วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เบ็ดเตล็ด

๑) ได้เขียนความรู้ความเห็นในเรื่องพิธีตรุษ ตามพระนิพนธ์ซึ่งโปรดประทานไปมาถวายเป็นฉบับหนึ่งต่างหาก ด้วยคิดจะให้เป็นการสะดวกไปได้ทั้งสองทาง คือ จะทรงเก็บไว้กับพระนิพนธ์เรื่องนั้นก็ได้ หรือจะทรงเก็บไว้กับหนังสือเวรก็ได้ แล้วแต่จะโปรดอย่างไรที่พอพระทัย

๒) พระยาอนุรักษ์จดเรื่องพระยาอุทัยธรรมออกไปบ้านต่างเมืองมาให้แล้ว ได้ความว่าไปกับย่า พระราชโกษา (จันทร์ วัชโรทัย) ไม่ได้ไปด้วย ได้คัดสำเนาจดหมายมาถวายนี้แล้ว

ข่าว

๓) เมื่อวันที่ ๑๖ ที่ล่วงมานี้ ได้ไปในการที่สมเด็จพระพันวัสสาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา ที่พระที่นั่งนงคราญ มีการสวดมนต์แล้วเลี้ยงพระ ๑๐ รูป พระกลับแล้วมีทรงธรรมกัณฑ์หนึ่ง มีพระรับสัพพี ๔ องค์ แล้วมีทรงสดับปกรณ์เท่าพระชันษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ในการนั้นเห็นทรงตรวจน้ำในเวลาใกล้ๆ กันถึง ๓ หน คือ เวลาสวดมนต์เลี้ยงพระแล้วหนหนึ่ง เวลาทรงธรรมแล้วหนหนึ่ง เวลาทรงสดับปกรณ์แล้วอีกหนหนึ่ง ทำให้นึกถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงปั้นขี้ผึ้งเม็ดเล็กๆ ลอยไปในน้ำทักษิโณทก

๔) เมื่อวันที่ ๑๙ ซึ่งล่วงมาแล้ว ได้เข้าไปในงานเฉลิมพระชันษา การก็ดำเนินไปตามหมายกำหนดการ นอกนั้นก็มีพระราชทานตรามากด้วยกัน จะกราบทูลแต่ที่ได้ชั้นปฐมมี ๒ คน คือ หม่อมเจ้าวิวัฒนไชยได้ปฐมช้างเผือก กับพระยาสุนทรพิพิธได้ปฐมมงกุฎ

ลายพระหัตถ์

๕) เมื่อวันที่ ๒๒ ซึ่งล่วงมานี้ ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๑๗ กันยายน ช้าไปวันหนึ่งแต่เรียบร้อยดี จะกราบทูลสนองความแต่ลางข้อต่อไปนี้

๖) การรู้ประดิทินอย่างหยาบ เช่น พระดำรัสนั้น ไม่ใช่เป็นแต่แก่คนปางก่อน แม้ทุกวันนี้คนบ้านนอกก็ยังสังเกตอะไรอยู่หยาบๆ จะเห็นได้จากคำว่า “บ่ายควาย” และ “ควายเข้าคอก” เป็นต้น คนที่รู้ประดิทินนั้นน้อยนัก แม้คนที่รู้ก็ยังต้องฟังโหร โหรพวกเดียวที่เขาเป็นผู้รู้มาก แม้กระนั้นก็รู้เพียงมีตำราซึ่งผู้รู้จริงเขาทำไว้ให้

มาสังเกตได้ว่าทางอินเดียก็มีถือ ๗ วันเหมือนกัน เห็นได้จากสัตตมหาสถานและการสัตตาหเข้าวรรษา กับทั้งสัตตาหกาลิก เป็นต้น แต่เขาเห็นจะนับเรียกวันทั้ง ๗ เป็นวันที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้เรียกกันตามชื่อดาวพระเคราะห์หรือเทวดา

๗) เรื่องทูตไทยไปเมืองอังกฤษซึ่งกราบทูลมานั้น ทีหลังไปอ่านหนังสือพิมพ์ข้างไทย เขาแปลว่า “ถลก” มาลงพิมพ์ก็รู้ได้ว่าเป็นครั้งนิราศลอนดอน ที่ว่าราชทูตเป็นพระยามนตรี ก็คือมนตรีชุ่ม นั่นเข้าใจอุปทูตว่าเป็นเจ้าหมื่นสรรเพธ คือ เจ้าพระยามหินทรหรือมิใช่ กับตรีทูตเป็นจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ นั่นคือใคร กับมีกล่าวถึงทูตไปฝรั่งเศสในครั้งแผ่นดินพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ด้วย ราชทูตอุปทูตนั้นทราบแล้วว่าใคร แต่ตรีทูตว่าพระณรงค์วิชิต นั่นยังไม่ทราบว่าคือใคร

๘) เสลี่ยงหิ้วนั้นเป็นแน่ว่าเดิมเล็ก สำหรับใช้แต่คนขี่ แล้วทีหลังมาขยายขึ้นให้ใหญ่เอ้อเร้อสำหรับหามโกศ แม้จะประดับด้วยกระจกหรือปิดทองก็ดี ที่เรียกว่าเสลี่ยงแว่นฟ้านั้นควรได้รับอภัย เพราะคนสมัยนี้ไม่มีใครรู้เสียแล้ว ว่าคำแว่นฟ้านั้น หมายความว่ากระจก เสลี่ยงหิ้วไม่มีใช้ที่อื่นนอกจากในพระราชวัง ก็ควรแล้วที่จะทรงสันนิษฐานว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทรงเท่านั้น

๙) “หูผึ่ง” ที่ได้ยินพระดำรัสเล่าว่ามีเมืองเก่าอยู่ใกล้เมืองวิเชียรเห็นพ้องด้วย พระดำริว่าเมืองเก่านั้นเองเป็นเมืองศรีเทพ จะชื่อเมืองอภัยสาลีนั้น “อิน” เต็มที ที่ว่าพระธุดงค์บอกนั้นก็ควรอยู่แล้ว

๑๐) เรื่องวงถันนั้นเห็นด้วยตามพระดำริ ว่าเป็นสิ่งที่ช่างคิดขึ้นไม่มีของจริง แม้รูปเขียนก็มีน้อยนักที่เขียนเครื่องประดับกายมีวงถัน เกล้ากระหม่อมไม่เคยเขียนแล้วจะไม่เขียนเลย

๑๑) นิทานโบราณคดีที่โปรดประทานสำเนาไปนั้นสนุกนัก มีเรื่องที่จะกราบทูลประกอบมาก แต่ขอประทานงดไว้กราบทูลเอาคราวหน้า เพราะว่าคราวนี้เป็นหนังสือมากอยู่แล้ว สงสารหญิงอามจะต้องดีดพิมพ์ตาดำตาแดงอย่างฉุกละหุก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ