วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เบ็ดเตล็ด

เมื่อวันไปจุดเทียนวรรษาที่วัดพระเชตุพน ไปเห็นซ่นพระบาทพระโลกนาถยื่นออกไปมากเป็นที่ ๑ แล้วไปเห็นพระนอนเป็นที่ ๒ ก็อย่างเดียวกันอีก ให้นึกไม่ชอบใจเสียนี่กระไรเลย ดูเป็นยักษ์ตุ๊กตา คิดจะตั้งไม่ให้ล้มไปเสียง่ายทางข้างหลัง นึกถึงพระพุทธรูปชั้นแกะด้วยศิลามาเทียบก็นึกที่แกะพระองค์ยืนลอยไม่ได้ นึกได้แต่ที่แกะมีพะนังหลังพระบาทเบื้องหลัง ฝังเข้าไปเสียในพะนังไม่ปรากฏให้เห็น นึกไปอีกก็นึกขึ้นได้อย่างหนึ่งว่าเคยอ่านตำราทำพระพุทธรูป ในนั้นบอกไว้ว่าให้ทำพระบาทแบ่งเป็นสี่ส่วน เป็นนิ้วพระบาทส่วนหนึ่ง เป็นหลังพระบาทส่วนหนึ่ง เป็นข้อพระบาทส่วนหนึ่ง เป็นซ่นพระบาทส่วนหนึ่ง นึกได้ดั่งนี้ก็สงสัยว่าข้อนไปข้างจะทำให้ต้องด้วยมหาปุริสลักขณเสียมากกว่าทำไปตามที่จะไม่ให้ล้มหลัง ครั้นได้พบกับพระเถระที่ท่านได้อ่านหนังสือมาก จึงถามท่านดูก็ได้ความว่า ในคัมภีร์มหาปุริสลักขณมีกล่าวว่า พระบาทนั้นแบ่งได้เป็นสี่ส่วน เป็นเบื้องหน้าสองส่วน เป็นที่ตั้งข้อพระบาทส่วนหนึ่ง ไปข้างหลังส่วนหนึ่ง ก็เป็นอันรู้ได้ว่าทำตามคัมภีร์มหาปุริสลักขณ ให้นึกฉุนท่านผู้แต่งคัมภีร์ ว่าอยากพูดอะไรก็พูดไปตามคล่องปาก ไม่นึกว่าจะเป็นรูปคนหรือไม่ ดังได้เคยกราบทูลมาแล้วถึงรูปพระศรีอาริย์ และทศกัณฐ์มือมาก จนพระอาจารย์แดงเขียนให้ปรากฏเห็นเป็นโกรธไม่ได้ เมื่อกราบทูลมาถึงนี้ก็นึกขึ้นได้อีก ว่าคุณอะไรหนุ่ม ๆ (ภิกษุ) ลืมชื่อท่านเสียแล้ว เขียนรูปสหัสเดชะที่ระเบียงวัดพระแก้วครั้งรัชกาลที่ ๕ ท่านจะเขียนมือซีกละพันนั้นพ้นวิสัยที่จะเขียนได้ ท่านจึงยักเขียนซีกหนึ่งเป็นมือยักษ์ อีกซีกหนึ่งเป็นมือครุฑแปลว่าเหยียดพันเป็นพันธุ์ เห็นก็รู้สึกว่าท่านทำด้วยความคิดมาก นึกชอบใจพระบาทพระพุทธรูปนั่งสมาธิ ก็ไม่เห็นมีทำซ่นยืนออกไปอย่างคัมภีร์มหาปุริสลักขณ พอดีกับเมื่อวันที่ ๒๘ ไปบูชาพระรูปสมเด็จสังฆราชเจ้าที่วัดราชบพิธ ที่ฐานพระเจดีย์นั้น ท่านเชิญพระพุทธรูปยืนเก่าใหม่ชนิดหล่อมาตั้งไว้ในชุมฐานพระเจดีย์มาก ได้เดินพิจารณาไปโดยรอบ เห็นที่ทำซ่นยื่นก็มีไม่ยื่นก็มี เป็นอันตกลงใจได้ว่า พระใหม่ทำยื่นพระเก่าไม่ยื่น อย่างเดียวกับนิ้วพระหัตถ์ชั้นครั้งศรีวิลัยสุโขทัยสวรรคโลกทำนิ้วอย่างมือคน มาครั้งศรีวิลัยพิษณุโลกทำนิ้วตัดเสมอกัน ให้ต้องตามคัมภีร์มหาปุริสลักขณ ซึ่งพูดเล่นตามชอบใจจนไม่เป็นคนเหมือนหนึ่งจะทำรูปตามคำกวีที่กล่าวชมโฉมว่า “งามคอดั่งคอราชหงส์” รูปนั้นคอจะยาวไปอย่างพิลึก เห็นได้ว่าช่างแต่ก่อนเขาไม่ยึดเอาคัมภีร์มหาปุริสลักขณเป็นที่ตั้ง เขาทำตามชอบใจเขา ที่มาทำพระพุทธรูปให้เข้าอย่างคัมภีร์มหาปุริสลักขณในภายหลังนั้น จะเป็นช่างคิดทำเองหรือท่านผู้ใหญ่เจ้างานบังคับให้ช่างทำก็ไม่ปรากฏ จะทำอย่างไรก็เห็นเขลาเต็มที จะกราบทูลต่อไปถึงคำกวีตามที่นึกได้ พระยาอนุมานเคยคัดคำกล่าวถึงการทำโบสถ์วัดพระแก้วในรัชกาลที่ ๓ มาให้ดู ในนั้นกล่าวถึงพระเบญจาที่ตั้งพระแก้ว ว่าตั้งพระอัฐารสตามชั้นพระเบญจา พระพุทธรูปเหล่านั้นจะได้สูงถึง ๑๘ ศอกก็หามิได้ นึกได้อีกอย่างหนึ่งว่าหน้ากระดานหรือท้องไม้อะไรแห่งพระเบญจานั้น ประดับด้วยกระจกเขียวประดุจประดับด้วยแก้วไพฑูรย์ แก้วไพฑูรย์เป็นสีเขียวเมื่อไร พูดไปตามคลองปากเท่านั้นเอง จะเก็บเอาคำพูดที่เพ้อเจ้อมาเอาเป็นจริงเป็นจังเห็นไม่ไหว

เมื่อได้ถามพระเถระในเรื่องคัมภีร์มหาปุริสลักขณ ก็เลยถามท่านถึงเรื่องสีมาด้วย ท่านบอกค่าแต่ก่อนกำหนดแต่หยาบๆ เช่น “คามสีมา” เป็นต้น หมายเอาหมู่บ้าน โดยกำหนดให้บรรดาพระสงฆ์ซึ่งอยู่ในระแวกนั้นต้องมาร่วมประชุมกันที่หมู่บ้านนั้น จะประชุมกันที่ไหนก็ได้สุดแต่จะสะดวก อันนี้จะต้องตามที่ตรัสอธิบายโดยได้ทรงทราบทางมาถ่องแท้แล้ว เดิมมีความหมายไปในทางประชุมบริษัท แต่ทีหลังกลายเป็นเรื่องสถานที่ไปเสีย

สีมาซึ่งกราบทูลว่าหมายเขตด้วยการปักหลักนั้น ต้องกับคำว่า “ขันธสีมา” ขันธะ แปลว่าไม้ซุง คือบักไม้ซุงเป็นเสาที่หมายเขต คำ “เขื่อนขันธ์” ก็หมายถึงค่าย คือปักเสาระเนียด มาแต่ภาษามคธว่า “ขนฺธาวารํ” นั้นทีเดียว การหมายสิ่งอันใดแต่ก่อน เห็นจะใช้หมายด้วยปักหลักเกือบสิ้น หลักเมืองของโบราณที่ทำปลายเป็นหัวเห็ด เห็นจะหมายความว่าตอกลงไปหัวเยินบาน ที่จริงปลายเสานั้นจะหยักเป็นรูปอะไรก็ได้ถ้าไม่ต้องตอก

เมื่อวานนี้ไปหาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านว่าคำบาลีมีอยู่ว่า “อุโปสถาคารํ” ทำให้ได้สติขึ้น แต่คำนี้จะถือเอาคำว่าโบสถ์ก็ทีจะไม่ได้ ไปเข้ารูปอย่างที่กราบทูลมาก่อน เปนที่อุบาสกอุบาสิกาเข้าไปรับศีลอุโบสถกัน ถ้าที่ไหนใช้โบสถ์เป็นที่ให้ศีลแก่สัปปุรุษ โบสถ์ที่นั่นจะเรียกว่าอุโบสถก็ควรอยู่

ลายพระหัตถ์

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ได้รับในวันเสาร์ กรกฎาคม วันที่ ๒๗ ตามเที่ยวเมล์อันควรได้รับ และบริสุทธิ์ จะกราบทูลสนองความต่อไปนี้

เรื่องแปลคำนั้นเป็นการยากยิ่งนัก ที่กราบทูลนี้หมายถึงคำว่า “ช้า” ตามที่ทรงพระปรารภนั้นด้วย แปลยากเพราะความหมายย่อมเคลื่อนไปเสมอ จะถวายตัวอย่าง ก็เช่นคำว่า “หลวง” แต่ก่อนมีความหมายว่าใหญ่ เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าของพระราชาไป ยังจำได้อยู่ว่าทรงพระวินิจฉัยไว้ว่า “เสด็จ” เป็นอันเดียวกับ “สมเด็จ” หมายความว่าท่าน (ถ้าจะเขียนเปลี่ยนเสียหน่อยเป็น “สํเด็จ” ก็จะเห็นชัดขึ้นอีก) ดีเต็มที แต่เดี๋ยวนี้คำว่า “เสด็จ” หมายความเป็นว่าไป คำที่เติมขึ้นใหม่ก็มีอีก เช่น “ได้” ซึ่งใช้กันอยู่ในภาษาทุกวันนี้เป็น “ได้มี ได้เป็น” เป็นต้น นี้ก็ขัดกัน คำ “ได้” ซึ่งคู่กับ “เสีย” “โดย” ซึ่งใช้ขวางๆ กันอยู่พักหนึ่งก็มีอีก แต่เดี๋ยวนี้หายไป คำว่า “เท้า” เช่น “เท้าสามล” “เท้าวรจันทร์” เกล้ากระหม่อมเข้าใจว่า “เท้า” นั้น คือ “เจ้า” ผิดกันไปด้วยสำเนียงต่างถิ่น ย่อมจะสั้นไปบ้างยาวไปบ้าง เสียงสูงไปบ้าง ต่ำไปบ้าง ต่างตัวกันไปบ้าง ตลอดจนถึง” เถ้าแก่” ที่นึกว่าหมายถึงเจ้าแก่ ไม่ฉะนั้นจะควบคุมว่ากล่าวเจ้าที่เป็นสาวอย่างไร ถ้าแปลความเอาความ “เถ้า” ก็ว่าอายุมาก “แก่ ก็ว่าอายุมาก เป็นคำที่ซ้ำกันจะเป็นภาษาได้อย่างไร ยังตัว ฒ ซึ่งเรียกว่า ผู้เถ้า เข้าใจว่าหมายถึง พฤฒา แล้วก็เขียนกันเป็น “ผู้เฒ่า” นึกว่าเข้าใจผิด ไม่เห็นแบบอย่างมี้เขียนที่ไหนมาแต่ก่อนเช่นนั้นเลย “เจ้า” กับ “จ้าว” ที่นายกุหลาบคิดแก้นั้นก็มีมูล แกนึกถึงที่เรียกบ่าวว่าเจ้านั่นเจ้านี่กับพระองค์จ้าว แม้น่าเอกหน้าโทก็เป็นการคิดยัดเอาเข้าราง ความคิดแต่ละคนก็ต่างๆ กันไป แต่ที่จริงเป็นของมีมาแล้ว ท่านผู้ที่บัญญัติให้เขียนมาก่อนก็เห็นจะไม่คิดให้ทั่วนัก นักปราชญ์ทุกวันนี้ก็มีคิดถึง ซ ส ว่าควรจะแบ่งใช้เป็นนามเป็นกิริยา แต่ทำไปไม่ได้ เกล้ากระหม่อมยังคิดได้ต่อไป ว่า ทร เราก็อ่านเป็น ซ จะจัดให้เป็นอะไรเล่า ความคิดก็เห็นต่อไปว่าที่คิดจะให้เขียนหนังสือถูกต้องนั้นต้องป่วยการ จะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเราพูดก็สับปลับ ความหมายก็สับปลับเป็นยุคเป็นคราว หนังสือก็เป็นบาทแห่งคำพูด จะพูดว่ากระไรเขียนหนังสือให้เข้าใจกันตามที่ตั้งใจจะพูด เท่านั้นก็เป็นได้กัน ไม่จำเป็นจะต้องเขียนให้ถูกต้องเป็นแบบฉบับอย่างใดๆ เขียนกันมาแต่ก่อนที่เรียกว่าหนังสือวัดทำไมจึงใช้ได้ จะให้เป็นไปอย่างนั้นไม่ได้หรือ นี่ก็เป็นความเห็นที่จัดได้ว่า “งอมืองอตีน”

ตั้งใจว่าจะกราบทูลถึงคำคำหนึ่ง แต่แล้วก็ลืมข้ามไปเสียเพราะเล็กนัก คำนั้นมีในลายพระหัตถ์นานแล้ว คือ “ทรรพสัมภาระ” เคยเปิดดูพจนานุกรมบาลี คำ “ทพฺพ” ก็ตรงกับทรัพย์ในภาษาสังสกฤตนั้นเอง นึกเจ็บใจตัวเองว่าโบราณเขียน “ทรัพยสัมภาระ” ไว้ก็มี ควรหรือไม่รู้ไปได้

เรื่องรูปพงศาวดารตามกระแสพระดำริก็เป็นถูกแล้ว แต่ก็ต้องสมควรแก่เหตุเหมือนกัน เคยเห็นเขาเขียนรูปเรื่องขุนช้างขุนแผน เขียนนางวันทองนุ่งผ้าถุงพันขาว เห็นเป็นว่าไม่ได้ อีกประการหนึ่ง จะกราบทูลอธิบายถึงที่เกล้ากระหม่อมเขียนชฎายอดสั้น ตามที่ตรัสทักนั้น ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ช่างสมัยใหม่เขียนยอดอะไรยาวขึ้นไปทุกที จนกรมหมื่นวรวัฒน์พูดประชดว่า เขียนชฎามันก็ต้องห้าส่วนหน้า ทั้งนี้เป็นด้วยชั้นกรมหมื่นวรวัฒน์และเกล้ากระหม่อมได้เรียนมา ครูเขาบอกว่าเขียนชฎาให้กะเอาสองส่วนหน้า แต่ทีหลังเกล้ากระหม่อมดูรูปเก่าๆ เห็นเขาเขียนสั้นกว่าสองส่วนหน้าลงมาอีก จึงเขียนตามเขาไป

เรื่องวัดพระแก้วเมืองเลย ตกละได้เค้าแต่เพียงเงาๆ พลัดไปได้ เรื่อง “พระเจดีย์สมรัก” ซึ่งไม่เคยเทราบเรื่องเลย ก็ดีเหมือนกันแต่คิดว่า “ต้น”

เรื่องพระราชยานถม ซึ่งเกล้ากระหม่อมกราบทูลว่ากระจังทีจะเป็นทองนั้น เห็นจะหลงเอาพระที่นั่งพุดตานไปประสมเข้าเสียแน่แล้ว พระราชยานถมกระจังเป็นอย่างไรก็กลับไม่แน่ใจเสียแล้ว พระราชยานทองที่เมืองพนมเพญ ลางทีจะเป็นแต่สมเด็จพระนโรดมทรงจำได้ ตรัสสั่งให้ช่างเขมรทำเท่านั้น แม้หมู่พระที่นั่งซึ่งมีเทวาวินิจฉัยเป็นต้น ก็เอาอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางกรุงเทพฯ เทียบตลอดกระทั่งชื่อไป เข้าใจว่าสมเด็จพระนโรดมทรงจำไปให้ช่างเขมรทำเหมือนกัน เคยได้ยินพวกฝรั่งเศสเขาพูดว่า สิ่งใดๆ แบบเขมรอาจหาดูเอาเป็นอย่างได้ในที่จำหลักไว้ มีเป็นหลายแห่ง แต่ไม่เอา กลับวิ่งเข้าไปเอาอย่างทางกรุงเทพฯ นั่นเห็นเป็นพูดถูกทีเดียว พระที่นั่งหมู่ใหม่ได้ยินว่าฝรั่งเศสเขาทำ แม้เศวตฉัตรก็ได้ยินว่าฝรั่งเศสทำ ได้ยินติกันว่าทำไม่ถูกเป็นขั้นกระได ไม่ได้ลดชั้นเล็กให้เตี้ยอย่างเรา แต่สิ่งที่อยู่ในวังนั้นย่อมแพ้ด้วยไม่ได้เข้าไปเห็น ไปพนมเพญก็ไปอย่างเดินทางผ่าน ด้วยจะใคร่เห็นว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไรไม่มีเวลาไม่มีช่องที่จะขออนุญาตเข้าไปดูในวังได้ ข้อที่ตรัสว่าทรงทราบว่าของสิ่งใดเป็นฝีมือไทยทำหรือเขมรทำนั้น ไม่ประหลาดสำหรับเกล้ากระหม่อม จะเป็นฝีมือพวกใดก็ทราบไม่ได้ทั้งนั้น อย่าหาแต่ว่าเขาทำโดยลำพังเขาเลย แม้สิ่งที่เกล้ากระหม่อมออกแบบให้ไปทำ เขาทำมาจนชี้ไม่ได้ว่าทำผิดที่ตรงไหน แม้กระนั้นก็ยังทราบได้ว่าจีนหรือญี่ปุ่น หรือฝรั่งทำ ฝีมือมันฟ้องอยู่ในตัวเอง

ข้อที่จะทรงพระวินิจฉัยถึงคานหามนั้นดีนัก คอยจะอ่านพระวินิจฉัยอยู่พระราชดำรัสถึงกฎมนเทียรบาล นึกได้ว่าในนั้นมีว่า “เทวียานมีมกรชู” อ่านพบก็ไม่เข้าใจ ครั้นไปหัวเมืองเหนือไปเห็นยานเข้าที่ไหน ทีจะเป็นพิษณุโลก เป็นของเก่าเกือบผุพังหมดแล้ว มีรูปนาคเลื้อยโก่งหลังอยู่บนคาน บนหลังนาคทำเป็นที่นั่งไว้ จึงนึกว่าอ้ายนี่เองที่ในกฎมนเทียรบาลว่า “เทวียานมีมกรชู” แต่จะถูกหรือไม่ก็เอาแน่ไม่ได้จะเป็นคานหามสำหรับแต่เจ้านาค ซึ่งคิดทำไปอีกทางหนึ่งก็เป็นได้

เกล้ากระหม่อมพร้อมทั้งครอบครัว เมื่อได้ทราบข่าวซึ่งได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลในกาลเข้าพรรษา ตามที่ตรัสแผ่พระกุศลประทานไป ต่างก็มีใจยินดีอนุโมทนาในพระกุศลอันได้ทรงปฏิบัตินั้นเป็นอย่างยิ่ง ที่ปีนังมีวัดซึ่งตรัสออกชื่อ ๕ วัด แต่มีพระสงฆ์จำอยู่พรรษาเพียง ๑๑ รูป อยู่ข้างจะน่อยนัก เมื่อคิดถึงชื่อวัด วัดปุโลติกุส เป็นชื่อเรียกตามตำบล อย่างวัดทั้งหลายซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก วัดบุปผารามและวัดสว่างอารมณ์นั้นเป็นชื่อแบบ ส่วนวัดจันทรารามและวัดปิ่นบังอรนั้นเป็นชื่อโดยจำเพาะ วัดปิ่นบังอรได้ทราบเรื่องแล้ว แต่วัดจันทรารามยังไม่ทราบ ในกรุงเทพฯ ชื่อวัดอย่างนั้นก็มี อาจถ่ายเอามาได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ