วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ถวายพระพร

๑) ขอถวายพระพรในกาลขึ้นปีใหม่ ขอให้ทรงพระเจริญสุขพร้อมด้วยพระญาติ

อภิปราย

๒) ในการใช้คำเจ้าแก่สมเด็จพระสังฆราช จะได้เห็นในหนังสือพิมพ์หรืออะไรก็จำไม่ได้ เป็นว่ามีใครไปประชิดถามที่สำนักพระราชวังมาทีหนึ่งแล้ว แต่เจ้าหน้าที่เขาไม่รับรอง ก็พาให้เกรงไปว่าจะมีใครเก็บเอากระแสพระราชดำริไปโต้กับเจ้าหน้าที่ จึงถวายความเห็นเช่นกราบทูลมาก่อนแล้วนั้น

รายงาน

๓) อ่านหนังสือพิมพ์ “ประมวญวัน” เขาพูดถึงเรื่องไทยที่ยุหนันว่ามีหัวหน้าเป็นเจ้าฟ้า เจ้าฟ้าของไทยที่ยุหนันเข้าไปในเขตพม่า ซึ่งเวลานั้นผู้เขียนก็ไปอยู่ที่นั่น ได้พบพูดกันเราก็เป็นไทยเขาก็เป็นไทย แต่พูดกันไม่เข้าใจต้องมีล่าม อ่านพบก็เห็นประหลาด ตรงกันข้ามกับที่ได้เคยประสบมา เมื่อไปเที่ยวซื้อของตามร้านในเมืองมัณฑะเล ทีแรกก็ลากเอาแขกที่เขารับรองไปช่วยเป็นล่าม ทีหลังเห็นเขาวุ่นอยู่ในการค้าขาย จะลากเอาเขาไปก็เห็นว่าเสียธุระของเขา เกรงใจเขาจึงไปแต่โดยลำพัง พูดกับเจ้าของร้านด้วยวิธีใบ้ ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเข้าใจกันยากหน่อย

วันหนึ่งกำลังใช้ใบ้อยู่กับเจ้าของร้าน ก็มีพม่าคนหนึ่งเข้าไปในร้านพูดว่า “ท่านจะต้องการอะไรจ้าก๋ะ ฉันจะช่วยเป็นล่ามให้” เกล้ากระหม่อมก็ดีใจ ให้เขาช่วยเป็นล่ามจนสำเร็จประสงค์ แล้วก็พากันเดินออกจากร้าน เกล้ากระหม่อมก็ขอบใจเขา แล้วถามเขาว่าเคยเข้าไปกรุงเทพฯ เมื่อไร เขาบอกว่า “เปล่า ไม่เคยเข้าไป” เกล้ากระหม่อมก็ประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงถามเขาว่าถ้าเช่นนั้นทำไมพูดไทยได้ เขาบอกว่า “ภาษาของฉันยังงี้เอง” เกล้ากระหม่อมก็ยิ่งอยากรู้หนักขึ้นจึ่งซักเขาว่าเมืองอะไรเขาบอกว่า “เมืองหนองหมอน ฉันเป็นเจ้าฟ้าหนองหมอน” เมืองหนองหมอนอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ แต่คิดว่าคงเป็นเมืองของพวกไทยใหญ่อยู่ใกล้กับเมืองมัณฑะเล เจ้าฟ้าหนองหมอนจึงไปเที่ยวถึงเมืองมัณฑะเล เห็นเขาว่าเป็นไทยจริงยิ่งกว่าไทยยุหนันมาก จึงทำหน้าที่เป็นล่ามได้

อีกเรื่องหนึ่งก็ขัน ได้ยินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าว่า กงสุลอังกฤษมีหนังสือถึงกรมต่างประเทศ ขออนุญาตพาเจ้าฟ้าเชียงตุงเข้าเฝ้า เมื่อโปรดอนุญาตแล้วเขาจึงพามา เจ้าฟ้าเชียงตุงคนนั้นไปเที่ยวที่เมืองย่างกุ้งแล้วมาเมืองสิงคโปร์ เลยเข้ากรุงเทพฯ โดยประสงค์จะเดินกลับทางบ้านเรา กงสุลอังกฤษรับเอาพักไว้ที่สถานกงสุล เห็นจะไม่ใช่คนที่เป็นพ่อฉายเมือง เพราะนานมาแล้ว เวลานั้นมิสเตอร์เฟรนช์ เป็นกงสุล เมื่อนำเข้ามาถึงพระองค์ก็ตรัสทักว่า “อา เจ้าสบายหรือ เธอก็กราบทูลว่า “สบายพิจ้ะข้าขอรับ” เล่นเอามิสเตอร์เฟรนช์ตาเหลือก กราบบังคมทูลว่าไม่ทราบเลยว่าเมืองเชียงตุงพูดภาษาไทย เมื่อไปอยู่ที่สถานกงสุลก็ไม่ได้พูดไทยกัน ซ้ำในการเข้ามาเฝ้าก็เตรียมล่ามพม่าเข้ามาด้วย เป็นการคาดผิดทั้งนั้น

ข่าว

๔) เมื่อวันที่ ๒๙ ได้รับหมายแต่สำนักพระราชวัง บอกว่าจะหล่อพระพุทธรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ที่สวนศิวาลัย เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา พระบรมรูปที่จะหล่อนี้ จะตั้งเป็นพระบรมราชานุสรณ์ที่ลุมพินีวัน

ลายพระหัตถ์

๕) ในวันที่ ๒๙ นั้น ได้รับลายพระหัตถ์เวรปะปิด จะกราบทูลสนองลางข้อต่อไปนี้

๖) คำที่เรียกว่า “ภาษาบาลี” ทีก็จะเอาอย่างฝรั่งมาเรียก แม้ที่เรียก “ภาษามคธ” ก็น่าจะเอาอย่างฝรั่งมาเหมือนกัน เรียกภาษามคธเป็นอย่างเก่า เรียกภาษาบาลีเป็นอย่างใหม่ ผู้ที่ตั้งคำเปลี่ยนคงเห็นว่าเรียกภาษามคธไม่ถูกโดยตรงสู้เรียกภาษาบาลีไม่ได้ หมายถึงภาษาซึ่งแต่งไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎก

๗) ขอบพระเดชพระคุณที่ตรัสบอกให้เข้าใจ ว่าพระธาตุอุเทนเป็นคนละองค์กับพระธาตุเชิงชุม อันพระธาตุพนมนั้นก็ถูกต่อข้างล่างเป็นของเขมร ข้างบนเป็นอย่างลาว ได้ฟังตรัสเล่าทั้งประทานรูปฉายด้วย จึงเห็นว่าต้องเป็นเช่นนั้น การฉลักอิฐนั้นเก่ามาก เคยได้ไปเห็นที่กำพงธม มีกำพงฉลักอิฐ แต่ที่นครธมไม่เคยพบการฉลักอิฐเลย รูปสถานที่กำพงธมก็เป็นอย่างฮินดู ไม่เป็นอย่างปรางค์เขมร เข้าใจว่าที่ปรางค์เขมรนั้นเป็นของคิดขึ้นทีหลัง เอาแบบสถานฮินดูเป็นสะพาน พระธาตุพนมซึ่งตอนล่างฉลักอิฐนั้น แสดงว่าเป็นของเก่า แต่ตอนบนจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ คงพังเสียแล้วถูกก่อต่อขึ้น

ตรัสถึงพระเจดีย์นั้นจับใจมาก พระเจดีย์ไทยรูปร่างเป็นอย่าง “ไม้เรียวหวดฟ้า” ทั้งนั้น เว้นแต่ยอดเป็นสองอย่าง เป็นบัวคลุ่มซ้อนกันเรียกขึ้นไปอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นปล้องไฉน คำนั้นก็ดี ทำให้รู้ได้ว่าปี่ไฉนนั้นเดิมทีกลึงเป็นปล้อง ปล้องไฉนก็คือร่มซ้อนๆ กันนั่นเอง แต่ถ้าเป็นร่มจริงๆ ทำยาก จึงย่นย่อลงทำเป็นแต่ปล้องไฉน พระเจดีย์กลมนั้นเรียกกันว่า “พระเจดีย์ลังกา” คงเป็นท่านพวกสวามีลังกาซึ่งเข้ามาแต่ก่อนมาให้การให้ทำ พระเจดีย์รูปอื่นเห็นจะทำเพื่อให้ดูแปลกตาเท่านั้น จะถือเอาเป็นหลักฐานแห่งบ้านเมืองเห็นจะไม่ได้

พระเจดีย์ “กู่กุด” อาจเป็น “กู่กุฏิ” ก็ได้ “กุฏิ” หมายความถึงซุ้มพระ “กุด” หมายความว่ายอดด้วน จะเป็นอย่างไรก็ได้ พระเจดีย์อย่างนั้นเห็นรูปเขาฉายมาแต่เมืองเชียงใหม่ นึกชมว่าเขาคิดแปลก แต่ตรัสบอกว่ามีหลายเมืองเป็นของถ่ายกันไปก็ทำให้ความตื่นใจซาลง

๘) ตามที่กราบทูลว่า เห็นแผนที่มีเมืองกาญจนดิฐอยู่แห่งหนึ่ง ไม่ใช่บ้านดอนนั้นคงเป็นหลง พระกาญจนดิฐคนแรกแกคงตั้งบ้านอยู่ที่ตรงหมายเป็นเมืองกาญจนดิฐนั้น แต่ก่อนนี้บ้านเจ้าเมืองอยู่ตรงไหนตรงนั้นก็เป็นเมือง เช่น เมืองมโนรมย์เห็นในแผนที่หมายไว้ว่าเมืองมโนรมย์ตั้งใจจะไปพักที่เมือง แต่ไปถึงเข้าจริงก็มีแต่บ้านเจ้าเมือง ไม่มีบ้านราษฎร และก็ร้างแล้วด้วย เพราะเจ้าเมืองคนนั้นตายแล้ว

๙) วังจันทน์ที่กรุงเก่า คิดว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงสร้าง ชื่อนั้นจะเอานามวังที่พิษณุโลกมาตั้งได้อยู่ แต่ที่ชื่อจันทน์นั้นมาแต่ทำวังด้วยไม้จันทน์เป็นแน่ เรียกวังจันทน์เท่านั้นสั้นไป พวกต้องการยาวจึงต่อเป็นวังจันทน์เกษม วังจันทน์บวรก็เคยได้ยิน เป็นไปในทางต้องการยาวทั้งนั้น

“พระราชวังบวรสถานมงคล” นั้นไม่เคยคิด เมื่อคิดเข้าคำ “พระราชวังบวรสถาน” นั้นไม่ผิดสังเกต แต่คำ “มงคล” นั้นแปลกมาก แลกวก็เปลี่ยนกับวังหลัง ที่ตรงคำนั้นเป็น “ภิมุข” ไปด้วย คำ “มงคล” ตามดำริคาดนั้นรับรองว่าถูก แต่คำ “ภิมุข” นั้นชอบกล เข้าใจว่าที่เขียน “ภิมุข” เป็นของใหม่ มาคิดกันขึ้นเมื่อขนานพระนามสมเด็จพระราชบิตุลานี้เอง ทั้งสองคำนั้นจะแปลว่าหลังก็ออกจะไม่ได้ แต่จะอย่างไรก็วังหน้าในกรุงรัตนโกสินทร์เอาคำ “ภิมุข” มาใช้เป็นชื่อพระที่นั่งมาก เช่น “ทักษิณาภิมุข” เป็นต้น ถ้าจะแปลก็ว่าทิศน้อย คือทิศหรดี เขาจะหมายความอย่างไรก็ไม่ทราบความหมายของเขา

๑๐) กินนรจีน ถ้าเป็นครั้งงานพระเมรุสมเด็จพระเทพศิรินทร์ เราก็จะเห็นไม่ได้ ต้องพังหมดแล้ว เว้นแต่ครั้งนั้นจะเป็นกินนรจีนเหมือนกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้เจ้าต๋งคิดอย่างเหมือนครั้งนั้น นั่นอาจเป็นได้ แต่ในข้อนั้นเกล้ากระหม่อมไม่ทราบ

ตรัสถึงทำกงเต๊ก ทำให้นึกเรื่องขึ้นมาได้ เมื่อครั้งงานศพยายมีผู้ถือมั่นในทางศาสนาของเราออกความเห็นว่า จะทำไรก็ได้ เว้นแต่กงเต๊กไม่ควรทำ เล่นเอาต้องร้องอุทธรณ์ว่าไม่ทำไม่ได้ ท่านเป็นเจ๊ก

๑๑) ตรัสเล่าถึงเรื่องท่านเจ้าจุ่นเอ็ดพระยาศิริธรรมนั้นสนุก แปลว่าท่านเชื่อหนังสืออย่างเดียวกับพระภิกษุครั้งเหมือนกัน ที่จริงดาชีลิงไม่ได้อยู่ในป่าหิมพานต์ ควรจะเรียนให้ท่านเข้าใจว่าเป็นแต่ย่างเข้าไปในเขตป่าหิมพานต์เท่านั้น ทูลกระหม่อมชายเสด็จไปมีลายพระหัตถ์เล่ามาว่า อยู่ที่โฮเต็ลไม่เห็นเขาพระเมรุ ต้องไปไกลออกไปอีกจึ่งจะเห็น แม้กระนั้นก็ต้องเป็นวันดีคืนดีจึ่งจะได้เห็น เพราะมีเมฆมาปิดบังเสีย นายโฮเต็ลกราบทูลว่าได้พยายามไปดูหลายหนแล้ว แต่ไม่ได้เห็นสักที ตรัสเล่าว่าพอเสด็จไปถึงก็ได้เห็น แต่ดูต่ำเตี้ยมากเพราะอยู่ไกล พอตระเตรียมกล้องจะทรงฉายรูปก็มีเมฆมาปิดบังเสีย คอยอยู่เท่าไรเมฆก็ไม่เปิด เลยไม่ได้รูปฉายมา ได้ทราบตัวเลขปรอทวัดความร้อนหนาว ในหนทางที่เสด็จไปรู้สึกว่าหนาวเต็มที เกล้ากระหม่อมสู้ไม่ได้

ตามที่เขียนเหล่ากอของครุฑมาถวาย ก็เพื่อให้ทรงทราบว่าครุฑไม่ใช่สัตว์หิมพานต์

๑๒) พระกาฬที่ศาลในสวนเจ้าเชต เกล้ากระหม่อมได้เคยเห็น เป็นรูปหล่อ ไม่ใช่รูปไม้ที่จางวางรอดเอามาขาย นั่นจะเอามาแต่ไหนไม่ทราบ เข้าใจว่าขโมยมาแต่พระนครหลวง ดูเหมือนได้บอกพระยาโบราณไป

๑๓) ฟังพระดำรัสเล่าถึงเรื่องพระนาคปรก ของหม่อมเฉื่อย ทำให้นึกถึงสุสานที่วัดราชบพิธ บรรดาพระพุทธรูปซึ่งใครต่อใครหล่อตั้งไว้ที่อนุสรณ์ ถ้าเป็นองค์เล็กๆ พระท่านอุ้มเอาขึ้นไปเก็บไว้บนกุฏิทั้งนั้น ต่อมีงานจึงเชิญเอาลงมาตั้ง ถ้าตั้งไว้กับที่ก็หาย เคยได้ยินสมเด็จชายตรัสบ่น ว่าพระหล่อของท่านตั้งไว้ที่อนุสรณ์สำหรับสกุลหาย คิดว่าเป็นทองเหลืองมีราคาจึ่งถูกขโมย ได้ทรงพยายามหาพระนาคปรกศิลามาตั้งแทนคิดว่าเป็นของไม่มีราคาจะไม่หาย แต่ก็หายอยู่นั่นเอง ทั้งนี้เข้าใจว่าเพราะมีคนเล่นของเก่าอยู่ พระพุทธรูปอย่างใดๆ ก็ขายได้ราคาทั้งนั้น

๑๔) เป็นพระเดชพระคุณที่ตรัสเล่าถึงเมืองทุ่งยั้ง เมืองเจ้าเงาะนั้นเคยได้ยิน แต่เมืองที่วัดมหาธาตุนั้นไม่เคยได้ยิน หลุมคลีที่เมืองเจ้าเงาะนั้น ได้ยินกล่าวตื่นเต้นกันหนัก

เมืองซึ่งเป็นรูปไข่ เคยได้ยินคำเล่าที่ไหนเป็นเมืองอะไรมีอีก แต่ลืมเสียแล้วนึกกราบทูลไม่ได้ อย่างไรก็ดี เมืองซึ่งเป็นรูปไข่นั้นเก่ากว่ารูปเหลี่ยมแน่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ