วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคมแล้ว ลายพระหัตถ์เวรฉบับซึ่งควรจะถึงเมืองปีนังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ยังไม่มาถึงมือหม่อมฉัน จะเป็นด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบ แต่นึกหวังว่าคงมิได้เป็นเพราะเหตุการณ์เกี่ยวกับพระองค์เช่นไม่ทรงสบายเป็นต้น แต่คอยจนรำคาญ จึงลงมือเขียนจดหมายเวรสำหรับจะทิ้งไปรษณีย์ให้ทันส่งเมล์คราววันศุกร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ก่อนได้รับลายพระหัตถ์เหมือนเช่นเคย

ทูลเรื่องทางปีนัง

จดหมายเวรฉบับก่อนหม่อมฉันเขียนระหว่างเวลางานวิสาขบูชา ทูลรายการเพียงวันกลางเดือนที่ ๒๑ เวลาเช้า ในวันนั้นตอนบ่ายหม่อมฉันไปบูชาพระที่วัดปิ่นบังอร เห็นวัดอินทรารามที่อยู่ติดกัน เมื่อผ่านไปวันก่อนไม่ได้ตกแต่งอย่างไร วันนี้มีแขวนธงราวและรายประทีปแต่ไม่เห็นมีสัปปุรุษ แต่ที่วัดปิ่นบังอรพระกำลังสวดปาติโมกข์ มีสัปปุรุษมากและเป็นไทยเป็นพื้น เพราะที่ตำบลบาตูลันจังมีหมู่บ้านพวกไทยอยู่กันมาก แต่พวกสัปปุรุษที่ไปวัด ดูผู้หญิงชอบไปมากกว่าผู้ชายทุกแห่ง ถึงเวลาทุ่มเศษหม่อมฉันไปที่วัดศรีสว่างอารมณ์ พระองค์หญิงประเวศกับไทยชาวกรุงเทพฯ ก็ไปกันแทบทั้งนั้น การพิธีที่ทำค่ำวันนี้พระทำวัตรแล้วพระมหาภุชงค์เทศน์ภาษาไทยกับจิีนฮกเกี้ยนสลับวรรคกันไปจนจบ แล้วเดินเทียนเสร็จพิธีราวยาม ๑

หม่อมฉันตรวจรายการพิธีที่ อาจารย์ คุณรัตนลังกาจะทำวิสาขบูชา ณ วัดมหินทรารามมีว่าวันพุธที่ ๒๒ แรมค่ำ ๑ จะสวดปริต หม่อมฉันอยากฟังทำนองพระลังกาสวดมนต์จึงตกลงว่าจะไปวันที่ ๒๒ นั้น ที่หม่อมฉันอยากฟังพระลังกาสวดมนต์นั้นมีเหตุมาแต่หนหลังด้วยหม่อมฉันอยากรู้มานานแล้ว ว่าทำนองที่พระธรรมยุติสวดมนต์และสวดสรภัญญนั้นทูลกระหม่อมทรงได้เค้ามาจากไหน เปรียบกับทำนองพระมอญสวดมนต์ก็เหมือนกัน เพียงสวดมีระยะหายใจพร้อมกัน นอกจากนั้นไม่เป็นเค้าเดียวกันเลย ยิ่งทำนองสวดสรภัญญดูเป็นอย่างหนึ่งต่างหากทีเดียว แต่หม่อมฉันเกิดอยากรู้ขึ้น เมื่อพระมหาเถระชั้นที่อาจจะรู้ความเดิมหมดตัวเสียแล้ว ถามพระมหาเถระชั้นหลังก็ไม่มีใครรู้ อาศัยเรื่องที่ปรากฏมาว่า เมื่อรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทูลกระหม่อมเป็นเจ้าหน้าที่ ในการที่เกี่ยวข้องกับลังกา มีชาวลังกาทั้งพระและคฤหัสถ์มาอยู่ในสำนักวัดบวรนิเวศมิใคร่จะขาด ทูลกระหม่อมได้ทรงวิสาสะกับพระลังกามาก บางทีจะได้ทำนองสวดของชาวลังกามาเป็นเค้าบ้างดอกกระมัง หม่อมฉันเคยพูดกับพระสาธุศีลสังวร (ศีลรัตน) ว่าอยากฟังสวดมนต์ทำนองลังกา จะนิมนต์ท่านเป็นผู้นำขอให้ท่านหาพระลังกาที่อยู่ในกรุงเทพฯ อีกสักสามสี่องค์มาสวดมนต์และฉันอาหารบิณฑบาตที่วังวรดิศวักวันหนึ่ง แต่ท่านตอบออกตัวเสียแต่แรกว่า ท่านมาอยู่ต่างประเทศไม่ได้สวดทำนองลังกามาเสียช้านานแล้ว เห็นจะสวดไม่ถูกทำนองเช่นสวดในเมืองลังกาได้ การที่จะฟังค้างมาหลายปี ครั้นมาได้ยินว่าพระอาจารย์คุณรัตนจะสวดมนต์อย่างลังกาจึงตั้งใจจะไปฟัง แต่เมื่อถึงวันพุธที่ ๒๒ ซึ่งกำหนดว่าจะสวดมนต์เวลาทุ่ม ๑ เวลาบ่ายวันนั้นเกิดพยับฝนเกรงว่าไปเวลาเทศน์จะไปต้องตรำฝน หม่อมฉันจึงไปแต่เวลาย่ำค่ำ เผอิญวันนั้นพระอาจารย์คุณรัตนได้พระอันดับลังกามาอีก ๒ องค์พร้อมกันลงมารับหม่อมฉันที่ในวิหาร หม่อมฉันจึงบอกว่าจะขอนิมนต์ไปสวดพระปริตและฉันอาหารที่ซินนามอนฮอลทั้ง ๓ องค์ด้วยกันสักวันหนึ่ง ในวันนั้นพระอาจารย์คุณรัตนประน้ำมนต์ให้เหมือนเมื่อไปวันก่อนแต่คราวนี้พระยืนเรียงกันแลสวดเมื่อเวลาอาจารย์คุณรัตนประน้ำมนต์ทั้ง ๓ องค์ มนต์ที่สวดนั้นคือ อิติปิโส สวากฺขาโต สุปฏิปันโน พาหุง ภวตุสัพ แต่ว่าเป็นทำนอง “เสก” มิใช่ “สวด” จึงยังมิได้ฟังทำนองสวดมนต์อย่างลังกา ในการที่ได้ทำวิสาขบูชาดังทูลบรรยายมา หม่อมฉันขอถวายส่วนกุศลให้ทรงอนุโมทนาด้วย

ในคราวเมล์ที่มาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ หม่อมฉันได้รับจดหมายอย่างแปลกฉบับ ๑ เป็นจดหมายของลูกหญิง สิวลีวิลาศ ส่งไปรษณีย์มาแต่หัวหิน แปลกที่ไม่ได้เขียนอะไรที่ใบปกซองแล้วมิหนำซ้ำสลักหลังซองด้วยเส้นดินสอเป็นอักษรไทยว่า “ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ต่อนั้นเป็นตัวอักษรฝรั่งว่า 206 Kelawei Road เท่านั้น พอรุ่งขึ้นวันศุกร์พนักงานไปรษณีย์ก็เอาจดหมายฉบับนั้นมาส่งโดยเรียบร้อย ไม่มีรอยตัดซองตรวจที่เมืองปีนังนี้ ส่อให้เห็นว่าเขาคงมีไทยเป็นพนักงานตรวจหนังสือ ถ้าเป็นชาวปีนังถึงจะรู้หนังสือไทยก็คงไม่รู้จักชื่อหม่อมฉันที่เรียกเช่นนั้น เพราะที่ปีนังนี้ฝรั่งเรียกหม่อมฉันว่าปรินส์ดำรง จีนเรียกเสียมอ๋อง แขกเรียกว่าราชาเสียมรู้กันเพียงเท่านั้น

หม่อมฉันได้รับหนังสือแจกงานศพพระยาพจนปรีชา ๒ เล่ม นึกชอบใจที่เขาช่างเลือกเรื่องหนังสือ กรมศักดิ์โปรดทรงแต่งบทกลอน ยังมีนอกจากที่พิมพ์อีก ๑ เรื่องเป็นนิราศเสด็จไปทัพทางเมืองกาญจนบุรี เมื่อแรกหอพระสมุดฯ ได้หนังสือเรื่องนั้นมาหม่อมฉันอ่านเกิดฉงนสนเท่ห์ ด้วยเคยปรากฏในเรื่องพงศาวดาร ว่าเมื่อรัชกาลที่ ๒ กรมศักดิ์เคยเสด็จไปตั้งขัดตาทัพพม่าที่เมืองเพชรบุรีอันเป็นทางหนึ่งต่างหากจากทางที่พรรณนาในนิราศ แต่ก็ได้ความรู้แปลกในนิราศนั้น ว่าสมัยนั้นถือว่าเข้าปากดงที่บ้านโป่ง และว่าบ้านโป่งยังเป็นแขวงเมืองสุพรรณ ความส่อต่อไปว่าแม้ที่ปากแพรกก็ยังคงเป็นแขวงเมืองสุพรรณ เพิ่งขยายเขตเมืองกาญจนบุรีออกมา เมื่อย้ายตัวเมืองจากเขาชนไก่มาสร้างที่ปากแพรกในรัชกาลที่ ๓ คงแยกบ้านโป่งมาเป็นแขวงเมืองราชบุรีในคราวเดียวกัน แต่เหตุใดกรมศักดิ์จึงเสด็จยกกองทัพไปทางเมืองกาญจนบุรี ไม่มีในหนังสือพงศาวดาร หม่อมฉันก็จนปัญญามาจนได้เห็นจดหมายเหตุของอังกฤษในเรื่องรบพม่าครั้งที่ ๑ เมื่อต้นรัชกาลที่ ๓ ปรากฏว่าไทยยกกองทัพไปช่วยอังกฤษตีเมืองพม่าคราวนั้นเป็น ๒ ครั้งต่อกัน ครั้งแรกเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เป็นแม่ทัพยกออกไปถึงแดนพม่า ครั้งหลังเจ้าพระยามหาโยธาเป็นแม่ทัพหน้ายกออกไปเมืองพม่าเหมือนครั้งก่อน แต่ว่ามีเจ้านายที่สูงศักดิ์เป็นแม่ทัพหลวง ไปตั้งเตรียมอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีเข้ากับเรื่องนิราศได้สนิท จึงรู้เรื่องในพงศาวดารตอนนั้นเพิ่มขึ้นเป็นข้อสำคัญอันหนึ่ง

ที่เมืองปีนังเดี๋ยวนี้มีธูปไทยเรียกว่า “ธูปหอมตราดอกไม้” ส่งออกมาขายเป็นธูปทำใส่ซองละ ๑๐ ดอกขายราคาซองละ ๕ เซ็นต์ หม่อมฉันได้ตัดฉลากปิดซองธูปนั้นส่งถวายมาให้ทอดพระเนตรด้วย ได้ยินว่าขายดี หม่อมฉันออกประหลาดใจว่าธูปที่จีนทำ ขายที่ในเมืองปีนังก็เป็นพะเนินเทินทึกทุกขนาด เหตุไฉนคนจึงชอบซื้อธูปไทย ได้ลองจุดเปรียบกันดู ธูปจีนมีควันมากแต่ไม่มีกลิ่นหอม ธูปไทยมีควันน้อยแต่กลิ่นหอม จึงเข้าใจว่าคนคงชอบใช้ธูปไทยบูชาพระที่ในเรือน ชอบใช้ธูปจีนบูชาพระตามวัดและศาลเจ้าเพราะราคาถูกกว่าธูปไทย และต้องการให้เห็นควันมากเป็นประมาณด้วย

ทูลต่อเรื่องลายพระหัตถ์เวร

หม่อมฉันรำคาญ ด้วยไม่ได้รับลายพระหัตถ์เวรตามกำหนด ให้หญิงเหลือเอาตัวอย่างซองลายพระหัตถ์ไปยังสำนักงานไปรษณีย์เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ ถามเขาว่าจดหมายใส่ซองอย่างนั้นมีค้างอยู่ที่สำนักงานมั่งหรือ เขาตอบว่าจดหมายใส่ซองอย่างนั้นไม่มีมาทั้งคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤษภาคม และคราวเมล์วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ได้ทราบก็ยิ่งรำคาญใจด้วยคิดไม่เห็นว่าจะขาดไปเพราะเหตุใด ครั้นถึงวันอังคารที่ ๒๘ เวลาเช้าเขาดีดพิมพ์จดหมายเวรของหม่อมฉันเสร็จแล้ว เอาขึ้นมาวางให้เซ็นชื่อพร้อมกับซองลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พอเห็นก็ยินดีสิ้นรำคาญพิจารณาดวงตรากรมไปรษณีย์ประทับที่ซองเมื่อวันที่ ๒๒ เห็นได้ว่าส่งมาตามกำหนด แต่มาซุกซ่อนค้างอยู่ที่สำนักงานไปรษณีย์ที่เมืองปีนัง หากหญิงเหลือไปถามเมื่อวานนี้จึงเป็นเหตุให้ค้นหาได้ลายพระหัตถ์ส่งมาเมื่อเช้าวันนี้ ที่ท่านยังไม่ได้ทรงรับจดหมายเวรของหม่อมฉันตามกำหนดก็คือ ฉบับที่หม่อมฉันส่งพลาดไปยังหัวหินดังทูลไปแล้ว ป่านนี้คงได้ทรงรับแล้ว จะทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวรฉบับนี้ในคราวเมล์นี้ไม่ทัน ขอผัดไปทูลในจดหมายเวรฉบับหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ