วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายนแล้ว

ทำบุญเปตพลี

ไทยพวกพ้องนอกครัวเรือนของเจ้าวิบูลย์ ได้ร่วมใจกันทำบุญที่หน้าศพอุทิศให้เธอในวันสตมวาร มีรายการ ณ วันศุกร์ที่ ๒๙ เวลาบ่าย ๕ โมงครึ่งวางพวงมาลาที่หีบศพ พระสงฆ์ ๕ รูปสวดมนต์ถวายไทยธรรมแล้วนิมนต์พระสงฆ์อีก ๕ รูปมา มีเทศนาและสวดชักผ้าบังสกุล เป็นเสร็จงาน หม่อมฉันผู้เป็นมรรคนายกขอถวายพระกุศล

การที่จะส่งศพไปกรุงเทพฯ เจ้าภาพยังหาได้กำหนดวันไม่

สนองความในลายพระหัตถ์

๑) ความขัดข้องของมนุษย์ที่จะไปไหนๆ แต่ก่อนมา มักอยู่ที่พาหนะหรือดินฟ้าอากาศทำให้หนทางกันดาร ครั้นมนุษย์ถึงความเจริญแล้วเปลี่ยนไปอยู่ที่จำนวนเงิน ถ้ามีเงินพอแล้วจะไปไหนมาไหนก็สะดวกทุกอย่าง แต่ถึงสมัยนี้ความโหดร้ายของมนุษย์กล่าวคือสงคราม เป็นเหตุสกัดกั้นทางตัดทอนพาหนะ และแถมเพิ่มภอันตรายด้วยเครื่องประหาร ขัดขวางการไปมาของมนุษย์เสียทั่วทั้งโลก ไม่เคยเป็นเหมือนเช่นนี้มาแต่ก่อน น่าอนาถใจ ลูกชายดำของหม่อมฉันสำเร็จการเรียน และกระทรวงกลาโหมก็ได้เรียกให้กลับบ้านเมืองแล้ว เดิมได้ยินว่าจะมาถึงเมืองไทยในเดือนกันยาหรือตุลาคม แต่หาทางมายังไม่ได้ ต้องติดแขวนอยู่ที่เมืองสวีเดนเพราะการสงคราม จะมาได้เมื่อใดก็ยังไม่รู้

๒) ที่ทรงปรารภว่า บทกลอนไทยได้ตำรามาแต่อินเดียนั้น หม่อมฉันเห็นตามพระดำริ ถึงโคลงที่บังคับเสียงสูงต่ำอันไม่มีในแบบอินเดียก็เป็นแต่ไทยคิดเพิ่มเข้ากับคณะกลอนอินเดีย

หม่อมฉันนึกขึ้นถึงที่พวกมิชชันนารีอเมริกัน เอาภาษาไทยแต่งเป็นกลอนฝรั่งจำได้อยู่บท ๑ ดูก็เป็นกลอนได้ดี

กลอนภาษาฝรั่ง

There is happy land

Far far away

อีก ๒ บาทจำไม่ได้

กลอนภาษาไทย

ยังมีสวรรค์สนุก

อยู่ไกลนักหนา

พวกนั้นอยู่เย็นเป็นสุข

ทุกทุกเวลา

๓) ฉัตรเครื่องสูงกับฉัตรเบ็ญจานั้นหม่อมฉันก็เห็นพ้องกับพระดำริว่าหลักอยู่ที่ ๕ สี เบ็ญจรงค์เหมือนกันทั้ง ๒ อย่าง แต่อย่างสีเดียวทั้งคันเห็นจะเกิดก่อน อย่าง ๒ สีรวมกันในฉัตรคันเดียวน่าจะเกิดภายหลัง ด้วยจะลดยศเป็นหลั่นลงมาหรืออย่างไรคิดยังไม่เห็นถนัด เพราะฉัตรเครื่องก็ดีฉัตรเบ็ญจาก็ดีใช้เป็นสำรับหลายคันและเป็นคู่ๆ ส่วนสีเป็นคี่มี ๕ สี จะปรับกันได้สนิทแต่ทำชั้นละสีในฉัตรคันเดียว ที่ทำชั้นละ ๒ สีอย่างฉัตรเบ็ญจาจะเหลือสีเขินอยู่สี ๑ จึงคิดไม่เห็นว่าอะไรเป็นหลักของฉัตรเบ็ญจา

๔) การสร้างเรือน ว่าตามทางวิทยาศาสตร์ต้องตรวจพื้นที่ตรงจะปลูกเรือนก่อนแล้วทำรากเรือนตามสมควรแก่พื้นที่ สังเกตดูที่เมืองปีนังนี้เขาก็สร้างโดยทางนั้น เรือนสร้างทางใกล้เชิงเขาทำรากตื้นๆ แต่ตอนใกล้ทะเลต้องทำรากลึก เช่นโรงโปลิศใหญ่สูง ๔ ชั้นที่สร้างใหม่ เขาใช้เข็มคอนกรีตยาวสัก ๓ วา คิดดูของหนักที่สร้างในกรุงเทพฯ แต่โบราณ เช่นวัดแลปราสาท ผู้สร้างก็คงรู้หลักจึงอยู่ดีมาได้ตั้งร้อยปี มีปรากฏว่าไม่รู้เท่าถึงพื้นที่แห่งเดียว แต่สร้างภูเขาทองเมื่อรัชกาลที่ ๓ ความพลาดพลั้งเพิ่งมาปรากฏเมื่อสร้างบ้านเรือนอย่างฝรั่ง อวิชชาพาให้เอาอย่างตึกในเมืองฝรั่ง เช่น มีห้องต่ำกว่าพื้นดินเป็นต้น มาสร้างก็ใช้ไม่ได้

๕) ที่ทรงปรารภถึงทำหน้าภาพเป็นกระหนกนั้น หม่อมฉันคิดพิเคราะห์ดูเห็นว่าคติของช่างชาวประเทศทางตะวันตกกับชาวประเทศทางตะวันออก แต่โบราณก็เป็นอย่างเดียวกัน สิ่งต่างๆ ที่เขาเขียนๆ แต่เป็นเครื่องหมาย Symbol ให้รู้ว่าสิ่งนั้น ดังลวดลายก็หมายเอาเครื่องประดับด้วย ดอกไม้ใบไม้และกิ่งก้านเป็นมูล รูปภาพก็หมายว่าสัตว์หรือคน เขียนรูปภาพคนต่างพันธุ์ก็เลือกเอาลักษณะที่ต่างกันเขียนหมายให้รู้ว่าเป็นพันธุ์ไหน เช่น เป็นมนุษย์หรือเป็นยักษ์เป็นต้น อันนี้เป็นมูล ต่อขึ้นไปอีกชั้น ๑ ถ้าจะเขียนภาพพันธุ์เดียวกันให้รู้ว่าต่างกันตามชนิด เช่นเขียนภาพมนุษย์ให้ผิดกันพอสังเกตได้ ด้วยพวกราชให้ใส่ชฎา พวกอำมาตย์มีแต่กรอบหน้า พวกราษฎรผมเปล่า เป็นต้น ยังมีต่อไปอีกชั้น ๑ เขียนภาพมนุษย์ชนิดเดียวกันให้รู้ว่าคนไหนเป็นเฉพาะตัว หม่อมฉันคิดว่าที่ทำรูปภาพพระนารายณ์มี ๔ กร พระอิศวรมี ๓ ตา พระพรหมมี ๔ หน้า ก็จะเกิดแต่ประสงค์จะเขียนรูปพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ให้รู้ว่ารูปองค์ไหนนั้นเป็นมูล คงเอาคำยอพระเกียรติพระนารายณ์ที่ในมนต์ แสดงว่ามีฤทธิ์ที่พระกรมาเขียนเพิ่มพระกรขึ้นเป็นเครื่องหมาย สำหรับพระอิศวรและพระพรหมก็ทำนองเดียวกัน ประสงค์จะให้เป็นแต่เครื่องหมาย ไม่ใช่ตัวช่างเชื่อหรือจะให้คนเชื่อว่าพระเป็นเจ้ามีอวัยวะผิดธรรมดามนุษย์ ฉันใดก็ทำนองเดียวกับที่ทำพระเศียรพระพุทธรูปเป็นพระเศียรกษัตริย์ฉะนั้น คนภายหลังมาหลงเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงไปเอง ผู้คิดแบบแต่เดิมเขาหาได้ตั้งใจจะให้เชื่อเช่นนั้นไม่

รูปภาพยักษ์เดิมก็เป็นเครื่องหมายให้ผิดกับมนุษย์ ช่างภายหลังมาแก้ไขโดยไม่รู้เค้ามูลเครื่องหมายก็กลายเป็นกระหนกไป

๖) หนังสือ “เรื่องของชาติไทย” นั้นพระยาอนุมานเขาส่งมาให้หม่อมฉันเล่ม ๑ พร้อมกับเรื่องแหลมอินโดจีนฯ หม่อมฉันเขียนขอบใจเขาและได้บอกไปในท้ายจดหมายว่า เดี๋ยวนี้หม่อมฉันเบื่อการค้นเรื่องประวัติชาติไทยเสียแล้ว ไม่สนุกเหมือนกับครั้งแต่งคำอธิบายพระราชพงศาวดาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ รู้สึกว่าเป็นอันพ้นหน้าที่ของหม่อมฉันแล้ว ให้คนชั้นหลังเขาค้นกันต่อไป

๗) ที่มีคนคิดเห็นว่าเมืองนครครืธรรมราช เคยเป็นเมืองลังกามาก่อนนั้น ก็เข้าเค้าเดียวกับความคิดของคนแต่ก่อน ว่าเมืองไทยเป็นมัชฌิมประเทศในเรื่องพุทธประวัติ ถ้าจะปรุงเข้ากับเรื่องรามเกียรติ์ก็จะไม่ยากเท่าใดนัก หม่อมฉันจะลองปรุงถวาย

พระรามอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา ถูกเนรเทศบวชเป็นชีไปด้วยกันกับนางสีดาและพระลักษณ์ วันแรกออกจากพระนครนั้น มีสุมันตันกับผู้คนติดตามไปมากห้ามไม่ฟัง ไปถึงประทับแรมที่เมืองอ่างทอง (อุทยาน) กลางคืนพระรามพานางสีดากับพระลักษณ์ลอบหนีไป ไปถึงบ้านโป่งติดลำน้ำแม่กลอง (สะโตง) ขวางหน้าไปไม่ได้ ขณะนั้นเผอิญกุขันเจ้าเมืองกาญจนบุรี (บุรีรัมย์) เที่ยวล่าสัตว์พบเข้า มีความสามิภักดิ์หาเรือรับพระรามข้ามแม่น้ำ แล้วพาลงไปส่งยังสำนักฤาษีภารทวาตที่ถ้ำเขางูแล้วลากลับไป ฤาษีภารทวาตชวนพระรามให้อยู่ที่อาศรมเขางู พระรามว่าใกล้นักฤาษีจึงแนะให้ไปอยู่ในสำนักฤาษีสรภังค์ ที่ถ้ำเขาหลวงเมืองเพชรบุรี (เขาสัตกูฎ) เมื่อพระรามอยู่เขาหลวงนั้นพระพรตซึ่งลงมาจากเมืองเชียงใหม่ (ไกยเกษ) โดยเข้าใจว่าราชาภิเษกพระราม เมื่อมาทราบว่าเป็นเรื่องทุจริตก็ไม่ยอมรับราชสมบัติ ชวนพระสตรุดกับนางชนนีทั้ง ๓ ตามออกไปเชิญพระรามให้กลับคืนไปครองกรุงศรีอยุธยา พระรามไม่ยอมกลับ เมื่อพระพรตกลับไปแล้วพระรามเกรงจะกลับไปเชิญอีก จึงออกจากเขาหลวงไปเข้าสวนพิราบที่บ้านปืน ฆ่าพิราบตายแล้วหมายจะไปอยู่เสียให้ลี้ลับจึงขึ้นไปทางเหนือน้ำเพชรบุรี (โคตวารี) ร้อนถึงพระอินทรจึงให้มานฤมิตศาลาอาศรมให้พระรามอยู่ที่นั้นต่อมา ฝ่ายทศกัณฐ์อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ได้ฟังนางสรุปนักขาชมโฉมนางสีดานึกอยากได้ จึงขึ้นอากาศยานมาลงที่หัวหิน ลอบไปลักนางสีดาได้พาขึ้นอากาศยานกลับไป ไปพบนกสดายุที่เขาสามร้อยยอด รบกับนกแพ้ตกลงลำบากอยู่ยังแผ่นดิน พระรามพระลักษณ์เดิมสืบถามหานางสีดา ลงไปรู้ความจากนกสดายุจึงเดินตามต่อไป ไปได้พวกลิงที่เมืองชุมพร ได้พวกหมีที่เมืองไชยา รวมกันยกเป็นกองทัพลงไปถึงแม่น้ำตาปี ให้จองถนนข้ามไปได้ถึงเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งกองทัพอยู่ที่เขามหาชัย (เขาแก้วมรกต) ทศกัณฐ์ให้เท้าทูศน์เจ้าเมืองตรัง เท้าขรเจ้าเมืองพัทลุง และเท้าตรีเศียรเจ้าเมืองสงขลามารบก็แพ้พระราม เชิญยักษ์เจ้าเมืองปัตตานีและเจ้าเมืองไทรมารบก็แพ้ ทศกัณฐ์ออกรบเองก็แพ้เลยเสียเมืองนครศรีธรรมราช พระรามได้นางสีดาคืนแล้วพาขึ้นอากาศยานของทศกัณฐ์กลับไปพระนครศรีอยุธยา แล้วแผลงศรตั้งเมืองลพบุรีประทานเป็นบำเหน็จแก่หนุมาน ปรับอย่างนี้ดูก็พอจะสู้เรื่องพระแท่นดงรังได้

๘) ชื่อเมืองขึ้นที่ไปพร้องกับเมืองต่างประเทศ เช่นเมืองหงสาที่เป็นเมืองขึ้นของหลวงพระบางพ้องกับเมืองหงสาวดีนั้น ดูเป็นแต่เกิดขึ้นด้วยคิดชื่อเมืองเมื่อตั้งใหม่ อย่างเดียวกับตั้งชื่อเด็ก ผู้ให้ชื่อเลือกนามซึ่งเห็นว่าเป็นมงคลตั้งเท่านั้น อันคำว่า “เมืองหลวง” หมายความว่าราชธานีฯ ในลานช้างมีเมืองเรียกว่า “เมืองหลวง” หลายแห่ง เช่นเมืองหลวงภูตา เมืองหลวงโปงเลง อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มูลน่าจะมาแต่เมื่อเมืองไหนได้เป็นราชธานี ต่อมาเมื่อย้ายราชธานีไปที่อื่น ชื่อที่เรียกว่าเมืองหลวงคนยังเรียกอยู่ จึงเอาคำอื่นเขาเพิ่มให้ต่างกันกับเมืองหลวงแห่งอื่น เมืองหลวงพระบางเป็นราชธานีเดิมของลานช้าง มีชื่อหลวงว่า “กรุงศรีสัตนาคนหุต” แต่พลเมืองก็น่าจะเรียกกันแต่ว่า “เมืองหลวง” ครั้นตั้งเมืองเวียงจันทน์เป็นราชธานี เอาชื่อกรุงศรีสัตนาคนหุตมาใช้เป็นชื่อหลวง จึงเอาพระบางอันเป็นสิริของบ้านเมืองเข้าต่อเป็น “เมืองหลวงพระบาง” เมืองเวียงจันทน์เมื่อเป็นราชธานี คนเรียกกันว่าเมืองเวียงจันทน์เคยปากมาเสียแต่ก่อนแล้ว แม้เพิ่มคำเมืองหลวงเข้าข้างหน้าว่า “เมืองหลวงเวียงจันทน์” ไม่สะดวกปากก็ไม่ทิ้งคำเดิม จึงคงเรียกว่าเมืองเวียงจันทน์อยู่ หม่อมฉันคิดเห็นว่าจะเป็นอย่างทูลอธิบายมานี้

๙) ในคราวเมล์นี้ หม่อมฉันถวายนิทานโบราณคดีมาทรงอ่านเล่นอีกเรื่อง ๑.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ