วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒ เมษายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ถวายพระพร

ก่อนอื่นขอถวายพระพร ด้วยหนังสือเวรฉบับนี้เป็นฉบับแรกในปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๘๓ ขอถวายพระพร ให้ทรงพระสำราญสุขตลอดปีใหม่ ปราศจากพระโรคพระภัย พระชนมายุยืนยง ดำรงอยู่เป็นที่เคารพแห่งญาติทั้งหลาย ผู้ซึ่งหมายเอาเป็นที่พึ่งนั้นเถิด

สนองลายพระหัตถ์

เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๒๖ มีนาคมตามเคย และเรียบร้อยทุกอย่าง จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นลางข้อต่อไปนี้

เรื่องหัวเมืองตะวันตก ตามที่ตรัสเล่าประทานไปนั้นดีมาก ได้ทราบความจริงแห่งที่เหล่านั้นว่าเป็นมาอย่างไร คำ “สำสำ” นั้นที่จริงควรจะเป็น “สำลำ” สำ ได้แก่ สยาม ลำ ได้แก่ อิสลาม สังขลบุรี เพิ่งได้ทราบว่าเป็นกะเหรี่ยง แต่เป็นเมืองกันดารนั้นทราบมานานแล้ว

พระเจดีย์สามองค์นั้นจะต้องเป็นมอญทำ เพราะเห็นรูปเป็นเจดีย์มอญ แต่จะทำขึ้นครั้งไร หวังว่าฝ่าพระบาทคงได้ทรงพระดำริแล้ว แต่ยังไม่ได้เคยฟังกระแสพระดำริเลย แล้วคงมีใครได้ทำซ่อมแซมมาหลายยก

พระบาท ๔ รอยนั้นจะต้องปรับว่าเป็นทางฝ่ายมหายาน พวกเดียวกับพระเจ้า ๕ พระองค์ ๗ พระองค์ ๒๘ พระองค์ และพระเจ้าตั้งล้านใน “สมฺพุทฺเธ” ตลอดจนพระเจ้าเท่าเม็ดกรวดเม็ดทรายในท้องพระมหาสมุทร อันพระบาท ๔ รอยนั้น ทางความคิดก็ดำเนินมาแต่พระเจ้า ๕ พระองค์ นับพระศรีอารย์เข้าด้วย แต่พระศรีอารย์ยังไม่มาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าอันจะพึงทำรอยพระบาทได้ จึงทำไว้แต่ ๔ รอย ที่จริงการทำรูปพระพุทธเจ้านั้นเป็นของต้องห้าม มีในวินัยจะทำรูปอะไรไม่ได้ ไม่จำเพาะแต่พระพุทธรูป อันนั้นก็เหมือนกันกับทางศาสนาอิสลาม แม้ทางศาสนาคริสตังก็ห้ามการทำรูปพระเจ้า ที่เรามีพระพุทธรูปนั้น ได้ยินพวกนักปราชญ์ฝรั่งเขาว่าเกิดขึ้นที่ประเทศคันธารก่อน เพราะพวกกรีกซึ่งเคยทำเทวรูปในเมืองกรีกมาก่อนเข้ามาทำขึ้น ถ้าความจริงเป็นเช่นนั้น พระพุทธรูปก็เกิดขึ้นในศาสนาพระโคดม ชั้นแรกบรรดาพระพุทธรูปซึ่งทำขึ้นกี่องค์ก็หมายถึงพระโคดมองค์เดียวเท่านั้น ส่วนองค์อื่นถ้ามีก็ประดิษฐ์ขึ้นมาภายหลัง พวกนักปราชญ์ที่จำหน่ายว่าคือพระเจ้าองค์นี้องค์โน้นก็เป็นความคิดแห่งตนเอง อาจจะถูกหรือผิดไปก็ได้ ไม่มีอะไรเป็นหลักพยานอย่าง “อกฺโษภย” ทางขวา นั่นเขาหมายเอาพระอาการที่ทำพระหัตถ์เป็นหลัก

หนังสือประชุมกฎหมายไทยโบราณ ซึ่งตีพิมพ์แจกในงานพระศพพระองค์เจ้าคำรบนั้น ไต้ตรวจสอบกับฉบับของดอกเตอร์แลงกาต์แล้วไม่เหมือนกัน ในฉบับที่ตีพิมพ์ในงานพระศพพระองค์เจ้าคำรบนั้น เป็นกฎหมาย ๒ เรื่อง คือธรรมศาสตร์ปกรณ ว่าด้วยครัวตระกูลผัวเมียพ่อแม่ลูก เป็นกฎหมายไทยภาคพายัพอย่าง ๑ ว่าต้นฉบับเป็นสมุดไทย มีอยู่แต่ครั้งหอพระสมุดตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง กับกฎหมายลักษณะพิจารณาอาณาจักรและธรรมจักร เป็นกฎหมายไทยภาคอีสานอีกอย่าง ๑ ว่าต้นฉบับเป็นใบลาน อ้างว่าฝ่าพระบาทประทานหอพระสมุดแต่ พ.ศ. ๒๔๔๙ คงจะทรงจำไม่ได้แล้ว จึงได้จัดส่งมาถวายในครั้งนี้ ฝากหญิงโสฬศมาถวายเพื่อทอดพระเนตรเล่นในเวลาว่าง พร้อมทั้งประดิทินหลวง พ.ศ. ๒๔๘๓ อีก ๓ เล่มด้วย แม้ต้องพระประสงค์อีกก็อาจส่งมาถวายอีกได้

รายงานข่าวกรุงเทพ ฯ

เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม เกล้ากระหม่อมไปเมรุวัดเทพศิรินทร์ โดยความตั้งใจจะถวายพระเพลิงพระศพพระองค์เจ้าพร้อม แต่ที่เมรุไม่มีพระศพ เป็นกินกาว ก็ตระหนักใจได้ทันทีว่าเพราะดูหนังสือผิด เขาคงบอกว่าวันที่ ๒๖ ทำบุญที่วัง วันที่ ๒๗ พระราชทานเพลิงที่เมรุวัดเทพศิรินทร์ กลับมาบ้านตรวจดูใบดำก็เป็นเช่นนั้นจริง รุ่งขึ้นวันที่ ๒๗ จึงไปใหม่ คราวนี้ได้ถวายพระเพลิงสมกับมุ่งหมาย หนังสือซึ่งเขาแจกในงานนั้นมี ๒ เล่ม

๑. “ตำนานศุลกากร” พระยาอนุมานแต่ง ตีพิมพ์สำหรับงานพระศพ

๒. “เรื่องแหลมอินโดจีนสมัยโบราณ” พระยาอนุมานแต่งเหมือนกัน เป็นของคณะข้าราชการสมัยกรมสุราและกรมศุลกากรตีพิมพ์ช่วย

เป็นหนังสือดีและเป็นหนังสือแต่งใหม่ทั้ง ๒ ฉบับ ควรที่จะส่งมาถวาย แต่ยั้งไว้ด้วยเกรงจะเป็นชิดดิฐ จึงรอฟังกระแสพระดำรัสก่อน ถ้าเขาไม่ได้ส่งมาถวายจึงจะส่งมาทีหลัง

เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม สำนักพระราชวังส่งหมายมาให้ ๓ ฉบับ

๑. หมายการพระราชพิธีเถลิงศก ๒๔๘๓ ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม จนวันที่ ๒ เมษายน และงานที่ระลึกมหาจักรี วันที่ ๖ เมษายน ด้วย

๒. หมายการพระราชพิธีพีชมงคล ตั้งแต่วันที่ ๑ ถึงวันที่ ๒ เมษายน

๓. การสังเวยพระสยามเทวาธิราช มีละครด้วย กำหนดวันที่ ๘ เมษายน

สองงานข้างต้น มีใบพิมพ์บอกกำหนดการรายละเอียดส่งมาด้วย จึงได้แบ่งส่งมาถวายเพื่อทราบฝ่าพระบาทในคราวนี้

ในวันที่ ๒๖ นั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ท่านมาหา บอกว่าพวกสัทธิงของท่านจะทำการฉลองสุพรรณบัฏที่วัด กำหนดวันที่ ๕ ที่ ๖ เดือนเมษายน เกล้ากระหม่อมก็แสดงความยินดีด้วยแก่ท่าน ในการนี้เดิมที่คิดจะทำของปากบาตรเลี้ยงพระไปช่วยท่าน แต่แล้วท่านก็บอกมาทางแม่โตด้วย แกคิดจะทำของปากบาตรไปช่วยเลี้ยงพระเหมือนกัน ก็เป็นอันจะซ้ำกัน เกล้ากระหม่อมจึงยักเป็นจะถวายเงินอุดหนุนท่าน เพื่อจับจ่ายในการฉลองสุพรรณบัฏนั้น

เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ชายทองเติมเอาใบดำมาให้ บอกกำหนดว่าจะทำการปลงศพหญิงเครือมาศ ที่วัดมกุฎกษัตริย์ ณ วันที่ ๔ เมษายน ในสมัยทำบุญร้อยวัน ศพฝังไว้ที่วัดนั้นแล้ว

เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ได้รับใบดำบอกว่าหม่อมเจ้าหญิงนงลักษณ์ทัศนีย์ ในกรมพระสวัสดิ์ ซึ่งเป็นชายาหม่อมเจ้าชายลายฉลุทอง ทองใหญ่ ถึงชีพิตักษัย นัยว่ากันว่าเป็นโรคเนื้องอกในมดลูก เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ จะสรงน้ำศพวันนั้น แล้วนำศพไปฝังที่วัดมกุฎกษัตริย์

ในเย็นวันที่ ๓๑ นั้น หญิงมารยาตรกับหญิงเป้าพากันมาหา หญิงจงกลนีมาด้วย เพราะมาด้วยกัน ถามดูได้ความว่าที่ลาไปหัวหินนั้นไม่ได้ไป เพราะหญิงมารยาตรติดการในหน้าที่เสีย ไปไม่รอด หญิงเป้าก็พลอยไม่ได้ไปด้วย

ต่อจากนั้น เกล้ากระหม่อมเข้าไปในวังในการสวดมนต์เถลิงศก การเป็นไปอย่างหมายไม่มีอะไรแปลกออกไป

เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ เข้าไปในวังเพื่อการเลี้ยงพระวันเถลิงศก และสดับปกรณ์ผ้าคู่ มีแปลกจากเคยที่เจ้าพนักงานเขาเอาผ้าคู่มาให้เจ้านายทอด เช่นเดียวกับผ้าไตรซึ่งเจ้านายส่งไปถวาย ในการพระราชกุศลทักษิณานุปทานอื่นๆ ซึ่งผิดกว่าแต่ก่อนที่เจ้านายเล็กๆ เคยทอด แต่ก็เห็นว่าควรแล้ว เพราะเจ้านายเล็กๆ ก็ไม่มีเหมือนแต่ก่อนแล้ว และผ้าคู่ก็เป็นของเจ้านายส่งไปถวายเช่นเดียวกับผ้าไตรเหมือนกัน

ในเย็นวันนั้น ได้รับใบดำบอกว่าหม่อมเจ้าหญิงมาลากนก ทองใหญ่ ถึงชีพิตักษัยด้วยโรคหัวใจ ทำให้ประหลาดใจมาก ด้วยหม่อมเจ้าหญิงมาลากนกนั้นเป็นพี่สาวหม่อมเจ้าลายฉลุทอง สามีหม่อมเจ้านงลักษณ์ทัศนีย์ ซึ่งถึงชีพิตักษัยเมื่อวานนี้ในบ้านเดียวกันด้วย อยู่ข้างทำให้สลดใจมาก ด้วยภายใน ๒ วันถึงชีพิตักษัยไปในที่แห่งเดียวกันถึง ๒ องค์ เขาบอกกำหนดว่าจะสรงน้ำศพพรุ่งนี้ แล้วเชิญไปไว้ ณ วัดมกุฎกษัตริย์อย่างเดียวกัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ