพ์เรื่องนั้น

๑๑) พระยาอนุมานส่งหนังสือมาให้เล่มหนึ่งให้ชื่อว่า “เรื่องของชาติไทย” เป็นหนังสือแกแต่งขึ้น พลิกคำนำเห็นมีความว่าตีพิมพ์แจกกฐินพระราชทานจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จะดีหรือไม่ดีอย่างไรยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าดีเพราะออกจากแหล่งที่ดี จึ่งกราบทูลมาให้ทรงทราบตามที่ตรัสสั่งไป เชื่อว่าพระยาอนุมานคงจะได้ส่งมาถวายเล่มหนึ่งเหมือนกัน

๑๒) หนังสือเกล้ากระหม่อมแต่ง ซึ่งสมาคมค้นวิชาประเทศไทยเขาเอาไปตีพิมพ์ในวารสารของเขานั้น เป็นด้วยพระองค์เจ้าธานีเธอส่งเรื่องโกศซึ่งเธอเขียนขึ้นมาให้ดู เกล้ากระหม่อมจึงจดบันทึกตามความเห็นส่งไปให้เขอ เธอเป็นเลขานุการอยู่ในสมาคมนั้น เธอเอาเรื่องของเธอลงพิมพ์ในวารสาร จึงขออนุญาตเอาจดหมายบันทึกของเกล้ากระหม่อมลงด้วยก็เป็นได้กัน

ข้อที่สมาคมเขาเชิญนั้นเต็มที เต็มทีที่รู้ภาษาน้อย นอกจากภาษาไทย แม้แต่เพียงภาษาอังกฤษก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ไม่สะดวกเลย มีคนมาชวนจะให้ไปเข้าสมาคมนั้นมาหลายคราวแล้ว แต่ขอตัวเขาเสีย ด้วยเหตุที่ไม่รู้ภาษาพอนั้น

เกินหวัง

๑๓) ได้ยินว่ามีคนคิดและเชื่อ ว่านครศรีธรรมราชเคยชื่อเมืองลังกามาก่อน ข่าวว่ากำลังค้นหาหลักฐานอยู่ อันหลักฐานที่บ่งถึงชื่อเมืองตามที่อ่านมาแล้วไม่เคยพบ มีแต่พระสงฆ์ “กา” สี่คณะ ถ้าจะยึดเอานั่นเป็นหลักฐานก็เป็นความเห็นอันหนึ่ง ซึ่งจะเอาว่าอย่างไรก็เป็นทางไปได้โดยไม่มีอะไรแน่ แต่ชื่อเมืองขอยืมกันใช้มีได้จริง เช่นเมืองชวาก็หาใช่เมืองในเกาะชวาไม่

เมืองหงสา (วดี) เคยกราบทูลถามคราวหนึ่งแล้วก็ไม่ได้เรื่อง บัดนี้ได้พบเข้าเป็นเมืองขึ้นของเมืองหลวงพระบาง แต่จะเป็นเมืองเดียวกับที่เคยได้ยินมาก่อนหรือไม่ใช่ก็ไม่ทราบ เมืองหลวงพระบางเองก็เข้าใจว่ายืมเอาชื่อเมืองพระบางที่นครสวรรค์ไปใช้

ตกใจ

๑๔) เมื่อวานนี้ไปช่วยงานทำบุญ ๗ วันศพประสบศรี กลับมาเห็นกระทงดอกไม้ ถามว่าอะไรกัน เขาบอกว่าหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ลาตาย นึกไม่เชื่อไล่เลียงได้ความว่าหลานสำพันธ์รับไว้ ถามหลานสำพันธ์ก็ได้ความแต่ว่าคนรถเอามาส่ง จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ ไม่เห็นตรัสบอกข่าวเจ็บเข้าไปให้ทราบเลย ทีหลังเห็นหนังสือพิมพ์ “บางกอกไตม์” เขาลง จึงเป็นอันทราบได้แน่ว่าตายจริง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ