วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๙ กรกฎาคม มาถึงหม่อมฉันแล้ว คราวนี้มีกังวล เกิดเมื่อก่อนรับลายพระหัตถ์เล็กน้อย ด้วยเขาเคยส่งลายพระหัตถ์มาให้ในวันเสาร์เวลาเช้า หลายสัปดาห์แล้ว แต่เวลาเช้าวันเสาร์นี้ขาดไป หม่อมฉันให้คนไปถามที่สำนักงานไปรษณีย์ เขาบอกว่าจดหมายมาจากกรุงเทพฯ ได้ส่งหมดแล้วจึงเกิดรำคาญใจ ครั้นเวลาบ่าย ๑๓ นาฬิกา หม่อมฉันกำลังนั่งกินกลางวันอยู่ลายพระหัตถ์จึงมาถึงเป็นสิ้นรำคาญ

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) หม่อมฉันได้เขียนตำนานเรื่องเครื่องถมถวายไปในจดหมายเวรฉบับลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ซึ่งผ่านกับลายพระหัตถ์ฉบับนี้ มีข้อความที่ทรงพระดำริอยู่ในนั้นมากแล้ว จะทูลแต่ถึงฝาบาตรถมที่หอพระสิหิงค์ ๒ ใบ ฝาบาตรคู่นั้นแปลกกว่าฝาบาตรอื่นที่มียอด เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เอาเข้าไปถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อทรงรวมเครื่องถม เดี๋ยวนี้อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ลายเครื่องถมเมืองนครชอบทำลายอย่างรัชกาลที่ ๒ ที่เป็นกนกเทศและมีรูปอรหันต์เป็นต้นนั้น ส่อให้เห็นว่าการทำเครื่องถมที่เมืองนครเฟื่องฟูขึ้นครั้งเจ้าพระยานคร (น้อย) ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๒ มาจนรัชกาลที่ ๓ ถมดำลายเงินนั้นเห็นจะเป็นวิชาเดิมที่ไทยรับมาจากพวกอิหร่าน สังเกตดูเครื่องถมที่ฝรั่งทำก็เป็นอย่างถมดำลายเงิน การที่ “ตะ” คือแต้มทองจะอยู่ในวิชาเดิมหรือมาประดิษฐ์ขึ้นในเมืองไทยข้อนี้สงสัยอยู่ แต่เห็นได้ว่าทำยาก สังเกตดูถ้าไม่ใช่ชิ้นที่ฝีมือดีจริง มักตะเลอะไม่เหมาะกับลาย เพราะถมตะทองเป็นของทำยากจึงเป็นของหายาก เป็นเหตุให้คนนับถือถมตะทอง คนที่ไม่รู้จักลวดลายเป็นแต่ว่ายิ่งมีทองตะมากก็ยิ่งเป็นของดี จึงเลยเป็นมูลให้เกิดถมทอง แต่ที่จริงการทำถมทองง่ายกว่า หรือถ้าจะว่าอีกนัยหนึ่งตรงกันข้ามกับถมดำ เพราะทำถมดำต้องคร่ำพื้นที่จะถมยามาก ทั้งต้องระวังลวดลายมิให้เสียเส้น แต่ทำถมทองทิ้งพื้นไว้สำหรับกาไหล่ทองมาก ต้องคร่ำแต่ตรงซอกที่จะถมยา ทำง่ายกว่าและแล้วเร็วกว่าทำถมดำ พวกช่างก็ชอบทำถมทอง เป็นเหตุประกอบกับที่คนชอบถมทอง ๆ จึงเลยแพร่หลาย เลยพาให้เครื่องถมดำเสื่อมสูญไป หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้

๒) เรื่องรื้อหอพระสิหิงค์ของเดิม ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น หม่อมฉันออกจะมีส่วนรับผิดชอบอยู่บ้าง จึงจะทูลคำให้การเจือเรื่องโบราณคดีต่อไป คือจวนที่อยู่ของผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ชาวนครเรียกกันว่า “วัง” สืบมาตั้งแต่เจ้านคร ใครได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราชก็เข้าไปครองวัง เพราะบรรดาผู้ว่าราชการเมืองนครฯ ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีมาล้วนอยู่ในสกุลเดียวกันทั้งนั้น เจ้าพระยานครพัฒน เจ้าพระยานครน้อย เจ้าพระยานครน้อยกลาง และเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ได้เป็นพระยานครเมื่อปลายรัชกาลที่ ๔ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ จะเป็นเพราะเหตุใดหม่อมฉันไม่ทราบ พระยานคร (หนูพร้อม) ถูกฟ้อง กระทรวงกลาโหมซึ่งว่าหัวเมืองปักษ์ใต้ในสมัยนั้น เรียกเอาตัวเข้ามากักไว้กรุงเทพฯ เกือบ ๒๐ ปี

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ พระองค์ท่านกับหม่อมฉันยังอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ลงไปเที่ยวทางหัวเมืองปักษ์ใต้ด้วยกัน (คราวโกปิโฮ๊บ) ได้แวะตามตัวเมืองต่างๆ จนเมืองปัตตานี เพราะเหตุที่เคยไปครั้งนั้น ถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายู จึงโปรดให้หม่อมฉันโดยเสด็จเป็นมัคคุเทศเป็นครั้งแรก หม่อมฉันขออนุญาตต่อกระทรวงกลาโหมให้พระยานครฯ ออกไปจัดการรับเสด็จ เป็นครั้งแรกที่จะตั้งต้นชอบพอกันมาแต่งครั้งนั้น เมื่อเสด็จประทับอยู่ในเมืองนครศรีรรมราช วันหนึ่งพอรุ่งเช้าพระยานครฯ ให้ผูกม้าขี่หลายตัว ชวนหม่อมฉันกับผู้อื่นอีกสักสองสามคนให้ไปดูเมืองนคร แกขี่ม้าตัวหนึ่งนำไปเอง พาเข้าไปดูวังที่แกเคยอยู่ ชักม้าเที่ยวซอกแซกให้เห็นหมดทั้งข้างหน้าข้างใน เมื่อดูทั่วแล้วพาไปนั่งพักหอพระสิหิงค์ แกจึงขยายความประสงค์ซึ่งชวนไปในวันนั้นให้เข้าใจ ด้วยจะให้เห็นว่าเรือนชานสถานที่ต่างๆ สำหรับวัง ซึ่งใหญ่โตระโหฐานผุพัง หักล้างเสียโดยมาก เพราะเหตุที่เอาตัวแกเข้าไปกักขังไว้ในกรุงเทพฯ ไม่มีใครซ่อมแซมรักษา ได้เห็นก็ออกสงสาร

สังเกตวังที่ยังเหลืออยู่ประกอบ กับได้เห็นสิ่งของที่เจ้าพระยาแต่ก่อนได้สร้างไว้ได้ความรู้ดีของผู้ครองเมืองนครฯ อย่าง ๑ ว่าตั้งใจถ่ายแบบของหลวงในกรุงเทพฯ ออกไปทำอย่างเดียวกัน แต่ลดอะไรเสียบ้างให้ผิดกับของหลวง ยกตัวอย่างที่นึกได้ เช่น มีพระพุทธรูปทรงเครื่องขนาดเท่าตัวอยู่ในหอพระสิหิงค์ ๒ องค์ ทำเลียนพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของหลวง แต่ก็เป็นพระหุ้มเงินทรงเครื่องทองดังนี้เป็นต้น เรือนที่อยู่ก็มีท้องพระโรงอยู่หน้า ต่อเข้าไปมีเรือนใหญ่ ๓ หลังเรียงกันอย่างวิมาน แต่ทำด้วยเครื่องไม้ก่ออิฐ แต่เรือนบริวารรื้อสูญไปเสียมากแล้ว หอพระสิหิงค์เป็นสิ่งซึ่งหม่อมฉันรำคาญตามาตั้งแต่วันนั้น เป็นหอก่ออิฐถือปูน มุงกระเบื้อง ๓ ห้อง มีเฉลียงเสาไม้แก่นรอบก่อบนพื้นถมสูงกว่าพื้นดินสัก ๓ ศอก ไม่มีอะไรน่าชมทั้งแบบรูปทรงแลทัพะสัมภาระที่สร้างพิจารณาต่อมาภายหลังเห็นว่า คงเป็นของสร้างใหม่ในสมัยเจ้านคร เดิมพระพุทธรูปองค์นั้นเห็นจะอยู่แห่งใดแห่งหนึ่ง เรียกกันว่า “พระสญิง” และคงอ้างว่าเป็นองค์ที่เชิญมาจากลังกา เมื่อเจ้านครตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินจึงให้เชิญเข้าไปไว้ในวังนับถือเป็นพระศรีเมืองแต่นั้นมา หลักฐานทุกอย่างชวนให้เห็นว่าจะเป็นดังว่ามานี้ เมื่อเสร็จการเสด็จประพาสครั้งนั้น พระยานครยังต้องกลับเข้าไปถูกกักอยู่ในกรุงเทพฯ อีกสัก ๔ ปีจนโอนหัวเมืองปักษ์ใต้มาขึ้นกระทรวงมหาดไทย หม่อมฉันจึงให้พระยานครกลับออกไปว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม เมื่อมาลาแกถามหม่อมฉันว่า “ให้ไปคราวนี้ จะเรียกกลับอีกหรือไม่” หม่อมฉันตอบว่า “ถ้าเป็นพระยานครก็ไม่เรียกกลับ” แกกลับออกไปซ่อมแซมเย่าเรือนอย่างปุยาแต่พออยู่ได้ตลอดมา

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปนาพระยานครเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีแล้ว หม่อมฉันออกไปเมืองนครฯ ท่านมาปรารภแก่หม่อมฉันว่าตัวท่านก็แก่ชรามากแล้ว ถ้าสิ้นอายุท่านก็เห็นจะไม่มีใครในวงศ์สกุลที่จะครอบครอง “วัง” ต่อไปได้ ท่านเป็นห่วงอยู่ด้วยพระอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ และพระอัฐิเจ้านายเชื้อสายสกุลนครที่ทูลกระหม่อมพระราชทานออกไปไว้ด้วยกันกับอัฐิของบุรพบุรุษนารีในสกุล ซึ่งรักษาไว้ที่เรือนผู้ว่าราชการเมืองสืบกันมา ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป หม่อมฉันตอบว่าที่วังนั้นใหญ่โตและเป็นที่ว่าการบ้านเมืองสืบมากว่า ๑๐๐ ปี นับว่าเป็นหลักของเมืองนครฯ สิ่งหนึ่ง ซึ่งจะให้ตกไปเป็นสมบัติของบุคคลหาควรไม่ เมื่อสิ้นท่านแล้วควรจะสร้างสถานที่ต่างๆ ในการปกครองบ้านเมืองในที่วังนั้น ส่วนการรักษาพระอัฐินั้น หม่อมฉันเห็นควรว่าจะสร้างหอใหม่ที่ในบริเวณวัง ให้งดงามสักหลังหนึ่ง กั้นเป็น ๒ ห้อง ๑ เป็นที่ไว้พระสิหิงค์ อีกห้อง ๑ เป็นที่ไว้พระอัฐิและอัฐิของสกุล ณ นคร แต่จะขอเงินหลวงเกรงจะยากอยู่ ถ้าตัวท่านบริจาคทรัพย์สร้างหอนั้นจะสำเร็จได้ง่ายกว่า ทั้งเป็นเกียรติและกุศลแก่ท่านด้วย เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี เห็นชอบด้วยจึงได้สร้างหอพระสิหิงค์ใหม่และรื้อหอพระสิหิงค์เก่าด้วยประการฉะนี้

๓) เรื่องที่ชอบใช้ปี่พาทย์มอญในงานศพนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่า ว่าปี่พาทย์มอญทำในงานหลวงครั้งแรกเมื่องานพระศพ สมเด็จพระเทพสิรินทราบรมราชินี ด้วยทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระเทพสิรินทราฯ ทรงเป็นเชื้อมอญ แต่จะเป็นทางไหนหม่อมฉันไม่ทราบ เคยได้ยินแต่ชื่อพระญาติคน ๑ เรียกว่า “ท้าวทรงกันดาล ทรงมอญ” ว่าเพราะเป็นมอญ พระองค์ท่านคงจะทรงทราบดีกว่า คงเป็นเพราะเหตุนั้นงานพระศพพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้มีปี่พาทย์มอญเพิ่มขึ้น โดยเป็นเชื้อสายของสมเด็จพระเทพสิรินทราฯ คนภายนอกอาจจะเอาอย่างงานพระศพหลวงไปเพิ่ม หรือไปหาเฉพาะปี่พาทย์มอญมาทำในงานศพโดยไม่รู้เหตุเดิม แล้วทำตามกันต่อมา คนเลยเข้าใจว่างานศพต้องมีปี่พาทย์มอญจึงจะเป็นศพผู้ดี เหมือนกับเผาศพชอบจุดพลุญี่ปุ่นกันแพร่หลายอยู่คราวหนึ่ง อันที่จริงปี่พาทย์มอญ ๆ เขาก็ใช้ทั้งในงานมงคลและงานศพเหมือนกันกับปี่พาทย์ไทย กลองคู่กับปี่ชะวาและฆ้องประสมกันซึ่งเรียกว่าบัวลอย ก็ใช้ทั้งในงานศพและงานมงคล เช่นในงานมหรสพ ไต่ลวด ลอดบ่วง และนอนหอกนอนดาบในสนามหลวง ที่สุดจนกลองชนะก็ใช้ทั้งในงานมงคลและงานศพ เครื่องประโคมที่ใช้เฉพาะงานศพ เห็นมีอย่างเดียวแต่ปี่พาทย์นางหงส์อันมีผู้คิดกลองคู่บัวลอยเข้าประสมวง พวกปี่พาทย์เห็นว่าเพลงนางหงส์เข้ากับกลองคู่ดีจึงใช้เพลงนั้น เลยกลายเป็นชื่อเครื่องประโคมอย่างนั้น ดังเช่นท่านทรงพระดำริ เมื่อครั้งงานศพหม่อมเฉื่อยของหม่อมฉัน เจ้าพระยาเทเวศท่านจัดปี่พาทย์นางหงส์อย่างประณีตไปช่วยที่สุสานหลวง ณ วัดเทพศิรินทร ท่านเพิ่มกลองมลายูขึ้นเป็น ๖ ใบ ปี่พาทย์ก็คือวงหลวงเสนาและพระประดิษฐ์ (ตาด) ทำไพเราะจับใจคนฟังทั้งนั้น จนหม่อมฉันออกปากเสียดายว่ามีกังวลด้วยงานศพ มิฉะนั้นก็จะนั่งฟังให้เพลิดเพลิน

๔) คำวรรณโรคตามศัพท์แปลว่าโรคเกิดที่ผิวหนัง โดยลำพังศัพท์นั้นคงจะหมายความกว้าง ตลอดไปจนถึงโรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นที่ผิวหนัง แม้จนสิวและกลากเกลื้อน ฝีเป็นแต่อย่าง ๑ ในวรรณโรค ที่เอาคำวรรณโรคมาเรียกแต่ฝีน่าจะเกิดแต่อยากจะเรียกฝีของเจ้าด้วยราชาศัพท์ให้ผิดกับฝีของไพร่ เช่นเรียกว่า“พระเศียร” แทน “หัว” คงเรียกแต่ฝีที่เกิดตามผิวหนังก่อน แล้วเลยเข้าใจว่าคำวรรณโรคเป็นหมายความแต่ว่าฝีก็เลยเรียกวรรณโรคต่อไปถึงฝีในท้อง โดยมิได้คำนึงถึงศัพท์ “วรรณ”

๕) เรื่องผูกสีมาวัด หม่อมฉันได้ความรู้มูลเหตุซึมทราบจากเทศนาของสมเด็จพระวันรัตน (แดง) ถวายเมื่อครั้งผูกพัทธสีมาวัดเบ็ญจมบพิตร พระพุทธบัญญัติเดิม เมื่อโปรดให้พระสงฆ์พุทธสาวกพากันไปเที่ยวประกาศพระศาสนา มีเพียงว่าในเวลาเที่ยวจารึกไปนั้นถ้าจะกระทำการอันใดในนามของ “สงฆ์” คือว่าที่จะต้องถือเหมือนกันหมด ให้ประชุมปรึกษากัน เรียกว่าทำ “สังฆกรรม” ก่อน เมื่อลงมติยินยอมพร้อมกันแล้ว การที่จะทำนั้นจึงทำได้ในนามของสงฆ์ ว่าอีกอย่าง ๑ ก็น่าพิศวงด้วยเหมือนกับลักษณะการของบริษัทที่ตั้งประกอบกิจการต่างๆ ทุกวันนี้นั่นเอง

มูลเหตุของสีมาเกิดขึ้นด้วยการที่พระสงฆ์จะประชุมกันทำสังฆกรรมเพราะพระพุทธสาวกแยกย้ายกันไปเป็นหลายพวกหลายหมู่ จะเรียกรวมกันอย่างไรให้สะดวกพระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติให้พระสงฆ์กำหนดเขต คือ ให้รู้กันไว้เสีย จะทำสังฆกรรมเมื่อใด ก็ให้พระภิกษุซึ่งอยู่ในเขตสีมาเดียวกันไปรวมกันทำ สังฆกรรมด้วยกัน

มีพระพุทธบัญญัติขยายความพิสดารต่อมา ถึงลักษณะที่จะกำหนดเขตสีมาให้มีที่หมายเป็นสำคัญ เช่นพระสงฆ์ที่อยู่บนเกาะ หรือในที่ลำน้ำล้อมรอบจะเอาทางน้ำเป็นเครื่องหมายเขตก็ได้ หรือจะเอาเขตปกครองฝ่ายอาณาจักรเช่นบ้านเมืองเป็นกำหนดสีมา หรือแม้ที่สุดจะเอาสิ่งซึ่งโดยธรรมชาติ เช่นศิลาและต้นไม้ อันเป็นของมั่นคงเป็นเขตสีมาก็ได้

ตามเค้าความที่ได้ฟังในเทศนา ดูการกำหนดเขตสีมาเดิมเป็นแต่ให้รู้กันในระหว่างพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ยังมีน้อยดูจะไม่ยากเท่าใดนัก มาเป็นการใหญ่และเป็นการยากต่อเมื่อพระพุทธศาสนารุ่งเรืองถึงเป็นศาสนาของบ้านเมือง เพราะมีวัดและพระสงฆ์มากมาย จะประชุมสงฆ์เท่าสังฆกรรมอย่างครั้งพุทธกาลไม่ได้ จึงต้องร่นเขตสีมาให้เล็กลงโดยลำดับจนที่สุด กำหนดเขตเพียงรอบโบสถ์หลังเดียว เพราะฉะนั้นหม่อมฉันเห็นว่าพิธีผูกสีมาที่ทำกันกวดขันอย่างเราเรียกกันว่า “เบี้ยขาวเบี้ยแดง” เป็นแต่วินัยกรรมเท่านั้น

๖) หม่อมฉันยินดีที่ทราบว่า อาการป่วยของพระเจนจีนอักษรค่อยคลายขึ้นเห็นจะรอดได้ เมื่อตรงวันเกิดของหม่อมฉันแกมีจดหมายให้พรมาฉบับ ๑ อย่างเรียบร้อย แต่เขียนจดหมายอีกฉบับ ๑ ถึงหญิงเหลือให้แจ้งความแก่หม่อมฉันว่าแกป่วยมาก ถ้าหากไม่หายได้ก็ขอลาตายด้วยจดหมายฉบับนั้น แต่ว่าพระองค์ท่านได้ทรงพระกรุณาประทานเงิน ๒๐๐ บาท แกได้อาศัยเงินนั้นย้ายไปให้หลวงนิตย์รักษา ดูอาการค่อยคลายขึ้นบ้าง หม่อมฉันเขียนจดหมายสั่งให้หญิงเหลือไปบอก ว่าที่ลาตายนั้นหม่อมฉันยังไม่อนุญาต เพราะยังอยากจะเห็นหน้าแกอีก ขอให้ตั้งใจรักษาตัวอย่างยิ่ง ถ้าพระเจนหายได้ก็เป็นอันได้ทรงช่วยชีวิตมนุษย์อย่างจริงแท้ เป็นพระกุศลสูงสุดที่ได้ทรงบำเพ็ญอย่าง ๑

ปกิรณก

๑) ที่หม่อมฉันทูลเดาไปถึงเหตุที่สร้างพระราชยานลงยานั้น ถ้ายังไม่ทรงพบหลักฐานลบล้างความคาดคะเนของหม่อมฉันไซร้ อยากจะทูลเพิ่มเติมอีกสักหน่อย ตามที่นึกขึ้นเมื่อส่งจดหมายเวรไปแล้ว

หม่อมฉันมาเห็นว่าความที่สร้างพระราชยานลงยานั้นน่าจะเป็นพระราชดำริของทูลกระหม่อม จะสร้างให้เป็นสำรับ ๓ องค์ดังทูลไปแล้ว แต่การค้างอยู่ มาทำสำเร็จในรัชกาลที่ ๕ ที่คิดอย่างนั้นเพราะได้เคยเห็นพระราชยานลงยามีแต่ตอนต้นรัชกาลที่ ๕ พระชันษาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังเยาว์วัยไม่ถึงขนาดที่จะทรงพระราชดำริเรื่อง เช่น สร้างพระราชยานลงยา แต่สมอย่างยิ่งที่จะเป็นพระราชดำริของทูลกระหม่อม

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ