วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

แหนงใจ

ฉัตร ๓ คันซึ่งใช้นำเสด็จในกระบวนพยุหยาตรา เรียกกันว่าพระกันภิรมย์กันภิรุม เขียนเป็น “กรรภิรมย์” หรือ “กรรภิรุม” ขยับจะแปลเอาความไม่ได้ จะต้องคิดถึงความหมายอย่างไร ฉัตรกัน (ภัย) หรือฉัตรกรรม ถ้าหมายถึงกันภัยควรจะเขียน “พระกันภิรมย์” หรือ “พระกันภิรม” ถ้าหมายถึงกรรมก็ควรจะเขียน “พระกรรม์ภิรมย์” หรือ “พระกรรม์ภิรุม” ตัวอย่างที่อ่านกรรมเป็นกรรม์ก็มีอยู่ เช่น ชื่อพระที่นั่ง “คชกรรม์ประเวศ” เป็นต้น เมื่อนึกถึงที่ใช้ฉัตรนั้นก็นึกได้ ๓ อย่าง เอาลงผูกเสาในแพช้างเผือก แล้วเชิญนำหน้าช้างเผือกขึ้นบนบกอย่างหนึ่ง ใช้เชิญนำเสด็จในกระบวนพยุหยาตราอย่างหนึ่ง กับผูกเสาพระแท่นมณฑลอีกอย่างหนึ่ง แต่อย่างหลังนี้ว่าเป็นประเพณีจัดขึ้นใหม่ ฉัตรก็คือร่ม ร่มเป็นเครื่องกั้น ฉัตรพระคชาธารก็ปักไว้ด้วยจงใจให้กั้นพญาซึ่งอยู่ที่คอช้าง เศวตฉัตรก็คือร่มขาว มีคำอยู่ว่า “เจ้าร่มขาวหลวงพระบาง” แต่มาในที่ใดนึกไม่ออก สัญญาใจว่าเป็นคำฉันท์ เจ้าร่มขาวคือเศวตฉัตรเชิญนำเสด็จเสียไม่กั้นติดจะผิดทาง แต่ก็ได้ชุดกับเครื่องพระอภิรุม ที่ใช้ชื่อว่า “พระกรรภิรุม” อาจตั้งใจให้เข้าชุดกับเครื่องพระอภิรุมก็เป็นได้

เบ็ดเตล็ด

ตั้งใจว่าแต่นี้ต่อไป ถ้าไม่ถูกที่จำเป็นแล้วจะไม่ใช้คำมคธสังสกฤต เราติดจะถนัดมาก เช่น “อัลยิบรา” ซึ่งไม่มีภาษาไทยเราก็มาผูกขึ้น เรียกว่า “พิชคณิต” ทำเช่นนั้นก็ให้ต้องเรียนสองชั้น คือเรียนว่า “พิชคณิต” ได้แก่อะไรนั้นชั้นหนึ่ง แล้วเรียน “อัลยิบรา” ว่าเป็นอย่างไรนั้นอีกชั้นหนึ่ง ป่วยการไปหนักหนา เป็นการประหลาดที่ภาษามคธสังสกฤตเข้ามาปนอยู่ในภาษาของเรามาก คิดดูก็เห็นเหตุ คนเราถ้าแสวงความรู้ก็ต้องวิ่งเข้าหาพระ พระท่านถนัดในคำมคธสังสกฤตเพราะท่านเรียนทางพระศาสนาย่อมต้องเรียนภาษามคธสังสกฤต ตามที่พระศาสนามาทางนั้น ท่านจึงเอามาสอนให้พวกเราต่อไป นึกก็เห็นขันที่เขาว่าบาทหลวงไปสอบสวนพวกไทยที่อยู่เมืองจีนว่าถือศาสนาอะไร พวกนั้นไม่เข้าใจ เหตุด้วยคำว่าศาสนาเป็นภาษาสังสกฤต พวกนั้นไม่รู้ภาษาสังสกฤตเลย ท่านบาทหลวงก็จนแต้มที่จะหาคำไทยแทนคำศาสนาพูดกับพวกนั้นให้เข้าใจกัน เลยไม่ได้เรื่อง

เมื่อวันที่ ๑๙ เข้าไปวัดพระแก้วในการพระราชกุศลเข้าวรรษาเป็นวันพระจึงได้นุ่งแดง ใช้ผ้านุ่งแคบสั้นที่เขาขายดั่งได้กราบทูลมาแล้ว แต่แม่โตประเชิญให้โดยเรียบร้อย ชายกระเบนไม่หลุด ขอถวายพระกุศลในการที่ได้นุ่งผ้าประเชิญนั้น จะกราบทูลให้ทรงทราบต่อไปอีก ว่าผ้าม่วงที่เขาขายกันทุกวันนี้ลายทีก็มีนอกมีในด้วย จะนุ่งโดยไม่ดูแลอย่างแต่ก่อนไม่ได้ เมื่อยังรุ่นๆ เคยได้ยินผู้ใหญ่เขาว่า ผ้านุ่งนั้นถ้าเย็บชายติดกันเสียแล้วดี เพราะนุ่งหมุนไปได้ไม่สึกหรอแต่จำเพาะแห่ง มานึกดูเวลานี้ก็เห็นว่าจะหมุนไปได้ก็แต่ด้านที่ม้วนเป็นชายกระเบนเอาตะเข็บไว้ข้างใน ประมาณว่าจะเลื่อนไปได้ก็เพียง ๑/๘ ถ้ากว่านั้นเห็นจะไม่ได้ ตะเข็บมาอยู่ที่หน้าขาจะดูได้หรือ

เมื่อวัน ๒๐ ไปจุดเทียนวรรษาที่วัดพระเชตุพน ได้ไถลเที่ยวดูอะไรหลายอย่าง มีลางอย่างที่จะกราบทูลเป็นรายงานต่อไปนี้

๑) รูปพัดยศ ที่ในพระอุโบสถนั้น มีแต่ที่หลังบานประตู ส่วนหลังบานหน้าต่างนั้นเขียนเป็นลายวงกลม มีดอกบัวอยู่ภายใน ใจกลางดอกเป็นหนังสือบอกชื่อตำแหน่งพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์สิ้นด้วยกัน

๒) ที่เชิงบานพระอุโบสถด้านนอกเขียนเรื่องเด็กร้องเล่นถูกตามพระดำรัส แต่ดูไม่ออก “ตก” เสียเป็นอันมาก เช่นเป็นรูปคนขี่เรือลากแหนั่นจะแปลว่ากระไรก็ไม่ออก เป็นด้วยเราใหม่และตื้น ที่แปลออกก็มี เช่นเขียนเป็นสำเภามีหมาอยู่ในนั้น มีรูปคนตีนเป็นนกเกาะอยู่ที่หัวเรือ พอเห็นก็เข้าใจว่าเขาเขียนเรื่องบท “จิงโจ้มาโล้สำเภา” คนตีนนกนั้นเขาตั้งใจจะเขียนเป็นจิงโจ้ นึกตามไปว่าจิงโจ้ควรจะเขียนรูปเป็นอย่างไรก็จน เราเรียกแกงกะรูว่าจิงโจ้ก็มี เรียกแมงมุมชนิดหนึ่งซึ่งเดินยุ่มย่ามอยู่บนหลังน้ำว่าจิงโจ้ก็มี เรียกทหารผู้หญิงว่าจิงโจ้ก็มี เห็นเป็นว่าตั้งชื่อไส่ไคล้ให้ทั้งนั้น ออกเห็นใจช่างเขียนว่าจะเขียนจิงโจ้เป็นรูปอย่างไรนั้นยากเต็มที ที่โบสถ์พระนอนก็มีเขียนอย่างเดียวกัน ต้องตามพระดำรัส แต่ก็ดูไม่ออกเสียมาก เช่นเป็นรูปกษัตริย์ว่ายน้ำอยู่ในลูกคลื่น เป็นนางตัวเดียวก็มี เป็นพระกับนางก็มี มีที่ดูออกนั้นเขียนเป็นเรือหงส์เล็กๆ มีคนขี่สามคน คนกลางถือฉัตร คนหัวถือธง คนท้ายพายเรือ พอเห็นก็รู้ได้ว่าเขาเขียนบท “วัดโบสถ์” บทนั้นเป็นบทกล่อมลูก อาจเขียนแบ่งเป็นบทต่างกันกับในพระอุโบสถก็ได้ แต่ว่าเอาแน่ไม่ได้เพราะดูไม่ออกมาก

๓) ที่กราบทูลว่าศิลาจารึกคุณเสือขอบุตรหายนั้นไม่หาย แต่ย้ายที่เอาไปฝังติดไว้ที่หลังพระโลกนาถ จะเห็นจะอ่านได้ก็แต่คนที่ซนปีนขึ้นไปบนบัวฐานมุดเข้าไปหลังพระเท่านั้น ในการที่ได้พบว่ายังอยู่ ต้องยกความชอบให้ชายงั่วเพราะแกซุกซนเข้าไปจึ่งได้เห็นได้พิจารณาวิหารพระโลกนาถเห็นปรากฏว่าต้องมีการทำแก้ เพราะเชิญพระองค์ใหญ่เข้าไปประดิษฐานนั้นหลายอย่าง เป็นต้นว่าเพดานห้องที่ตั้งพระก็ต้องตัดเลื่อนให้สูงขึ้น แม้กระนั้นพระรัศมีก็ยังระเรี่ยอยู่กับเพดาน ทำให้รำลึกถึงพระดำริของฝ่าพระบาทที่ว่าถ้าเอาไว้ในพระอุโบสถจะเป็นดี ประตูหน้าวิหารก็ต้องแก้ขยายให้ใหญ่สูงขึ้นอีกมาก แต่ก็ผิดส่วนกับประตูตามปกติไม่งามเลย เห็นจะหวังให้เห็นองค์พระได้ถนัดข้างนอก แม้องค์พระโลนาถก็ทำแปลก มีจีวรเป็นกลีบ แต่กลีบห่างตามทางที่ช่างทำโดยเห็นงาม ไม่เหมือนพระห่มผ้าย่นตามจริง อย่างอินเดียข้างเหนือหรือสมัยใหม่ในกรุงเทพฯ และไม่เป็นริ้วอย่างลังกาหรืออินเดียลางองค์ด้วย

๔) จะกราบทูลถึงทางฝีมือช่าง ดูบานมุกด์เรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเขาว่าเจ้ากรมอ่อน (พระพรหมประกาสิต) เป็นผู้เขียนให้อย่างนั้น รู้สึกเพลิดเพลินดีเต็มที และที่ทำเป็นรูปภาพเรื่องนั้นแปลกทางจากที่เคยทำมาแล้วแต่ก่อนด้วย ส่วนพนักจำหลักศิลาที่พระอุโบสถเขาว่าอาจารย์ใจ (พระหรหมพิจิตร) เขียนให้อย่าง ดูยังอ่อนแต่ท่าทางเอาการแล้ว เวลานั้นอาจารย์ใจเห็นจะยังเด็ก ส่วนยักษ์ยืนข้างประตูเข้าเขตวิหารยอด เขาว่าหลวงเทพ (รจนา) ปั้น เห็นดีแต่หน้า ตัวคลายมาก สู้ยักษ์ของ “ครูดำ” ที่พระมณฑปวัดพระแก้วไม่ได้หลุด หลวงเทพชื่อนี้ เคยได้เห็นหน้าโขนของท่าน ทำดีมาก แต่พร้อมทั้งตัวคลายไป ช่างดีในทางทำหน้าโขนมักเป็นเช่นนั้น เพราะหมกมุ่นทำอยู่จำเพาะแต่หน้า ครั้นถึงต้องทำตัวด้วยก็ดูไม่ดี

๕) ที่ตั้งพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตเห็นไม่ควรตั้งที่ตรงนั้น ที่ซึ่งตั้งอยู่ดูเป็นอาสนสงฆ์ ที่ว่าเทียบกับการเปรียญตามวัด ห้องนั้นทีจะเป็นท้องพระโรงที่พระสงฆ์เข้าเฝ้า หรือจะอย่างไรก็เป็นการเก่าทราบไม่ได้ ที่เห็นไม่สมควรก็ดูเป็นเอาพระอัฐิมาตั้งไว้ริมทาง จะถามเอาเหตุแก่ใครก็ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้นึกถึงเหตุก็เห็นอยู่อย่างเดียว ว่าเอามาตั้งไว้ในที่ใกล้ซึ่งจะเสด็จไปทรงบูชาได้ง่ายๆ เท่านั้น

ลายพระหัตถ์

เมื่อวันอาทิตย์เดือนนี้ วันที่ ๒๑ ได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม หนังสือนั้นบริสุทธิ์ ได้ความรู้ในลายพระหัตถ์ฉบับนั้นขึ้นใหม่หลายอย่าง จะกราบทูลสนองลางข้อต่อไปนี้

ข้อพระวินิจฉัยในเรื่องเครื่องถม ที่ว่าถมดำต้องทำพื้นมากนั้นถูกต้องทีเดียวแล้ว ถมชนิดที่เกล้ากระหม่อมเรียกว่าถมบางขุนพรหมนั้นเกือบไม่มีพื้น จะเรียกว่าถมทองคู่กับถมดำก็ควรจะได้ ได้ความรู้ใหม่ว่า ฝาบาตรพระสิหิงค์ที่เมืองนครนั้นเป็นถมละครทำอย่างถมดำ ที่มียอดนั้นเกล้ากระหม่อมเห็นก็ไม่ชอบ ด้วยของแบนใหญ่เช่นฝาบาตรทำยอดแหลมเล็กขึ้นไปตรงกลางนั้นผิดหลัก หลักข้างไทยยอดอะไรก็ต้องทำเป็นทรงจอมแห เช่นเม็ดทรงมัน เป็นต้น จะกราบทูลเล่าบรรจง พระเทพกวี (มณี) วัดบวรนิเวศ สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณท่านทรงมอบหมายให้ดูแลการทำฐาน และจัดตั้งพระรูปในพระอุโบสถ เกล้ากระหม่อมเป็นผู้ทำแบบฐานถวาย ท่านจึงมาที่บ้านบ่อยๆ เพื่อถามเอาความเข้าใจในแบบและที่ตั้ง ครั้งหนึ่งสนทนากันถึงอะไรก็ลืมไปเสียแล้ว เป็นเหตุให้ท่านโจษถามขึ้นว่า “ทรงมัน” จะหมายความว่าอะไร เกล้ากระหม่อมก็ตอบพุ่งถวายว่า ทรงมัณฑป ท่านเห็นด้วย ในการที่ทำยอดฝาบาตรเล็กจิ๋มขึ้นไปนั้น นึกว่าตั้งใจจะติดเทียน เข้าใจว่าบาตรนั้นจะใช้ทำน้ำมนต์ เมื่อพูดถึงบาตรน้ำมนต์นึกขึ้นมาได้ ว่าฝ่าพระบาทไปได้บาตรเก่าที่ไหนมา ตรัสให้เกล้ากระหม่อมคิดแบบเชิงและฝาถวาย เห็นได้ทรงใช้ทำน้ำมนต์อยู่ คิดเห็นว่าเป็นถูกที่สุด น้ำมนต์จะต้องทำด้วยบาตร ที่ใช้ขันใช้หม้ออย่างใดๆ นั้นเห็นหาควรไม่ ไม่คิดจะมีบาตรน้ำมนต์ใช้เหมือนกัน แต่จะให้ทำขึ้นในเมืองเราก็รู้สึกว่าจะได้ของกำมะลอเต็มที จะให้ทำมาแต่ต่างประเทศก็ใช่ที่ อีกประการหนึ่งก็ไม่ตกลงใจว่าควรทำรูปเปนอย่างไร นึกถึงบาตรที่ประทานไปให้คิดฝาและเชิงนั้นมีรูปแบนมาก ยังได้นึกว่าบาตรอะไรจึงแบนดังนั้น มาคิดดูเดี๋ยวนี้ก็เห็นว่าถูกทีเดียว เพราะมีบทในพระวินัยห้ามไม่ให้เสียบาตร บาตรเดี๋ยวนี้เสียได้เมื่อไหร่ บาตรจะต้องแบนกว้างจึงจะเสียได้ อีกบทหนึ่งห้ามไม่ได้เอาบาตรหนุนหัว นั้นก็บ่งว่าบาตรต้องแบบถ้าสูงอย่างเดี๋ยวนี้จะหนุนหัวอย่างไรได้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าบาตรที่ทรงได้มานั้นใกล้ด้วยข้อวินัยเป็นอย่างยิ่งแล้ว หอพระสิหิงค์ก็เพิ่งทราบ ว่าเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พร้อม) ทำ นึกว่าทำกันขึ้นภายหลังคราวเดียวกับสร้างตึกที่ว่าการเมือง

อันนครศรีธรรมราชนั้นเปลี่ยนแปลกไปไม่ใช่แต่ที่คนทำ แม้ธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลกด้วย ได้บอกแก่ลูกว่าตะเข้แยะ ที่บอกดังนั้นก็เพราะได้ไปเห็นเมื่อครั้ง “โกปิโฮบ” แต่กลายเป็นขี้หกไม่มีสักตัวเดียว กรมการเขาเห็นกระสับกระส่ายในเรื่องตะเข้ เขาก็อุตส่าห์เอาเบ็ดราวไปลาก ได้มาให้ดูตัวเดียวยาวสักศอกคืบเท่านั้น

เรื่องปี่พาทย์มอญในงานศพ เพิ่งได้ทราบมูลเหตุซึ่งตรัสบอกในครั้งนี้ดีมาก แต่ก่อน “งมหมู” ไม่ทราบอะไร คำว่า “บัวลอย” ก็เป็นชื่อเพลงที่ปี่เป่าไม่ใช่ชื่อเครื่องนางหงส์ซึ่งใช้กลองมลายูหลายคู่เห็นจะเป็นกลองชนะนำไป อันเครื่องประโคมทั้งหลายไม่ว่าสิ่งไร เห็นจะมาแต่ “ปัญจดุริยางค์” ทั้งสิ้น คือมีเสียงเป็น ๕ อย่าง เสียงกลองใหญ่กลางเล็ก กับเสียงเครื่องลมเครื่องทองเหลือง จะเป็นเครื่องมากอย่างหรือน้อยอย่างก็มีเท่านั้นเอง

เรื่องสีมา ตามที่เกล้ากระหม่อมกราบทูลโดยเดา ก็ลงรอยกันกับที่ตรัสโดยได้ทรงทราบอย่างแท้จริงมาแล้วนั้นทีเดียว

พระเจนเขียนหนังสือมาทูลลาตายไม่ทรงอนุญาต รู้สึกเห็นเป็นเรื่องขันและนำไปให้คิดถึงที่เขาส่งดอกไม้ธูปเทียนมาทูลลาตาย ประเพณีเดิมที่เขาจะส่งมาก่อนตายเมื่อรู้ตัวว่าตายแล้ว ที่ลูกหลานส่งมาถวายเมื่อตายแล้วดูไม่เป็นควรเลย ที่เป็นเช่นนั้นหากจะเป็นการที่ตายโดยไม่รู้ตัวนำไปก็ได้

เรื่องพระราชยานทองลงยา กระแสพระดำริของฝ่าพระบาทเห็นเหมาะมาก เกล้ากระหม่อมก็ยังไม่พบหลักฐานอันใดซึ่งจะถือเอาเป็นแน่ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ