วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ความเห็น

๑) ทำไมเสนาบดีมหาดไทยจึ่งถือ ตราพระราชสีห์ กับ ตราจักรเป็น ๒ ดวง เห็นว่าเดิมทีจะมีอัครมหาเสนาบดีคนเดียวถือตราจักรดวงเดียวจึ่งมีชื่อว่า “เจ้าพระยาจักรี” จะเป็นขนานนามตามตรา หรือทำตราขึ้นตามชื่อก็ตามที คำว่า “จักรี” แปลว่ามีจักร เห็นจะหมายถึงพระนารายณ์ ต้องเป็นจักรเปล่า ดวงตราก็ทำถูกแล้ว ที่ทำเครื่องหมายพระราชวงศ์จักรีเป็นจักรกับตรีศูลนั้นหลงเพราะเขียนหนังสือจะเป็นกรีหรือตรีก็อ่านว่ากรีเหมือนกัน เมื่อฟังแต่เสียงพูดจึงเข้าใจเอาที่แท้ไม่ได้ ภายหลังกำหนดทำเนียบอัครมหาเสนาบดีขึ้นเป็น ๒ มีเสนาบดีมหาดไทยกับเสนาบดีกลาโหมขึ้น จึงทำตราประจำตำแหน่งขึ้นเป็นคู่ คือพระราชสีห์กับพระคชสีห์ เพราะฉะนั้นเสนาบดีมหาดไทยจึงถือตราจักรกับตราพระราชสีห์เป็น ๒ ดวง ต้องใช้ตราพระราชสีห์เป็นประจำ เพราะเป็นข้อบังคับใหม่ ส่วนตราจักรของเก่านั้นทิ้งเริดร้างไป ทีหลังจึงมาคิดใช้ในการลางอย่าง เพื่อไม่ทิ้งให้สูญไปเสียเปล่า ความเห็นเป็นดั่งนี้ จะผิดถูกประการใดแล้วแต่จะโปรด

บรรเลงย้อนหลัง

๒) ในบันทึกเรื่องเห่ช้า ได้จดมาแต่ห้วนๆ ว่ากาพย์และฉันท์นั้นมาทางอินเดีย ด้วยสอบเอาแน่ไม่ได้ จึ่งจะกราบทูลไขไว้ต่อไปในที่นี้

คำว่า “กาพย์” สังเกตเห็นรูปเป็นคำไทย ทางอินเดียน่าจะเป็น “กาวย” รูปเป็นสังสกฤต แปลว่าเกิดแต่กวี ก็คือคำของกวี หาทางพจนานุกรมบาลีไม่พบ พบแต่ “ฉันท์” แปลให้ไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า Poetical metre

ที่บังคับให้เป็นครุลหุทุกคำซึ่งเรียกกันว่าฉันท์นั้น ได้พบมามากมีทั้งภาษามคธและสังสกฤต แต่กาพย์ซึ่งกำหนดแต่คำ ไม่กำหนดครุลหุนั้นไม่พบทางบาลีเลย มีแต่ที่เรียกว่า “ปัฐยาวัตร” (ชื่อนี้เขียนตามเขา เขียนอย่างไรจะถูกแท้ก็ไม่ทราบ) มีกำหนดว่าบาทละ ๘ คำ บาทสองมีบังคับครุลหุแต่คณะเดียวเพียง ๓ คำ เช่นคาถา “พหุํ เว สรณํ” ก็มี “วนานิ” อยู่เป็นอย่าง จะนับว่าเป็นกาพย์หรือมิใช่ก็ไม่ทราบ แต่เขาก็เรียกกันว่าฉันท์ ส่วนทางสังสกฤตจะมีอย่างไรบ้างก็ไม่ทราบ ออกจะเป็นมือซ้ายไม่สู้รู้มากนัก จะต้องถามผู้รู้ในทางสังสกฤตดีเสียก่อน เกรงว่าฉันท์หรือกาพย์ก็จะเป็นอันเดียวกัน เพราะเป็นคำของกวีแต่งด้วยกัน

ในการแต่งฉันท์อย่างที่มีบังคับให้เป็นครุลหุไปทุกคำนั้น ไม่ใช่ยากแต่ภาษาเราซึ่งมีลหุน้อย แม้ทางภาษามคธซึ่งมีครุลหุอยู่สมบูรณ์ผู้แต่งก็ออกจะเอือมๆ จะเห็นได้ที่เป็นฉันท์อย่างบังคับให้เป็นครุลหุทุกคำนั้นมีน้อย เป็นปัฐยาวัตรอันมีบังคับน้อยเสียเป็นพื้น

๓) ในการทำตรานากลายเซ็น เห็นจะไม่ใช่ลำบากในการเซ็น ทีจะเป็นการชื่นชมช่างนากว่าทำอะไรทำได้ ตรานากนั้นเป็นตรา ไม่ใช่ลายเซ็นเทียมเพราะเล็กกว่าลายเซ็นมาก การเซ็นชื่อก็ชอบกล ต้องเซ็นให้อ่านไม่ออก ไม่ฉะนั้นก็ไม่เป็นเซ็นชื่อ

๔) ขอประทานกราบทูลรายงาน ในการที่ได้ดูแผนที่ พบมีพินทุบอกเมืองแม่กลองไว้ ที่ต้นแม่น้ำแควใหญ่แห่งกาญจนบุรีใกล้เขาแดน อันนี้ก็สมด้วยพระดำรัสซึ่งเคยตรัสบอกมาแต่ก่อน ว่าจีนล่ำซำเคยทำป่าไม้อยู่ที่นั่น ใช่แต่เท่านั้นแม่น้ำแควใหญ่แห่งกาญจนบุรีเขาก็จดหนังสือไว้ว่า “แม่น้ำแม่กลอง” ทำให้รู้สำนึกได้ ว่าที่เรียกแม่น้ำแควใหญ่แควน้อยนั้นเรียกตามลักขณะ หาใช่เรียกตามชื่อลำน้ำไม่ โดยนิยมดั่งนี้ทำให้สิ้นที่กินแหนง ว่าทำไมปากอ่าวข้างใต้ จึงเรียกว่าปากอ่าวแม่กลอง อันชื่อลำนั้นย่อมเปลี่ยนไปเป็นท่อนๆ อย่าหามากไปเลย แม้แต่คลองสั้นๆ ที่ในกรุงเทพฯ ก็ยังเรียกชื่อเปลี่ยนเป็นท่อนๆ ไปเหมือนกัน

๕) ข้อนี้นึกสืบมาแต่เรื่องที่ตรัสทัก ถึงคำ “อวิชฺชา” และ “โมห” ว่าประกอบด้วยกิเลศ เป็นเหตุให้ระลึกถึงคำทั้งปวงที่มาทางบาลี เราได้มาก็เป็นแต่คำอรรถ แล้วเราก็มาแปลกันเองตามชอบใจ ลางคำก็จะถูก ลางคำก็จะคลาดจากความหมายแต่เดิมไป มีเรื่องตัวอย่างอยู่ ซึ่งควรจะเล่าถวายต้องกับทางอย่างที่กล่าวมานี้ ครั้งหนึ่งเกล้ากระหม่อมได้ถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถึงการเคารพอย่างที่มีมาในพระบาลี ท่านบอกว่าสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงแต่งแนะนำพระภิกษุไว้มีอ่านอยู่ในโบสถ์เสมอ แล้วท่านก็คัดส่งมาให้ เมื่ออ่านดูก็เห็นเป็นว่าท่านตรัสแนะนำให้ทำความเคารพอย่างที่เขาทำกันอยู่ในบ้านเมืองของเรานี่เอง ในเบื้องต้นท่านก็ตรัสยกการกระทำความเคารพ อย่างที่มีมาในพระบาลีไว้เหมือนกัน แต่ท่านก็ตรัสลาในลางอย่าง เช่นกระทำอภิวาท ท่านตรัสบอกไม่ได้ว่าหมายให้ทำกิริยาอย่างไร ท่านก็ตรัสบอกไว้ในนั้นเพื่อเป็นทางดำริ ว่าในอรรถกถาบอกไว้ว่า เมื่อพระเถระเดินเข้ามาสู่ที่ประชุมสงฆ์ให้ทำอภิวาท และเมื่อท่านลุกเดินออกจากที่ประชุมสงฆ์ก็ให้ทำอภิวาท คิดดูตามตัวอย่างที่ว่าไว้นั้น เห็นไม่ใช่หมอบกราบเพราะพระเถระกำลังเดินอยู่จะหมอบกราบเห็นหาควรไม่ อาจมีความหมายให้กระทำกิริยาอย่างอื่นซึ่งเราไม่รู้

ได้ความภายหลังว่า ที่ทรงแต่งคำแนะนำในการทำความเคารพขึ้นนั้น เกิดแต่พระภิกษุไปไหนมาไหน แล้วบังเอิญไปประสบพระราชาเข้า ท่านก็ทำกิริยาต่างๆ เป็นอย่างที่ไม่สมควรก็มี เช่น หันหน้าเข้าฝ่าหันหลังถวายพระราชาเป็นทีว่าไม่เห็น ให้ทรงรู้สึกร้อนพระทัย จึงได้ทรงแต่งคำแนะนำให้พระภิกษุกระทำความเคารพขึ้นโดยสมควร เป็นอย่างที่สมควรตามธรรมเนียมในบ้านเมืองของเรานี้

จะกราบทูลต่อไปถึงความเห็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ อันเป็นความเห็นพวกเดียวกัน ท่านเห็นว่าคำ “สิรสานมามิ” นั้น ได้แก่การก้มหัว ที่เรียกกันอยู่บัดนี้ว่าคำนับ

๖) เมื่อคราวก่อนกราบทูลมาเรื่องเจ้าพระยาวงษาฯ ถึงอสัญกรรมแต่ได้ไปอาบน้ำศพท่านเสียก่อนเวลาที่บอกกำหนดมาในใบดำ ไม่ได้เห็นเครื่องประดับเกียรติยศอย่างไร เพราะเขายังไม่ได้ขนไป ต่อวันที่ ๒๖ ไปในการทำบุญ ๗ วัน จึงได้เห็น จะกราบทูลให้ทรงทราบว่าศพประกอบลองมณฑป ตั้งบนชั้นแว่นฟ้า ๒ ชั้น มีฉัตรเครื่อง ๙ คันตั้ง ๓ ด้านเว้นด้านหน้า

ข่าว

๗) เมื่อวันที่ ๒๒ ที่ล่วงมาแล้ว ได้เลี้ยงพระฟังธรรมทำบุญถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าเป็นวันสวรรคต ขอประทานถวายพระกุศลแด่ฝ่าพระบาทด้วย ในการที่ทำเสียวันที่ ๒๒ นั้นตั้งใจหลบงานหลวงเพื่อไม่ให้ไปจอแจกัน หญิงมารยาตรกับหญิงเป้าก็ไปร่วมงานนั้นด้วย หญิงมารยาตรบอกว่าจะออกมาเฝ้าฝ่าพระบาท ๑๐ วันจะไปกับรถไฟวันที่ ๒๓

ครั้นถึงวันที่ ๒๓ ก็ได้พาลูกหลานไปสักการะถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าที่พระลานดุสิตตามเคย แล้วเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ขึ้นพระที่นั่งจักรีเข้าประจำการพระราชกุศลตามเคยจนเสร็จงาน

ลายพระหัตถ์

๘) เมื่อวันอาทิตย์ เดือนตุลาคม วันที่ ๒๗ ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม มีรอยตัดตรวจอย่างหนหลัง แต่ก็ไปรู้สึกว่าเป็นไรไป จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ลางข้อต่อไป

๙) กฐินพระราชทานทางหัวเมืองนั้น จำเป็นอยู่เองที่ต้องมอบเครื่องกฐินให้ไป เพราะเจ้าพนักงานจะไปก็ลำบากมาก การมอบเครื่องกฐินพระราชทานหัวเมืองนั้นเอง มาเป็นอย่างให้รับเครื่องกฐินพระราชทานในกรุงเทพฯ ไป เจ้านายของเราเองเป็นผู้ทำอย่าง แล้วก็เลยเป็นธรรมเนียมต่อไป ที่สมเด็จพระพันวัสสาประทานค่าโดยสารแก่เจ้าพนักงานนั้นเห็นว่าชอบอยู่ แต่จะทำเช่นนั้นทั่วไปทุกรายไม่ได้ ตามที่ฝ่าพระบาทตรัสบอกเจ้าเมืองกรมการให้ไปทำหน้าที่เจ้าพนักงานนั้นถูกต้องควรอย่างยิ่ง

๑๐) ตามที่ตรัสบอกถึงด่านสิงขรไปในลายพระหัตถ์นั้น ทำให้เบาใจขึ้นมาก ว่าที่เดาว่าเป็นช่องออกไปเมืองตะนาวศรีนั้นไม่ผิดไป

๑๑) ด่านแม่สอดแม่ละเมานั้นแลไม่เห็น ตามที่กราบทูลก็เท่าที่เห็นในแผนที่ คนทำแผนที่จะทำไม่ถี่ถ้วนหรือเข้าใจผิดไปนั้น ย่อมไม่ประหลาดเลย

๑๒) ที่โรงนาฬิกาในพระบรมมหาราชวัง เกล้ากระหม่อมก็เคยซนเข้าไปในนั้นเหมือนกัน สิ่งใดๆ ที่ตรัสถึงนั้นจำไม่ได้ จำได้แต่กระดานรูปนาฬิกา ๑๒ ดวง ทั้งได้ฟังคำอธิบายก็เป็นว่าใช้ในการตีระฆังผ่อนเวลาตามคราวที่มีกลางวันกลางคืนสั้นและยาว ก็เป็นอันว่าตีระฆังตามที่ฝรั่งเรียกว่า “แอบเปียเรนไตม์” แต่ที่นำเข้าไปถวายทรงตั้งนั้นไม่ได้ทราบเลย เพราะยังเล็กนัก มีคนถามถึงทูลกระหม่อมก็ลาเขา จำพระองค์เกือบไม่ได้ จำได้แต่ว่าทรงผ้าแดงกับประทับพระเก้าอี้หมุนๆ ที่โต๊ะเสวย เพราะจับใจที่พระเก้าอี้นั้น จึงมารู้สึกขันว่าความเป็นเด็กนั้นจำอะไรได้แต่สิ่งที่ชอบใจ

๑๓) ดีใจที่ทรงพระดำริเห็นพ้องด้วย ว่าฉันท์นั้นเป็นของไม่ควรเล่น คำแต่งของเราได้ละเมอเขียนเตรียมกราบทูลมาแล้วข้างต้น พระดำริในเรื่องกลอนเพลงยาวนั้นถูกเป็นแน่ ได้ทราบมาว่าสุนทรภู่นั้นเป็นนักเลงเล่นเพลงปรบไก่มาก่อน จึงเป็นคนเชี่ยวชาญในกระบวนกลอนยิ่งนัก แต่ก็เป็นแน่ว่าต้องประกอบด้วยน้ำเนื้อของตัวแกเองด้วย

๑๔) คำว่า “สีพาย” เป็นคำพูดจริงๆ แต่ที่เขียนหนังสือว่า “ฝีพาย” ก็เห็นไม่ได้ความเหมือนกัน “ฝี” คำนั้นก็ไปพ้องเข้ากับคำว่า “เป็นฝี” คือวัณโรค อะไรจะถูกแน่ก็ยังไม่ทราบ จึงได้กราบทูลให้ทรงพิจารณา

๑๕) ตามที่ตรัสเล่าถึงเมืองภูเก็ตนั้นดีอย่างยิ่ง แม้จะได้ทราบมาบ้างก็ทราบแต่เล็กน้อยเป็นกระท่อนกระแท่น เพิ่งมาได้ทราบถี่ถ้วนเมื่อตรัสเล่าประทานครั้งนี้ เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า

นึกถึงคำที่ฝรั่งเขียน “Tongka” เรามาแปลเป็นไทยกันว่า “ตองแก” “แพรกบ้านนาย” ฝรั่งเขียน “Prek Ban Nai” แปลกันว่า “ปริกบ้านใน” รู้สึกว่าแปล ๓ ทีแล้วกินตาย

๑๖) อ่านลายพระหัตถ์ซึ่งตรัสถึงชาวลานนาพูด ร เป็น ฮ ทำให้นึกถึงกรมขุนพิทยลาภฯ ท่านเคยตรัสเล่าว่าวันหนึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ถือชามเข้ามาถวายทูลว่า “แซบนักเจ้า” ท่านตรัสถามว่าอะไร เธอทูลว่า “ยำฮก” กรมขุนพิทยลาภฯ ไม่เข้าพระทัยตรัสซัก เธอก็ทูลซ้ำอีกว่า “อ้ายฮกน่ำปะไรเล่า” กรมขุนพิทยลาภฯ ก็คงไม่เข้าพระทัยตรัสซักต่อไปว่า “ฮกอะไร” เธอจึ่งทูลว่า “อ้ายที่งัวมันออกลูกน่ะ” กรมขุนพิทยลาภฯ ก็ทรงลา ชาวละครพูด ง เป็น ฮ เกล้ากระหม่อมก็เคยไปเขลาทั้งรู้แล้วว่าเขาเรียก “เงิน” เป็น “เฮิน” ด้วยไปได้ยินเขาร้องเพลงว่า “พี่จะให้แหวนฮั่ง” ฟังไม่เข้าใจต้องถามเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ว่า “ฮั่ง” แปลว่ากระไร ท่านบอกว่า “งั่ง” คือทองแดง หมายความว่าแหวนทองแดง คำนี้ก็มาพ้องกับที่เด็กเราร้องว่า “ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้า” แล้วทำความเข้าใจให้ต่อไปอีกว่า “งั่ง” นั้นไม่จำต้องเป็นเทวรูปอย่างที่เราเข้าใจกัน

เรื่องหนังสือนั้น เป็นเรื่องที่เกล้ากระหม่อมเคยพิจารณามาบ้าง ที่หนังสือของเราเป็นแบบสังสกฤตก็เพราะติดเขามา ติดเพราะเราเรียนทางสังสกฤตเพื่อจะรู้ธรรม ที่เราตัดเป็นกอข้อเล็กนั้นจัดว่าเป็นตัดหยอกๆ ทางไทยถิ่นอื่นเขาตัดเสียยิ่งกว่ากอข้อเล็กไปก็มี เช่นเอาไว้แต่ ก ค ง จ ช ญ เป็นต้น ชั่วแต่สำหรับใช้เขียนภาษาไทย ในทางตัดหรือไม่ตัดคิดดูก็ไม่ตกลงใจว่าตัดดีหรือไม่ดี ข้างตัดนั้นดีที่ต้องจำน้อยลง และเขียนภาษาของตัวก็ได้แล้ว แต่ทำให้ความรู้แคบไปกว่าไม่ตัด เพราะอ่านภาษาอื่นนอกจากภาษาของตัวไม่ได้ แม้ไม่ตัดก็ดี ลางทีมีภาษาอื่นที่เข้ามาสู่ภาษาเรา หนังสืออย่างไม่ตัดไม่มีตัวจะเขียนก็มี อนึ่งจะว่าหนังสือเราเอาแบบสังสกฤตทีเดียวก็ไม่เชิง พยัญชนะว่าได้ว่าเอาแบบสังสกฤตมา แต่สระว่าไม่ได้ อึ อือ เอือะ เอือ เออะ เออ เหล่านี้ สังสกฤตไม่มีทั้งนั้น คงเป็นด้วยพยัญชนะนั้นพอจะใช้ แต่สระนั้นไม่พอใช้จึงต้องเติมเข้าอีก นึกถึงทูลกระหม่อมเล็กตรัสเล่าว่า พอเสด็จไปเรียนที่เมืองรุสเซีย ครูเขาก็ลองให้ว่าคำซึ่งประกอบด้วยสระ ท่านก็ว่าได้ ครูประหลาดใจว่าทำไมจึงว่าได้ทันที พวกฝรั่งที่ไปเรียนกว่าจะได้ก็เล่นกันแย่ ท่านตรัสบอกว่าของข้ามี อึ ก็มี อือ ก็มี ฝ่ายลูกชายเจริญใจบอกว่าให้ฝรั่งว่า เกือก คำเดียวเท่านั้นก็หงายท้องไปตามกัน ว่าไม่ได้ สังเกตว่าคำใดๆ ของเราทั้งหมดเมื่อเกิดขัดข้องขึ้นแล้วก็มีนักปราชญ์คิดแก้ไข ทางที่แก้ไขนั้นก็ดูไม่ปลอดโปร่งไปได้ตลอด

ศ. ษ. ส. แม้จะเป็นพยัญชนะของสังสกฤตก็ดี แต่ทีเป็นเราตั้งใจจะไม่ใช้อย่างสังสกฤต ศ เอาเป็นตัวสกด ษ เอาเป็นตัวการันต์ ส เอาเป็นตัวใช้ในคำทั่วไป ดูเป็นตั้งใจอย่างนี้ แต่ก็มีพลัดพลาดอยู่บ้าง ที่สุดอะไรก็ไม่แน่ทั้งนั้น

๑๗) พระดำรัสสั่งให้บอกพระองค์เจ้าธานี ถึงเรื่องพระวิจารณ์พระเชตวันนั้น จะปฏิบัติตามพระกระแสรับสั่ง

คำพระเชตวันนั้น ดูเหมือนพระองค์เจ้าธานีเธอตกลงใจว่าเป็นหลังคาดสามชั้น เกล้ากระหม่อมไม่มีความเห็นพ้องด้วย พระเชตวันจริงๆ ก็จะต้องเป็นเรือนอย่างแขก เขาจะมีหลังคาอย่างไรก็ทราบไม่ได้ พระวิจารณ์ของฝ่าพระบาทในเรื่องนั้นก็ดูเหมือนทรงพระวิจารณ์ในส่วนวัดไชยวัฒนารามเป็นที่ตั้ง หากเป็นดั่งนั้นก็หาเป็นไรไม่

คิดถึงชื่อนั้นก็เห็นชอบกล ถ้าลงท้าย “วัน” แล้วก็เป็น “เชต” ถ้าลงท้าย “พน” แล้วก็เป็น “เชตุ” ทีจะหลงมาแต่ “เชตุดร”

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ