วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ดึกดำบรรพ์

๑) ได้ไปเยี่ยมพระเจนจีนอักษร เห็นยิ้มแย้มแจ่มใสและเดินได้คล่องแคล่วเหมือนแต่ก่อน แม่โตไปเยี่ยมก่อนมาบอกมา ว่ากลับเจ็บไปอีก ที่กลับเจ็บก็เพราะกินมากไป เข้ารอยที่ตรัสถึงเรื่องกินของคนแก่ แต่เดี๋ยวนี้ฟื้นแล้ว

ได้ถามถึงเรื่องปีซึ่งจีนเรียก ๒ อย่าง ได้อธิบายว่า ที่เรียกตามสัตว์ประจำปีนั้น เป็นคำเรียกของคนสามัญ ที่เรียกตามชื่อปี (ซึ่งแปลไม่ออก) นั้นโหรเขาใช้ คนสามัญรู้กันน้อย

นึกถึงสัตว์ประจำปีที่ต่างกันไป ๓ คู่ วัวกับควายสับกันไปเพราะลางประเทศมีแต่วัว ลางประเทศมีแต่ควาย ลางประเทศมีทั้งสองอย่าง คิดว่าวัวจะมีแต่ในประเทศที่เป็นดินแห้ง ควายจะมีในประเทศที่เป็นดินแฉะ แต่ลางประเทศจะมีทั้งสองอย่างตามภูมิแห่งพื้นที่ดอนและลุ่ม ลางประเทศก็ไม่มีเลยทั้งสองอย่าง หญิงพิลัยเคยบอกว่า พม่าเรียกวัวว่าวัวอย่างไทยๆ เรานี้เอง ผู้รู้เขาอธิบายว่าชนพวกพม่ามาแต่ธิเบตอันเป็นประเทศที่ไม่มีทั้งวัวทั้งควาย ก็ต้องมาใช้ภาษาไทย (คือไทยใหญ่) เหมือนหนึ่งเมืองญี่ปุ่นเขาก็ว่าไม่มีม้า ที่มีก็เป็นเอาประทุกเข้าไปทั้งนั้น มีไทยพวกหนึ่ง เรียกควายว่า “คายวาย” ดูก็ชอบกล “กระบือ” นั้น เป็นคำเขมรทั้งมลายูด้วย ประหลาดอยู่ที่คำเขมรพ้องกับมลายูหลายคำ “งัว” และ “วัว” เห็นได้ว่ามาแต่ “โค” (go) แห่งภาษามคธ แต่เราออกเสียงนั้นไม่ได้จึงกลายไป มังกรก็ชอบกล เคยพบในพจนานุกรมเขาว่าไม่มีตัวจริง เป็นประดิษฐ์เอาสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง ที่ร้ายขึ้นมังกร ได้เห็นที่ไหนก็จำไม่ได้เสียแล้ว ว่ามังกรนั้น “กุละ” ขึ้นเป็นสามอย่าง เป็นแพะอย่างหนึ่ง (คืออย่างหน้าตะเข้มีเขา) อีกอย่างหนึ่งเป็นช้าง (คือมีงวงงา) แล้วอะไรอีกอย่างหนึ่งจำไม่ได้ ตามหาที่มาซึ่งทำให้รู้ก็ไม่พบจนบัดนี้ เคยเห็นหนังสือพิมพ์เขา แปลเรื่องเซนต์ยอชแทงดรากอนมาลง ต้องอ่านเพราะไม่เคยทราบเรื่อง เขาคัดเอารูปที่มีคนเขียนมาลงหน้าเรื่อง ดรากอนเขาเขียนเป็นตะเข้เราดื้อๆ นี้เอง ไม่ใช้สัตว์ซึ่งมีลิ้นและหางเป็นลูกศร เห็นก็ชอบใจ ลายครามที่เขียนมังกรหน้าตะเข้มีคนว่าเป็นชิ้นญี่ปุ่นก็มีมูลอยู่ ญี่ปุ่นจำเอาอะไรไปจากจีนนั้นเอง ทางจีนที่เขาทำมังกรหน้าตะเข้นั้นตัวสั้นๆ ก็เคยเห็นรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้ากรุงจีนมีแต่เป็นของเก่า แม้มังกรของเราที่เก่า เช่นพระราชลัญจกรซึ่งพระราชทานแก่โบราณคดีสมาคมเป็นต้น หน้าก็ยาวตัวก็สั้นทำให้ท้าวสะเอวเสียด้วย เป็นพวกตะเข้มากกว่าพวกงู แต่ทีหลังก็ทำเลื่อนไปเป็นพวกงูจึงหลงว่าเป็นนาค ความหลงนั้นไม่ใช่มาหลงในเมืองเรา หลงมาแต่ทางจีนแล้ว ทำเป็นงูพันเทียนพันเสาอะไรเล่นตามชอบใจ ซ้ำแก้หน้าเป็นสิงโตกลายๆ เสียด้วย เพราะเหตุดังนั้นที่เขาเขาเขียนดรากอนเป็นตะเข้จึงได้ชอบใจนัก ด้วยมีความเห็นว่า เดิมเขาจะนึกผูกมาจากตะเข้ ลางคนก็ว่าเหรา เหราจะเป็นตัวอะไรก็ไม่ทราบ ภาษาอะไรก็ไม่ทราบได้พบชื่อนั้นอยู่บ่อยๆ คำเทียบแม่กกา ในมูลบทก็มีว่า “จระเข้เหราคร่าไป” จะเป็นกลอนพาไปก็ได้ หรือจะเป็นคำซ้ำ เช่น “เพิ่มเติม” “ถูกต้อง” ก็ได้ กิ้งก่ายักษ์ซึ่งเขาจับเอามาไว้ในสวนเลี้ยงสัตว์ที่ชวา ฝรั่งเขาว่าเทือกเถาเหล่ากอมังกร จะอย่างไรก็ดี มังกรนั้นคิดมาจากสัตว์พวกตะเข้ ไม่ใช่งูเป็นแน่ ช้างกับหมูนั้น กราบทูลอธิบายอะไรต่อไปอีกไม่ได้ ด้วยคิดไม่เห็นอะไรมากออกไปอีกนอกจากได้กราบทูลมาแล้ว ได้แต่อธิบายถวายต่อไปเพียงว่า ที่กราบทูลว่าผิดกันแต่ปลายอวัยวะนั้นหมายถึงปลายจมูก ใบหู และปลายเท้า ส่วนแก้มคางและที่ออกเขี้ยวงานั้นเหมือนช้างหมด

เบ็ดเตล็ด

๒) พระวิจารณ์เรื่องพิธีตรุษนั้น อ่านสนุกดีเต็มที มีความเห็นความรู้ซึ่งควรจะกราบทูลอยู่บ้าง แต่กลัวจะเร็วไป จะมีผิด เพราะอ่านยังไม่จบ ต้องรอจนอ่านจบแล้วจึงจะกราบทูล

๓) ผี เช่นผีพรายในเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นต้น เห็นเขียนทุกวันนี้เป็นรูปโครงกระดูกก็ดี พอเห็นก็รู้ทีเดียวว่าผี แต่ไม่ตรงกับความคิดของพวกเรา เราคิดว่าผีนั้นธรรมดาย่อมไม่เห็นตัว แต่มีอานุภาพที่จะแสดงตัวให้เห็นได้ แม้กระนั้นก็มีเนื้ออย่างที่คนจะให้เห็นเป็นคนอย่างเรียบร้อยก็ได้ หรือจะแผลงฤทธิ์ให้ผิดไปกว่าคนไปก็ได้ แม้นิทานทางฝรั่งเล่าเรื่องผีหลอกเท่าที่ได้พบก็เหมือนกับความคิดของเรา ที่เป็นโครงกระดูกนั้นไม่เคยพบ จึงคิดว่าที่เขียนรูปเป็นโครงกระดูกนั้น จะเป็นความคิดของช่างเขียนเพื่อให้เห็นได้โดยง่ายว่าเป็นผี

ปริศนา

๔) ฝ่าพระบาทจะทรงพระดำริเห็นควรประการใด ในเรื่องวางผู้ซึ่งสิ่งซึ่งใหญ่ไว้ในที่ซึ่งถือว่าเป็นใหญ่ ตามที่ได้สังเกตเห็น เราถือกันอยู่ ๒ อย่าง คือถือซ้ายว่าเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง ถือขวาว่าเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง ถือหน้าว่าเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง กับถือเอาทิศเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง ต่างพวกต่างภาษาก็ถือไปต่างกัน จะกราบทูลถวายตัวอย่างก็เห็นจะมากความไป เพราะได้ทรงทราบอยู่สิ้นแล้ว เราเห็นจะเอาทุกอย่าง

ข่าว

๕) เมื่อวันที่ ๑๓ เดือนนี้ หม่อมเจิมมาหา พาลูกหลานมาด้วยเป็นโขยง คือหญิงกุมารี หลานมอด หลานหมู หลานแมว หลานมด หลานแมวลากลับออกมาปีนังวันเสาร์ ได้ปรารภถึงการเรียนที่ปีนัง ว่าภาษาไทยจะต้องอ่อน แต่เห็นไม่เป็นไร ลูกผู้หญิงจะเรียนรู้เพียงเท่าไรก็ได้ ไม่สำคัญเหมือนลูกผู้ชาย

ได้ถามหม่อมเจิมถึงอนามัยฝ่าพระบาท ได้ความว่าทรงสบายดี เว้นแต่ซูบพระองค์ลงไป แต่นั่นเห็นว่าไม่ประหลาด พระชันษามากขึ้นก็ต้องเป็นเช่นนั้นอยู่นั่นเอง เมื่อทรงสบายอยู่ก็เป็นสิ้นวิตก ข้อสำคัญอยู่ที่หลงหรือไม่หลง ยังทรงแต่งหนังสือได้อยู่ก็เป็นการแสดงว่ายังไม่หลง เรื่องหลงนั้นเกล้ากระหม่อมกลัวเต็มที ในการลืมอะไรต่างๆ สดๆ ร้อนๆ นั้น คิดว่าเป็นบาทแห่งความหลง มีคนให้พรว่าให้อายุยืนร้อยปี ไม่ใช่ให้ไปอย่างพลุ่ยๆ ให้อย่างคะยั้นคะยอเสียด้วย ออกจะเอือมๆ กลัวจะหลงเลอะลูกหลานจะลำบาก เคยได้ยินพระยาสิงหเสนี (สะอาด) เล่ามี มีสาวใช้ของเจ้าคุณปู่อันยังมีชีวิตอยู่คนหนึ่ง ลูกสาวจะไปทำงานก็เอาผ้าขาวม้าผูกบั้นเอวแม่ล่ามไว้กับเสา ด้วยกลัวจะเที่ยวคลานตกเรือนลงไป ผูกบั้นเอวไว้เท่านั้นเป็นพอ คลานอยู่ได้รอบๆ เสาไม่ตกเรือน เป็นอันพ้นจากภัย

ลายพระหัตถ์

๖) ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๐ กันยายน เมื่อเมล์วันเสาร์วันที่ ๑๔ กันยายน โดยเรียบร้อยแล้ว จะกราบทูลสนองความต่อไปนี้

๗) เรื่องสีมา ยังมีขันๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งไม่ได้กราบทูลมา เช่น “สังกรสีมา” นั่นว่าถึงต้นไม้ มีต้นไทรเป็นต้น ขึ้นอยู่วัดหนึ่งแล้วทอดกิ่งเข้ามาอีกวัดหนึ่ง รากย้อยลงมาจรดดินจนตั้งเป็นต้นขึ้น ท่านให้ฟันต้นใหม่นั้นเสีย เพื่อมิให้มีสองวัดเกี่ยวกัน สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสตรัสค้านว่า เดี๋ยวนี้มีสายไฟฟ้าล่ามไปในวัดหลายวัดจะโปรดว่ากระไร ตามที่ฝ่าพระบาทตรัสถือเอาพยัญชนะเป็นเกณฑ์นั้นถูกต้องแล้ว แต่การถือนั้นที่สุดก็เป็นอย่างเอก เอาครั้งกระโน้นมาปรับกันครั้งกระนี้จะเป็นไปได้ที่ไหน

๘) เรื่องหวยนั้นจำได้มีชาติ คือ มีรูปคนกับสัตว์ยืนอยู่ด้วยกัน แต่จำไม่ได้ว่าตัวไหนเป็นสัตว์อะไร เข้าใจว่าสำหรับดักฝัน ฝันเห็นสัตว์ก็แทงตัวนั้น เพิ่งได้ทราบว่าหวยในเมืองเขมรใช้เรียกเป็นนามรูปสัตว์ ที่เมืองเราเอาคนกับสัตว์มาผสมกันเข้า ก็เพราะเอาแต่รูปคนเท่านั้นไม่กว้างพอที่จะล่อเอาให้คนแทงได้มาก เรื่องสัตว์ประจำปีที่ผิดกัน ได้เขียนเตรียมไว้กราบทูลเพิ่มเติมในเบื้องต้น ก่อนได้ลายพระหัตถ์ฉบับนี้แล้ว

ข้างจีนเขาขึ้นปีใหม่กันเดือน ๓ ก่อนเรา ๒ เดือน ทั้งจีนทั้งเราหมายเอาฤดูร้อนเป็นต้นปี เราแต่ก่อนเห็นจะเอาฤดูหนาวเป็นต้นปี จึงนับเอาเดือนอ้ายต้นฤดูหนาวเป็นเดือนที่ ๑ ก็ไปตรงกับฝรั่งที่เปลี่ยนไปเป็นเดือนห้าขึ้นปีใหม่ คงเป็นด้วยพระอาทิตย์ยกราศีเมษในเดือนนั้น

๙) เรื่องกล่าวมนตร์เปิดประตูไกรลาศ ในการสมโภชเดือนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จะลองถามทางพราหมณ์เขาดู

ตามที่กราบทูลมาถึงกล่อมพระเจ้าลูกเธอ ว่าใช้คำกล่อมหงส์นั้นในนั้นมีคำ “นมัสศิวาย่อ” ทำให้นึกไปถึงวัดศรีสวายที่เมืองสุโขทัยเก่า มีเพื่อนเขาเดาว่าเห็นจะเป็น “ศรีศิวายะ” เห็นด้วยกับเขาเต็มประตู ที่นั่นก็เป็นเทวสถานมาก่อนแล้วแก้เป็นวัดต่อภายหลัง แล้วยังได้นึกถึงตำแหน่ง “หลวงราชมุนี” หลวงศรีวาจารย์” หรือ “หลวงศิวาจารย์” อีกด้วย ตำแหน่งหลังชื่อก่อนไม่ได้ความ ชื่อหลังไม่คล้องกัน ถ้าจะเอารวมกันเสียเป็น “หลวงศรีศิวจารย์” ไม่ได้หรือ

๑๐) เป็นพระเดชพระคุณที่ทรงพระเมตตาโปรดคัดสำเนาพระนิพนธ์ว่าด้วยเรื่องเงินประทานไป ทีแรกต้องชมชายประสบสุข ว่าเธอคิดที่จะทำเรื่องอันเป็นหลักเป็นฐานในบ้านเรา ถัดไปก็จะกราบทูลเรื่องเบ็ดเตล็ดอันได้ประสบมา เพื่อจะได้ทรงทราบเป็นเครื่องประดับพระสติปัญญาบารมีบ้าง เป็นการรับรองบ้าง ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ก) เงินขาคีม เกล้ากระหม่อมมีอยู่ก้อนหนึ่ง มีหนังสือว่า “เมืองควาน” อยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ ไม่มีชื่อในพระนิพนธ์ และเงินนั้นไม่ได้แบะออกจนราบ แบะออกแต่เพียงครึ่งเดียว

ข) เงินที่ใช้ในล้านช้าง ได้เคยเห็นหลายอย่าง ใหญ่ก็เคยเห็น เล็กก็เคยเห็น เว้นแต่ไม่ได้เอาใจใส่ไต่ถามใคร ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ค) เงินตราครั้งกรุงเก่า เห็นจะเป็นอย่างที่ตรัสว่าเหมือนพุ่มดอกไม้ มีคนเอามาให้ดู บอกว่าตราราชวัติ ไม่เห็นเป็นราชวัติที่ตรงไหนเลย อนึ่งเคยได้ยินเจ้ากรมร่วมเจ้ากรมคนที่ ๑ ของเกล้ากระหม่อม แกเป็นญาติและเป็นพี่เลี้ยงมาแต่เด็กด้วย แกว่าครุฑแขนด้วนนั้นเป็นเงินของภูดาดอู่เวลา เมื่อได้ยินนั้นเกล้ากระหม่อมยังเด็ก ไม่มีปัญญาพอจะซักให้ได้ความกว้างขวาง ทั้งตัวเงินก็ไม่ได้เห็น เข้าใจว่าเป็นเงินชั้นกรุงเก่าเหมือนกัน ภูดาดอู่เป็นผู้น้อย จะเป็นเจ้าของเงินไม่ได้ หากจะเป็นผู้ทำเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็เป็นเงินปลอมหรือเงินแดง

ฆ) เกล้ากระหม่อมไปเที่ยวที่วัดกุฎีดาวกรุงเก่า มีคนเอาเงินมายื่นขายบอกว่าร่อนได้ในแม่น้ำ พิจารณาดูเห็นใหญ่กว่าเงินบาทสักสามเท่า ทำด้วยตะกั่วรมกำมะถัน มีตราหลายดวงแต่จำไม่ได้ จำได้ดวงเดียวเป็นเธาะขัดสมาธิ กลับซ้ายแปลว่าคนแกะพิมพ์ตราเขลา แกะเป็นขวา ครั้นตีลงก็กลับซ้ายหมด นั้นเห็นได้ว่าเป็นของปลอมจึงไม่ซื้อ ทั้งนี้กราบทูลให้ทรงทราบเผื่อไว้ว่า ถ้าโอกาสอำนวยจะได้ตรัสบอกพระญาติเพื่อไม่ให้ถูกหลอก

ง) ครั้งหนึ่งผู้ใหญ่ในเรือนที่ในวัง ใช้ให้ไปเอาเงินกลางปีที่คลังได้มาก็เอามาให้ผู้ใหญ่ ครั้นถึงเวลาจะใช้ก็เปิดถุงออก แต่เงินในถุงหนึ่งผิดไปจากเงินตราที่ใช้กันอยู่ในตลาด ผู้ใหญ่จึงใช้ให้เอาเงินนั้นไปขอแลกคืนเอาเงินที่ใช้ในตลาดมา พระยาไชยยศ (ฉ่ำ) ก็ยอม ว่าหยิบผิดไป และอธิบายให้ฟังว่าเงินนั้นทำด้วยเครื่องจักรบรรณาการฝรั่งเศสซึ่งหมุนด้วยมือก่อน เครื่องจักรทำเงินซึ่งได้เข้ามาจะใช้เนื้อเงินผสมตีไม่ได้ เนื้อแข็งไปหมุนไม่ไหว ต้องใช้เงินแท่งญวนทำ และว่าที่จริงเงินนั้นมีมาก่อนตั้งโรงกษาปณ์แล้ว แต่เงินนั้นจะใช้ได้หรือไม่ได้ใช้ไม่ทราบ ทีจะไม่ได้ใช้เพราะทำได้น้อย ตราก็อย่างเดียวกับเงินที่ใช้อยู่ในตลาดแต่รูปผิดกัน และดูเหมือนจะขนาดเขื่องกว่าเงินที่ใช้อยู่ในตลาดสักนิดหนึ่ง

จ) เรื่องเบี้ย พระยาพิพัฒโกษา (เศเลสติโน ซาเวีย) เคยบอกว่าเมื่อเล็กๆ ซนเข้าไปเล่นใต้ถุนเรือน เห็นเบี้ยใส่ตุ่มไว้ อธิบายว่าปู่ค้าเรือ นั่นเป็นพยานอยู่ว่าเพราะเลิกใช้เบี้ย เบี้ยจึงตกค้างอยู่ตั้งตุ่ม

ฉ) ทองทศ ทองพิศ และธนบัตรก็เคยเห็นมาทั้งนั้น เช็กคือใบพระราชทานเงิน มีมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ จำได้แต่ซองว่าเป็นรูปนกพิราบคาบผ้า แต่กระดาษข้างในจำไม่ได้

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ได้มีกล่าวในพระนิพนธ์ สิ่งนั้นก็คือ อีแปะ หรือ กะแปะ ก็เรียก เห็นมีมากนัก เป็นทองเหลืองก็มี เป็นดีบุกก็มี อย่างดีบุกเห็นมีมาก ร้อยเชือกกันไว้เป็นพวกใหญ่ แต่ไม่เห็นใช้เป็นเงินในบ้านเราจะมีมาทำไม ทำให้สงสัยไปว่าลางทีจะใช้ทางมลายูแถบปักษ์ใต้กระมัง เพราะเคยเห็นมาทางเกาะบาหลีเขาใช้ เขามีร้อยเชือกไว้เป็นพวงๆ ลางทีจะเอาไปแลกเงินทางมลายูอีกต่อหนึ่งก็เป็นได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ