วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน มาถึงหม่อมฉันแล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ เวลาเช้า ประหลาดใจที่ท่านไม่ได้รับจดหมายเวรของหม่อมฉัน ฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ตามกำหนดเช่นเคย บางทีก็จะเป็นแต่เจ้าพนักงานส่งช้าไป ถึงกระนั้นหม่อมฉันก็ให้คัดสำเนาส่งถวายซ้ำมากับจดหมายฉบับนี้ด้วย ให้แน่ใจว่าจะไม่ขาด

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) หญิงอี่ถูกเจ้าผ้าเอาเปรียบนั้น ส่อให้เห็นว่าการขายผ้าฉ้อคนซื้อด้วยวิธีลดขนาดจะมีแพร่หลายในท้องตลาด เห็นอุบายที่จะแก้มีอย่างเดียว แต่ผู้ซื้อจะต้องให้ผู้ขายคลี่ผ้าออกวัดดูเสียก่อน ถ้าไม่ยอมคลี่หรือวัดไม่ได้ขนาดก็ไม่ซื้อ ถ้าผู้ซื้อระวังอย่างนั้นมากด้วยกัน ผู้ขายก็จะต้องขวนขวายขายผ้าให้ได้ขนาดเอง ขืนยอมซื้อผ้าต่ำขนาดเอามาประเชินนุ่งเสมอไป ลงปลายก็จะต้องกลับนุ่งจีบหรือทำเป็นถุงนุ่งเหมือนอย่างมอญ

๒) เรื่องที่ทรงปรารภว่าไทยเราทำปราสาทกับมณฑปและบุษบกด้วยแบบอย่างเดียวกัน โดยไม่รู้หรือไม่นิยม ว่าที่จริงปราสาทเป็นแต่เรือนหลายชั้น มณฑปเป็นโรงปลูกใช้ชั่วคราว และบุษบกเป็นซุ้มประดับดอกไม้ ไม่จำเป็นจะต้องมียอดทั้ง ๓ อย่าง แต่มาถือเอายอดเป็นสำคัญนั้นจับใจอยู่ หม่อมฉันลองคิดต่อไปว่า เหตุไฉนปราสาทที่สร้างกันในเมืองพม่า มอญ ไทยจึงต้องมียอด เห็นว่าเกิดแต่การแก้ไขโดยมีเหตุ แต่คนภายหลังซึ่งไม่รู้เรื่องเดิมสำคัญผิด หลักเดิมเป็นเช่นท่านทรงพระดำริ คือบรรดาเรือนที่ยกพื้นเป็นหลายชั้นเรียกว่าปราสาท เป็นชื่อชนิดของเรือน เปรียบเหมือนเรียกเรือนชนิดหนึ่งว่า “เก๋ง” แม้ในพระบาลีก็มีปรากฏว่า เศรษฐีและคฤหบดีในอินเดียอยู่ปราสาทกันโดยมาก เพราะเรือนราษฎรพลเรือนเป็นเรือนชั้นเดียวพื้นอยู่ติดกับแผ่นดิน ปราสาทจึงเป็นเครื่องหมายว่าเป็นเรือนของผู้มีบุญกว่าคนสามัญ แต่ปราสาทย่อมสร้างต่างกันตามกำลังพาหนะและยศศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของ ตั้งแต่เป็นเรือน ๒ ชั้นขึ้นไปจนถึง ๗ ชั้น จึงเป็นเหตุให้ถือกันอีกอย่างหนึ่ง ว่าผู้มีบุญมากย่อมอยู่ปราสาทสูงหลายชั้นขึ้น ผู้มีบุญน้อยก็อยู่ปราสาทเตี้ยมีพื้นน้อยชั้นลงมา ความเข้าใจในมูลเดิมมีเพียงเท่านี้ ก็แต่ปราสาทกับเรือนราษฎรในอินเดียแต่โบราณผิดกันอีกอย่างหนึ่ง ด้วยบรรดาเรือนราษฎรยอมก่อด้วยดินดิบหรือก้อนหินและอิฐเผา แต่ปราสาทนั้นก่อเพียงชั้นล่าง ชั้นบนต่อขึ้นไปจะทำด้วยเครื่องก่อหนักนัก จึงทำด้วยเครื่องไม้ มีรูปปราสาทเช่นว่าในลายจำหลักศิลาปรากฏอยู่ คิดดูโดยพิจารณาลักษณะโบราณวัตถุ เห็นว่าปราสาทจะเริ่มมียอดขึ้นด้วยสร้างเทวสถาน อันต้องการใช้เพียงชั้นเดียว แต่จะให้เป็นปราสาทให้เป็นบ้านเรือนชนิดศักดิ์สูงสมเป็นเทวสถาน จึงคิดเอาลักษณะปราสาทหลายชั้นร่นส่วนลงมาประดิษฐ์เป็นปรางค์ไว้กลางตรงห้องไว้เทวรูป แล้วต่อมุขออกจากปราสาท เป็นต้นแบบปราสาทราชมณเฑียรทำกันภายหลังต่อมา อันพึงสังเกตได้ว่า ยอดปราสาทก็เป็นลักษณะเรือนหลายชั้นย่อลงอย่างเทวสถานที่ว่ามา เพราะไม่ทำเช่นนั้นก็ไม่เป็นเรือนหลายชั้นตรงกับชื่อที่เรียกว่าปราสาท ยยดปราสาทที่จริงเป็นแต่ของสมมติแต่ทำกันจนชินมา ก็เลยเข้าใจกันว่าต้องมียอดเช่นนั้นจึงเป็นปราสาท

หลังคามณฑป บุษบก แม้ที่สุดจนฝาโกศ เช่นโกศกุดั่นและโกศแปดเหลี่ยมก็ทำยอดอย่างหลังคาปราสาท ด้วยสมมติต่อลงไปว่าวัตถุที่ประดิษฐานไว้ในนั้นสูงศักดิ์อยู่ในปราสาท หรือเพียงเห็นว่ายอดอย่างนั้นเป็นแบบหลวง ก็เลยเอาเป็นแบบอย่างทำกันแพร่หลาย ลืมคิดถึงมูลเดิม

๓) คำพูดที่เหมือนกันแต่หมายความต่างกัน หม่อมฉันนึกได้อีกคำ ๑ คือคำว่า “ช้า” หมายความตรงกันข้ามกับ “เร็ว” ได้อย่าง ๑ และหมายความว่า “ไกว” ได้อีกอย่าง ๑ เช่นใช้ว่า “ช้าลูกหลวง” “ช้าเจ้าหงส์” และ “ชิงช้า” อันคำ “ช้า” ที่หมายว่า “ไกว” ดูน่าจะเป็นศัพท์ภาษาอื่นที่เสียงคล้ายๆ กัน ไทยเราเอาเหยียดเป็น “ช้า” แต่จะเป็นภาษาไรยังคิดไม่เห็น

คำว่า “โล้” นั้นน่าจะเป็นภาษาจีน จะเป็นนามศัพท์หรือกริยาศัพท์สังเกตตามที่เอามาใช้ในภาษาไทยเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง ถ้าเป็นนามศัพท์ หมายความว่ากระเชียงจีนอย่างใหญ่ที่ใช้ผูกพุ้ยข้างท้ายให้เรือแล่น คำภาษิตว่า “ไม่เป็นโล้เป็นพาย” ดูหมายเป็นนามศัพท์ ที่ใช้คำโล้เป็นกิริยาศัพท์ เช่นกล่าวว่า “โล้สำเภา” อาจเป็นเรืออย่างใช้กระเชียงโล้ จูงเรือสำเภาเมื่ออับลม เช่นว่าพระยาจีนจันตุ “ให้โล้เรือสำเภา” หนีสมเด็จพระนเรศวร และเทวดามาช่วยโล้สำเภาพระพุทธโฆษาจารย์ คำที่ว่า “โล้ชิงช้า” ก็น่าจะหมายตรงที่คนเอาเชือกฉุดชิงช้าให้ไกว แม้ภาษิต “ไม่เป็นโล้เป็นพาย” จะหมายเป็นกิริยาติว่า “ไม่ทำเองและไม่ให้ผู้อื่นทำ” ก็อาจเป็นได้ แต่ที่เอาไปใช้ถึงเรียกว่า “เก้าอี้โล้” นั้นผิด เพราะเป็นแต่กิริยาโยกมิใช่โล้

๔) ในลายพระหัตถ์ตรัสถึงฝีพายเมืองปัตตานี เตือนใจหม่อมฉันให้นึกขึ้นถึงโบราณคดีเรื่องฝีพาย เห็นเป็นเรื่องน่าเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงจะทูลบรรเลงถวายต่อไปในจดหมายฉบับนี้ ตามประเพณีมีมาแต่โบราณ การเลือกสรรฝีพายเรือพระที่นั่ง เพื่อจะให้ได้คนมีกำลังและไว้ใจได้ จึงใช้คนกำหนดเป็นตำบล คือบรรดาคนในตำบลที่กำหนดนั้นงดเว้นราชการอื่นหมด ให้เป็นแต่ฝีพายเรือหลวงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่นคนในตำบลบ้านผักไห่และบ้านตาลาน ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นต้น และยังมีตำบลอื่นอีกแต่หม่อมฉันจำชื่อไม่ได้ เป็นฝีพายทั้งนั้น แม้เรือดั้งคู่ชักก็มีฝีพายประจำตำบลลำ ๑ ใช้คนบ้านใหม่แขวงจังหวัดอ่างทองอีกลำ ๑ ใช้คนบ้านโพธิ์เรียงในแขวงจังหวัดอ่างทองเหมือนกัน เมื่อใดเรียกระดมฝีพาย พวกนายหมวดนายกองต้องเลือกคนฉกรรจ์ที่กำลังล่ำสันส่งเข้ามาให้พอพายเรือหลวง ฝีพายเรือพระที่นั่งเดิมแต่งตัวนุ่งกางเกงผ้ามัสหรู่ คาดผ้ากราบ ตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ และมีพระราชกำหนดว่า ถ้าฝีพายต้องรับพระราชอาญาห้ามมิให้เฆี่ยนหลัง เพราะจะทำให้เสียโฉม และมีประเพณีเนื่องต่อออกไปอีกอย่าง ๑ ถ้าเสด็จพระราชทานพระกฐินวัดที่มีเจ้าของ เช่นวัดประยูรวงศ์เป็นต้น หรือวัดในหัวเมือง เช่น วัดเฉลิมพระเกียรติในแขวงจังหวัดนนทบุรีเป็นต้น เจ้าของวัดและเจ้าเมืองย่อมแจกผ้าคาดสีนวลชุบน้ำหอมแก่ฝีพายเรือพระที่นั่ง สำหรับเช็ดเหงื่อและให้ชื่นใจด้วยกลิ่นหอม แล้วคาดผ้าเปียกนั้นไว้กับอกตามนิยนกันในสมัยนั้นพายเรือพระที่นั่งได้ไม่ห้ามปราม ดูเหมือนจะให้ฝีพายเรือพระที่นั่งใส่เสื้อเมื่อรัชกาลที่ ๔ หรือเมื่อรัชกาลที่ ๕ ก็เป็นได้ เมื่อหม่อมฉันเป็นนายทหารมหาดเล็ก เคยไปจอดเรือดูกระบวนกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จไปทอดพระกฐินวัดสุวรรณารามครั้ง ๑ เห็นทรงเรือที่นั่งกราบหลังคากันยาดาดกระแชง ฝีพายยังตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ เสื้อฝีพายเรือพระที่นั่งนั้น แรกใส่เสื้อกระบอกผ้าขาวมาจนคัดฝีพายเป็นทหาร จึงเปลี่ยนเป็นแต่งเครื่องแบบ ใส่หมวกทรงประพาส เสื้อสักหลาดสีแดง คาดเข็มขัดคันชีพ นุ่งกางเกงดำ หม่อมฉันได้เป็นราชองครักษ์ลงเรือพระที่นั่ง เมื่อฝีพายแต่งเป็นทหารเสียแล้ว พลอยได้รับผ้าขาวม้าแจกด้วย แต่เมื่อฝีพายใส่เสื้อเสียแล้วได้ผ้าแจกไปก็เป็นแต่ใช้เช็ดหน้าแล้วคาดพุงนอกเข็มขัดพายเรือกลับมา ตามหัวเมืองใหญ่เช่นเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองมลายูประเทศราช เช่นเมืองไทร เมืองกลันตัน แม้จนเมืองปัตตานี คงเอาแบบในกรุงเทพฯ ลงไปจัดฝีพายในเมืองนั้น จึงมีฝีพาย ๆ เรือแข็งทุกแห่ง เรื่องที่เล่ากันมาว่าถ้าเรือไม่เร็วได้ดังใจ เจ้าพระยานครฯ น้อยให้เอาเรือขึ้นคว่ำให้ฝีพายถองลงโทษเรือ ก็จะมาแต่ฝึกหัดกวดขันฝีพายเมืองนครนั่นเอง

ปกิรณกะ

๕) ที่หม่อมฉันทูลไปในจดหมายเวรฉบับลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ถึงพระเก้าอี้ถมที่ทำเป็นพระที่นั่งภัทรบิฐนั้น บัดนี้มาพบหลักฐานเพิ่มเติมขึ้น เห็นได้ว่าถวายทูลกระหม่อมเมื่อใด และใช้เป็นพระที่นั่งภัทรบิฐเมื่อใด ด้วยมีในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง (ฉบับพิมพ์หน้า ๑๙๐) ว่าเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒ มีงานเฉลิมพระราชมณเฑียรพระอภิเนาวนิเวศน์ และว่าตรงนั้นทูลกระหม่อมทรงพระราชปรารภว่า

“เมื่อทำการพระบรมราชาภิเษกแต่ก่อน กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสดับเทียนชัยเสียก่อน การยังไม่ทันแล้ว ก็ครั้งนี้จะทำให้เหมือนการบรมราชาภิเษกเทียนชัยจะได้เอาไว้จนเสร็จการจึงดับ”

แล้วพรรณนารายการพระราชพิธีอย่างละเอียดต่อไปหลายหน้า มีเสด็จประทับพระที่นั่งอัฐทิศและพระที่นั่งภัทรบิฐอยู่ในนั้นด้วย ส่อหลักฐานน่าเชื่อ ว่าเจ้าพระยานครฯ (น้อยกลาง) คงเข้ามาเฝ้าในงานเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒ และเอาพระเก้าอี้ถมกับพนักเรือพระที่นั่งกราบเข้ามาถวายในครั้งนั้น ทูลกระหม่อมจึงโปรดให้ใช้พระเก้าอี้ถมเป็นพระแท่นภัทรบิฐในงานนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินเจ้าพี่ๆ ท่านตรัสเล่า ว่าทูลกระหม่อมโปรดให้ตั้งทั้งพระที่นั่งอัฐทิศและพระที่นั่งภัทรบิฐ ครั้งนั้นประจำอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม (คนได้เห็นพระเก้าอี้ถมเป็นพระที่นั่งภัทรบิฐ) ต่อมาจนตลอดรัชกาล ชวนให้เข้าใจต่อไปว่า เดิมพระที่นั่งอัฐทิศกับพระที่นั่งภัทรบิฐเห็นจะเป็นของทำสำหรับใช้ชั่วคราว จะเพิ่งเป็นของทำประจำอยู่เสมอเมื่องานเฉลิมพระราชมณเฑียรครั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อถึงงานบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๕ จึงใช้พระเก้าอี้ถมเป็นพระที่นั่งภัทรบิฐโดยไม่มีปัญหา.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ