วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๕ ธันวาคมแล้ว พนักงานไปรษณีย์ยังไม่เชิญลายพระหัตถ์เวรที่มาถึงปีนังเมื่อคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มาส่ง หม่อมฉันจะเขียนจดหมายฉบับนี้มิให้เสียเวลาจึงจะตั้งต้นทูลเรื่องปกิรณกะก่อน

ปกิรณกะ

๑) หม่อมฉันได้รับจดหมายหญิงจงเมื่อคราวเมล์วันพฤหัสบดีก่อน บอกว่าเธอจะกลับไปกรุงเทพฯ ได้พบสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านปรารภว่าจะมีลิขิตมาถามหม่อมฉันถึงยศสมเด็จพระสังฆราช ว่าเทียบกับเจ้าชั้นใด หม่อมฉันจึงคิดดู และจะทูลหารือเสียก่อน

ที่ว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงศักดิเสมอเจ้านั้นไม่มีในกฎหมายลายลักษณ์ มีแต่ในคำพูดเช่นว่าสมเด็จพระสังฆราช “ตรัส” สมเด็จพระสังฆราช “สิ้นพระชนม์” เป็นต้น มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ฟังได้ว่าเทียบศักดิ์เสมอเจ้าจริง แต่ข้อที่ว่าเทียบด้วยเจ้าชั้นใดนั้น ได้แต่พิเคราะห์เครื่องยศสมเด็จพระสังฆราช ที่เหมือนกับเครื่องยศเจ้าและขุนนางชั้นไหน ที่เห็นชัดคือเครื่องประกอบโกศศพเป็นต้น ศพเจ้าพระยาจตุสดมภ์ประกอบโกศแปดเหลี่ยม ศพเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีประกอบโกศไม้สิบสอง ศพสมเด็จเจ้าพระยาประกอบโกศกุดั่น ศพพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองรับหิรัญบัฏ ประกอบโกศไม้สิบสองเสมอเสนาบดีจตุสดมภ์ ศพสมเด็จพระราชาคณะรับสุพรรณบัฏ ประกอบโกศไม้สิบสองเสมอเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ศพสมเด็จพระสังฆราช (สา) ประกอบโกศกุดั่นเสมอสมเด็จเจ้าพระยา

ประกอบโกศที่ทรงพระศพเจ้านาย ถ้ามิใช่พระราชกุมารชั้นพระองค์เจ้า (เมื่อรัชกาลที่ ๔) ใส่หีบทองทึบ ชั้นต่างกรมประกอบโกศไม้สิบสอง ถ้าเป็นพระราชกุมาร (ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา) ชั้นพระองค์เจ้าและต่างกรม กรมสามัญชั้นกรมหมื่นประกอบโกศมณฑป ชั้นต่างกรมผู้ใหญ่ แต่กรมขุนขึ้นไปประกอบโกศกุดั่น โดยอธิบายที่ปรากฏว่าประกอบโกศกุดั่น แต่พระศพเจ้านายพระราชกุมารที่เป็นต่างกรมผู้ใหญ่อย่าง ๑ กับประกอบโกศสมเด็จพระสังฆราชอย่าง ๑ กับประกอบโกศศพสมเด็จเจ้าพระยาอย่าง ๑ ส่อว่าทั้ง ๓ ศักดิ์นั้นเทียบกัน

อนึ่ง ศักดิ์สมเด็จเจ้าพระยานั้น ทูลกระหม่อมโปรดให้มีจางวางทนายเป็นหลวง ปลัดจางวางเป็นขุน สมุห์บัญชีเป็นหมื่น และพระราชทานยศสมเด็จเจ้าพระยาเหมือนอย่างเจ้าต่างกรม ดูก็เทียบตรงกับชั้นกรมหลวง เพราะฉะนั้น หม่อมฉันเห็นว่าศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช ก็เห็นจะเทียบกับเจ้านายต่างกรมผู้ใหญ่ชั้นกรมหลวง จะทรงเห็นอย่างไร

๒) เมื่อเร็วๆ นี้ หม่อมฉันอ่านหนังสือฝรั่งชื่อ Vané ผู้เคยเป็นราชทูตอิตาลีอยู่เมืองจีนแต่ง ได้ความรู้แปลกชอบกลอย่างหนึ่ง ว่าคำที่ว่า “ตาย” จีนใช้คำผิดกันตามชั้นยศของผู้ตาย จึงน่าพิศวงว่าไฉนจึงมาเหมือนกับประเพณีในเมืองเรา จะเข้าใจว่าเป็นประเพณีของชนชาติไทยและจีนถืออย่างเดียวกันมาแต่เดิมก็ปลงใจไม่ได้สนิท เพราะการที่เรียกความตายตามชั้นยศดูใช้แต่ในราชธานี หาชอบใช้ทั่วไปในบรรดาไทยทุกจำพวกไม่

ลองคิดพิเคราะห์ดูตามลักษณะที่เรียกตายต่างกัน เบื้องต่ำแยกเป็น ๒ อย่างว่า “ถึงแก่ความตาย” หมายความว่าตายด้วยเจ็บไข้เป็นสามัญ อย่าง ๑ “ขาดใจตาย” คือตายด้วยถูกประหารอย่าง ๑ ชั้นสูงขึ้นไปก็แยกความตายเป็น ๒ อย่าง แต่หมายความต่างกันไปอีกทางหนึ่ง อย่าง ๑ หมายความแต่ว่าตายไม่เกี่ยวถึงคติ คำว่า สิ้นชีพ สิ้นพระชนม์ ถึงแก่กรรม ถึงอนิจกรรม ถึงอสัญกรรม ถึงมรณภาพ อยู่ในพวกนี้ อีกอย่าง ๑ บอกคติที่ผู้ตายจะไปถึง คำว่าสวรรคต สุรคติ ทิวงคต นิพพาน อยู่ในพวกนี้ หรือว่าอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไปตามยถากรรมพวก ๑ ตายไปสู่สุคติภูมิ พวก ๑ ความต่างกันเพียงนั้น

ที่เอาคำต่างๆ เหล่านั้นมาปรับใช้กับยศของผู้ตายเป็นของคิดใหม่ เพราะสังเกตดูในหนังสือเก่าจะใช้คำอย่างไหน ดูสุดแต่ผู้แต่งจะเห็นไพเราะหามีกำหนดกฎเกณฑ์อันใดไม่ ถ้าจะมีเป็นแน่ก็แต่ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เรียกว่าสวรรคต ถ้าพระใช้ว่ามรณภาพ แต่คฤหัสถ์ตายใช้ว่ามรณะก็มี ว่าตามที่จำได้ เช่นคำว่า ทิวงคต ในหนังสือเก่าใช้ถึงพระเจ้าแผ่นดินก็มี เพิ่งเอามาบัญญัติใช้เป็นแบบ เมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เพราะรังเกียจไม่อยากใช้คำสวรรคตเหมือนกรมพระราชวังในรัชกาลก่อนๆ จะใช้คำสิ้นพระชนม์ก็เกรงพระทัยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งมีท่านพระองค์เดียวเป็นผู้อยากรักษาแบบโบราณอยู่ในเวลานั้น ถึงคำ ถึงอนิจกรรม และถึงแก่กรรม ก็เคยได้ยินสงสัยกัน ใครจะบัญญัติก็ไม่ทราบ ว่าต่อชั้นพระยาขึ้นไปจึงใช้อนิจกรรม ขุนนางต่ำกว่าศักดิ์พระยาให้ใช้คำถึงอนิจกรรม ถ้ามิได้เป็นขุนนางให้ใช้ว่า ถึงแก่ความตาย ดูประเพณีที่ไม่เป็นหลักเป็นฐาน

๓) เมื่อวันพุธที่ ๑๑ พระองค์หญิง ๔ กับเจ้าชายฉัตรมงคลพาลูก ๒ คนกลับจากชวามาถึงปีนัง หม่อมฉันชวนเธอทั้ง ๒ มาเสวยกลางวันด้วยกันเมื่อวันพฤหัสบดี ถามถึงเจ้านายที่บันดุง ได้ความว่าทรงสบายดีอยู่ด้วยกันทั้งหมด กรมหลวงทิพยรัตนประชวรเป็นบิดก็หายเป็นปกติแล้ว เธอกลับเข้าไปกรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๓

๔) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มีคนออกมาจากกรุงเทพฯ เขาเอาใบบัตรดำกับดอกไม้ธูปเทียนซึ่งทำขนาดเล็กสำหรับส่งมาทางไกล มาให้หม่อมฉัน บอกข่าวว่าเจ้าชายเสริมสวาสดิ์ กฤดากร สิ้นชีพตักษัย รู้สึกเสียดายและสงสารหม่อมแม่กับเมียของเธอมาก แต่ไม่ประหลาดใจ ด้วยเจ้าชายเสริมเป็นโรคหัวใจบวม หมอเขาได้กระซิบบอกเจ้าภาพให้รู้มานานแล้ว ว่าไม่มีทางจะรักษาให้หาย และอาจจะสิ้นชีพได้โดยปัจจุบันทันด่วน

๕) หม่อมฉันคอยลายพระหัตถ์เวรอยู่ตลอดวันอาทิตย์ วันจันทร์ก็ไม่ได้ นึกว่าค้างอยู่ทางไปรษณีย์ในเมืองไทย จนเช้าวันอังคารที่ ๑๗ เขาจึงเอามาส่ง เพราะฉะนั้นจะเขียนทูลสนองลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ในคราวเมล์นี้ก็จะทูลได้แต่อย่างลวก ด้วยเป็นวันกำหนดเคยทิ้งไปรษณีย์ จดหมายในวันนี้ขอประทานผัดไปทูลสนองพร้อมกับจดหมายเวรฉบับหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ