วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ถึงวันจันทร์ที่ ๗ ตุลาคมแล้ว ลายพระหัตถ์เวรที่ควรจะถึงปีนังในคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๓ ยังไม่มาถึงมือหม่อมฉัน คงตกค้างอยู่ที่กลางทางแห่งใดแห่งหนึ่ง

ถวายปริศนา

๑) เมื่อเมล์มาคราวก่อน หม่อมฉันได้สมุดบทเห่เรือมาจากกรุงเทพฯ เอามาอ่านดูเห็นน่าพิจารณาในทางโบราณคดี ดังจะทูลต่อไป

ประเพณีเห่เรือกระบวนหลวง เสด็จพยุหยาตรามีมาแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ข้อนี้รู้ได้ด้วยมีในบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ว่า

เรือครุฑยุดนาคหิ้ว ลิ่วลอยมาพาผันผยอง
พลพายกรายพายทอง ร้องโหเห่โอ้เห่มา”

แต่บทเห่เรือที่ตั้งเป็นตำรา และใช้เห่เรือกระบวนหลวงในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ มีบทเห่เรือกระบวนหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยาบทเดียวเป็นบทสั้นๆ เรียกว่า “สวะเห่” เป็นภาษาไทยปนกับภาษาอะไรก็ไม่รู้ ขึ้นต้นว่า “เห่แลเรือ” ลงปลายว่า “โอว โอว” ใช้เห่เมื่อเวลาเรือพระที่นั่งจะถึงท่า เราเคยได้ยินมาด้วยกัน บทเห่นอกจากนั้นเดิมเป็นบทเห่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ทรงแต่งสำหรับเห่เรือที่นั่งของท่านเอง มิใช่บทหลวง ความในบทเห่ก็ไม่เข้ากับจะเห่เรือกระบวนหลวง เห็นได้ว่าเพิ่งเอาเข้าใช้เป็นบทเห่เรือกระบวนหลวง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ และมีเค้าว่าจะเพิ่งใช้เมื่อรัชกาลที่ ๔ ด้วยซ้ำไป เพราะใน “โคลงพยุหยาตราพระกฐิน” ซึ่งกรมเสด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงพระนิพนธ์เมื่อรัชกาลที่ ๓ ไม่มีกล่าวถึงเห่เรือเลย ถ้ามีเห่เรือคงต้องกล่าวถึง

บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์นั้น ความบ่งชัดว่า บทเห่ชมเรือกระบวนและชมปลาชมนกชมไม้ ทรงแต่งสำหรับเห่เรือเมื่อตามเสด็จขึ้นพระบาท ด้วยมีความชัดว่าออกจากพระนครแล้วเวลาเช้าเวลาเย็นก็ถึงท่าเจ้าสนุก ส่วนบทเห่เรือสังวาสนั้นเอาความขำที่มีในพระหฤทัยมาแต่ง คงต้องเห่เรือแต่เวลาเสด็จเที่ยวประพาส เช่นเล่นทุ่งโดยลำพังพระองค์ ถึงบทเห่เรือที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ ทั้งเรื่องชมกับข้าวของกินและเรื่องสังวาส ก็คงทรงแต่งในรัชกาลที่ ๑ สำหรับเห่เรือเสด็จประพาสเล่นโดยลำลอง เอามารวมเข้าเป็นตำราเห่เรือพร้อมกับบทของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์

กระบวนเห่เรือ สังเกตตามชื่อที่บอกไว้ในตำราข้างหน้าบท ประกอบกับที่ได้เคยเห็นลักษณะพายเรือเข้ากับเห่ ดูมี ๓ อย่าง เรียกว่า สวะเห่ (น่าจะมาแต่คำศิวะ) อย่าง ๑ “ช้าลวะเห่” อย่าง ๑ และ “มูละเห่” อย่าง ๑

บทสวะเห่เป็นบทชั้นเดิม น่าจะมีมาเก่าแก่มาก จึงคัดลงไว้ในจดหมายนี้เต็มสำเนา

๏ เห่แลเรือ เหละเห่เห เห่โหวเห่โห เหโหวเหเห เห่เหเห่เหเห่ โอละเห่

๏ สาละวะเห่ โหเห่เห เหเห่ เหเห่เห โอละเห่

๏ ช้าละวะเห่ เหเห่ เห่เหเห่ โอละเห่ เจ้าเอยก็พาย พี่ก็พาย พายเอยลงพายลงให้เต็มพาย โอวโอวเห่

๏ ช้าละวะเห่ โหเห่เห เหเห เหเห่เห โอละเห่ มูละเห่ มูละเหเห่เห้ โอเห้มาลา โอเห้เจ้าข้า โอเห่เจ้าข้า มาราไชยโย สีเอยไชย สีไชยแก้วเอย ไชยแก้วเอย ไชยแก้วพ่อเอย โอวโอว

สังเกตดูมีคำที่เรียกชื่อเห่อยู่ในบทสวะเห่นี้ทั้ง ๓ อย่าง คือ “สาวะเห่” (สวะเห่) “ช้าลวะเห่” และ “มูละเห่” น่าสงสัยว่าบทเห่เรือเดิมที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ว่า “โหเห่โอ้เห่มา” จะเป็นบทสวะเห่นี้เอง เดิมเห็นจะยาวกว่านี้ และอาจจะมีภาษาสังสกฤตปะปน แต่หากขาดวิ่นแปรแปร่งมาโดยลำดับ ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๔) จึงเอาบทเห่ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ใช้เห่เรือกระบวนหลวง

ชื่อเห่ ๓ อย่างนั้น สวะเห่เห็นจะเป็นคำบูชา ช้าลวะเห่ เช่นด้วยบทว่า “พระเสด็จโดยแดยชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” พายจังหวะช้าสำหรับพายเอางาม เมื่อเรือล่องน้ำ มูละเห่ เช่นเห่ด้วยบทว่า “พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์” พายจังหวะเร็ว สำหรับพายทวนน้ำ ลักษณะเห่เรือน่าจะเป็นเช่นนี้ ขอให้ทรงพิจารณาดู

หม่อมฉันเขียนจดหมายเวรฉบับนี้รู้สึกว่าสั้นไป เพราะไม่ได้รับลายพระหัตถ์ไม่มีเรื่องทูลสนองเหมือนเช่นเคย จึงถวายแถมนิทานโบราณคดีมาทรงอ่านเล่นอีกเรื่อง ๑

๒) พอเขียนจดหมายหมดเรื่องเวลาเที่ยงวันจันทร์ที่ ๗ พนักงานไปรษณีย์ก็เอาลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑ ตุลาคม มาส่ง คราวนี้ซองเรียบร้อยดีไม่มีรอยเปิดที่ปีนัง ที่ถูกเปิดมา ๒ ฉบับเห็นจะเป็นด้วยเปลี่ยนตัวผู้ตรวจ เมื่อหม่อมฉันอ่านลายพระหัตถ์แล้วคิดเห็นว่าไม่มีเวลาจะคิดเขียน สนองลายพระหัตถ์ฉบับนี้ให้ทันกำหนดทิ้งไปรษณีย์ได้ เพราะฉะนั้นขอประทานรอไว้ทูลสนองในสัปดาหะหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ