วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๖ สิงหาคม มาถึงหม่อมฉันแล้วโดยเรียบร้อย

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑. คำว่าโล้ตามที่ทรงทราบหลักฐานก็เป็นยุติได้ ว่าเราเอาคำภาษาจีนมาพูด ผู้ที่พูดกันต่อๆ ไปไม่รู้ความสังเกตแต่เสียง คล้ายกับคำโย้ จึงแก้เป็นโย้ โดยประสงค์จะให้ถูกต้อง แต่คำว่าจิงโจ้นั้น หม่อมฉันคิดต่อไปเห็นอยู่ข้างชอบกลดังจะทูลสันนิษฐานต่อไปนี้

การที่เอาคำเด็กร้องเล่นมาเขียนเป็นรูปภาพ ที่วัดพระเชตุพนคงเป็นพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นแน่ และเมื่อเขียนรูปภาพแล้วก็คงได้ทอดพระเนตร มิใช่รูปเขียนตามอำเภอใจของช่างที่ช่างเขียน รูปจิงโจ้หน้าเป็นมนุษย์ ตีนเป็นนกนั้น ต้องมีอะไรเป็นหลักฐานว่า รูปร่างจิงโจ้เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ทำให้หม่อมฉันสันนิษฐานว่าเมื่อแรกช่างได้รับคำสั่งให้เขียนเรียงจิงโจ้โล้สำเภาน่าจะจนปัญญา อย่างที่เราเรียกว่า “หงายท้อง” ด้วยไม่รู้ว่าจะเขียนรูปจิงโจ้เป็นอย่างไร อาจจะพิสูจน์แม้ในเวลานี้ ถ้ามีใครมาทูลให้พระองค์ท่านทรงเขียนรูปจิงโจ้ก็คงลำบากพระหฤทัย จะผิดกับช่างเขียนบานวัดพระเชตุพน เพียงที่พระองค์ท่านอาจจะกล้าคิดประดิษฐ์รูปจิงโจ้ แต่ช่างเขียนบานวัดพระเชตุพนไม่กล้าเขียนตามใจชอบ ด้วยเป็นของหลวงเกรงความผิด น่าจะเกิดเป็นปัญหาถึงร้องเรียนไต่ถามผู้ใหญ่ ถึงปรึกษาหารือกันว่ารูปจิงโจ้เป็นอย่างไร และคงมีผู้ใหญ่ชี้ขาดว่าให้เขียนตัวเป็นนกหน้าเป็นมนุษย์ ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มิได้ทรงชี้ขาดเอง เมื่อทอดพระเนตรเห็นรูปภาพก็คงโปรด จึงมิได้ดำรัสสั่งให้แก้ไขไปเป็นอย่างอื่น พิเคราะห์ดูเขียนอย่างนั้นก็มีหลักฐาน เช่นในบทชมดงที่ท่านประทานมาเป็นตัวอย่างว่า

“กะลุมพูจับกะลำพ้อ จิงโจ้จับจิงจ้อแล้วส่งเสียง” ความก็ว่า จิงโจ้เป็นนก แต่บทที่เด็กร้องเล่นว่า “จิงโจ้มาโล้สำเภา” ความบ่งว่าเป็นมนุษย์จึงอาจโล้สำเภาได้ จึงเอาความทั้ง ๒ บทนั้น มาเขียนจิงโจ้เป็นรูปมนุษย์ตีนเป็นนก เห็นจะขบขันถึงกับหัวเราะกันเมื่อตกลงเป็นยุติอย่างนั้น

แต่ที่เป็นความจริงแท้ทางโบราณคดีนั้น แม้แต่ในรัชกาลที่ ๓ ก็รู้กันเพียงว่าจิงโจ้เป็นสัตว์อย่างหนึ่ง ไม่รู้ว่าเป็นสัตว์อย่างไหนหรือรูปร่างเป็นอย่างไร ความส่อต่อไปว่าแต่โบราณคงมีใครเอาสัตว์อะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งรูปร่างแปลกประหลาดไม่มีในประเทศนี้เข้ามาในเมืองไทย และเรียกชื่อตามภาษาของเขาออกเสียงคล้ายๆ กับว่า “จิงโจ้” เมื่อสัตว์ตัวนั้นสูญไปแล้วชื่อยังติดอยู่ เข้าใจกันแต่ว่าเป็นสัตว์แปลกประหลาดอย่าง ๑ เพราะฉะนั้นต่อมาคนจึงมักเรียกสัตว์ซึ่งมีรูปร่างท่าทางหรือกิริยาอาการผิดกับสัตว์อื่นว่า จิงโจ้ เช่นเรียกสัตว์แกงกะรูเมื่อแรกได้มาถึงเมืองไทยว่าจิงโจ้ ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเรียกโขลนแต่งตัวเป็นทหารในงานแห่โสกันต์ทางฝ่ายในว่าจิงโจ้ และทรงประดิษฐ์คำบอกทหารพวกนั้นว่า “จิงโจ้กัด” แทนวันทิยาวุธ “จิงโจ้หยุด” แทนบ่าอาวุธ และ “จิงโจ้นอน” แทนเรียบวุธ ก็มาแต่จิงโจ้เป็นสัตว์แปลกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เหมือนสัตว์อื่นนั่นเอง ถ้าว่าตามทางวิทยาศาสตร์ก็คือไม่มีใครรู้ว่าจิงโจ้เป็นอย่างไรตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ หรือก่อนนั้น มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่ต้องมีตัวจริงในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง จึงมีชื่อปรากฏอยู่

๒. เรื่องรูปภาพพงศาวดารนั้น หม่อมฉันนึกถึงคำฝรั่งกล่าวอย่างหนึ่งดูชอบกล เขาว่ารูปภาพพงศาวดารนั้นเป็นภาพสมมติ Symbol สำหรับผู้รู้เรื่องแล้ว เห็นเข้าก็รู้ว่ารูปใคร ยกตัวอย่างดังรูปนางมารีอุ้มพระเยซูเมื่อเป็นทารก ซึ่งพวกคริสตังชอบบูชามาแต่โบราณ ที่จริงช่างก็เขียนผิดๆ กันทั้งหน้าภาพและเครื่องแต่งตัว คนรู้ประวัติของพระเยซูเมื่อเห็นรูปผู้หญิงอุ้มทารกก็เข้าใจได้ว่าเป็นรูปนางมารีอุ้มพระเยซู ดังนี้ คิดดูก็เป็นความจริงมาจนรูปภาพต่างๆ ที่เขียนกันในเมืองเรา เช่น เรื่องรามเกียรติ์ ที่เขียนพระระเบียงหรือเรื่องชาดกที่่เขียนในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คนดูก็ต้องรู้เรื่องก่อนแล้วไปดูรูปภาพจึงเข้าใจ ใช่แต่เท่านั้น รูปคนหรือรูปวัตถุต่างๆ ที่เขียนในรูปภาพเหล่านั้น ก็เป็นแต่เขียนตามสมมติตามความคิดนั้นเหมือนกัน ยกตัวอย่างดังรูปทศกัณฐ์ บอกในตำราแต่ว่ามี ๑๐ หน้า ช่างพวกหนึ่งเขียนหัวโตออกไปให้หน้าอยู่แถวเดียวกันหมดทั้ง ๑๐ หน้า ช่างอีกพวกหนึ่งเขียนหน้า ๑๐ หน้าซ้อนๆ กันขึ้นไปข้างบนให้ขนาดหัวคงอยู่ดังนี้ รูปภาพเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องชาดกหรือนิทาน เช่นเรื่องอิเหนา เขียนตัวเท้าพระยาใส่ชฎาเหมือนกันหมด ก็รู้ได้ว่าเป็นรูปใคร ด้วยรู้เรื่องอยู่ก่อนแล้ว สังเกตดูท่าทางหรือที่สถิตย์ของรูปภาพ ถ้าว่าโดยนัยนี้ ดูลักษณะที่เขาเขียนกันมาแต่ก่อนก็ไม่น่าติเตียน การที่ช่างสมัยใหม่มาคิดแก้ไขโดยประสงค์จะให้เหมือนจริงนั้นเสียอีกน่าติ ดังเช่นเขียนรูปภาพท้าวพระยาใส่ชฎาตามแบบโบราณ ให้ถือซ่อมช้อนเมื่อกินอาหารเป็นต้น เพราะกลับทำให้ห่างไกลความจริงยิ่งหนักขึ้น

๓. เรื่องขุนแผนนั้นแต่งในสมัยเมื่อไทยเรายังเชื่อถือวิชากฤตยาคมกันมั่นคง ตัวขุนแผนตามที่พรรณนาในเรื่องประวัติดูเหมือนจะยกย่องคุณวิเศษเหล่านี้ คือ เป็นผู้เชี่ยวชาญกฤตยาคมอย่าง ๑ เป็นคนซื่อตรงอย่าง ๑ และเป็นเจ้าชู้ด้วยอย่าง ๑ ในหนังสือแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่นใน “คำให้การชาวกรุงเก่า” ดูยกย่องคุณวิเศษ ๑ อย่างข้างต้นเป็นสำคัญ คุณวิเศษในการเป็นเจ้าชู้ดูมาเฟื่องฟูด้วยบทเสภาที่แต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นตอนพลายแก้วกับนางพิม และตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง เพราะแต่งจับใจดีเหลือเกิน ใครอ่านก็เอาใจเข้าด้วยขุนแผนทั้งนั้น

๔. ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) ทูลถึงที่ติดเทียนบูชาทางอิสาณทำเป็นรูปเรือนั้น หม่อมฉันก็เคยอ่านคำอธิบายของท่านอ้างว่าแทนลอยไป บูชารอยพระพุทธบาทที่ยมทานที อย่างเดียวกับเรือหยวกที่เราลอยกระทง หม่อมฉันยังคิดไม่เห็นปลอดโปร่งจึงยังไม่อนุมัติ เรือสัมฤทธิ์ที่พระพุทธบาทอยู่ที่นั่นมาเก่าแก่ จะเป็นต้นแบบของพวกอิสาณ หรือเอาแบบอิสาณมาทำก็ยังไม่แน่ใจ จึงขอประทานเปิดปัญหาไว้ก่อน

๕. ที่เรียกในกฎมนเทียรบาลว่า “ราชยานมีจำลอง” นั้น หม่อมฉันก็ได้คิดว่าบางทีจะคล้ายกับกูบช้าง ซึ่งเรียกว่าจำลองเหมือนกัน แต่คิดว่าถ้าใช้กูบอย่างนั้นกับยานหามเห็นไม่สบายเหมือนวอสีวิกา ก็เกิดสงสัยในกฎมนเทียรบาลว่ามิใช่อย่างกูบช้าง จึงมิได้คิดวินิจฉัย

เสลี่ยงหิ้วนั้น ฝรั่งก็มีเก้าอี้หิ้ว และวอหิ้ว Sedan Chair เขาทำสำหรับ ๒ คนหิ้วด้วยมือจริงๆ เสลี่ยงหิ้วของเราเดิมทีเดียวก็อาจจะหิ้วด้วยมือ แต่เสียอยู่ที่หิ้วไปไม่ได้ไกล และเสลี่ยงอาจจะหลุดมือล่มได้ง่าย จึงให้มีสายสาแหรกสำหรับคนตะพาย หรือจะมีมาแต่แรกคิดทีเดียวก็เป็นได้ แต่เสลี่ยงหิ้วจะเป็นต้นแบบเสลี่ยงหาม หรือเสลี่ยงหามจะเป็นต้นแบบของเสลี่ยงหิ้ว ข้อนี้หม่อมฉันยังคิดไม่ตกลงใจ

เครื่องยานหามต่างๆ ตามเค้าเงื่อนที่ตรวจพบในกฎมนเทียรบาลและเห็นยานชนิดนั้นที่มีต่อมา จะปรับลงเป็นยุติต่อกันดู “ฟั่นเฝือเหลือปัญญา” เพราะเวลาสืบเนื่องมาหลายร้อยปี มีการเปลี่ยนแปลงมาในระหว่างนั้นก็มาก เห็นจะยุติได้เพียงว่ามี ๔ ประเภท เรียกตามสะดวกว่า “ยานมาศ” แบกสองลำคานขึ้นบ่าประเภทหนึ่ง “เสลี่ยง” ที่นั่งโถงหามด้วยสาแหรกผูกคานประเภทหนึ่ง “วอ” อย่างเสลี่ยงแต่มีหลังคาประเภทหนึ่ง “คานหาม” มีคานเดียวหามสองคนประเภทหนึ่ง เท่านั้น

๖. หอที่ตำหนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิตนั้น หม่อมฉันจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่ามี ๒ หอต่อกัน คือ หอพระหอ ๑ กับหอทรงพระอักษรหอ ๑ เขาเล่าว่าเวลาค่ำพอเสด็จพระธุระอื่นแล้วสมเด็จพระปรมาฯ ท่านเสด็จเข้าหอทรงพระอักษรเสมอทุกคืน มหาดเล็กเอาหมากเสวย และน้ำร้อนน้ำเย็นไปตั้งถวายแล้วไปนอนได้ ด้วยท่านไม่ตรัสเรียกหาอะไรต่อไป ส่วนพระองค์ท่านทรงพระนิพนธ์หนังสือ เขียนลงในกระดานชะนวนอย่างโบราณ มีกำหนดแน่เป็นนิจว่าต้องทรงเขียนเต็ม ๒ หน้ากระดานชะนวน แล้วจึงเสด็จเข้าบรรทม เพราะฉะนั้นวันไหนแต่งคล่องก็บรรทมหัวค่ำ วันไหนแต่งติดขัดก็บรรทมดึก คืนไหนบรรทมดึกก็บรรทมจนสาย พวกมหาดเล็กมีอุบาย ถ้าวันไหนถึงเวลาเพลยังไม่บรรทมตื่น ก็จับลูกแกว่งนาฬิกาในตำหนักให้หยุดเสีย พอรู้ว่าบรรทมตื่นจึงไกวแกว่งนาฬิกา กราบทูลว่าเพลแล้วดังนี้ พวกเราเลยหาว่าพระยามหานิเวศน์ (เผือก) เป็นผู้หยุดลูกแกว่งให้สมเด็จพระปรมาฯ เสวยนอกเพล

๗. เมื่อเมล์มาคราวก่อน หม่อมฉันได้รับใบบัตรดำใบ ๑ พอชักใบบัตรขึ้นจากซองได้หน่อยหนึ่ง เห็นหนังสือว่าจะพระราชทานเพลิงศพพระยาราชโกษา (จันทน์ วัชโรทัย) ก็สะดุ้งหยุดทันทีมิได้ชักบัตรขึ้นไปอีก ด้วยรู้อยู่ว่าพระยาราชโกษาคนที่เป็นต่อพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย) ข้าหลวงเดิมของพระาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นคนสกุลอื่น บุตรพระยาอุทัยธรรมที่รู้จักก็เป็นพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร ใครจะเป็นพระยาราชโกษา (จันทน์ วัชโรทัย) ผู้ตาย และไฉนชื่อตัวจึงไปพ้องกับพระยาราชโกษาคนที่โกนผมหม่อมฉันเมื่อโกนจุก ๖๕ ปีมาแล้ว ต่อชักบัตรหมดซองเห็นชื่อพระอายุทัยธรรมเป็นเจ้าภาพ จึงรู้แน่ว่าศพพระยาราชโกษา (จันทน์) คนโบราณนั้นเอง แต่เหตุใดศพจึงรอมาช้านานยิ่งกว่าที่เราเรียกว่า “ศพรอไฟประลัยกัลป์” รายอื่นๆ ที่เคยได้ยิน หม่อมฉันตั้งใจจะทูลถามในจดหมายเวรฉบับนี้ ก็พอตรัสมาให้ทราบในลายพระหัตถ์ แต่ต้องอนุโมทนาที่พระยาอุทัยธรรมเขาจัดการปลงศพ เมื่อตัวเขาเองอายุก็กว่า ๘๐ ปีแล้ว ได้สนองคุณบิดามารดาทันตาเห็น

ข่าวทางปีนัง

๘. เขามีการซ้อมปิดมือที่นี่ตั้งแต่เวลายาม ๑ จน ๕ ทุ่ม ๓ วันติดๆ กัน แต่วันพฤหัสบดีที่ ๘ มาจนวันเสาร์ที่ ๑๐ แต่คราวนี้ไม่รู้สึกรำคาญเหมือนคราวก่อนๆ เห็นจะเป็นเพราะเคยเข้านั่นเอง และคิดไปถึงในยุโรปที่ปิดแต่ย่ำค่ำจนย่ำรุ่งเสมอทุกวัน ดูจะรำคาญอย่างยิ่ง แต่ก็เห็นจะคุ้นไปได้เหมือนกัน

๙. เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ หญิงจงฯ ออกมาถึง นำสิ่งของคุณโตฝากมาให้ ขอได้โปรดบอกขอบคุณเธอแทนหม่อมฉันด้วย รุ่งขึ้นวันที่ ๑๒ หม่อมเจิมกับหลานแมวก็กลับไปกรุงเทพฯ เสมอผลัดกันมาอยู่ด้วยให้หม่อมฉันอุ่นใจ ก็มีความยินดีอยู่ ป่านนี้หม่อมเจิมคงเอาหนังสือที่หม่อมฉันฝากไปถวายทรงอ่านเอือมอยู่แล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ