วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ช้าอยู่ที่พนักงานไปรษณีย์วัน ๑ มีมาถึงหม่อมฉันต่อวันเสาร์ที่ ๗ เมษายน แต่ของก็เรียบร้อยดี

หม่อมฉันรับพรปีใหม่ที่ประทานมาด้วยความยินดี และขอบพระคุณมาก

ทูลความค้างมาจากจดหมายเวรฉบับก่อน

มีประเพณีเนื่องมาจากงานหน้าพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตนเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗ ในปีนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้าวชิรุณหิศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภว่า การทำพระเมรุใหญ่ท้องสนามหลวงอย่างแต่ก่อน เป็นการสิ้นเปลืองและเดือดร้อนแก่ผู้คนที่ถูกเกณฑ์ให้เที่ยวหาทัพพสัมภาระมากนัก ทรงพระราชดำริจะให้สร้างพระเมรุเป็นของถาวรขึ้นไว้ โดยปกติให้ใช้เป็นสถานบาลีวิทยาลัย ถ้ามีงานพระศพชั้นศักดิ์สูงแม้จนพระบรมศพก็ให้ถวายพระเพลิงในสถานที่นั้น แทนพระเมรุกลางเมืองต่อไป ก็แต่การสร้างพระเมรุอย่างนั้นถึงสองสามปีจึงจะแล้ว พระศพจะต้องรออยู่นาน จึงทรงพระราชดำริให้ทำพิธีปิดพระศพ เรียก (ตามภาษาสังสกฤตของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์) ว่า “พิธีมฤตกวัฏ” คือ เมื่อทำบุญหน้าพระศพคราว ๑๐๐ วัน อย่างทำเมื่องานพระศพสมเด็จพระนางสุนันทา ฯ แล้ว เวลาบ่ายมีการประชุมที่หน้าพระศพอย่างเต็มยศ พระสงฆ์ราชาคณะราว ๓๐ รูป สวดพระธรรมปริยาย ซึ่งรวบรวมเป็นบทสวดขึ้นใหม่ สำหรับงานเช่นนั้น ด้วยทำนองสรภัญญะ เมื่อสวดจบประโคมสังข์แตรกลองชนะ เจ้าพนักงานชักสายพระสูตรปิดม่านบังห้องมุขตะวันตก อันเป็นที่ตั้งพระศพทั้งหมด แล้วเป็นเสร็จงาน พิธีมฤตกวัฏนั้นได้ทำต่อมาอีกสักสองสามครั้ง แต่เป็นพิธีเคราะห์ร้าย ทำครั้งใดเผอิญมีบุคคลทรงศักดิ์สูงสิ้นชีพลงเมื่อเสร็จงานแล้วในไม่ช้า จนมีคนเห็นว่าเป็นงานอัปมงคล ครั้งหลังจะเป็นเมื่อมีงานมฤตกวัฏศพใครจำไม่ได้ แต่ในค่ำวันนั้น เผอิญหม่อมแม้นในสมเด็จพระราชปิตุลาเป็นอหิวาตกโรคถึงอนิจกรรม แต่นั้นก็เลิกมิได้มีงานมฤตกวัฏอีก

ต่อมาอีกหลายปี จะเป็นเมื่องานพระศพเจ้านายพระองค์ใด และสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะทรงปรารภอย่างไร ลืมเสียแล้วนึกไม่ออก มีพระราชประสงค์ใคร่ให้มีการสวดคล้ายกับพิธีมฤตกวัฏขึ้นอีก ตรัสปรึกษาสมเด็จพระมหาสมณฯ จึงทรงคิดแบบขึ้นใหม่ เรียกว่า “พิธีสราทพรต” พระราชาคณะรวมกันสวดเป็นทำนองสวดสามัญต่อพระธรรมเทศนา ใช้เป็นแบบสืบมาจนบัดนี้ แต่ชั้นหลังมานี้ดูสวดแต่เวลาเมื่อก่อนจะพระราชทานเพลิง และมิได้ทำพิธีสราทพรตกันเป็นประเพณีแพร่หลายเหมือนอย่างทำบุญหน้าศพครบ ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน ทูลมานี้เป็นสิ้นเรื่องตำนานเรื่อง ๑

ยังมีตำนานอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกิดเนื่องมาแต่ครั้งงานพระศพสมเด็จพระนางสุนันทาเหมือนกัน เมื่อมีกงเต๊กเป็นงานหลวงครั้งนั้น คนทั้งหลายคงจะเห็นเป็นการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างกว้างขวางผิดกับเคยมีมาแต่ก่อน เป็นเหตุให้พระสยามิศรภักดี (หรือสร้อยอย่างอื่นจำไม่ได้แน่) เป็นแขกอาหรับ พวกเราเรียกกันแต่ว่า“ขรัวหยา”ซึ่งเป็นเขยสู่ข้าหลวงเดิม กราบทูลขอเอาพวกนักสวด แขกอิสลาม เข้ามาสวดช่วยการพระราชกุศล และทูลรับรองว่าไม่ขัดกับคติศาสนาอิสลาม จึงโปรดให้เข้ามาสวดในเวลาค่ำตามประเพณีของเขา ณ ศาลาอัฏวิจารณ์ ที่พระญวนเคยทำกงเต๊ก หม่อมฉันไปดูเห็นล้วนเป็นพวกแขกเกิดในเมืองไทย ทราบภายหลังว่าเป็นชายเมืองนนทบุรีนั่งขัดสมาธิถือรำมะนาแขกล้อมเป็นวง จะเป็นวงเดียวหรือสองวงจำไม่ได้แน่ แต่นั่งสวดโยกตัวไปมาสวดเป็นลำนำอย่างแขกเข้ากับจังหวะรำมะนา ได้เห็นเป็นครั้งแรกก็ไม่ผู้เอาใจใส่นัก ต่อมาในปีนั้นเองมีงานเฉลิมพระชันษาสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียที่สถานทูตอังกฤษ ในงานนั้นพวกคนต่างชาติในบังคับอังกฤษที่อยู่ในกรุงเทพฯ พากันหาเครื่องมหรสพต่างๆ ไปเล่น และหาดอกไม้ไฟไปจุดในที่ลานสถานทูตทุกปี ราชทูตจึงมีการราตรีสโมสร หม่อมฉันได้รับเชิญไปด้วย เมื่อเที่ยวเดินดูการมหรสพต่างๆ ไปเห็นพวกนักสวดแขกชาวเมืองไทยนั่งเป็นวงตีรำมะนาสวดประชันกันอยู่ ๒ ปะรำ วงในปะรำหนึ่งเห็นจะกำลังเล่นลูกหมด เห็นเอารำมะนาใบ ๑ ขึ้นตั้ง จุดเทียนข้างหลังส่องแสงไฟให้หนังรำมะนาเป็นจอ แล้วเอารูปหนังตะลุงตัวเล็ก ๆ ขึ้นเชิด พอเห็นหม่อมฉันก็นึกว่าพวกนักสวดแขก ก็จะเป็นทำนองเดียวกับพวกนักสวดคฤหัสถ์ของไทยเรานั่นเอง คือเอาการสวดธรรมในกุฎีเป็นเค้า ไปคิดสวดให้สนุกจนเลยเป็นเครื่องเล่น ต่อนั้นมาถึงงานพระเมรุสมเด็จพระนางสุนันทาที่ท้องสนามหลวง เมื่อพระราชทานเพลิงแล้วทำบุญ ๗ วัน ณ พระพุทธนิเวศน์ พวกพระญาติดูเหมือนจะเป็นพระยาราชภักดี (โค) กราบทูลว่าพวกข้าขอเฝ้าคิดรวมกันเล่นยี่เกอย่างแขกขึ้นใหม่ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเล่นถวายตัวเป็นมหรสพสนองพระเดชพระคุณในงานนั้น ก็โปรดให้เล่นตามประสงค์ ปลูกปะรำที่เล่นกั้นฉากเป็นหน้าโรงและในโรงเหมือนโรงละคร มีพวกแขก (หรือไทยแต่งตัวเป็นแขก) ถือรำมะนานั่งเป็นวงอยู่หน้าโรงแทนปี่พาทย์ แรกเล่นพวกนักสวดๆ ลำนำแขกเข้ากับรำมะนา โหมโรงสักครู่หนึ่ง แล้วมีตัวคนเล่นแต่เป็นแขกฮินดูออกมาจากในโรง มาร้องลำนำเต้นเข้ากับจังหวะรำมะนาและเพลงสวด ประเดี๋ยวหยุดเจรจา มีคนแต่งตัวเป็นไทยออกมาถามกิจธุระ แขกฮินดูบอกว่าจะมารดน้ำให้เกิดสวัสดิมงคล แล้วก็ร้องและเต้นอีกพัก ๑ หมดชุดก็เข้าโรง ต่อนั้นคนเล่นแต่งตัวเป็นชาติต่างๆ เช่น ญวน จีน ฝรั่ง เป็นต้น พวกละ ๒ คน ๓ คน ออกมาเล่นทีละพวก พวกแต่งเป็นชาติไหนก็ร้องรำตามเพลงชาตินั้น เล่นเป็นชุดๆ ต่อกันไปจนหมด มิได้เล่นเป็นเรื่องติดต่อกัน พิเคราะห์ดูก็เห็นได้ว่าเอาเค้าการสวดของแขกเช่นพรรณนามาแล้วมาปรุงกับการเล่นลูกหมด “สิบสองภาษา” ในกระบวนสวดศพของไทย เพราะเอาแขกสวดเข้าสมทบจึงเรียกว่า “ยี่เก” ตามคำภาษามลายู เป็นมูลที่จะเกิดมีการเล่นยี่เกไทยมาแต่ครั้งนั้น ต่อมาคนพวกนั้นก็เที่ยวเล่นตามแต่จะมีใครหา แต่ยังเล่นเป็นชุด อย่างเช่นเล่นถวายตัวดังพรรณนามาแล้ว เอาชุดแขกรดน้ำมนต์เบิกโรงเป็นนิจด้วยถือว่าเป็นการให้พร ต่อมาอีกนานจะเป็นพระยาเพชรปาณี (ตรี) หรือผู้ใดไม่ทราบแน่นอน จึงคิดตั้งโรงเล่นยี่เกเก็บค่าดู และเล่นเป็น “วิก” คือเล่นตอนมีแสงเดือนแต่วันขึ้น ๘ ค่ำ ไปจนแรม ๘ ค่ำ ตามแบบละครเจ้าพระยามหินทร และเล่นยี่เกเป็นเรื่องต่างๆ เหมือนอย่างละคร ไม่เล่นเป็นชุดๆ เหมือนเมื่อแรกเกิดขึ้น การที่เกี่ยวกับแขกก็เป็นเพียงตีรำมะนาตอนแขกรดน้ำมนต์เบิกโรง แล้วก็ใช้ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ แต่ชื่อที่เรียกว่า “ยี่เก” นั้นพวกมลายูเมืองปัตตานีเขาเรียกว่า “ดิเก” หมายความว่าขับร้องลำนำต่างๆ ไม่เกี่ยวแก่การรำเต้น พวกที่เล่นรำเต้นเขาเรียกว่า “มายง” เห็นจะตรงกับพวกที่เราเรียกว่า “ละครแขก” มาแต่ก่อนนั่นเอง เรื่องตำนานยี่เกมีมาดังนี้

จะเลยทูลบรรเลงถึงกลเม็ดของการเล่นยี่เกตามที่ได้ทราบต่อไปอีก เมื่อพระยาเพชรปาณี (ตรี) ตั้งโรงเล่นยี่เกให้คนดูอยู่ที่บ้านหน้าวัดราชนัดดา แกเชิญหม่อมฉันไปดูครั้ง ๑ และมานั่งอยู่ด้วยตลอดเวลาเล่น หม่อมฉันมีโอกาสจึงถามความสงสัยบางอย่างในกระบวนเล่นยี่เก ว่าเหตุไฉนจึงคิดทำเครื่องเล่นยี่เกหรูหรานอกรีตต่างๆ เช่นใส่ปันจุเหร็จยอด ใส่สังวาล แพรสายตะพาย และโบว์แพรที่บ่าเป็นต้น

แกบอกอธิบายว่าแต่งอย่างนั้นผู้หญิงเห็นว่าสวย มักติดใจชอบไปดู มีผู้หญิงไปดูมาก พวกผู้ชายก็มักพากันไปดูพวกผู้หญิง ก็การตั้งโรงยี่เกเป็นข้อสำคัญอยู่ที่อยากให้มีคนชอบไปดูให้มาก จึงต้องคิดแต่งตัวยี่เกไปทางอย่างนั้น

ถามต่อไปว่า หน้าพาทย์เล่นยี่เกเหตุใดจึงใช้แต่เพลงเชิดเป็นพื้น ทั้งบทร้องและกระบวนฟ้อนรำดูก็ไม่เอาใจใส่ให้เป็นอย่างประณีต

แกตอบว่าคนที่ชอบดูยี่เกไม่เอาใจใส่ในการขับร้องฟ้อนรำหรือเพลงปี่พาทย์ ชอบแต่ ๓ อย่าง คือให้แต่งตัวสวย อย่าง ๑ ให้เล่นขบขัน อย่าง ๑ กับเล่นให้เร็วทันใจ อย่าง ๑ ถ้าฝืนความนิยมคนก็ไม่ชอบดู

หม่อมฉันฟังอธิบายก็ต้องชมว่าแกช่างสังเกต และรู้จักจับความนิยมของคนดู จะติไม่ได้เพราะกิจที่เล่นยี่เกก็เพื่อจะหาเงินค่าดู เล่นอย่างใดจะได้เงินมากแกก็ต้องเล่นอย่างนั้น

ทีนี้จะทูลอธิบายเรื่องลูกประคำ ๑๐๘ ที่ค้างมาหลายสัปดาหะต่อไป แต่พอหม่อมฉันอ่านลายพระหัตถ์ตรัสถามแล้วก็นึกขึ้นในขณะนั้น ว่าอธิบายมีเป็น ๒ ข้อ คือว่าด้วยประคำ ข้อ ๑ และว่าด้วยจำนวน ๑๐๘ ข้อ ๑ จึงขวนขวายหาความรู้ทั้ง ๒ ทาง

อันประคำนั้นลงมติได้ว่าเป็นวัตถุสำหรับใช้เป็นคะแนนนับบทภาวนาในทางศาสนา แต่ประหลาดอยู่ที่การภาวนาในลัทธิศาสนาต่างๆ คือศาสนาฮินดูก็ดี พระพุทธศาสนาก็ดี และศาสนาคริสตังก็ดี ใช้ประคำด้วยกันทั้งนั้น จึงมีปัญหาว่าประคำจะเป็นของประดิษฐ์ขึ้นในศาสนาหนึ่งก่อนแล้ว ศาสนาอื่นเอาอย่างไป หรือว่าต่างคิดประดิษฐ์ขึ้นเองแต่หากไปพ้องกัน ข้อนี้พิจารณาตามทางตำนานและภูมิศาสตร์ เห็นว่าพวกถือศาสนาฮินดู แต่ยังถือลัทธิเก่านั้นเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ คิดประดิษฐ์ประคำขึ้นก่อนพุทธกาลช้านาน เพราะลัทธิศาสนาพราหมณ์ต้องร่ายเวทมนต์ในการบูชายัญ และเพื่อกิจการต่างๆ อันต้องนับคาบและบทเวทมนต์ที่ร่ายนั้น จึงทำประคำขึ้นเป็นคะแนน ยกตัวอย่างที่จะพึงเห็นได้ในเมืองไทยนี้ เวลามีพิธีเวียนเทียนสมโภช พระมหาราชครูพราหมณ์ยังต้องใช้ใบพลูวางเป็นคะแนนรอบที่เวียนเทียน เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระภิกษุในพระพุทธศาสนาก็บำเพ็ญภาวนาเป็นกิจอันหนึ่ง แต่ในสมัยพุทธกาล จะใช้ประคำเหมือนอย่างพราหมณ์หรือไม่ ข้อนี้ไม่พบอะไรที่จะอ้าง มาปรากฏว่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนาใช้ประคำต่อเมื่อล่วงพุทธกาลมานานแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีลัทธิมหายานเกิดขึ้น และแพร่หลายไปในประเทศธิเบต จีน ญี่ปุ่น และญวน ถึงพวกที่ถือลัทธิหินยานก็ใช้ประคำ ว่าตามที่มีในเมืองไทยเห็นใช้แต่พระธุดงค์ พระคามวาสีหาใช้กันทั่วไปไม่ ที่พวกนักบวชศาสนาอิสลามใช้ประคำนั้น มีทางที่จะสันนิษฐานเหตุแต่ที่ศาสนาอิสลามเกิดขึ้นภายหลังศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนามาช้านาน และเกิดขึ้นในแดนอาหรับอันไปมาคมนาคมกับอินเดียอยู่เป็นนิจ จึงเห็นว่าคงได้อย่างไปจากอินเดีย การที่พวกนักบวชในศาสนาคริสตังใช้ประคำ มีจดหมายเหตุปรากฏว่านักบุญชื่อโดมินิค Saint Dominic ประดิษฐ์ขึ้นต่อเมื่อ ค.ศ. ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๑๗๔๙) จึงสันนิษฐานว่าน่าจะได้อย่างไปจากพวกอิสลาม ซึ่งอาณาเขตเข้าไปกระชั้นชิดยุโรปอยู่แล้วในสมัยนั้น

ลักษณะของประคำที่ใช้กันในพวกถือศาสนาต่าง ๆ ที่กล่าวมา ว่าตามที่ได้รู้เห็นมาแต่ก่อนและมารู้เมื่อสืบสวนคราวนี้

ประคำของพวกถือศาสนาฮินดูลูกใหญ่ขนาดเท่ากับลูกพุทราร้อยเป็นพวงยาว เห็นจะมีกำหนด ๑๐๘ ใช้สวมคอ พึงเห็นได้ตามรูปภาพฤษีที่ทำมาแต่โบราณ หรือแม้โขนละครที่แต่งตัวเป็นฤษีย่อมสวมประคำเมล็ดขนาดนั้นคล้องคอ และยังเห็นได้ในพวกชาวอินเดียที่เป็นนักบวชอันมีอยู่ในเมืองปีนังบัดนี้ก็สวมประคำขนาดเช่นว่าคล้องคอทุกคน

ประคำในพระพุทธศาสนาที่จีนพวกถือลัทธิมหายานกับไทยพวกถือลัทธิหินยานใช้คล้ายคลึงกันชอบกล คือทำเป็น ๒ ขนาด ขนาดใหญ่สักเท่าเมล็ดพุทราร้อยพวงละ ๑๐๘ เมล็ด จีนบอกอธิบายว่าสำหรับใช้เวลานั่งภาวนา ของไทยก็อย่างเดียวกัน แต่ดูใช้แต่อย่างใหญ่เป็นสามัญสำหรับผู้ชาย อย่างเล็กนั้นแล้วแต่จะทำเล็กลงไปได้เพียงใดไม่กำหนด จีนมักเอาเมล็ดพันธุ์ไม้ที่ถือว่าเป็นมงคลมาร้อยเป็นลูกประคำ จีนมีกำหนดว่าพวงละ ๑๘ เมล็ด เท่าจำนวนจั๊บโป๊ยเล่าฮั่น สำหรับภาวนาเวลาเดินจงกรม แต่ประคำเล็กของไทยว่าร้อยจำนวน ๓๒ เมล็ด เท่าอาการ ๓๒ ผู้หญิงที่ถือศีลกินบวชใช้เป็นพื้น ทำขนาดทัดหูได้ก็มี ยังมีประคำจีนกับไทยที่เหมือนกันอย่างน่าพิศวงอีกอย่าง ๑ ที่ขุนนางจีนแต่งตัวเต็มยศต้องสวมประคำคล้องคอ ไทยก็มีประคำทองเป็นเครื่องยศ ดูเหมือนจะสำหรับการฝ่ายทหาร เช่น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ได้พระราชทานเมื่อเป็นแม่ทัพไปรบฮ่อ ของจีนจะหมายประโยชน์อย่างไรไม่ทราบ แต่ของไทยพอจะสันนิษฐานได้ว่าคงสำหรับใช้เมื่อร่ายเวทมนต์ในการรบพุ่ง

ประคำแขกอิสลามนั้น หม่อมฉันเคยเห็นพระสยามิศร (ขรัวหยา) ทำด้วยอำพันเมล็ดรีๆ ขนาดเท่าลูกหว้า แขกอิสลามที่นี่บอกว่ามีกำหนดพวงละ ๑๐๐ เมล็ด

ประคำของพวกคริสตังนั้น หม่อมฉันได้ให้หญิงพูนไปถามหลวงชีที่โรงเรียนคอนแวนต์ ว่าประคำของศาสนาคริสตังมีกำหนดพวงละกี่เมล็ด พอแกได้ยินคำถามก็แสดงความปีติออกปากว่า แกรู้อยู่ว่าหม่อมฉันไม่ดูหมิ่นศาสนาอื่น รับจะช่วยให้สมประสงค์ เลยส่งประคำพวง ๑ กับสมุดคำภาวนาเล่ม ๑ มาให้เป็นของกำนัล ได้อาศัยพิจารณาของที่หลวงชีให้มานั้น

ลูกประคำของคริสตังขนาดสักเท่าเมล็ดมะละกอ สีดำทำด้วยอะไรไม่ทราบ มีจำนวนเป็นกำหนดพวงละ ๕๙ เมล็ด ร้อยสร้อยคั่นเป็นกลเม็ด และมีสายทิ้งผิดกับประคำของศาสนาอื่นๆ ซึ่งร้อยติดต่อกันไปตลอดพวง ปลายสายทิ้งมีรูปพระเยซูตรึงไม้กางเขน เหนือไม้กางเขนมีสร้อยเงินคั่นแล้วถึงลูกประคำเมล็ด ๑ มีสร้อยคั่นอีกแล้วถึงลูกประคำ ๓ เมล็ด มีสร้อยคั่นแล้วถึงลูกประคำอีกเมล็ด ๑ เป็นหมดสายทิ้ง มีสร้อยล่ามไปถึงแว่นโลหะพิมพ์รูปนางมาเรียอุ้มกุมารเยซู สร้อยพวงประคำแยกออกจากแว่นโลหะนี้ทั้ง ๒ ข้าง แต่ละข้างตอนแรกร้อยลูกประคำ ๑๐ เมล็ด แล้วถึงสร้อยลูกประคำเป็นอย่างลูกคั่นไว้เมล็ด ๑ ต่อนั้นไปร้อยลูกประคำข้างละ ๑๐ เมล็ด เหมือนกล่าวมาแล้ว ถึงด้านสะกัดมีลูกประคำคั่นข้างละเมล็ด ๑ แล้วถึงราวลูกประคำด้านสกัด ๑๐ เมล็ด ตำราในสมุดเรียกประคำว่า Holy Rosary พวกบาดหลวงในกรุงเทพฯ แปลว่า “ประคำศักดิ์สิทธิ์” เป็นชื่อของวัดที่อยู่เหนือปากคลองผดุงกรุงเกษมข้างใต้ ในตำนานว่านักบุญชื่อ โดมินิค Saint Dominic เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๑๗๔๙) และแต่งคำภาวนาในการใช้ประคำไว้ด้วย

กลเม็ดที่ร้อยลูกประคำนั้น บอกอธิบายในตำราว่าแบ่งประคำเป็น ๑๕ ภาค มีเมล็ดหมายว่าพระบิดา Our Father เมล็ด ๑ หมายคำเคารพมารี Hail Mary อันเป็นความลับ Mystery ๑๐ เมล็ด และเฉลิมพระเกียรติพระบิดา Glory to the Father เมล็ด ๑ ที่เรียกว่าความลับนั้น (ทราบว่าเป็นข้อขำซึ่งบอกอธิบายเฉพาะแต่ผู้ซึ่งเลื่อมใสมั่นคงแล้ว) ในตำรากล่าวแต่หัวข้อว่า เนื่องด้วยเหตุการณ์ในเรื่องประวัติของพระเยซูกับนางมารี จัดเป็น ๓ ภาค คือภาคบันเทิง Joyful (ตอนพระเยซูเกิด) ภาคโศก Sorrow (ตอนพระเยซูสิ้นชีพ) ภาคเฉลิมพระเกียรติ Glorious (ตอนพระเยซูและนางมารีขึ้นสวรรค์)

ผู้ชักประคำจะชักภาวนาแต่ภาคใดภาคหนึ่ง หรือทุกภาคก็ได้ แต่ควรภาวนาทุกวัน ว่าโดยเนื้อความประจำคริสตังมีลักษณะดังกล่าวมานี้

คราวนี้ถึงวินิจฉัยเรื่องจำนวน ๑๐๘ ดูนิยมกันในการต่างๆ หลายอย่างว่าตามที่จำได้ กำลังเทวดาพระเคราะห์ อย่าง ๑ ร่ายเวทมนต์เช่นว่า ๑๐๘ คาบ อย่าง ๑ ในพระปรมัตถมีว่า “ตัณหา ๑๐๘” อย่าง ๑ แม้ที่สุดมีในคำพูดปากตลาดว่า “ทำอะไรๆ ไปร้อยแปดอย่าง” พิจารณาโดยเฉพาะกำลังเทวดานพเคราะห์ หม่อมฉันไม่เคยทราบและคิดก็ไม่เห็นว่าเอาอะไรเป็นเหตุและเป็นเกณฑ์กำหนดกำลังเทวดานพเคราะห์มากบ้างน้อยบ้าง ต่างกันราวกับแรงม้ารถยนตร์ แต่รถยนตร์เขาเอาขนาดห้องในลูกสูบซึ่งเป็นที่ระเบิดเกิดกำลังเป็นเกณฑ์ หม่อมฉันนึกว่าจำนวน ๑๐๘ น่าจะมาแต่วัตถุหรือการอันใดอันหนึ่ง ซึ่งนับถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่งมาแต่ดึกดำบรรพ์ แล้วคนต่างพวกต่างศาสนาเอาไปสงเคราะห์เข้าในคติศาสนาของตน เช่นพวกถือพระพุทธศาสนาใช้ประคำจำนวน ๑๐๘ เมล็ด ก็ไม่เห็นเหตุเกี่ยวข้องกับกำลังเทวดานพเคราะห์อย่างใด ลงที่สุดเห็นจะต้องทูลว่าหม่อมฉันไม่ทราบและยังคิดไม่เห็นว่า ประคำมีจำนวน ๑๐๘ เมล็ดด้วยเหตุใด

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

เรื่องพระเจดีย์ ๓ องค์ ต่อแดนพม่าที่ตรัสถามมานั้นอธิบายที่จะทูลเห็นจะยาวอยู่สักหน่อย เขียนในจดหมายเวรฉบับนี้ไม่ทัน ขอประทานผัดไปทูลสนองในจดหมายสัปดาหะหน้า

หนังสือประชุมกฎหมายไทยโบราณพิมพ์แจกในงานพระศพพระองค์เจ้าคำรบที่โปรดประทานมานั้น หม่อมฉันรับแล้ว ขอบพระคุณมาก พลิกดูหน่อยหนึ่งก็เห็นชอบกลดี แต่หมู่นี้ได้รับหนังสือประดังกันทั้งหนังสือแจกงานศพและงานฉลองสมณศักดิ์นับแทบไม่ถ้วน เห็นจะช้ากว่าจะพิจารณาได้หมด แต่ได้สังเกตตราหลังใบปกสมุดงานฉลองศักดิ์พระอุบาลี ดูช่างคิดชอบกลอยู่ เอาเลข ๑ กับอะไรผูกเป็นพัดแฉก หม่อมฉันยังแปลความไม่อออก กนกใต้พัดนั้นเห็นจะเป็นอักษร ผ หมายชื่อเผื่อน ตัว อะ ๒ ตัว ก็ยังแปลไม่ออก ท่านคงทราบ ขอประทานอธิบายสักหน่อย

ปฏิทินหลวงที่ทรงประทานมา ๓ ฉบับนั้น ขอบพระคุณมาก ถ้าจะประทานได้อีก ขอประทานอีกสัก ๓ เล่ม สำหรับหญิงเหลือเล่ม ๑ หลานแมวกับหลานน้อยคนละเล่ม

หนังสือที่พระยาอนุมานแต่งพิมพ์แจกในงานพระศพพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราชนั้น มาถึงหม่อมฉันแล้วทั้ง ๒ เรื่อง คนแต่งหนังสือชั้นนี้พระยาอนุมานเป็นยอดเยี่ยมคน ๑ ดีทั้งการค้นหาความรู้และสำนวนที่แต่ง และเขาได้ทำงานในหอพระสมุด สบเหมาะแก่จะค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วย น่ายินดีที่จะยังมีพระยาอนุมานเป็นหลักในวิชาทางนั้นต่อไป แต่เสียดายอยู่ที่ยังมีความบกพร่องอยู่อย่าง ๑ ซึ่งมิใช่ความผิดของตนเอง กล่าวคือยังได้เที่ยวน้อยนัก ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวดูของจริงและภูมิประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น ความรู้พระยาอนุมานยังจะดีขึ้นไปได้อีก

หม่อมฉันสังเกตในหมายกำหนดการพระราชพิธีที่ประทานมา ตระหนักว่าพิธีตรุษเลิกแล้วก็เห็นควรเลิก เพราะเป็นพิธีเก่าเกินสมัย ถึงกระนั้นยังนึกเสียดายทำนองพระสวดอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งเป็นกระบวนสวดอันควรเรียกว่าอย่างวิเศษ สูญไปเสียด้วยกันกับทำนองเทศน์มหาชาติก็น่าเสียดายเหมือนกัน

ข่าวตายของหญิงนงลักษณ์กับหญิงมาลากนกที่ตรัสบอกมา มาซ้ำทราบเมื่อรับลายพระหัตถ์แล้วว่าเจ้าชายถาวรมงคลวงศ์ตายลงอีกคนหนึ่งด้วย ก็เกิดสลดใจมาก แต่จะทำอย่างไรได้ ก็ได้แต่ปลง สพฺเพสํขาราอนิจฺจา สพฺเพธมฺมาอนตฺตา

ข่าวทางเมืองปีนัง

หญิงโหลกับหญิงโสฬศมาถึงปีนังเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน เมื่อวันพฤหัสบดีก่อน หม่อมฉันให้ไปรับค้างครั้ง ๑ รถไฟมาถึงจึงทราบว่ารถเต็มหมดเธอซื้อตั๋วไม่ได้ เมื่อเธอมาถึงก็เพียงแต่ได้มาพบและกินอาหารด้วยกัน พอเธอมอบของที่รับฝากมาให้แล้ว ก็ต้องรีบกลับไปขึ้นรถไฟไปเมืองสิงคโปร์ ด้วยเธออยากไปเห็นเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน หม่อมฉันเห็นอกและเห็นว่ามีผู้พาเป็นหลักฐานวางใจได้ก็อนุญาตให้เธอไป ว่าสักสัปดาหะ ๑ จะกลับมาปีนัง คือว่าได้อยู่สิงคโปร์ ๓ วันก็เห็นจะพอเที่ยวจนออกเบื่อ

อนึ่ง เมื่อวันที่ ๗ เมษายน เป็นวันจักรี หม่อมฉันได้นัดญาติและมิตรมาบูชาพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๘ พระองค์ที่ซินนามอนฮอลตามเคยเหมือนทุกปี ขอถวายพระกุศลด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ