วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

สัปดาหะนี้หม่อมฉันคอยลายพระหัตถ์เวร ตั้งแต่บ่ายวันศุกร์จนถึงกลางวันวันเสาร์ก็ไม่ได้รับ รู้สึกเหมือนกับไม่ได้กินอาหารตามเวลา ออกหิวจนบ่นกับลูก และนึกว่าจะต้องหาเรื่องเบ็ดเตล็ดเขียนขึ้นต้นจดหมายของหม่อมฉันในวันอาทิตย์ตามเคย มิให้เสียเวลา แต่ถึงเย็นวันเสาร์นั้นเขาเชิญลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๓ ธันวาคม มาส่งเป็นการพิเศษนอกเวลาที่เขาเคยส่งจดหมายโดยปกติ เห็นจะเพิ่งรู้ว่าลายพระหัตถ์ฉบับนั้นค้างอยู่ ก็ขอบใจเขาที่ไม่รอไว้จนวันจันทร์ พนักงานไปรษณีย์ที่นี่มีอัชฌาสัยดี แต่ละคนเห็นจะมีหน้าที่ส่งหนังสือเป็นตำบล จึงชอบกับเจ้าของบ้านตำบลของตนทุกบ้าน บ้านหม่อมฉันก็เช่นนั้นเหมือนกันจนพอใจให้บำเหน็จแก่คนไปรษณีย์เมื่อขึ้นปีใหม่มาหลายปีแล้ว ครั้นเมื่อก่อนจะขึ้น ค.ศ. ๑๙๔๐ นี้ได้รับใบปลิวประกาศของกรมไปรษณีย์ ว่าขออย่าให้เจ้าของบ้านให้บำเหน็จแก่คนเดินไปรษณีย์ จึงรู้ว่าบ้านอื่นเขาก็มีแก่ใจให้บำเหน็จเช่นเดียวกันกับหม่อมฉัน ชะรอยจะทำให้คนเดินไปรษณีย์บางคนเข้าใจว่าเป็นสิทธิของตน ไปเคาะแคะหรือเรียกบำเหน็จแก่บ้านใดบ้านหนึ่ง รู้ถึงหูเจ้ากรมเขาจึงออกประกาศห้ามเสียทั้งหมดทีเดียว

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) มูลของสัตว์หิมพานต์นั้น หม่อมฉันลองคิดวินิจฉัยดู เห็นว่าน่าจะมีเป็นลำดับดังทูลต่อไปนี้

ก) คำที่เรียกว่าสัตว์หิมพานต์ หมายความว่าสัตว์อย่างนั้นมีแต่ในป่าหิมพานต์ อันมนุษย์สามัญไม่สามารถจะเห็นตัวจริงได้ เพราะฉะนั้นสัตว์จตุบาทอย่างใดที่เห็นกันดาดดื่น ดังเช่น เสือ ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้นก็ดี หรือสัตว์ทวิบาท ดังเช่น แร้ง เหยี่ยว และเป็ดไก่ เป็นต้น ก็ดี จึงไม่นับเป็นสัตว์หิมพานต์

ข) เพราะสัตว์หิมพานต์เป็นของที่ไม่เคยเห็นตัวจริง ช่างจะเขียนหรือปั้นรูปจึงอาศัยแต่เอาความที่บ่งไว้ในชื่อทีเรียก หรือพรรณนาอาการและลักษณะไว้ตามคำโบราณ มาคิดประดิษฐ์รูปสัตว์หิมพานต์ขึ้นด้วยปัญญาของตน “คาดว่าคงเป็นเช่นนั้น” ยกตัวอย่างดังเช่นทำรูปสิงห์กับราชสีห์เป็นสัตว์ต่างกัน และทำรูปนกทัณฑิมาให้ถือไม้ท้าว และมีมือเพราะต้องถือไม้ท้าว สัตว์บางอย่างก็คิดรูปเลยไปด้วยขาดความรู้ เช่นให้หงส์มีเขี้ยวมีฟันดังทรงปรารภนั้นเป็นต้น และกินนรด้วยอีกอย่าง ๑ ก็ทำผิดพระบาลีซึ่งว่ากินนรเป็นคน ปีกหางเป็นแต่เครื่องแต่งตัว ต่อเวลาจะไปไหนจึงใส่ปีกหางบินไป เมื่อสิ้นกิจการบินแล้วก็ถอดปีกหางออกเก็บไว้ต่างหาก เช่นกล่าวในเรื่องพระสุธน เพราะฉะนั้นกินนรจึงสมพงศ์กับมนุษย์ได้ แต่รูปกินนรที่ทำกันทำท่อนบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นนก ขัดกับความในพระบาลีทีเดียว จึงเห็นว่าเป็นด้วยขาดความรู้

ค) เมื่อช่างผู้เป็นต้นคิด ได้ทำรูปสัตว์หิมพานต์อย่างใดให้ปรากฏขึ้นแล้ว ช่างภายหลังก็ทำรูปสัตว์หิมพานต์อย่างนั้นตามที่ปรากฏถือเป็นแบบต่อมา แม้จะแก้ไขดูก็เป็นแต่ในทางประดับเช่นกระหนกเป็นต้น

ฆ) รูปสัตว์หิมพานต์เดิมคงมีน้อยอย่าง ดูเหมือนจะมีแต่สัตว์ที่ชื่อปรากฏในพระบาลี และเรียกชื่อเฉพาะตัวสัตว์นั้นๆ ที่มาเรียกรวมกันว่าสัตว์หิมพานต์น่าจะบัญญัติขึ้นต่อภายหลัง เมื่อมีรูปสัตว์พวกนั้นเพิ่มเติมขึ้นอีกมากมาย เหตุที่เพิ่มรูปสัตว์หิมพานต์มีมากขึ้น อาจจะมีเหตุที่หม่อมฉันยังไม่ได้คิด แต่ที่พอคิดเห็นนั้นเห็นว่าน่าจะเกิดแต่ทำเครื่องแห่พระบรมศพ เดิมทำแต่พอจำนวนเจ้านายขี่อุ้มผ้าไตรไปในกระบวนแห่ ตั้งแต่เปลี่ยนเป็นทำบุษบกวางไตรบนหลังรูปสัตว์ จึงเพิ่มจำนวนสัตว์ขึ้น การที่เพิ่มนั้น จะเพิ่มด้วยเหตุใดก็ตาม ช่างต้องคิดรูปสัตว์ขึ้นใหม่ให้แปลกออกไป จึงจับโน่นประสมนี่สุดแต่ให้เปลกกับรูปสัตว์เดิมที่มีอยู่ และอาลักษณ์ก็ต้องคิดชื่อเรียกสัตว์ที่คิดขึ้นใหม่ จึงเกิดรูปสัตว์นอกรีตต่าง ๆ เช่น มยุรเวนไตย เป็นต้น

ว่าถึงรูปสัตว์แห่พระบรมศพ แต่ก่อนเมื่อเสร็จงานแล้วมักเอาไปตั้งทิ้งไว้ตามพระระเบียงวัดใหญ่ เช่นวัดมหาธาตุและวัดสุทัศน์เป็นต้น หม่อมฉันเคยเห็นทั้ง ๒ แห่ง เห็นที่วัดสุทัศน์เป็นรูปสัตว์นอกแบบสัตว์หิมพานต์ออกไปอีก ได้ยินว่าทำเมื่องานพระเมรุสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี หรืองานไหนจำไม่ได้แน่ แต่เป็นภาพกินนรจีน ท่อนบนเป็นเช่นตัวงิ้วหน้าดำหน้าแดงต่างๆ ท่อนล่างเป็นเช่นสิงโต ท่านได้ทอดพระเนตรเห็นหรือไม่ ดูยักเยื้องแปลกอยู่ ไม่ทราบว่าความคิดจะเกิดขึ้นด้วยเหตุอันใด

๒) ขอบพระคุณที่ตรัสบอกแม่สีทั้ง ๕ ให้หม่อมฉันทราบ หม่อมฉันยังหาเคยทราบมาแต่ก่อนไม่

๓) เครื่องทรงพระแก้วมรกตนั้นหม่อมฉันพอจะทูลได้ เคยเห็นในพระบรมราชาธิบายของทูลกระหม่อม หรือในหนังสือเรื่องอะไรเวลานี้นึกไม่ออก แต่จำได้มั่นคงว่าเมื่อรัชกาลที่ ๑ ฤดูแล้งทรงเครื่องต้น ฤดูฝน (เข้าวัสสา) ทรงจีวร เป็นเช่นนั้นมาจนรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ตาข่ายเป็นผ้าคลุม (เห็นจะหมายว่าสังฆาฏิ) คลุมในฤดูหนาวจึงเปลี่ยนเครื่องทรงเป็น ๓ ฤดูมาแต่นั้น

พระแก้วเมืองเขมรหม่อมฉันไม่เคยได้ยินว่า มีประเพณีเปลี่ยนเครื่องทรง คิดเห็นว่าจะไม่มี เพราะพระแก้วเมืองเขมรเป็นของสั่งให้ฝรั่งหล่อมา สักแต่ว่าพอเทียมพระแก้วมรกตให้สมกับชื่อวัด มิได้เป็นของวิเศษมิ่งขวัญของประเทศเหมือนพระแก้วมรกต

๔) สมเด็จพระสังฆราชวัดสุทัศน์ ท่านเมตตาส่งพระกริ่งมาให้หม่อมฉันด้วยองค์ ๑ เมื่อท่านยังเป็นสมเด็จพระวันรัตนท่านเคยหล่อพระกริ่งครั้ง ๑ พระกริ่งที่ท่านหล่อครั้งนั้นขนาดเท่ากับพระกริ่งเมืองเขมร แต่ที่หล่อครั้งนี้ขนาดย่อมลงสักหน่อย แต่รูปร่างก็ยังคงแบบอยู่่

๕) หม่อมฉันยินดีที่ท่านจะได้ทอดพระเนตรหนังฉาย เรื่องดอกเตอร์ไซโคลปส์ บางทีเมื่อทรงรับจดหมายนี้จะได้ทอดพระเนตรแล้ว ที่เขาฉายเป็นกาลาเสียคืน ๑ ต่างหากเมื่อก่อนเล่นนั้นเปนประเพณีของการฉายหนัง ที่เมืองปีนังนี้ก็เหมือนกัน โดยปกติเขาจัดหนังเป็นชุดฉายวันละ ๓ เที่ยว ฉายแต่เวลาบ่าย ๓ โมงจน ๕ โมงเที่ยว ๑ ฉายแต่เวลาย่ำค่ำไปจน ๒ ทุ่มเที่ยว ๑ ฉายแต่เวลายาม ไปจน ๕ ทุ่มเที่ยว ๑ ถ้ามีหนังสำคัญมาเขาประกาศวันและฉายเรื่องใหม่นั้นให้คนดูเป็นกาลาเมื่อเวลา ๒ ยามคืน ๑ แล้วเว้นให้คนเลื่องลือกันอยู่สักสี่ห้าวันจึงเอาเข้ารอบฉายเป็นปกติ และยังมีอีกอย่าง ๑ ถ้าเห็นว่าหนังชุดใดมีเรื่องที่เด็กชอบ เขานัดฉายหนังชุดนั้นเป็นมาตินี ลดราคาให้เด็กดูแต่เวลาเช้า ๕ โมงจนบ่ายโมง ๑ อีกรอบ ๑ เพราะฉะนั้นถ้ามีประกาศการฉายกาลาหรือมาตินีคนก็เข้าใจว่ามีหนังดีเป็นวิสามัญมาเล่น เป็นวิธีหาเงินให้มากขึ้น

๖) หนังสือแจกงานศพพระยาอภิรักษราชฤทธิ์ “เรื่องจดหมายเหตุ ร.ศ. ๑๑๒” นั้นยังไม่มีใครส่งมาให้หม่อมฉัน ลองนับปีตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๒ มาจนถึงบัดนี้ได้ถึง ๔๗ ปี ผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยตนเองเห็นจะเหลืออยู่น้อยตัวแล้ว หม่อมฉันอยู่ในพวกที่ยังมีตัวเหลืออยู่ ได้เคยรู้เห็นมามากพออยู่แล้ว เห็นจะเป็นด้วยเหตุนั้นจึงไม่รู้สึกอยากอ่านหนังสือเรื่อง ร.ศ. ๑๑๒ อย่าทรงขวนขวายหาส่งมาประทานเลย

ปกิรณกะ

๗) เวลานี้โรงเรียนฝรั่งที่เมืองปีนังหยุดปลายปี หลานแมวกับหลานน้อยของหม่อมนั้นกลับเข้าไปเยี่ยมญาติในกรุงเทพฯ ด้วยกันกับนักเรียนไทยคนอื่น เมื่อวันศุกร์ที่ ๖ ธันวาคม แต่หลานแมวเรียนสำเร็จตลอดหลักสูตรแล้ว จะเลยอยู่กับพ่อแม่เพื่อเรียนหนังสือไทยให้บริบูรณ์จะกลับออกมาแต่หลานน้อย หม่อมฉันจะขาดหลานที่อยู่ด้วยไปคน ๑ แต่ได้หลานหญิง “หยอง” พัฒนดิศ ลูกชายแอ๊วออกมาเข้าโรงเรียน ก็คงมีหลานอยู่ด้วย ๒ คนต่อไป

๘) เจ้าภาพเขากำหนดจะพาศพเจ้าชายวิบูลย์ฯ กลับไปกรุงเทพฯ วันจันทร์ที่ ๑๖ ธันวาคมนี้

๙) จดหมายเวรฉบับนี้มีเรื่องน้อย หม่อมฉันจึงส่งนิทานโบราณคดีสำหรับบรรเลงถวายมาให้ทรงอ่านเล่นอีกเรื่อง ๑

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ