วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

วันที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๓ เมษายน หม่อมฉันได้รับที่บนเขาปีนังเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

วินิจฉัยพระเจดีย์ ๓ องค์ที่หม่อมฉันทูลไป อาศัยคำบอกเล่าว่า พระเจดีย์ ๓ องค์สร้างในแผ่นดินไทยห่างตรงเส้นเขตแดนเข้ามา ถือความเข้าใจอย่างนั้นเป็นหลักดังได้ทูลแล้ว บัดนี้ได้เห็นรูปที่พระยาพหลไปฉายมาถวายท่าน กับคำที่เขาเขียนไว้ข้างหลังรูป รู้ชัดว่าคำบอกเล่าที่หม่อมฉันถือเป็นหลักผิด ก็ทำให้วินิจฉัยผิดไปตามกัน ที่พระเจดีย์สร้างตรงเส้นเขตองค์ ๑ อีก ๒ องค์สร้างในแดนพม่าองค์ ๑ สร้างในแดนไทยองค์ ๑ นั้น ทำให้หลักวินิจฉัยเปลี่ยนไปแทบจะตรงกันข้ามกับหลักเดิม แต่ดูเหมือนจะคิดหาเค้าเงื่อนง่ายกว่าอย่างก่อน เพราะตามที่ปรากฏว่าพระเจดีย์ ๓ องค์สร้างเรียงกัน อยู่ตรงเส้นเขตแดนองค์ ๑ อยู่ในแดนพม่าองค์ ๑ อยู่ในแดนไทยองค์ ๑ เช่นนั้นถือเป็นหลักได้ว่า

๑) รัฐบาลทั้ง ๒ ฝ่ายร่วมมือกันสร้าง

๒) สร้างร่วมมือกันเช่นนั้นต้องเป็นในสมัยเมื่อเป็นมิตรกัน จะต้องคิดค้นว่าสร้างเมื่อใดเป็นข้อสำคัญ หลักของความคิดค้นข้อต้นมีอยู่ที่ในเมืองไทยต่อแดนกับเมืองมอญมิได้ต่อแดนกับเมืองพม่า หรือว่าอีกอย่าง ๑ เมืองมอญคั่นอยู่กลางในระหว่างเมืองไทยกับเมืองพม่า ตามเรื่องพงศาวดารปรากฏว่าในเวลาประเทศมอญเป็นอิสระ มอญมีแต่เป็นมิตรกับไทยหาเคยรบพุงกันไม่ ต่อเมื่อใดพม่าได้เมืองมอญไว้ในอาณาเขต พม่ากับไทยจึงเกิดรบพุ่งกัน เป็นเช่นนั้นมาทุกคราวตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามา จนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตามความที่กล่าวมาส่อให้เห็นว่า การที่ ๒ ฝ่ายพร้อมใจกันสร้างพระเจดีย์ ๓ องค์ขึ้นเป็นเครื่องหมายมิให้เกิดวิวาทกันด้วยเรื่องเขตแดนนั้น ต้องเป็นการระหว่างไทยกับมอญเมื่อเวลาเป็นอิสระมิใช่ไทยกับพม่าอันเป็นข้าศึกจะร่วมมือกัน ตรวจในเรื่องพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สร้างกรุงศรีอยุธยามาจนรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช เมืองมอญเป็นอิสระเรียกว่ารามัญประเทศ เมืองหงสาวดีเป็นราชธานี พระเจ้าแผ่นดินเป็นเชื้อวงศ์ของพระเจ้าฟ้ารั่ว คือพระเจ้าราชาธิราชอยู่ในนั้นด้วยองค์ ๑ ปกครองสืบกันมาถึงสมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครองกรุงศรีอยุธยา ทางเมืองมอญพระเจ้าธรรมเจดีย์ครองกรุงหงสาวดี ในสมัยนั้นปรากฏทั้งในศิลาจารึกที่วัดจุฬามณี ณ เมืองพิษณุโลกและในหนังสือเรื่องราชาธิราชว่า พระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ฝ่ายชอบชิดสนิทสนมกันมาก อาจจะสร้างพระเจดีย์ ๓ องค์ขึ้นเป็นสำคัญปันเขตแดนกันในสมัยที่ว่านี้ และงามจะสร้างในสมัยนี้ยิ่งกว่าสมัยอื่น

ต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เจ้าพม่าราชวงศ์เมืองตองอูมีอำนาจขึ้นด้วยเป็นบุรษพิเศษ ๒ องค์ ทรงนามว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ องค์ ๑ พระเจ้าบุเรงนอง องค์ ๑ ตีได้เมืองพม่าเมืองมอญเมืองยักไข่และเมืองไทยใหญ่ แล้วมาตั้งราชธานีเป็นพระเจ้าราชาธิราชอยู่ ณ เมืองหงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองพยายามตีได้เมืองไทย เอาเป็นเมืองขึ้นอยู่ ๑๕ ปีเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แล้วสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศกลับตั้งเมืองไทยเป็นอิสระ ต้องรบกับพม่าต่อมาจนสมเด็จพระนเรศวรสามารถทำลายกรุงหงสาวดีและได้หัวเมืองมอญมาเป็นเมืองขึ้นของไทยแล้วจึงสิ้นรัชกาล ในสมัยมหาสงครามที่กล่าวมาก็ไม่มีโอกาสที่ไทยกับพม่าจะปักปันเขตแดนกัน

ต่อสมัยนั้นมาพม่าจะกลับตั้งเมืองหงสาวดีให้มีอำนาจอย่างแต่ก่อนไม่ได้ ก็ย้ายกลับไปตั้งราชธานี ณ เมืองอังวะ อำนาจพม่าในเมืองมอญเสื่อมลงโดยลำดับมา จนมอญสามารถกลับตั้งรามัญประเทศเป็นอิสระ และตั้งเมืองหงสาวดีเป็นราชธานีได้อีก พวกพระยามอญยกสมิงทอคนหนึ่งซึ่งว่าเป็นคนมีวิชาความรู้ ขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดี มีราชสาส์นมาขอเป็นทางไมตรีกับไทย เมื่อในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ แต่สมิงทอบังอาจทูลขอราชธิดาเป็นมเหสีมาในราชสาส์น พระเจ้าบรมโกศก็ทรงขัดเคืองไม่รับทางไมตรี ข้อนี้ทำให้เห็นว่าแม้เมื่อมอญกลับตั้งตัวเป็นอิสระครั้งนั้น ก็ไม่มีโอกาสที่จะปักปันเขตแดนกับไทย

ต่อมาพม่ามีบุรษพิเศษชื่ออองไจยะ ชาวบ้านมุกโชโบ สามารถตั้งราชวงศ์อลองพญาปกครองเมืองพม่า และตีได้เมืองไทยใหญ่เมืองมอญเมืองยักไข่เป็นอาณาเขต แล้วมาตีเมืองไทยได้กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ ไทยกับพม่ารบกันมาแต่ครั้งนั้น ตลอดสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์จนรัชกาลที่ ๑ เมื่อเมืองมอญตกเป็นของอังกฤษแล้วจึงสิ้นสมัยศึกพม่า ตอนสมัยนี้ดูก็หามีโอกาสที่จะสร้างพระเจดีย์ ๓ องค์ไม่

พระเจดีย์ ๓ องค์นั้น เป็นของเก่าซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นแน่ ตรวจพิเคราะห์ในเรื่องพงศาวดารเห็นว่าน่าจะสร้างเมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถด้วยเหตุดังกล่าวมา จึงเรียกทางสายนั้นว่าทางพระเจดีย์ ๓ องค์มาเก่าแก่

พิจารณาดูลักษณะพระเจดีย์ ๓ องค์ในรูปฉาย รูปเป็นพระเจดีย์มอญเป็นแน่ อาจจะเป็นเพราะช่างมอญทำ แต่รอยปฏิสังขรณ์ดูใหม่มาก นานที่สุดก็จะเป็นครั้งเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี) ยกกองทัพไปทางนั้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ หรือมิฉะนั้นก็เมื่อไทยปักปันเขตแดนกับอังกฤษในรัชกาลที่ ๔ แต่ฉัตรยังยิ่งใหม่กว่านั้น อายุเห็นจะไม่แก่กว่า ๒๐ ปี น่าจะเป็นของพวกคนเดินทางสร้างใช้บน น่าขอบใจพระยาพหลที่เขาไปให้ถากถางตรวจตราและฉายรูปมาให้รู้ได้แน่ตระหนัก หม่อมฉันส่งรูปฉาย ๒ แผ่นนั้นคืนถวายมากับจดหมายนี้

อธิบายเรื่องยี่เกที่ประทานมาอ่านสนุกดี และคติที่หม่อมฉันเพิ่งรู้ชัดเพราะทราบอธิบายที่ประทานก็มี คือที่กระบวนรำละครอาจจะเกิดเกี่ยงแย่งกับปี่พาทย์ถ้าหากตัวละครไม่รู้กระบวนเพลง หม่อมฉันเคยสังเกตแต่เพียงรำเพลงเชิดละครย่ำเท้าอยู่สักหน่อยก็จึงยกมือป้องเป็นสัญญาหยุดปี่พาทย์และเมื่อเขนออกเพลงกราว ตะโพนตียักไปตามท่าแขนมิรู้ว่าต้องใช้ความรู้ดังทรงอธิบายมา

ข้อที่พระยาอรรคนิธินิยม เดิมชื่อ “แซมยวล” อย่างฝรั่งมาแปลงเป็น “สมุย” นั้น ถ้าไม่มีผู้รู้เรื่องบอกความจริงให้ก็เห็นพ้นวิสัยที่ใครจะคิดเห็นได้ ยังน่าสงสัยอยู่แต่ว่าจะเป็นเพราะลิ้นเรียกแซมยวลไม่ได้ชัดจึงกลายเป็นอะไรไปอย่างหนึ่งก่อน แล้วจึงกลายมาเป็นสมุยหรือจงใจเปลี่ยนชื่อเพื่อจะให้เป็นภาษาไทย แต่เจ้าตัวก็ตายแล้วควรปิดปัญหาได้

ทูลเรื่องทางเมืองปีนัง

เรื่องจำนวน ๑๐๘ ใช้เป็นหลักของอะไรต่ออะไรต่างๆ ซึ่งหม่อมฉันเคยทูลว่า ในคัมภีร์พระปรมัตถ์ก็มีว่าตัณหา ๑๐๘ นั้น บัดนี้พบเกณฑ์คำนวนตัณหา ๑๐๘ ในหนังสือวิสุทธิมรรค ว่า (มูล) ตัณหามี ๖ อย่างเรียกว่ารูปะตัณหา อย่าง ๑ สัตตตัณหา อย่าง ๑ คันธตัณหา อย่าง ๑ รัสตัณหา อย่าง ๑ โผฏฐัพพตัณหา อย่าง ๑ ธรรมตัณหา อย่าง ๑

ตัณหาทั้ง ๖ อย่างนั้น แต่ละอย่างอาจจะเป็นประเภทกามตัณหาก็ได้ หรือภวตัณหาก็ได้ หรือวิภวตัณหาก็ได้ เมื่อนับตามประเภทด้วย (๖×๓) จึงเป็นตัณหา ๑๘ อย่าง

ตัณหา ๑๘ อย่างนั้นแต่ละอย่างอาจจะเกิดขึ้นภายในก็ได้ หรือเกิดขึ้นภายนอกก็ได้ นับที่เกิดด้วย (๑๘×๒) จึงเป็นตัณหา ๓๖ อย่าง

ตัณหา ๓๖ อย่างนั้น แต่ละอย่างอาจจะเกิดในอดีตกาลก็ได้ หรือปัจจุบันกาลก็ได้ หรืออนาคตกาลก็ได้ นับกาลเข้าด้วย (๓๖×๓) จึงเป็นตัณหา ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้

หญิงโหลมาเล่าถึงเรื่องไปเที่ยวไทรโยค และหญิงเป้าฝากสำเนาบทกลอนที่พระยาเพ็ชรพิสัยศรีสวัสดิ์ (แม้น วสันตสิงห) แต่งพรรณนาทางที่ไปมาให้หม่อมฉันฉบับ ๑ อ่านได้ความรู้แปลกๆ บางอย่าง เห็นสมควรจะทูลบรรเลงถวายได้

เมื่อเราไปตามเสด็จฯ นั้นออกจากกรุงเทพฯ ไปเรือแจวทาง ๒ วันถึงเมืองนครปฐม ออกจากเมืองนครปฐมไปทางบกด้วยพาหนะม้าและรถทาง ๒ วันถึงเมืองกาญจนบุรี ออกจากเมืองกาญจนบุรีไปเรือแจวทาง ๗ วันถึงเมืองไทรโยค รวมวันเดินทางแต่กรุงเทพฯ ไป ๑๑ วันจึงถึงไทรโยค

เขาไปไทรโยคกันเดี๋ยวนี้ ออกจากกรุงเทพฯ ไปรถไฟ ไปเปลี่ยนขึ้นรถยนต์ที่เมืองนครปฐม หรือที่บ้านโป่ง ไปถึงเมืองกาญจนบุรีได้ในวันเดียวไม่ถึง ๔ วัน เช่นไปกันแต่ก่อน ตอนไปจากกาญจนบุรีไปเรือพ่วงเรือยนต์จูงไป ๓ วันถึงไทรโยค ไม่ถึง ๗ วัน เช่นไปกันแต่ก่อน

ไปไทรโยคอย่างในสมัยเมื่อเราไป ที่เป็นตัวนายต้องมีเรือและคนแจวจัดหาไปเอง เดี๋ยวนี้ก็ไม่เช่นนั้น ด้วยมีพ่อค้าเจ้าของรถยนต์ที่เดินรับโดยสารในระหว่างเมืองนครปฐมกับเมืองกาญจนบุรี เขามี “เรือมอ” เช่นเรือบรรทุกข้าวเปลือกสำหรับรับพวกท่องเที่ยว และมีเรือยนต์สำหรับจ้างไว้ให้เช่าขึ้นไปไทรโยค เรียกค่าเช่าเรือยนต์ลำ ๑ กับเรือมอพ่วง ๒ ลำรวมกันละ ๑๕ บาท เรือมอนั้นทำเพดานและปูพื้นตลอดลำ คนไปปูที่นอนเรียงกันแต่ตอนหัวเรือไปจนกลางลำ ตอนท้ายเบ้นที่ทำครัว เวลาถึงที่พักเอาเต๊นท์ไปปักเป็นส้วมที่บนบก ผู้ดีที่ร่วมกันไปเป็นพวกจึงสามารถไปได้โดยลำพังตัว ไม่จำต้องมีกำลังพาหนะอื่นนอกจากเงินตรา

น่าประหลาดใจอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยเมื่อเราไปเรือแจวนั้น เวลาขึ้นแก่งอยู่ข้างลำบากประดักประเดิดมิใช่น้อย ที่เขาก็ไปในเดือนมกราคมเวลาน้ำลดแล้วฤดูเดียวกับที่เราไป ไฉนสามารถเอาเรือยนต์จูงเรือพ่วงผ่านแก่งต่างๆ ขึ้นไปได้จนถึงไทรโยค ถามหญิงโหลเธอบอกว่าแก่งที่สำคัญเช่นแก่งหลวงเดี๋ยวนี้เขาระเบิดเปิดเป็นช่องกว้างเรือขึ้นได้ง่ายกว่าแต่ก่อน แต่บางแก่งเรือยนต์ต้องขึ้นไปก่อน แล้วโรยเชือกลงมาให้เรือมอลากตามขึ้นไป ถึงกระนั้นก็เห็นจะเป็นเพราะคนเดินเรือเคยขึ้นล่องจนชินแล้วจึงไปมาได้สะดวก

อ่านบทกลอนที่พระยาเพ็ชรพิสัยพรรณนาเขาไม้ในระหว่างทาง เกิดความเสียดายขึ้นด้วยปรากฏว่าน้ำตก “พุท้องช้าง” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรด และตรัสชมไว้ในพระราชนิพนธ์ “นิราศท่าดินแดง” ยืดยาวลงปลายว่า

“ชะลอได้ก็จะใคร่ชะลอมา ให้เป็นที่ผาสุกทุกนางใน”

เมื่อเราไปตามเสด็จก็ยังดีได้ไปเล่นน้ำกันที่พุนั้น แต่เดี๋ยวนี้พังเสียหมดแล้ว

อีกแห่ง ๑ ที่เรียกว่า “ถ้ำผี” ท่านคงยังทรงจำได้ มีภูเขาเทือกหนึ่งลงมาจรดริมน้ำตอนหนึ่งในเขานั้นเป็นหน้าผามีปากถ้ำคล้ายกับซุ้มคูหาอยู่สูงขึ้นไปราวสัก ๑๕ วา มีอะไรสีเหลืองๆ ดูเหมือนอย่างรูปพระขนาดเขื่องกว่าตัวคนยืนอยู่ในถ้ำนั้น แรกเห็นออกน่ากลัว คงเป็นสิ่งนั้นเองที่เป็นนิมิตให้เรียกกันว่าถ้ำผี หม่อมฉันจำไม่ได้ถนัดว่าได้ปีนขึ้นไปเองหรือให้คนอื่นปีนขึ้นไปดูรูปนั้น ได้ความว่าเป็นโขนเรือกราบซึ่งเอาขึ้นไปตั้งยืนไว้ก็นึกรู้ว่าคงเป็นโขนเรือกระบวนครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จไปรบพม่าที่ดินแดนแต่เพราะเหตุใดจึงเอาขึ้นไปตั้งไว้ในถ้ำ อันจำต้องผูกเชือกใช้คนมากช่วยกันฉุดชักเอาขึ้นไป ข้อนี้ไม่มีทางที่จะรู้ได้ ถึงกระนั้นก็เป็นวัตถุเข้าในโบราณคดี แต่ตามคำพระยาเพ็ชรพิสัย ฯ ปรากฏว่าเดี๋ยวนี้คนเข้าใจกันว่าไม้ตะเคียนที่ทำโขนเรือนั้นเป็นยาอายุวัฒนะ “คนโบราณท่านเอาไปตั้งไว้ให้เป็นทาน” ใครผ่านไปก็มักจะปีนขึ้นไป “ขอเจียด” ถากเอาไปคนละเล็กละน้อย เป็นสัญญาว่าต่อไปไม่เร็วก็ช้าโขนเรือนั้นสูญหายไปหมดจึงน่าเสียดาย

หม่อมฉันขึ้นมาพักอยู่บนเขาปีนังได้สัปดาหะหนึ่งแล้ว เวลานี้อากาศกำลังสบายดี ไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัดทั้ง ๒ สถาน ปรอทกลางวันราว ๘๐ กลางคืนลดไปเพียง ๗๕ เรือนของพระยารัตนเศรษฐีเขาก็ทำดีอยู่สบายด้วยกันทั้งหมด เสียแต่ที่สร้างเรือนอยู่ไหล่เขาต่ำลงมาจากถนนสายกลางทางเดินเล่นกว่าเท่าภูเขาทอง และสูงกว่าถนนทางเดินเล่นสายล่างเท่าภูเขาทองเช่นเดียวกัน เวลาไปเดินเล่นถ้าจะไปถนนสายกลางหม่อมฉันต้องขึ้นเก้าอี้หามขึ้นไปจนถึงถนน ถ้าจะไปให้ถึงถนนสายบนถึงยอดเขา ต้องไม่ขึ้นรถเกริ่นที่สถานี ถนนสายกลางที่ปากอุโมงขึ้นไปถึงถนนสายบน แต่ขากลับพอเดินลงได้ตลอดจนถึงบ้าน ถ้าจะไปเที่ยวทางถนนสายล่างเดินลงไปได้ แต่ขาขึ้นต้องไปขึ้นรถเกริ่นที่สถานีกลางย่าน มาลงที่สถานีเหนืออุโมงเดินกลับมาบ้าน แต่เด็กๆ ชั้นหลานเที่ยวกันทั้งเช้าทั้งเย็น ปีนขึ้นยอดเขาวันละ ๒ ครั้งก็ได้ สงสารแต่เจ้าหญิงลูก ๆ เธอเป็นชั้นผู้ใหญ่แล้ว เวลาเดินขึ้นสูงไปไกลๆ ต้องพักผ่อนเหนื่อยเป็นระยะไป หม่อมฉันต้องขอให้เธอผลัดกันไปกับหม่อมฉัน และไปแต่ในวันที่เธอเห็นว่าจะไม่เหนื่อยนัก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ