วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม แลเขาเอามาส่ง ณ วันเสาร์ที่ ๓ สิงหาคม โดยเรียบร้อย

ทูลความที่ค้างมา

๑. หม่อมฉันได้ทูลผัดไว้ว่าจะเขียนวินิจฉัย เรื่องที่ภาษาสังสกฤตกับภาษามคธเข้ามาปะปนในภาษาไทยถวาย จึงตั้งต้นจดหมายฉบับนี้ด้วยเรื่องที่ทูลผัดไว้นั้น

พิจารณาดูเห็นว่าภาษาสังสกฤต กับ ภาษามคธเข้ามาปะปนกับภาษาไทยนั้น โดยมีเหตุและมีประวัติเป็นชั้นๆ ต่อกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ โดยลำดับดังนี้ คือ

ชั้นที่ ๑ เมื่อพวกชาวอินเดียพาศาสนาและอาริยธรรมมาสอนชาวประเทศนี้ ไม่มีคำในภาษาพื้นเมืองพอจะใช้หมายวัตถุและคดีที่มาสอนเหมือนอย่างที่ตรัสมาในลายพระหัตถ์ ว่าพวกมิชชันนารีฝรั่งไปสอนศาสนาแก่พวกไทยที่อยู่ในแดนจีน เอาคำว่า “ศาสนา” ของไทยเราไปเรียก ไทยพวกนั้นไม่เข้าใจ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างดีที่สุดซึ่งจะยกในข้อนี้ ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ง่ายๆ แม้คำสามัญที่สุดที่ไทยเรายังใช้กันในศาสนาอยู่จนทุกวัน เช่น พุทธะ ธัมมะ สังฆะ นิพพาน หรือทางไสยศาสตร์ เช่นว่า พรหม อิศวร นารายณ์ ล้วนเป็นคำภาษาสังสกฤตและภาษามคธ เห็นได้ว่าเพราะไม่มีคำในภาษาพื้นเมือง ชาวอินเดียที่มาสั่งสอนจึงต้อง ใช้คำเดิมก็เลยติดอยู่กับภาษาพื้นเมือง คำพวกนี้ยังมีคำอื่นอีกมากมาย

ชั้นที่ ๒ ถึงสมัยเมื่อคนในพื้นเมืองบวชเรียนรู้ภาษาสังสกฤตและภาษามคธ ด้วยอ่านพระไตรปิฎกและคัมภีร์เวทมนต์ ผู้รู้เหล่านั้นย่อมถือว่า ภาษาทั้ง ๒ นั้นเป็นภาษาตำราอันเรียนรู้ได้โดยยาก ชอบยกศัพท์ภาษาทั้ง ๒ นั้นออกมาอ้างในคำสอนหรือคำพูด ฝ่ายคนอื่นก็นับถือว่าผู้ที่สามารถล่วงรู้ภาษานั้นๆ เป็นนักปราชญ์ได้เล่าเรียนรู้มาก การที่ใช้คำภาษาสังสกฤตและภาษามคธ จึงเป็นเกิยรติยศแก่ตัวบุคคล ไม่เลือกว่าจะเอาศัพท์ภาษานั้นไปใช้โดยจำเป็นหรือไม่จำเป็น เป็นเหตุให้ผู้แสวงหาความนับถือของคนอื่น อยากรู้จักใช้คำภาษาสังสกฤตและภาษามคธ แม้เพียงรู้ศัพท์ไม่ถึงอัตถธรรมที่เขียนด้วยภาษานั้นๆ อันนี้เป็นเหตุให้นับถือกันว่าศัพท์ภาษาสังสกฤตและภาษามคธศักดิ์สูงกว่าภาษาไทย เพราะสามารถจะรู้จักใช้แต่ผู้เป็นนักปราชญ์และบัณฑิต

ชั้นที่ ๓ เมื่อนับถือคำภาษาสังสกฤตและภาษามคธกันแพร่หลาย ก็เลยเกิดนิยมกันต่อไปถึงคำพูดและคำที่ใช้ในหนังสือ ตลอตจนขนานนามต่างๆ ถ้าใช้คำภาษาสังสกฤตหรือภาษามคธ หรือแม้มีคำ ๒ ภาษานั้นแทรกแซงโดยจำเป็น เช่นแต่งคำฉันท์ก็ดี หรือไม่จำเป็น เช่นทูลกระหม่อมตรัสเรียกว่า “ยกศัพท์อวดตุ๊กแก” ก็ดี ก็นับถือว่าเป็นคำมีเกียรติ์และเป็นคำของผู้รู้ การที่เกิดชอบใช้ศัพท์ภาษาสังสกฤตและภาษามคธ เลยเป็นเหตุให้คำภาษาไทยเช่นเคยใช้กันแต่โบราณสูญไปเสียมาก และทำให้คำ ๒ ภาษานั้นปนกับคำภาษาไทยที่ยังเหลืออยู่จนแยกไม่ออก หม่อมฉันคิดเห็นว่าลาดเลาเรื่องประวัติจะมีมาดังนี้

ถ้าว่าต่อไปถึงคำภาษาอื่น นอกจากภาษาสังสกฤตและภาษามคธที่เอามาใช้ปะปนกับภาษาไทย คำเขมรเป็นมีมากกว่าภาษาอื่น และมักชอบใช้ในคำพูดของผู้ดี เช่นราชาศัพท์เป็นต้น ที่เป็นเช่นนั้นพิจารณาดูเห็นว่า เมื่อครั้งพวกขอมเป็นใหญ่อยู่ในประเทศละโว้ หรือลาว ในประเทศนั้นพลเมืองคงพูดภาษาละว้าหรือ ลาว พวกขอมที่ปกครองคงพูดภาษาเขมร พอไปกันได้ ด้วย ๒ ภาษานั้นคล้ายๆกัน เมื่อแรกชนชาติไทยสาดลงมาอาศัยตั้งภูมิลำเนาในแดนละโว้ คงพูดกันเองด้วยภาษาไทย แต่จำต้องพูดภาษาละว้าและภาษาเขมรกับชาวเมืองและผู้ปกครอง เช่นเดียวกับพวกมอญ เมื่อภายหลังแม้เมื่อมีไทยมากขึ้น ทั้งที่อพยพลงมาจากข้างเหนือและมาเกิดลูกหลานด้วย สมพงศ์กับพวกละว้าจนมีไทยทำราชการได้เป็นเจ้าบ้านพานเมือง ภาษาที่พูดก็คงเป็นเช่นนั้นมาจนตลอดสมัยพวกขอมยังเป็นใหญ่ เห็นจะเปลี่ยนใช้ภาษาไทยเป็นภาษาสำหรับบ้านเมือง หรืออย่างเรียกว่าใช้ในทางราชการ เมื่อพระเจ้ารามกำแหงได้ประเทศละโว้ไว้ในอาณาเขต ให้พระเจ้าอู่ทองซึ่งเป็นไทยเป็นประเทศราช ปกครองตลอดมาจนเมืองละโว้ที่พวกขอมเคยตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น หนังสือไทยเก่าที่แต่งในอาณาเขตลานนา จึงมักเรียกราชวงศ์พระเจ้าอู่ทองว่า “กัมโพชวงศ์”

ถึงเมื่อสมัยพระเจ้าอู่ทอง ตั้งอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระ ภาษาไทยที่ใช้ในกรุงศรีอยุธยาผิดกับภาษาไทยที่ใช้ในกรุงสุโขทัย ข้อนี้พิสูจน์ได้โดยสังเกตถ้อยคำในกฎหมายที่ตั้งเมื่อสมัยพระเจ้าอู่ทองเทียบกับหนังสือไตรภูมิพระร่วง และศิลาจารึกแต่งที่กรุงสุโขทัยในสมัยเดียวกัน ด้วยหนังสือแต่งในกรุงศรีอยุธยาใช้คำภาษาเขมรปนภาษาไทย มากกว่าหนังสือไทยที่แต่งในกรุงสุโขทัย เพราะเหตุไทยทางข้างใต้เคยอยู่ปะปนกับพวกขอมมาแต่ก่อน ดังกล่าวมาแล้ว

ส่วนคำภาษาอื่นที่มาปะปนกับภาษาไทย เช่นภาษาจีน ภาษามลายู และที่สุดภาษาฝรั่ง เป็นเพราะชนชาวต่างประเทศนั้นๆ ไปมาค้าขายกับเมืองไทย เอาภาษาของตนเข้ามาปล่อยไว้กับชื่อของที่เอามาจำหน่ายบ้าง เช่น ซ่าบู่ Sawon ขนมปัง Pan และเรือกำปั่น Kapal เป็นตัวอย่าง บางคำมาแต่กิจการประเพณีของชนชาตินั้นที่พามาให้มีขึ้นในเมืองไทย เช่นตั้งห้างค้าขาย Hong เป็นต้น

ถ้าว่าโดยทั่วไป พึงสังเกตได้ว่าภาษาไทยที่ใช้ข้างฝ่ายใต้ เช่นในกรุงศรีอยุธยา หรือแม้กรุงรัตนโกสินทร์นี้มีภาษาอื่นปนมาก อุปมาเหมือนน้ำขุ่น ยิ่งเหนือขึ้นไปยังมีคำภาษาไทยมากภาษาอื่นน้อยลงเปรียบเหมือนน้ำที่ค่อยใสจางขึ้นไปโดยลำดับ ไปมีแต่คำภาษาไทยใสเหน่งต่อเมื่อถึงพวกไทยในแดนจีน ซึ่งไม่รู้ว่าคำศาสนาหมายความว่าอะไร ดังทรงยกตัวอย่างมาในลายพระหัตถ์

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๒. ซึ่งทรงปรารภถึงลักษณะพระพุทธรูป ที่ว่าทำตามมหาปุริสลักขณนั้น เป็นคดีที่หม่อมฉันได้เคยพิจารณามาแต่ก่อนอยู่บ้าง ตามหนังสือต่างๆ ที่ได้พบมา แม้ที่นักปราชญ์ฝรั่งได้สอบสวนยุติต้องกันว่า ตำรามหาปุริสลักขณของพวกพราหมณ์ มีจริงตั้งแต่ก่อนพุทธกาล แต่ไม่มีหลักที่จะรู้ได้ว่าตำราเดิมเป็นอย่างไร รู้ได้แต่ว่าตำรามหาปุริสลักขณ เช่นเขียนพรรณนาไว้ในหนังสือปฐมสมโพธิ์เป็นต้นนั้น เป็นตำราแต่งขึ้นต่อภายหลังพุทธกาล และลักษณะที่พรรณนาฝืนธรรมชาติจะถือเป็นความจริงไม่ได้ ถึงกระนั้นก็ปรากฏช่างทำพระพุทธรูปแม้ในสมัยคันธารราษฎร์ เมื่อราวพ.ศ. ๕๐๐ ก็เอาใจใส่ต่อตำรามหาปุริสลักขณ พึงเห็นเช่นทำตุ่มไว้ที่หว่างพระโขนงเป็นต้น ไทยเราก็พยายามจะสร้างพระพุทธรูปให้ถูกต้องตามว่าในตำรามหาปุริสลักขณมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย และในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ การทำปลายนิ้วพระหัตถ์พระพุทธรูปยาวเท่ากันทั้ง ๔ นิ้ว เกิดขึ้นครั้งกรุงสุโขทัย หม่อมฉันเชื่อว่าแก้เมื่อสร้างพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์เป็นที่แรก ด้วยสังเกตพระพุทธรูปสุโขทัยแต่เดิมทำนิ้วพระหัตถ์อย่างคนสามัญ คงเป็นพระมหาธรรมราชา (พระยาลิไท) ที่เรียกในพงศาวดารเหนือว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก) ทรงสันนิษฐานความตามที่กล่าวในตำรามหาปุริสลักขณว่าจะเป็นเช่นนั้น จึงให้แก้เมื่อทรงสร้างพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ พระราชาคณะองค์ ๑ จะเป็นใครหม่อมฉันลืมเสียแล้ว เคยบอกหม่อมฉันว่าท่านได้ดูตำรามหาปุริสลักขณ หาได้กล่าวว่าปลายนิ้วพระหัตถ์เท่ากันทั้ง ๔ นิ้วไม่ เมื่อหม่อมฉันร่างจดหมายฉบับนี้ไปเปิดดูหนังสือปฐมสมโพธิ ความกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงแต่งฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ พบที่หน้า ๗๐ ว่า “ชาลหตฺปาโท” ฝ่าพระหัตถ์และพระบาทเป็นลายตาข่าย นิ้วพระหัตถ์ข้างละ ๔ เว้นแต่พระอังคุษฐ์และนิ้วพระบาทข้างละ ๕ “เสมอกันเป็นอันดี ชิดเสียดสีซึ่งกันสนิท” ดังนี้ ก็คือมาตีความ ที่ว่า “เสมอกัน” นั้นเอง

เรื่องค้นพระพุทธลักษณะในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ปรากฏว่าสมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เอาพระทัยใส่ค้นหากำหนดขนาดในครั้งพุทธกาล ดูเหมือนทูลกระหม่อมจะทรงรู้เห็นด้วย ท่านทรงตรวจในพระบาลีพบกล่าวถึงเกณฑ์ขนาด (ซึ่งดูเหมือนมีเทียบด้วยเมล็ดข้าวเปลือก) ได้ขนาดเมล็ดข้าวเปลือกเป็นหลักมาขยายให้รู้ขนาดต่างๆ ซึ่งอ้างในพระบาลี แล้วทรงแต่งตำราเรียกว่า “สุคตวิทตฺถิ” ขึ้นไว้เป็นภาษามคธ เรียกกันเป็นสามัญตำรา “คืบพระสุคต” ในคณะธรรมยุติรับใช้เป็นหลักขนาดต่างๆ ตามอ้างในพระบาลี อาศัยตำรานั้นทูลกระหม่อมโปรดให้ช่างทำพระพุทธรูปองค์ ๑ ด้วยโครงสานไม้ไผ่พอกปั้นด้วยปูนน้ำมันแล้วประสานสี ให้ได้พุทธลักขณะและเท่าพระองค์พระพุทธเจ้า พระพุทธรูปองค์นั้นรักษาไว้ในหอศาสตราคม เข้าใจว่าพระองค์ท่านก็คงเคยทอดพระเนตรเห็น ดูเหมือนจะถือเป็นยุติกันในสมัยนั้นว่าขนาดพระพุทธองค์เท่าพระพุทธรูปองค์นั้น สังเกตพระพุทธรูปที่ทูลกระหม่อมทรงสร้างเป็นพระประธานวัดต่างๆ เช่นที่วัดมกุฎกษัตริย์ วัดโสมนัดวิหาร ก็ดี ที่ตั้งกลางพระอสีติสาวกในพระอุโบสถวัดสุทัศน์ก็ดี ที่อยู่ในพระวิหารหลวง ณ พระปฐมเจดีย์และพระประธานวัดเทพศิรินทร (ซึ่งทรงสร้างค้างไว้) ก็ดี และต่อมาจนถึงพระประธานวัดราชบพิธ สร้างตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ก็สร้างขนาดพระตัวอย่างนั้นทั้งนั้น แต่มาคิดดูเดี๋ยวนี้ก็ใหญ่เกินไป จึงเห็นว่าลักษณะพระพุทธรูปที่สร้างนั้น สมัยไหนเชื่อว่าพระพุทธลักษณะเป็นอย่างไรก็สร้างอย่างนั้น หรือไม่คิดเลยทีเดียวแต่ก็มีแปลกบ้าง หม่อมฉันนึกถึงพระพุทธรูปองค์ ๑ เคยเห็นที่วังพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ว่าเป็นของกรมพระเทเวศวัชรินทร์โปรดให้หล่อสำหรับจะไปตั้งเป็นพระประธานที่วัดแจ้ง ดูเหมือนในแขวงเมืองนนทบุรีที่ท่านทรงปฏิสังขรณ์ ตรัสสั่งให้ทำพระพักตร์ให้คล้ายพระองค์ท่าน พระองค์ประดิษฐ์ทำพระปรางตอบแปลกกับพระพุทธรูปยืนจึงเป็นเหตุให้ถามกันขึ้น นึกว่าพระองค์ท่านก็คงได้เคยทอดพระเนตรเห็น

ปกิรณกะ

หม่อมฉันเขียนวิจารณ์เรื่องเห่ช้าลูกหลวงสำเร็จแล้ว จะฝากหม่อมเจิมไปถวายพร้อมกับตำนานพิธีตรุษ เขาจะกลับไปกรุงเทพฯ วันที่ ๑๒ สิงหาคมนี้.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ