วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม มาถึงหม่อมฉันแล้วโดยเรียบร้อย

สนองความในลายพระหัตถ์

๑. ชื่อที่เรียกว่า “ปากน้ำโพธิ์” นั้น พิเคราะห์ดูจะเป็นชื่อเรียกกันชั้นหลัง หม่อมฉันนึกไม่ได้ว่าเคยเห็นเรียกชื่อนั้นในหนังสือเก่า ที่ตำบลปากน้ำโพธิ์เองเขาก็เรียกลำน้ำพิงค์ว่า “แควน้อย” เรียกลำน้ำน่านว่า “แควใหญ่” หามีลำน้ำโพธิ์อยู่ที่ไหน ชื่อที่เรียกว่าลำน้ำพิงค์ในหนังสือเก่าก็เห็นเรียกแต่ในหนังสือซึ่งแต่งในอาณาเขตลานนา ดูจะหมายลงมาจนสุดแดนเชียงใหม่ต่อแดนสุโขทัยที่เมืองตากเท่านั้น คลองพิงค์ที่เป็นทางน้ำในระหว่างลำน้ำน่านกับลำน้ำยมนั้นเป็นคลองขุดมิใช่ลำน้ำเก่า แต่ลำน้ำแควน้อยกับแควใหญ่เห็นจะมาประสบกันใกล้ปากนำโพธิ์เดี๋ยวนี้ แต่ก่อนสมัยกรุงสุโขทัย จึงตั้งเมืองพระบางที่ตรงลำน้ำร่วมเมืองที่หลังตลาดปากน้ำโพธิ์เดี๋ยวนี้

จะทูลบรรเลงต่อไปถึงลำน้ำเก่า ซึ่งหม่อมฉันกับพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชคุปต์) ได้เคยเอาใจใส่พิจารณามามาก พระยาโบราณแกพิจารณาตอนกรุงศรีอยุธยา หม่อมฉันพิจารณาตอนอื่นๆ ลำน้ำต่างๆ ที่มาร่วมกันในเขตกรุงศรีอยุธยา ว่าตามที่ได้สังเกตเห็นมาแต่ “ขุน” คือยอดน้ำต่างกันมีถึง ๑๐ สาย ระบุเรียงแต่ทางตะวันออกไปหาตะวันตก

สายที่ ๑ ลำน้ำสัก ยอดน้ำมาแต่เขาปันน้ำกับแม่น้ำโขงข้างเหนือเมืองหล่มผ่านเมืองเพชรบูรณ์ เมืองวิเชียรบุรี (เดิมเรียกเมืองศรีเทพ) เมืองชัยบาดาล และเมืองสระบุรี แนวเดิมไปทางตะวันออกผ่านบ้านพระแก้วมาออกแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บ้านช่างข้างเหนือบางปะอิน ภายหลังจึงขุดคลองลัดทางนครหลวงเอาสายน้ำมาลงใกล้พระนครศรีอยุธยา

สายที่ ๒ จะเรียกว่าลำน้ำนครไทย ยอดน้ำมาแต่เมืองนครไทย แนวเดิมผ่านทางข้างหลัง (คือฝ่ายตะวันออก) เมืองพิษณุโลก ลงมาประสบลำน้ำน่าน ที่ปากน้ำเกยชัยอยู่เหนือปากน้ำโพธิ์ขึ้นไปไม่ไกลนัก ภายหลังถูกขุดคลองลัดมาต่อแม่น้ำน่านข้างเหนือเมืองพิษณุโลก น้ำมาไหลเสียทางนั้น ลำน้ำนครไทยเดิมตอนข้างหลังเมืองพิษณุโลกก็ตื้นเขินเลยหายไป

สายที่ ๓ ลำน้ำน่าน ต้นน้ำมาแต่เขาปันน้ำกับแม่น้ำโขงในแขวงเมืองน่านผ่านเมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองพิชัย เมืองพิษณุโลกทางด้านตะวันตก เพราะเมืองพิษณุโลกมีลำน้ำน่านอยู่ทางด้านหน้า ลำน้ำนครไทยอยู่ทางด้านหลัง แต่เดิมจึงเรียกว่า “เมืองสองแคว” ลำน้ำน่านถูกขุดคลองลัด เรียกว่า “คลองเรียง” ไปต่อลำน้ำนครไทย สายน้ำไปเดินเสียทางนั้นเป็นเหตุให้ลำน้ำน่านเดิมตอนเมืองสระหลวง (คือ เมืองพิจิตรเก่า) ลงมาจนปากน้ำเกยชัยตื้นเขิน ถึงต้องย้ายเมืองพิจิตรไปตั้งที่คลองเรียง มีเรื่องปรากฏในพงศาวดารว่า ทูลกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรือกลไฟพระที่นั่งอัครราชวรเดชขึ้นไปเมืองพิษณุโลกเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ ขาเสด็จขึ้นไปน้ำยังมากเรือพระที่นั่งไปทางเมืองพิจิตรเก่าแต่ขาล่องน้ำลดต้องกลับทางคลองเรียง

สายที่ ๔ ลำน้ำยม ยอดน้ำมาแต่ภูเขาในมณฑลพายัพ ไหลผ่านเมืองแพร่ เมืองสวรรคโลก เมืองบางยม ลงมาประสบลำน้ำท่าแพข้างใต้เมืองสุโขทัย ลำน้ำยมถูกขุดคลองลัดที่เมืองเชลียง มาออกลำน้ำท่าแพน้ำมาไหลเสียทางคลองนั้น ลำน้ำยมเดิมตอนแต่เมืองสวรรคโลก ลงมาประสบลำน้ำท่าแพข้างใต้เมืองสุโขทัยเลยตื้นเขิน เรียกกันว่าลำน้ำยมเก่า เอาชื่อน้ำยมมาเรียกลำน้ำท่าแพ แต่เมืองเชลียงลงมาจนตลอดเขตเมืองสุโขทัย

สายที่ ๕ ลำน้ำท่าแพ (สงสัยว่าเดิมจะเรียกว่า “ลำน้ำเชลียง”) ยอดน้ำมาจากมณฑลพายัพมาผ่านเมืองเชลียงทางฝ่ายตะวันตก และผ่านเมืองสุโขทัยลงมาประสบแม่น้ำน่านตรงไหนหาทราบไม่

สายที่ ๖ จะเรียกตามชื่อปากน้ำว่า “ลำน้ำเชียงไกร” ยอดน้ำลงมาทางเมืองสุโขทัย แต่จะมาจากไหนยังหาทราบไม่ ได้เห็นแต่ตอนผ่านข้างหลังเมืองกำแพงเพชร มีเมืองโบราณเรียกว่าเมืองพาน อันมีชื่ออยู่ในศิลาจารึกสุโขทัย ตั้งอยู่ริมลำน้ำนั้น และมีเป็นแนวลงมาจนปากน้ำเชียงไกร (แต่เรียกกันที่เมืองนครสวรรค์ว่า “เชิงไกร”) ลำน้ำนี้ตื้นเขินหมดทั้งสาย

ลำน้ำแต่สายที่ ๒ จนสายที่ ๖ ที่พรรณนามานี้ล้วนมาประสบลำน้ำแควใหญ่ข้างเหนือปากน้ำโพธิ์ทั้งนั้น

สายที่ ๗ ลำน้ำพิงค์หรือแควน้อย ยอดน้ำมาแต่เขาปันน้ำกับแม่น้ำโขงในเขตเมืองเชียงใหม่และนครลำปาง มาประสบลำน้ำวัง อันตั้งเมืองนครลำปาง ที่เมืองตากเก่า รวมกันผ่านเมืองตาก (บ้านระแหง) และเมืองกำแพงเพชร ลงมาประสบลำน้ำแควใหญ่ที่ปากน้ำโพธิ์

สายที่ ๘ จะเรียกว่า “ลำน้ำบางประมุง” ตามที่เรียกกันเมืองนครสวรรค์ ลำนี้อยู่ทางฝ่ายตะวันตกเคียงกันลงมากับลำน้ำพิงค์ตั้งแต่เมืองกำแพงเพชร สันนิษฐานว่ายอดน้ำจะมาแต่เขาปันน้ำแดนเมืองไทยต่อกับเมืองพม่า ตัวลำน้ำยังเหลือแต่เป็นห้วงเป็นตอน สังเกตได้ว่าเดิมเป็นแม่น้ำใหญ่ เห็นจะตื้นเขินเมื่อขุดคลองสวนหมากให้มาติดต่อกับลำน้ำพิงค์ที่เมืองกำแพงเพชร ชักสายน้ำมาออกลำน้ำพิงค์เสียหมด ที่ในเรื่องพงศาวดาร เรียกว่า บึงหูกวาง อยู่ในระหว่างเมืองนครสวรรค์กับเมืองกำแพงเพชร ซึ่งพระเจ้าเสือตรัสสั่งให้กรมพระราชวังบวรฯ กับพระบัณฑูรน้อยถมทำทางเสด็จทรงช้างข้าม ก็คือลำน้ำบางประมุงนั้นเอง ข้างใต้ลงมาถึงเมืองนครสวรรค์ยังเหลือเป็นลำน้ำใหญ่ เรียกว่าลำน้ำบางประมุงอยู่ตอนหนึ่ง (แต่หม่อมฉันไม่เคยไปดู) ต่อมาถึงเมืองพยุหคีรีมีอีกตอน ๑ เรียกว่าลำน้ำพระทรง ยังกว้างลึกเป็นลำน้ำใหญ่ จะมาร่วมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงไหนยังหาทราบไม่

สายที่ ๙ ลำน้ำเมืองสรรค์ ชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกกันว่าแม่น้ำน้อยสังเกตดูมีแนวต่อขึ้นไปทางเมืองอุทัยธานี ยอดน้ำเห็นจะมาแต่ภูเขาปันน้ำในแดนเมืองนั้น แต่เมื่อสมัยสุโขทัยใกล้จะต่อกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ขุด “คลองแพรก” จากแม่น้ำน้อยไปต่อแม่น้ำเจ้าพระยาคงเป็นเมื่อสร้างเมืองสรรค์ เมืองสรรค์จึงได้ชื่อว่าเมืองแพรก ลำน้ำน้อยนี้เดิมลงมาผ่านเมืองสิงห์ เมืองวิเศษชัยชาญ ผ่านทางบ้านผักไห่มาออกที่บางไทร แต่ภายหลังขุดคลองลัดที่นั่นบ้างที่นี่บ้างเลยเลอะไป

สายที่ ๑๐ ลำน้ำลพบุรียอดน้ำลงมาทางฝ่ายตะวันออกแต่จากที่ไหนยังหาทราบไม่ เดิมก็เป็นแม่น้ำใหญ่ ยังเหลืออยู่ที่บางลีบางขาม เรียกว่าลำน้ำโพธิ์ชัย ภายหลังถูกขุดคลองลัดที่บางพุดซาและที่อื่นอีกก็เลยตื้นเขินเป็นห้วงเป็นตอน

น้ำที่ไหลออกปากน้ำเจ้าพระยามาแต่ลำน้ำถึง ๑๐ สาย ดังพรรณนามาแต่ยังไม่มีใครรู้ทางของลำน้ำเหล่านั้นที่เปลี่ยนแปลงมาอย่างไรแน่ได้ แต่ประเมินตามสังเกตเห็นตามทูลมายังมีลำน้ำในแขวงเมืองสิงห์และเมืองอินทร และที่อื่นๆ ซึ่งยังคิดไม่เห็นเค้าเดิมอีกหลายแห่ง หม่อมฉันได้เคยขอให้กรมแผนที่เขาช่วยตรวจ ทำแผนที่แนวลำน้ำเก่าก็ไม่สำเร็จ เพราะกิจธุระของกรมแผนที่ไม่ตรงกันกับความปรารถนาของราชบัณฑิตยสภา หม่อมฉันได้ลองคิดอีกอย่างหนึ่ง อาศัยเหตุที่นายตรี อมาตยกุล ซึ่งรับราชการอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์สถานถูกเกณฑ์เป็นทหาร หม่อมฉันร้องขอต่อกระทรวงกลาโหมให้ส่งนายตรีไปรับราชการในกรมทำแผนที่ เพื่อเรียนวิชาทำแผนที่ หมายว่าเมื่อนายตรีรับราชการทหารครบกำหนดรู้วิชาทำแผนที่มาแล้ว จะจัดให้มีพนักงานทำแผ่นที่ขึ้นในราชบัณฑิตยสภา สำหรับทำแผนผังและแผนที่โบราณวัตถุ รวมทั้งตรวจแนกลำน้ำเก่าด้วย สำเร็จตามความคิดเพียงนายตรีไปเรียนวิชามา ยังไม่ทันจะได้จัดกองทำแผนที่ หม่อมฉันก็ออกจากตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา เห็นว่าทำแผนที่แนวแม่น้ำเก่าได้ จะรู้และจะคิดวินิจฉัยเรื่องพงศาวดารถูกต้องดีขึ้นอีกมาก เมื่อยังไม่สำเร็จก็ต้องปล่อยไว้ให้คนภายหน้าเขาคิดต่อไป

๒. ที่เรียกว่าทะเลสาบนั้น หม่อมฉันก็เคยสงสัยเหมือนอย่างทรงพระดำริคำว่า “สาบ” จะเป็นชื่อทะเลเฉพาะแห่ง คือเฉพาะทะเลที่น้ำจืดเมืองเขมร เพราะมีคำภาษาไทยเรียกเป็นอย่างอื่น ทางฝ่ายตะวันออกเขาเรียก “หนอง” เช่นหนองหาญที่ตั้งเมืองสกลนครและเมืองกุมภวาปี ทางฝ่ายเหนือในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็ว่า “เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยมีทะเลหลวง” และที่ขนานชื่อเมืองพิจิตรแต่เดิมว่า “เมืองสระหลวง” ก็เป็นแต่คำภาษามคธมาใช้หมายความว่าห้วงน้ำอย่างเรียกกันชั้นหลังว่า “บึง” นั่นเอง ที่แปลคำ Lake ว่าทะเลสาบนั้นผิดแน่

๓. วินิจฉัยสีมาที่ประทานเพิ่มเติมมา หม่อมฉันพิจารณาดูเห็นว่าทำให้วินิจฉัยอย่างหม่อมฉันได้ทูลไปชัดยิ่งขึ้น ตามความในตัวบาลีที่ห้ามมิให้กำหนดเขตสีมากว้างใหญ่เกิน ๓ โยชน์และมิให้แคบจนพระสงฆ์ ๒๑ องค์นั่งไม่ได้นั้น พิเคราะห์ดูข้อแรกเป็นมูลของมหาสีมา ข้อหลังเป็นมูลของพัทธสีมา ดังจะทูลอธิบายความเห็นเป็นอุปมาต่อไป

ต่างว่าเมื่อพระพุทธศาสนาล่วง ๕๐๐๐ ปี สิ้นพระสงฆ์ซึ่งมีแต่ผ้าเหลืองทัดหูหมดแล้ว พระศรีอารย์มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และให้พระสงฆ์สาวกพวก ๑ มาประกาศศาสนาในเมืองไทย และบัญญัติเรื่องสีมา สำหรับทำสังฆกรรมอย่างเดียวกันกับพระสากยมุนีพุทธเจ้า พระสาวกพวกนั้นมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อก่อนจะเที่ยวแยกย้ายกันไปเที่ยวประกาศพระศาสนาปรึกษากันว่า จะกำหนดเขตสีมาเพียงไหนดี องค์ ๑ เห็นว่าควรกำหนดเขตมณฑลกรุงเทพฯ เป็นสีมา พระภิกษุโดยมากเห็นว่ากว้างขวางเกินไป เวลาจะทำสังฆกรรมจะต้องเที่ยวเดินติดตามพระถึง เมืองปทุม เมืองมีน และเมืองสมุทรปราการ จะลำบากนัก จึงตกลงกันให้เอาเขตจังหวัดกรุงเทพฯ เป็นสีมา เมื่อตกลงกันเช่นนั้นแล้ว ต่อมาบางครั้งก็ทำสังฆกรรมกันที่สามเสน บางครั้งก็ทำที่บางคอแหลมแล้วแต่จะสะดวก เพราะอยู่ในเขตของสีมาที่ได้กำหนดไว้ ๒ ตำบล มูลของมหาสีมาน่าจะเป็นเช่นนี้ ต่างว่าต่อมามีผู้เลื่อมใสถวายสวนแห่ง ๑ ที่ปทุมวันเป็นสิทธิต่อพระสงฆ์สำหรับเป็นที่ทำสังฆกรรม เมื่อมีที่เป็นสงฆสมบัติเกิดขึ้นดังนั้นแล้ว แต่นั้นก็ไปทำสังฆกรรมที่ปทุมวันแต่แห่งเดียว อันนี้น่าจะเป็นมูลของพัทธสีมา จึงมีข้อห้ามมิให้กำหนดเขตสีมากว้างขวางเกินไป และห้ามมิให้กำหนดเขตพัทธสีมาคับแคบเกินไป แต่ตามพยัญชนะในบาลีเอาขนาดที่สุดทั้ง ๒ อย่างขึ้นว่า

ตามพุทธบัญญัติเดิม ซึ่งตั้งเมื่อพระพุทธองค์ส่งพระสาวกไปเที่ยวประกาศพระศาสนาน่าจะเป็นอย่างเช่นอุปมามา ต้องเป็นการที่เข้าใจและทำได้สะดวก เพราะเมื่อพุทธกาลพระภิกษุสาวกยังไม่มีมากนัก และคนที่ยังไม่เลื่อมใสพระพุทธศาสนาก็มีมาก ครั้นล่วงพุทธกาลมาได้หลายร้อยปี พระพุทธศาสนารุ่งเรืองแพร่หลาย พระภิกษุและสังฆาวาสมีมากมาย ผู้คนพลเมืองก็นับถือพระพุทธศาสนาทั่วไปเป็นพื้น วิธีสอนพระศาสนาก็ผันแปรไปตามเหตุ เป็นต้นว่าพระสงฆ์อยู่กับวัดประจำที่ ไม่ต้องจารึกไปเที่ยวสอนพระศาสนาเหมือนแต่ก่อน ผู้คนก็พอใจไปฟังสั่งสอนพระศาสนาที่ตามวัดเป็นกิจวัตรของประชาชน คิดดูถ้าพระพุทธองค์เสด็จอยู่จนเวลาเมื่อการผันแปรมาด้วยความเจริญอย่างว่า ก็เห็นจะทรงแก้ไขพุทธบัญญัติเรื่องสีมาเปลี่ยนแปลงมาให้เหมาะแก่พฤติการณ์ แต่พระมหาเถระสาวกนิกาย อันเป็นต้นลัทธิหินยานที่เรานับถือกัน ได้ลงมติไว้เสียแล้วเมื่อเกิดเหตุที่จะต้องทำทุติยสังคายนาเมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ ว่าไม่ให้แก้พระวินัยบัญญัติเดิมเรื่องสีมา ในเวลาเมื่อพฤติการณ์ไม่เหมาะแก่พุทธบัญญัตินั้นเสียแล้ว จึงแก้ไขกันด้วยทำวินัยกรรมต่างๆ ตามความเห็นของเกจิอาจารย์ แต่รวมความก็คือทำผิดกับพุทธบัญญัติเดิม แต่ให้อ้างได้ว่ามิได้แก้ไขพระวินัยหม่อมฉันคิดเห็นตั้งทูลมา

๔. ที่เรียกว่านุ่งจีบโจงจะเป็นอย่างไร หม่อมฉันไม่เคยคิดถ้วนถี่ นึกว่านุ่งหางหงส์ก็เป็นจีบโจงเหมือนกัน ถ้าว่าถึงต้นเค้าของการนุ่งผ้า ชาวอินเดียกับดูก็เป็นอย่างเดียวกัน ไทยเราอาจจะได้แบบมาแต่อินเดียด้วยซ้ำไป คือเวลาอยู่กับบ้านเรือนโดยปกตินุ่งผ้าผืนเดียวตามสบาย ถ้าไปทำการงาน เช่นไปรบพุ่งเป็นต้น นุ่งกางเกงสนับเพลาข้างในนุ่งผ้าทับข้างนอก ผู้หญิงเดิมเป็นแต่นุ่งผ้าผืนเดียว เปลือยอกทั้งชาวอินเดียและไทย ภายหลังจึงใช้ผ้าห่มปิดอก ชาวอินเดียใช้ผ้าผืนเดียวทั้งนุ่งห่ม ไทยเราใช้ผ้า ๒ ผืน นุ่งผืน ๑ ห่มผืน ๑ หม่อมฉันมีความรู้พอทูลได้แต่เท่านี้

๕. ที่เจ้ากรมของท่านถึงอนิจกรรมนั้น หม่อมฉันเสียดาย ด้วยตั้งแต่รู้จักก็ชอบแกมา เพราะเห็นกิริยามารยาทกับทั้งอัธยาศัยเป็นคนสุภาพ เป็นผู้ดีอย่างแบบโบราณ เห็นแกเมื่อใดก็คิดถึงเจ้ากรมคนแรกของหม่อมฉัน ชื่อเทศ เดิมเป็นมหาดเล็กละครของกรมพระพิทักษ์ ๆ สิ้นพระชนม์แล้ว มาเป็นพี่เลี้ยงของหม่อมฉันอยู่จนได้เป็นเจ้ากรมแล้วจึงตาย โดยปกติแกไม่ชอบใส่เสื้อถ้าเป็นเวลาร้อนก็เอาผ้าขาวม้าชุบน้ำคาดอกเหมือนอย่างพระห่มดอง แต่แกเข้าเจ้านายขุนน้ำขุนนางได้เรียบร้อย เจ้าพระยาเทเวศรก็ออกจะเคารพด้วยเคยคุ้นมาแต่ยังเด็ก ผู้ดิีแบบโบราณเช่นเจ้ากรมของท่านเห็นจะหมดตัวแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ