วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม มาถึงหม่อมฉันแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ คราวนี้ซองถูกเปิดที่ปีนัง ดูเป็นอจินไตย จะไม่ทูลปรารภต่อไปถึงว่าซองถูกเปิดหรือไม่

๑) เมื่อวันที่ ๒๔ หญิงมารยาตรออกมาถึงมีส้มโอที่คุณโตฝากมาให้ด้วยกินรสอร่อยดี ขอได้โปรดตรัสบอกความขอบใจของหม่อมฉันแก่เธอด้วย เลยนึกไปถึงส้มจัฟฟา เกรงจะหาส่งไปถวายไม่ได้อีกช้านาน

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๒) คำอุทานต่างๆ ล้วนแต่เป็นเสียงออกได้ง่าย จึงมักเป็นสำเนียงอักษร อ รองลงมาก็อักษร ฮ แล ห ท่านเคยตรัสบอกอธิบายของกรมหมื่นวรวัฒนสุภาพรประทานมาครั้งหนึ่ง ว่าบรรดาคำอุทานมีความหมายทั้งนั้น เช่น โอย หมายความว่าเจ็บ อ้อ หมายความว่าเพิ่งรู้ เป็นต้น อธิบายนั้นพิจารณาเห็นเป็นความจริงจับใจหม่อมฉันมาก เพราะฉะนั้นคำอุทานที่ว่า โห โห่ ดูน่าจะหมายว่า ชนะ คือมาจาก ไชโย” นั่นเอง หม่อมฉันเคยคิดและได้เขียนลงในหนังสือวชิรญาณครั้งหนึ่ง ว่าคำสร้อยโคลงเช่นว่า ฮา แฮ เฮย ล้วนมีความหมาย ต้องเลือกคำสร้อยให้เข้ากับความในโคลงก็คือคำอุทานนั่นเอง แต่หม่อมฉันไม่ได้คิดกว้างออกไปเหมือนกรมหมื่นวรวัฒน์

๓) ชื่อพระวิมาน ๓ หลังที่วังหน้าหม่อมฉันฉงนมาช้านาน ยังจับหลักไม่ได้ เห็นว่าเดิมคงจะให้มีชื่อมีความเป็นที่ประทับ ๓ ฤดูตามแบบโบราณ พึงเห็นได้ด้วยชื่อองค์ที่ ๑ ว่า “วสันตพิมาน” ครั้นถึงองค์ที่ ๒ เอาชื่อฤดูกับชื่อเทวดาปนกันว่า “วายุสถานอมเรศ” ต่อไปถึงองค์ที่ ๓ ชื่อฤดูหายไป มีแต่ชื่อเทวดาว่า “พรหมเมศธาดา” จะว่าเป็นเพราะผู้คิดชื่อไม่มีความรู้พอก็ไม่ควร ด้วยดูไม่ยากนักที่จะหาคำเรียกชื่อให้ตรงกับ ๓ ฤดู และกรมพระราชวังบวรฯ ต้องทรงเห็นชอบด้วยแล้วจึงขนานนามได้ หม่อมฉันอยากจะสันนิษฐานว่า เดิมมีชื่อต่อวสันตพิมานเป็นอย่างอื่นหมายความว่าฤดูทั้ง ๓ องค์จะมีกรณีอันหนึ่งๆ เกิดขึ้นเมื่อภายหลัง เป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อพระวิมานองค์ที่ ๓ เป็นพรหมเมศธาดา แล้วจึงแก้ชื่อพระวิมานองค์กลางให้เชื่อมกับองค์ที่ ๑ และองค์ที่ ๓ คิดค้นหาเหตุต่อไป เห็นว่าอาจจะเปลี่ยนชื่อพระวิมานองค์ที่ ๓ เมื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๑ ดอกกระมัง คือเปลี่ยนเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จไปอยู่เมื่อต้นรัชกาลที่ ๒ ที่ทูลนี้โดยเดา หม่อมฉันเคยสังเกตเห็นอย่าง ๑ ว่าหน้าบันพระวิมานวังหน้าทำเป็นรูปเทวดานั่งแท่นทุกแห่ง ดูเหมือนจะหมายว่าพระพรหมมิใช่พระนารายณ์หรือพระอินทร ดูพระพรหมจะเป็นนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งในวังหน้า ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด อนึ่งพระวิมานและห้องมุขที่วังหน้าที่มีศิลาจารึกชื่อติดไว้ทุกแห่งเป็นของทำขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ มิใช่มีมาแต่เดิม

๔) หมีนั้นชอบกินน้ำผึ้งจริง ฝรั่งก็ว่าอย่างนั้น แต่มิใช่กินเป็นนิจจาหาร ในตำราสัตวศาสตร์เขาแบ่งประเภทสัตว์ที่กินอาหารต่างกันเป็น ๓ ประเภท ประเภท กินพฤกษาหาร เช่น ช้างและวัวควายเป็นต้น อีกประเภท ๑ กินมังสาหาร เช่นราชสีห์และเสือเป็นต้น อีกประเภท ๑ กินทั้ง ๒ อย่าง เช่นมนุษย์และหมาแมวเป็นต้น หมีอยู่ในประเภทที่ ๓ “หากมันมีเล็บปีนขึ้นต้นไม้ได้อาจจะไปถึงที่ผึ้งทำรังจึงชอบกินน้ำผึ้ง มูลมีเท่านั้นเอง

๕) ซึ่งตรัสบอกคำผิดในบันทึกที่ทรงเขียนมาในเรื่องพิธีตรุษกับเรื่องเห่ช้านั้น หม่อมฉันให้แก้แล้ว

๖) เจ้าพระยาวงศานุประพัทธถึงอสัญกรรมหม่อมฉันก็รู้สึกอาลัยด้วยเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เป็นเด็กหนุ่มด้วยกัน ก่อนแกออกไปเมืองนอกเมื่อกลับมาก็ชอบกันต่อมา หลวงจรัญสนิทวงศ์ผู้บุตรเขามีจดหมายมาบอกด้วย แต่ก็อยู่มาจนอายุถึง ๗๕ มีคุณงามความดีบริบูรณ์ อย่างว่ามาดี อยู่ดี ไปดี ไม่น่าเสียใจ

๗) ซึ่งทรงปรารภต่อไปถึงลักษณะเรือนนั้นหม่อมฉันก็เคยพิจารณาเห็นว่า แบบเรือนของมนุษย์ไม่เลือกว่าที่ไหนหรือชาติใด ทำเหมาะดีที่สุดสำหรับที่แห่งนั้นและชนชาตินั้นทั่วทั้งโลก เพราะแก้ไขความบกพร่องมาตามมีเหตุที่จำเป็นนับด้วยร้อยพันปีจนลงรอย จะแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นไปอีกไม่ได้ จึงลงรอยเป็นแบบเรือนของประเทศและชนชาตินั้นๆ ยกตัวอย่างดังเรือนแบบไทย เช่นที่เรียกว่า “เรือนต้น” ก็เป็นเหมาะแก่เมืองที่หาไม้ได้ง่าย เป็นที่น้ำท่วมและมักเกิดความไข้เจ็บด้วยอากาศชื้น อาศัยความคุ้นเคยทำถูกต้องตามวิทยาศาสตร์หมด แบบเรือนจีนก็เหมาะแก่เมืองจีนทำนองเดียวกัน แบบเรือนฝรั่งก็เป็นเช่นนั้น แต่เรือนแบบไทยสำหรับทำด้วยไม้เมื่อเปลี่ยนเป็นก่อด้วยอิฐปูนแต่คงรูปอย่างเรือนไม้ จึงอยู่สบายสู้เรือนไม้ไม่ได้ เช่นเมื่อวัดบวรนิเวศรวมกับวัดรังษี มีพระขอย้ายจากกุฏิตึกในวัดบวรนิเวศไปอยู่กุฏิฝากระดานที่วัดรังษี ว่าอยู่สบายกว่า แต่เรือนแบบไทยต้องนั่งกับพื้น เหมือนอย่างแบบเรือนมลายูจึงจะสบาย ถึงสมัยใช้โต๊ะเก้าอี้เข้ากันไม่ได้ทีเดียว จึงต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ลักษณะเปลี่ยนแบบเรือนนั้นเป็นเหตุยุ่งยากมาจนทุกวันนี้ มีตัวอย่างเริ่มแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสร้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสร โปรดให้ทำตามรูปเรือนอเมริกัน ทำปั้นลมเป็นรูปปล่องควัน แต่ให้ทำบันไดขึ้นข้างนอกเรือนเพราะรังเกียจลอดใต้ถุน ต่อมาถึงสมัยสร้างวังบุรพาภิรมย์ เรากำลังเห็นตึกฝรั่งหลังคาโคม เป็นสง่า ให้ทำหลังคามุขเป็นโคมก็อยู่ไม่ได้เท่าใดต้องรื้อ เมื่อหม่อมฉันไปยุโรปครั้งหลัง จึงไปตระหนักใจว่าหน้าต่างเรือนฝรั่งต้องมีบานไม้ บานกระจกม่านผ้าโปร่ง และม่านทึบ ซ้อนกันถึง ๔ ชั้นด้วยความจำเป็น ไทยเราเอาอย่างมาทำบ้าง เป็นแต่เพิ่มความร้อนหาเป็นประโยชน์อย่างในเมืองฝรั่งไม่ การสร้างเรือนอยู่ยังมีเคล็ดอีกอย่าง ๑ ซึ่งตรงกับภาสิตว่า “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่” คนเราประพฤติอิริยาบถต่างกัน สร้างเรือนแล้วช่างเขาคิด อยู่ไปก็มักไม่เป็นสุขดังประสงค์ ที่ถูกดูจะอยู่ในเจ้าของจะต้องพิจารณาแต่ก่อนสร้าง ว่าอย่างไรจะอยู่สบาย แล้วจึงคิดถึงรูปร่างลวดลายเรือนต่อไป แต่ตามสังเกตมาเจ้าของมักจะชอบชี้เรือนที่มีอยู่แล้ว โดยชอบรูปเรือนในเมืองฝรั่งบ้าง เห็นเรือนผู้มียศในเมืองของตนเองก็เอาอย่างไปทำบ้าง หม่อมฉันยังจำได้เคยเห็น ๒ ราย เดิมเจ้าพระยารัตนาธิเบศ (พุ่ม) เมื่อยังเป็นพระเทพอรชุนหรือเป็นเจ้าพระยาพลเทพแล้วสร้างเรือนตึกที่ริมคลองโอ่งอ่าง (เป็นที่ว่าการกระทรวงธรรมการเดี๋ยวนี้) พระยาภักดีพัทรากร (โอจิว) ถ่ายอย่างไปสร้างเรือนของตนที่เหนือวัดอรุณเท่ากันแลเหมือนกัน ด้วยนับถือชะตาเจ้าพระยารัตนาธิเบศว่า “เฮง” แห่ง ๑ แล้วพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (เล็ก) ถ่ายไปสร้างที่ริมคลองบางกอกน้อยอีกแห่ง ๑ ด้วยเหตุอันเดียวกัน บ้านที่เมืองปีนังนี้ สังเกตดูแบบที่สร้างก็เป็นยุคๆ เกือบจะบอกได้ว่าบ้านไหนสร้างในระหว่างศักราชเท่าใด เดี๋ยวนี้กำลังชอบแบบฝาเกลี้ยงและมีเฉลียงห้อยข้างนอก เช่นเรือนคอนกรีตแทบทั้งนั้น

เบ็ดเตล็ด

๘) หญิงจงกับหญิงมารยาตรจะกลับไปกรุงเทพฯ วันศุกร์ที่ ๑ พฤศจิกายน หญิงจงมาอยู่ ๒ เดือนดูอ้วนท้วนสบายดีกว่าเมื่อแรกมา ส่วนตัวหม่อมฉันเองถ้าลูกออกมาเยี่ยมเมื่อใดก็ชื่นบานยินดีทุกครั้ง เพราะเดี๋ยวนี้เป็นอย่างเช่นทรงปรารภ ว่าคนแก่ไม่นิยมความสนุกสนานเหมือนกับคนหนุ่มสาว และไม่ชอบเที่ยวเตร่เหมือนแต่ก่อน แต่จะว่ามีความทุกข์ไม่ได้เพราะหันไปหาเครื่องสำราญใจด้วยประการอย่างอื่น เช่นเขียนจดหมายเวรและเขียนนิทานโบราณคดีเป็นต้น ได้พบลูกเป็นเช่นอติเรกลาภ ฝ่ายเธอก็ได้บุญ ฝ่ายหม่อมฉันก็ได้ความชื่นชมโสมนัสนับว่าเป็นกุศลธรรมอันควรทรงอนุโมทนาได้ด้วยประการทั้งปวง

๙) เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ตอนเช้าพระองค์หญิงประเวศบำเพ็ญพระกุศลถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ที่ตำหนักของเธอ พวกหม่อมฉันได้ไปถวายบังคมพระบรมอัฐิ และช่วยการพระกุศล ตอนบ่ายมารวมกันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าที่บ้านหม่อมฉัน ขอถวายกุศลให้ทรงอนุโมทนาด้วยอีกอย่าง ๑

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. ต้นฉบับว่า โคม แต่สงสัยว่าจะเป็น โดม

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ