วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๙ เมษายน มาถึงหม่อมฉันแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๓ เวลาเช้า

ทูลสนองความที่ค้างมาจากจดหมายฉบับก่อน

เมื่ออ่านลายพระหัตถ์ตรัสถามเรื่องพระเจดีย์ ๓ องค์ ตรงที่ต่อแดนพม่า หม่อมฉันนึกได้ว่าเคยเห็นเรื่องสร้างพระเจดีย์นั้นในหนังสือพระราชพงศาวดาร แต่เมื่อไปค้นดูได้ความว่าเป็นแห่งอื่นต่างหาก มีเรื่องว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี กองทัพในกระบวนตามเสด็จไม่ทันหลายกอง สมเด็จพระนเรศวรฯ จะให้ประหารชีวิตพวกนายทัพเหล่านั้น แต่สมเด็จพระวันรัตทูลขอชีวิตไว้ จึงโปรดให้พวกที่มีความผิดไปตีเมืองทวายและเมืองตะนาวศรีแก้ตัว เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพไปตีเมืองทวาย พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพไปตีเมืองตะนาวศรี เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๖ ตีได้เมืองทั้ง ๒ นั้น แล้วกองทัพเจ้าพระยาจักรียกกลับมาจากเมืองทวาย “ด่านขมองส่วย” ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า

“ถึงตำบลเขาสูงช่องแคบแดนพระนครศรีอยุธยากับเมืองทวายต่อกันหาที่สำคัญมิได้ จงให้เอาปูนในเต้าไพร่พลทั้งปวงมาประสมกันเข้าเป็นใบสอก่อพระเจดีย์ฐานสูง ๖ ศอก พอ (ชั่ว) หุงอาหารสุกก็สำเร็จ แล้วยกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา” ดังนี้

เรื่องนี้แม้มิใช่พระเจดีย์ ๓ องค์ที่ตรัสถาม ก็เป็นเค้าเข้ากับวินิจฉัยที่จะทูลต่อไปข้างหน้า จึงคัดเอามากล่าวไว้ ส่วนพระเจดีย์ ๓ องค์นั้น เมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เคยพรรณนาลักษณะให้หม่อมฉันฟัง ว่าดูรูปทรงสัณฐานเป็นแต่กองก้อนหินยิ่งกว่าเป็นพระเจดีย์ และที่สร้างพระเจดีย์ ๓ องค์นั้น ก็สร้างในแดนไทยห่างเข้ามาจากต้นเขาที่ต่อแดนพม่า ได้ฟังเล่าอย่างนั้น หม่อมฉันจึงมิได้พยายามไปดูพระเจดีย์ ๓ องค์ แต่เมื่อสักสองสามปีมานี้ พระองค์หญิงอดิศัยสุริยาภาได้เสด็จไปถึงพระเจดีย์ ๓ องค์ และฉายรูปมาประทานหม่อมฉัน (เสียดายที่ค้นหารูปนั้นไม่พบเมื่อเขียนจดหมายนี้แล้ว) พิจารณาดูในรูปฉายก็เห็นเป็นอย่างหินกองโดยจำนงจะให้เป็นรูปพระเจดีย์เช่นพระยากาญจนบุรีว่า หามีที่สังเกตว่าลักษณะจะเป็นพระเจดีย์อย่างใดไม่ แต่ก็ไม่น่าประหลาดใจด้วยสร้างในป่าเปลี่ยวใกล้ชายแดนเช่นนั้น ใครจะเอาช่างไปตั้งแรมทำอย่างประณีต แต่ตามคำเล่าของพระยากาญจนบุรีซึ่งว่าสร้างห่างแดนเข้ามาในแผ่นดินไทยนั้น ฟังเป็นหลักได้อย่างหนึ่งว่า พระเจดีย์ ๓ องค์เป็นของไทยสร้าง ถ้าหากไทยกับพม่าร่วมมือกันทำเป็นวัตถุที่หมายเขตแดนก็คงสร้างตรงสันเขาอันเป็นเขต ถ้าพม่าทำโดยลำพังก็คงสร้างในแดนพม่า นี่ไทยทำโดยลำพังจึงสร้างในแดนไทย แต่จะสร้างเมื่อใดและสร้างเพราะเหตุใดได้แต่พิจารณาและสันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ชอบกล ดังจะทูลต่อไปนี้

อันทางเดินในระหว่างเมืองมอญกับเมืองไทย (ภายใต้มณฑลพายัพ) มี ๒ ทางมาแต่ดึกดำบรรพ์ ทางสายเหนือเดินแต่เมืองเมาะตะมะมายังเมืองตาก ทางด่านแม่สอด (แต่โบราณเรียกว่าด่านแม่ละเมา) ทางสายใต้เดินแต่เมืองเมาะตะมะมายังเมืองกาญจนบุรี “ทางพระเจดีย์ ๓ องค์” นั้นมีหลักฐานปรากฏว่าใช้มาตั้งแต่สมัยเมื่อเมืองนครปฐมเป็นราชธานี เพราะมีปราสาทหินสร้างในสมัยนั้นปรากฏอยู่ที่เมืองสิงห์ทางแม่น้ำน้อย แขวงจังหวัดกาญจนบุรี และที่พงตึกแขวงจังหวัดราชบุรี อันอยู่ในระหว่างทางเดินสายนี้ แต่ทางสายเหนือเห็นจะมาใช้มากต่อเมื่อสมัยเมืองพุกามแผ่อาณาเขตเข้ามา ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีชาวเมืองที่สร้างในสมัยนั้นปรากฏอยู่หลายเมือง เช่นเมืองชากังราวและเมืองตากเก่าเป็นต้น ส่วนตั้งรายริมแม่น้ำพิงทางฝั่งตะวันตก เมื่อสมัยกรุงสุโขทัยคงไปมากับเมืองมอญทางด่านแม่สอดสายเหนือ เช่นเดียวกับเมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาไปมาทางพระเจดีย์ ๓ องค์เป็นพื้น ที่ว่ามานี้ส่อให้เห็นว่าพระเจดีย์ ๓ องค์คงเป็นของชาวกรุงศรีอยุธยาสร้าง

คราวนี้จะพิจารณาว่าสร้างพระเจดีย์ ๓ องค์เพราะเหตุใด ข้อนี้เผอิญหม่อมฉันพบโบราณวัตถุให้ความรู้ดังจะทูลต่อไปนี้

จะเป็นเมื่อปีใดจำไม่ได้ในรัชกาลที่ ๖ หม่อมฉันขึ้นไปเที่ยวมณฑลพายัพอีกครั้งหนึ่ง ขากลับมาทางเรือจากเมืองเชียงใหม่ ในเวลานั้นหม่อมฉันพ้นหน้าที่ในการปกครองแล้ว จึงเอาใจใส่แต่ในการตรวจของโบราณตลอดทางที่เรือล่องมา เมื่อลงมาถึงอำเภอเมืองฮอด (เมืองรอด) ซึ่งตั้งอยู่ที่ราบในแดนเชียงใหม่ ต่อเชิงภูเขาสูงซึ่งต้องเดินข้ามลงมาทางใต้ ทางเรือก็ต้องล่องผ่านแก่งในระหว่างภูเขา หลายวันจึงถึงที่ราบในอาณาเขตเมืองตาก หม่อมฉันขึ้นไปดูเมืองฮอดเห็นมีพระเจดีย์โบราณขนาดใหญ่ฝีมือทำอย่างประณีต สร้างรายอยู่ในตำบลเดียวกันหลายองค์ ดูราวกับว่าเมืองฮอดเคยเป็นเมืองใหญ่มาแต่ก่อน แต่เมื่อไต่ถามถึงภูมิลำเนา ปรากฏว่าไม่มีทำเลไร่นาที่จะทำให้พอเลี้ยงผู้คนพลเมืองอันเป็นเมืองใหญ่ได้ จึงคิดว่าพระเจดีย์งามๆ เหล่านั้น เห็นจะเป็นของเจ้านายที่ครองเมืองเชียงใหม่ สร้างด้วยเหตุอย่างอื่น ถามหาเหตุก็ไม่มีใครรู้ คิดก็ไม่เห็น จนมาพบโบราณวัตถุซึ่งไม่ได้คาดว่าจะมีที่เมืองตาก จึงได้เค้ามูลของการสร้างพระเจดีย์ที่เมืองฮอด

เมื่อหม่อมฉันลงมาถึงเมืองตาก นึกขึ้นถึงความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ เวลาประทับอยู่ที่เมืองตากเสด็จไปยังวัดดอยเขาแก้ว ตรัสถามพระสงฆ์ (เจ้าอธิการ) ว่ายังจำได้หรือไม่ เมื่อพระองค์ยังเป็นพระยาตากจะแปลงโคมแก้วทำเป็นพระเจดีย์ เสด็จไปอธิษฐานเสี่ยงทายที่วัดนั้น ว่าถ้าจะได้สำเร็จพระโพธิญาณในอนาคต ขอให้ต่อยจุกโคมขาด อย่าให้ตัวโคมแก้วร้าวรานบุบสลาย ก็เป็นได้ดังทรงอธิษฐาน พระถวายพระพรว่ายังจำได้อยู่ หม่อมฉันถามพวกกรมการถึงวัดดอยเขาแก้ว เขาบอกว่าเป็นวัดร้างอยู่บนเนินเขาแก้ว ทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำพิงตรงข้ามกับที่ตั้งเมืองตาก และที่ตั้งจวนของพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อเป็นพระยาตาก ก็ยังปรากฏอยู่ที่ตำบลสวนมะม่วงใกล้ๆ กับเชิงเขาแก้วนั้น หม่อมฉันจึงเข้าไปดู เห็นตรงที่ตั้งจวนเป็นแต่ที่ว่างไม่มีอะไร เดินต่อไปไม่ไกลนักก็ขึ้นเนินเขาถึงวัดดอยเขาแก้ว พอหม่อมฉันเห็นวัดก็เกิดประหลาดใจ ด้วยพระอุโบสถซึ่งยังเหลืออยู่แต่ผนัง ประตูหน้าต่างทำซุ้มจระนำอย่างแบบวัดหลวง ก็รู้ได้ในทันทีว่าเป็นของพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างเมื่อเสวยราชย์แล้ว มิใช่โบสถ์เดิมที่เสด็จไปทรงอธิษฐานเมื่อยังเป็นพระยาตาก พวกกรมการเขาบอกว่าที่ตามไหล่เขาดอยแก้วทางข้างใต้ยังมีวัดเก่าอีกหลายวัด หม่อมฉันก็เลยไปดูเห็นมีอยู่ ๓ หมู่อยู่ใกล้ๆกัน วัดสุดข้างเหนือเหลือพระเจดีย์กลม องค์ ๑ ขนาดสูงเมื่อบริบูรณ์เห็นจะราวสัก ๘ วา วัดที่อยู่กลางก่อเป็นแท่นสี่เหลี่ยมรีสูงสัก ๒ ศอกเศษ บนแท่นนั้นมีพระเจดีย์กลม ๒ องค์เคียงกัน ขนาดย่อมกว่าพระเจดีย์ที่กล่าวมาก่อน วัดอยู่สุดข้างใต้มีพระอุโบสถเป็นแบบวัดหลวงเช่นว่ามาแล้ว กับกำแพงแก้วล้อมรอบ พอเห็นกำแพงแก้วหม่อมฉันก็พิศวง ด้วยมีซุ้มโพรงสำหรับตั้งตะคันตามประทีป รูปร่างเหมือนอย่างที่ซุ้มที่พระราชวังเมืองลพบุรี รายรอบกำแพงแก้ว เห็นตระหนักว่าต้องเป็นวัดหลวงสร้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชวนให้เห็นต่อไปวัดที่อยู่แนวเดียวกันอีก ๒ วัด ก็น่าจะเป็นวัดหลวง ก็เกิดปัญหาว่า เพราะเหตุใดจึงไปมีวัดหลวงอยู่ที่เขาดอยแก้วเป็นหลายวัดเช่นนั้น หม่อมฉันคิดค้นแล้วไปสอบในหนังสือพระราชพงศาวดารจึงเห็นเหตุ ด้วยปรากฏว่าเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีได้เมืองเชียงใหม่ ๓ ครั้ง คือสมเด็จพระชัยราชาธิราช ตีได้เมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๑ ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๔ ครั้งหนึ่ง แต่ได้เมืองเชียงใหม่โดยมิต้องรบ เพราะพระเจ้าเชียงใหม่สารวดี ซึ่งเป็นราชบุตรของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองออกมาถวายบังคมยอมอ่อนน้อมโดยดี ต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ อีกครั้งหนึ่ง รวมเป็น ๓ ครั้งพอเหมาะกับจำนวนและสมกับลักษณะของวัดทั้ง ๓ ที่พรรณนามา เมื่อได้หลักเช่นนั้นก็อาจจะกล่าวต่อไปว่าที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสร้างอนุสรณ์ตามเยี่ยงอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินแต่ปางก่อนได้เคยทรงทำมาในกรณีเช่นเดียวกัน และยังเลยตีปัญหาได้ต่อไป ถึงพระเจดีย์ที่มีอยู่หลายองค์ ณ เมืองฮอดในแดนเชียงใหม่ ว่าพระเจ้าเชียงใหม่ตนใดที่ได้ลงมารบพุ่งหัวเมืองไทย มีชัยชนะกลับไปสร้างพระเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์เมืองฮอด อันเป็นเมืองปลายแดนเช่นเดียวกับเมืองตาก

คิดดูถึงมูลเหตุแห่งความประสงค์ซึ่งสร้างพระเจดียวัตถุเป็นอนุสรณ์ไว้ปลายแดนดังกล่าวมา เห็นว่าคงอยู่ใน ๓ อย่างนี้ คือความยินดีที่มีชัยชนะอย่างหนึ่ง ความยินดีที่ได้กลับบ้านเมืองโดยปลอดภัยอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าได้บนบานอธิษฐานไว้ก็เป็นการใช้บนด้วยอีกอย่างหนึ่ง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเป็นจอมพล เมื่อเสด็จกลับถึงพระนครก็ดำรัสสั่งให้คิดแบบอย่างสิ่งซึ่งจะสร้างเป็นอนุสรณ์ แล้วให้นายช่างเป็นข้าหลวงออกไปเป็นผู้ชี้แจงให้เจ้าเมืองกรมการสร้าง แต่ถ้าจอมพลหรือแม่ทัพที่ไปมีชัยชนะกลับมามิได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะทำเช่นนั้นไม่ได้ แต่ความยินดีที่มีชัยชนะและที่ได้กลับบ้านเมืองโดยปลอดภัย หรือที่ได้บนบานอธิษฐานไว้ย่อมมีอยู่ ก็ย่อมอยากสร้างอนุสรณ์ตามสามารถจะทำได้ จะมาทำเมื่อถึงบ้านเมืองผู้คนก็แยกย้ายกันไปหมด ต้องทำในเวลาที่ยังรวมอยู่พรักพร้อมกัน อันนี้เห็นว่าเป็นมูลที่ชักชวนกันให้เอาก้อนศิลามาก่อสร้างเป็นพระเจดีย์ไว้ ดังเช่นเจ้าพระยาจักรี ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสร้าง ณ ที่ต่อแดนเมืองทวาย พึงคิดเห็นโดยง่ายว่าพระเจดีย์เช่นเจ้าพระยาจักรีสร้างนั้นเป็นพระเจดีย์แต่ชื่อ แต่รูปสันฐานคงเป็นอย่างก้อนหินสูง ๆเท่านั้น เพราะไม่มีเวลาจะรั้งรออยู่ได้ช้า และไม่สามารถจะทำได้เมื่อภายหลังเช่นของหลวง พิเคราะห์อีกอย่างหนึ่ง เห็นว่าที่สร้างในแดนแผ่นดินไทย (เหมือนอย่างที่พระเจดีย์ ๓ องค์) คงตรงกับความยินดี หรือใช้บนที่ปลอดภัยกลับบ้านเมือง พอเข้าเขตแดนก็สร้างอนุสรณ์ใช้บน อาศัยวินิจฉัยที่พรรณนามา หม่อมฉันเห็นว่าพระเจดีย์ ๓ องค์นั้น ๑) มิได้สร้างเป็นเครื่องหมายเขตแดน ๒) มิใช่เป็นของหลวงสร้าง ๓) เป็นของแม่ทัพไทยที่ยกออกไปรบชนะพม่ากลับมาสร้างไว้ ๔) ที่สร้างเป็น ๓ องค์ คงเป็นเพราะกองทัพยกตามกันมา ๓ กอง กองมาถึงก่อนสร้างไว้องค์ ๑ แล้วกองมาถึงภายหลังก็สร้างกองละองค์เรียงกันต่อไป ๕) แต่จะสร้างเมื่อไรไม่มีหลักที่จะลงความเห็น เพราะจะมีพระเจดีย์ ๓ องค์อยู่ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร แล้วเจ้าพระยาจักรีจึงเอาอย่างไปสร้างที่ต่อแดนทวายก็ได้ หรือแม่ทัพภายหลังเอาอย่างพระเจดีย์ของเจ้าพระยาจักรีมาสร้างพระเจดีย์ ๓ องค์ก็เป็นได้เหมือนกัน

ที่กล่าวกันว่าพระเจดีย์ ๓ องค์รูปทรงเป็นพระเจดีย์มอญนั้น อาจจะเป็นเพราะธรรมดาการกองหิน ก้อนหินก่อเป็นพระเจดีย์ ต้องทำฐานกว้างรูปจึงคล้ายพระเจดีย์มอญก็ได้ หรือตกแต่งดัดแปลงเมื่อภายหลังก็ได้ เพราะเมื่อรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ให้พวกมอญไปตั้งระวังด่านทางอยู่มาก จัดเป็นเมืองขึ้นตั้งอยู่ทางแม่น้ำน้อย ๗ เมือง ถ้าหากพระเจดีย์ ๓ องค์พังทำลายในสมัยนั้น เปรียบว่าพม่ารื้อเสียเมื่อเข้าตีเมืองไทยคราวรบกันที่ลาดหญ้า หรือที่ท่าดินแดงเป็นต้น ก็อาจจะมีท้องตราสั่งให้พวกมอญ ๗ เมือง ไปก่อสร้างให้กลับคืนดี เพราะพระเจดีย์ ๓ องค์เป็นสิ่งสำคัญของชื่อที่เรียกทางสายนั้น พวกที่ไปทำการปฏิสังขรณ์เป็นมอญก็ก่อสร้างเป็นอย่างรูปพระเจดีย์มอญ อย่างนี้ก็เป็นได้เหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นยิ่งกว่าอย่างอื่น คือเมื่อรัชกาลที่ ๓ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี) เป็นแม่ทัพยกผ่านไปมาทางพระเจดีย์ ๓ องค์หลายครั้ง เจ้าพระยามหาโยธาอาจจะเป็นผู้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ ๓ องค์ ด้วยความศรัทธาหรือใช้บนก็เป็นได้ แต่เจ้าพระยามหาโยธาก็เป็นมอญ จึงปฏิสังขรณ์ตามเห็นงามอย่างมอญ ที่ว่านี้โดยมิได้เคยเห็นพระเจดีย์ ๓ องค์ด้วยตาตนเอง จึงได้แต่คาดคะเน

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

พระเกตุมาลาพระพุทธรูปนั้น หม่อมฉันเห็นว่าอธิบายในพระบาลีขัดกับธรรมชาติไม่น่าเชื่อ มีอธิบายของศาสตราจารย์ฟูแซ Foucher ฝรั่งเศส ผู้ที่ได้ไปตรวจตราโบราณเจดีย์ในอินเดีย และได้เอาใจใส่พิจารณาลักษณะพระพุทธรูปโดยเฉพาะ กล่าวไว้ดูเข้าทีดีกว่าอธิบายอย่างอื่นที่หม่อมฉันได้เคยได้ยินมา แกว่าประเพณีสร้างพุทธเจดีย์ชั้นแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐ เศาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชถือคติห้ามมิให้ทำพระพุทธรูป แม้จำหลักลายเป็นเรื่องพุทธประวัติก็ทำแต่รูปภาพคนอื่นๆ ตรงไหนต้องที่จะเป็นพระพุทธรูป ทำวัตถุอันใดอันหนึ่งเช่นพุทธอาสน์หรือพระธรรมจักรเป็นต้นแทนพระพุทธรูป ถือข้อห้ามมิให้กระทำพระพุทธรูปมาจนราว พ.ศ. ๕๐๐ ถึงสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาไปรุ่งเรืองในคันธารราษฎร์ข้างฝ่ายเหนือ (เดี๋ยวนี้คาบอาณาเขตอินเดียกับอาฟกานิสถานต่อกัน) มีพระเจ้าราชาธิราชเป็นพุทธศาสนูปถัมภก เช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราชทรงบำรุงในมัชฌิมประเทศมาแต่ก่อน ก่อสร้างพุทธเจดีย์ขึ้นในคันธารราษฎร์แพร่หลาย ก็ในคันธารราษฎร์นั้นมีพวกโยนก (คือฝรั่งชาติกรีกเดิมออกมากับกองทัพพระเจ้าอาเล็กซานเดอร์มหาราช แล้วเลยตั้งภูมิลำเนามีเชื้อสายสืบมา และเข้ารีตถือพระพุทธศาสนา) เป็นพลเมืองอยู่มาก มักมีช่างฝีมือดีสันทัดทำรูปภาพตามแบบกรีกอยู่ในพวกโยนกนี้ ชาวคันธารราษฎร์ไม่เคยถือคติข้อห้ามมิให้ทำพระพุทธรูปเหมือนอย่างชาวมัชฌิมประเทศ เมื่อจำหลักลายภาพเรื่องพุทธประวัติ จึงทำเป็นพระพุทธรูปตามตรง พระพุทธรูปเริ่มมีขึ้นในคันธารราษฎร์ก่อนที่อื่น ตำนานที่ว่ามานี้สมด้วยลักษณะพุทธเจดีย์ที่ตรวจพบในอินเดีย จึงรับเป็นยุติว่าถูกต้องด้วยกันหมด

คราวนี้วินิจฉัยของศาสตราจารย์ฟูแซ แกสันนิษฐานว่าเมื่อช่างโยนกคิดลักษณะพระพุทธรูปที่จะทำ เห็นจะเกิดลำบากใจ เพราะถ้าทำเป็นรูปสมณะก็จะเหมือนกับรูปภาพพระสาวก หามีที่สังเกตให้รู้ได้ในทันทีว่าเป็นพระพุทธรูปไม่ ช่างผู้คิดแบบจึงเอาความในเรื่องพุทธประวัติข้อที่ว่า “พระพุทธองค์เป็นกษัตริย์ เสด็จออกบรรพชาเป็นสมณะ” มาเป็นหลักทำพระพุทธรูป คือทำส่วนพระองค์ทรงครองผ้าอย่างสมณะ แต่ส่วนพระเศียรทำเป็นพระเศียรกษัตริย์ คือไว้พระเกศายาวเกล้ากระหมวดมุ่นไว้บนกลางกระหม่อม แต่ไม่ให้มีสิราภรณ์ประดับพระเกศาเหมือนอย่างกษัตริย์ที่เป็นฆราวาส พระพุทธรูปคันธารราษฎร์บางองค์ถึงทำไว้พระมัสสุก็มี เพราะถือว่าเป็นพระเศียรกษัตริย์ อย่างไรก็ดี ลักษณะพระพุทธรูปที่ช่างโยนกคิดขึ้นนั้นสำเร็จประโยชน์ได้ทั้ง ๒ สถาน คือถึงจะปะปนอยู่กับรูปภาพผู้อื่น พอแลเห็นก็รู้ได้ทันทีว่าพระพุทธรูป อีกสถาน ๑ ชอบใจคนทั้งหลายยอมรับเป็นแบบอย่างทั่วไปในคันธารราษฎร์ เมื่อพระพุทธรูปมีแพร่หลายลงมาถึงมัชฌิมประเทศ ก็เกิดความนิยมแก่คนทั้งหลายใคร่จะสร้างพระพุทธรูปล้าง แต่ชาวมัชฌิมประเทศไม่พอใจที่ชาวคันธารราษฎร์ทำพระเศียรพระพุทธรูปเป็นอย่างกษัตริย์ แต่จะแก้ให้เป็นพระเศียรโล้นตามจริงก็ติดขัดเช่นเดียวกับช่างคันธารราษฎร์ ที่พระพุทธรูปจะไปเหมือนกับรูปภาพพระสาวก ช่างชาวมัชฌิมประเทศจึงคิดแก้ไขทำให้พระเกศาสั้น แต่กระหมวดเป็นก้นหอยรวมเป็นทรงสูงบนกลางกระหม่อมคล้ายกับพระเมาลีแบบโยนก คงไม่กล้าเลิกเพราะคนทั้งหลายหมายพระเมาลีเป็นที่สังเกตพระพุทธรูปอยู่ทั่วไปแล้ว จึงเกิดพระเกตุมาลาขึ้น แต่ก็เป็นประโยชน์ดังปรารถนา

ที่พระคันถรจนาจารย์แต่งอธิบายว่า พระพุทธเจ้าไม่ต้องปลงพระเกศาเหมือนเช่นพระสาวก เพราะเส้นเกศาขมดเป็นทักษิณาวรรตเรียบอยู่กับพระเศียรเป็นนิจก็ดี หรือที่ว่าพระเกตุมาลาเกิดขึ้นด้วยอำนาจทรงสมาธิก็ดี เป็นเหมือนอย่างว่า “ขอไปที” เท่านั้น

ที่ทูลกระหม่อมทรงแก้ลักษณะพระพุทธรูปนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินว่าแก้เมื่อทรงสร้างพระสัมพุทธพรรณีในเวลายังทรงผนวชเป็นองค์แรก หม่อมฉันเคยพิจารณาดูพระสัมพุทธพรรณี เห็นว่าอาศัยพระรัศมีเป็นที่สำคัญที่ให้รู้ว่าพระพุทธรูป ถ้าถอดพระรัศมีออกเสียก็กลายเป็นรูปพระศรีอารย์ แต่ยังมีตัวอย่างอีกเรื่อง ๑ ที่เมืองลพบุรีมีรูปพระยืนทำด้วยศิลาทั้งแท่ง เป็นของโบราณองค์ ๑ ชาวเมืองเรียกว่า “แม่นางกษัตรี” (หรือขึ้นต้นว่ากระไรหม่อมฉันจำไม่ได้แน่) บอกว่าเป็นรูปนางภิกษุณีเพราะหัวโล้น หม่อมฉันคิดสงสัย จึงต่อตีนปีนขึ้นไปดูถึงกลางกระหม่อม เห็นรอยพระเกตุมาลาหักหายไปจึงรู้ว่าพระพุทธรูป พระองค์นั้นเดี๋ยวนี้อยู่ซุ้มมุมข้างนอกพระระเบียงวัดเบญจมบพิตร แห่ง ๑ เมื่อว่าโดยทั่วไป ความคิดที่เขาทำพระเมาลีหรือพระเกตุมาลาพระพุทธรูปน่าจะต้องชมว่าเป็นความคิดดี

หนังสือ “โบราณคติ” ซึ่งพิมพ์แจกในงานศพเจ้าหญิงเครือมาศวิมลนั้น หม่อมฉันก็ได้รับและอ่านต่อลายพระหัตถ์ฉบับนี้ สังเกตรายชื่อพระสงฆ์ที่พร้อมใจกันพิมพ์ช่วยชวนให้สัันนิษฐานว่าผู้แต่งน่าจะเป็นพระหนุ่ม ๆ ที่มีชื่ออยู่ในนั้น องค์ ๑ หรือ ๒ องค์ช่วยกันแต่ง แต่งดีแต่ความรู้วรรณคดียังอ่อน ควรชมได้แต่ว่าอุปนิสัยมีแววจะดีในการแต่งกลอน อ่านหนังสือโบราณคติแล้ว หม่อมฉันนึกขึ้นถึงความหลัง ที่หม่อมฉันได้เคยคิดค้นสุภาษิตไทยครั้ง ๑ ควรทูลบันเลงได้ แต่จะเขียนไม่ทันในสัปดาหะนี้ ทั้งจดหมายฉบับนี้ก็ยาวอยู่แล้ว จะรอไว้ทูลต่อเวรหน้า

ข่าวทางเมืองปีนัง

เวลานี้ฝนตกบ่อยๆ ที่ปีนัง เป็นอันพ้นลำบากเรื่องแล้งและร้อนจัดมาสัก ๓ เดือนนั้นแล้ว หญ้าร้องไห้ก็คลายโศก สังเกตดูก็ชอบกล เวลาแล้งมันแห้งเป็นสีเหลืองม้วนงอก่อ พอฝนเชยก็โงเงขึ้นและเปลี่ยนสี ลางต้นใบที่ใกล้โคนขยายตัวสีกลับเขียว แต่ตอนปลายยังเหลืองงอก่ออยู่ก็มี มันไม่ผลัดใบ เขาจึงเรียกว่าหญ้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ