วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๖ เมษายนแล้ว คราวนี้ไปรษณีย์ส่งมาให้วันศุกร์ที่ ๑๙ ตามเคยอย่างแต่ก่อน สมุดประดิทินหลวงที่โปรดประทานมาอีกเล่ม ๑ ก็ได้รับและมอบให้เจ้าหญิงทั้ง ๓ คนแล้ว เธอให้กราบทูลขอบพระเดชพระคุณด้วย

ทูลความที่ค้างมาจากจดหมายเวรก่อน

เรื่องสุภาษิตซึ่งหม่อมฉันทูลไปว่านึกขึ้นเมื่ออ่านหนังสือ “โบราณคติ” นั้น ครั้งหม่อมฉันเป็นนายกหอพระสมุดฯ เคยได้ปรารภถึงหนังสือซึ่งเรียกชื่อว่า “สุภาษิตพระร่วง” หรือ “บัญญัติพระร่วง” ซึ่งมีทั้งจารึกศิลาไว้ในวัดพระเชตุพนและพิมพ์ขายกันแพร่หลาย ที่ในหอพระสมุดฯ ก็มีฉบับเขียนหลายสำนวน หม่อมฉันเอามาตรวจดู เห็นแต่งเป็นร่ายหรือเป็นกลอนแทบทั้งนั้น และแต่งสำนวนเป็นอย่างพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระร่วงเอง เช่นขึ้นต้นว่า “เราผู้ปรีชาฉลาด องอาจในข้อสอน” บ้าง บางฉบับก็อ้างว่าเห็นราโชวาทของสมเด็จพระร่วง เช่นในจารึกวัดพระเชตุพน ว่า

“ปางสมเด็จพระร่วงเจ้า เผ้าแผ่นภพสุโขทัย
มลักเห็นในอนาคต จึงผายพจนประภาษ”

ดังนี้บ้าง แต่พิจารณาดูถ้อยคำสำนวนที่แต่ง ดูเห็นหนังสือแต่งใหม่ แทบจะว่าแต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทรทั้งนั้นก็ว่าได้ แต่พบข้อสำคัญอย่าง ๑ ที่บรรดาหนังสือชื่อว่าสุภาษิตพระร่วง ไม่เลือกว่าสำนวนใด เก็บคำสุภาษิตเก่าที่คนชอบพูดกันดื่นในพื้นเมือง เช่นว่า

“ป่าพึ่งเสือ เรือพึ่งพาย นายพึ่งบ่าว เจ้าพึ่งข้า”

“มือด้วนได้แหวน หัวล้านได้หวี ตาบอดได้แว่น”

“หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว” เหล่านี้ เป็นต้น รวมเอามาเรียบเรียงเป็นตัวเรื่องเหมือนกันทั้งนั้น ต่างกันแต่ลำดับคำสุภาษิต กับมักแก้คำเดิมเป็นคำอื่นที่ความคล้ายคลึงกัน เพื่อให้ได้สัมผัสกลอน ทำคำเดิมให้หายไปเนือง ๆ

พิจารณาดูคำสุภาษิตต่างๆ ที่เอามารวมไว้ในหนังสือสุภาษิตพระร่วงนั้น เห็นว่าที่จริงเป็นคำสุภาษิตของไทยที่ชอบพูดกันในเมืองไทยแพร่หลายมาแต่โบราณ ที่เรียกว่า “สุภาษิตพระร่วง” ถ้าหมายความว่า “สุภาษิตครั้งพระร่วง ก็พอจะเข้าเค้า แต่ทว่าเป็นคำของพระร่วงนั่นเข้าใจผิด ความที่ว่านี้ยิ่งเมื่ออ่านหนังสือเก่าที่ไทยชาวลานนาและลานช้างแต่ง ชอบอ้างคำสุภาษิตต่างๆ อันมีแปลกออกไปจากหนังสือสุภาษิตพระร่วง ซึ่งเป็นของไทยชาวใต้แต่งอีกมาก ก็ยิ่งแลเห็นชัดว่าที่จริงเป็นคำสุภาษิตของชนชาติไทย หรือถ้าเรียกโดยย่อก็คือ “สุภาษิตไทย” เมื่อเห็นเช่นนั้นก็เกิดความคิดว่าน่าจะรวมคำสุภาษิตไทยตามบรรดาจะหาได้มาเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องต่างหาก พอคิดเห็นเช่นนั้นก็นึกได้ว่าทูลกระหม่อมท่านได้ทรงพระราชดำริมาก่อนแล้ว เคยโปรดให้เขียนรูปภาพตามคำสุภาษิตไทยไว้ที่คอสองฝาผนังฉนวน (พระล่อง) ในพระอภิเนาวนิเวศน์ แห่ง ๑ ให้ (อาจารย์อินโข่ง) เขียนรูปภาพตามคำสุภาษิตนั้นไว้เป็นช่องๆ เรียงกันลงมาที่แผละหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีคำสุภาษิตแต่งเป็นโคลงสี่จารึกศิลากำกับรูปภาพไว้ด้วย

ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแรกเสวยราชย์ ก็โปรดให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการหล่อรูปภาพตะกั่วตามเรื่องสุภาษิตนั้น แต่งกระถางต้นไม้ที่ตั้งรายริมกำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ท่านคงทรงจำได้ เพราะฉะนั้นการที่ทำหนังสือสุภาษิตไทยดังคิดจะเป็นการเฉลิมพระราชดำริด้วย หม่อมฉันจึงให้รวมหนังสือซึ่งจะตรวจใช้เป็นต้นฉบับ และให้ไปคัดสำเนาโคลงประจำรูปภาพเรื่องสุภาษิตมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อเมื่อเอาหนังสือเหล่านั้นมาพิจารณาดูจึงเห็นว่าการที่จะทำตามประสงค์นั้นยากมิใช่น้อย เพราะจะต้องอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นบ่อคำสุภาษิตไทยทุกเรื่อง และตรวจค้นคัดคำสุภาษิตออกมาเรียบเรียง เมื่อคัดคำสุภาษิตออกมาแล้ว ยังต้องพิจารณาหาคำเดิม แก้จากที่เอามาเปลี่ยนแปลงเป็นคำกลอนชำระให้ถูกต้อง จะต้องใช้มากทั้งปัญญาความเพียรและเวลา เปรียบว่าถ้าคน ๑ ทำแต่การนั้นอย่างเดียวก็เห็นจะหลายเดือนจึงจะแล้ว ตัวหม่อมฉันไม่มีเวลาจะทำได้ ได้ชี้แจงเกลี้ยกล่อมพวกมหาเปรียญในหอพระสมุด เช่น พระพินิจวรรณการเป็นต้น ให้ทำการนั้นก็ไม่มีใครรับ ร้องแต่ว่าเหลือปัญญาสามารถที่จะทำได้ การจึงค้างมาจนบัดนี้ หม่อมฉันยังนึกเสียดายไม่หาย ถ้าทำได้ดังคิดจะเป็นคุณทั้งให้ความรู้แก่ไทยเราเอง และเป็นเกียรติของชาติไทยในนานาประเทศด้วย เพราะพวกนักปราชญ์เขาถือกันว่าอัชฌาสัยใจคอมนุษย์ชาติใดเป็นอย่างไรอาจจะรู้ได้ด้วย “นิทาน” Folklore และคำสุภาษิต Proverbs ของมนุษย์ชาตินั้นเคยมีฝรั่งพวกนักเรียนมาถามหม่อมฉันถึงตัวอย่างคำสุภาษิตของไทย หม่อมฉันอธิบายสุภาษิต “ป่าพึ่งเสือ เรือพึ่งพาย นายพึ่งบ่าว เจ้าพึ่งข้า” ให้ฟังก็สรรเสริญว่าเป็นคติดีมาก ที่ทูลมานี้ด้วยเจตนาจะเขียนลงไว้ให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อต่อไปภายหน้าถ้ามีใครเป็นนักเรียนเห็นจดหมายเวร จะได้คิดทำให้สำเร็จ

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

พิธีศราทธพรตแรกมีขึ้นเมื่อใด และในงานใดเป็นทีแรก เห็นจะมีในหนังสือราชกิจจานุเบกษา แต่จะค้นลำบากนัก หม่อมฉันนึกว่าถ้าท่านตรัสถามสมเด็จพระวชิรญาณ หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์คงจะทราบ และบางทีจะรู้เหตุที่ทรงพระราชปรารถด้วย

หัวพระยานาคหล่อด้วยทองสัมฤทธ์ ที่ต่อพลสิงห์บันไดปราสาทพระเทพบิดร ๔ คู่นั้น เดิมอยู่ที่บันไดชั้นทักษิณพระมณฑปแน่ แต่บันไดชั้นทักษิณมี ๖ บันได ข้อนี้จำนวนสิงห์เขมรทองสัมฤทธิ์ที่ตั้งเชิงบันได ๑๒ ตัวมีเป็นพยานอยู่ หัวนาคก็จะตัองมี ๑๒ ชิ้นเท่ากัน คงอยู่แต่ ๘ หายไปไหนเสีย ๔ ชิ้น หัวนาคเชิงบันไดเช่นนั้นมีที่พระพุทธบาทอีกแห่ง ๑ อยู่ที่เชิงบันได ทางขึ้นไหล่เขาที่สร้างพระมณฑป ทั้งบันไดด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ทางบันไดด้านตะวันออกเป็นหัวนาคใส่มงกุฎ (เหมือนอย่างวัดพระแก้ว) เดิมมี ๒ ชิ้น บันไดเดิมเป็น ๒ สายเคียงกัน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้สร้างบันไดเพิ่มขึ้นอีกสาย ๑ เป็น ๓ สายเคียงกัน และหล่อหัวนาคเพิ่มขึ้นอีกคู่ ๑ จึงมีเป็น ๔ ชิ้น บันไดด้านตะวันตกก็มีหัวนาคคู่ ๑ หัวนาคที่พระพุทธบาทอาจจะเป็นของสร้างครั้งกรุงศรีอยุธยา ถ่ายแบบอย่างมาทำที่วัดพระแก้วก็เป็นได้ หรือมิฉะนั้นทูลกระหม่อมจะโปรดให้เอาหัวนาคบันไดพระมณฑปที่เหลืออยู่ ๔ ชิ้น ไป “ปล่อยพระพุทธบาท” ก็อาจจะเป็นได้ดอกกระมัง ข้อนี้อาจจะพิสูจน์ได้ในหนังสือ “บุรโณวาท” คำฉันท์ ถ้ามีกล่าวถึงหัวนาคเชิงบันไดในนั้นก็เป็นของสร้างครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่หม่อมฉันไม่มีหนังสือจะสอบที่นี่

ที่เสด็จไปพบอักษรจารึกบานมุกพระเจ้าบรมโกษฐ์ทรงสร้างสำหรับวัดบรมพุทธารามที่อยู่ ณ หอมนเทียรธรรม ในวัดพระแก้ว แล้วคัดสำเนาประทานมาในลายพระหัตถ์นั้น หม่อมฉันเอามาสอบกับคำจารึกบานมุกการเปรียญวัดป่าโมก ซึ่งใช้เป็นประตูพระวิหารยอดอยู่บัดนี้ ที่ท่านคัดสำเนาประทานมาแต่ก่อน สำนวนแต่งคำจารึกเหมือนกันแทบจะตรงคำต่อคำ ต่างกันแต่ศุภมาศเวลาที่ทำการจำนวนช่าง กับจำนวนเงินบำเหน็จ บานวัดบรมพุทธารามสร้างเมื่อปีมะแมตรีศก พ.ศ. ๒๒๙๕ (ควรเป็น พ.ศ. ๒๒๙๔) ก่อนสร้างบานเปรียญวัดป่าโมก ๒ ปี ช่างทำ ๒๐๐ คน มากกว่าทำบานป่าโมก ๑๕ คน เวลาทำการสร้าง ๖ เดือน ๒๔ วัน มากกว่าบานวัดป่าโมก ๔ เดือนกับ ๗ วัน พระราชทานบำเหน็จ ๓๐ ชั่ง มากกว่าบานวัดป่าโมก ๕ ชั่ง น่าสอบดูจารึกบานวิหารพระพุทธชินราชเทียบกันต่อไปอีก สอบเพียง ๒ แห่งก็พอลงความเห็นได้ว่า มีกรมช่างมุกและมีการประดับมุกของต่างๆ ทำอยู่เสมอ เมื่อในรัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์

ศักราชปีที่นักบุญโดมินิคคิดแบบประคำคริสตังนั้น ได้ในจดหมายของหม่อมฉันที่ทูลไปเห็นจะเขียนเลขผิด ที่ถูกทำเมื่อ ค.ศ. ๑๒๐๖ ตรงกับ พ.ศ. ๑๗๔๙ นับเวลาได้ ๗๓๔ ปีเข้าบัดนี้

ทราบว่าพระยาวิเศษสัจธาดา (ครูอิ่ม) ตาย หม่อมฉันก็รู้สึกอาลัยด้วยเคยคุ้นเคยกันมาอย่างไร ท่านก็ทรงทราบอยู่แล้ว แต่เมื่อคิดดูว่าแกแก่กว่าหม่อมฉันหลายปี อายุเมื่อตายคงกว่า ๘๐ ปีแล้ว และคิดต่อไปว่าแกเป็นผู้นำพระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ (สาย) น้องชายมาให้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กแรกโกนจุก เดี๋ยวนี้พระยาฤทธิไกรก็แก่จนออกบวชแล้ว ก็ออกปลงตก หีบก้านแย่งของหลวงที่ใส่ศพพระยาวิเศษสัจธาดานั้น หม่อมฉันนึกได้คลับคล้ายคลับคลาว่าได้เคยเห็นแต่ไม่ได้เอาใจใส่เหมือนเช่นหีบกุดั่นลายมังกรกับหีบเชิงชายของโบราณ และไม่ได้เห็นบ่อยๆ จึงไม่ติดตา

ในลายพระหัตถ์ตรัสถึงพระพิธีธรรมวัดมหาธาตุกับวัดระฆัง ทำให้หม่อมฉันนึกถึงเรื่องที่หม่อมฉันเคยได้ยิน และได้ลองสอบหนังสือมาแต่ก่อน จะเลยทูลบรรเลงด้วยทีเดียว เขาว่าเดิมพิธีตรุษสวดแต่ภาณยักษ์ พระพิธีธรรมวัดระฆังตั้งนะโมและสวดรบแรก พระพิธีธรรมวัดมหาธาตุสวดจบที่ ๒ เป็นเช่นนั้น ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมทรงปรารภว่า ในภาณยักษ์ไม่มีพุทธวัจนะ ๆ อยู่ในภาณพระ จะโปรดให้สวดภาณยักษ์กับภาณพระสลับกัน พระพิธีธรรมวัดระฆังเป็นหัวหน้าในการสวด รับคิดแก้ทำนองสำหรับสวดภาณพระ ตามพระราชประสงค์ จึงเปลี่ยนลงมาสวดภาณพระเป็นจบที่ ๒ ให้พระพิธีธรรมวัดมหาธาตุเลื่อนขึ้นไปสวดตั้งนะโมและภาณยักษ์จบแรก เลยเป็นธรรมเนียมต่อมา หม่อมฉันไปเห็นในหนังสือพระราชนิพนธ์พิธี ๑๒ เดือนของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีรายชื่อวัดที่มีพระพิธีธรรมมาแต่เดิม ๙ วัด คือ วัดระฆัง วัดมหาธาตุ วัดราชสิทธ วัดพระเชตุพน วัดราชบุรณ วัดสระเกษ วัดโมลีโลก วัดหงส์ วัดอรุณ ล้วนเป็นวัดมีในรัชกาลที่ ๑ ทั้งนั้น ก็เข้าใจได้ว่าพระพิธีธรรมวัดระฆังเป็นหัวหน้า ด้วยเป็นวัดที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดมหาธาตุอยู่ถัดลงมาก็ด้วยเป็นที่สถิตของสมเด็จพระวันรัตน (สุข) มีพระพิธีธรรมวัดสุทัศน์เพิ่มขึ้นใหม่เมื่อรัชกาลที่ ๓ และเลิกพระพิธีธรรมวัดโมลีโลกเปลี่ยนมาเป็นวัดบวรนิเวศน์เมื่อรัชกาลที่ ๔ จึงมีพระพิธีธรรม ๑๐ สำรับเช่นเป็นอยู่ทุกวันนี้ และพึงเห็นได้ต่อไปว่าพระพิธีธรรมมีขึ้นสำหรับสวดอาฏานาฏิยสูตรในพิธีตรุษต่อกัน ๙ สำรับพอรุ่งสว่างคงจะหวุดหวิดบ้าง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เพิ่มพระพิธีธรรมวัดสุทัศน์ขึ้นอีกวัด ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ จะเป็นแต่เพิ่มพระพิธีธรรมวัดบวรนิเวศน์ขึ้นก็จะมากเกินการ จึงโปรดให้เปลี่ยนพระพิธีธรรมวัดโมลีโลกมาเป็นวัดบวรนิเวศน์ และมิได้มีการเพิ่มเติมต่อมา หม่อมฉันเคยได้ยินพระพิธีธรรมวัดมหาธาตุเล่าว่า ต้องค้างอยู่ที่พระมหาปราสาทเสมอ เพราะบางปีเริ่มสวดภาณยักษ์แต่หัวค่ำ พระพิธีธรรมวัดมหาธาตุต้องขึ้นรับสวดซ้ำเมื่อตอนใกล้รุ่งก็มี

ทูลข่าวเมืองปีนัง

หม่อมฉันลงมือร่างจดหมายนี้แต่ ณ วันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน เพราะจะแปรสถานขึ้นไปพักที่บ้านพระยารัตนเศรษฐีที่บนเขา เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ จะให้มีเวลาพิมพ์ทันส่งไปรษณีย์ในวันอังคารตามเคย คราวนี้จะขนกันขึ้นไปทั้งครัว มีผู้มาอยู่เป็นแขกแถมไปด้วยอีก ๔ คน คือ หญิงโหล หญิงโสฬส หลานหญิงหนู (ลูกชายแถมเทวกุลกับหญิงบันดาลสวัสดี) และหลานหญิงพิศวาสลูกชายแอ๊ว คิดว่าจะไปอยู่สัก ๒ สัปดาหะ กลับลงมาราววันที่ ๕ พฤษภาคม เพราะโรงเรียนของหลานจะเปิดวันที่ ๖

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ