วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม โดยเรียบร้อย แต่เขาส่งช้าไปวันหนึ่ง จนวันเสาร์เช้าจึงได้รับ

พอหม่อมฉันเห็นลายพระหัตถ์มีมาจากตำหนักปลายเนิน วันที่ ๑๔ ก็สะดุ้งรู้สึกตัวว่าส่งจดหมายเวรของหม่อมฉันฉบับลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคมไปถวายที่หัวหิน ด้วยสำคัญว่าเสด็จแปรสถานไปประทับที่นั้นเมื่อวันที่ ๑๒ นั้นผิดไปเสียแล้ว แต่พนักงานไปรษณีย์เขาคงส่งเข้าไปถวายในกรุงเทพฯ จะได้ทรงรับช้าไปสักวันหนึ่งหรือสองวัน

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

เรื่องนับรอบ ๑๒ ปีหม่อมฉันพบอธิบายของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ในหนังสือ “พงศาวดารโยนก” ชอบกลดี เขาว่ามีวิธีนับปีเรียกว่า “พฤหัสบดีจักร” เกิดขึ้นในอินเดียเมื่อปีก่อนพุทธกาล ๒๕๘๕ ปี วิธีนั้นกำหนด ๖๐ ปีเป็นรอบ ๑ เรียกปีมีชื่อต่างกันทัง ๖๐ ปี การคำนวณปี เอาโคจรของดาวพฤหัสบดีเป็นหลัก ดาวพฤหัสบดีโคจรผ่านราศี ๑ นับเป็นปี ๑ (ที่ว่าต่อไปในวงนี้ไม่มีในอธิบายพระยาประชาฯ แต่หม่อมฉันนึกว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น คือ ดาวพฤหัสบดีโคจรตลอดทั้ง ๑๒ ราศี นับเป็นรอบน้อย) เมื่อดาวพฤหัสบดีโคจรตลอด ๑๒ ราศีได้ ๕ ครั้ง นับเป็นรอบ ๑ จึงเป็น ๖๐ ปี มีโหราจารย์ (เห็นว่าต้องใช้ชื่อปีถึง ๖๐ ชื่อลำบากนัก) คิดแก้วิธีเดิมด้วยเลื่อนเกณฑ์ลงมา นับโคจรของดาวพฤหัสบดีครบ ๑๒ ราศีเป็นรอบ ๑ (เรียกชื่อปีเพียง ๑๒ ชื่อ) แต่เพื่อจะมิให้เสียหลักเดิมจึงตั้งเกณฑ์ (ศก) ๑๐ ขึ้นประกอบกับปี เพื่อให้เรียกผิดกันทุกปีจนครบ ๕ รอบ ๖๐ ปี จึงตั้งต้นใหม่เหมือนแบบเดิม วิธีนับปีอย่างพฤหัสบดีจักรที่แก้ใหม่นี้รับไปใช้ในประเทศจีน ธิเบต ไทย เป็นต้น ต่างเรียกชื่อปีและคิดหาเครื่องหมายที่เอามาใช้เป็นเกณฑ์ ๑๐ ประกอบปีต่างๆ กัน เอาธาตุทั้ง ๕ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทอง แบ่งเป็นอย่างละ ๒ ตั้งเป็นเกณฑ์ ๑๐ บ้าง เอาชื่อเศษปีในรอบ ๖๐ ของเดิมตั้งเป็นเกณฑ์ ๑๐ บ้าง เอาตัวเลขท้ายศักราชตั้งเป็นเกณฑ์ ๑๐ บ้าง อธิบายของพระยาประชากิจฯ ว่าดังนี้ คิดวินิจฉัยต่อไปเห็นว่าชื่อปีที่เราเรียกว่าปี ชวด ฉลู าล เถาะฯ น่าจะมีมาก่อนจีนคิดดูรูปสัตว์ หนู วัว เสือ กระต่ายฯ ขึ้นเป็นเครื่องหมายปีที่เรารับเอามาใช้ แต่คำ ชวด ฉลู ขาล เถาะ จะเป็นภาษาอะไร และโดยลำพังศัพท์หมายความว่ากระไรเป็นอีกปัญหาหนึ่งซึ่งยังคิดไม่เห็น

รูปพระเจดีย์ ๓ องค์ พระพิพิธสาลีฉายเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ ที่ประทานมาให้ดูเพิ่มเติมอีก ๒ รูปนั้น ทำให้หม่อมฉันรู้ตัวว่าเข้าใจผิด ที่คาดว่าพระเจดีย์ ๓ องค์จะหมกอยู่ในรก ด้วยในรูปที่ได้มาใหม่มีเสาหงส์ปักอยู่เป็นสำคัญ ว่าที่ตรงนั้นโดยปกติคงเป็นที่แจ้งอย่างเรียกกันว่า “ปาง” มีคนนับถือบูชาเจดีย์ ๓ องค์อย่างเป็นของศักดิ์สิทธิแห่ง ๑ และคงมีการปฏิสังขรณ์เนืองๆ ดังทรงพระดำริ หม่อมฉันส่งรูปถวายคืนมากับจดหมายด้วยแล้ว

ตู้มุกของทูลกระหม่อมชายนั้น หม่อมฉันเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑสถาน บานตู้ ๒ ใบนั้น หม่อมฉันก็ยังจำลายได้ หม่อมฉันเคยได้ยินว่าพระธรรมราชาฯ วัดศาลาปูนได้บานนั้นมาจากวัดบรมพุทธาราม เมื่อถูกไฟไหม้แล้ว ดูประหลาดอยู่ที่บานมุกบรรดาเคยอยู่ในพระนครศรีอยุธยาและยังอยู่จนบัดนี้ล้วนมาแต่วัดบรมพุทธารามทั้งนั้น ที่สร้างสำหรับวัดอื่นหาปรากฏไม่ นึกว่าคงมีเช่นที่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นต้น แต่เห็นจะถูกไฟไหม้เมื่อเสียพระนครสูญไปหมด วัดบรมพุทธารามอยู่ห่างไม่ถูกไฟไหม้ในครั้งนั้นจึงเหลือมา

เรื่องชาวอินเดียและธิเบตถือผี พระยาอนุมานฯ เขาค้นเอามาเขียนอธิบายไว้ในหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” แต่งดีมาก หนังสือเรื่องนั้นถ้าท่านทรงอ่านคงโปรด ถ้าว่ารวบยอดของการถือผีดูเป็นวิสัยมนุษย์ เชื่อถือมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทั้งยังเชื่อถืออยู่ในบัดนี้และจะเชื่อถือต่อไปภายหน้าไม่มีที่สุด ถึงใครจะห้ามปรามอย่างไรก็เห็นจะไม่หาย ในศาสนาก็สอนว่ามีผีทุกศาสนาเป็นแต่เรียกชื่อต่างๆ เช่นเรียกว่าเทวดาและปีศาจบ้าง เรียกว่า Angel และ Satan บ้าง ถ้าว่าโดยลักษณะก็เป็นผีทั้งนั้น

ทูลเรื่องทางเมืองปีนัง

เวลานี้เป็นคราววิสาขบูชา หม่อมฉันได้ขึ้นรถขับผ่านไปเที่ยวดูตามวัดต่างๆ วัดฝ่ายหินยานมี ๖ วัด แต่งประทีปธงทิวทำพิธี ๕ วัดทั้งวัดลังกา เว้นวัดจันทรารามของไทยวัด ๑ ไม่เห็นตกแต่ง วัดนั้นมีพระอยู่องค์เดียว เห็นจะเป็นเพราะไม่มีกำลังพอที่จะทำพิธีได้ แต่วัดฝ่ายจีนมหายานมี ๔ วัด ไม่เห็นทำอะไร ดูเหมือนเขาจะกำหนดวิสาขบูชาเป็นอย่างอื่นแต่จะเป็นเมื่อไรหม่อมฉันหาทราบไม่ ลักษณะที่พวกสัปบุรุษทำบุญวิสาขบูชาในปีนังดูเขาก็ทำดีด้วยการพิธีเหมือนกันและร่วมวันกันทุกวัด พิธีนั้นมีก่อพระทรายอย่าง ๑ เลี้ยงพระอย่าง ๑ มีเทศน์อย่าง ๑ และเดินเทียนอย่าง ๑ เขาขอให้พระทำพิธีต่างอย่างให้ต่างวันต่างเวลากัน เพื่อให้พวกสัปบุรุษไปทำบุญได้หลายวัด เพราะฉะนั้นในการวิสาขบูชาจึงมีผู้คนไปทำบุญแน่นหนาแทบทุกวัด จะทูลรายการเฉพาะแต่วัดที่หม่อมฉันไปทำบุญ ๒ วัด คือ วัดศรีสว่างอารมณ์ กับวัดมหินทรารามอันเป็นวัดลังกา

วัดศรีสว่างอารมณ์ปีนี้มีการฉลองพระพุทธรูปที่เชิญมาจากเมืองเชียงใหม่และพระได้ขอให้หม่อมฉันขนานพระนาม จึงขนานว่า “พระเจ้าศรีเมือง” นั้นด้วย วันที่ ๑๙ (ขึ้น ๑๓ ค่ำ) เช้ามีการก่อพระทรายกับเลี้ยงพระสงฆ์ทั้งไทยและลังกา นิมนต์มาจากทุกวัด เวลาค่ำพระสงฆ์ชุดนั้นสวดมนต์ฉลองพระพุทธรูป วันที่ ๒๐ (ขึ้น ๑๔ ค่ำ) เวลาเช้าเลี้ยงพระ กลางวันพระมหาภุชงค์เทศน์ วันที่ ๒๑ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่เขียนจดหมายนี้กำหนดว่า) เวลาเช้าเลี้ยงพระ เวลาค่ำเมื่อพระสวดพิธีวิสาขะแล้ว พระมหาภุชงค์จะเทศน์ภาษาไทยกัณฑ์ ๑ และเทศน์ภาษาจีนฮกเกี้ยน (ที่เธออุส่าห์มาเรียนรู้ที่ปีนัง) ด้วยอีกกัณฑ์ ๑ แล้วเดินเทียน เป็นเสร็จการพิธีที่วัดศรีสว่างอารมณ์

การพิธีวิสาขบูชาอย่างลังกาตามที่อาจารย์คุณรัตนทำที่วัดมหินทรารามนั้น มีโปรแกรมเขียนลงหนังสือพิมพ์ดังหม่อมฉันตัดส่งมาถวายกับจดหมายนี้ หม่อมฉันไปบูชาพระเมื่อวันที่ ๒๐ (ขึ้น ๑๔ ค่ำ) เวลาเย็น วัดนี้แต่ก่อนหม่อมฉันเคยไปแต่ที่กุฎี คราวนี้พระอาจารย์คุณรัตนพาไปในวิหาร และได้สนทนากันถึงเรื่องวัดจึงสามารถทูลเล่าถวายดังต่อไปนี้

วัดมหินทรารามนี้อาจารย์คุณรัตนบอกว่า สร้างเมื่อ ค.ศ. ๑๘๒๐ (ตรงกับในรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ ค.ศ. ๒๓๖๓๗ ไม่มีโบสถ์มีแต่วิหารหลัง ๑ กุฏิหลัง ๑ ล้วนก่อเป็นตึก วิหารนั้นรูปทรงสัณฐานคิดหาที่อื่นเปรียบเห็นแต่โรงราชรถในกรุงเทพ ฯ ทั้งเป็นโรงไม้มุงสังกะสี คือเป็นวิหารสี่เหลี่ยมรีมีเฉลียงรอบ พื้นเสมอกันทั้งหลัง แต่ผนังในประธานสูง ลดหลังคาเฉลียงรอบต่ำลงมามาก วิหารนั้นหันหน้าออกทางด้านยาว ในวิหารมีพระพุทธรูปปั้นประสานสีเป็นพระประธาน ๔ องค์ ทำขนาดเดียวกันทำนองโดยนิยมว่าเท่าพระพุทธองค์ องค์อยู่หลังเป็นพระนั่งขนาดสักเท่าพระพุทธชินราชมีรูปพระสาวกยืน ๒ ข้าง ต่อออกมาเป็นพระนอนองค์ ๑ ทางเบื้องพระเศียรและพระบาทพระนอนเป็นพระพุทธรูปยืนหันพระพักตร์ไปทางพระนอนข้างละองค์ การประดับประดาวิหารประณีตและวิตถารกว่าวัดอื่นๆ บรรดามีในปีนังนี้ ดูเป็นฝีมือและความคิดของช่างชาวลังกาที่ไปศึกษาศิลปจากฝรั่งทำเมื่อปฏิสังขรณ์ในชั้นหลัง เช่นเขียนเพดานเป็นลายยา ปั้นรูปเทพชุมนุมเป็นเทวดาครึ่งตัวโผล่ออกมาจากผนังที่ต่อเพดาน และเขียนฝาผนังเป็นรูปชุมนุมพระสาวกให้แลเห็นเป็นหมู่ลึกเข้าไป เป็นต้น เฉลียงวิหารด้านหน้าใช้เป็นโรงธรรมตั้งธรรมาสน์ทางด้านสกัดคนนั่งฟังตลอดเฉลียง เฉลียงด้านอื่นกั้นเป็นห้องต่างหาก ได้เห็นในห้อง ๑ มีฐานชุกชีตั้งพระพุทธรูปรายตามฝาผนังอย่างพระระเบียง ในลานวัดก็ไม่เห็นมีอะไรนอกจากเครื่องตบแต่งสำหรับวิสาขบูชา ท่านคุณรัตนได้ชี้ให้ดูธงพระพุทธศาสนาผืน ๑ ลายธงนั้นข้างเบื้องบนเป็นแถบสีต่างๆ ซ้อนกันตามยาว ๖ สี ท่านบอกอธิบายว่า “ฉะพรรณรังษี” ข้างเบื้องต่ำตามขวางมีแถบสีต่างๆ ต่อกัน ๕ สี อธิบายหมายว่า “ประภัสสร” ดังนี้ พวกอุบาสกที่วัดมหินทรารามเขาอยากจะให้มีพระสงฆสวดมนต์ในพิธีวิสาขบูชาด้วย แต่พระวัดนั้นมีแต่ท่านอาจารย์คุณรัตนองค์เดียว เขาว่าวานหม่อมฉันให้ช่วยนิมนต์พระไทยให้สัก ๓ รูปไปสมทบให้เป็นองค์สงฆ์ และเขาจะกำหนดเวลาสวดมนต์ต่อ ๔ ทุ่มมิให้พ้องกับเวลาเดินเทียน หม่อมฉันรับธุระมานิมนต์พระมหาภุชงค์เธอก็รับจะให้สมประสงค์ของเขา หม่อมฉันจะให้รถยนต์รับพระไป เวลานี้ยังไม่เสร็จงาน มีรายการจะทูลจดหมายเวรฉบับหน้าต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ