วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๖ มีนาคมแล้ว ลายพระหัตถ์มาคราวเมล์กันพฤหัสบดีนี้ ค้างอยู่ที่พนักงานไปรษณีย์จนวันเสาร์เวลาเช้าเขาจึงเอามาส่ง เห็นแปลกที่เป็น ๒ ซอง ดูเหมือนเป็น ๒ ฉบับมาพร้อมกัน ต่อเปิดผนึกจึงทราบว่าซองที่ ๒ เป็นใบเปลี่ยนกระดาษหน้ากลางในลายพระหัตถ์ซองที่ ๑

จดหมายเวรของหม่อมฉันฉบับนี้ จะได้ทรงรับเป็นฉบับแรกใน พ.ศ. ๒๔๘๓ หม่อมฉันจึงเอาเป็นโอกาสขอถวายพรปีใหม่แด่พระองค์ท่านกับทั้งพระญาติให้เจริญสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนม์สุขสถาพรตลอดปีใหม่จงทุกประการเทอญ

สนองความในลายพระหัตถ์

เรื่องพระแท่นดงรัง ที่มาได้ความว่าพระองค์ท่านเอง มิใช่ผู้อื่นบอกหม่อมฉันว่าพระราชาคณะท่านแต่งว่าอย่างนั้นดูขันดี เปรียบเหมือนให้การอ้างต่อตัวองค์พยาน จะทูลวินิจฉัยถึงความเชื่อถือของคนทั้งหลายต่อไปอีกสักหน่อย ดูเป็นธรรมดาของมนุษย์ ไม่เลือกว่าชาติใดๆ เมื่อใจนึกขึ้นถึงสิ่งใด รูปของสิ่งนั้น ตามที่ตนเคยเห็นหรือแม้แต่สำคัญว่าจะเป็นอย่างไรก็ปรากฏขึ้นเป็นญาณทัศนะ ยกตัวอย่างดังไทยเรานึกถึงพระพุทธเจ้า รูปพระห่มผ้าเหลืองมีพระเกศมาลาบนพระเศียรและมีพระรัศมีทองเป็นรูปเปลวแหลมปักอยู่บนนั้นอย่างเขาเขียน ก็ปรากฏแก่ญาณทัศนะ ที่จะเป็นรูปอย่างอื่นหามีไม่ ข้อนี้ฉันใด เมื่อนึกถึงเทวดา ก็เห็นรูปใส่ชฎายอดแหลมๆสอดสวมอาภรณ์ไม่ใส่เสื้อ แม้นึกถึงเมืองสวรรค์ก็เห็นวิมาน ๓ ช่องยอดแหลมๆ ลอยอยู่ตามกลีบเมฆ นึกถึงยักษ์มารก็เห็นหน้าเหมือนอย่างหัวโขน ว่าโดยย่อคงอย่างที่ตนได้เคยเห็นแล้วหรือนึกแล้วว่าจะเป็นเช่นนั้น ฝรั่งก็เหมือนกัน พึงเห็นได้เช่นรูปแม่พระเยซูก็ดี พวกนักบุญก็ดี ที่ทำไว้ตามวัดศาสนาคริสตังแต่สมัยเรเนซอง ล้วนทำเป็นรูปฝรั่งแต่งตัวอย่างฝรั่งชาวอิตาลี ไม่ทำเป็นอย่างรูปยิวตามจริง ช่างภายหลังแก้ไขให้เป็นรูปยิวก็ไม่มีใครเห็นชอบด้วย เพราะเคยเห็นเคยติดตามาเสียช้านาน แม้พระพุทธรูปที่ทำตามแบบคันธารราษฎร์เมื่อรัชกาลที่ ๕ ไม่มีเปลวรัศมีบนพระเศียรไม่มีใครคัดค้าน แต่เมื่อนึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธรูปที่มีเปลวรัศมีเคยตาก็ปรากฏขึ้น หาเปลี่ยนไปตามแบบใหม่ไม่ เรื่องพระพุทธประวัติก็เป็นทำนองเดียวกัน ผู้ที่แต่งได้ยินเขาเล่ากันมาว่าพระพุทธเจ้าอยู่ในเมืองไทยประจำใจเสียแล้ว ถึงมีบางคนได้รู้เห็นและเชื่อว่าความจริงจะเป็นอย่างอื่น บอกให้ก็ไม่เชื่อเพราะฝ่าฝืนญาณทัศนะของผู้ฟัง ว่าตามทางพงศาวดารปัญหาข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นชาวอินเดีย ดูไม่ปรากฏว่าไทยเราเคยเอาใจใส่เหมือนเช่นพม่าเขาเชื่อมาช้านาน จนถึงทูลกระหม่อมทรงประกาศความเชื่อก่อนผู้อื่น พึงเห็นได้ด้วยทรงนับถือเมล็ดพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์ที่ได้มาจากพระพุทธคยาในอินเดียยิ่งกว่าพันธุ์โพธิลังกา ซึ่งนับถือกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่คำอธิบายที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นชาวอินเดียดูเพิ่งมาโจษกันแพร่หลายเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากประพาสอินเดียเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เริ่มทำให้คนเชื่อมีมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนไม่เชื่ออยู่โดยมาก แม้ต่อนั้นมาถึง ๒๐ ปี หม่อมฉันมาเล่ายังถูกพระราชาคณะผู้ใหญ่คัดค้าน ดังทูลในจดหมายฉบับก่อน

เรื่องเขียนตำนานพิธีตรุษนั้นเวลานี้ถึงที่ยาก ด้วยกำลังวิจารณ์คำประกาศภาษาสิงหลสังสกฤต เดิมหม่อมฉันทราบว่าพระสาธุศีลสังวร (ศีลรัตน) ได้เคยแปลเป็นภาษามคธถวายสมเด็จพระมหาสมณฯ ไว้เมื่อก่อนท่านถึงมรณภาพ หม่อมฉันได้ขอสำเนาคำแปลนั้นออกมา แล้ววานให้พระมหาภุชงค์ที่มาสอนพระศาสนาอยู่ ณ เมืองปีนังแปลออกเป็นภาษาไทย แต่เมื่อเอามาพิจารณาเทียบกับคำประกาศ เห็นว่าพระสาธุฯ เป็นแต่ตัดความออกแปลเป็นตอน และเอารวมกันทั้งประกาศเวลาเช้าและเวลาค่ำ เพื่อจะให้เข้าใจเค้าความของประกาศเท่านั้น หาได้แปลแต่ต้นจนปลายติดต่อกันไม่ หม่อมฉันทราบว่าพระอาจารย์คุณรัตนเถระชาวลังกา ที่มาเป็นอธิการวัดมหินทรารามอยู่ที่เมืองปีนังนี้อ่านอักษรไทยได้ จึงเอาประกาศภาษาสิงหลสังสกฤตในสมุดพิมพ์ไปให้ท่านอ่าน ท่านพิจารณาดูแล้วบอกว่าเป็นภาษาเก่าเข้าใจยาก แม้ตัวท่านเองก็เห็นจะแปลไม่ออกทั้งหมด เมื่อได้ฟังอย่างนั้นทำให้หม่อมฉันนึกว่าคำประกาศพิธีตรุษของลังกา ถ้าจะเปรียบกับหนังสือไทยก็เห็นจะเป็นเช่นเดียวกันกับโองการแช่งน้ำที่พราหมณ์อ่านในพิธีถือน้ำ นักเรียนชาวลังกาชั้นหลัง แม้จนพระสาธุศีลสังวร จึงไม่เข้าใจได้หมด เมื่อเป็นเช่นนั้นหม่อมฉันก็ได้อาศัยแต่พิจารณาคำประกาศภาษาไทย ซึ่งเชื่อว่าแต่งตามรูปความประกาศภาษาสิงหลฯ และอาศัยความตอนที่พระสาธุฯ แปล กับสังเกตคำในประกาศลังกาเอาเองจึงลำบาก แต่ก็ยังสนุกไม่ย่อท้อต่อที่จะพิจารณาต่อไป

ข้อที่ท่านทรงพระปรารภไม่อยากจะให้อธิบายและวินิจฉัยต่างๆ ที่เราเขียนกันไว้ในจดหมายเวรไร้ประโยชน์เหมือนอย่างเป็นหมันนั้น จะทูลสนองได้แต่เป็นพยากรณ์ว่าเห็นจะไม่ต้องทรงพระวิตก เพราะจดหมายเวรมีรวบรวมเรียบเรียงไว้เรียบร้อยถึง ๒ ชุด อยู่ที่พระองค์ท่านชุด ๑ อยู่ที่หม่อมฉันชุด ๑ บางเรื่องเช่น วินิจฉัยเรื่อง สมเด็จกรมหรือกรมสมเด็จเป็นต้น หม่อมฉันได้คัดสำเนาให้แก่พระยาอนุมานราชธนไปก็มี นึกว่าในวันหน้า จะเร็วหรือช้าก็ตาม คงมีพวกนักเรียนเสาะแสวงหาอธิบายและวินิจฉัยของเราที่มีในจดหมายเวรเอาไปใช้ให้เป็นสาธารณประโยชน์ เห็นจะไม่เป็นหมันดอก

ข้อที่ทรงเปรียบคนแต่งหนังสือกับช่างเขียนเมื่อแก่ชรานั้น หม่อมฉันอยากจะทูลแย้งว่าคนแต่งหนังสือก็มีภัยอย่าง ๑ ซึ่งยังไม่ได้ทรงพระดำริคือความ “หลง” ถ้าชราภาพพาความหลงมาถึงเมื่อใดดูเหมือนจะร้ายเสียยิ่งกว่าช่างเขียน ที่ไม่สามารถจะลากเส้นได้ตามใจ เพราะช่างรู้สึกตัวได้เอง แต่คนหลงไม่รู้ตัว สำคัญว่ายังเป็นปราชญ์เปรื่อง อาจพาให้คนอื่นพลอยหลงไปด้วย

ในลายพระหัตถ์ตรัสเล่าถึงเสด็จไปช่วยงานปลงศพบุคคลที่เคยรู้จักกันหลายราย หม่อมฉันยินดีอนุโมทนาบุญด้วยทั้งนั้น โดยเฉพาะในการปลงศพพระยาวิเชียรคิรี (ชม ณ สงขลา) และศพคุณหญิงสมบุญ วิเชียรคิรี เพราะศพทั้ง ๒ นี้คอยปลงมาช้านานนักหนาแล้ว ศพพระยาวิเชียรคิรีซึ่งถึงอนิจกรรมก่อนคุณหญิงสมบุญดูเหมือนค้างมากว่า ๓๐ ปี นานเสียยิ่งกว่าจำพวกศพที่เราเคยเรียกกันว่า “คอยไฟประลัยกัลป” ที่ต้องรอมาช้านานเพราะเหตุใด หม่อมฉันเข้าใจว่าท่านทรงทราบอยู่แล้วจึงไม่เล่าในจดหมายนี้ และเมื่ออ่านเรื่องงานศพนึกขึ้นถึงโบราณคดีเรื่อง ๑ ซึ่งใคร่จะทูลซ้อมความทรงจำของหม่อมฉัน ว่าจะถูกต้องตรงกับที่ท่านทรงจำไว้ได้หรือไม่ คือมูลของประเพณีทำบุญหน้าศพเมื่อครบ ๗ วัน ๕๐ วัน และ๑๐๐ วัน ที่ทำกันเป็นสามัญอยู่ทุกวันนี้

พิธีทำบุญหน้าศพเมื่อครบ ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วันเป็นพิธีตามลัทธิมหายานของจีนและญวนเอาอย่างมาทำตาม ในเมืองไทยเดิมมีแต่พระญวนทำพิธีนั้น เรียกกันว่า “กงเต๊ก” มักทำแต่ในพวกจีนและญวน นาน ๆ จึงจะมีในงานของไทยโดยหามาทำเป็นการพิเศษสักครั้ง ๑ และหาได้เอาเข้าเป็นระเบียบประสานกับพิธีสงฆ์ไทยไม่

ที่ไทยเอาพิธีกงเต๊กของมหายาน คือ ทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน มาประสานกับพิธีสงฆ์ไทยในงานหน้าศพ แรกเกิดขึ้นในงานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน กับพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ หอธรรมสังเวช เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๒๓ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำรัสว่า เมื่อครั้งพระศพสมเด็จพระเทพสิรินทรา ประดิษฐานอยู่ ณ หอธรรมสังเวช ทูลกระหม่อมเคยโปรดให้พระญวนทำพิธีกงเต๊กที่หน้าพระศพ ครั้งนี้ใคร่จะโปรดให้ทำอย่างเดียวกัน ผู้รับสั่งตั้งระเบียบพิธีกงเต๊กครั้งนั้น ฝ่ายไทยเห็นจะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ฝ่ายพระญวนมีคณาจารย์ ๒ องค์ องค์ ๑ ชื่อองค์ฮึง อยู่วัดตลาดน้อย ว่าเคยคุ้นกับทูลกระหม่อมมาแต่ยังทรงผนวช แต่แก่ชรามากแล้ว องค์ที่กะการนั้นชื่อองค์อร่ามเป็นอธิการวัดบางโพธิ์ ครั้งนั้นเลยทรงตั้งพระญวนและพระจีนให้มีสมณศักดิ์พระครูพระอาจารย์ แต่ละองค์มีราชทินนามต่างๆ เทียบด้วยตำแหน่งฐานานุกรมเป็นเดิมมา ส่วนการพิธีนั้นทำเป็น ๓ ตอน ตอนต้นทำในวันประจำสัปดาหะที่ตรงกับวันสิ้นพระชนม์ทุกสัปดาหะ จนครบ ๗ สัปดาหะ พิธีสงฆ์ไทยมีสวดมนต์เลี้ยงพระเทศนาและสดับปกรณ์ พิธีสงฆ์ญวนตั้งโรงพิธีที่อัฏฐวิจารณ์ศาลา สวดทั้งกลางวันและกลางคืน และเซ่นพระศพเวลาเช้าครั้ง ๑ บ่ายครั้ง ๑ พิธีตอนนี้พิเคราะห์ดูเป็นทำนองเชิญพระวิญญาณเข้าสู่วัตถุเรียกว่าเพี้ยน ซึ่งทำขึ้นต่างพระองค์ เมื่อครบ ๗ สัปดาหะถึง ๕๐ วันทำพิธีตอนกลาง พิธีสงฆ์ไทยเหมือนอย่างแต่ก่อนแต่ทำ ๓ วันติดต่อกัน ส่วนพระญวนทำพิธีสวดและเซ่นอย่างว่ามาแล้ว ๓ วัน วันหลังมีการพิธีเดินแห่นำพระวิญญาณ มีพระญาติติดตามไปส่งข้ามตะพานที่ชาลาลานพระมหาปราสาทเป็นทำนองนำพระวิญญาณไปส่งขึ้นสวรรค์ชั้นสุขาวดี เมื่อทำพิธี ๕๐ วันแล้ว หยุดไป ๗ สัปดาหะ ถึงเขตครบ ๑๐๐ วันทำพิธีตอนท้าย ส่วนพิธีสงฆ์ไทยทำอย่างเดิม ๓ วัน แต่ส่วนพิธีพระญวนคราวนี้ทำใหญ่โต มีสวดและเซ่น ๓ วันเหมือนตอนก่อน นอกจากนั้นถึงวันหลังที่ในลานพระมหาปราสาทตั้งโต๊ะซ้อนเป็นที่พระญวนนั่งเป็นขนัดจัดเป็นหลั่นลด โต๊ะหมู่ ๑ มีพระเถระนั่งเป็นประธาน องค์พระอันดับนั่งข้างหน้าเป็นสาวก ๒ องค์ พิธีตอนนี้พิเคราะห์ดูเป็นการต้อนรับพระวิญญาณที่ในสวรรค์ชั้นสุขาวดี เมื่อเริ่มสวด พระเถระทั้งหลายครองผ้าอย่างสามัญ เป็นทำนองพิธีบุรพบทเมื่อพระวิญญาณไปถึงแล้วพระเถระพากันใส่หมวก ดูเหมือนสมมติเป็นเทวดาต้อนรับ เมื่อจวนจบพระเถระทั้งหลายเอาแถบมีพระพุทธรูปเรียงกัน ๕ องค์ อันเป็นเครื่องแต่งพระโพธิสัตว์ผูกเข้าข้างหน้ากระบังหมวก สมมติเป็นพระโพธิสัตว์รับพระวิญญาณไว้ในสวรรค์ เมื่อเสร็จการสวดแล้วมีการโปรยทานทิ้งกระจาด และเผาเครื่องกระดาษซึ่งทำเป็นรูปวัตถุต่างๆ อุทิศให้เป็นเครื่องใช้สอยของพระวิญญาณเมื่ออยู่บนสวรรค์ รูปพิธีเป็นดังว่ามานี้

แต่นั้นในงานพระศพเจ้านายที่ทำเป็นการหลวงก็มีกงเต๊กเช่นว่าต่อมาทุกงาน คนภายนอกก็นิยมเอาอย่างไปทำตาม ที่มีกำลังพาหนะน้อยก็ลดรายการลง เช่นงานตอนต้นไม่ทำทุกสัปดาหะ ทำแต่เมื่อวันศพครบ ๗ วันครั้งเดียว แล้วไปทำเมื่อ ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน แล้วยังมีบางพวกไม่นิยมในการมีพระญวนทำกงเต๊ก คงทำแต่พิธีสงฆ์ ก็เป็นการพิธีงานหน้าศพเมื่อครบ ๗ วันครั้งหนึ่ง ๕๐ วันครั้งหนึ่ง และ ๑๐๐ วันครั้งหนึ่ง กลายเป็นประเพณีไทยสืบมาจนบัดนี้ (เรื่องยังจะมีต่อไป)

ร่างมาเพียงนี้ถึงวันอังคารเสียแล้ว ขอประทานรออธิบายเรื่องที่มีต่อกับเรื่องลูกประคำ ไปทูลต่อสัปดาหะหน้า

เรื่องทางเมืองปีนัง

เมื่อวันปีใหม่หม่อมฉันได้บำเพ็ญการกุศล เวลาเช้านิมนต์พระมารับบิณฑบาต เวลากลางวันเชิญญาติมิตรมาเลี้ยงข้าวแช่ เวลาเย็นชวนลูกหลานไปโปรยน้ำหอมถวายและบูชาพระพุทธรูปที่วัดศรีสว่างอารมณ์ ขอถวายส่วนกุศลด้วย

วันปีใหม่ประจวบเป็นวันเมล์มา เมล์นี้มีทั้งหนังสือญาติมิตรให้พรปีใหม่ และหนังสือแจกงานศพต่างๆ ส่งมาเป็นพะเนินเทินทึก กีดการร่างจดหมายเวรอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ