วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

พระโทรเลข

เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ได้รับพระโทรเลขทรงพระเมตตาโปรดประทานพรวันเกิด ในนามแห่งพระญาติด้วย บังเกิดความยินดีรับพระพรไว้เหนือเกล้าเป็นพระเดชพระคุณล้นพ้น ขอถวายบังคมฝ่าพระบาท

สนองลายพระหัตถ์

ควรจะได้รับลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๒ เมษายน เสียแต่วันซึ่งได้รับพระโทรเลขนั้นทีเดียว เพราะวันนั้นเป็นวันเสาร์ กำหนดรถไฟเข้าจากปีนังถึงกรุงเทพฯ แต่ได้รับเอาวันรุ่งขึ้นที่ ๒๘ เมษายน ช้าไปวันหนึ่งแต่ก็เรียบร้อยทุกอย่าง จะกราบทูลลนองความลางประการต่อไปนี้

พระดำรัสทรงแสดงพระดำริที่จะเก็บคำสุภาษิตนั้นเป็นพระดำริอันดี แต่เป็นของยากนั้นแน่ คนที่จะอาสารับทำนั้นเห็นจะไม่มี ได้แต่บังคับให้ทำ ที่จริงก็ไม่จำเป็นต้องทำให้แล้วในรวดเดียว ค่อยทำค่อยไปเป็นแกรกงานอื่นก็จะได้ คำที่เรียกว่าสุภาษิตพระร่วงนั้น จะหมายความเพียงว่าเป็นคำเก่ามาแต่ครั้งพระร่วง ไม่ได้หมายความว่าพระร่วงทรงบัญญัติ แต่หากเข้าใจผิดเป็นว่าพระร่วงทรงบัญญัติไปเสียก็ได้ อันคำสุภาษิตนั้นย่อมพูดกันด้วยประสงค์จะให้กินความมากเมื่อเป็นดังนั้นคนก็ชอบมาก เพราะสวมความได้มาก จึงเก็บเอาไปแต่งอะไรกันมาก ทำให้เกิดความหลายอย่างต่าง ๆ กันไป ได้เคยเห็นสุภาษิตอันหนึ่ง ซึ่งเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เขียนในหนังสือซึ่งมีคนขอให้ผู้ใหญ่เขียน ได้นึกชอบใจว่าดีมีอยู่ว่า

“เสือยังเพราะป่าปรก ป่ารกเพราะเสือยัง
ดินดีเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดี”

พออ่านก็นึกทีเดียว ว่าสองบาทต้นก็เหมือน “ป่าพึ่งเสือ” จะเอาความนั้นมาแต่งขึ้นใหม่ก็เป็นได้ หรือจะต่างคนต่างคิดแต่เป็นทางไปร่วมกันเข้าก็เป็นได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอะไรที่ต่างคำกันก็ดูเป็นน่าจะเก็บเอาไว้ให้หมดกระมัง ยังมียากอีกที่จะตัดสินว่าเป็นสุภาษิตหรือมิใช่ เช่น “กระต่ายติดแร้ง ยายแก้วตีกลอง” เป็นต้น นี่ก็มีเขียนไว้ที่เชิงบานพระอุโบสถวัดพระเชตุพน แล้วจะมีอะไรอีก จะนับว่าเป็นสุภาษิตได้หรือไม่ก็ยังไม่ได้ตรวจ ถ้าเป็นสุภาษิตก็เป็นว่า การเขียนสุภาษิตได้ทรงพระราชดำริให้เขียนแล้วมาแต่รัชกาลที่ ๑ เพราะบานพระอุโบสถวัดพระเชตุพนนั้นทำมาแต่รัชกาลที่ ๓ หม่อมราชองค์หญิงเตื้องในพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เป็นครูใหญ่อยู่ที่โรงเรียนสายปัญญา ได้หนังสือท่อนหนึ่งมาแต่ครูฝรั่ง เขาบอกว่าเขาได้มาจากครูไทยแก่แต่ไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่เขาเลย (เพราะเขาอ่านไม่เข้าใจ) ถ้าเป็นประโยชน์แก่คุณเตื้องเขาก็จะให้ คุณเตื้องก็รับแก่เขาว่าเป็นประโยชน์ เขาก็ให้หนังสือนั้นเป็นคำสุภาษิต อันธรรมดาสุภาษิตย่อมพูดสั้นเช่นกล่าวมาแล้ว เหมือนหนึ่งที่ว่า “เสือสิ้นจวัก สุนักข์จนตรอก” เป็นต้น เข้าใจยากเต็มที “เสือสิ้นจวัก” จะหมายความว่ากระไรก็ไม่เข้าใจ ซ้ำเขียน “จวัก” จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ทราบ ด้วยเอาเป็นจบกันเสียทีในเรื่องสุภาษิต

หัวนาคพลสิงห์กระไดปราสาทพระเทพบิดรมีอยู่ ๖ คู่จริง ๆ คือที่มุขโถงข้างหน้าด้านหน้าคู่ ๑ ด้านข้าง ๒ คู่ ที่มุขทึบด้านข้าง ๒ คู่ ด้านหลังคู่ ๑ รวมเป็น ๖ คู่ ขยับจะหาความเอาว่าหาย ๒ คู่ ด้วยคิดว่ามี ๘ คู่ครั้นตรัสอ้างถึงรูปสิงห์ว่ามี ๖ คู่ก็ได้สติ เป็นอันแน่ว่ามีหัวนาค ๖ คู่ครบแล้วไม่หาย หัวนาคที่กระไดหน้ามณฑปพระพุทธบาทนั้นจำได้แม่นยำเพราะไปหลงเกาะดูอยู่ข้างย่ำแย่ ทำดีจริงๆ ฟันไม่ได้โผลออกจากปากเฉยๆ อย่างที่เขาทำกัน มีเหงือกอีกทีหนึ่ง แล้วที่เหงือกนั้นหยิกเป็นรองตามรายฟันเสียอีกทีด้วย หน้ายาวเหมือนที่ปราสาทพระเทพบิดร แต่ไม่ได้สวมมงกฎ เห็นเป็นฝีมือในรัชกาลที่ ๑ ไม่ใช่กรุงเก่า ซ้ำอยากจะพาลกราบทูลให้แคบว่าเป็นฝีมือ “ครูดำ” เสียอีกด้วย หัวนาคกระไดข้างซึ่งทำเติมขึ้นในรัชกาลที่ ๕ นั้น ก็หล่อถ่ายจากหัวนาคกระไดกลางนั้นเอง แต่ไม่เหมือนอยากจะว่าสักเท่าปีกริ้น เลวกว่าเป็นอันมากทีเดียว

จารึกที่บานมุขวิหารพระชินราช จะพยายามวานเขาคัดส่งมาให้ เมื่อได้มาแล้วจะลอกส่งมาถวาย

ไปอาบน้ำศพ “ครูอิ่ม” เขาเอาหีบหมากซองบุหรี่ที่แกะเป็นรูปงิ้วมาตั้งเลี้ยงรับรอง ทำให้รู้ได้ว่าเป็นสหชาติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อายุจะไม่มากอย่างไรได้

เรื่องสวดพิธีตรุษได้ยินแต่ “เขาว่า” ไม่เคยสอบสวนอะไร เขาว่าแต่ก่อนวัดระฆังเป็นสำรับที่ ๑ วัดมหาธาตุเป็นสำรับที่ ๒ และเขาว่าภาณพระนั้นเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ และเขาว่าถ้าสวดสิ้นทุกวัดแล้วยังไม่สว่าง สำรับต้นต้องขึ้นสวดซ้ำอีก ข้อนั้นเห็นจะไม่เป็นแต่ลงมือทำพิธีแต่หัวค่ำอย่างเดียว เมื่อเกล้ากระหม่อมอยู่ที่หอราชพิธีกรรมสังเกตว่าเวลาดึกปืนยิงถี่กว่าเวลาหัวค่ำมาก คงเป็นด้วยสวดหวัดเข้ากว่าตอนหัวค่ำ แล้วได้ยินเสียงกระทุ้งตวาดลงมามากกว่าหัวค่ำ คงเป็นด้วยเข้าใจผิด อันว่ากระทุ้งเป็นการดีฟังแข็งแรง ไม่ได้คิดสวดเอาเพราะเจาะอย่างตอนหัวค่ำ กับเขาว่าพัดพิธีธรรมที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ เป็นของมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ จึงเกิดเป็นข้อสงสัยใจขึ้น ว่าสวดพิธีตรุษแต่ก่อนจะใช้พัดอะไร จะมิใช่พัดใบตาลอย่างสามัญกันหรือ จะว่าใช้พัดรองเวลาโน้นก็หาพัดรองได้ยาก เคยได้ยินกรมหลวงพิชิตตรัสเล่าว่า ได้เคยทรงทำการศพเขานิมนต์พระสวดชนิดอามิสมาสวด ต้องพระประสงค์จะให้เป็นการสนุก จึงทรงจับพวกสวดอนามิสขึ้นสวดรับร้าน แต่เขาก็ไม่ได้เตรียมพัดมา จึงทรงถอนเอาพัดรองในสังเค็ตมาให้ใช้ พวกนั้นว่าใช้ไม่ได้ ไม่ส่งเสียงให้ก้องจะต้องแพ้ จึงต้องทรงจัดแบ่งให้เป็นกลาง คือสำรับหนึ่งมีพัดรอง ๒ พัดใบตาด ๒ จึงตกลงเป็นอันได้สวดรับร้านกัน อันพัดพิธีธรรมนั้นก็มีลักษณะเป็นพัดใบตาลอยู่มาก ทำให้เห็นได้ว่าแต่ก่อนคงใช้พัดใบตาลนั่นเอง พัดทั้งหลายในสมณศักดิ์ก็ย่อมเห็นได้อยู่ว่าแต่ก่อนคาบตับทั้งนั้น ยอดงาซึ่งเสียบพัดอยู่ทุกอย่างกับทั้งหลาย ย่อมส่อให้เห็นได้อยู่ว่าเคยคาบตับมาก่อน

ตามที่จะเสด็จขึ้นไปอยู่บนเขามีกำหนดเป็นสองสัปดาห์นั้น ดีกว่าเสด็จขึ้นไปประทับคราวก่อนมากจะได้มีเวลาเปลี่ยนพระอนามัยไปได้มาก คราวก่อนเห็นน้อยวันนักน่าจะไม่มีเวลาเปลี่ยนพระอนามัยไปได้เลย

ข่าวกรุงเทพ ฯ

เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ได้ไปเผาศพท่านทรัพย์ ศรีเพ็ญ ที่วัดมกุฎกษัตริย์ ไม่รู้จักกับผู้ตาย แต่พระยานิกรกิติการมาลากเอาตัวไป ได้คุ้นเคยกับพระยานิกรกิติการมานานแล้วจึ่งไป คิดว่าคงเป็นท่านผู้ที่เคยได้ยินกรมหมื่นพงษาเรียกว่าน้าทรัพย์ จึงสอบถามหญิงจงก็ได้ความว่าถูกเช่นนั้น

เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ได้ทำบุญอายุ ๗๗ รอบ เลี้ยงพระ ๕ องค์อันได้มีคุณเกื้อกูลมา คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ผู้ปกครองชายงั่ง) ๑ สมเด็จพระวันรัตน (ผู้ปกครองชายไส) พระศิริธรรมมุนี ๑ พระศรีวิสุทธิวงศ์ (มหาเอื้อน ผู้เป็นครูชายงั่ว) ๑ กับพระครูธรรมราต (เที่ยง ซึ่งเคยนำไปเขียนซ่อมฉากที่พิพิธภัณฑ์สถานถวายฝ่าพระบาท) ๑ แล้วได้แจกของแก่ลูกหลานแลคนใช้ การทำบุญทั้งนั้นขอถวายส่วนกุศลแต่ฝ่าพระบาท กับทั้งพระญาติทั่วกันด้วย ในการทำบุญนั้นมีพวกพ้องไปช่วยหลายคน หลานๆ ดิศกุลก็มีหญิงจงหญิงมารยาตร และชายดิศ ไปช่วย หญิงจงทำขนมที่เคยชอบกินไปให้ด้วย แล้วหญิงจงกับหญิงมารยาตรลาจะไปหัวหิน ได้ออกใบอนุญาตให้แก่เธอทั้งสองไป

เกล้ากระหม่อมคิดจะไปพักผ่อนที่หัวหิน ตกลงจะไปอยู่กับหม่อมเจิม ด้วยแกชวนไว้นานแล้ว แต่จะไปเมื่อไรก็ยังไม่ได้กำหนดแน่ ศพพระยาอนุทูตก็จะเผาวันที่ ๕ พฤษภาคม ที่วัดประยูรวงศ์ ศพพระยาพจนปรีชาก็จะเผาวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ที่วัดมกุฎกษัตริย์ แต่ล้วนชอบพอกันมาก ซึ่งฝ่าพระบาทได้ทรงทราบอยู่แล้ว จะทิ้งไปเสียหรือจะคอยเผาเสียก่อนก็ยังไม่ได้ตกลงแน่แต่ถึงจะไปเมื่อไรก็ไม่ขัดข้องแก่หนังสือเวร ย่อมเป็นทางใกล้เข้าไปเสียอีกเป็นแต่จะต้องเปลี่ยนการสลักหลังเท่านั้น กำหนดจะไปเมื่อไรแน่จึงจะกราบทูลมาให้ทรงทราบ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ