วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓ กันยายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เรื่องดึกดำบรรพ์

๑. เรื่องสีมา ตามที่กราบทูลมาก่อนเพียงเค้าความ แต่อดไม่ได้ด้วยเห็นอะไรขันๆ จึงจะกราบทูลรายละเอียดเป็นลางข้อต่อไป

สีมานั้น ท่านให้สงฆ์สมมติเอา ภูเขา หิน ป่าไม้ ต้นไม้ แม่น้ำ บ่อ สระ หนทาง เป็นต้น เป็นนิมิตแห่งสีมา ดูก็กลมเกลียวกันกับที่ว่าให้สมมติสีมากว้างใหญ่นับด้วยโยชน์ แต่เมื่อพิจารณาคำที่พระอาจารย์ต่างๆ วินิจฉัย กับทั้งที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็เห็นเป็นขบขัน

ข้อที่กำหนดว่าให้ถือเอาหินเป็นนิมิตสีมานั้น เข้าใจว่าหินโดยธรรมดาซึ่งติดอยู่กับที่ เช่นหินดาดเป็นต้น แต่คำพระอาจารย์อธิบายว่าเอาก้อนหินเพียง “๑๒ ปล” มาวางหมายก็ได้ สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณตรัสไว้ในหนังสือนั้นว่าท่านเห็นเล็กหนัก จึ่งอยากรู้ว่า “ปล” หนึ่งเท่าไร เปิดดูพจนานุกรมบาลีก็บอกไว้แต่เพียงว่าจำนวนน้ำหนักอย่างหนึ่ง ได้เรียนถามพระศาสนโสภณ (แจ่ม) ท่านบอกว่าท่านไม่ทราบก็เปนอันจนอยู่ที่จะรู้ตัวเลขเพียงเท่านั้น คิดดูถึงที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก้อนหินนั้นแต่งให้กลมเสียด้วย เรียกว่า “ลูกนิมิต” แต่ที่แต่งให้กลมนั้นได้แต่งามไม่ได้ความยืนยง เพราะคนอาจกลิ้งให้พ้นที่ไปเสียได้โดยง่าย คงมีท่านอาจารย์คนหนึ่งเห็นความบกพร่องในข้อนั้น จึงบัญญัติให้เอาฝังดินเสีย แต่ความหมายในบัญญัติของท่านคงไม่ได้หมายให้ฝังดินเสียจนมิด หมายแต่เพียงไม่ให้คนกลิ้งเคลื่อนที่ไปเสียได้เท่านั้น แต่ทีหลังเลยฝังดินเสียมิดจนไม่แลเห็นเป็นเครื่องหมาย ต้องปักใบเสมาไว้เบื้องบนอีกชั้นหนึ่ง สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณตรัสบรรยายไว้ ว่าได้เคยไปทรงยกใบเสมาใหญ่ที่พิษณุโลกขึ้นขุดดูลูกนิมิตใต้นั้นก็ไม่พบ แปลว่าเขาใช้หินใบเสมาใหญ่นั้นเองเป็นนิมิตสีมา เดี๋ยวนี้ยังซ้ำมีลูกนิมิตกลางเสียด้วยคิดเหตุก็ไม่เห็นมีคนพยายามแปลเหตุ แต่ก็ฟังไม่เห็นด้วยเลย

ในเรื่องเอาต้นไม้เป็นนิปิต ก็มีพระอาจารย์พระอาจารย์กล่าวไว้ว่าต้องเป็นไม้แก่น ที่ว่านี้ก็ดีดอกที่จะไม่ให้สมมติเอาต้นกระเพราเป็นสีมา แต่ว่าต้นตาลก็เข้าในบัญญัตินี้ไม่ได้ด้วยเป็นไม้ไม่มีแก่น ซ้ำร้ายไปยิ่งกว่านั้น ยังมีคำอธิบายต่อไปว่าถ้าเป็นต้นไม้มีแก่นแล้ว ถึงต้นจะเท่าเข็มก็ใช้ได้ ออกจะกลืนไม่ลง

ในข้อที่ว่าเอาบ่อสระเป็นนิมิตนั้น มีอธิบายว่า แม้จะคุ้ยดินพอเป็นแอ่งเอาน้ำเทลงไป แม้น้ำขังอยู่ได้จนสวดผูกโบสถ์จบก็ใช้ได้ ชื่อว่าเอาบ่อสระเป็นนิมิตเหมือนกัน ข้อนี้ก็กลืนไม่ลงเหมือนกัน

ยังเรื่องถอนสีมา นั่นเดิมหมายถึงลบล้างสีมาเก่าสมมติสีมาใหม่ ทีหลังกลายเป็นว่าใครผูกสีมาไว้แต่ครั้งไหนจนไม่มีใครรู้ และไม่เห็นซากอะไรแล้วหรือไม่มีใครผูกไว้ก่อนเลยก็ต้องถอน ถ้าไม่ถอนก็ผูกสีมาใหม่ไม่ขึ้น ข้อนี้ก็กลายเป็นทำตามเคยเป็นพิธีไปเท่านั้นเอง

มีพระเจ้าแผ่นดินในเมืองลังกาองค์หนึ่งท่านทรง “อิน” ขึ้นมาตรัสยกเอาอนุราธปุระถวายเป็นสังฆสีมาทั้งเมือง นั่นเองเป็นตัวอย่างให้พระภิกษุผู้ทรงสมณศักดิ์ ถวายพระพรแด่สมเด็จพระนารายณ์ ให้ทรงอุทิศพระที่นั่งถวายเป็นสังฆสีมา ในเวลาบวชมหาดเล็กเมื่อใกล้สวรรคต

นี่กราบทูลแต่ข้อที่สะดุดใจมาก ที่สะดุดใจน้อยนี้อีกมาก หากแต่ไม่ได้นำมากราบทูล

๒. เรื่องสิบสองนักษัตร เท่าที่สืบได้ความมาก็ “คุมไม่ติด” ให้เป็นรูปขึ้นได้ รู้แน่ว่าไม่ได้มาทางอินเดีย เพราะในอินเดียไม่ได้ใช้ มีใช้กันแต่ทางใกล้บ้านของเรานี้ ทีจะเป็นคิดกันขึ้นแถวบ้านเรา ทางจีนที่พบแล้วก็แย่งกันมาถึง ๓ ชั้น เป็นว่าพวกตนคิด เพราะเหตุด้วยเป็นสิ่งที่ดี ชั้นต่ำว่าคิดขึ้นในแผ่นดินถัง ชั้นกลางว่าคิดขึ้นในแผ่นดินฮั่น ชั้นสูงว่าคิดขึ้นในแผ่นดินไคเภก แต่ฝรั่ง เขาว่าจีนจำมาแต่ตุรกีเก่า และว่าตุรกีเก่าจำมาจากบาบิโลนอีกต่อหนึ่ง ความจริงจะเป็นอย่างไรก็ทราบไม่ได้ จะฟังเอาคำพูดในหนังสือก็ฟังยาก ต่างก็พูดไม่ลงรอยกันไปทั้งนั้น

พิจารณาถึงเรื่องเรียกชื่อปีกันก็ไม่ได้เรื่อง ลางพวกก็เรียกต่างกันไปไกล ลางพวกก็เรียกเหมือนกัน เช่นไทยเรียกเหมือนกับเขมร แต่ก็ไม่ใกล้กับจีน พวกพายัพและอีสานควรจะเรียกเหมือนเราเพราะอยู่ติดต่อกัน แต่แพ่นไปเหมือนเข้ากับอาหม เห็นได้ว่าเขาสืบมาทางนั้น ส่วนเราเอาอย่างเขมร แต่เขมรก็ไม่ได้เอาอย่างญวน ซึ่งเป็นเมืองใกล้เคียงกันมา ประหลาดหนักหนาอยู่ อันชื่อปีนั้นจะเป็นภาษาอะไรก็คิดไม่ตก แปลเอาความก็ไม่ได้ ลางทีก็จะหมายถึงรูปสัตว์นั้นเอง ลางชื่อก็ปรากฏเช่นชาวพายัพเรียกลิงว่าวอก แต่อาจมีใครสัปดนเอาชื่อปีไปเรียกสัตว์หมายปีก็ได้ เช่นเจ้าพระยาภาสฯ จดบาญชีกับข้าวว่า “แกงระกา” ฉะนั้น ลางพวกก็ไม่มีชื่อปีต่างหาก เรียกตรงตามชื่อสัตว์หมายปีไปทีเดียว ลางพวกก็เรียกทั้งสองอย่าง ตามชื่อปีก็เรียกตามชื่อสัตว์ก็เรียก เช่นพวกจีนเป็นต้น ปัญหาซึ่งเคยกราบทูลมาถึงเรื่องปีมะโรงมีผู้ว่ามาแต่ “หลง” แห่งภาษาจีนหลวง สืบภาษาจีนหลวง (ไม่ใช่ทางพระเจน) ได้ความว่าชื่อปีมะโรงเขาเรียกว่า “อิน” ไกลกันไปไหนๆ แม้เรียกตามชื่อสัตว์จึงเป็น “หลง” หรือ “ล่ง” ซึ่งแปลว่ามังกร (แต้จิ๋วเป็น “เล่ง” หรือ “เล้ง)

รูปสัตว์ประจำปีมีผิดกันอยู่ ๓ อย่าง ปีฉลู ลางพวกก็ว่าเป็นวัว ลางพวกก็ว่าเป็นควาย พวกที่ว่าเป็นควายเห็นจะเป็นด้วยในประเทศแห่งตนไม่มีวัว เช่นจีนก็ไม่เห็นทำรูปวัวไว้ที่ไหน มีลายครามก็แต่ “จูงควายข้ามสะพาน” ข้างจีนเขาเรียกควายในคำหนึ่ง แปลได้ความว่าวัวน้ำ ปีมะโรง ลางพวกก็เป็นมังกร ลางพวกก็เป็นนาคเห็นจะแล้วแต่ใครถนัดอย่างไหนตามแต่พวกตนจะเข้าใจได้ เพราะเหตุที่เหยียดเอามังกรเป็นนาคเป็นงูไปด้วยกัน ผิดกันแต่มีตีนกับไม่มีตีนเท่านั้น ที่แปลกมากก็คือปีกุน พวกพายัพลางทีก็ทำเป็นช้าง คิดตามก็ติดจะเห็นเหตุห่างเต็มที คราวหนึ่งเกล้ากระหม่อมต้องเขียนหมูวิ่งหาหมูดูเสียแย่ ที่สุดก็เห็นปรากฏว่าเส้นเหมือนช้างซึ่งรู้อยู่แล้ว ผิดกันแต่ปลายอวัยวะลางอย่างเท่านั้น คำโบราณมีอยู่ว่า “เห็นช้างเท่าหมู” หมายความว่าไกลจนเห็นช้างราวกับหมู เป็นการแสดงว่าช้างกับหมูเป็นสัตว์พวกเดียวกัน จึงทึกเอาหมูเป็นช้าง แต่นี่เปนเดาอย่างมีหลักฐานน้อยนัก

เดือนก็ชอบกล ทางอินเดียเรียกชื่อตามดาวฤกษ์ ทางไทยเรียกชื่อเป็นทางนำเบอเหมือนกับจีน เห็นได้ว่าเอาอย่างจีน ทางฝรั่งเป็นไปอย่างอื่น ๔ เดือนเป็นนำเบอ อีก ๘ เดือนเป็นอื่นไป ยังไม่ได้สอบตำราดูว่ามาแต่อะไรเป็นแต่ได้ยินเขาพูด จำก็ไม่ได้ ว่าพระเจ้าแผ่นดินในเมืองโรมทรงบัญญัติขึ้น สังเกตได้ว่าเป็นชื่อคนก็มี เช่น “ออกุสต” เป็นต้น แต่เดิมทีจะแบ่ง ๑๐ เพราะชื่อเดือนสุดท้ายเป็น ๑๐

วันทั้ง ๗ คือวันอาทิตย์วันจันทร์ นั้นชอบกล เท่าที่รู้แม้ทางใกล้บ้านเราก็มีใช้กันน้อย จีนก็ไม่มี อินเดียก็ไม่มี เราจะได้มาแต่ไหน สังเกตเห็นเป็นชื่อเทวดาร่วงๆ ทั้งนั้น ทีจะมาพร้อมกับโหร เห็นได้ว่าโหรเก่ากว่าพราหมณ์ ซึ่งนับถือพระอิศวรพระนารายณ์มาก นอกจากทางเราก็ไม่รู้ทางฝรั่งว่าเขามีเหมือนกัน แต่สอบตำรามีผิดกันไปบ้าง วันอาทิตย์วันจันทร์วันอังคารและวันเสาร์ตรงกัน ส่วนวันพุทธกลายเป็นเทวดารักษา พวกเยอรมัน วันพฤหัสบดีเป็นพระอินทร์ (วชิรปาณี) วันศุกร์เป็นเทวธิดาชายาพระโอดิน (ไมใช่ “วีนุส”) ทีเขาจะได้มาจากกรีกซึ่งนับถือเทวดาร่วงๆ อย่างโหรเรา

ลายพระหัตถ์

๓. เมื่อวันที่ ๓๑ .สิงหาคม (วันเสาร์) ได้รับลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม โดยเรียบร้อย จะกราบทูลสนองเป็นลางข้อต่อไปนี้

๔. เรื่องลืมที่ตรัสจำแนกไปนั้น ล้วนเรื่องเก่าแก่และฟั่นเฝือ แม้ถึงลืมก็อภัยได้ ที่ลืมสดๆ ร้อนๆ นั้นเลวเต็มที จะอภัยไม่ได้เลย

๕. เรื่องเที่ยวร้านนั้นผู้หญิงเขาชอบ แต่เราเบื่อ ดังได้เคยเล่าถวายมาทีหนึ่งแล้ว พระดำรัสในเรื่องกินนั้นถูกที่สุด คนที่ตายเสียในเรื่องกินมีอยู่บ่อยๆ ไม่จำต้องเป็นคนแก่

๖. เรื่องขอลูก ตรัสเล่าถึงองค์พุทธประดิษฐานนั้นดีเต็มที ไม่เคยทราบเลย

๗. ตามที่ตรัสเล่าถึงเพดานปราสาทหินนั้นก็ดีเต็มที ทำให้ได้สติขึ้นอีกหลักหนึ่ง อันปราสาทหินนั้นจะต้องมีเพดานไม่ว่าที่ไหน เพราะด้านในแห่งหลังคาทำไว้อย่างหยาบๆ ทั้งนั้น บัวรับเพดานก็มีปรากฏอยู่ให้เห็นได้ เพดานนั้นจะต้องทำด้วยไม้ ถ้าทำด้วยหินจะต้องเป็นหินแท่งใหญ่ ซึ่งไม่เคยเห็นเลยว่าเขมรทำหินแท่งใหญ่ได้เท่าเพดาน เพดานนั้นจะทำด้วยไม้ จะจำลักกรุไว้ให้คงเป็นไม้อยู่โดยธรรมชาติกระนั้นหรือ เห็นเป็นขัดข้องว่าจะต้องเปิดทองทาสี ตามที่ได้ทอดพระเนตรเห็นเมื่อเพดานเป็นสี แล้วผนังจะเป็นฉลักหินอยู่โดยธรรมดาก็เห็นจะดูขัดกันมาก น่าจะต้องลงสีไปด้วยกัน เมื่อผนังเป็นสีแล้วก็ลุกลามไปถึงเสาด้วย และถ้าเสาเป็นสีแล้วก็คุกคามไปถึงภายนอกด้วย ฐานจะเป็นหินเปล่ารองรับเสาซึ่งเป็นสีจะใช้ได้หรือ อันนี้ก็ไปเข้ารูปตามที่กราบทูลว่าเคยเห็นพระระเบียงซึ่งทำด้วยศิลาทรายเขียวกับศิลาทรายแดงไปต่อกันกลางคัน นึกถึงแบบอย่างในชั้นหลังมีปรากฏในพงศาวดารตอนปลาย ว่าช่อฟ้าใบระกาแต่ก่อนหุ้มดีบุกไม่ปิดทอง ครั้งนี้โปรดให้ปิดทองด้วย นั่นแสดงว่าสิ่งที่ตากแดดตากฝนเขาไม่ปิดทองทาสี เป็นแต่หุ้มดีบุกไว้เพื่อกันไม้ผุ แม้พระปรางค์ที่วัดระฆังเปนปูนผุไม่ได้ก็หุ้มดีบุก นึกถึงซุ้มจระนำซึ่งเป็นปูนเหมือนกัน ที่ปิดทองทาสีก็มีที่ทาแดงเปล่าๆ ก็มี ที่ทาปูนขาวให้คงเป็นปูนอยู่โดยธรรมชาติก็มี จะถือเอานิยมนิยายเป็นตัวอย่างแบบแผนอะไรก็ไม่ได้ แต่ที่หุ้มดีบุกนั้นไม่เคยเห็น การจำหลักหินเข้าใจว่าเอาอย่างปั้นนั่นเอง เพื่อให้อยู่ยงคงทนกว่าปั้นเท่านั้น ถ้าปั้นลงสีได้ ทำไมฉลักหินจะลงสีไม่ได้ เป็นแต่มีความเห็นอยู่อย่างนี้ ที่จะเอาเป็นแน่นอนลงไปว่าอย่างไรนั้นยากเต็มที

๘. รูปสหัสเดชะ ซึ่งทำมือแก้ พัน เป็น พันธุ์ ไปชมภิกษุหนุ่มผู้เขียนนั้นผิดไปถนัดใจ ที่แท้เป็นพระดำริของสมเด็จพระราชปิตุลา เกล้ากระหม่อมหาทราบไม่ ตามพระราชดำรัสว่ารูปทศกัณฐ์เขาเขียนหลายแขนกันแต่เมื่อแสดงปาฏิหาริย์ นึกดูเห็นเขาเขียนกันเช่นนั้นแต่เพียงหกแขน คือซีกละสามแขน ไม่ใช่ซีกละสิบแขน ที่มีซีกละสิบแขนนั้นจะดีในทางงมกุ้งอย่างที่พระอาจารย์แดงว่า

๙. เรื่องพระยาราชโกษา (จันทน์ วัชโรทัย) ได้ให้พระยาอนุรักษ์ไปถามพ่อเขา เพราะเห็นว่าพระยาอนุรักษ์เป็นนักเรียน แม้จะเขียนหนังสือมาให้ก็ไม่ลำบาก คิดว่าดีกว่าที่จะให้พระยาอุทัยธรรมแต่งหนังสือเอง จะถามด้วยปากให้บอกด้วยปากหูก็ชำรุดเสียแล้ว จะฟังผิดไป ได้ความประการใดจะกราบทูลมาให้ทรงทราบทีหลัง

ข้อพระวินิจฉัยในเรื่องช้าลูกหลวงที่ประทานไปนั้น ได้เอาเข้าเปลี่ยนฉบับเดิมตามรับสั่งแล้ว

จะกราบทูล ให้ทรงทราบว่า คำสังสกฤตซึ่งพราหมณ์กล่อมพระเจ้าลูกเธอนั้น เอาคำกล่อมหงส์ที่เทวสถาน ในการพิธีโล้ชิงช้านั่นเองไปใช้

มีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งไม่ได้กราบทูลถามมา ได้ยินว่าถ้าเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าแล้ว พราหมณ์เขากล่าวมนต์เปิดประตูไกรลาศ ด้วยฝ่าพระบาททรงทราบหรือไม่ว่าเขากล่าวมนต์นั้นก่อนกล่อมหรือทีหลังกล่อม เข้าไปในการสมโภชเดือนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าก็ไปนั่งอยู่ไกล ไม่ได้ยินเสียงพราหมณ์.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ