วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ยังไม่ถึงวันอันกำหนดที่จะได้รับลายพระหัตถ์เวร อยู่ว่างๆ ก็เขียนร่างหนังสือนี้เล่นตามชอบใจ เพื่อส่งถวายเป็นการบรรเลง

ไขความเก่า

พระเก้าอี้ถม เกล้ากระหม่อมก็เคยคิดว่าจะเป็นรัชกาลที่ ๔ เข้ารอยเดียวกับกระแสพระดำริ ได้ถามเจ้าพระยาบดินทร์เดี๋ยวนี้ ด้วยเห็นว่าเป็นวงศ์นครเผื่อจะทราบบ้าง แต่ก็ไม่ทราบ พระยาพจนปรีชาสงสัยว่าจะเคยใช้ตั้งพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เก่ามาก่อน ถึงแก่ได้ไปดูสอบรูปออกแขกเมืองฝรั่งเศส ซึ่งแขวนอยู่ที่พระที่นั่งจักรี แต่ก็ไม่ละเอียดพอที่จะเห็นได้ ตกลงเป็นอันไม่รู้แน่อยู่จนเดี๋ยวนี้

เครื่องถมนั้นชอบกล เป็นของที่มีทำนานมาแล้ว ของเก่าเรียกกันว่า “ถมดำ” เพราะลายห่างเห็นพื้นดำมาก เกล้ากระหม่อมได้สังเกตเห็นของเก่าทีเดียว เป็นพื้นดำลายเงินถัดมามีตะทองสลับกับเงิน ถัดมาอีกเป็นลายตะทองล้วน ต่อนั้นมาก็เปลี่ยนเป็นทำพื้นแคบเข้า ลายถี่แน่นเข้า ตกมาถึงถมบางขุนพรหมมีพื้นน้อยเต็มที มีลายเป็นทองอร่ามไปทั้งนั้น เข้าใจว่าเป็นด้วยคนสมัยหลังต้องการให้มีทองมาก ถือกันว่าเป็นของดี ถมละครก็เป็นอย่างเดียวกับถมบางขุนพรหม เกล้ากระหม่อมไปนครศรีธรรมราช ไม่ได้ไปดูบ้านช่างทำเครื่องถม เป็นแต่ให้ไปหาเครื่องถมละครมาดูเพื่อจะซื้อ แต่สิ่งที่ได้มาก็เห็นเหมือนกับถมบางขุนพรหม จะซื้อมาก็เห็นเปลืองแรงขนจึ่งไม่ได้ซื้อ

เมื่อไปนครศรีธรรมราชคราวแรก (ครั้ง “โกปิโฮบ”) ได้เห็นฝาบาตรที่หอพระสิหิงค์ เป็นถมชนิดที่เรียกกันว่า “ถมดำ” ในลายเต็มไปด้วยรูปอรหันต์ เข้าใจว่าตั้งใจจะให้เป็นลายฝรั่ง รูปอรหันต์นั้นเข้าใจว่าเอาอย่างเทวดาฝรั่งซึ่งมีปีกมาทำ ถ้าความคิดคาดเช่นนั้นเป็นถูกก็จะต้องเป็นของทำในรัชกาลที่ ๒ เป็นอย่างสูง ถ้าถูกดั่งนั้นการทำ “ถมดำ” ก็ได้ทำมาจนถึงในรัชกาลที่ ๒

พูดถึงพระสิหิงค์ก็นึกได้ว่ามีประมูลกันอยู่ถึงสามองค์ คือที่เชียงใหม่องค์หนึ่งที่กรุงเทพฯ องค์หนึ่ง กับที่นครศรีธรรมราชองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าประดิฐวรการท่านว่าองค์ที่นครศรีธรรมราชเป็นอย่างใกล้ที่สุด เพราะในตำนานมีว่าเรือแตก ราชทูตเชิญพระสิหิงค์ขึ้นเหนือหัวว่ายน้ำไป แสดงว่าพระสิหิงค์นั้นองค์เล็ก ถ้าเอาพระสิหิงค์ที่เชียงใหม่หรือที่ในกรุงเทพฯ ขึ้นทูลหัวแล้ว คอราชทูตจะต้องหัก

พูดถึงหอพระสิหิงค์ ไปนครศรีธรรมราชคราวที่สุด เห็นว่าหอพระสิหิงค์ทำใหม่เป็นตึก และสิ่งใดๆ ซึ่งตั้งใจจะไปดูของเก่า ก็รื้อสร้างเป็นอะไรใหม่ไปเสียเกือบสิ้น ตลอตจนถึงวัดและป้อมกำแพง ให้นึกฉุนว่าที่ว่างมีถมไป อยากสร้างเมืองใหม่ก็ไปสร้างในที่ว่างๆ ก็แล้วกัน ทำไมจะต้องรื้อของเก่าเอาคงไว้ให้ชมจะดีกว่า แต่ความเห็นอันนี้ก็เป็นเรื่องใฝ่ใจในอ้ายพังๆ ลางคนเขาก็ทนไม่ได้ ไม่เป็นสิ่งซึ่งพึงปรารถนา มีความเห็นลงในหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยๆ เป็นต้นว่าปราสาทพิมาย เสียงหนึ่งว่าเป็นอนุสาวรีย์ของเขมร เอาไว้ให้เสียเกียรติยศทำไม ควรรื้อลงเสียให้ราบเป็นหน้ากลอง แล้วมีอีกเสียงหนึ่งค้านว่า จริงดอกที่ปราสาทนั้นเป็นอนุสาวรีย์ของเขมร แต่ก็ปรากฏว่าที่ดินผืนนั้นเดิมเป็นของเขมรแล้วเราได้มา แม้รักษาให้คงไว้ก็จะเป็นเกียรติยศ ไม่ใช่เสียเกียรติยศหนังสือพิมพ์เขาชอบเสียงหลัง เกล้ากระหม่อมก็เห็นด้วย “ไม่เข้าใคออกใค” เพราะชอบอ้ายพังๆ

คำ “อ้ายอี่” เดิมก็ประสงค์จะยกย่อง แล้วกลายเป็นต่ำช้าไปดูก็ขัน

ข่าวใหม่

หมวดนี้เคยจ่าหน้าว่า “ข่าวในกรุงเทพฯ” แต่เห็นไม่ตรง ข่าวในกรุงเทพฯ มี ๑๐๘ ที่กราบทูลมานั้นติดจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวแก่ตัว และซ้ำเลือกกราบทูลแต่เรื่องที่ควรทรงทราบด้วย จึงยักจดเสียใหม่ดั่งที่เขียนไว้ข้างบนนี้

มีข่าวตาย ๒ ราย คิดว่าเป็นคนที่ทรงรู้จักจึ่งกราบทูลมา

๑) ได้รับใบดำ บอกว่าจะเอาศพหม่อมเชงจ๋าย บุนนาค ที่วัดอนงคาราม วันที่ ๓ กรกฎาคม อ่านทราบความก็ตกตลึง ไม่ทราบว่าเจ็บเป็นไรตายเมื่อไร แกเคยทำกับข้าวให้กินไม่รู้ว่ากี่หนต่อกี่หน คิดถึงคุณแกและคิดถึงคุณมนตรีด้วย ก็ต้องไปส่งสการศพเท่านั้น ไปถึงวัดถามพวกลูกๆ คุณมนตรีบอกว่า “เป็นลม” ตายเมื่อวันที่ ๒๗ เดือนก่อน อายุ ๘๒ รู้สึกว่าแก่พอใช้ ที่เอาศพไว้หกเจ็ดวันแล้วเผานั้นดี เป็นการตัดความเป็นห่วงให้สิ้นไปเสียโดยเร็ว

พอไปถึงเขาก็ให้นั่งพักที่ศาลาการเปรียญ ขึ้นไปก็เห็นปี่พาทย์มอญตั้งอยู่ นึกถามตัวเองว่าทำไมการศพจึงต้องประโคมด้วยปี่พาทย์มอญ นึกไปก็นึกได้เป็นชั้นๆ แต่ก่อนใช้กลองมลายูหลายใบประโคม เรียกกันว่า “นางหงส์” ดูเป็นชื่อเครื่องประโคม แต่เห็นจะไม่ใช่ ทีจะเป็นชื่อเพลงที่ประโคม ต่อลงมาเปลี่ยนเป็นกลองมลายูแต่สองใบ เรียกกันว่า “กลองคู่” นั่นนึกได้ว่าเปลี่ยนไปตามที่เล่นคอนเสิทกัน ด้วยอยากจะให้ดี แต่ที่เปลี่ยนเป็นปี่พาทย์มอญนั้นนึกไม่ออก ไม่ว่าที่ไหน สุดแต่เป็นงานศพแล้วก็ใช้ปี่พาทย์มอญกันทั้งนั้น คิดดูก็ไม่เห็นหลักฐานอะไร นอกจากเป็น “แฟชั่น” เท่านั้นเอง

๒) พระยาศรีกฤดากร (ตุ่ม) ลูกเจ้าพระยาเทเวศร อยู่ที่บ้านคลองเตย ใกล้กับบ้านปลายเนิน ตายแล้วเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม หนังสือพิมพ์ลงว่าอายุ ๕๙ เหตุที่ตายนั้นว่ากันเป็นหลายเสียง เสียงหนึ่งว่าเป็นมะเรง ดอกบุกที่คอ อีกเสียงหนึ่งว่าเป็นฝีในท้องจะอะไรแน่ก็ไม่ทราบ แต่เจ็บออดแอดมานานแล้ว เขาเอาศพไปฝังไว้ที่วัดมกุฎกษัตริย์

นึกก็เห็นขันอีก ที่คำ “วรรณโรค” ถูกผูกขาดเอาเป็นชื่อฝีในท้อง เดิมที่ผูกคำนั้นขึ้นใช้เรียกฝีซึ่งเป็นขึ้นที่ผิวหนัง แม้แปลตามคำก็ยังเห็นอยู่ว่าเป็นโรคผิวหนัง แล้วถูกต่อให้ไพเราะเรียกฝีในท้องว่า “วรรณโรคภายใน” แล้วถูกตัดคงเหลือแต่ “วรรณโรค” แล้วถูกผูกขาดเอาไปเป็นชื่อจำเพาะโรคฝีในท้อง ต่อไปนี้จะเรียกที่เกิดบนผิวหนังว่า “วรรณโรค” ไม่ได้ จะต้องผูกชื่อใหม่ การผูกชื่อนั้นชอบกล เห็นในรายงานหมอตรวจพระอาการพระองค์เจ้า เขาเรียกท่อหายใจว่า “หลอดพระวาตะ” นั่นมาแต่คำ “หลอดลม” ออกไม่เห็นด้วย เห็นว่าควรเรียก “หลอดพระอัสสาสะ” จะดีกว่า “หลอดพระวาตะ” ควรเป็นลำไส้

เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ได้รับหมายมาแต่สำนักพระราชวัง ๓ ฉะบับ

๑) หมายบวชนาคหลวง มีหลวงพงศ์นวรัตน (ม.ร.ว.พงศ์ นวรัตน์) ลูกหม่อมเจ้าปราณีนวบุตรคนหนึ่ง กับหม่อมราชวงศ์ตุ๊ นวรัตน์ ลูกหม่อมเจ้านพมาศอีกคนหนึ่ง มีหมายกำหนดการใบพิมพ์ส่งมาด้วย คนก่อนบวชแล้วไปอยู่วัดราชประดิษฐ์ คนหลังบวชแล้วไปอยู่่วัดมกุฎกษัตริย์ กำหนดวันที่ ๑๑ ทำขวัญ วันที่ ๑๒ บวช

๒) หมายการพระราชกุศลเข้าพรรษาในวันที่ ๑๙ มีหมายกำหนดการใบพิมพ์ให้มาด้วย สั่งให้เกล้ากระหม่อมไปจุดเทียนวรรษาที่วัดพระเชตุพนตามเคย ในวันที่ ๒๐

๓) หมายสั่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปเปลื้องเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตน์ การนี้ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรแก่เกล้ากระหม่อม แต่ได้รับหมายก็กราบทูลมาด้วยเท่านั้นเอง

อยากทักถึงเครื่องทรงพระแก้ว ที่คิดเปลี่ยนเป็น ๓ ฤดูนั้น เป็นคิดกว้างขวาง แต่เห็นงามอยู่เพียงเครื่องทรงฤดูฝนเท่านั้น เครื่องทรงฤดูหนาวก็เห็นรุงรังไป เครื่องทรงฤดูร้อนควรจะงาม แต่ดูไม่งามเลย ดูแล้วก็รู้สึกในใจว่าพระพุทธรูปนั้นตั้งใจจะให้ทรงเครื่องอย่างไรก็ต้องทำพระรูปให้สมควรแก่เครื่องทรงนั้น จะเปลี่ยนเครื่องทรงไปให้เป็น ๓ ฤดูเห็นไม่ได้

หมายกำหนดการใบพิมพ์ คราวนี้ไม่ได้ส่งมาถวาย เพราะได้มาแต่ฉบับเดียวไม่มีจะแบ่ง แต่อย่างไรก็ดี เป็นการตามเคย ซึ่งทรง “ทราบเกล้ากระหม่อม” อยู่แล้ว ไม่จำต้องส่ง

ลายพระหัตถ์

เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒ กรกฎาคม กับทั้งสำเนาลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ซึ่งไม่ได้รับนั้นด้วยเรียบร้อยตามเคยเว้นแต่ได้รับช้าไปวันหนึ่ง แต่ก็ไม่เป็นไร จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ต่อไปนี้

เรื่องผ้านุ่ง เขาตัดไม่ให้เสียเศษไม้หนึ่งเป็น ๖ ผืน ใครจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ตามใจ เข้าใจว่าเขาสั่งออกไปทีเดียว ว่าให้ทำมากว้างเท่านั้น และไม้หนึ่งยาวเท่านั้น ถ้าพร้อมกันไม่ซื้อเสียอย่างพระดำรัส ก็เป็นแน่ว่าผู้ขายต้องสั่งให้ทำเปลี่ยนขนาด แต่เป็นการที่บินกันคนละทีสองที ลางคนจะไม่ซื้อ ลางคนจะซื้อเพียงเอาไปเป็นของกำนัล ถึงแคบสั้นก็ช่างเป็นไร ผู้ขายก็ยังขายอยู่ได้ที่ตรงนี้แหละเป็นเหตุให้เปลี่ยนไปได้ยาก

ปราสาท ซึ่งเปลี่ยนจากเรือนหลายชั้นลงเป็นชั้นเดียว ตามพระวิจารณ์ว่าเทวาลัยนำไปนั้นถูกที่สุด เกล้ากระหม่อมไม่เคยคิดไปถึง เคยคิดแต่ว่ายอดไม้หรือยอดปรางค์เป็นอันเดียวกัน ยอดปรางค์แม้ของเก่าที่เป็นของใหญ่ ก็เห็นปรากฏอยู่เป็นชั้นอย่างเดียวกันกับยอดไม้ ผิดกันแต่แอ่นเข้ากับโค้งออกเท่านั้น เพราะยอดปรางค์จะทำแอ่นเข้าไม่ได้ พัง จึงต้องแก้เป็นโค้งออก ปราสาทไม้นั้นปราสาทพม่ายังปรากฏเห็นชัดอยู่ว่าเป็นเรือนชั้น เหมือนถะไม้ข้างจีน ยอดโกศก็ได้นึก ว่ามาแต่ยอดปราสาทที่ต่อมุข นักปราชญ์ทางเขมรเขาก็อธิบายถึงเทวาลัย ว่าต่อมุขเดียวก็มี สองมุขสามมุขจนถึงสี่มุขก็มี สุดแล้วแก่ต้องการ

คำเดียวซึ่งหมายความได้สองทางมีเพื่อนที่หมิ่นๆ อีกถมไป เช่น ขัด สี สุก สวน เป็นต้น ที่ทรงพระดำริค้นเอาคำช้ามานั้นลี้ลับไปมาก คำ ช้า นั้นมีปัญหาไปอีกทางหนึ่งมีผู้รู้มาถามว่า “ต่ำช้า” ทำไมถึงต้องมีช้า เกล้ากระหม่อมก็จน “ป่าช้า” ก็มีคนแปลความแต่เกล้ากระหม่อมฟังไม่ชอบ “ช้าลูกหลวง” เห็นจะหมายถึงทำนองว่าร้องช้า อย่างเดียวกับที่แทงไว้ในบทละคร “ช้าเจ้าหงส์” นั่นหมายถึงชิงช้าแน่

คำ “โล้” จะต้องสืบคำจีน เรียกชื่อกันว่า “เรือโล้” ก็มี หมายถึงเรือเล็กที่พายใหญ่ ตามที่ทรงพระวิจารณ์ในคำ “โล้สำเภา” ว่าจะเป็นเอา “เรือโล้” จูงสำเภานั้นเหมาะมาก แจวพายก็หมายไปได้สองทาง เป็นนามศัพท์ก็ได้นามและกิริยานี้เป็น “กรหม่า” ในทางภาษามคธ ได้แต่เอามาเปรียบฟังกันเล่น จะยืมเอามาใช้จริงๆ หาได้ไม่ เพราะภาษาผิดกัน คำไทยที่แยกไม่ออกว่าเป็นนามหรือกิริยามีมาก

ข้อพระวินิจฉัยในเรื่องฝีพายตามทางโบราณคดีนั้นถูกต้องแล้ว จะกราบทูลซ้ำเติมแต่ว่าที่สวมเสื้อกระบอกนั้น อาจเป็นรัชกาลที่ ๔ ได้ เพราะเสื้อกระบอกเป็นของในรัชกาลนั้น ที่ฝีพายเรือพระที่นั่งทรงที่นั่งรองสวมเสื้อแดง หมวกทรงประพาสนั้น เป็นรัชกาลที่ ๕ แน่ ยังจำได้ แม้เรือในกระบวนเช่นเรือดั้ง เรือประตู เรือตำรวจ เป็นต้น ก็ยังใช้เสื้อกระบอกอยู่

เรื่องพระเก้าอี้ถม ตามที่ทรงค้นหลักฐานได้ใหม่ จมเข้าไปในความคาดถูกกว่าครึ่งตัว

เรื่องโบสถ์เรื่องสีมานั้น ให้เห็นเป็นเรื่อง “เบี้ยขาวเบี้ยแดง” พระพุทธประสงค์ก็จะมีเพียงว่า อย่าให้ไปทำสังฆกรรมในที่ซึ่งมีเจ้าของหวงแหน เช่นในบ้าน ในนาของเขาเป็นต้น ซึ่งเขาอาจไล่ให้ไปเสียจนกรรมต้องแตกเท่านั้น ตามที่ว่านี้โดยเข้าใจว่าที่ในป่าจะไปตั้งทำสังฆกรรมที่ไหนก็ได้ เพราะไม่มีเจ้าของหวงแหน ไม่มีใครจะมาไล่ให้เกิดอันตรายได้ หินรูปใบเสมาก็เหลว ที่แท้ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปใบเสมา เป็นหลักอย่างที่เคยทอดพระเนตรเห็นที่พายัพมาก็ได้ หรือแม้แต่เป็นหินก้อนก็ใช้ได้ มีลูกนิมิตรเป็นพยานอยู่ ที่สุดต้นไม้ก็ได้ สุดแต่ให้เข้าใจกันว่ามีเขตเพียงนั้น เท่านั้นก็พอ ที่ทำเป็นรูปใบเสมาก็เพราะชื่อ สีมา กับ เสมา เป็นคำเดียวกัน จึ่งเอาใบเสมาซึ่งพ้องชื่อมายัดโครมเข้าให้ ตามที่ว่านี้ จะได้ลบล้างพระวิจารณ์ ที่ว่าเสมาใบเดียวสองใบสามใบ เป็นผูกโบสถ์หนเดียวสองหนสามหนนั้นหามิได้ คำที่เขียนหนังสือว่า “โบสถ์” นั้นก็สงสัย กลัวจะเป็นเอาคำว่า “อุโบสถ” มายัดเข้าให้ ที่แท้คำว่า “อุโบสถ” นั้นเป็นชื่อวัน เช่น “วันอุโบสถ” “รักษาอุโบสถ” หาใช่ชื่อสถานที่ไม่ ถ้าเขาไปรับศีลกันที่ไม่ใช่โบสถ์จะโปรดว่ากระไร

ที่เกล้ากระหม่อมเรียกว่าใบดำใบแดงนั้น มันดำแดงจริงๆ ไม่ได้ใส่ไคล้ ใบดำนั้นเขาใช้กระดาษกรอบดำ ใบแดงนั้นเขาย้อมกระดาษด้วยสีแดงให้เป็นสีชมภู ข้อความในบัตรนั้นลางทีก็เกาะเชิญ ลางทีก็เป็นแต่บอกให้ทราบ ตามพระดำรัสอธิบายนั้นถูกแล้ว แต่ถูกตามประเพณีโบราณ สมัยนี้เขาต้องการให้ไปกันมากๆ ไม่ว่าจะทำอะไร เป็นการมีหน้ามีตา

พระดำรัสชวนให้คิดถึงการถวายดอกไม้ธูปเทียน ได้ตริตรองแล้วเห็นความไปอย่างหนึ่งว่า ดอกไม้ธูปเทียนเป็นเครื่องบูชา การถวายก็เป็นการบูชา ย่อมสมควรที่สุดที่ผู้น้อยจะมาบูชาผู้ใหญ่ แต่จะบูชาทุกวันไปก็เป็นการพร่ำเพรื่อ จึ่งบูชากันแต่เวลามีโอกาส

พิเศษซึ่งมีอยู่สองอย่างคือ โอกาสจำเพาะตัว เช่นในเวลาไปบอกจะโกนจุกหรือจะบวชเป็นต้นนั้นอย่างหนึ่ง กับเป็นโอกาสทั่วไปเช่นเฉลิมราชมนเทียรเป็นต้นนั้นอีกอย่างหนึ่ง ความเห็นอันนี้มีพยานอยู่ที่ผู้สูงศักดิ์ไม่ถวายแก่ผู้ต่ำศักดิ์ คือไม่บูชาแก่ผู้ต่ำศักดิ์กว่านั้นประการหนึ่ง หรือผู้ถวายรู้สึกตนว่าต่ำศักดิ์ จึงจัดถวายแก่ท่านผู้สูงศักดิ์ แต่ท่านผู้สูงศักดิ์เห็นว่าท่านเป็นลูกเป็นหลาน ท่านไม่รับก็มีนั้นอีกประการหนึ่ง ย่อมเป็นพยานที่เห็นอยู่ได้ การจัดธูปเทียนหลายเล่ม มัดเป็นแพ หรือจัดร่วงๆ นั่นเป็นการตกแต่งซึ่งทำไป “ตามเคย” เท่านั้น จะถือเอาเป็นหลักฐานอันใดหาได้ไม่ ก็ตกเป็นบูชาเหมือนกันมีความเห็นดังนี้ จะผิดถูกอย่างไรก็เป็นความเห็นแล้วแต่จะโปรด

พระเจนจีนอักษร ได้ข่าวว่าเปลี่ยนหมอ ให้หลวงนิตยเวชชวิสิษฐ์รักษาว่าอาการฟื้นดีขึ้นแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ