วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๓๐ เมษายน มาถึงปีนังคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๒ พฤษภาคม หม่อมฉันได้รับที่บนเขาปีนัง ณ วันเสาร์ที่ ๔ โดยเรียบร้อยดี

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

หม่อมฉันกับญาติที่อยู่ด้วยกันที่นี่ขอถวายอนุโมทนารับส่วนพระกุศล ซึ่งทรงบำเพ็ญเมื่อตรงวันประสูติด้วยความยินดี

อ่านลายพระหัตถ์ หม่อมฉันเลยนึกไปถึงเกณฑ์ที่ไทยเรานับอายุมีต่างกันเป็น ๔ อย่าง อย่างที่ ๑ นับ “ปี” คือชื่อปี ถ้าเกิดปีชวด แม้จะเกิดกลางปีหรือปลายปีขึ้นปีฉลูก็นับว่าอายุได้ ๒ ปี เกณฑ์คนชั้นต่ำเข้าใจและใช้กันเป็นพื้น ถ้าถามถึงอายุก็มักบอกได้แต่ว่าเกิดปีชื่อไรเช่นว่าปีชวดหรือปีฉลูเป็นต้น บางคนก็บอกได้เพียงเท่านั้น ถ้าบอกได้ต่อไปก็ถึงวันและเดือนน้อยคนที่จะบอกได้ถึง “ศก” ที่จะบอกได้ถึงศักราชเกือบไม่มี

อย่างที่ ๒ นับ “ขวบ” รวมทั้งวันเดือนปี เช่นเกิดเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ปีชวดถึงเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ปีฉลูจึงได้ขวบ ๑ อย่างนี้ เดิมก็เห็นจะใช้ทั่วไปทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ แต่ต่อมาภายหลังมักใช้แต่บอกอายุเด็ก เช่นว่า ๔ ขวบ ๕ ขวบ การที่ทำบุญวันเกิดเช่นที่ท่านทรงบำเพ็ญทิี่จริงตามเกณฑ์ขวบ แต่จะว่าพระชันษาได้ ๗๗ ขวบขัดหูด้วยไปพ้องกับคำสำหรับเรียกอายุเด็กจึงมักใช้คำอื่น

อย่างที่ ๓ นับ “รอบ” รวมทั้งวันเดือนและปีชื่อเดียวกัน ถ้าเกิดเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ปีชวด (อีก ๑๒ ปี) ถึงเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ปีชวด จึงนับว่ารอบ ๑ ที่ทำบุญฉลองครบรอบทำตามเกณฑ์ที่ ๓ นี้

อย่างที่ ๔ นับซ้ำศก ถ้าเกิดเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ปีชวดอัฐศก (ต่อไปอีก ๖๐ ปี) ถึงเดือน ๕ ปีชวดเป็นอัฐศกอีกจึงนับเป็นรอบใหญ่ มีครั้งเดียวในชั่วอายุคนจึงฉลองกันเป็นการใหญ่

วิธีใช้ปีกับศก เช่นว่าปีชวดอัฐศก และปีฉลูนพศกนี้ เดิมเห็นจะใช้สำหรับลงศุภมาศในพื้นเมือง เพราะชื่อปีกับศกไม่ซ้ำกันเพียง ๖๐ ปีพอแก่กิจธุระของพวกพลเมืองแล้วแต่ในตำราหรือจดหมายเหตุ ที่ต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ถอยหลังขึ้นไปตั้งร้อยปีพันปี วิธีนับปีกับศกเพียงรอบละ ๖๐ ปีไม่พอแก่การจึงเพิ่มเกณฑ์ “ศักราช” เป็นเครื่องหมายปีขึ้นอีกอย่าง ๑ ประเทศจีนและญี่ปุ่นเอาปีรัชกาลของพระเจ้าแผ่นดินเป็นเกณฑ์ เปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องเปลี่ยนศักราชเสมอไป จึงต้องมีนามรัชกาลไว้ข้างหน้าจำนวนปี ศักราชฝ่ายชาวอินเดียพระราชาธิบดีพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเอาปีที่มีเหตุสำคัญในราชประวัติ หรือในพงศาวดารของบ้านเมืองตั้งต้นศักราชแล้วนับติดต่อไปไม่มีที่สุด ประเทศทางยุโรปก็เช่นนั้น แต่เมื่อพวกอื่นได้เป็นใหญ่หรือมีประเทศตั้งขึ้นใหม่ ก็ตั้งศักราชตามนิยมของตนขึ้นใหม่ จึงมีศักราชหลายอย่าง เช่นมหาศักราช และจุลศักราชเป็นต้น นานเข้าเกิดลำบากเพราะมีการตั้งศักราชใหม่ และแก้ไขศักราชคนทั้งหลายตามไม่ทัน เพื่อจะแก้ความลำบากจึงคิดอาศัยศาสนาเอาปีสำคัญ ในเรื่องประวัติของศาสดาตั้งเป็นศักราช เช่นพุทธศักราชเอาปีปรินิพพานของพระพุทธเจ้าตั้งต้น คริสตศักราชเอาปีอุบัติของพระเยซูตั้งต้น ศักราชหชิราของพวกอิสลามเอาปีที่พระมะหะหมัดทิ้งเมืองเมกกะตั้งต้นศักราช ล้วนจะให้ยั่งยืนอยู่ไม่มีที่จะต้องแก้ไข

ชนชาติไทยในสมัยเมื่อมีอาณาเขตเป็นประเทศใหญ่ อยู่ต่อกับแดนจีน ก็เห็นจะใช้วิธีนับปีรัชกาลเป็นศักราชเช่นเดียวกับจีนและญี่ปุ่น แต่เมื่ออพยพออกจากบ้านเมืองเดิมแยกย้ายกันมาตั้งบ้านเมืองเป็นประเทศน้อยๆ อยู่เป็นอิสระบ้าง ต้องอยู่ในอาณาเขตประเทศของชนชาติอื่นบ้าง ไม่มีโอกาสที่จะใช้ศักราชรัชกาล ทั้งมาได้ศึกษาสมาคมกับพวกชาวอินเดีย ที่มาเป็นครูบาอาจารย์อยู่ในประเทศเหล่านี้ จึงรับใช้ศักราชอย่างทางอินเดีย สังเกตในหนังสือเก่า เช่นในบานแพนกกฎหมายเป็นต้น เขียนศุภมาศถือวันเดือนกับชื่อปีเป็นสำคัญ บางแห่งไม่ลงจำนวนศกหลังชื่อปีก็มี แต่มักมีจำนวนศกเป็นพื้น แต่ศักราชดูไม่ถือว่าเป็นสำคัญเช่นในกฎหมายก็ใช้หลายอย่าง สุดแต่สมัยใดชอบศักราชอย่างไหนก็ใช้ศักราชอย่างนั้นแล้วก็เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นอีก แต่หนังสืออื่นนอกจากกฎหมายมักใช้เพียงปีมีจำนวนศก เช่นว่าปีชวดอัฐศก ปีฉลูนพศกเท่านั้น ไม่มีศักราชเป็นพื้น

คำสุภาษิตที่ประทานตัวอย่างมาในลายพระหัตถ์นั้น บทที่เจ้าพระยาธรรมาฯ เขียนว่า

“เสือยังเพราะป่าปรก ป่ารกเพราะเสือยัง
ดินดีเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดี”

พิเคราะห์ทางภาษาน่าจะเป็นคำเดิม เพราะเป็นภาษาไทยล้วนและความก็เข้ากันตลอดเปรียบกับคำสุภาษิตที่ว่า

“เสือสิ้นจวัก สุนักข์จนตรอก”

เห็นได้ว่าสุภาษิตบทหลัง ทั้งถ้อยคำและความไม่สนิทเหมือนบทหน้า เพราะคำว่า “จวัก” ไม่เข้ากับเสือ และคำว่า “สุนักข์” เป็นภาษามคธ สุภาษิตบทนี้หม่อมฉันก็เคยได้ยินมาช้านาน แต่เขาพูดแยกกันต่างหากเป็น ๒ บทว่า “เสือสิ้นจวัก” บทหนึ่ง ว่า “หมาจนตรอก” บท ๑ เห็นได้ว่าเอาคำสุนักข์เปลี่ยนคำหมา เพื่อรับสัมผัสจวัก โดยประสงค์จะเชื่อมให้เป็นบทเดียวกัน สุภาษิตบทนี้ถ้าว่า

“เสือสิ้นป่า หมาจนตรอก”

จะดีกว่า และจะได้ความอย่างเดียวกัน ว่าเสือไม่มีป่าที่จะป้องกันตัวก็ต้องสู้เหมือนอย่างหมาจนตรอก คำ จวัก หม่อมฉันนึกได้ว่ามีในโคลงสุภาษิตบท ๑ ดูเหมือนจะเป็นในโลกนิติว่า

“เหมือนจวักตักเข้า ไม่รู้รสแกง”

ความสนิทดีกว่าเสือสิ้นจวัก ซึ่งคิดไม่เห็นว่า เหตุใดเสือจึงเกี่ยวข้องกับจวัก เว้นแต่จวักจะหมายความเป็นสิ่งอื่นได้อีก สุภาษิต ๒ บทที่ประทานมานี้ยกเป็นอุทาหรณ์ได้ ว่าการที่จะชำระคำสุภาษิตโบราณที่ถูกถ้อยคำอย่างเดิมยากเพียงไร

รูปภาพที่เชิงบานพระอุโบสถวัดพระเชตุพนนั้น หม่อมฉันก็ได้ดูแล้วดูเหมือนจะเก็บเอาคำที่เด็กชอบร้องเล่น เช่นอังกฤษเรียกว่า Nursery Rhymes มาเขียน พิจารณาดูรู้ได้แต่บางเรื่องเช่น “กะต่ายติดแร้ว ยายแก้วตีกลอง” เพราะยังได้ยินอยู่ ที่คำร้องสูญเสียแล้วมีมากจึงรู้ไม่ได้ มีที่เชิงบานวิหารพระนอนอีกแห่ง ๑ ก็เขียนภาพประเภทนี้

หัวนาคพลสิงห์บันได ในวัดพระแก้วกับที่พระพุทธบาทนั้น ตามอธิบายที่ประทานมาเป็นอันได้ความแจ่มแจ้งสิ้นสงสัย ปิดปัญหาได้

เรื่องบานมุกที่หม่อมฉันทูลขอให้ทรงตรวจ คำจารึกบานวิหารพระพุทธชินราชด้วยนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ศักราช ด้วยสังเกตลายบานมุกซึ่งพระเจ้าบรมโกศทรงสร้างมี ๒ อย่างเป็นลายเต็มบานเช่นอยู่ที่หอมณเทียรธรรมอย่าง ๑ เป็นลายช่องเช่นที่วิหารยอดอย่าง ๑ ดูศักราชในคำจารึกได้ความว่าสร้างอย่างลายเต็มบานก่อน สร้างอย่างลายช่องเมื่อภายหลัง ถ้าสอบศักราชในบานวิหารพระพุทธชินราช ได้ความว่าสร้างภายหลังบานวัดบรมพุทธารามอันอยู่ ณ หอมณเทียรธรรม ก็จะได้ความแน่ว่าเดิมทำบานมุกด์เป็นลายอื่น เมื่อพระเจ้าบรมโกศเสด็จขึ้นไปเมืองเหนือไปทอดพระเนตรเห็นบานวิหารพระพุทธชินราชของเดิมอันจำหลักอย่างประณีตด้วยไม้ จึงโปรดให้ถ่ายลายนั้นมาผูกทำลายบานมุกเป็นลายช่อง บานมุกที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งรัชกาลที่ ๑ ก็ดูเหมือนทำทั้ง ๒ ลาย ตามแบบครั้งพระเจ้าบรมโกศ บานมณฑปพระพุทธบาททำอย่างลายเต็มบาน บานที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทำเห็นลายช่องทั้งนั้น

เรื่องสวดอาฏานาฯ ที่ทรงทราบว่าพระพิธีธรรมสวดหมดก่อนรุ่งนั้น คงเป็นเพราะสำรับหลังๆ สวดหวัดดังทรงพระดำริ จะเป็นมาแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๓ เดิมพระพิธีธรรมมี ๙ สำรับ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเพิ่มขึ้นในวัดสุทัศน์อีกสำรับ ๑ รวมเป็น ๑๐ สำรับ ถึงกระนั้นก็แก้ไม่หาย แต่ก็ไม่ปลาดอันใด เพราะสวดหน้าพระที่นั่งมีคนฟังมากเพียงจบที่ ๔ ต่อนั้นไปก็เป็นอย่างว่า “สวดให้เทวดาฟัง” ทั้งนั้น ตัวหม่อมฉันเอง ก็เคยฟังพระพิธีธรรมวัดราชสิทธิสวดจบที่ ๔ แต่ครั้งเดียว เพราะปีนั้นเผอิญฝนตกหนักกลับไม่ได้ต้องนั่งรออยู่ที่พระมหาปราสาทจนฝนซา ถึงกระนั้นก็ต้องเดินลุยน้ำกรำฝนไปด้วยกันกับเจ้าพระยาเทเวศร์ตั้งแต่ในวังจนถึงบ้านเพราะรถมันหนีฝนไปเสียก่อน ชื่อที่เรียกว่าพระพิธีธรรมนั้นมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ก่อนนั้นจะเรียกกันว่ากะไรได้แต่คิดคาด เห็นจะเรียกกันว่า “พระคู่สวด” อนุโลมต่อจาก “พระครูคู่สวด” เห็นจะไม่เรียกว่า “พระนักสวด” เพราะไปต้องกับพระพวกสวดอภิธรรมตามหน้าศพ แต่พัดที่พระพิธีธรรมใช้นั้นถ้ามิใช่งานหลวงหม่อมฉันเคยเห็นถือพัดใบตาลอย่างพระอันดับ หาใช้พัดรองไม่

เรื่องพัดรองของพระ ทูลกระหม่อมได้ทรงพระราชนิพนธ์พระบรมราชาธิบายไว้ยืดยาว ดูเหมือนเราได้เคยโจทย์กันในจดหมายเวรคราว ๑ แล้ว ว่าแต่ที่เป็นข้อใหญ่ใจความ เดิมพระภิกษุย่อมถือ “ตาลิปัตร” คือพัดใบตาลทั้งนั้นไม่เลือกว่าสมณศักดิ์ชั้นไหน อยู่มามีพระราชามหากษัตริย์พระองค์ ๑ ทรงพระราชศรัทธาให้แก้ไขตาลิปัตรทำเป็นอย่างประณีตงดงาม พระราชทานแก่พระภิกษุซึ่งทรงนับถือเป็นมูลที่จะเกิดพัดยศ จึงมีด้ามคีบคงตามเค้าพัดใบตาลดั่งท่านทรงพระดำริ ในพระบรมราชาธิบายของทูลกระหม่อมว่า แม้เมื่อมีพัดยศแล้วนอกจากงานหลวงพระราชาคณะยังใช้ตาลิปัตรใบตาล มูลเหตุที่จะมีพัดรองเกิดด้วยเจ้าภาพถวายวิชนี (รำเพยลม) ของท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ที่ถึงมรณภาพ (ปล่อยพระพุทธบาท) แก่พระภิกษุซึ่งเป็นที่นับถือ พระเอาวิชนีขึ้นถือแทนตาลิปัตรเพื่อฉลองศรัทธาก่อน พระองค์ใดมีวิชนีถือเป็นเครื่องหมายว่าองค์นั้นเป็นที่นับถือของผู้มีบรรดาศักดิ์ จึงเกิดนิยมถือวิชนีกันขึ้น ในพระราชนิพนธ์ทูลกระหม่อมทรงติเตียนรูปวิชนีว่าน่าเกลียดไม่ควรพระจะใช้ เห็นจะเป็นด้วยเหตุนั้นเองจึงเกิดแก้ไขให้รูปแบนเป็นมูลที่จะเกิดพัดรองอย่างเช่นใช้กันสืบมา ทูลตามใจหม่อมฉัน ตั้งแต่มีพัดรองดกดื่น แลดูลวดลายที่งามต้องตามีน้อย มีแต่ที่รำคาญตาเสียโดยมากจนออกเบื่อพัดรอง เห็นว่าถ้าพระกลับใช้พัดใบตาลเสียด้วยกันทั้งหมดอย่างเดิมจะดีกว่า แต่เมื่อพูดกับพระยังไม่ได้ยินว่าใครเห็นชอบด้วย

ที่ท่านจะเสด็จแปรสถานไปหัวหินนั้นหม่อมฉันยินดีนัก ได้บ่นอยู่กับลูกบ่อยๆ ว่าเมื่อไรเสด็จอาว์จะแปรสถานเสียสักที ด้วยได้ยินว่าปีนี้ในกรุงเทพฯ ร้อนจัดมาก

ข่าวทางเมืองปีนัง

เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พระพรหมมุนีมาถึงเมืองปีนัง พักอยู่่กับพระมหาภุชงค์ที่วัดศรีสว่างอารมณ์ ๓ วัน กลับไปเมื่อวันที่ ๔ ตั้งแต่หม่อมฉันมาอยู่เมืองปีนังได้พบพระราชาคณะผู้ใหญ่ ๔ องค์ คือสมเด็จพระวชิรญาณองค์ ๑ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์ ๑ พระธรรมวโรดม องค์ ๑ และพระพรหมมุนีอีกองค์ ๑ พบองค์ใดหม่อมฉันก็ยินดีทุกคราวเพราะได้ไต่ถามถึงวัดวาอารามและพระเจ้าพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ ที่เคยคุ้นมาแต่ก่อน หม่อมฉันถามพระพรหมมุนีถึงพระสงฆ์วัดเบ็ญจมบพิตร ว่าเดี๋ยวนี้ยังมีพระที่เคยรับพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอยู่สักกี่องค์ ท่านบอกว่าที่วัดเบ็ญจมบพิตร ยังเหลือแต่ตัวท่านกับพระสรภาณกวี (คอน) ๒ องค์เท่านั้น ยังเหลือที่ไปอยู่วัดอื่นอีก ๓ องค์คือ พระเทพสุธี (โชติ) อยู่วัดพระปฐมเจดีย์ องค์ ๑ พระครูปลัด (หว่าง) ของสมเด็จพระวันรัตน (จ่าย) เป็นราชาคณะอยู่วัดเทวราชกุญชรองค์ ๑ และพระมหาแผ้ว เป็นราชาคณะอยู่เมืองอ่างทอง องค์ ๑ รวมเหลืออยู่แต่ ๕ องค์ด้วยกันเท่านั้น ได้ฟังออกสลดใจ แต่เมื่อคิดคำนวณดูได้ความว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตมาจนถึงปีนี้ได้ ๓๐ ปีแล้ว แม้พระที่บวชเมื่อปีเสด็จสวรรคตอยู่มาอายุก็กว่า ๕๐ ปี ก็กลับเป็นอุเบกขา

หม่อมฉันกลับลงมาจากเขาปีนังเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคม รู้สึกว่าการที่ได้แปรสถานมีคุณแก่อนามัยคุ้มค่าสิ้นเปลือง

พวกอาคันทุกะ คือ หญิงโหล หญิงโสฬศ หลานหญิงหนู และหลานหญิงพิศวาส กลับไปกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ที่ ๖ พฤษภาคมทั้ง ๔ คน หญิงมารยาตรกับชายใหม่ว่าจะออกมาในเดือน มิถุนายน ทันทำบุญวันเกิดของหม่อมฉัน หม่อมฉันได้เห็นลูกหลานมาเมื่อใดก็ชื่นใจได้ความสบาย การที่มาเหมือนกับผลัดกันมาทำบุญ เมื่อจะกลับจึงอนุโมทนาอำานวยพรให้ทุกคน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ