วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระยานริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม นั้นแล้ว คราวนี้เขาเอามาส่งแต่เวลาเช้าในวันเสาร์

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) ที่ทรงพระดำริ จะเริ่มเขียนจดหมายเวรแต่ก่อนวันรับจดหมายของหม่อมฉันนั้นควรแล้ว เพราะไม่ต้องรีบร้อนมีเวลาทรงคิดอ่านได้มาก ส่วนวิธีเขียนของหม่อมฉันนั้นเอาเวลาเป็นหลัก แต่เช้าตั้งแต่ตื่นนอน พอกินกาแฟและอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวแล้วก็ตั้งต้นเขียนหนังสือไปจนราวเที่ยงจริงจึงหยุดทุกวัน เขียนจดหมายเวรวันอาทิตย์กับวันจันทร์ บางทีถ้าความยาวก็ถึงวันอังคาร แต่คนส่งไปรษณีย์เวลาบ่ายวันอังคารเสมอ ถ้ามีเรื่องค้างเขียนไม่หมดทูลผลัดไว้เขียนในจดหมายฉบับหลัง ก็เริ่มเขียนความที่ค้างนั้นแต่วันอังคารไปจนแล้ว ถ้าไม่มีความค้างก็เขียนเรื่องอื่นแต่วันอังคารไปจนวันเสาร์ หม่อมฉันเขียนเรื่องพิธีตรุษเสร็จแล้ว เดี๋ยวนี้กำลังเขียนวิจารณ์เรื่องเห่กล่อมลูกหลวงตอบแทนคุณหอพระสมุดฯ ที่เขาส่งฉบับได้ใหม่มาให้ดู เมื่อสำเร็จหม่อมฉันจะคัดสำเนาส่งไปถวายด้วย

๒) คำว่า “ช้า” ที่หมายว่า “ไกว” นั้นสำนวนเก่ามีอยู่ในตำราสมโภชพระเจ้าลูกเธอขึ้นพระอู่ ว่าเมื่อพราหมณ์เชิญพระราชกุมารขึ้นพระอู่แล้ว “ให้พระพี่เลี้ยงพระแม่นม ช้าข้างละ ๗ ท่า ช้ากล่อมข้างละ ๗ คำ” ดังนี้ คำ “ช้า” ดูหมายเป็นกิริยาว่า “ไกว” แต่ไกว ๗ ท่าคิดยังไม่เห็นว่าทำอย่างไร

คำอื่นเสียงเหมือนกันแต่หมายต่างกัน ที่เขาคิดแก้นั้น แก้ดีก็มีเหลวก็มีเช่นคำว่า “หน้า” กับ “น่า” เดิมมีบัญญัติว่าคำ “หน้า” ให้ใช้สำหรับหน้าสิ่งซึ่งมีชีวิต หม่อมฉันเคยถามพวกครูเก่าๆ ว่าหน้าทรากศพและหน้ากากจะควรเขียนอย่างไร ก็มักฉุน ที่มาบัญญัติว่า “หน้า” ควรใช้ที่นามศัพท์ และ “น่า” ควรใช้ที่กิริยาศัพท์นั้นหม่อมเจ้าประภากร เป็นผู้บัญญัติขึ้นเมื่อเป็นรองอธิบดีกรมศึกษาธิการ แต่บัญญัติคำหน้าน่าไม่ทำให้ผิดความเดิมเหมือนกับค่าว่า “เท้า” กับ “ท้าว” เพราะคำ “เท้า” เดิมเป็นนามศัพท์ แสดงยศ เช่นเท้าสามนต์และเท้าวรจันทร์เป็นต้น คำท้าวเดิมเป็นกิริยาศัพท์ เช่นท้าวแขนเป็นต้น ที่เอาท้าวมาใช้เป็นนามศัพท์ทำให้ผิตความตามบัญญัติเดิมยุ่งไป แต่ที่บัญญัติคำ “เข้า” กับ “ข้าว” นั้นดีอยู่ ด้วยไม่เสียความที่เคยเข้าใจไปเป็นอย่างอื่น คำ “เจ้า” กับ “จ้าว” ที่นายกุหลาบบัญญัติให้ใช้ต่างกันนั้นใช้ไม่ได้ เพราะจะเขียนเจ้าหรือจ้าวก็หมายความอย่างเดียวกัน ไม่เหมือนคำ “เข้า” กับ “ข้าว”

๓) เรื่องเขียนรูปภาพเข้าเรื่องพงศาวดารนั้น หม่อมฉันเห็นว่าเป็นอาจินตัยเพราะอยู่ในความสมมตของผู้เขียนทั้งนั้น ไม่เลือกว่าชาติใดภาษาใด จะยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่นรูปภาพเทวดา หรือรูปเท้าพระยาเดิมเขียนใส่ชฎายอดสูง พระองค์ท่านเองทรงพระดำริเขียนชฎาเป็นทรงเทริด เดี๋ยวนี้ก็เขียนกันเปนชฎาทรงเทริดทั้งบ้านทั้งเมือง ใครเขียนชฎาทรงสูงอย่างเดิมก็เหมือนไม่เป็นช่าง แต่ที่จริงเทวดาหรือท้าวพระยาแต่ก่อนเก่าก็มิได้ใส่ชฎาทั้งอย่างทรงสูงและทรงเทริด เป็นความคิดสมมตทั้งนั้น ดูเหมือนทูลกระหม่อมจะเป็นผู้เริ่มทรงพระราชดำริ ให้อาจารย์อินโข่งเขียนเรื่องพงศาวดารให้เป็นรูปภาพตามจริง แต่ก็สำเร็จผลเพียงแปลกกับรูปภาพแบบเก่า หาเป็นตามจริงได้ไม่ ยกตัวอย่างดังเช่นทำยุทธหัตถีด้วยช้างเครื่องคชาธารเป็นต้น เรื่องนี้ไม่พักต้องหาตัวอย่างถึงโบราณสมัย แม้รูปภาพการสงครามเวลานี้ที่เขียน หรือแม้รูปฉายที่ลงหนังสือพิมพ์ ฝ่ายไหนทำก็ทำแต่จะให้เห็นที่เป็นดีข้างฝ่ายนั้น หาได้เห็นที่จริงแท้ไม่

๔) ตรัสถามถึงวัดที่เรียกว่า “วัดพระแก้ว” ในเมืองเลยนั้น หม่อมฉันไม่เคยได้ยินว่ามีวัดพระแก้วที่เมืองเลย หรือว่าเมืองเลยมีเรื่องเกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตมาแต่ก่อน อาจจะอ้างพระแก้วองค์อื่น เช่น “พระแก้วขาว” ที่กล่าวในพงศาวดารโยนก และมีเรื่องว่าต้องเที่ยวพาหนีภัยไปยังที่ต่างๆ (ซึ่งทำให้หม่อมฉันนึกว่าจะเป็นพระพุทธบุษยรัตน) ได้พาหนีจากเชียงใหม่ ผ่านมาทางเมืองเลยก็เป็นได้ แต่ตามที่หม่อมฉันทราบนั้นในแขวงเมืองเลยมีเจดีย์สถานที่สำคัญองค์ ๑ เรียกว่า “พระเจดีย์ศรีสมรัก” ซึ่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับพระเจ้าชัยเชษฐาสร้างครั้งปักปันเขตแดนกรุงศรีอยุธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่หม่อมฉันไม่ได้ไปเห็นเอง

๕) เรื่องสีมาวัด หม่อมฉันได้เขียนความเห็นถวายเพิ่มเติมไปในจดหมายฉบับที่ผ่านกับลายพระหัตถ์ฉบับนี้ ใจความก็ตรงกับกระแสพระดำริเห็นว่าพระพุทธบัญญัติเดิม คงเป็นการที่ทำได้ง่ายๆ มากลายเป็นวิจิตรพิสดารต่อภายหลังเมื่อล่วงพุทธกาลแล้วหลายร้อยปี

๖) เรื่องพระราชยานถมกระจังจะเป็นทองหรือถมนั้น หม่อมฉันก็ออกจะคลับคล้ายคลับคลา จำได้แต่กระจังพระที่นั่งพุดตาลถมทำด้วยทอง จึงสันนิษฐานว่ากระจังพระราชยานถมก็คงเป็นทอง แต่ถึงกระจังเป็นทองก็คงเป็นของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ทำถวาย จะผิดกันแต่ถ่ายแบบไปทำที่เมืองนคร หรือเข้ามาทำในกรุงเทพฯ เท่านั้น

เนื่องในเรื่องพระราชยาน หม่อมฉันนึกขึ้นได้ถึงสาขาคดีอีกเรื่อง ๑ ซึ่งจะทูลต่อไปนี้ ครั้งหม่อมฉันออกไปเมืองเขมรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ไปเห็นพระราชยานทองคำที่ในพิพิธภัณฑ์สถานเมืองพนมเพ็ญ องค์ ๑ (นึกว่าท่านเสด็จไปเมื่อภายหลังก็คงได้ทอดพระเนตรเห็นเหมือนกัน) หม่อมฉันถามพวกขุนนางเขมรว่าเป็นของสร้างขึ้นเมื่อครั้งไหน เขาบอกว่าสมเด็จพระนโรดมให้มาทำออกไปจากกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ ๕ หม่อมฉันนึกแคลงใจ เห็นว่าถ้าให้เข้าไปทำพระราชยานทองโดยเปิดเผยคงถูกห้าม จะไปซ่อนทำก็เป็นของขนาดใหญ่จะปกปิดอย่างไรได้ จึงเข้าไปพิจารณาดูก็เห็นเป็นฝีมือเขมรมิใช่ไทย อันฝีมือช่างทองเขมรกับไทยผิดกัน สังเกตได้ง่าย เครื่องราชูปโภคที่หม่อมฉันได้เห็นในครั้งนั้นบรรดาที่เป็นฝีมือไทย หม่อมฉันทายโดยไม่มีใครบอกก่อน ถูกทุกสิ่ง เป็นต้นแต่ศิราภรณ์มี ๔ องค์ คือ มกุฎ องค์ ๑ ชฎา ๕ ยอด องค์ ๑ มหามาลา องค์ ๑ มาลาทรงประพาส องค์ ๑ หม่อมฉันทายว่ามกุฎกับมหามาลาเป็นของไทยก็ถูก เขาบอกว่าทูลกระหม่อมพระราชทานออกไป ฝีมือผิดกับชฎา ๕ ยอด กับมาลาทรงประพาสที่ทำในเมืองเขมร ที่ในคลังเครื่องราชูปโภคมีตู้ใบ ๑ ตั้งพานทองเรียงกันไว้บนชั้นหนึ่งหลายใบ หม่อมฉันสังเกตเห็นใบหนึ่งฝีมือจำหลักผิดเพื่อน ถามเขาว่าพานใบนั้นมาแต่เมืองไทยหรือทำเมืองเขมร เขาบอกว่าเป็นพานเครื่องยศทูลกระหม่อมพระราชทานสมเด็จพระหริรักษรามาธิบดี แม้ที่สุดเมื่อไปดูในหอพระอัฐิเห็นโกศทรงพระอัฐิสมเด็จพระหริรักษงามผิดโกศอื่นๆ ถามเขาว่าช่างที่ไหน เขาก็บอกว่าเป็นของทูลกระหม่อมพระราชทานออกไปจากกรุงเทพฯ ที่อ้างว่าราชยานทองของสมเด็จพระนโรดมเชื่อได้ว่าเป็นฝีมือเขมร ที่อ้างว่าให้มาทำไปจากกรุงเทพฯ น่าจะมีมูลเพียงให้คนเข้ามาลอบถ่ายแบบพระราชยานออกไป เช่นเดียวกับให้มาลอบถ่ายแบบพระแก้วมรกต ออกไปสั่งให้ห้างบักการาต์ช่างแก้วฝรั่งเศสหล่อขึ้นใหม่ ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระแก้วเมืองพนมเพ็ญบัดนี้

แต่ข้อที่ว่าสมเด็จพระนโรดมสร้างราชยานทองคำ เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นชอบกลนักหนา ด้วยเข้ากับกิติศัพท์ซึ่งหม่อมฉันเคยได้ยินเล่ากันมาว่าสมเด็จพระนโรดม มีความเคารพยำเกรงทูลกระหม่อมมาก เมื่อไทยกับฝรั่งเศสทำหนังสือสัญญากันยอมให้กรุงกัมพูชาเป็นอิสระ พวกช่างฝรั่งเศสชักชวนให้สมเด็จพระนโรดมวางตัวตีเสมอกับไทย แต่ในสมัยเมื่อทูลกระหม่อมยังเสด็จอยู่สมเด็จพระนโรดมไม่ยอมทำตาม มีเรื่องซึ่งยกเป็นตัวอย่าง เช่นจะให้ทำเศวตฉัตร ๙ ชั้นตั้งในท้องพระโรง สมเด็จพระนโรดมไม่ยอมทำว่าเกินวาสนา จนเมื่อทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตแล้วจึงตั้งต้นทำเทียมกรุงเทพฯ เช่นสร้างปราสาทราชมนเทียรเป็นต้น ดูเข้าเค้ากับการสร้างพระราชยานทองคำในรัชกาลที่ ๕ อาจจะเป็นเพราะได้ยินสร้างพระราชยานทองคำในกรุงเทพฯ ก็เป็นได้

๗) ที่ทรงปรารภมาในลายพระหัตถ์ถึงเรื่องคานหามต่างๆ นั้น เดิมหม่อมฉันหมายจะทูลสนองในจดหมายฉบับนี้ แต่เมื่อคิดค้นหาหลักฐานเค้าเงื่อน มันเลยลึกเข้าไปจนถึงกฎมนเทียรบาล จะรวมมาคิดและเขียนในจดหมายเวรฉบับนี้ไม่ทัน ขอประทานผลัดไปเขียนจดหมายเวรฉบับหน้า

ปกิรณกะ

๘) หม่อมฉันได้ความรู้ใหม่ ควรจะทูลบรรเลงได้เรื่อง ๑ ที่สวนน้ำตกหรือที่มักเรียกกันว่าสวนลิงในปีนังนี้ แต่ก่อนมาไม่เคยมีเวลาปิด ใครจะไปเที่ยวกลางวันหรือกลางคืนเวลาใดก็ตามชอบใจ แต่เมื่อสัก ๒ เดือนมานี้เห็นเขาทำรั้วอย่างยกได้ ๒ ผืน ถึงเวลาค่ำเอารั้วนั้นตั้งแทนบานประตูปิดทางไม่ให้ใครเข้าไปเที่ยวในสวนเวลากลางคืน เขาทำเช่นนั้นเพราะเหตุใดแต่แรกไม่ปรากฏ หม่อมฉันไม่ชอบไปเที่ยวสวนในเวลากลางคืน ก็ไม่ได้เอาใจใส่สืบให้ทราบเหตุที่ปิดสวน เพิ่งมาเห็นอธิบายเหตุในหนังสือพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เมื่อฝนแล้งอยู่คราวหนึ่งนั้น ต้องไขน้ำตกให้ไปลงถังประปาเสียโดยมาก ปล่อยให้น้ำไหลลงลำธารน้อยไป เป็นเหตุให้เกิดมีห้วงน้ำนิ่งในลำธาร ยุงก็ลงไปไข่ในที่น้ำนิ่ง ในไม่ช้าก็เกิดยุงชุมที่ในสวน เขาจับเอายุงเหล่านั้นมาชันสูตร ปรากฏว่าเป็นยุงชนิดที่อาจพาเชื้อโรคมาเลเรียไปเข้าตัวมนุษย์ กรมเทศบาลเกรงว่าคนเข้าไปเที่ยวในสวนในเวลากลางคืน ไปถูกยุงกัดจะพาโรคมาเลเรียไปติดต่อแพร่หลาย จึงให้ปิดส่วนมิให้คนเข้าไปเที่ยวในเวลากลางคืนเดี๋ยวนี้ แม้มีฝนตกบ้าง ก็แล้งมาก กรมเทศบาลเห็นว่ายังจะต้องปิดสวนต่อไป จึงลงหนังสือพิมพ์ให้มหาชนทราบเหตุ

๙) ในสัปดาหะที่ล่วงมาเป็นเทศกาลเข้าพรรษา ตามวัดตามประทีปและมีคนพากันไปทำบุญตามเคย ปีนี้จำนวนพระสงฆ์จำพรรษาในปีนังอยู่ข้างน้อย วัดปิ่นบังอรมี ๕ รูป วัดปุโลติกุสกับวัดศรีสว่างอารมณ์มีวัดละ ๒ รูป วัดบุปผารามกับวัดจันทรารามมีวัดละรูป หม่อมฉันได้ไปบูชาพระที่วัดศรีสว่างอารมณ์กับวัดปิ่นบังอรและได้เลี้ยงพระ ๓ วัด ขอถวายพระกุศลแก่พระองค์ท่านกับทั้งพระญาติให้ทรงอนุโมทนา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ