วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เบ็ดเตล็ด

๑) การที่ทรงลงเลขในลายพระหัตถ์นั้นดี หาเรื่องเป็นเรื่องๆ ไปได้ง่าย แต่นี้ไปจะทำบ้าง

๒) เมื่อวันที่ ๑๖ ได้รับของสองอย่าง คือแฟ้มหนังสือเรื่องพิธีตรุษ กับเรื่องช้าลูกหลวงอย่างหนึ่งกับสมุดจดกันลืมอย่างหนึ่ง เข้าใจว่าประทานฝากหม่อมเจิมเข้าไป แต่ยังไม่ได้พบตัวหม่อมเจิม หนังสือเรื่องพิธีตรุษและช้าลูกหลวงนั้นยังไม่ทันได้อ่าน สมุดจดกันลืมเข้าใจว่าเป็นผลเกิดแต่ที่กราบทูลบ่นมาในหนังสือเวรเรื่องลืม เป็นพระเดชพระคุณเหลือล้นทุกๆ อย่างที่ทรงพระเมตตา เรื่องลืม ชายงั่วแกแนะนำเหมือนกันว่าให้จดไว้อย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แต่ก็ชาๆ ไป พูดถึงจดกันลืมนึกขึ้นมาได้ถึงแม่วงษ์ เจ้าคุณเทเวศรสั่งอะไรแกมาแกกลัวจะลืมเสียก็ควักเอาแป้งมาเขียนจดไว้บนกระจกที่โต๊ะแต่งตัว เพื่อตื่นนอนแต่งตัวจะได้เห็นที่จดไว้ ทำให้นึกได้ไม่ลืมเสีย หญิงปลื้มจิตรเห็นเข้าก็สนุกที่จดไว้ว่ากระไรนั้นลบเสีย จดลงไปให้ใหม่ว่า “ไข่เจียว” และอะไรต่ออะไรอันไม่เป็นสาระ แม่วงษ์ก็คว้าน้ำเหลว แล้วก็นึกขึ้นมาได้อีกถึงกรมขุนพิทยลาภฯ นั่นท่านทำตามวิธีฝรั่ง มีกิจอะไรที่จะกันลืมท่านขอดชายผ้าซับพระพักตร์ไว้ ครั้นกลับไปถึงวังก็ต้องถามพระองค์เองว่าขอดทำไม ในการจดถ้าไม่ถูกแปลงสารก็ดีกว่าขอดเป็นอันมาก

แม่โตบอกว่าหม่อมเจิมเอากะปิสิงคโปร์มาฝาก แต่แกก็ไม่ได้พบตัวเหมือนกัน เกล้ากระหม่อมไม่เคยเห็น แกว่าอร่อย แล้วแกก็ให้ไปเอามาให้ดู กะปินั้นใส่มาในขวดเหล้าฝรั่ง แกเปิดขึ้นมันก็อืดล้นปากขวดขึ้นมา กลับปิดจุกลงไปอย่างเดิมไม่ได้ ต้องไปเอาถ้วยมาถ่ายออกเสีย แล้วมันก็อืดล้นขึ้นมาอีก ตกลงต้องปาดออกจนเต็มถ้วย เกล้ากระหม่อมก็บอกว่าไม่กิน ด้วยนึกถึงเคยพูดกับเจ้าพระยาพิชเยนทร์ ว่าด๊อกเตอวูติงฟางพูดไว้ว่า คนเราถ้ากินแต่สิ่งที่ควรกินและกินแต่พอสมควร ไม่จำเป็นจะต้องตายภายใน ๒๐๐ ปี ท่านถามว่าสิ่งใดที่ไม่ควรกิน เกล้ากระหม่อมนึกได้โดยปัจจุบันก็บอกท่านว่าของดอง กะปิสิงคโปร์นั้นเป็นของดองจึงคิดว่าไม่ควรกิน นึกถึงพระเจ้าซาร์แห่งรุสเซีย เมื่อครั้งเสด็จเข้ามาเมืองไทย สิ่งใดซึ่งเป็นของกลักแล้วไม่เสวยเลย คงจะทรงถือว่าเป็นของไม่บริสุทธิ์ อย่างเดียวกับที่เกล้ากระหม่อมคิดเห็นกะปิสิงค์โปร์ ฉะนั้น ของกลักยังดีกว่ากะปิสิงคโปร์อีกที่ไม่อืด

๓) เรื่องโคลง “คุณเสือขอบุตร” ซึ่งคัดมาถวายคราวก่อนนั้น ไม่ได้กราบทูลว่าเป็นหินสองแผ่นเอาฝังต่อกันเข้าไป ด้วยเห็นว่าได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปอยู่แต่ก่อนแล้ว ที่โคลงจารึกเป็นหินสองแผ่นนั้น จะต้องแยกติดฝังไว้ห่างกันตามรูปภาพ งามจะทำขึ้นทีหลังอย่างกระแสพระดำริ ที่งัดเอาไปฝังติดกันไว้ใหม่ที่หลังพระนั้น ทำไปด้วยเข้าใจผิด ความในโคลงพูดถึงรูปภาพ ไม่ได้พูดถึงโคลง เดิมทีที่เอารูปภาพผิดฝังไว้หลังพระนั้นพอจะคาดได้ ว่าเป็นพระราชประสงค์จะไม่ให้เห็นประเจิดประเจ้อ แต่ก็เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นหลายข้อดั่งจะกล่าวต่อไปนี้

ก) คุณเสือต้องการลูกผู้หญิงหรือผู้ชาย หรืออะไรก็เอาทั้งนั้น

ข) รูปภาพนั้นเดิมอยู่หลังพระ ย้ายเอาไปติดฝังไว้ข้างประตูซ้ายขวาพระเมื่อไร

ค) ได้กราบทูลแล้ว ว่าฝีปากที่แต่งโคลงนั้น สังเกตเห็นว่าไม่ไช่ฝีพระโอษฐ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิต จะต้องเป็นภายหลังเมื่อท่านสิ้นพระชนม์แล้ว ตกเป็นได้ฝังโคลงจารึกนั้นในรัชกาลที่ ๔ แต่ไม่ก่อน พ.ศ. ๒๓๙๖ หรือจะมีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ พร้อมกับรูปภาพก่อนกรมสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ทรงรุ่งโรจน์ในการแต่งโคลงฉันท์ แต่ก็ขัดในคำว่า “คุณเสือ” หรือจะได้โดยสมญานั้นก็จะมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว ด้วยพระเจ้าลูกเธอหลานเธอเรียกกันเช่นนั้นก็รู้กันดีอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งโคลงที่จารึกไว้นั้น ก็เขียนในวิธีแปลกไปจากที่เคยเขียนใช้กันในรัชกาลที่ ๔ แต่จะทรงกวดขันขึ้นในการเขียนหนังสือเมื่อไรก็ยังหาเคยทราบไม่

รูปภาพที่ว่านั้นลงสีทับบนศิลาด้วย เช่นผ้านุ่งเขียนเป็นผ้าลาย จะลงสีมาแต่ก่อนหรือลงทีหลังไม่ทราบ เรื่องลงสีบนหินนั้นได้เคยสงสัยมาแล้ว เพราะเห็นที่ปรางค์พระมหาธาตุลพบุรี กับรูปภาพฉลักที่ระเบียงพระนครวัด ลางแห่งก็เห็นมีสีดินแดงทาไว้ที่พื้นในที่ลับ แต่จะทาเก่าหรือใหม่ไม่ทราบ ได้เคยถามความเห็นศาสตราจารย์ เซเดส์ ว่าเวลาปราสาทหินรุ่งเรืองอยู่นั้นเขาลงสีทับหรือไม่ แกเห็นว่าไม่ลง แต่ได้ไปเห็นพระระเบียงปราสาทหินที่เขาพนมรุ้ง ก่อด้วยหินทรายเขียวต่อกับหินทรายแดงกลางคัน จะเป็นด้วยทาหินอย่างเดียวกันไม่ได้ หรืออย่างไรไม่ทราบ แต่เห็นว่าถ้าไม่ลงสีแล้วก็ดูไม่ได้ มีใครคนหนึ่งได้เคยถามเกล้ากระหม่อมอย่างนั้นเหมือนกันแต่ลืมตัวเสียแล้ว เกล้ากระหม่อมก็ต้องตอบว่าไม่ทราบ

ลายพระหัตถ์

๔) ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ได้รับแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคมโดยเรียบร้อย จะกราบทูลสนองต่อไปนี้

๕) ข้อที่ทรงสันนิษฐานถึงเรื่องเขียนจิงโจ้นั้น เห็นชอบว่าทรงพระดำริถูกเป็นแม่นมั่นทุกประการ เป็นแน่ว่าช่างเขียน “หงายท้อง” ถึงต้องเรียน มีคนเขาว่าเครื่องเรือนเรียกว่าจิงโจ้ เกล้ากระหม่อมก็ลาไม่เคยทราบเลยที่จักไม้ไผ่แขวนเปลเด็กเป็นพวงเรียกว่าจิงโจ้ เห็นว่า ตั้งใจจะทำรูปแมงมุมชนิดที่ยงโย่ยงหยกอยู่บนหลังน้ำเป็นแน่นอน

๖) พระดำรัสอ้างถึงทศกัณฐ์ ในเรื่องเขียนรูปพงศาวดารนั้น เป็นการต้องขนดที่เกล้ากระหม่อมเกลียดกวีอันมีปากพูดตามใจ จึงจะเพ้อกราบทูลในเรื่องทศกัณฐ์ไปอีก อันรูปทศกัณฐ์ซึ่งเราเขียนกันอยู่นั้นเขียนตามโขน หน้าโขนทศกัณฐ์นั้นเห็นว่าเขาคิดดีเต็มที ที่ทำมีหน้าใหญ่ให้เหมือนกับยักษ์สามัญตนหนึ่ง ส่วนที่มีหลายหน้านั้นทำซ้อนกันขึ้นไปแต่อยู่ในทรงชฎา ไม่ผิดจากที่กวีมีปากกล่าวไว้ แต่แขนก็เขียนเป็นสองตามโขน เพิ่งจะเขียนครบ ๒๐ ครบตามกวีว่า เมื่อเขียนระเบียงวัดพระแก้วในรัชกาลที่ ๕ นี้เอง แขน ๑๐ นั้นถ้าเป็นรูปเขียนก็พอเขียนบังๆ กันไปได้ แต่ถ้าเป็นรูปปั้นแล้วก็หงายท้อง ต้องมีไหล่หนากว่าธรรมดา ๑๐ เท่าแขนจึงจะออกได้ ถ้าทำฝากกันไว้ก็เป็นแขนติ่งกระดิกไม่ได้ สหัสเดชะยิ่งไปใหญ่ มีหัวพันหนึ่ง มือสองพัน ทำไม่ได้เป็นอันขาดทั้งเขียนทั้งปั้น ที่ทำหน้าโขนกันก็เอาอย่างหน้าทศกัณฐ์ แต่เพิ่มขึ้นเป็น ๔ ชั้น มากกว่าทศกัณฐ์ขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง แม้กระนั้นยังขาดจำนวนพันอยู่มาก

๘) เรื่องเรือราวเทียน ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์แต่งหนังสือว่าเอาอย่างเรือหยวกเกล้ากระหม่อมก็ได้เคยอ่าน ที่ท่านว่ามาแต่รางสรงน้ำพระสงฆ์ก็เป็นอันหนึ่งในทางคิดเทียบเหมือนกัน แต่จะอย่างไรก็ดี เกล้ากระหม่อมได้ไปเห็นเข้าที่วัดเก่าในเมืองไชยา ชื่อว่าวัดอะไรจำไม่ได้อีกลำหนึ่ง เขาทำด้วยไม้นึกให้ใส่น้ำในลำเรือ เพื่อว่าเทียนหมดหรือเผากันล้มจะได้ดับไปเองเพราะตกน้ำ ได้จำมาทำไว้ที่ปฐมบรมราชานุรณ์ ๔ ลำ จะถูกแบบเดิมหรือไม่นั้นไม่คำนึงถึง

๙) ราชยานมีจำลองในกฎมนเทียรบาลนั้น เป็นของช่างเขาคิดทำ จะนั่งสบายหรือไม่สบายนั้นไม่ใช่ธุระของผู้ขี่ ถ้ารูปร่างเหมือนกูบช้างก็ตรงกับวอสีวิกานั่นเอง เสลี่ยงหิ้วเดิมก็คงเล็ก ที่เราเห็นคงขยายใหญ่แล้ว สำหรับหามโกศ ช่างไม่เหมาะเสียจริง ๆ ที่หามสองคน

๑๐) เรื่องหยุดนาฬิกาครั้งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ นั้น ออกจะไม่ผิด ได้ยินเขาเล่าถึงเฮาส์ ออฟ ปาลิเมนต์ อังกฤษ ก็มีหยุดนาฬิกากันเหมือนกัน อนึ่งคำว่า “วิกาล” ทำไมมาตีเส้นกันเป็นว่าย่ำเที่ยง เกล้ากระหม่อมเห็นเป็นค่ำ เพราะมีคำพระท่านเทศน์บอกอุโบสถว่า “รตฺตึ ภุญเชถ วิกาลโภชนํ” แปลว่ากินเวลาค่ำเป็นวิกาลโภชน์ ตรงกับคำว่า “กินข้าวค่ำ” ที่เราพูดกัน ข้อนี้ได้เคยตั้งใจจะไปเถียงกับสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทีแรกไปตั้งกระทู้ถามท่านว่า “วิกาล” เป็นเวลาไร ท่านบอกว่าค่ำ เลยไม่ได้เถียงกัน พระสาสนโสภณ (แจ่ม) ท่านก็เห็นว่าค่ำ ท่านบอกตัวอย่างว่าในภิกขุนีปาติโมกข์ก็มีว่า ภิกขุนีเข้าบ้านในเวลาวิกาลต้องอาบัติปาจิตตีย์ สังเกตเห็นเป็นเวลาค่ำ เป็นเวลาที่ใกล้อันตราย อย่างน้อยก็นินทา ถ้าความเห็นนี้เป็นถูก กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เสวยพ้นเวลาเที่ยงไปก็ไม่เป็นผิดเลย อันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ นั้นปกติของท่านเป็นผู้ที่เรียบร้อยดุจคำว่า “ผ้าพับไว้” เป็นแน่นอน เคยยินกรมสมเด็จพระยาบำราบฯ ตรัสเล่าว่า ท่านเสด็จออกมาที่ประตูตำหนักพบหม้อตุ้งก่าเข้า ใครเอาไปทิ้งไว้ก็ไม่ทราบ ตรัสถามว่า “นี่เรไรของใคร”

๑๑) ไปเผาศพพระยาราชโกษา (จันทร์) พระยาอนุรักษ์เขามาต้อนรับที่รถจึงทักทายเขา และพูดถึงศพว่าเอาไว้นานเต็มที เขาบอกว่าเขาไม่เคยเห็นหน้าเลย ก็เป็นการไม่ประหลาด คนที่เป็นพระยาราชโกษาต่อพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น) ในรัชกาลที่ ๖ นั้น ทราบว่าชื่ออุ่น เป็นสกุลอื่นจริง แต่พระยาราชโกษาคนเดี๋ยวนี้คงเป็นลูกพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น) พี่ชายพระยาอนุรักษ์ ตามพระดำรัสเรียกว่า บัตรดำ ทำให้นึกถึงเรื่องคุณมนตรี เมื่อออกไปเป็นข้าหลวงอยู่เมืองภูเก็ต พระยารัษฎาฯ (ซิมบี้) เคยเล่านิทานให้ฟังถึงเรื่องคุณมนตรีในครั้งนั้นหลายเรื่อง แต่ล้วนเป็นเรื่องเข้าใจผิดในคำพูดทั้งนั้น เรื่องหนึ่งว่ากรมการเมืองภูเก็ตเขาจัดคนมาไว้ให้รับใช้คนหนึ่ง ชื่อนายศรีแก้ว วันหนึ่งคุณมนตรีจะแกงไก่ บอกนายศรีแก้วว่า “อ้ายศรีแก้ว ไปหามะพร้าวมาใบไป๊” นายศรีแก้วรับว่า “พ้ม” แล้วก็ไปลากเอาทางมะพร้าวมาให้ คุณมนตรีก็ฉุนว่าจะเอาลูกนิวิ่งไปเอาใบมาให้ ฝ่ายนายศรีแก้วก็ฉุน ว่าจะเอาลูกนิพูดว่าใบ เกล้ากระหม่อมนึกตัดสินในใจว่า ที่เราเรียกลูกมะพร้าวว่า “ใบ” นั้นพูดผิด แต่ที่ตรัสเรียกบัตรดำ เกล้ากระหม่อมเรียกใบดำนั้นไม่ผิด เพราะบัตรหรือใบก็หมายถึงแผ่นแบนๆ ด้วยกัน

๑๒) การคุ้นที่ตรัสถึงในการดับไฟมืดนั้น เป็นการจริงดั่งที่ตรัส ทูลกระหม่อมแดงเคยตรัสเล่าว่าเสด็จไปไหนที่ยุโรปก็ลืมเสียแล้ว ตรัสสั่งให้เขาหาที่ประทับไว้ถวาย เขาไปได้ที่ประทับใกล้ทางรถราง เสด็จไปพักอยู่ก็ฉุน เพราะเสียงดังโครมๆ ไปทุกเวลา จึงทรงจัดการหาที่ประรับทับใหญ่ แต่ในระหว่างซึ่งหาที่ประทับใหม่ยังไม่ได้นั้น ก็เลยคุ้นกับเสียงโครมๆ ไปเลยไม่ต้องย้าย

๑๓) ตามลายพระหัตถ์ซึ่งตรัสสั่งให้บอกขอบใจแม่โต ในการที่ส่งของออกมาถวายนั้นได้บอกแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. ต้นฉบับเป็นเช่นนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ