วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๐ กันยายน แล้วโดยเรียบร้อย

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) เรื่องเทวดาประจำวันทั้ง ๗ ที่ประทานอธิบายมาในลายพระหัตถ์ดียิ่งนัก เข้าใจแจ่มแจ้งและเห็นจริงดังพระดำริ แต่หม่อมฉันไม่สามารถจะทูลขยายความออกไปอย่างใดได้ เพราะไม่สันทัดในความรู้เรื่องเทวดานพเคราะห์ จะทูลได้แต่ความคิดบุคคลภายนอก เห็นว่ามนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เห็นจะเริ่มมีประดิทินด้วยกำหนด “วัน” ก่อน โดยสังเกตพระอาทิตย์ขึ้นและตก และต่อมาถึงชั้นที่ ๒ รู้กำหนดปี ๑๒ เดือน โดยสังเกตดวงพระจันทร์ขึ้นแรม ต่อมาถึงชั้นที่ ๓ กำหนดปี ๑๒ เดือน โดยสังเกตฤดูร้อน ร้อนหนาวเปลี่ยนกันในเดือนใดก็ดี หรือได้ผลไม้ดอกไม้อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งออก ๑๒ เดือนครั้งหนึ่งก็ดี ประดิทินชั้นต้นรู้ได้เพียง วัน เดือน ปี ก่อน น่าจะเป็นเช่นนั้นอยู่นาน ครั้นรู้จักดาวฤกษ์จึงเกิดนับ ๗ วันเป็นสัปดาหะเห็นจะรู้เพียงเท่านั้นอยู่นานอีก จึงมีผู้สังเกตทางโคจรของตะวันเดือนดาว ก็เริ่มเกิดวิชาโหราศาสตร์ ตำราโหราศาสตร์ เดิมก็คงเพียงรู้กำหนดโคจรจนสามารถจะพยากรณ์สุริย และจันทรอุปราคา แต่น้อยคนที่จะรู้ คนโดยมากจึงเชื่อว่าโหรเป็นผู้วิเศษเสมือนมีทิพจักษุ อาจจะเห็นเหตุการณ์ได้ไปจนนอกมนุษย์โลก คงมีโหรบางคนเอาใจใส่สังเกตต่อไป ว่าถ้าดวงตะวันเดือนดาวนพเคราะห์เรียงกันในจักราศีเปนเช่นนั้นๆ มักมีเหตุเช่นนั้นๆ ในมนุษย์โลก เช่น ฝนแล้ง หรือฝนชุก เป็นต้น จึงเริ่มเกิดพยากรณ์ขึ้น โหราศาสตร์ทีหลังมาจึงเลยสมมุติเป็นเทวดา และแต่งเรื่องราวอะไรต่ออะไรไปต่างๆ

๒) ลักษณะธงนั้น เดิมคงเอาสีเป็นหลักและสีเดียวกันทั้งผืนเปรียบว่า เมื่อเทวาสุรสงคราม กองพลของพระวรุณใช้ธงสีแดงกองพลของพระอิสาณใช้ธงสีดำเป็นต้น เมื่อแลเห็นก็รู้ได้ง่ายว่าเป็นกองพลของใคร ที่ทำธงเป็น ๒ สีหรือหลายสี น่าจะเกิดแต่มีกองพลมากกว่าสีเบญจรงค์ หรือมิฉะนั้นในกองพล ๑ แบ่งออกเป็นหลายกองพัน ธงของกองพันเอาสีของกองพลเป็นพื้น เอาสีอื่นเพลาะเพิ่มเข้าเป็นเครื่องหมายของกองพัน หรืออีกอย่างหนึ่งธงของชาติเผอิญใช้สีพ้องกัน จึงต้องทำเครื่องหมายเพิ่มเข้าไปในธงให้ผิดกัน อย่างนี้มีเรื่องจริงปรากฏในพงศาวดารว่าเมื่อรัชกาลที่ ๒ มีเรือกำปั่นของหลวงไปค้าขายที่เมืองสิงคโปร์ ๒ ลำ ชักธงสีแดงเป็นเครื่องหมาย อังกฤษเจ้าเมืองสิงคโปร์บอกมาว่า เรือหลวงชักธงแดงไปเหมือนกับเรือของพวกชวามลายู ขอให้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจะได้รับรองเรือหลวงให้สมพระเกียรติยศ ก็สมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระยาช้างเผือกถึง ๒ ตัว ทรงพระเกียรติเป็นพระเจ้าช้างเผือก จึงโปรดให้ทำรูปช้างเผือกอยู่ในวงจักรอันเป็นเครื่องหมายว่า สมเด็จพระรามาธิบดีเพิ่มเข้าในพื้นธงแดง เป็นมูลของธงช้างที่มีมาแต่ครั้งนั้น

๓) เรื่องทูตไทยในประเทศอังกฤษ ที่หลวงสิทธิสยามการแสดงปาฐกถาในสโมสรโรตารีนั้น คือ คราวพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูตนั้นเอง หลวงสิทธิฯ เก็บเอาความที่กล่าวไปจากหนังสือเรื่อง “จดหมายเหตุเรื่องทูตไทยไปประเทศอังกฤษ” ซึ่งกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย พิมพ์แจกในงานศพ นายพิณเทพเฉลิม (บุนนาค) บิดาของหม่อมเพี้ยน หนังสือเล่มนั้นมีเป็น ๔ ตอน ตอนที่ ๑ หม่อมฉันแต่งให้ ว่าด้วยประเพณีทูตโบราณ ตอนที่ ๒ รายงานของหม่อมราโชทัย ตอนที่ ๒ นิราศลอนดอน ตอนที่ ๔ เป็นภาษาอังกฤษและมีรูปภาพ เป็นจดหมายเหตุอังกฤษ พรรณนาถึงทูตไทยที่ไปครั้งนั้น หอพระสมุดฯ ได้สำเนามาจากหอสมุดกระทรวงอินเดียที่ลอนดอน จึงเป็นเรื่องครบบริบูรณ์อยู่ในสมุดเล่มนั้น

๔) เรื่องซารวิตชเพ้อถึงผิดิบนั้นหม่อมฉันไม่เคยรู้เลยทีเดียว เพิ่งได้ยินเมื่อตรัสมาในลายพระหัตถ์ หนังสือเรื่องราชวงศ์โรมานอฟนั้นหม่อมฉันก็ไม่เคยเห็น จึงเป็นอ้นอั้นตันปัญญาไม่สามารถจะทูลสนองได้

๕) ที่เขาคิดแปลงเสลี่ยงหิ้วเป็นเสลี่ยง (ถ้าประดับกระจกก็ควรเรียกว่า) แว่นฟ้าดูก็ดีอยู่ จะทูลเรื่องเสลี่ยงหิ้วต่อไปอีกสักหน่อย ตั้งแต่หม่อมฉันเห็นเชิญพระโกศด้วยเสลี่ยงหิ้วก็รำคาญตา อาจจะว่าได้ว่าตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพราะเห็นรูปร่างเสลี่ยงนั้นเอ้อเร้อ และเอารับของหนักซึ่งพ้นวิสัยคน ๒ คนจะหิ้วไปได้ด้วยกันกับเสลี่ยง เคยนึกสงสัยว่าเหตุไฉนจึงทำเช่นนั้น เมื่ออ่านพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ว่าเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ประชวรหนักโปรดให้เชิญพระองค์ทรงพระเสลี่ยงหามไปทอดพระเนตรพระราชมนเทียร ก็นึกว่าเป็นเสลี่ยงหามอย่าง ๔ คนอย่างเช่นเจ้านายทรง ต่อมาเห็นในหนังสือเรื่อง “สมเด็จพระบรมศพ” ได้ความชัดขึ้นว่าพระเจ้าบรมโกศทรงพระเสลี่ยงหิ้วไปทางท้องฉนวนในพระราชวัง ก็ยิ่งฉงนว่าเหตุไฉนจึงโปรดทรงเสลี่ยงหิ้วอย่างเช่นเชิญพระโกศ มาจนในรัชกาลที่ ๗ เมื่อจัดพิพิธภัณฑสถาน หม่อมฉันไปพบพระเสลี่ยงหิ้วของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเห็นประจักษ์ความจริง ว่าพระเสลี่ยงหิ้วตัวจริงที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงนั้นขนาดเล็ก กะทัดรัด สำหรับคนหิ้ว ๒ คน (ซึ่งน่าจะเป็นโขลนผู้หญิงหิ้ว) สำหรับทรงเสด็จไปแต่ในพระราชวัง เสลี่ยงหิ้วที่ใช้เชิญพระโกศเป็นแต่เอาแบบเสลี่ยงหิ้วตัวจริงมาขยายส่วยใหญ่ขึ้นและลดพนักหลังเสียให้ตั้งพระโกศได้แต่คงให้คนหิ้ว ๒ คนตามแบบเดิมจึงดูฝืนวิสัย คิดต่อไปว่าผู้ที่จะใช้เสลี่ยงหิ้วตัวจริงนั้นได้มีแต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว เพราะฉะนั้นเสลี่ยงหิ้วที่ขยายเป็นขนาดใหญ่เดิมเห็นจะสำหรับแต่เชิญพระลองเงินซึ่งทรงพระบรมศพเท่านั้น มาใช้ต่อออกไปถึงพระศพอื่นต่อเมื่อภายหลัง

๖) ฉัตร ๓ ชั้น ที่ตั้งรอบพระศพพระองค์หญิงภควดีนั้นเป็นแบบเครื่องสูงวังหน้า หม่อมฉันเคยได้เห็นตัวจริงที่พระพุทธบาท ว่าเป็นของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (ปล่อย) ถวายพระพุทธบาทเมื่อเสด็จกลับจากไปตีเมืองเวียงจันทน์เดิมหุบฉัตรใส่ปลอกเหล็กไว้ที่ฝาผนังในพระมณฑปทั้ง ๒ ข้าง แล้วเอาออกเสีย เห็นจะเป็นเมื่อพระมงคลทิพ (มุ้ย) ทำการปฏิสังขรณ์ หม่อมฉันเคยบอกพระโพธิวงศ์ (นวม) ท่านไปขอเครื่องสูงใหม่ที่กรมอภิรมย์ เขาทำให้เป็นอย่างเครื่องสูงวังหลวง ต้องเอาไปตั้งไว้ที่ในคลังทั้งสำรับ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เคยตรัสเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงรังเกียจเครื่องสูงวังหน้า เมื่อใกล้จะสวรรคตกราบทูลทูลกระหม่อมว่าขอให้ตั้งเครื่องสูงวังหลวงที่พระศพ เพราะพระองค์เป็นเจ้านายวังหลวง ทูลกระหม่อมจึงโปรดให้ตั้งเครื่องสูง ๒ สำรับทั้งเครื่องสูงวังหลวงและเครื่องสูงวังหน้า

๗) เมืองสีเทพมีเรื่องที่ควรจะทูลบรรเลงได้ เดิมหม่อมฉันเห็นชื่อในทำเนียบเก่าไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ถามที่ในกระทรวงมหาดไทยก็ไม่มีใครรู้ ต่อมาหม่อมฉันพบสมุดไทยพวกที่อยู่่บนเพดานศาลาลูกขุนในมีจดหมายเหตุสั่งให้คนเชิญตราไปบอกข่าวพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตยังหัวเมืองต่างๆ มีว่าให้คนนั้นๆ เชิญตราไปยังเมืองนั้นๆ ให้คน ๑ เชิญตราไปยังเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองสีเทพ เมืองเพชรบูรณ์ หม่อมฉันก็ได้เค้าว่าเมืองสีเทพเห็นจะอยู่ทางลำน้ำสัก เมื่อหม่อมฉันไปเมืองเพชรบูรณ์ขาไปๆ ขึ้นเดินบกในแขวงเมืองพิจิตรข้ามเทือกเขาปันน้ำไป ขากลับๆ ลงมาทางเรือ สืบหาเมืองเก่าลงมา เขาบอกว่ามีเมืองโบราณเมือง ๑ อยู่ใกล้ๆ กับเมืองวิเชียร ชื่อว่าเมืองอภัยสาลี หม่อมฉันลงมาถึงเมืองวิเชียร เวลานั้น พระยาประเสริฐสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองวิเชียรแก่ชราออกจากราชการนานแล้ว ปลกเปลี้ยมาหาหม่อมฉันไม่ได้ หม่อมฉันจึงไปเยี่ยมถึงบ้าน ถามพระยาประเสริฐสงครามว่าเมืองสีเทพอยู่ที่ไหน แกบอกว่าคือเมืองวิเชียรนั้นเอง เดิมชื่อว่าเมืองสีเทพ เมื่อครั้งปราบขบถเวียงจันทน์ในรัชกาลที่ ๓ พวกเมืองสีเทพมีความชอบในการสงครามครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้เปลี่ยนศักดิ์เมืองสีเทพขึ้นเป็นเมืองตรี เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองวิเชียรบุรี เพราะมีเขาแก้วแห่ง ๑ อยู่ในเขตเมืองนั้น ทรงตั้งเจ้าเมืองเป็นพระยาประเสริฐสงครามแต่นั้นมา สืบถามต่อไปถึงชื่อเมืองอภัยสาลี แกว่าเป็นแต่พระธุดงค์บอกชื่อให้ หม่อมฉันจึงยุติว่าเมืองสีเทพ หรือศรีเทพหรือสีห์เทพ คงเป็นชื่อเมืองโบราณนั้น

๘) ตรัสปรึกษาถึงวัตถุที่เรียก “ก่องนม” นั้น หม่อมฉันไม่เคยค้นคำอธิบายมาแต่ก่อน จะทูลได้แต่โดยเดา แต่นึกว่าไม่ผิด คือเสื้อชั้นในอย่างที่ผู้หญิงชาวอินเดียยังใช้อยู่ เป็นเสื้อช่องคอกว้างมีแขนปกลงมาเพียงพ้นรักแร้ และชายเสื้อลงมาหมดเพียงชายโครงข้างเหนือสะดือ ลักษณะเสื้ออย่างนี้มีประโยชน์ที่จะยกนมอันย้อยยานให้ตั้งเป็นทรวดทรงเป็นสำคัญจึงเรียกว่า ก่อง (กล่อง) นม ตรงกับประโยชน์ที่ใช้ ฝรั่งก็ยังชอบใช้ในปัจจุบันนี้ดังรูปภาพที่ส่งมาถวาย

อันเป็นเครื่องประดับตัวสตรี ที่ทำด้วยทองและเพชรนิลจินดา ถ้าประดับหัวก็ใช้สวมหรือเสียบกับเรือนผม ถ้าประดับคอและแขนหรือข้อมือข้อตีนและนิ้วย่อมใช้สวม ถ้าประดับบั้นเอวย่อมใช้คาด ถ้าประดับหูจมูกต้องเจาะเนื้อให้เป็นรู ไว้สำหรับห้อยเครื่องประตับ แต่ประดับนมจะทำอย่างไรเสียบก็ไม่ได้สวมก็ไม่ได้ เจาะรูห้อยก็ไม่ได้ ได้แต่แขวนคอต่อลงมาก็จะต้องมีสายโยงไปผูกไว้ข้างหลัง และยังลำบากด้วยเต้านมไม่คงรูปเหมือนอวัยวะอื่นๆ ที่รูปภาพเขียนเครื่องประดับเป็นวงแหวนไว้ที่ขั้วนมจะอยู่ได้อย่างไรคิดไม่เห็น น่าจะเป็นแต่ความคิดของช่างเขียน เพราะนมไม่เป็นสิ่งซึ่งจะแต่งด้วยเครื่องประดับได้เขาจึงทำก่องสวม แล้วประดับก่องนั้นด้วยปักทองเป็นต้น หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้

ปกิรณกะ

๙) หญิงพูน เธอชวนหม่อมฉันให้แต่งนิทานโบราณคดี หม่อมฉันลองแต่งดูสักสองสามเรื่อง คัดสำเนาส่งมาถวายทรงอ่านเล่นเรื่อง ๑ พร้อมกับจดหมายฉบับนี้

๑๐) หลานแมวกลับมาถึงปีนังเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน บอกว่าได้ไปเฝ้าเห็นสบายดีอยู่ด้วยกันหมด หม่อมฉันก็ยินดี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ