วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

รถไฟเข้าถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ เขานำลายพระหัตถ์ซึ่งลงวันที่ ๑๓ มิถุนายนไปส่ง เรียบร้อยและเหมือนเคย ไม่มีอะไรแปลกไปทุกอย่าง จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์นั้นลางข้อต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

เรื่องโบสถ์ ทำให้บังเกิดความดีใจ ในข้อที่ทรงพระดำริลงกันว่า สถานที่ติดกับพระเจดีย์นั้นเป็นที่ประชุมนมัสการและทำบุญมาก่อน เกล้ากระหม่อมเคยคิดเห็นว่าเมื่อหลังเดียวไม่พอก็ทำเพิ่มขึ้นเป็นสองหลัง เอาไว้ตรงกันข้าม เมื่อสองหลังไม่พอ ก็ทำเพิ่มขึ้นเป็นสี่หลังเอาไว้สี่ทิศ อย่างที่มีพระระเบียงล้อมก็เป็นความคิดอย่างเดียวกัน ทีหลังจึงเอาที่นมัสการสี่ทิศประสมกับพระระเบียง จึงเป็นวิหารทิศประกอบด้วยพระระเบียง แต่การแก้ที่นมัสการเป็นโบสถ์นั้นยังไม่เคยคิดเป็นได้จริงๆ อย่างง่ายๆ ไม่ต้องทำอะไรนอกจากผูกเสมาขึ้นล้อมเท่านั้น

ธาตุเจดีย์นั้น มีมานานแล้วก่อนพุทธกาล จะฝังกระดูกใครก็ได้ มักทำในที่สาธารณะไม่เกี่ยวแก่วัด เช่นพระเจดีย์กลางเมืองย่างกุ้งก็มีอยู่ในกลางทางสี่แพร่ง ทั้งนี้ก็ต้องกับพระดำริซึ่งแบ่งออกเป็นพุทธาวาสและสังฆาวาส ตลอดจนทรงพระดำริแปลชื่อวัดสังกวาดนั้นด้วย เกล้ากระหม่อมเคยคิดว่า พระสงฆ์เข้าไปตีคลุมเอาพระธาตุเป็นวัด ก็เพราะเข้าไปหากินที่พระธาตุ ด้วยมีสัปปุรุษไปประชุมไหว้พระธาตุและทำบุญอยู่มาก ความคิดอันนี้ก็มิใช่เหลวไหล มีตัวอย่าง เช่นพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช แต่ก่อนก็ไม่เป็นวัด เดี๋ยวนี้กลายเป็นวัดไปแล้วด้วยมีพระสงฆ์เข้าไปอยู่ อีกอย่างหนึ่งชื่อ “วัดหน้าพระธาตุ” ก็ยังบ่งให้เห็นอยู่ว่า มีสังฆาวาสต่างหากอยู่หน้าพระธาตุ พระธาตุเป็นพุทธาวาส ไม่เกี่ยวแก่วัด โบสถ์ที่พระธาตุนครศรีธรรมราชนั้น มีคนพูดกันว่ากรมศักดิ์สร้าง แต่เห็นไม่จริง ไปครั้งก่อนตอนสมเด็จชายทรงซ่อม ได้เห็นทวยใหญ่ด้านหน้าเพราะว่างดไม่ทำเสาเห็นจะกลัวกีด นั่นก็เป็นผิดที่กับครั้งกรมศักดิ์ไปมาก แล้วไปคราวหลังก็ไปเห็นรูปช้างสามเศียรสำหรับพระอินทร์ทรง แต่ไม่มีองค์พระอินทร์ เพราะฉลักด้วยไม้ผุขาดหายไป ไม่อยู่บริบูรณ์ เขาเก็บเอาไปไว้ที่ฐานโพธิ์ ถามเขาบอกว่าหน้าบรรพ์เก่าแห่งโบสถ์ ช้างนั้นที่งวงฉลักเป็นดอกไม้ เห็นก็เข้าใจได้ว่าเขาตั้งใจทำเป็นลาย ไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างสามเศียรจริงๆ ทั้งสองอย่างเห็นเป็นเก่าก่อนครั้งกรมศักดิ์ โบสถ์หลังนั้นจะต้องสร้างมานานแล้ว แต่การที่มีโบสถ์ก็ไม่ใช่เป็นการแสดงว่ามีพระอยู่ จะสร้างไว้สำหรับมีงานเช่นโบสถ์วัดพระแก้วก็ได้ แต่คงเป็นสร้างทีหลังไม่ใช่คราวเดียวกับสร้างพระธาตุ ด้วยโบสถ์นั้นก็ตั้งอยู่ห่างไกลจากองพระธาตุไม่เกี่ยวกัน ในการที่ทูลกระหม่อมของเราทรงถอยหลังเข้าคลองนั้น ก็อยู่ในความสังเกตเห็นอยู่แล้วไม่ผ่านไป จะจำไว้ว่าฝ่าพระบาททรงวินิจฉัย ว่าที่เอาโบสถ์เป็นประธานแห่งวัดทั้งหลายนั้น เกิดขึ้นในชั้นปลายกรุงเก่า

จะกราบทูลซ้ำเติมในเรื่องบวช เราบวชกันสามเดือนสึก ก็เป็นประเพณีที่ชินกันไป แต่ได้สังเกตพระจีนพระญวนเห็นไม่เป็นเช่นนั้น จึงได้ถามพระจีนวงศ์สมาธิวัตร (พระอาจารย์แมว) ว่าทางพระข้างจีนมีข้อบังคับหรือว่าบวชแล้วสึกไม่ได้ ท่านบอกว่าไม่มี แต่เป็นประเพณีที่บวชแล้วสึกนั้นเขาอายกัน มีเหมือนกันที่บวชแล้วสึก แต่เขาไปสึกกันในประเทศอื่น ซึ่งประเทศนั้นไม่รู้ว่าเขาผู้นั้นได้บวชมา ทานบอกว่าการบวชทางข้างจีนเขาเลือก ผู้ที่จะบวชย่อมเข้าไปรับใช้ในวัดก่อน ปฏิบัติพระพุทธพระสงฆ์ มีการจัดปักธูปเทียนให้เรียบร้อย กับทอดเบาะถวายพระสงฆ์และสัปปุรุษซึ่งไปไหว้พระ ทั้งปัดกวาดพุทธาวาสให้สะอาดด้วย (ทั้งนี้ ก็ตรงกับทางพระพุทธศาสนาซึ่งเรียกว่า “สิกขามานา”) เมื่อเห็นทนได้ดีและมีใจสมัครจะบวช ก็ให้บวชเป็นเณรก่อน เมื่อเห็นเรียบร้อยและมีใจสมัครจะบวชเป็นพระก็บวชให้ เพราะเหตุเช่นนั้น พระจีนจึงไม่ใคร่มีสึก ท่านว่าผิดกันกับทางไทยใครๆจะบวชก็บวชให้ บวชแล้วก็สึกกันเป็นจ้าละหวั่น ท่านพูดดังนี้เกล้ากระหม่อมรู้สึกอายท่าน เราเสียทีที่มีประเพณีว่าอายุครบแล้วก็ต้องบวช ถ้าไม่บวชก็เป็นคนดิบแม้ใครคิดไปในทางที่ควรก็ถูกญาติเคี่ยวเข็ญด้วย ซุดลงที่ตรงนี้ จะทรงสังเกตได้ในคำว่า “ศึก” นั่นคือศึกษา บวชเพื่อศึกษา เหมือนที่ตรัสว่า เข้ามหาวิทยาลัย แต่ “บุญ” เข้ามาค้ำอยู่ทำให้เข้าใจผิดไปหมด ผู้บวชไม่มีใจสมัครก็ต้องบวช แต่ก่อนนี้บวชไม่ต้องเรียนก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้วัดใหญ่ในพระนครจะเป็นดังนั้นไม่ได้ ท่านบังคับให้เรียนนับว่าดีขึ้น

เรื่องพระมหาภุชงค์กลับ ฟังเรื่องราวซึ่งตรัสเล่าก็เบาใจที่ไม่ใช่พระของเราทำผิดอันใด เรื่องดูไม่ควรจะยากเลย อยู่ในที่ของเขา แม้เจ้าของที่จะเป็นใครก็ตามไม่เต็มใจให้อยู่ ท่านผู้จัดส่งให้ไปอยู่ก็ควรเรียกถอนออก ส่วนองค์พระนั้นไม่สำคัญ เธอสะดวกใจจะอยู่ที่ไหนก็ได้ เป็นอันพ้นจากความรับผิดชอบของท่านผู้จัดส่งสิ้นแล้ว

พระดำรัสเล่าเรื่องทรงได้ยินพระสวดมนต์ที่พระนครวัด น่าเสียดายที่ล้มละลายเสียทรงตามไม่พบ เขมรเขามีทำนองแปลกๆ ซึ่งน่าเอาใจใส่อยู่ การสวดมนต์กระทุ้งไม่ใช่แต่ภาณยักษ์ สวดอะไรๆ กระทุ้งกัน เกล้ากระหม่อมก็เคยได้ยิน ฝ่าพระบาทคงทรงระลึกได้ถึง “ขรัวทุม” ท่านจะเป็นอะไรก็ไม่ทราบ นั่นเป็นบรมกระทุ้งอย่างเอก พวกเราสนุกกันนาก สุเร สุรัม เกล้ากระหม่อมไม่เคยได้ฟังนักสวด แต่เคยได้ฟังเทศน์มหาชาติ ว่า “ฝูงเทพยดาก็มาโล้สำเภาพระพุทธโฆษา ก็กล่าวเป็นอัตถะพระคาถาว่าดังนี้ สุเร สุรา สุเรสุรรีสุรัมยำสาหร่ายกับมะละกอ” ว่า “อั้วลิไม่ฮ้อขื่อติกอล้าย” เลือนเหลวเป็นตลกไปดังนี้ ทราบเหมือนกันว่ามีเรื่องเป็นหลักฐานเป็นหนังสือ แต่จับไม่ติดว่าอยู่ที่ไหน เมื่อตรัสบอกตำแหน่งก็ดีแล้วจะให้ไปหามาดู ฉบับที่บ้านไม่มี

ท่านเจ้าน่วมนั้นเกินกว่าจะรู้จัก ชอบกันเสียด้วย ไม่ใช่แต่เทศน์ใช้ทำนองเก่าดีเท่านั้น แม้เนื้อความที่ท่านเทศน์ก็แต่งดีเสียด้วย เกล้ากระหม่อมชอบมากกว่าที่แต่งกันสมัยใหม่อย่างทุกวันนี้ไปเสียอีก

ตามที่ตรัสเล่าถึงเรื่องขุนทิพบุรารักษ์ กราบบังคมทูลแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในรัชกาลที่ ๕ เอา ร เป็น ล แล้วตรัสว่าอย่างไรนั้นจับใจเป็นอันมาก แม้แต่ก่อนที่มีพูดตัว ร เจือ ว นั้นก็ยังรู้ได้ว่าเป็นตัว ร ดีกว่าที่พูด ร เป็น ล, ล เป็น ร มาก การใช้อักษรไขว้เขวนั้นเลวมาก ต้องปรับว่าโง่เขลาไม่รู้จักภาษาของตน

แต่ภาษานั้นสังเกตได้ว่าสำคัญที่ความ ไม่ใช่สำคัญที่อักษร ดูแต่หม่อมเจ้าพรประสิทธิ์ พูดได้แต่ตัว อ ตัวเดียวก็ยังคุยกันไปได้ เพราะฉะนั้น การพูดหรือเขียนหนังสือผิดจึงไม่ได้ทำให้เข้าใจผิดไป กลับแสดงให้เห็นปรากฏว่า ผู้พูดหรือผู้เขียนนั้นบกพร่อง ยังเรื่องวรรณยุกต์นั้นก็อีก สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณตรัสเล่าว่า เสด็จไปนครศรีธรรมราช เขามาทูลอะไรแก่ท่านเสียงดังโช้งเช้งไปอย่างหนึ่ง แต่ครั้นเขาเขียนหนังสือมาถวายก็ถูกต้องหมดทุกอย่าง เป็นเหตุให้ทรงสงสัยในพระทัย ว่าเขาสังเกตเอาอะไรต้องตรัสถาม เขาทูลว่าจำเท่านั้นเอง ว่าชาวบางกอกเขียนคำไรใช้ไม้อะไร จึงตระหนักพระทัยได้ว่า วรรณยุกติ์สำหรับเขียนเสียงชาวบางกอกเท่านั้นเอง ไม่ใช่สำหรับเขียนเสียงคนไทยทั่วไป ในเรื่องเหล่านี้ทำให้เกล้ากระหม่อมตระหนักใจว่า ที่คิดจะเขียนหนังสือให้เป็นบรมถูกนั้นเป็นพ้นวิสัยที่จะทำได้ เพราะว่าเราอ่านสัปปลับไปเสมอ เอาแต่หมิ่นๆ เช่นคำว่า “ราช” ลางแห่งฐานว่า “ราดชะ” ลางแห่งอ่านว่า “ราชะ” ลางแห่งอ่านว่า “ราด” เฉยๆ “หราด” ก็มี จะบอกถี่ถ้วนไปได้อย่างไร เรื่องอื่นก็มีอีก สมเด็จชายตรัสเล่าว่า ได้ตรัสเรียกเด็กมาอ่านหนังสือซักซ้อมถวาย ถึงคำว่า “มณฑป” เด็กอ่าน “มนทบ” จึงตรัสสอนว่า ฑ หยักอ่านเป็นเสียง ด อีกประเดี๋ยวเดียวก็มีคำ “ไพฑูรย์” เด็กอ่านถวายว่า “ไพดูน” ตรัสว่าเล่นเอาพูดไม่ออก

เรื่องยาฉีดปลวก ที่ในกรุงเทพฯ ก็มีบริษัทเข้าไปตั้งทำแล้ว แม่โตก็ได้ไปจ้างให้มากำจัดปลวกที่ตึกถนนราชวงศ์ เพราะผู้เช่าห้องขายผ้าร้องขอลดราคาค่าเช่าว่าปลวกกินผ้า เห็นว่าจะลดค่าเช่าก็เป็นการต้องเสียเสมอไป จึงไปจ้างเขามากำจัด ซึ่งเป็นการต้องเสียคราวเดียว ซ้ำกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ก็ได้เล่าให้ฟังอีกด้วย นั่นปลวกขึ้นกินกระดาษโรงพิมพ์ของเธอที่เก็บไว้ ต่างก็เป็นผลสำเร็จไปทั้งนั้น

ถวายพระพร

หนังสือนี้ ตามกำหนดก็จะมาถึงพระหัตถ์ตรงด้วยวันประสูติ ขอถวายพระพรมาพร้อมด้วยญาติทั้งบ้าน ขอให้เจริญพระชันษาได้เป็นที่พึ่งแก่บรรดาพระญาติทั้งหลาย สรรพภยันตรายใดๆ อย่าได้มีมาแผ้วพาน ทรงพระเกษมสำราญเป็นนิจเถิด

ทูลถาม

เกล้ากระหม่อมถูกเขาถามว่า พระราชยานถม กับ พระราชยานทองลงยาเป็นของทำขึ้นในรัชกาลใด เกล้ากระหม่อมทราบไม่ดี ตอบเขาไม่ได้ถนัด จึงกราบทูลถามมาที่ฝ่าพระบาทโดยหวังว่าจะได้ทรงทราบดีกว่า พระราชยานถมนั้น เป็นถมละคร หรือพระยาเพชรพิชัยอธิปไตย ฯลฯ ทำ ส่วนพระราชยานทองลงยานั้นทำในรัชกาลที่ ๕ แน่ แต่ใครเป็นผู้ทำหาทราบไม่

ปกิรณกะ

สมุด “กามนิต” ขออุปลีสาณเขาได้มาแล้ว ให้หญิงอามจัดมาถวายโดยทางไปรษณีย์วัตถุ แต่ก็พอดีที่หม่อมเจิมไปลา ว่าจะออกมาเฝ้าฝ่าพระบาทที่ปีนัง หญิงอามจึงฝากมาถวายด้วย.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ