วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ย้อนหลัง

๑) เรื่องเห่เรือ ตามที่กราบทูลมาในหนังสือเวรฉบับก่อนนั้นยังบกพร่อง จึงจะกราบทูลเติมต่อไปนี้

อันคำ โอ โอ้ เอ เอะ อา อะ หรือประกอบกับพยัญชนะด้วยเช่น ชิ ชะ ฉา วา วะ อะไรเหล่านี้ ย่อมมีทุกชาติทุกภาษา จึงจะใช้มีความหมายเช่น เอ เอะ ใช้ในความสงสัย เป็นต้น เขาก็ไม่นับว่าเป็นภาษา ไม่ลงพจนานุกรม ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “อุทาน” หมายความว่าเป็นเสียงหลุดออกมาตามบุญตามกรรม คำเห่เรือ “โหเห่โอ้เห่” อะไรเหล่านั้นเป็นอุทานทั้งนั้น แล้วแต่พลพายจะร้องกันไป ไม่นับว่าเป็นภาษาอะไรของใครทั้งนั้น

บรรเลง

๒) ข้อที่จะบรรเลงถวายนี้เข้ามาสู่ญาณ เพราะนึกถึงประดิทิน พระวิมาน ๓ หลังที่วังหน้า จงใจจะตั้งชื่อเดินทางให้เป็นปราสาทสามฤดู แต่มีอะไรพลัดพลาดใบหลายอย่าง ตั้งต้น “วสันตพิมาน” หมายให้เป็นที่อยู่หน้าฝน แต่คำ “วสันต” เป็นชื่อฤดู ๖ อันหนึ่ง ซึ่งพวกหมอยาเขาใช้ เป็นฤดูใบไม้ผลิ (Spring....) ไม่ใช่ฤดูฝน ถ้าฤดูฝนต้องเป็น “วัสสาน” แต่คนโดยมากเอามาเข้าใจปนกันเสีย “วายุสถานอมเรศร” นี่ตั้งใจให้เป็นที่อยู่หน้าหนาว “พรหมเมศรธาดา” ชื่อนี้เชือนไปไม่เข้าเรื่องปราสาทสามฤดู คิดว่าฟังไม่สรรพจับมากระเดียด อยากแก้ให้เป็น “พรหเมศวรคิมหาน์” (ตามแนว “คิมหานมาเส” พระท่านบอกศักราชก็ว่า คิมหะฤดู คำคิมหันต์ไม่มี) คำ “พรหเมศร” ซึ่งอยู่ข้างหน้านั้นถูกแน่ เพราะองค์ก่อนเป็นอินทร์องค์นี้ก็ต้องเป็นพรหม เป็นสิ่งคู่กันอย่างซึมซาบ

๓) ข้อนี้เกิดขึ้นในญาณสืบมาแต่ที่กราบทูลถึงสัตว์หิมพานต์ เกล้ากระหม่อมเคยเลี้ยงลูกหมีไว้ทีหนึ่ง ด้วยเขาเอามาให้ ได้ถามเขาว่ามันกินอะไร เขาบอกว่ากินข้าวคลุกน้ำตาล ก็ได้ทำให้มันกินอย่างเขาบอก ไม่ช้ามันก็ตาย แต่เมื่อนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร นึกว่ามันตายโดยธรรมดาเป็นเอง ภายหลังมาเขียนรูปเรื่อง “ธรรมาธรรมะสงคราม” ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เห็นว่ารูปเทวดาอธรรมควรจะขี่รถเทียมหมี เพราะมันเป็นสีดำสมความเป็นอธรรม และเป็นสัตว์ร้ายต้องตามที่เขาว่า กาฬสีห์คือหมี เข้าอย่างที่เขาเขียนรถยักษ์เทียมราชสีห์ แต่เขียนหมีไม่ถูก หาดูอย่างในสมุดรูปสัตว์ซึ่งฝรั่งเขาทำมาก็ไม่มีหมีไทยอยู่ในนั้น จึงสืบถามคนหลายคนว่าเห็นใครเอาหมีมาเลี้ยงไว้ที่ไหนบ้าง เขาบอกว่าที่นั่นที่นี่ ตามไปดูก็ได้ความแต่ว่ามันตายเสียแล้ว ไปพบแห่งหนึ่งก็เป็นลูกหมีอย่างที่เคยเลี้ยงมันไว้ ตกลงหาอย่างหมีตัวโตๆ ไม่ได้ก็เขียนเดาเอาตามบุญตามกรรม พวกช่างเราถนัดถ่ายเอารูปฝรั่ง เห็นไม่ได้ จะว่ามากไปไยมี เอาแต่สัตว์ที่ดาษดื่นเช่นงัวเป็นต้น งัวฝรั่งกับงัวไทยเหมือนกันเมื่อไร ผิดกันตั้งแต่โครงกระดูกขึ้นไปทีเดียว มาบัดนี้มาเกิดความเห็นขึ้น ว่าเขียนเป็นหมีนั้นอ้อมค้อมไปเปล่าๆ หาหมีดูไม่ได้เขียนเป็นราชสีห์ถมหมึกก็แล้วกัน งามกว่าด้วย ในการที่ไปเที่ยวหาหมีดูไม่ได้เพราะมันตายเสียหมดแล้ว ได้พบแต่ลูกซึ่งเคยได้มันมาเลี้ยงก็ได้คิด ทำให้รู้สึกตัวทันทีว่าเราเขลา ไม่ได้เลี้ยงมันด้วยอาหารของมัน มันจึงตายเสียไม่ทันโต ที่ให้กินข้าวคลุกน้ำตาลนั้นก็เอามาแต่คำที่พูดกันว่า “หมีกินผึ้ง” มันจะกินจริงๆ หรือไม่ก็รู้ไม่ได้ ถ้ามันกินจริงมันต้องการจะกินน้ำผึ้งหรือตัวผึ้งก็รู้ไม่ได้เหมือนกัน ถึงอย่างไรก็ดี แม้มันจะกินรวงผึ้งก็เป็นอติเรกาหาร ไม่ใช่อาหารประจำวันซึ่งเป็นประจำชีวิตเหมือนเลี้ยงนกขุนทอง ให้กินข้าวกับไข่นั้นก็ผิดธรรมดาอย่างเอกอุ มันอยู่ป่ามันจะเอาข้าวสุกเอาไข่ที่ไหนมากินเป็นอาหารประจำชีพ ต่างว่ามันชอบกินไข่ก็จะต้องไปข่มเหงแย่งไข่จากนกที่เล็กกว่ามันกิน ย่อมเป็นอติเรกาหารเหมือนกัน ข้าวสุกนั้นไม่มีกินแน่ หมีนั้นฟันมันเหมือนเสือ คิดว่าธรรมดามันทีจะกินเนื้อ ไม่ใช่น้ำผึ้ง ควรจะสอบถามอ้ายแขกเล่นหมี “ตุมมะกิตุมมะกินา” ว่าให้มันกินอะไรแต่ก็ล่วงเวลาพ้นมาเสียนานแล้ว

“ตุมมะกิตุมมะกินา” เราไม่เข้าใจ จะเป็นคำมีถ้อยความหรือเป็นคำ “โหเห่” อย่างเห่เรือก็ไม่ทราบ คำที่ไม่ได้ภาษาแซกอยู่ในคำร้องนั้นมีมาก มีทุกภาษา ของเรามี “เอ๋ยหร่า” “น่าแหระ” “เอ้อเอองงังเงย” เป็นต้น ทางพม่าก็มี เคยเรียนเขาร้องมา มี “เลเลเด” นั่นผู้รู้ภาษาพม่าเขาก็บอกว่าไม่เป็นความเหมือนกัน

แก้คำผิด

๔) ได้โปรดให้ใครแก้คำผิด ในบันทึกเรื่องพิธีตรุษ กับเรื่องเห่ช้าซึ่งถวายมาก่อนเสียด้วยที ยังมีผิดอยู่ ๓ แห่งเห็นเข้าทีหลังตามเคย คือ ในบันทึกพิธีตรุษ ๒ แห่ง ข้อหมายเลข ๓ มีคำ “ที่แท้” ซ้ำอยู่ใกล้ๆ กันแห่งหนึ่ง ให้ฆ่า “ที่แท้” คำหลังออกเสีย กับข้อที่หมายเลข ๑๖ ดีดพิมพ์ว่า “เม็ดการ” นั้นผิดให้แก้เป็น “เม็ดก้าน” กับบันทึกเรื่องเห่ช้ามีผิดอยู่แห่ง ๑ ที่หมายเลข ๖ คำที่ว่า “หน้าพากย์” นั้นผิด ให้แก้เป็น “หน้าพาทย์”

การตรวจจับผิดได้ไม่ทั่วนั้นเป็นอยู่อย่างธรรมดา ตรวจ ๓ เที่ยวพบผิดทั้ง ๓ เที่ยว เลยเชื่อเอาว่าใช้ได้ไม่ตรวจอีก ที่เป็นดังนี้ก็เป็นกันอยู่มาก ไม่ใช่แต่เกล้ากระหม่อมคนเดียว โดยอ่านเชื่อว่าถูกแล้ว เคยได้ทราบว่าฝรั่งเขาพูดว่าท่านศาสตราจารย์อะไรคนหนึ่ง ให้ลูกชายตรวจปรูฟที่ท่านแต่ง ว่าเพราะลูกชายของท่านไม่รู้วิชาที่ท่านแต่ง ว่าให้คนที่ไม่รู้ตรวจปรูฟในวิชาที่ตนไม่รู้นั้นได้ผลดีขึ้น

ลายพระหัตถ์

๕) ได้รับลายพระหัตถ์เวรเมื่อวันเสาร์ ตุลาคม วันที่ ๑๙ มีรอยตัดตรวจที่ปีนังอย่างหนหลัง เห็นได้ว่าเป็นการเข้มงวดขึ้นจริง แต่หาเป็นไรไม่จะกราบทูลสนองความลางข้อต่อไปนี้

๖) เรื่อง “เสด็จประพาสต้น” นั้น ลืมไปสนิททีเดียว เข้ารูปเรื่องลืมตามที่ทรงแบ่งไว้ในพระดำรัส ต่อได้ฟังตรัสจึงนึกขึ้นได้ เป็นการน่าสังเวชแท้ทีเดียว

เรื่อง “ศาลาอันเต” นั้น นึกมูลเหตุได้ว่าพระยาบำเรอภักดิ์ (เจิม) เป็นผู้ก่อขึ้นก่อน แกไปซื้อเอาตีนหมูซึ่งเจ๊กมันทำขาย มันถอดเอากระดูกออกแล้วเอาคุลีการอะไรยัดเข้าไปแทน แกเห็นอร่อยแกก็ไปซื้อเอามาเลี้ยงพวกในพระราชสำนักซึ่งอยู่ดึกๆ ทำให้รู้สึกกันว่าการเลี้ยงพวกอยู่ดึกๆ นั้นดี ต่างก็ผลัดเวรกันเลี้ยง ทีหลังพวกอื่นที่ไม่ใช่พระราชสำนัก แต่นับเนื่องเข้าได้ในพระราชสำนักต่างก็ยื่นมือเข้ามาเป็นคนเลี้ยง การก็กว้างใหญ่ออกไปทุกที จนทำให้เกล้ากระหม่อมต้องปลูกศาลาขึ้น แล้วก็ช่วยกันคนละไม้ละมือ ชื่อศาลานั้นเจ้าพระยาภาสเป็นคนคิด จำได้ว่าคิดมาเป็น “ศาลาอันเตปุริกธุริน” กับอื่นอีก แล้วใครจะเป็นคนเลือกเอาชื่ออะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว จำได้แต่ฝ่าพระบาทตรัสว่าถ้าใครจำได้แล้วไม่ใช่คน แต่ก็จำกันได้ เว้นแต่เหลือสั้นเพียงเป็นว่า “ศาลาอันเต” การกระทำแต่แรกก็เป็นเพียงแต่เลี้ยงเฉยๆ ทีหลังมีเลี้ยงด้วยแจกของด้วย ต่อมามีการเล่นบำเรอเสริมเข้าอีกด้วย ต่างก็วิ่งเต้นไปเที่ยวหาอะไรมาเล่นกันต่างๆ จำก็ไม่ได้หมด ที่จำได้มีแต่ที่ตัวได้เกี่ยวข้องเป็นผู้จัด กับที่มีเหตุแปลกประหลาดเช่นพระยามหาอำมาตย์ (เสง) ไปหาแตรทหารมาเป่าบำเรอ แล้วมีนักเลงดีเตรียมเอาประทัดมา กำลังเล่นแตรก็มีการจุดประทัดด้วย ใครจุดและใครพกเอาประทัดมาก็หาทราบไม่ แต่เห็นเป็นขันจึ่งจำไว้ได้

๗) เรื่องปลอมตัวกลแตก ตรัสว่าเจ้าเราอบรมมาอย่างหนึ่งนั้นจับใจเป็นอย่างยิ่ง ทำให้นึกตัวอย่างได้ วันหนึ่งเกล้ากระหม่อมขี่รถไปกับแม่โต มีคนๆ หนึ่งเดินมาในถนน แม่โตแกทักว่านั่นเจ้า เผอิญเกล้ากระหม่อมรู้จักก็รับแกว่าถูก คนผู้นั้นก็เป็นแต่ชั้นหม่อมเจ้า แล้วก็แต่งตัวมาอย่างปอนๆ ควรจะรู้ไม่ได้แต่ก็รู้ได้ มีอะไรที่ส่อให้เห็น แม่โตแกว่ามีราศี ก็ถูกแล้ว แต่คิดดูว่าราศีอะไรก็ไปลงรอยเช่นพระดำรัสว่า คือราศีความอบรมนั้นเอง

๘) “อวิชชา” และ “โมห” ตามที่ตรัสทักว่าย่อมประกอบด้วยกิเลศนั้น ทำให้ได้สติขึ้นดีมาก แต่ก่อนสงสัยแต่คำว่า “โมห” เดี๋ยวนี้เพิ่มสงสัยคำ “อวิชชา” ขึ้นด้วย แปล“อวิชชา” ว่าความไม่รู้นั้น เบาเต็มที คิดเห็นเป็นไม่ประกอบด้วยกิเลศ ถ้าแปลว่าไม่เรียนเพื่อรู้จะค่อยยังชั่วกว่า จะสังเกตคำ “อวิชชา” นั้นสืบไป

๙) เรื่องประทับตรากับเซ็นชื่อ ตามที่ตรัสแยกแยะไปนั้น ดีเต็มที พระเจ้าปูยีที่มีพระนามฝรั่งนำว่า “เฮนรี่” นั้น แต่ก่อนเคยได้ยินมาแต่อย่างหยาบว่าพระอาจารย์ฝรั่งตั้งถวาย ออกจะเป็น “โซด” ครั้นได้ทราบเรื่องละเอียดก็เห็นมูลดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ดูไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นชื่ออย่างฝรั่งเลย การเซ็นชื่อทางเราเป็นธรรมเนียมมาแต่ฝรั่งแน่ เซ็นชื่อกันแต่ก่อนก็เห็นเซ็นเป็นหนังสือฝรั่งกันทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ชื่อฝรั่งอย่างพระเจ้าปูยี ตรานากนั้นได้เคยเห็นทั้งดวงตราทั้งลายประทับกับทั้งตัวเจ้าของด้วย “ตราหมู่” เมื่อเกล้ากระหม่อมอยู่ในกระทรวงคลังก็เคยเซ็นตั้งเจ้าภาษีนายอากรเป็นปึกใหญ่ๆ ไม่มีที่จะทำตราเซ็นชื่อเลย อุตส่าห์เซ็นจนหมดสิ้น

๑๐) ดีอย่างยิ่ง ที่ได้ทราบความตามที่ตรัสบอกในคราวนี้ ว่าชาวละครนั้นเป็นพวกไทยลื้อ กวาดครัวเอาลงไปไว้แต่แผ่นดินสมเด็จพระราเมศวร เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๗ ที่ว่าเอาลงไปไว้จันทบุรีนั้นไม่ถูกแน่ ฟังชาวจันทบุรีพูดทั้งเสียงทั้งสำนวนไม่ใกล้ชาวละครเลย

๑๑) จนใจที่ได้เขียนหนังสือมากราบทูล เรียกพระยาวจีสัตยารักษ์ว่า “พระยาป๊อกเจี๊ยก” เพราะไม่ทราบว่าแกเป็นพระยาอะไรแน่ แกเปลี่ยนชื่อในตำแหน่งมาหลายทอดแล้ว จำได้ว่าแกเคยเป็นหลวงกำจัดไพรินทร์มาก่อน แต่ก็นานเต็มทีแล้ว หาควรที่จะเก็บเอามาเรียกแกไม่ เรื่องป๊อกเจี๊ยกนั้นก็ได้ความชัดดีขึ้นอีกมาก ว่าแกได้ยินสัตว์มันร้องเช่นนั้นเมื่อคราวนำเรือขึ้นไปรับเสด็จที่เมืองเพชรบูรณ์

๑๒) ทำเลเมืองระนองและคลองกระ ตามที่ทรงพระเมตตาโปรดอธิบายให้เข้าใจนั้น เข้าใจแจ่มแจ่งดีขึ้นมาก ปากจั่นนั้นเป็นอ่าวกว้างไม่ใช่น้อย ทั้งลำแม่น้ำก็ไม่ใช่ตื้นเร็ว เรือใหญ่เข้าไปได้ไกลมาก

๑๓) หนังฉายเรื่อง “หมอไซโคลปส์” นั้น ได้สั่งหญิงอี่แล้วว่า ถ้าเขาเอาเข้าไปฉายในกรุงเทพฯ เมื่อไรให้บอกด้วย อันหนังฉายนั้นลูกหลานไปดูกันอยู่บ่อยๆ กลับมายกย่องว่าเรื่องนั้นดีเรื่องนี้ดี แต่เกล้ากระหม่อมก็หาได้ตามไปดูไม่ ด้วยความสนุกสนานอะไรมันก็ออกจะพอๆ เสียแล้ว ทั้งนั้นก็รู้ได้ว่าเป็นเพราะความแก่ ออกจะ “ลงกระไดสามขั้น” เจ้าพระยาเทเวศร์ท่านถือเป็นศีลไปเสียอีก ว่าเมื่ออายุมากแล้ว สิ่งสนุกสนานอะไรไม่ควรดูทั้งสิ้น แต่เกล้ากระหม่อมไม่ได้เชื่อถือเช่นนั้น มันขี้เกียจไปในตัวเอง หนังเรื่องที่ตรัสแนะนำไปนั้น ถ้าเขาเอาเข้าไปฉายในกรุงเทพฯ ก็จะพยายามไปดู

ข่าว

๑๔) เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ ถึงอสัญกรรมเสียแล้ว เมื่อวันที่ ๒๐ ในใบดำว่าเป็นโรคชรา หัวใจพิการ กำหนดอาบน้ำศพวันที่ ๒๑ เวลา ๑๙ นาฬิกา เข้าใจว่าเกินเวลาที่ควรไปด้วยติดกฐินหลวง

เกล้ากระหม่อมไปอาบน้ำศพท่านเสียแต่เวลา ๑๗.๔๕ นาฬิกา เรือนของท่านในที่อาบน้ำศพไม่เคยได้เข้าไป มีการต้องขึ้นจันลงจันหลายชั้นหลายเชิงไม่สมกับที่จะเป็นเรือนคนแก่อยู่เลย ความเป็นเช่นนั้นขัดกันกับวิธีอาคิเตกซึ่งฝรั่งเขาบอกด้วย เขาสอนว่าจะคิดเรือนแล้วควรคิดให้เป็นพื้นเดียวกันมากที่สุดจะเป็นได้ จะได้ความสะดวกที่ไม่ต้องปีนลงบ่อยๆ หลบหลีกการสะดุดสเด่าได้มาก แล้วซ้ำสอนว่าวังของแขกเป็นแปลนดีแม้เข้าไปถึงห้องกลาง ถ้าเปิดประตูไว้ก็เห็นไปได้ตลอดทั้งหลัง แต่ตามที่เขาสอนนั้นก็สรรเอาที่ดีมาสอน เราจะทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเราทำติดต่อกันไปทีละคราว ตามแต่กำลังจะทำได้ แต่ก็ควรระวังทำไม่ให้ต้องขึ้นลงบ่อยๆ

พูดถึงปลูกเรือนติดต่อ ได้ไปเห็นที่วัดเล่งเน่ยยี่เขาปลูกดีมาก เป็นวิหารหลังเล็กๆ เพียงสามห้องห้าห้อง ปลูกติดต่อให้เดินถึงกัน แล้วมีชาลาหน้าวิหารเป็นคอกสี่เหลี่ยมตั้งต้นไม้กระถาง เห็นเข้าแบบเรือนไทยอยู่มาก ตั้งใจจะจำเขาแต่ก็ท้อใจเสียว่าเป็นความคิดทางประเทศจีนอันเป็นประเทศหนาว เราจะจำทำตามไม่ได้ บังลมร้อนแทบตายจึ่งไม่จำเอามา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ