วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ข่าวราชการ

๑) เมื่อวันที่ ๙ ที่แล้วมา สำนักพระราชวังส่งหมายมาให้ ๒ ฉบับเป็นหมายกฐินหลวงฉบับ ๑ หมายการพระราชกุศลทรงบำเพ็ญถวาย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฉบับ ๑ มีหมายกำหนดการใบพิมพ์ส่งมาด้วยอย่างละ ๒ ฉบับ เกล้ากระหม่อมได้แบ่งส่งมาถวายฉบับหนึ่งนี้แล้ว แต่คงไม่สู้มีประโยชน์มากนัก เพราะกำหนดการทั้งสองอย่างนั้น เขาก็ลงพิมพ์ในหนังสือ “บางกอกไตม์” ซึ่งคงจะได้ทอดพระเนตรทรงทราบแล้ว ทั้งการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เป็นการตามเคยด้วย

๒) ข้อต่อไปนี้แหละมีประโยชน์ที่จะได้ทรงทราบ เพราะเขาไม่ได้ลงพิมพ์ เมื่อวันที่ ๑๓ เขามีหมายบอกว่า สมเด็จพระพันวัสสาจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า และสมเด็จพระเทพศิรินทร์ที่จัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณ วันที่ ๑๕ และ ๑๖ แล้วได้ทราบข่าวว่า วันที่ ๒๖ ตุลาคม จะเสด็จขึ้นไปประทับแรมที่พระราชวังบางประอิน จนสิ้นเดือนจึงเสด็จกลับ และวันที่ ๒๗ ตุลาคม ทรงทอดกฐินพระราชทานวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

๓) ส่วนเกล้ากระหม่อมได้รับหมายให้ไปทอดกฐินพระราชทาน วัดมหาธาตุยังไม่ได้กำหนดวัน ในหมายบอกทางไว้ ว่าจะรับเอาเครื่องกฐินไปก็ได้ โดยวิธีที่รับเอาเครื่องกฐินพระราชทานไปทอดอย่างงุบงิบเป็นส่วนตัว เกล้ากระหม่อมเห็นว่าเป็นการทำไม่ถูก กฐินพระราชทานนั้นแปลว่าโปรดเกล้าฯ ให้ไปทอดแทนพระองค์ ถ้ารับเอาเครื่องกฐินพระราชทานไปทอดอย่างงุบงิบก็เป็นขาดพระเกียรติยศ ที่ทำงุบงิบนั้นคิดจะหลบหนีการแจกจ่ายเจ้าพนักงาน เป็นประเพณีเมื่อไรว่าจะต้องแจกเจ้าพนักงาน เป็นการแสดงน้ำใจอันดีของผู้ไปทอดต่างหากไม่ต้องแจกก็ได้ การทอดกฐินพระราชทานนั้นดีเสียอีกที่กะได้ การทอดกฐินส่วนตัวเสียอีกย่อมกะไม่ได้ หรือจะเป็นด้วยไม่เคยทำก็ไม่ทราบ เกล้ากระหม่อมเคยไปทอดกฐินส่วนตัวที่วัดคลองเตยทีหนึ่ง ออกจะเข็ดๆ ด้วยกะไม่ถูก เป็นต้นว่าพอชาวบ้านเขารู้ว่ามีกฐิน เขาก็วิ่งไปหยิบฉวยเอาเรือของใครมาลงกันเต็มๆ ลำ แล้วมาพายแข่งกันช่วยงานของเรา เราได้คิดเมื่อไรว่าจะมีเรือแข่ง แต่หน้าเราใหญ่เราก็ต้องแจก ของแจกก็ไม่ใช่วิเศษอะไร ผ้าชุบน้ำอบคนละผืนเท่านั้น แต่เพียงเท่านั้นก็ต้องวิ่งหัวกระทบกัน เพราะไม่ได้ตระเตรียมไว้

กราบทูล

๔) ในคราวนี้ เกล้ากระหม่อมได้ทำบันทึกเรื่อง “เห่ช้า” ถวายมาด้วยทำเป็นส่วนหนึ่งมาต่างหาก อย่างเดียวกับบันทึกเรื่อง “พิธีตรุษ”

ย้อนหลัง

๕) ด่านสิงขร ได้ยินว่าอยู่ทางปักษ์ใต้ เกล้ากระหม่อมเคยคาดว่าจะเป็นช่องที่ออกไปเมืองตะนาวศรี ทีหลังเห็นหนังสือพิมพ์เขาพูดถึงเมืองพม่ามีชื่อ “สิงขร” แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นอะไรจึ่งได้ดูแผนที่สอบ ที่ในแดนเราตรงออกไปเมืองตะนาวศรีไม่มีหนังสือจดไว้ว่ากระไรเลย แต่ไปพบคำ “สิงขร” ในวงเล็บเข้าจดไว้ติดต่อกับเมืองสิงห์ ซึ่งมีประสาทหินที่แม่น้ำแควน้อยกาญจนบุรี ดูเป็นทีว่าเมืองสิงห์จะเป็นสิงขร ไม่ใช่สิงหะอยู่เหนือด่านพระเจดีย์สามองค์ขึ้นไปอีก ออกจะตีนขวิด ถ้าด่านสิงขรอยู่ตรงนั้นก็กลายเป็นช่องออกไปเมืองทวาย เพราะอยู่ตรงกัน สอบพระนิพนธ์เรื่องเรารบพม่า มีในหน้า ๒๘๑ ว่า “ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีกับเจ้าพระยาพลเทพ ลงไปรวมพลจัดเป็นกองทัพที่เมืองเพชรบุรีอีกทัพ ๑ คอยต่อสู้พม่าเมื่อจะยกมาทางด่านสิงขร” ในที่นี้เป็นด่านสิงขรอยู่ที่แขวงเพชรบุรี แต่ไม่มีหนังสือจดไว้ในแผนที่ให้รู้ว่าอยู่ตรงไหน ส่วนด่านแม่สอดนั้นเห็นแผนที่ทำให้เข้าใจได้แจ่มแจ้ง มีแม่น้ำลำหนึ่งตกมาแต่เขาแดนจดหนังสือไว้ว่าแม่สอด และมีหนังสือจดไว้ในวงเล็บต่อไปว่า “แม่ลำเมา” แล้วมีพินทุอยู่ข้างลำน้ำนั้น ต้องเข้าใจว่าหมายเป็นเมือง เมืองนั้นต้องเป็นเมืองฉอด ลำน้ำนั้นจะต้องชื่อ “แม่น้ำเมา” ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “แม่สอด” ก็ด้วยอำนาจเมืองฉอดนำไป

๖) นึกถึงสังเกตวันเดือนปีอย่างหยาบ นึกได้ถึงหลักศิลาขุนรามคำแหงครั้งนั้นเรียกปีว่า “เข้า” หมายถึงทำนาปลูกข้าวได้คราวหนึ่ง ไม่ว่าอะไรหมด แต่ก่อนนี้สังเกตกันหยาบๆ จำเพาะแต่เท่าที่ต้องการเช่นอึดใจหนึ่งสองอึดใจเป็นต้น เอาเป็นแน่ไม่ได้ว่านานเท่าไร ต่อมามีนักปราชญ์รวบรวมเอาความสังเกตอย่างหยาบมาทำเป็นมาตราขึ้น เช่น ที่มีในหนังสือเรียน “มูลบทบรรพกิจ” ว่า ๖ เพชรนาทีเป็นปราณ ๑ เข้าใจว่าปราณนั้นหมายเอาอึดใจนั้นเอง อันมาตรานั้นฟังยาก เคยพาหลงไปหลายหนแล้ว เป็นต้นว่าโยชน์ ๑ ซึ่งเคยกราบทูลมาก่อนแล้ว จะเป็นว่ายาวเท่าไรก็สอบเอาแน่ไม่ได้ ที่แท้ก็ประมาณเอาหยาบๆ เท่านั้น

ในเรื่องเครื่องวัดเวลา เมื่อเร็วๆ นี้พระองค์เจ้าธานีก็ค้นถามมาถึงนาฬิกา คือกะลามะพร้าวลอย อันเป็นมูลแห่งชั่วโมง ด้วยคิดว่าจะได้เคยเห็น จะเคยเห็นอย่างไรได้ ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นเขาใช้นาฬิกากลกันเสียแล้วได้เคยเห็นแต่ “อัน” เขาตีไก่ เป็นจอกเจาะก้นลอยในขัน ก็ได้บอกเธอไปตามที่เธอค้นถามมานั้น เพราะนายแลงกาต์แกพิจารณาบทกฎหมายพบที่พูดถึงกะลาลอยล่ม แกไม่เข้าใจพอจึ่งถามเธอ เธอก็จนจึ่งมาค้นถามอีกต่อหนึ่ง

ลายพระหัตถ์

๗) เมื่อเมล์วันเสาร์ตุลาคม วันที่ ๑๒ อันเป็นกำหนดควรได้รับลายพระหัตถ์เวรก็ไม่ได้รับ มาได้รับเอารุ่งขึ้นวันอาทิตย์ ลายพระหัตถ์นั้นมีรอยตัดตรวจที่ปีนังเช่นคราวก่อน ให้นึกหนักที่ไม่ได้ทรงรับหนังสือเวร คิดจะให้หญิงอามคัดสำเนาส่งมาถวายด้วยแล้ว ที่สุดก็ทราบในท้ายลายพระหัตถ์ซึ่งได้รับต่อไปนี้

๘) ในเรื่องเห่เรือ จะกราบทูลความเห็นอันติดจะแหกกระแชง แต่ไม่จำเป็นจะต้องทรงเชื่อเป็นมั่นเหมาะ จะไม่ทรงฟังก็ได้ ที่แท้ก็เป็นเดาเท่านั้น อาจถูกหรือผิดได้

คำ “มูลเห่” อาจถือเอาเป็นคำหลักได้ ว่าหมายถึงพื้นบทเห่เรือ แต่คำว่า “ช้าลวะเห่” นั้นดูเป็น ชะ-แหละ-ว่า-เห่ ซึ่งไม่เกี่ยวแก่ทำนองว่าร้องอย่างไร คำว่า “สวะเห่” จะหมายถึงเห่อย่างสวะ คือ ต้องเอะอะไปตามบุญตามกรรมก็ได้

อย่างไรก็ดี เรือทุกลำจะต้องพายด้วยเห่ด้วยนั้นเป็นแน่ แต่กระบวนของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ซึ่งไม่ใช่กระบวนหลวงยังต้องมีเห่ การเห่นั้นแสดงว่ารื่นเริง นับประสาอะไรแต่ลากไม้ยังมีร้อง “ซาละพาเฮโล” คำนี้ทางเมืองตานีก็ร้องพายเรือด้วย คำที่ไม่เป็นภาษานั้นมีกำเนิดมาตั้งแต่เต้นแร้งเต้นกาเมื่อสู้กันชนะ ความชนะเป็นสิ่งซึ่งปรารถนา เพราะฉะนั้นเรือทหารที่จะเข้ารบถึงได้ร้องเหะหะไปทั่วกัน ทีหลังก็มีผู้รู้เอาคำที่เป็นภาษาแกมเข้ากับคำที่ไม่เป็นภาษา เช่น “โอเห่เจ้าข้า ปราไชโย” เป็นอย่าง นี่ก็เห็นอยู่แล้วว่าหมายถึงชนะศัตรู แล้วเติมคำที่เป็นภาษาให้มากเข้าอีก ก็กลายเป็นบทเห่เป็นกาพย์กลอนไป ทางอินเดียมีเห่เรือเหมือนกัน ก็ไม่ประหลาด คงเป็นไปโดยหลักอย่างเดียวกัน แม้เราจะจำอย่างเขามาก็จะจำแต่รูปแห่งการกระทำ ไม่ได้จำเอาคำร้องของเขามาด้วย คำที่เราร้องกันอยู่ดูก็เหลวๆ ไม่เห็นมีภาษาสังสกฤตปนอยู่ อันจะพึงสังเกตได้ว่าจำเขามา คำว่า เฮ เห่ เห เห็นว่าเป็นคำเดียวกัน

ขอได้ทรงพิจารณาในคำว่า “สีไชย” จะเป็นคำเดียวกับที่เราพูดว่า “สีพาย” ใช่หรือไม่ใช่

๙) เรื่องพระครูวัดฉลองสนุกดี เมื่อเกล้ากระหม่อมไปเมืองภูเก็ตก็ตั้งใจที่จะพบท่าน ด้วยได้ยินชื่อเล่าลืออยู่มาก พอไปถึงท่านก็มาหา แล้วเกล้ากระหม่อมก็ได้ไปหาท่านที่วัด เป็นการเยี่ยมตอบด้วยเพื่อดูทำเลวัดที่ท่านต่อสู้กับพวกจีนด้วย

เมืองภูเก็ตนั้นพื้นที่บ้านเมืองดูเต็มที เป็นหลุมเป็นบ่อไปด้วยการขุดแร่ทั้งนั้น จะหาต้นไม้สักต้นหนึ่งก็ยาก ที่วัดฉลองนั้นแหละค่อยมีต้นหมากรากไม้อะไรมากหน่อย ที่เมืองถลางนั้นดูดี มีหมู่ไม้ไร่นา แต่ไม่ได้ขึ้นไปเป็นแต่นั่งบนเรือไปเมืองพังงาผ่านไปเห็นเท่านั้น

เมืองกระบี่ แต่ก่อนดูบัญชีการไปรษณีย์ไม่เข้าใจ ว่าทำไมจึงไม่มีบุรุษไปรษณีย์ ต่อเมื่อไปเห็นจึ่งเข้าใจ ที่เป็นตัวเมืองนั้นมีถนนอยู่สายเดียวสั้นนิดเดียว ตัวพนักงานไปรษณีย์เดินไปส่งเอาได้ไม่ยากลำบากอะไร ส่วนเขตในจังหวัดทั้งหมดนั้นไม่มีหนังสือจะต้องเดินส่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ