วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม นั้นแล้ว

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) พระปรารภซึ่งว่า ชื่อเจ้าพระยาจักรี กับตราจักรเนื่องเป็นอันเดียวกันนั้น หม่อมฉันเห็นว่าถูกต้อง พิเคราะห์ดูตราจักรน่าจะเป็นมูลของชื่อว่าเจ้าพระยาจักรี เพราะคำว่า “จักร” นั้นจะหมายความว่าวิษณุจักรก็ตาม หรืออาณาจักรก็ตาม ส่อว่าเป็นดวงตราของผู้มีอำนาจสูงสุดที่บังคับบัญชาการเหมือนกัน ตราจักรคงมีก่อน ตราราชสีห์ตราคชสีห์เป็นตราเกิดขึ้นเป็นคู่กันเมื่อภายหลัง คือเมื่อตั้งตำแหน่งอัตรมหาเสนาบดีเป็น ๒ คน ปัญหามีแต่ว่าใครเป็นผู้ถือตราจักรแต่เดิม วินิจฉัยข้อนี้มีเค้าอยู่ที่ลักษณะใช้ตราจักร ที่มีอย่างเดียวแต่สำหรับสั่งให้ประหารชีวิตคน ในการอย่างอื่นหาใช้ตราจักรไม่ และมีข้อน่าสังเกตอีกอย่าง ๑ ในประเพณีที่ใช้ตราจักรสั่งประหารชีวิตคนแต่ตามหัวเมือง ถ้าประหารชีวิตคนในราชธานีนครบาลรับสั่งต่อพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพระยาจักรีไม่มีกิจเกี่ยวข้องต้องประทับตราจักร จะว่าการประหารชีวิตคนต้องสั่งด้วยประทับตราจักรทั่วไปหาได้ไม่ เพราะฉะนั้นดูมีทางที่จะสันนิษฐานอีกทาง ๑ ว่าเดิมทีเดียวตราจักรจะเป็นพระราชลัญจกรของ “เจ้าชีวิต” สำหรับทรงสั่งให้ประหารชีวิตคนทั้งในกรุงและตามหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ แต่เมืองประเทศราชและเมืองพระยามหานครถืออาญาสิทธิประหารชีวิตคนได้ไม่ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน

จะทูลสันนิษฐานเพ้อเจ้อต่อไป ว่าชื่ออัครมหาเสนาบดี ๒ คนเมื่อแรกมีขึ้นนั้น ฝ่ายพลเรือนน่าจะมีนามว่า เจ้าพระยามหาอำมาตย์ ฝ่ายทหารจึงมีนามว่า เจ้าพระยามหาเสนา เป็นคู่กัน อยู่มาพระเจ้าแผ่นดินเกิดทรงรังเกียจบาปกรรมในการที่จะตรัสสั่งให้ประหารชีวิตคน จึงให้อัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนเป็นผู้ถือตราจักรแล้วจึงเปลี่ยนนามมาเป็นเจ้าพระยาจักรี เพราะฉะนั้นการสั่งประหารชีวิตในกรุง จึงไม่ประทับตราจักร คงใช้แต่สั่งประหารชีวิตคนตามหัวเมือง

ลักษณะการประหารชีวิตคนในกรุงฯ นั้น กรมหลวงประจักษ์ฯ เคยตรัสอธิบายว่าไม่มีใครสั่งให้ประหารชีวิต ตามวิธีที่ทำนั้น

(๑) ลูกขุนซัดกฎหมาย ว่าต้องบทกฎหมายให้ประหารชีวิต

(๒) พระเจ้าแผ่นดินซัดลูกขุน ว่าให้เป็นไปตามคำลูกขุนปรึกษา

(๓) นครบาลซัดพระเจ้าแผ่นดิน ว่าให้เอาไปประหารชีวิตตามพระบรมราชโองการ

(๔) หลวงงำเมืองผู้จัดการประหารชีวิต ก็ซัดพระอาทิตย์ เพราะเมื่อเอานักโทษไปถึงที่ประหารชีวิต ให้ทำบุญสุนทร์ธรรมเสร็จแล้วแกใช้อุบายแหงนหน้าดูดวงอาทิตย์ออกปากแต่ว่า “ตะวันบ่ายแล้วนะ”

(๕) พวกเพ็ชฌฆาฏก็ซัดหลวงงำเมือง ว่าคุณหลวงท่านสั่งแล้วเอานักโทษเข้าหลักประหารชีวิตเถิด ซัดกันถึง ๕ ชั้นดังนี้

๒) ทูลวินิจฉัยเรื่องกาพย์กลอนอยู่ข้างลำบากมาก ด้วยไม่มีตำราจะสอบที่นี่ หม่อมฉันนึกว่ามีตำรากาพย์ เรียกว่า “กาพย์สารวิลาสินี” เราได้มาแต่อินเดียจะเป็นอย่างไรก็จำไม่ได้ ดูเหมือนเคยให้หอพระสมุดพิมพ์หนังสือตำรากลอนไว้เล่ม ๑ ขอให้ทรงสืบหามาพิจารณาเถิด

๓) การเซ็นชื่อให้อ่านยากนั้นดูเป็นกิเลศของมนุษย์ มีทุกชาติไม่แต่ไทยเรา หม่อมฉันเคยเห็นจดหมายของฝรั่ง มักจะเป็นพวกนายห้าง เมื่อเซ็นชื่อแล้วเสมียนพิมพ์ดีดพิมพ์บอกไว้ข้างใต้ชื่อว่าชื่อนั้น เพราะคาดว่าจะอ่านลายเซ็นไม่ออก เมื่อเช่นนั้นเหตุไฉนจึงไม่เซ็นชื่อให้อ่านง่าย ก็คิดไม่เห็นข้อแก้ตัวสำหรับคนเซ็นชื่อยุ่่ง ที่พอจะฟังได้ดูมีแต่อย่างเดียว ว่าเพราะต้องเขียนหนังสือมากจะเซ็นชื่อให้ชัดช้าไป แต่สังเกตดูบุคคลชั้นสูงแม้จนพระเจ้าแผ่นดินก็มักเซ็นให้อ่านได้ง่าย ที่ไทยเราชอบเซ็นชื่อให้อ่านยากดูอยู่ในพวก “โซ๊ด” ทั้งนั้น เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ครั้งหนึ่งได้รับใบบอก กรมการตัวรองเซ็นแทนเจ้าเมืองเวลาไม่อยู่ อ่านชื่อออกแต่คำต้นว่า “หลวงวา” คำเดียว หม่อมฉันขัดใจให้เขียนท้องตราตอบว่า “ได้รับใบบอกซึ่งใครคน ๑ เซ้นชื่อแต่อ่านไม่ออก เข้าใจว่าจะเป็นหลวงวานรนิสสัยลงชื่อแทน” หม่อมฉันเอาไปเล่าถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โปรด ต่อมามักตรัสเรียกเซ็นชื่อยุ่งว่า “เซ็นอย่างวานรนิสสัย” อยู่นาน

๔) ชื่อแม่น้ำในเมืองไทย ที่เรียกเป็นชื่อเดียวตลอดสาย พิเคราะห์ดูมูลจะเกิดขึ้นแต่พวกใช้เรือทะเลไปมาค้าขายก่อน พวกนั้นจำเป็นจะเรียกชื่อปากน้ำที่จะแล่นเรือเข้ามาเมืองไทย จึงเอาชื่อตำบลบ้านที่ตั้งอยู่ปากน้ำเรียกเป็นสำคัญ คือปากน้ำบางมังกง ปากน้ำบางเหี้ย ปากน้ำเจ้าพระยา ปากน้ำท่าจีน ปากน้ำแม่กลอง ปากน้ำยี่สาน ปากน้ำบ้านแหลม เกิดชื่อปากน้ำขึ้นด้วยประการฉะนี้ก่อน พวกฝรั่งได้ชื่อที่พวกเดินเรือเรียกปากน้ำเอาไปลงแผนที่ สมมติเป็นชื่อแม่น้ำตลอดสาย แต่ไทยในพื้นเมืองอยู่ริมแม่น้ำไหนก็เรียกแม่น้ำนั้นแต่ว่า “แม่น้ำ” อยู่ที่แม่น้ำแยกเป็น ๒ แควก็เรียกแคว ๑ ว่าแควใหญ่ อีกแคว ๑ เรียกว่าแควน้อย คนต่างเมืองพูดถึงแม่น้ำอื่นก็เอาชื่อเมืองต่อเข้าเรียกเป็นชื่อแม่น้ำ เช่นว่าแม่น้ำฉะเชิงเทรา แม่น้ำเมืองนครชัยศรี แม่น้ำเมืองราชบุรี แม่น้ำเมืองเพชรบุรีชื่อว่าแม่กะลองเป็นชื่อลำห้วยเป็นแต่เผอิญอยู่ทางยอดแม่น้ำแม่กลองห่างไกลมาก หาเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกับปากน้ำไม่ แต่ประหลาดที่อยู่ในแขวงลานนา เรียกชื่อแม่น้ำเป็นสายๆ ว่า แม่น้ำพิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน สันนิษฐานว่าแผ่นดินตอนลานนาเป็นที่สูงมีภูเขาบังคับให้น้ำไหลอยู่คงที่ เป็นแม่น้ำมาหลายพันปีแล้ว แต่ทางข้างใต้เดิมเป็นทะเลเพิ่งเกิดแผ่นดิน และลำน้ำยังเดินเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเป็นที่ใหม่ยังไม่ลงรอย จึงยังเรียกชื่อไม่เป็นระเบียบยืนที่เหมือนตอนแผ่นดินลานนา

๕) ทรงปรารภถึงคำแปลพระบาลีเป็นภาษาไทยนั้น เป็นเรื่องที่ข้องใจหม่อมฉันและได้พิจารณามาแล้ว เกิดแต่อ่านเรื่องที่เขาแปลจากภาษามคธเป็นภาษาอังกฤษ เช่นนิบาตชาดกและมิลินทปัญหาเป็นต้น รู้สึกว่าเข้าใจสนิทดีกว่าที่แปลเป็นภาษาไทย ก็เห็นว่าเป็นเพราะภาษาอังกฤษมีคำสำหรับแปลให้ตรง หรือให้ใกล้กับความที่หมายในคำภาษามคธมากกว่าคำในภาษาไทย ซึ่งต้องแปลทับศัพท์เพราะไม่มีคำตั้ง ๒๕ เปอรเซ็นต์ เพราะฉะนั้นคำแปลพระบาลีเป็นภาษาไทยน่าจะมีคลาดกับความหมายในคำภาษาเดิมอยู่ไม่น้อย อันที่จริงคำอันหมายนามศัพท์ก็ดี กิริยาศัพท์ก็ดี ต้องเคยเห็นสิ้งนั้น หรือเคยเห็นกิริยาอย่างนั้น แล้วจึงจะรู้แน่ มิฉะนั้นก็เป็นแต่สำคัญว่าคงเป็นสิ่งนั้นหรือท่าทางอย่างนั้น ที่สมเด็จพระมหาสมณะฯ ทรงบัญญัติกิริยาเคารพของพระ ก็อาศัยเหตุอย่างเดียวที่จะให้พระแสดงกิริยาอันสมควรในเวลาเมื่อพบพระราชา หม่อมฉันเคยทราบว่าสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทูลปรารภ จึงทรงค้นกิริยาเคารพต่อไปในพระบาลี ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ว่า สิรสานมามิ จะตรงกับก้มศีรษะคำนับนั้นเป็นตัวอย่าง ๆ ดีที่จะอ้างได้ ว่าเพราะไม่เคยเห็นกิริยาสิรสานมามิ พวกฝรั่งโดยเฉพาะพวกนักบวช ที่อยากศึกษาศาสนาคริสตังอย่างถ่องแท้ เขาถือคติว่าต้องไปอยู่ที่เมืองจรูสะเลมชั่วคราว จึงจะเข้าใจความในไบเบลได้จริง เพราะคัมภีร์ไบเบลแต่งในแดนปาเลสไตน์ ความที่กล่าวในไบเบล เช่นกิริยาอาการเป็นต้น ต้องไปดูกิริยาคนในท้องถิ่นที่แต่งไบเบลจึงจะเข้าใจได้ ข้อนี้กล่าวต่อไปได้ถึงรูปภาพที่เขียน พวกช่างสมัยเรนัสซังเขียนรูปคนสมัยพระเยซูแต่งตัวเป็นฝรั่งทั้งนั้น ช่างชั้นหลังที่ได้ไปตรวจตราถึงท้องถิ่นเขียนแต่งตัวเป็นอย่างแขกอาหรับ แต่ก็เพิกถอนแบบเดิมไม่ได้ทีเดียว เพราะชินกันมาเสียนานแล้ว หม่อมฉันเคยปรารภพูดกับพระเถระที่เป็นสมาชิกในมหาเถรสมาคมหลายครั้ง ว่าน่าจะจัดเงินไว้สักก้อน ๑ ราวปีละ ๒๐๐๐ หรือ ๓๐๐๐ บาท แล้วเลือนเปรียญที่ฉลาดส่งออกไปอยู่ในอินเดียคราวละสัก ๒ ปี ให้ไปหาความรู้ในท้องถิ่น ประกอบกับศึกษาพระไตรปิฎก แต่ก็ไม่เป็นผลอย่างใด คิดไปอีกทีก็เห็นเป็นธรรมโลกใช่วิสัยมนุษย์จะแก้ไข ดูแต่ลักษณะครองผ้ากาสาวพัสตรเมื่อครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้ากับพระสาวกคงครองอย่างเดียวกัน ครั้นล่วงพุทธกาลนานมาพระสงฆ์บางพวกห่มคลุม บางพวกห่มแหวก บางพวกถึงใส่เสื้อ ต่างอ้างว่าเหมือนอย่างพระพุทธองค์ทรงครองทั้งนั้น

จะกลับกล่าวต่อไปถึงภาษา พวกนักปราชญ์เขาว่าทุกภาษามีคำที่จะแปลเป็นภาษาอื่นให้ตรงกับความที่หมายในภาษาเดิมไม่ได้ พวกอังกฤษเขาเอาชื่อเพลง Home Sweet Home อ้างเป็นตัวอย่าง ว่าจะแปลเป็นภาษาใดให้ได้ความในคำ Home เหมือนอย่างอังกฤษหมายไม่ได้ ภาษาฝรั่งเศสก็มีคำพวกแปลไม่ได้มาก หม่อมฉันพบในหนังสือภาษาอังกฤษเนืองๆ ที่ยกศัพท์ภาษาฝรั่งเศสเป็นอุทานแล้วบอกว่าไม่มีคำในภาษาอังกฤษจะแปลให้ตรงความทีเดียว ได้แต่บอกเค้าความว่าเป็นเช่นนั้น

สังเกตดูหนังสือไทยที่แปลเป็นเรื่องจากพระบาลีที่แปลกันแต่โบราณ เช่นชินกาลมาลินี หรือมงคลทิปนี เป็นต้น “ดูถอดเอาความออกมาแต่ง แต่หนังสือซึ่งแปลชั้นหลัง เช่นวิสุทธิมรรคเป็นต้น ชอบแปลให้ตรงภาษามคธจนประโยคประธานเป็น “ภาษาสนาม” จึงอ่านเข้าใจความสู้เขาแปลเป็นภาษาฝรั่งไม่ได้ หม่อมฉันเคยให้มหายิ้ม ศิษย์สมเด็จพระวันรัตน (เฮง) ซึ่งสึกออกมาทำงานในหอพระสมุดฯ แปลมิลินทปัญหาเป็นอย่างสำนวนสามัญเช่นฝรั่งแปล เรียกว่า “ปัญหาพระยามิลินท์” พิมพ์ คนก็ชอบอ่านกันมาก แต่ท่านพวกถนัดสำนวนเก่าก็ติเตียนว่าแปลโดยไม่มีความรู้ เพราะถือพยัญชนะเป็นสำคัญกว่าอัตถ ดังเคยทูลไปแล้ว

๖) เรื่องพระเชตวันนั้น เดิมพระองค์ธานีฯ เธอมีลายพระหัตถ์มาถึงหม่อมฉันว่าเธอเห็นในหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพม่าที่หม่อมฉันแต่งว่าที่ในวังเมืองมัณฑะเลมีพระราชมนเทียรองค์ ๑ เป็นที่ไว้ฉลองพระองค์ เรียกว่า “เชตวันซอง” เธอไปเห็นอีกแห่ง ๑ ในบานแผนกกฎหมายมรดก ว่าเมื่อตั้งกฎหมายนั้นพระเจ้าปราสาททอง

“เสด็จสถิตในพระที่นั่งพระพลับพลาทอง โดยอุตราภิมุขพระมหาวิหารพระชัยวัฒนาราม บำเพ็ญพระราชกุศลสถาปนา พระมหาวิหารและพระเชตุพนและพระมหาธาตุ”

เธออยากเห็นว่าที่เรียก “พระเชตุพน” ที่วัดชัยวัฒนารามเป็นอย่างไรขึ้นไปกรุงศรีอยุธยาจึงแวะไปดู แต่ไปติดกับหนามรกเข้าไปไม่ถึง เธอถามหม่อมฉันว่าได้เคยเห็นหรือไม่ว่าพระเชตวันที่วัดชัยวัฒนารามเป็นอย่างไร เพราะเธอได้เห็นวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง (หม่อมฉันจำคำพรรณนาไม่ได้ว่าอะไร) ในวัดมอญแห่ง ๑ เขาทูลเธอว่าวัตถุสิ่งนั้นเรียกว่าเชตวัน

หม่อมฉันเคยตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปทอดพระเนตรวัดชัยวัฒนารามครั้ง ๑ (บางทีพระองค์ท่านก็จะได้เสด็จไปด้วย) ครั้งนั้นพระยาโบราณเขาให้ถางหมดจด จำได้ว่าพระอุโบสถอยู่ริมน้ำข้างหน้าวัด ต่อพระอุโบสถเข้าไปถึงวิหาร หันด้านขื่อลงน้ำอย่างเดียวกับพระอุโบสถ ต่อวิหารเข้าไปก็ถึงบริเวณพระปรางค์อันมีพระระเบียงรอบ และมีพระปรางค์ทิศแผนผังเป็นทำนองเดียวกับพระเมรุกลางเมือง หม่อมฉันเขียนบันทึกถวายพระองค์ธานี มีอธิบายเรื่องพระเชตวันมาแต่ครั้งพุทธกาล และประวัติพระศาสนาต่อมา ปรากฏว่าเมื่อล่วงพุทธกาลแล้ว พุทธศาสนิกชนในอินเดียนับถือเป็นพุทธานุสสรณ์แต่พระบริโภคเจดีย์ ๔ แห่ง กับพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ ไม่ปรากฏว่านับถือพระเชตวันเป็นบริโภคเจดีย์ หม่อมฉันสันนิษฐานว่าการสร้างวัดหรือวัตถุที่เรียกกันว่าเชตวัน จะเกิดขึ้นต่อสมัยเมื่อมีพระพุทธรูปแล้ว เปรียบพระพุทธรูปเป็นพระพุทธองค์ก็เลยเปรียบวิหารหรือวัดอันเป็นที่อยู่ของพระพุทธรูปเปนพระเชตวัน ๆ ที่วัดชัยวัฒนารามก็จะหมายเอาพระวิหารนั้นเอง แต่ดูเหมือนพระองค์ธานีฯ เธอจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น

เบ็ดเตล็ด

๗) ที่เมืองปีนังปีนี้แปลกอยู่ที่วันนักขัตฤกษ์ “ทีปวลี” ของพวกฮินดู อันตกในเดือน ๑๒ ขึ้นค่ำ ๑ อยู่หน้าพระยาวัน “ฮาริราชะ” ขึ้นปีใหม่ของพวกถือศาสนาอิสลาม เพียง ๒ วัน เพราะประดิทินของพวกอิสลามกำหนดเดือนละ ๓๐ วัน ๑๒ เดือน เป็นปีเป็นนิจ ไม่มีอธิกมาศเหมือนประดิทินจันทรคติ

มีอธิบายของพวกฮินดูว่านักขัตฤกษ์ “ทีปวลี” นั้น บรรดาพวกถือศาสนาฮินดู ถึงจะถือลัทธิหรือนิกายต่างกัน ก็นับถือว่าเป็นวันมงคลเหมือนกันหมด ด้วยเป็นวันพระนารายณ์ปราบหิรันตยักษ์ช่วยมนุษย์โลกให้พ้นภัย ถึงวันทีปวลีตามบ้านเรือนแต่งประทีปและคนทั้งหลายไปมาหากัน ให้ของกำนัลแสดงไมตรีจิตต่อกัน ฝ่ายประเพณีพวกอิสลามเมื่อถึงพระยาวันก็ไปมาหากัน และให้ของกำนัลทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้นปีนี้พวกหม่อมฉันจึงได้รับขนมและผลไม้ ซึ่งพรรคพวกทั้ง ๒ ศาสนาเอามาให้แทบกินไม่ไหว เลยคิดต่อไปถึงที่ไทยเราจะเปลี่ยนเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันปีใหม่แต่ปีนี้ไป ดูก็ไม่ลำบากอันใด และมีดีอยู่บ้างที่ทำให้ความเข้าใจกับชาติอื่นในเรื่องประดิทินสะดวกขึ้น ดีกว่าอย่างเช่นใช้เปลี่ยนปีกับเปลี่ยนศักราชต่างเวลากันเสียอีก แต่ก็นึกขันอยู่ถึงการรดน้ำปีใหม่ เดิมรดเมื่อสงกรานต์ในฤดูร้อนจัด เปลี่ยนมารดวันที่ ๑ เมษายนก็ยังร้อน แต่รดน้ำในเดือนมกราคมกำลังหนาวดูก็แปลกอยู่ แต่ก็จะเป็นไรไป เพราะวิธีรดน้ำอย่างเดิมที่รดอาบทั้งตัวก็เปลี่ยนเป็นรดรินพอฝ่ามือเปียกมานานแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. คือนายยิ้ม ปัณฑยางกูร หัวหน้ากองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากรในปัจจุบันนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ