วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

พนักงานไปรษณีย์เขาส่งลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๗ พฤษภาคม มาถึงหม่อมฉันโดยเรียบร้อย เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ เวลาบ่ายช้ากว่าเมื่อก่อนเกิดสงครามเพียง ๖ ชั่วโมง เมื่อเวลาหม่อมฉันอยู่บนเขา เขาก็เอามาส่งที่ซินนามอนฮอลวันศุกร์เหมือนกัน ต่อรุ่งขึ้นคนที่บ้านจึงเอาขึ้นไปให้ จึงได้รับต่อวันเสาร์ดังทูลไปทั้ง ๒ สัปดาหะ

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

พระเจดีย์ ๓ องค์นั้นโดยปกติอยู่ในป่าไม้รกเรี้ยว มีแต่ทางอย่างรอยคนเดินผ่านไปใกล้ๆ ใครได้ไปเห็นแต่ก่อนมาก็เห็นพระเจดีย์ ๓ องค์ แต่บางส่วนว่าเป็นของก่ออิฐถือปูนไม่ได้เห็นทรวดทรงสัณฐานถนัดทั้งองค์พระเจดีย์ รูปที่พระองค์หญิงอดิศัยฉายมาประทานหม่อมฉันก็เช่นนั้น รูปที่ผู้อื่นฉายมาก่อนขึ้นไปก็คงเป็นเช่นเดียวกัน แต่พระยาพหลไปด้วย ตั้งใจจะดูให้เห็นถนัดทั้งมีกำลังพาหนะสามารถที่จะแผ้วถางให้เตียนตลอดลานพระเจดีย์ และองค์พระเจดีย์ด้วย รูปที่พระยาพหลฉายมาจึงนับว่าเป็นรูปตำราที่ทำให้เห็นพระเจดีย์ ๓ องค์ได้ถนัด เคยมีเรื่องคล้ายอย่างนี้มากับตัวหม่อมฉันเอง ครั้งหนึ่งเมื่อยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขึ้นไปตรวจราชการถึงเมืองเชียงใหม่ ครั้งแรกขากลับลงมาทางเรือ เมื่อมาถึงเมืองกำแพงเพชร เขาจัดให้พักที่ “เมืองใหม่” อันเป็นที่ตั้งบ้านเรือนผู้คนอยู่ใต้ “เมืองเก่า” อันเป็นเมืองโบราณลงมาสัก ๑๐ เส้น หม่อมฉันอยากเห็น “กำแพงเพชร” ว่าจะเป็นอย่างไร ขอให้เขาพาไปดู ต้องจัดพนักงานถากถางนำหน้าไปกอง ๑ ด้วยที่ในเมืองเก่าต้นไม้ใหญ่ขี้นเป็นดงทึบ และยังมีป่าหวายและไม้เล็กต่อออกมาข้างนอก ต้องถางพอเป็นทางเดินเข้าไปถึงชานกำแพงเมือง เขาชี้ตามช่องก่อหวายให้ดูว่า “นั่นกำแพงเมือง” ได้เห็นเมืองกำแพงเพชรเพียงรู้ว่าใบเสมาก่อด้วยศิลาแลงเท่านั้น ต่อมาถึงสมัยเมื่อหลวงสรรค์บุรานุรักษ์ (ฉาย) ซึ่งเป็นนายอำเภอเมืองสรรค์อยู่ก่อนได้เป็นที่พระวิเชียรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร แกไปคิดเห็นว่าที่คนอยู่เมืองกำแพงเพชรมักตายด้วยเป็นไข้ป่า เป็นเพราะอยู่ใกล้ดงในเมืองเก่า จึงตั้งหน้าพยายามถางดงนั้น เผอิญสบโชคดีด้วยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จไปประพาสถึงเมืองกำแพงเพชร ครั้ง ๑ ต่อมาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปประพาสอีกครั้ง ๑ (เข้าใจว่าท่านก็ไปตามเสด็จด้วย) เป็นโอกาสที่จะขอแรงระดมราษฎร ช่วยกันแผ้งถางเมืองเก่าให้ทอดพระเนตร หม่อมฉันจึงได้เห็นว่ากำแพงเพชรนั้นทำแต่บนสันปราการที่ถมดินแทนปักไม้ระเนียด มิใช่ก่อขึ้นไปจากพื้นดินเหมือนกำแพงเพชร ศรีสัชนาลัย หรือพระนครศรีอยุธยา แต่การถางครั้งนั้นทำให้เมืองกำแพงเพชรกลายเป็นเมืองโบราณที่สำคัญสำหรับคนไปดู และปราบความไข้ที่เมืองกำแพงเพชรลงได้แต่นั้นมา ตัวพระวิเชียรปราการ (ฉาย) ต่อมาก็ได้เลื่อนที่เป็นพระยาชัยนฤนาท ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นคนโปรดของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ คน ๑

ที่ตรัสเล่ามาถึงเรื่องปี่พาทย์ในพระนคร ไปตีประชันปี่พาทย์ชาวสวนไม่ได้นั้น เคยปรากฏแก่หม่อมฉันครั้ง ๑ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปประพาสจังหวัดราชบุรีในฤดูน้ำ สมเด็จพระราชปิตุลาเป็นแม่กองทำแพพลับพลาแรมรับเสด็จที่ทุ่งเขางู ถึงเวลาท่านเอาปี่พาทย์วังบูรพาของท่านวง ๑ กับตรัสสั่งให้เรียกปี่พาทย์ชาวเมืองสมุทรสงครามวง ๑ ไปทำบรรเลงประชันกันที่พลับพลา ปี่พาทย์วังบูรพาใช้เครื่องใหญ่และมีเครื่องประกอบต่างๆ ตัวพวกปี่พาทย์ก็ล้วนคนหนุ่มว่องไว แต่ปี่พาทย์วงเมืองสมุทรสงครามใช้เพียงเครื่องคู่ พวกปี่พาทย์ก็ล้วนคนแก่อายุไม่มีที่จะต่ำกว่า ๕๐ ปีสักคนเดียว แต่เมื่อทำประชันกันบรรดาคนฟังเห็นเป็นอย่างเดียวกันหมดว่าปี่พาทย์วังบูรพาสู้วงเมืองสมุทรสงครามไม่ได้ ด้วยปี่พาทย์วังบูรพาดังเป็นกราวเขน แต่ปี่พาทย์เมืองสมุทรสงครามเขาไพเราะ ได้ความภายหลังว่าเขาเลือกล้วนตัวครูมาทั้งนั้น ถึงต่อมาถึงรัชกาลที่ ๗ เมื่อมีปี่พาทย์ในกรมมหรสพ ๒ วงเรียกว่า “ปี่พาทย์พระเพลง” เป็นปี่พาทย์ข้าหลวงเดิมรัชกาลที่ ๖ วง ๑ ปี่พาทย์ “หลวงประดิษฐ์ (ไพเราะ)” อันสืบสายมาแต่ปี่พาทย์วังบูรพา วง ๑ หม่อมฉันฟังก็ชอบวงพระเพลงด้วยเขาทำไพเราะ แต่วงหลวงประดิษฐ์ดังเป็นกราวเขนเช่นปี่พาทย์วังบูรพาแต่ก่อน

ปราสาทหินที่เมืองสิงห์แม่น้ำน้อยจังหวัดกาญจนบุรีนั้น พวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสเขาได้ไปตรวจทำแผนผังและฉายรูปมาพิมพ์แล้ว ยังมีฝาผนังเหลืออยู่บ้าง ดูเป็นเทวสถานอย่างย่อมๆ หม่อมฉันได้เห็นแก่ตาเองครั้งหลัง เมื่อตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปไทรโยค แต่เวลานั้นก็ไม่ได้เอาใจใส่พิจารณาเท่าใดนัก ไม่สามารถจะทูลได้นอกจากว่าพวกฝรั่งเศสเขาตรวจแล้ว

เรื่องพิธีเนื่องกับเจ้านายประสูติที่ตรัสถามมานั้น หม่อมฉันเคยพบตำราเก่า ซึ่งเข้าใจว่าจะแต่งเมื่อครั้งกรุงธนบุรี บอกอธิบายแบบแผนครั้งกรุงศรีอยุธยา หม่อมฉันได้เขียนวิจารณ์ให้พระยาอนุมานราชธนไปแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ มีสำเนาวิจารณ์อยู่จึงให้คัดมาถวายกับจดหมายเวรฉบับนี้ให้ทอดพระเนตรและทูลตอบตามรู้เห็นข้อปริศนาที่ตรัสถามด้วย

๑) ปี่พาทย์ประโคมเมื่อพระเจ้าลูกเธอประสูตินั้น ผู้หญิงทำทั้งปี่พาทย์และแตรสังข์ แต่ฆ้องชัยเป็นพนักงานผู้ชายคุมเข้าไปคอยอยู่กับปี่พาทย์ การให้ผู้ชายเข้าไปฝ่ายในเวลาดึกดื่นนั้นไม่ขัดข้อง ตัวหม่อมฉันเองก็ได้เคยเข้าไปคอยอย่างนั้นครั้งหนึ่งเมื่อกรมหลวงสิงห์ฯ จะประสูติ โปรดให้ส่งนาฬิกาตู้ข้างพระที่ลงไปที่ตำหนักเจ้าจอมมารดาทับทิมตามแบบ แล้วมีรับสั่งให้พระองค์เจ้ายี่เข่งออกไปปลุกหม่อมฉันที่โรงทหารมหาดเล็ก ให้เข้าไปนั่งคอยจดเวลาประสูติถวายสำหรับทรงผูกดวงชะตา แต่พระองค์อื่นประสูติใครจะเป็นผู้จดเวลาหม่อมฉันหาทราบไม่

แตรวงประโคมเวลาประสูติมีแต่เจ้าฟ้าพระองค์ชาย และใช้แต่แตรวงทหารมหาดเล็กกรมเดียว เมื่อหม่อมฉันเป็นนายร้อยตรีบังคับแตรวงทหารมหาดเล็กต่อจากกรมหลวงอดิศรฯ เคยเข้าไปนอนอยู่ที่เก๋งกรงนกหลายคราว น่าจะเป็นประเพณีมีขึ้นในรัชกาลที่ ๕ แต่จะมีมูลเหตุมาอย่างไรหม่อมฉันไม่ทราบ

๒) พระแท่นประสูติกับกระดานอยู่ไฟของเจ้าจอมมารดา ไม่จำเป็นจะต้องยกเข้าไปก่อนประสูติ เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจว่าจะเข้าไปต่อเมื่อประสูติแล้ว กระดานอยู่ไฟของเจ้าเรียกว่า “พระแท่นบรรทมเพลิง”“แต่ของเจ้าจอมมารดาไม่เคยได้ยินเรียกว่ากระไร นึกว่าเห็นจะเรียกว่า “กระดานอยู่ไฟ” ตามที่เรียกกันเป็นสามัญ ถ้าเปลี่ยนคำก็คงเป็น “เตียงอยู่ไฟ” แต่ไม่เคยได้ยินเรียก ข้อนี้เอาเป็นไม่รู้

๓) การสมโภชเดือนนั้น ก่อนวันฤกษ์มีพระสงฆ์ ๕ รูป สวดมนต์ถึงวันฤกษ์เวลาเช้าทำพิธีเจริญพระเกศา ผู้ประเดิมน่าจะเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายใน เพราะไม่เคยได้ยินว่าเจ้านายผู้ชายเข้าไปทำพิธีนั้น แต่ข้อนี้ถ้าตรัสสั่งให้หญิงแก้วทูลถามสมเด็จพระพันวัสสาคงจะได้ความจริง เวลาเจริญพระเกศานั้นพระสวดชยันโตเหมือนโสกันต์ เจริญพระเกศาแล้วพระครูพราหมณ์เชิญลงสรงในขันสาคร ถ้าเวลาฤกษ์สายเลี้ยงพระก่อนเจริญพระเกศา ถ้าฤกษ์เช้าเจริญพระเกศาแล้วจึงเลี้ยงพระเมื่อเวลาสรง อย่างพิธีโสกันต์ ที่ทำตัวกุ้งปลาปิดกระดาษทองใส่กรงลงแช่น้ำในขันสาครก่อนสรงนั้น เห็นว่าคงย่อมาจากพิธีลงสรงดังท่านทรงพระดำริเป็นแน่ คิดดูก็พอเห็นเหตุ ด้วยพิธีลงสรงเป็นพิธีใหญ่ทำยาก นานๆ จะได้ทำสักครั้ง ๑ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดเวลากว่า ๑๕๐ ปีก็ได้ทำ ๒ ครั้งเท่านั้น อีกประการ ๑ พิธีการสรงของเจ้านายพิเคราะห์ดูมีลักษณะเป็น ๒ อย่าง คือลงแช่พระองค์ในน้ำอย่าง ๑ กับสรงน้ำพระองค์อย่าง ๑ ที่ลงแช่พระองค์ในน้ำมีแต่พิธีตรงกับลงสรงในขันสาครเมื่อสมโภชเดือน ๒ ครั้งเท่านั้น การสรงในพิธีอื่นๆ เช่นโสกันต์เป็นต้น ลักษณะล้วนเป็นอย่างสรงน้ำรดพระองค์ทั้งนั้น ที่เอาลักษณะมงคลของพิธีลงสรงมาประสิทธิ์สมทบกับสรงในขันสาครเมื่อขึ้นพระอู่ดูก็เข้ากัน แต่เรื่องปลูกมะพร้าว ๒ ต้น ณ ที่ฝังพระตระกูลนั้นหม่อมฉันคิดไม่เห็นเหตุ แต่นึกว่าคงเป็นพิธีมาเก่าแก่มาก พอเสร็จการสรง พระสงฆ์กลับแล้วก็หมดพิธีตอนเช้า

ถึงเวลาบ่ายพระญาติวงศ์ฝ่ายหน้า คือ เจ้านายผู้ชายและเจ้าคุณคุณหญิงราชินิกูลกับพวกข้าราชการที่เป็นญาติกับเจ้าจอมมารดา เข้าไปที่ตำหนัก พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลง พระครูพราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระราชกุมาร พระเจ้าอยู่หัวรดน้ำพระมหาสังข์ทรงเจิมและผูกด้ายมงคลที่ข้อพระหัตถ์พระราชทาน แล้วพระมหาราชครูพราหมณ์เชิญพระราชกุมารขึ้นพระอู่ชักไกว และเห่ด้วยมนต์ภาษาสังสกฤต มีพราหมณ์เป่าสังข์รับเมื่อจบลา ถ้าพระราชกุมารเป็นพระองค์เจ้าเห่ครบ ๓ ลาแล้วเป็นหมดพิธี ถ้าเป็นเจ้าฟ้ายังมีขับไม้ต่อไปอีกตอนหนึ่งแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเป็นเสร็จการพิธี

ต่อนี้มีเรื่องเกร็ดขบขัน บางทีท่านจะยังทรงจำได้ ตามตำหนักสามัญตรงประตูขึ้นไปเป็นชาลามีเรือนข้างละหลัง เจ้านายผู้ชายพักที่เรือนรับแขก เจ้าคุณราชินิกูลพักที่เฉลียงเรือนหลังที่ทำพิธีสมโภช พอพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพวกเจ้าคุณรีบลงจากตำหนัก กระบวนเสด็จไปทันทีเป็นนิจ กรมหลวงประจักษ์ ตรัสว่าพวกเจ้าคุณชิงกลับก่อนเจ้านายผู้ชาย ชวนให้เล่นกีฬาเรียกว่า “แข่งเจ้าคุณ” ด้วยเพียรชิงลงจากตำหนักก่อนพวกเจ้าคุณให้ได้ ขันที่พวกเจ้าคุณท่านว่องไว เจ้านายแพ้ท่านทุกครั้ง

ในการประสูติและสมโภชเจ้านายมีหน้าที่ ๒ อย่างซึ่งท่านผู้ใหญ่ฝ่ายในรับทำประจำตัวคือ “เบิกพระโอษฐ์” เมื่อแรกประสูติ ได้ยินว่าเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เคยรับเบิกพระโอษฐ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๕ แต่จะมีใครอีกหาทราบไม่ อีกคนหนึ่งเป็นพนักงานอุ้มพระราชกุมารเวลาสมโภช เคยได้ยินว่า “คุณน้อยโยม” จอมมารดาของกรมสมเด็จพระปรเวศวริยาลงกรณ์รับหน้าที่นั้นมาจนตลอดอายุ ต่อมาจะเป็นใครไม่ทราบแน่

ซึ่งตรัสถามมาถึงด่านสิงขรนั้น ทางด่านสิงขรอยู่ตรงเมืองประจวบคีรีขันธ์เดี๋ยวนี้เดินขึ้นไปทางตะวันตกเพียงสัก ๒๐๐ เส้นก็ถึงเชิงเขาบรรทัดอันเป็นที่ปันเขตแดนไทยกับอังกฤษ ที่สันเขานั้นทรงสังเกตในแผนที่จะเห็นได้ พระราชอาณาเขตทางแหลมมลายูที่ตรงนั้นเป็นแคบที่สุด ด่านสิงขรอยู่พ้นสันเขาบรรทัดไปในเขตแดนเมืองตะนาวศรี คนเดินบกไปลงเรือในแม่น้ำตะนาวศรี เมื่อพ้นด่านสิงขรไปล่องเรือลงไปยังเมืองตะนาวศรี เมืองนั้นตั้งห่างทะเลขึ้นมา ต้องไปเรือล่องจากเมืองตะนาวศรีลงไปยังเมืองมะริด หาได้ขึ้นไปถึงเมืองตะนาวศรีไม่ เขาว่ามีวัดวาของเก่าที่ไทยสร้างไว้หลายวัด ทางด่านสิงขรนั้นใช้มากสำหรับพวกชาวอินเดียและฝรั่งไปมากับกรุงศรีอยุธยา เพราะจะแล่นเรืออ้อมแหลมมลายูมาได้ให้สบคราวมรสุมปีหนึ่งไม่กี่เดือน จึงมักมาทอดเรือที่เมืองมะริดเดินบกขึ้นไปจนถึงเมืองเพชรบุรีจึงลงเรือไปยังกรุงศรีอยุธยา

ทางด่านแม่ละเมาที่ไปจากเมืองตากนั้น คงใช้ลำน้ำเป็นเขตแดน อาจจะเป็นลำน้ำแม่ละเมานั้นเอง เพราะลำน้ำเป็นเครื่องหมายชัดเจนจึงไม่ต้องก่อพระเจดีย์ ๓ องค์หมายเขตแดนทางนั้น

ทูลข่าวทางเมืองปีนัง

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม หญิงเหลือเธอมีกิจธุระเข้าไปที่ในเมือง เมื่อกลับถึงบ้านเล่อล่าบอกหม่อมฉัน ว่าไปได้ยินข่าวว่าเยอรมันเข้าตีประเทศฮอแลนด์แล้ว เธอเลยซื้อหนังสือพิมพ์ออกเวลาบ่ายวันนั้นมาให้หม่อมฉันดูด้วย หม่อมฉันอ่านหนังสือพิมพ์ก็ไม่มีเรื่องแปลกกว่าที่หญิงเหลือบอก เพราะข่าวเพิ่งมาถึงปีนังเมื่อเวลาบ่ายในวันนั้นเอง หม่อมฉันเห็นเป็นข่าวการฉุกละหุก อยากจะทราบความให้พิสดารออกไป ในเย็นวันนั้นเวลาจวนค่ำจึงไปอาศัยฟังวิทยุกระจายเสียงที่บ้านแห่ง ๑ ได้ฟังข่าวกระจายมาจากเมืองไซ่ง่อนเป็นภาษาอังกฤษครั้ง ๑ เป็นภาษาไทยครั้ง ๑ แล้วได้ยินบอกข่าวกระจายเสียงเป็นภาษาอังกฤษ มาจากเมืองลอนดอนอีกครั้ง ๑ ได้ข่าวแปลกออกไปว่าเยอรมันตีประเทศเบลเยี่ยมและลูเซมเบิคด้วย ไม่ได้ตีเพียงประเทศฮอแลนด์เท่านั้น เดิมหม่อมฉันพรั่นใจในการฟังวิทยุกระจายเสียงด้วยหูตึงมาก แต่วันนั้นประหลาดใจที่ได้ยินถนัดโดยมิต้องใส่แตรหรือบ้องหูฟัง แต่ทูลนี้ประสงค์จะบรรเลงเรื่องเครื่องวิทยุกระจายเสียง มิใช่จะเล่าข่าวสงครามถวาย เพราะคงทราบจากหนังสือพิมพ์พออยู่แล้ว

เมื่อหม่อมฉันไปยุโรปครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็นเวลาชาวยุโรปกำลังนิยมเล่นวิทยุกระจายเสียงกันทั่วทุกประเทศ ในกรุงเทพฯ เวลานั้นก็เริ่มตั้งสถานีกระจายเสียงที่พญาไทแล้ว หม่อมฉันจึงคิดจะหาเครื่องวิทยุเข้ามาบ้าง ได้ไปเลือกดูที่ตลาดนัดประจำปี อันเป็นที่อวดของคิดใหม่ ณ เมืองปารีส เห็นเครื่องวิทยุมีหลายอย่างแต่ไปเกิดขัดข้องเสีย ด้วยเมื่อเขาถามถึงแรงไฟฟ้าที่ใช้กรุงเทพฯ หม่อมฉันบอกเขาไม่ได้ และออกขัดข้องอีกอย่างหนึ่งเพราะราคาแพงด้วยจึงไม่ได้ซื้อ ครั้นไปถึงประเทศเดนมาร์ก เมื่อเสร็จการเฝ้าแหนแล้ว พระยาชลยุทธฯ แกรับเอาไปอยู่บ้านของแกที่ โกกะดัล นอกเมืองโคเปนฮาเคนทางรถยนต์สัก ๒๐ นาที แกมีเครื่องวิทยุอยู่ในห้องรับแขก เวลากินข้าวค่ำแล้วนั่งฟังกระจายเสียงกันทุกคืน ไปได้ความรู้เพิ่มขึ้นในตอนนี้ว่า การกระจายเสียงถ้าเป็นคำพูดของสถานีประเทศไหน เขาก็กระจายด้วยภาษาประเทศนั้น เหมือนกันแต่บรรเลงเพลงดนตรี หม่อมฉันรู้สึกว่าถึงมีเครื่องวิทยุที่อาจฟังกระจายเสียงมาแต่ประเทศต่างๆ ได้ สำหรับตัวหม่อมฉันก็จะเป็นประโยชน์แต่ฟังดนตรี กับคำพูดกระจายเสียงในกรุงเทพฯ หรือมาจากเมืองอังกฤษเท่านั้น นอกจากนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ความคิดที่จะหาเครื่องวิทยุก็ระงับไปอีกครั้งหนึ่ง ครั้นไปถึงประเทศเยอรมัน วันหนึ่งในห้างบีกริมที่เมืองฮัมเบิกเขาเชิญหม่อมฉันไปเลี้ยงกลางวัน พูดกันเลยไปถึงเครื่องวิทยุ หม่อมฉันเล่าให้เขาฟังถึงที่ได้เคยปรารภจะหาเครื่องวิทยุ แต่มีขัดข้องดังกล่าวมา หม่อมฉันจึงตกลงใจว่าถ้าเมื่อใดมีเครื่องวิทยุขนาดย่อมที่ราคาไม่แพงนักและให้มีเครื่องคราโมโฟนไฟฟ้าอยู่ด้วย แม้จะฟังเสียงวิทยุได้แต่กระจายเสียงในเมืองไทยก็จะมีสักเครื่องหนึ่ง เขาพูดว่าอย่าให้หม่อมฉันขวนขวายให้ลำบากต่อไปเลย ด้วยเยอรมันกำลังทำเครื่องวิทยุอย่างหม่อมฉันต้องการ เขาคิดจะเอาไปขายที่ห้างบีกริม และได้ว่าให้ทำสำหรับแรงไฟฟ้าในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว จะเอาไปเผื่อหม่อมฉันด้วยเครื่องหนึ่ง ต่อมาก็ได้เครื่องวิทยุที่เขาสัญญานั้นมาตั้งที่วังวรดิศ เลือกรับกระจายเสียงจากสถานีพญาไทแต่ที่อยากฟัง และฟังคราโมโฟนในเวลาอื่นเป็นอันสำเร็จดังปรารถนา ต่อมาคนอื่นที่เขาชอบเล่นเครื่องวิทยุบอกหม่อมฉันว่าเขาอาจฟังกระจายเสียงมาจากยุโรปได้ ได้ฟังดนตรีออปราเนืองๆ ไพเราะนัก หม่อมฉันก็ออกอยากฟังออปรา แต่ไล่เลียงต่อไปได้ความว่า ต้องฟังราว ๑ ทุ่ม จน ๓ ยาม กระจายเสียงแต่ยุโรปจึงมาถึง หม่อมฉันก็สิ้นอยากไปอีกครั้งหนึ่ง

ครั้นออกมาสู่เมืองปินัง ซึ่งเป็นที่ชอบเล่นวิทยุกันมาก และมีร้านขายเครื่องวิทยุหลายแห่ง เมื่อแรกมาอยู่พวกขายเครื่องวิทยุเขามาชวนให้ซื้อเขารับจะเอาเครื่องมาตั้งให้ลองฟัง ๓ วันโดยไม่เรียกค่าบำเหน็จ หม่อมฉันก็ยอมให้เขาเอามาตั้งลองฟังดู แต่ไปเกิดขัดข้องอีก ด้วยเครื่องวิทยุสมัยนั้นเวลาแรกเปิดมันส่งเสียงโกร๊กกร๊ากโว้ยว้าย เขาว่าเป็นด้วยอากาศ รำคาญหูเปรียบเหมือนถูกมีดเชือดอยู่กว่านาที เสียงซึ่งอยากฟังจึงมาถึงเมื่อเวลาเกิดเบื่อเสียแล้ว ถึงเสียงที่ส่งมาในสมัยนั้นก็ยัง “อ้อแอ้” เป็นแต่พอฟังได้ความ หม่อมฉันไม่เกิดศรัทธาก็ไม่ซื้อเครื่องวิทยุ

แต่การส่งวิทยุกระจายเสียงเดี๋ยวนี้ แก้ไขให้ก้าวหน้าดีขึ้นผิดกับแต่ก่อนเป็นอย่างอัศจรรย์ ทั้งเครื่องฟังและการกระจายเสียง เครื่องฟังวิทยุเดี๋ยวนี้มีหลายขนาด ผิดกันที่ขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นไปเสียงก็ยิ่งชัดขึ้นแต่ราคาก็แพงขึ้นโดยลำดับ แม้เครื่องขนาดย่อมเสียงก็ชัดกว่าแต่ก่อนมากและไม่มีเสียงอากาศโครกครากมากเหมือนแต่ก่อนด้วย เครื่องฟังทุกขนาดมีลักษณะเหมือนกัน คือที่ด้านหน้าตู้มีช่องกระจก ในนั้นพิมพ์เลขบอกกำลังและขนาดคลื่นต่างๆ ที่ส่งเสียงเรียงกันไว้ มีเข็มชี้เลื่อนได้จะรับเสียงซึ่งส่งมาด้วยกำลัง และขนาดคลื่นเท่าใด คนฟังก็หมุนลูกบิดข้างนอกตั้งเข็มหมายให้ตรงเลขนั้น การที่จะฟังอะไรจากที่ไหนมีโปรแครมพิมพ์แถลงในหนังสือพิมพ์ข่าวที่ออกเวลาเช้าทุกวัน (เช่นตัวอย่างที่ตัดส่งมาถวายทอดพระเนตร) บอกว่าเมืองนั้น ณ เวลานั้น จะกระจายเสียงเรื่องนั้น ในภาษาไหน ด้วยกำลังและขนาดคลื่นเท่าใด ใครอยากฟังเรื่องใดจากประเทศใดเลือกเวลาและหมุนตั้งเข็มให้ตรงกับโปรแครมก็ได้ฟังตามปรารถนา

กระบวนกระจายเสียงเดี๋ยวนี้ผิดกับแต่ก่อน ด้วยสมัยเมื่อแรกตั้งสถานีกระจายเสียง เป็นแต่กระจายเพื่อให้เป็นประโยชน์และความสุขแก่ผู้ฟังอันเป็นชนชาติ และใช้ภาษาอันเดียวกัน เช่นเดียวกับในเมืองไทยเราเอาอย่างมากระจายเสียงจากสถานีพญาไท คนในประเทศอื่นอยากฟังก็เลือกฟังแต่เข้าใจภาษา หรือไม่เกี่ยวกับภาษา เช่นเพลงดนตรี เป็นต้น เขาว่าพวกบอลเชวิกในประเทศรุสเซียประสงค์จะใช้กระจายเสียงเกลี้ยกล่อมคนในประเทศต่างๆ ให้เข้ารีตเป็นคอมมิวนิสต์แต่จะใช้ภาษารุสเซียชาวประเทศอื่นไม่รู้ จึงกระจายเสียงด้วยภาษาของประเทศต่างๆ เป็นแรกที่จะเกิดกระจายเสียงในภาษาต่างประเทศ และเริ่มใช้วิทยุในการเมือง แต่ประเทศอื่นจะป้องกันด้วยอุบายอย่างใดหาทราบไม่ อื้อฉาวอยู่พักหนึ่งแล้วก็สงบไป ต่อมาถึงสมัยเมื่อพวกชาวอิตาลีตีเมืองอับบิสิเนีย อังกฤษเข้ากีดขวางชาวอิตาลีโกรธ จึงใช้วิทยุกระจายเสียงเป็นภาษาอาหรับยุยงพวกอาหรับ เช่นชาวเมืองอียิปต์และปาเลสไตน์เป็นต้น ให้เกลียดชังคิดร้ายต่ออังกฤษ อังกฤษและชาวอื่นที่ถูกปองร้ายด้วยกระบวนใช้วิทยุ ก็ต้องแก้ไขด้วยอุบายอย่างว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” คือกระจายเสียงในภาษาอาหรับและภาษาอื่นๆ ค้านคำยุยงและกลับยุยงบ้าง การใช้วิทยุด้วยภาษาต่างๆ จึงเข้าในอุบายการเมืองแต่นั้นมา เมื่อเกิดสงครามครั้งนี้ประเทศที่รบกันทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็ใช้วิทยุเป็น “ยุทธภัณฑ์” กระจายเสียงเป็นภาษาต่างๆ บอกข่าวแก่ชาวเมืองต่างประเทศเรียก Propaganda เพื่อจะเอาใจให้เข้ากับตน และชังพวกข้าศึก ทำเช่นนั้นทั้ง ๒ ฝ่าย ก็ตามปกติแต่ก่อนสงครามเสียงที่กระจายส่งมาจากยุโรปถึงประเทศทางตะวันออกนี้ ใช้ภาษาอังกฤษเป็นพื้น หนังสือพิมพ์ภาษาต่างๆ เอาข่าวนั้นไปแปลงลงในหนังสือพิมพ์ของตน เพราะฉะนั้นผู้ที่จะรู้ข่าวกระจายเสียงมามีแต่เจ้าของเครื่องวิทยุที่เป็นคนรู้ภาษาอังกฤษ กับคนที่ซื้อหนังสือพิมพ์อ่าน ถึงเวลาสงครามทั้ง ๒ ฝ่ายแข่งกันหาประโยชน์ด้วยส่งข่าววิทยุ พวกข้างสัมพันธมิตรจึงคิดอุบายเอาเปรียบต่อไปอีกชั้นหนึ่ง คือเมื่อข่าววิทยุกระจายจากยุโรปมาถึงสถานีวิทยุในเมืองเหล่านี้ เช่นสถานีที่เมืองไซ่ง่อนและที่เมืองปีนังนี้ เลือกข่าวตามที่เห็นควรจะโฆษณา แปลเป็นภาษาต่างๆ ที่เป็นภาษาของชาวเมืองพวกที่มีมาก เช่นภาษาจีนและภาษามลายูเป็นต้น ทำเป็นโปรแครมกระจายเสียงเป็นภาษานั้นๆทุกวัน เท่านั้นยังไม่พอ เลยแปลเป็นภาษาของชาติอื่นที่อยู่ใกล้เช่นภาษาไทยเป็นต้น กระจายเสียงส่งต่อไปด้วย เพราะฉะนั้นสถานีของฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อนจึงมีกระจายเสียงเป็นภาษาไทย ได้ได้ยินว่าที่สถานีเมืองปีนังนี้จะมีการกระจายเสียงเป็นภาษาไทย แต่หม่อมฉันยังไม่เคยได้ยิน

จะทูลถึงเหตุผลของหม่อมฉันไปฟังวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันศุกร์ต่อไป ได้ฟังข่าวสงครามที่อยากทราบจากสถานีเมืองไซ่ง่อนเป็นภาษาอังกฤษจบ ๑ เป็นภาษาไทยจบ ๑ ได้ฟังภาษาอังกฤษบอกมาจากเมืองลอนดอนอีกจบ ๑ รวมได้ฟังความซ้ำกัน ๓ จบ นอกจากนั้นมีเสียงผู้หญิงไทยร้องบรรเลงส่งมาจากเมืองไซ่ง่อน อันรู้ได้ว่ากระจายจานเสียงคราโมโฟนเรื่อง ๑ วิทยุที่ส่งมาจากเมืองลอนดอน พอบอกข่าวเสร็จแล้วก็นินทาเยอรมันต่อไป เป็นความเทือกเดียวกับที่มีในหนังสือพิมพ์เป็นพะเนินเทินทึกอยู่แล้ว คิดดูอีกครั้งว่าถึงเวลาจะควรซื้อเครื่องวิทยุไว้ฟังกระจายเสียงหรือยัง ใจตอบว่า “ยัง” ก็เป็นยุติเพียงนั้น

หม่อมฉันพบอธิบายเรื่องพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ในหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” ที่เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมาน) กับนาคประทีป (พระสารประเสริฐ) แต่งในภาค ๓ ตอน ๒ เขาค้นจากคัมภีร์มหายานมาแสดงว่าตามคติมหายาน ถือว่าพระพุทธเจ้ามีจำนวนนับไม่ถ้วน เพราะมีทั่วทุกอนันตจักรวาฬ แต่พวกมหายานชั้นต้นที่อยู่ในแคว้นเนปาล ได้ตั้งคติในบัญชีพระพุทธเจ้า ๑๐๐๐ พระองค์ นามพระอมิตาภะพุทธเจ้าแรกปรากฏเป็นครั้งแรกในบัญชีนี้ ในคัมภีร์ลลิตวิสตาระ ก็กล่าวถึงพระพุทธเจ้า ๕๖ พระองค์ เรียก ๗ พระองค์ข้างท้ายว่า สัปตมานิษพุทธเจ้า มีพระวิปัสสี เป็นต้น จนพระสากยมุนีเป็นองค์หลัง ตามนัยนี้ถือว่าพระวิปัสสี พระสิขิ พระเวสภู ๓ พระองค์นี้ตรัสรู้แต่ในกัลปก่อน พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ในกัลปปัจจุบันนี้มี ๔ พระองค์ คือ พระกกุสนธ พระโกนาคม พระกัสสป และพระสากยมุนี อันนี้เป็นต้นเค้าของการบูชาพระเจ้า ๔ พระองค์ กล่าวต่อไปว่าที่กำหนดจำนวนพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ (อย่างในสวดมนต์ ๑๒ ตำนาน) นั้นเกิดขึ้นต่อภายหลังดังนี้

หม่อมฉันได้ทราบตามลายพระหัตถ์ ตรัสบอกมาแต่ก่อนว่าท่านจะเสด็จแปรสถานไปเปลี่ยนอากาศที่หัวหินในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเสด็จเมื่อใด ครั้นเมื่อคราวเมล์มาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ หม่อมฉันได้รับจดหมายลูกบอกมาว่าท่านจะเสด็จไปหัวหินวันที่ ๑๒ จะรอฟังเอาแน่จากลายพระหัตถ์เวรที่จะมาถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ อันหม่อมฉันจะได้รับต่อวันที่ ๑๗ ก็ไม่ทัน เพราะเวลาส่งจดหมายเวรฉบับนี้ไปแล้ว จะส่งไปกรุงเทพฯ ตามเคยเกรงจะพลาดที่ประทับ จึงส่งมายังหัวหินตามคำลูกบอก หวังว่าจะได้ทรงรับโดยเรียบร้อย ถ้ายังไม่ได้เสด็จเขาก็คงส่งเข้าไปกรุงเทพ ฯ จะได้ทรงรับช้าวันไปสักหน่อย.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ