วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

สนองลายพระหัตถ์ฉบับแรก

เมื่อวันอังคาร วันที่ ๒๑ ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม เหมือนอย่างคาด และทราบเหตุที่ได้รับช้าไปด้วย ว่าเป็นเพราะไปส่งไว้ที่หัวหิน แล้วจึงส่งเข้ากรุงเทพฯ อีกต่อหนึ่ง แต่ที่ซองก็ไม่มีวิรุทธอะไร เขา “ยกๆ” ตามเคย จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์นั้นลางข้อต่อไปนี้

เรื่องเมืองกำแพงเพชร เกล้ากระหม่อมได้ไปตามเสด็จประพาสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ถูกเหมือนทรงพระดำริคาด แต่มีหน้าที่ต้องไปเข้ากระบวนข้างในๆ ท่านไม่ใฝ่พระทัยในเรื่องอ้ายพังๆ ท่านก็ทรงพระดำเนินผ่านไป ถึงเราจะใฝ่ใจก็เชือนหยุดดูไม่ได้ ตกเป็นอันเหมือนหนึ่งว่าไม่ได้ไป จะกราบทูลเออคะอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น หลวงสรรคบุรารักษ์ (ฉาย) นั้นรู้จักดี

ข้อที่ตรัสถึงเรื่องปี่พาทย์ให้รู้สึกจับใจมาก ถึงจะกราบทูลต่อไปว่า อันปี่พาทย์นั้นอาจจัดให้เป็นไปได้สองทาง คือเพื่อให้ฟังไพเราะทางหนึ่ง กับให้ฟังกึกก้องเป็นประโคมทางหนึ่ง สุดแล้วแต่คราวต้องการ ทั้งประกอบด้วยตัวผู้จัดจะชอบหนักไปทางไหนด้วย ถ้าจัดหนักไปทางข้างจะให้ฟังกึกก้อง สิ่งไรที่จะใส่เข้าไปได้ก็ใส่เติมเข้าไป ถ้าจัดหนักไปทางข้างจะให้ฟังไพเราะ สิ่งไรที่ฟังไม่ดีก็มักถูกถอนออก จะกราบทูลถวายตัวอย่างเช่นระนาดทอง เกล้ากระหม่อมตีเอง แล้วเกล้ากระหม่อมเองฟังที่ตัวตีก็ไม่รู้ว่าไปทางไหน เพราะเสียงมันแซ่กลบที่ตีไปเสียหมด ทำให้รู้สึกใจว่าอ้ายนี่มันก็พลอยไปหนุนเสียงให้เกรียวกราวเท่านั้น จะใช้ลูกพรวนพวงใช้คนสักแต่ว่าคนเขย่าเท่านั้นก็ได้ ไม่จำต้องทำระนาดทองให้ต้องเสียเงินมากไปเปล่าๆ ครั้นไปเที่ยวประเทศชวาก็ไปเห็นการนึกประชดนั้นเป็นจริงขึ้นคือไปเห็นปี่พาทย์ละครเขาเอาลูกพรวนสี่ห้าลูกผูกปลายไม้เขย่าเวลาปี่พาทย์ตีในการเล่นละคร ให้รู้สึกพอใจเสียจริงๆ โขนละครของเราเอาโกร่งเข้าตีกับปี่พาทย์ นั่นก็เป็นหลักอันเดียวกัน นั่นเองที่ได้ชื่อว่า “กราวเขน” เพราะฟังได้ยินเสียงโกร่งขึ้นหน้าดังกราว ๆ

ปราสาทหินเมืองสิงห์ที่กาญจนบุรี ได้ความเป็นอันแน่ว่าไม่เห็นรูปปรากฏแล้วก็เป็นอันพอใจ เพราะว่าตามที่ได้เห็นมาไม่ผิดไป

ตามที่ตรัสแถลงปริศนาในเรื่อง อันเนื่องด้วยเจ้านายประสูติดีเต็มที ข้อที่สงสัยทรงจำได้ตรัสชี้แจงประทานก็เป็นอันได้เปลื้องความไม่แน่ใจ ข้อที่ไม่ทราบก็ได้ทราบขึ้น ข้อที่ทราบก็เหยียดเบงคงเบง โดยปกติก็ต้องเป็นเช่นนั้น

ในการที่เอาผู้ชายเข้าไปตีฆ้องชัยนั้น สันนิษฐานว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์แล้วผู้หญิงจับไม่ได้ ที่ปี่พาทย์หญิงไม่มีฆ้องชัยก็เพราะถ้ามีก็ไม่เป็นชัยไปได้ ด้วยผู้หญิงถูกต้องฆ้องนั้น

แตรวงประโคมประสูติ เมื่อเป็นองครักษ์ประจำอยู่ที่ห้องใต้พระที่นั่งจักรี ยอดตะวันออก เคยเห็นพวกแตรวงทหารมหาดเล็กมานั่ง “หลับตาบ้างลืมตาบ้าง” คอยเป่าประโคมอยู่ที่ประตูยามค่ำ เห็นแต่แตรทหารมหาดเล็กประจำอยู่วงเดียวจริงอย่างพระดำรัสซ้ำซากมากออกไปอีกด้วยว่าเจ้าฟ้าพระองค์หญิง ไม่ประโคมแตรวง นั่นดีเต็มทีพ้นความเข้าใจผิดไปได้ ด้วยแต่ก่อนสำคัญว่า ถ้าเป็นเจ้าฟ้าแล้ว ไม่ว่าองค์หญิงหรือองค์ชายก็ประโคมแตรวงทั้งนั้น

เตียงอยู่ไฟของเจ้าจอมมารดา เคยได้ยินแม่เรียกว่า “กระดานไฟ” เห็นเป็นคำสามัญเกินไปจึงได้กราบทูล เผื่อจะได้ทรงทราบ

เรื่องมะพร้าวปลูกที่ฝังพระตระกูล ได้เคยโจทย์ถามมาคราวหนึ่งแล้ว มีคนเห็นไปในทางต้นไม้ประจำตามวันเกิดในตำราพรหมชาติ แต่เกล้ากระหม่อมไม่เห็นด้วย เพราะไม่เคยมีเปลี่ยนไปจากมะพร้าว เห็นมีแต่คำกล่อมเด็กซึ่งมีความว่า

“นาฬิเกต้นดก ปลูกไว้จะแถมพก ให้หนุ่มน้อยเจ้ามีเมีย” กลอนนี้เป็นคำเก่าดูทีก็ต้องทางกันอยู่บ้าง

เมื่อเล็กๆ เคยเชิญหีบพระสังข์ตามเสด็จลงในการสมโภชลูกเธอ แต่เป็นแมวเต็มทีจำอะไรไม่สู้จะได้ จึงอยากจะกราบทูลสอบถามซึ่งเผื่อจะทรงจำได้ (๑) สมโภชสามวันใช้หีบพระสังข์หรือไม่ (๒) สมโภชเดือนใช้หีบพระสังข์ แต่จำเพาะองค์ชายหรือหมดด้วยกัน เมื่ออยู่่นอกวังเข้าไปในการสมโภช ลูกเธอนั่งที่ไหนนั้นจำได้ดีเพราะโตแล้ว “แข่งเจ้าคุณ” ก็จำได้ดี

ที่ทรงพระเมตตาโปรดคัดพระวินิจฉัย ในพิธีเก่าอันเกี่ยวกันประทานเข้าไปด้วยนั้นดีเต็มที เมื่อได้ตรวจดูเห็นข้อที่จะพึงทักมีดั่งนี้

พิธี “ขึ้นพระอู่” เป็นขึ้นสองหน หนแรกเป็นขึ้นพระอู่ทองแล้วเวียนเทียน หนหลังเป็นขึ้นพระอู่น้ำ เมื่อเทียบกับที่คำในชั้นหลัง การขึ้นพระอู่ทองก็มาตรงกับผู้มีบรรดาศักดิ์อุ้มรับการเวียนเทียนนั่นเอง ส่วนการขึ้นพระอู่ผ้านั้นลงกัน ในการที่ว่าพี่เลี้ยงนางนมไกวพระอู่ไม่ใช่พราหมณ์นั้น เคยได้ยินมาแต่ก่อนว่ากล่อม “ช้าลูกหลวง” แต่ไม่เคยทราบคำกล่อมว่ามีอย่างไร และไม่ทราบว่ากล่อมเวลาไร ตัวอย่างคำซึ่งประทานไปสี่กลอนนั้น เห็นว่าแท้จริงเป็นสองกลอนเท่านั้น คู่หลังนั่นแหละเป็นของจริง เพราะมีสัมผัสรับกันอยู่ คู่แรกเป็นของเก๊ใครแก้ยืดเติมเข้าทีหลัง เพราะความก็ซ้ำกัน แต่แก้เปลี่ยนคำไปจนสัมผัสแตกที่คำเดิมจะมีน้อยไปไม่พอการ

“พิธีจรดปถพี” ทีก็เป็นรูปเดียวกับพระเจ้าทรงพระดำเนิน ๗ ย่างในปางประสูติใครจะเอาอย่างใครก็ไม่ทราบ

ด่านสิงขร เข้าใจตามพระอธิบายดีแล้ว ว่าเป็นทางออกไปเมืองตะนาวศรี เมืองนั้นกรมพระกำแพงเพชรได้เสด็จไปถึงทางทะเลหน้านอกตามทางเรือ ไม่ใช่ข้ามเขาทางบก ตรัสเล่าว่าที่นั่นพูดไทยกันจ้อเป็นเมืองไทย

ด่านแม่ละเมา ด่านแม่สอด เป็นทางออกไปแดนมอญพม่าทางเมืองตากแน่นอน คำว่า “แม่” หมายถึงลำน้ำ เป็นลำละเมาะลำสอด ก่อนนี้คงถือเอาลำละเมาเป็นใหญ่ภายหลังเปลี่ยนถือเอาลำสอดเป็นใหญ่ ทั้งสองลำคงอยู่ใกล้กัน

อ่านหนังสืออะไรก็ลืมเสียแล้ว เป็นเรื่องครั้งกรุงเก่า ออกชื่อ “เมืองบาณบุรี” ว่าเป็นที่จอดเรือขนถ่ายสินค้าขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา จะได้แก่เมืองอะไรก็คิดไม่ออก มีคนเดาว่า “เมืองปราณ” ว่าเพราะแต่ก่อนจะเดินเรืออ้อมแหลมสิงคโปร์ขึ้นไปนั้นยากนัก จึงจอดเรือที่เมืองมะริด ขนถ่ายสินค้าข้ามแหลมปักษ์ใต้มาประทุกเรือที่เมืองปราณ เอาเข้าไปกรุงเก่า ออกจะไม่เห็นด้วย เพราะการขนถ่ายสินค้าข้ามเขาเข้ามานั้นลำบากนัก กับทั้งเวลาโน้นจะหาเรือรับช่วงสินค้าจากเมืองปราณเข้าไปกรุงเก่าก็เห็นจะหายากไม่ใช่น้อยด้วย

เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาโปรดตรัสอธิบายในเรื่องเครื่องวิทยุให้เข้าใจดีตลอดไป เป็นความรู้ที่ได้ใหม่ ซึ่งแต่ก่อนเกล้ากระหม่อมไม่รู้อะไรเลย เพราะบรรดาเครื่องทำเสียงทุกอย่างนั้นเกลียดเป็นที่สุด อะไรเข้ามาใกล้ก็ไล่เปิดเปิงไปหมดเพราะมันโครกครากอ้อแอ้หนวกหูไม่พึงปรารถนาทั้งนั้น และไม่ได้ร่ำเรียนให้รู้ว่าทางดำเนินมันเป็นอย่างไรหมดทั้งสิ้น

สนองลายพระหัตถ์ฉบับหลัง

เมื่อวันอาทิตย์ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ได้ลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม เป็นแน่ว่ามากับรถไฟวันเสาร์ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม แต่เขาส่งช้าไปวันหนึ่ง ซองก็เรียบร้อยเว้นแต่ตราประทับสั่งผ่านนั้นเปลี่ยนไปเป็นมีขอบรูปจั่ว ทางจันทันเบื้องซ้ายมีหนีงสือว่า passed for ทางจันทันเบื้องขวาว่า Transmission ที่ชื่อว่า Penang กลางมีเลข ๓๒ จะกราบทูลสนองความลางข้อต่อไปนี้

รูปสัตว์หมายปีนั้นชอบกลหนักหนา ให้สงสัยว่าจะเป็นของคิดขึ้นทางแถวเมืองจีนดูตำหรับตำราทางอินเดียยังไม่เคยพบว่ามีทางนั้นเลย ตามที่ตรัสถึงคำพระยาประชาแช่มดูก็เข้าที ถึงจะพูดตามที่ได้พบหลักฐานที่เขากล่าวมาก็ดี ให้สงสัยว่าคำกล่าวนั้นจะเป็นคิดประจบเอาทีหลัง ไม่ใช่รู้มูลเหตุมาจริงๆ อันคำที่เป็นชื่อปีนั้นก็น่าสงสัยจะเป็นภาษาอะไรตามที่ตรัสทัก เกล้ากระหม่อมได้เคยสอบสวนพบคำจีนกวางตุ้งเรียกปีเถาะว่า “ถ่าว” ดูคล้ายกันมาก เขาว่าคำมะโรงก็คือ “หลง” ซึ่งภาษาจีนว่ามังกร จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ทราบที่เราว่ามะโรงงูใหญ่นั้น จะหมายถึงมังกรหรือมิใช่ หรือมะโรงจะหมายถึงงูตัวใหญ่ มะเส็งหมายถึงงูตัวเล็กก็ไม่ทราบ มะเมียเขาก็ว่า เมี้ย คือม้าเรานี่เอง เป็นจีนเหมือนกันถูกผิดอย่างไรก็ไม่ทราบ ชื่อปีมะแมทำให้นึกไปถึงสัตว์ที่เรียกว่า “แม้” ในหนังสือ ๑๒ เหลี่ยม ตกลงก็ยังไม่ทราบชื่อปีนั้นเปนภาษาอะไร ทางเขมรก็มีใช้ โดยมากต้องกัน แต่ลางชื่อก็ผิดกัน ทางญี่ปุ่นเคยพบใช้ไปจนเดือนและโมงยาม ดูก็ควรเป็นได้เพราะแบ่ง ๑๒ เหมือนกัน การที่หมายด้วยรูปสัตว์นั้นดีด้วยจำง่าย เคยได้ยินใครเล่า ดูเหมือนจะเป็นฝ่าพระบาทนั่นเองว่าหลังรถไฟนั้นหมายเลขคนจำยากมักขึ้นผิดหลังไปเสมอ ฝรั่งเขาจึงยักย้ายเขียนเป็นรูปสัตว์ แต่นั้นก็ขึ้นไม่ผิดหลัง เพราะจำได้แม่นว่าเรามารถช้างเป็นต้น

พระดำรัสเรื่องพระเจดีย์ ๓ องค์ ปรากฏ “ปาง” หมายถึงอะไร คำนั้นอยากรู้มานานแล้ว เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าที่ตรัสให้ได้รู้

บานมุกนั้นของเก่าเป็นมีแน่ เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศไม่ได้ทรงพระราชดำริจัดตั้งกรมช่างมุกขึ้นใหม่ เป็นแต่ทรงจัดให้มีตามประเพณีเดิมเท่านั้น

เรื่องที่ตรัสเล่าถึงวัดปีนังตกแต่งวิสาขบูชานั้นมีมาก เมื่ออ่านได้ความว่าวัดจันทรารามไม่ได้ตกแต่ง เพราะมีพระอยู่รูปเดียวก็ให้อภัย แต่ครั้นอ่านไปถึงวัดมหินทรารามอันทำเป็นหนักเป็นหนาตลอดถึงลงหนังสือพิมพ์ ก็มีพระอยู่แต่พระอาจารย์คุณรัตนรูปเดียวเหมือนกัน ย่อมเห็นได้ว่าเพราะท่านวัดจันทรารามไม่เอื้อเท่านั้น ตามที่ตรัสเล่าถึงว่าพวกสัปปุรุษเขาขอให้ยักเวลาทำไปเสีย ให้ต่างกันนั้น นำให้นึกถึงท่านสมการวัดหน้าพระธาตุเมืองพระประแดงที่ใกล้บ้าน ท่านทำงานอะไรไม่ทำพ้องกับที่วัดต่างๆ เขาทำกัน ท่านว่าหาสัปปุรุษยากท่านหลบหลีกไม่พ้องกับวัดใด นึกชอบว่าท่านคิดดี วัดมหินทรารามซึ่งตรัสเล่าถึงนั้นอยู่เอง เพราะมีพระนอนอยู่ในนั้น ซึ่งต้องการความยาวจะเป็นแต่วิหารพระนอนมาก่อนจะเป็นได้หรือไม่ โบสถ์วิหารที่เปิดหน้าออกด้านแป มีโบสถ์ที่พระปฐมเจดีย์แต่ก่อนเป็นต้น ดูไม่ดีไม่มีความสะดวกอยู่เลย เขาว่าโบสถ์วัดวงศ์มูลในกรุงเทพฯ ก็เปิดหน้าออกทางด้านแป แต่เผอิญไม่ได้เคยไปเห็น แต่ก่อนโบสถ์ไม่นับว่าเป็นของสำคัญถึงจะมีก็เอาไปไว้นอกคอก ที่มาสำคัญเป็นประธานขึ้นนั้นภายหลัง ควรจะรู้ได้ว่าใช้เป็นประธานขึ้นเมื่อไร

ข่าวกรุงเทพ ฯ

เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ได้เข้าไปวัดพระแก้วในการวิสาขบูชาตามหมายกำหนดการซึ่งได้ถวายมานั้น พระปริยัติโสภณวัดสามพระยาถวายเทศน์ กลับจากวัดพระแก้วแล้วไปวัดเทพศิรินทร์ รวมหมดได้บูชาพระรัตนตรัย ทั้งได้เดินเทียนและฟังธรรม แต่เข้าใจติดต่อกันดีไม่ได้เพราะหูตึง แม้กระนั้นก็ตั้งใจไปด้วยดี ขอถวายพระกุศล ในการไปวิสาขบูชานั้นมีเรื่องที่ขบขันอันควรจะเล่าถวาย เมื่อก่อนจะเข้าไปในพระราชวัง เขาเอาผ้ามาทอดไว้ให้นุ่ง เป็นผ้าม่วงแดงมีคนเอามาให้รดน้ำสงกรานต์ปีนี้ ที่เขาเอามาให้นุ่งนั้น ก็เพราะมันใหม่อล่องฉ่อง แต่เมื่อนุ่งเข้าแล้วชายกระเบนสั้น จะเหน็บจะพันอะไรก็กมุดกมิดเวลาก็ไม่ได้เผื่อไว้สำหรับจะไปวุ่นแก่อ้ายผ้านุ่ง เข้าไปวัดพระแก้วก็ต้องระวังกลัวจะลอยชายได้นึกเสียใจว่า ถ้าได้เอาเชือกผูกต่อชายกระเบนเสียจะดีมาก เขาจะตัดผ้านุ่งชายอย่างสั้นเพื่อประหยัดด้วยการสงครามหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่กลับจากวัดพระแก้วแล้วจะไปวัดเทพศิรินทร์ต้องเปลี่ยนผ้านุ่ง

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม เขามีการทำบุญ ๗ วันที่ศพพระยามานิตย์ เกล้ากระหม่อมได้ไปวางพวงมาลาให้ เพราะเขามีคุณได้เอื้อเฟื้อแก่เกล้ากระหม่อมมาเสมอ ได้ไปเห็นศพประกอบด้วยหีบก้านแย่งใหม่ของหลวง พื้นทาแดงประทับลายตะกั่วปิดทองเป็นก้านแย่ง จึงนำความมากราบทูลให้ทรงทราบฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ