วันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม แล้วโดยเรียบร้อย ลายพระหัตถ์ฉบับนี้มาถึงปีนังคราวเมล์วันพฤหัสบดีเวลาค่ำตามเคย วันศุกร์เวลาบ่ายพนักงานไปรษณีย์เอาหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์มาส่ง แล้วบอกว่ายังมีจดหมายซึ่งเอามาส่งวันเสาร์เวลาเช้า ที่บอกนี้แปลก คงเป็นเพราะถูกหญิงเหลือไปต่อว่าเมื่อลายพระหัตถ์ฉบับเวรก่อนค้าง เขาปฏิเสธว่าไม่มี แล้วกลับค้นพบ คราวนี้จึงบอกล่วงหน้าให้เห็นว่าไม่เหลว จดหมายเวรของหม่อมฉันฉบับนี้จะทูลสนองความในลายพระหัตถ์ทั้ง ๒ ฉบับ

สนองความในลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม

๑) ศักราชในจารึกบานมุกด์ของพระเจ้าบรมโกศนั้น หม่อมฉันลองสอบจารึกบานทั้ง ๓ คู่ ได้ความเป็นลำดับดังต่อไปนี้

บานประตูวัดบรมพุทธารามที่อยู่หอมณเฑียรธรรม ว่าตรัสสั่งให้ทำเมื่อปีมะแมตรีศก (จุลศักราช ๑๑๑๓) ลงพุทธศักราช ๒๒๙๕ เกินเกณฑ์ ๒ ปี

บานการเปรียญวัดป่าโมกที่อยู่วิหารยอด ว่าตรัสสั่งให้ทำเมื่อปีระกาเบญจศก (จุลศักราช ๑๑๑๕) ลงพุทธศักราช ๒๒๙๖ ตรงกับเกณฑ์

บานประตูวิหารพระพุทธชินราช ว่าตรัสสั่งให้ทำเมื่อปีกุนสัปตศก (จุลศักราช ๑๑๑๗) ลงพุทธศักราช ๒๒๙๙ เกินเกณฑ์ปี ๑

ดูลักลั่นกันไม่ใช่เป็นเพราะมีเกณฑ์บวกอย่างหนึ่งต่างหากที่ใช้ในสมัยนั้น น่าจะเป็นเพราะคนแต่งคำจารึกต่างบานต่างเข้าใจเกณฑ์บวกผิดกัน คือ “เหลว” แต่อย่างไรก็ดี ข้อที่อยากรู้ว่าพระเจ้าบรมโกศโปรดให้เอาลายจำหลักบานไม้ของเดิมที่วิหารพระพุทธชินราชมาผูกประดับมุกด์เป็นลายช่องหรือมิใช่นั้น ไปได้ความในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าบรมโกศเสด็จขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลกเมื่อปีวอก โทศก จุลศักราช ๑๑๐๒ ก่อนทำบานมุกด์วิหารพระพุทธชินราชถึง ๑๕ ปี ลงความเห็นเป็นยุติได้ว่าลายช่องที่ทำบานมุกด์เอาเค้ามาจากบานเดิมของวิหารพระพุทธชินราช

๒) ที่ท่านต้องทรมานพระองค์ทรงหนังสือพิมพ์ ข่าวการสงครามนั้นก็เห็นจะเป็นเช่นเดียวกันกับผู้อื่นอีกมาก หม่อมฉันเองเดี๋ยวนี้ก็ต้องรับหนังสือพิมพ์ในเมืองปีนังมาอ่าน ทั้งฉบับที่ออกเวลาเช้าและที่ออกเวลาบ่าย แต่การอ่านข่าวสงครามในฐานเป็นคนกลางแม้ไม่ได้ไม่เสียด้วยในการที่เขารบราฆ่าฟัน ก็ต้องนับว่าพลอยได้ความทุกข์เวทนาเพราะรู้สึกสังเวชสลดใจ เมื่อหม่อมฉันขึ้นไปอยู่บนเขาถึงเวลาเย็นมักไปนั่งเล่นที่ลานโฮเต็ล เขาตั้งเก้าอี้ยาวไว้ตรงไหล่เขาสำหรับนั่งดูภูมิฐาน แลเห็นได้จนสุดสายตาเลยพาให้เพลิดเพลินเจริญใจ เมื่อเกิดสงครามแล้วหม่อมฉันไปนั่งเล่นที่นั่นตามเคย แต่อารมณ์มักนึกไปว่าในโลกนี้ก็กว้างใหญ่ไพศาลพอที่มนุษย์จะอยู่เย็นเป็นสุขได้ด้วยกันหมด มนุษย์ก็มีสติปัญญาและความรู้ยิ่งกว่าสัตว์เดียรฉานมาก ไฉนจึงไม่ช่วยกันหาความสุข กลับไปพยายามที่จะแข่งกันฉิบหายวายวอด ทั้งรู้และพูดกันมาทุกประเทศว่าถ้าเกิดมหาสงครามอีก คราวนี้จะไม่มีแพ้ชนะ เพราะจะฉิบหายด้วยกันทั้งหมด รู้อย่างนั้นแล้วก็ยังกลับรบกันอีกจึงน่าสังเวชยิ่งนัก ผลของการสงครามครั้งนี้ ไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร แน่อยู่อย่างเดียวแต่ว่าในชั่วอายุเราเห็นจะไม่มีหวังที่จะได้เห็นมนุษย์โลกเรียบร้อยเหมือนอย่างแต่ก่อนอีก

๓) หนังสือเรื่อง “กามนิต” ที่เจ้าชายอุปลีสาณพิมพ์แจกในงานศพหม่อมเจียงมารดาของเธอนั้น หม่อมฉันอยากได้สักเล่ม ๑ เพราะเมื่อหม่อมฉันอ่านขอยืมของคนอื่นมายังไม่มีของตัวเอง ถ้าโปรดหาประทานได้จะขอบพระคุณมาก

๔) ที่ตรัสว่าการแต่งประวัติยากมากนัก จริงดังทรงพระปรารภ มีอธิบายของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง) ท่านเคยเทศน์ให้หม่อมฉันฟังครั้งทำบุญฉลองอายุครบ ๔ รอบ ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อพรรณนาถึงกุศลกรรมต่างๆ ที่หม่อมฉันได้บำเพ็ญแล้ว ลงท้ายท่านว่าความที่กล่าวมานี้เป็นคำ -ชม-มิใช่-ยอ ชมกับยอนั้นผิดกัน ชมต้องเลือกกล่าวแต่ที่เป็นความจริง ยอนั้นสุดแต่ชอบใจผู้ฟังแล้วจะว่าอย่างไรก็ได้ การแต่งประวัติมีวัตถุประสงค์ก็จะแสดงความดีของผู้ตาย แต่ต่างกันด้วยวิธีแสดง อาจจะเป็นอย่างชมมิให้มหาชนคัดค้านได้หรืออย่างยอให้ชอบใจเจ้าภาพ นอกจากนั้นก็ต่างกันเพียงสำนวนการแต่งประวัติอย่างชม ผู้แต่งต้องรู้ความจริงจึงจะแต่งได้ ยากอยู่ในข้อนี้ หม่อมฉันแต่งประวัติก็รับแต่งแต่ประวัติของคนที่เคยคุ้นกัน ถ้าไม่ใช่เช่นนั้นก็ไม่รับแต่ง หม่อมฉันเคยแต่งประวัติของคนที่ไม่รู้จักแต่สุนทรภู่คนเดียว ที่กล้าแต่งก็เพราะตัวแกเองเล่าเรื่องประวัติของแกไว้ในนิราศ ที่แกแต่งแทบทุกเรื่อง ได้อาศัยความในนิราศจึงสามารถแต่งประวัติสุนทรภู่ได้

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) เรื่องปลูกต้นมะพร้าวคู่ ๑ ณ ที่ฝังรกเด็กนั้น หม่อมฉันแน่ใจว่าเป็นประเพณีเก่าอย่างยิ่ง และต้องมีมูลเหตุอันสมควร หากการอยู่กินของมนุษย์เปลี่ยนแปลงมา ความรู้มูลเหตุที่ปลูกต้นมะพร้าวจึงสูญไป หม่อมฉันได้ลองคิดค้นดูว่าจะมีเหตุอันใดในครัวเรือนที่จะเข้ากับการปลูกต้นมะพร้าวเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ได้บ้าง ได้คิดสันนิษฐานอนุโลมตามประเพณีของคนชั้นคฤหบดี ในพื้นเมืองการแต่งงานสมรสครั้งแรกเจ้าบ่าวต้องไปอยู่บ้านสกุลเจ้าสาว จึงเรียกว่า “เขยสู่” คือไปปลูกเรือนหอหลัง ๑ ร่วมชานกับเรือนญาติอยู่ด้วยกัน จนมีลูกเต้าจำต้องแยกครัว จึงพากันย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ห่าง ณ ที่อื่น ข้อนี้มีประเพณีประกอบที่บางแห่งถือคติว่าให้ปลูกเรือนหอด้วยเสาไม้หมาก เห็นได้ว่าบ่าวสาวอยู่ด้วยกันพอมีลูกเสาไม้หมากก็ผุ ถึงไม่อยากก็จำต้องย้ายบ้านเรือน เพราะไม่ประสงค์จะให้เขยสู่เข้าไปเป็นใหญ่ในสกุล มะพร้าวเครื่องทำขวัญเด็กจะสำหรับเอาไปปลูก ณ ที่จะสร้างบ้านใหม่เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่เด็กเมื่อเติบใหญ่ขึ้นในวันหน้า ถ้าเกิดในครัวเรือนเดียวกันก็ปลูกไว้ในบ้านที่อยู่ จะเป็นเช่นนี้ดอกกระมัง ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

๒) หีบพระสังข์จะเชิญตามเสด็จลงแต่สมโภชเดือน หรือทั้งเมื่อสมโภช ๓ วันด้วยนั้น หม่อมฉันไม่กล้ายืนยันว่าอย่างไร เพราะเห็นแต่ยังเป็นเด็กอยู่เหมือนกันแต่แน่ใจว่าพระราชทานน้ำสังข์ทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิง และนึกว่าการพระราชทานน้ำสังข์กับทรงเจิมเป็นส่วนหนึ่งในพิธีสมโภชต้องที่พระราชทานทั้ง ๒ ครั้งเว้นแต่จะขัดข้องในทางอนามัยของพระราชกุมารเมื่อประสูติได้เพียง ๓ วัน แต่เห็นที่อื่นเมื่อทำขวัญ ๓ วัน เขาก็รดน้ำมนต์และเจิมเด็ก เป็นอันไม่ขัดข้องในทางอนามัย จึงเชื่อว่าคงพระราชทานน้ำสังข์และทรงเจิมทั้งเมื่อสมโภช ๓ วัน และสมโภชเดือน

๓) บทกล่อมช้างลูกหลวงนั้น หม่อมฉันนึกไม่ได้แน่ว่าหอพระสมุดเคยพิมพ์แล้วหรือยัง แต่หอพระสมุดได้บทเห่กล่อมมาจากอาลักษณ์ในครั้งพระยาอนุมานฯ อีกหลายเล่ม หม่อมฉันขอมาดูหมายจะเขียนวิจารณ์ให้ ยังค้างอยู่ ทูลได้โดยย่อว่าบรรดาบทเห่กล่อมที่ได้พบล้วนเป็นสำนวนแต่งในกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งนั้น

๔) ที่มีหนังสือว่า “เมืองบาณบุรี” เป็นที่ถ่ายสินค้ามากรุงศรีอยุธยาทางทะเลนั้น เห็นจะมิใช่เมืองปราณ เพราะเมืองปราณไม่มีอ่าวพักเรือ ที่จริงน่าจะเป็น เมืองวาฬ อันตั้งอยู่ ณ คลองวาฬ ต่ออ่าวเกาะหลักไปข้างใต้ ที่นั่นเป็นเมืองเดิมเพิ่งย้ายมาตั้งที่อ่าวเกาะหลักเมื่อรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ เรียกชื่อว่าเมืองใหม่ หรือเมืองบางนางรม (ตามชื่อคลอง) ถึงรัชกาลที่ ๔ จึงขนานนามว่าเมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นคู่กับ เมืองประจันตคีรีเขต ที่เกาะกงทางฝั่งตะวันออก

๕) อธิบายของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ว่าด้วยประดิทินพฤหัสบดีจักรนั้น หม่อมฉันคิดดูอยากจะเข้าใจว่า เดิมเขาหมายรอบ ๖๐ ปีตามขัยวัยของมนุษย์เป็นสำคัญ จึงให้ชื่อปีต่างกันทั้ง ๖๐ ปี ด้วยเห็นพอแก่ความต้องการใช้ในศุภมาศ เปรียบดังคนเกิดในปี (ก) เมื่อถึงปี (ก) รอบหลังอายุก็ถึง ๖๐ จะเข้าใจปีเกิดผิดไม่ได้ ที่มาเอาทางโคจรดาวพฤหัสบดีเป็นหลัก น่าจะมาคิดเห็นเมื่อเปลี่ยนเป็นรอบละ ๑๒ ปีมีศกทับ ชื่อปี ๑๒ นักษัตรที่ไทยเรียกแม้คล้ายจีนบางปี จะว่าเอาอย่างมาจากจีนก็ยังไม่สนิท ด้วยยังมีที่ผิดกันมากนัก คำที่เรียกทางลานนาก็ไปอีกอย่างหนึ่ง น่าสืบว่าแปลว่ากระไร ถ้าทรงพบพระเจนจีนอักษรลองตรัสถามดูสักทีก็จะดี

๖) โบสถ์วัดวงศ์มูลที่หันหน้าทางด้านแปนั้น เล่ากันมาว่าเมื่อกรมขุนธิเบศบวรทรงสร้างวัดวงศ์มูลก็หันหน้าโบสถ์และพระประธานไปทางตะวันออก เมื่อสร้างวัดแล้วอยู่มากรมขุนธิเบศฯไม่ทรงสบายด้วยมักมีอาการประชวรบ่อยๆ ลงเนื้อเห็นกันว่าเพราะสร้างวัดตั้งพระประธานหันหน้าเข้าไปทางตำหนัก จึงให้ย้ายพระประธานไปตั้งทางด้านแป ก็ต้องแก้โบสถ์หันหน้าไปทางด้านแปตามพระประธาน หม่อมฉันเคยได้ยินมาดังนี้ เหตุที่โบสถ์วัดพระปฐมเจดีย์ทำหันหน้าทางด้านแปนั้น ปลาดอยู่ที่หม่อมฉันเพิ่งคิดเห็นแน่ใจเมื่อร่างจดหมายฉบับนี้ ด้วยนึกขึ้นถึงพระประธานตามวิหารทิศ วิหารทิศที่พระปฐมเจดีย์กั้นเป็น ๒ ห้อง เหมือนกับวิหารทิศวัดพระเชตุพนแต่ตั้งพระประธานผิดกัน ที่วัดพระเชตุพนตั้งพระหันหลังเข้าฝาประจันห้อง แต่วิหารทิศที่พระปฐมเจดีย์ตั้งพระหันหลังไปทางองค์พระปฐมฯ ทั้งนั้น คิดเห็นว่าที่ตั้งพระประธานเช่นนั้นคงเป็นเพราะทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริจะให้คนบูชาหันหน้าไปสู่พระบรมสารีริกธาตุอันบรรจุอยู่ในองค์พระปฐมเจดีย์ ที่โปรดให้ตั้งพระประธานในโบสถ์วัดปฐมเจดีย์ทางด้านแปก็เพื่อเหตุอันเดียวกัน พระพุทธรูปยืนในศาลาการเปรียญคู่กับโบสถ์ก็ตั้งหันหลังไปทางองค์พระปฐมฯ เช่นนั้นเมื่อตั้งพระประธานในโบสถ์ทางด้านแปก็ต้องทำหน้าโบสถ์ทางด้านแปให้เข้ากับที่ตั้งพระประธาน

๗) ที่ตรัสถามว่า ประเพณีสร้างโบสถ์เป็นประธานที่ในวัดจะมีมาแต่เมื่อใด เรื่องนี้หม่อมฉันได้โดยพิจารณาแล้ว แต่วิสัชนาอยู่ข้างจะยาว ขอประทานผัดไปทูลสนองในจดหมายฉบับหน้า

๘) ที่ผ้าไหมเขาถวายรดน้ำสั้นจนถึงทรงเหน็บชายกระเบนหวุดหวิดนั้นไม่เป็นของแปลกอันใด หม่อมฉันก็เคยถูก แม้จนผ้าขาวม้าสำหรับนุ่งอาบน้ำก็มีเช่นนั้น เพราะคนขายหมายแต่จะเอาเปรียบ ทำผ้าให้สั้นเข้าแล้วพับตบตาไว้ขาย ฝ่ายผู้ซื้อเห็นวางไว้เป็นพับก็ซื้อมาถวายโดยสำคัญว่าได้ขนาด ส่วนพระองค์ท่านเป็นผู้รับจะขอคลี่ออกวัดขนาดเสียก่อนก็ไม่ได้ ดูทางแก้มีแต่ต้องเพิ่มหน้าที่คุณโตให้ชันสูตรผ้าทรงซึ่งจะซื้อหรือได้มาใหม่ก่อนเอามาตั้งถวาย จึงจะไม่ต้องทรงลำบากเพราะกระบวนคดโกงในการค้าขาย

ทูลเรื่องทางเมืองปีนัง

พระสงฆ์ธรรมยุตติกาที่ออกมาสั่งสอนพระศาสนาอยู่ ณ วัดศรีสว่างอารมณ์ กลับไปกรุงเทพฯ หมดแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม เหตุที่กลับนั้นจะต้องเล่ายาวสักหน่อย เวลานี้ถึงวันอังคารกำหนดจะต้องทิ้งไปรษณีย์จดหมายนี้แล้ว ขอประทานงดไว้ทูลในจดหมายฉบับหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ