วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ค้างเก่า

จะกราบทูลเรื่อวกงเต๊ก ตามที่ค้างมาแต่คราวก่อนด้วยไม่มีเวลาเขียน ตามธรรมดาคนก็ย่อมฉวยได้แต่สิ่งที่ถูกใจ นอกจากนั้นก็ได้บ้างดั่งจะกราบทูลถวายพอเป็นปฏิการะต่อไปนี้

เมื่อครั้งพระศพสมเด็จพระนางสุนันทา อยู่ที่หอธรรมสังเวชนั้น เคยได้ทราบพระราชปรารภที่จะให้เหมือนครั้งพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทร์อยู่เหมือนกัน แต่ความเอาใจใส่หนักไปเสียในทางช่าง คือการซ่อมแซมหออันจะให้เหมือนกับครั้งนั้น ไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องกงเต๊ก เป็นแต่จำได้ว่าทำทุก ๗ วัน มีทั้งพิธีสงฆ์ของเราและกงเต๊กรวมกัน ซ้ำจำได้ละเอียดเข้าไปได้ว่างาน ๗ วัน โดยปรกตินั้น มีพระสงฆ์สวดมนต์ ๑๕ รูป แบ่งเป็นของหลวง ๑๐ รูป ของเจ้าภาพ ๕ รูป เมื่อถึงงาน ๕๐ วัน ๑๐๐ วันนั้นเพิ่มพระสงฆ์มากขึ้น แต่จะเป็นเท่าไรจำไม่ได้ การทำบุญทุก ๗ วัน กับทั้ง ๕๐ วัน ๑๐๐ วันนั้นมาทางกงเต๊กแน่ ๕๐ วันมีข้ามสะพานตั้งที่ชาลาพระที่นั่งดุสิต ข้างมุขหน้าทางด้านตะวันตก ๑๐๐ วันมีทิ้งกระจาด เผาอะไรต่างๆ พระญวนใส่หมวกขึ้นโต๊ะ ตั้งเป็นลดหลั่นทางรักแร้มุขหน้ากับมุขตะวันออก สวดทำตัวก่อนทิ้งกระจาด แต่ข้ามสะพานทำไม และพระใส่หมวกขึ้นโต๊ะสวดทำตัวทำไม ไม่เคยถามใครเอาความหมายก็เลยไม่ทราบ ส่วนที่ตั้งพิธีสวดตามปรกตินั้นที่ศาลาอัตวิจารณ์ พระญวนนั้นองกร่ามเป็นหัวหน้า องฮึงก็เห็นจะเคยมา นึกหน้าได้ แต่คงน้อยหน ดูเหมือนเจ้าภาษีนายอากรเปลี่ยนกันเข้ามารับหน้าที่เป็นเจ้าของกงเต๊ก แต่มีพวกพระยาโชฎึก (เถียน) เป็นตัวยืน คงเป็นการแน่ที่เจ้าภาษีนายอากรเปลี่ยนกันเป็นเจ้าของ จึงยังผลให้มีพวกอื่นเข้าทำประมูล เช่น “ขรัวหยา” เป็นต้น ได้ทำที่ศาลาอัตวิจารณ์เหมือนกัน มีโต๊ะฮะยีผู้ใหญ่มาล้อมกันสวด และมีเด็กมานั่งเป็นวงตรงกลาง แต่งตัวหรูหรา จะถือรำมะนาเล็กๆ ด้วยหรืออย่างไรก็จำไม่ได้แน่ จำได้แต่ว่า ประเดี๋ยวล้มประเดี๋ยวลุก คล้ายกับ “กะจั๊กกะจั๊ก” ที่เกาะบาหลีเมืองชวา การจัดตั้งแต่งตำแหน่งพระญวนก็จำได้ จำได้ที่ตรัสแจ้งพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าประดิฐวรการทำพัดยศ ท่านคิดเอาพัดพระไทยไปดัดแปลงให้เป็นทีญวน พระจีนมียศเข้ามาด้วยในครั้งนั้น แต่ทำพิธีเข้ากับพระญวน ที่แยกออกไปทำจำเพาะพิธีพระจีนเองก็มี แต่จะเป็นงานครั้งใดจำไม่ได้ มีรำกระบองเป็นที่หมาย เป็นแน่ว่าการกงเต๊กในงานหลวงนั้นได้ทำต่อมาอีกนาน

หนังสือแจกเมื่องานศพหญิงเครือมาศเล่มหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า “โบราณคติ” ตามที่กราบทูลมาว่าไม่เคยรับนั้น เพราะพลิกดูอย่างดะๆ เห็นเป็นสุภาษิตโบราณ คิดว่าเป็นคำแต่งของโบราณอันยังไม่เคยอ่าน จึงได้กราบทูลว่าไม่เคยรับ แต่ครั้นอ่านจริงจังเข้าก็พบ “อันสุรานารี กีฬบัตร” เข้าจึงรู้ว่าเป็นของใหม่ อันจะเคยรับไม่ได้อยู่เอง แต่แต่งดีที่กราบทูลว่าควรทรงนั้นไม่ผิด

ไปถวายบังคมพระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดรเมื่อวันที่ ๖ ไปเห็นหัวนาคหล่อที่พลสิงห์กระได เป็นนาคใส่มงกุฎซึ่งไม่เห็นใครทำที่ไหน เคยทราบมาแล้วว่าเป็นของพระมณฑป แต่ไม่เคยเฉลียวใจได้คิดว่า เหตุใดจึงเอามาใช้ที่ปราสาทพระเทพบิดร จะต้องเป็นของเหลือ เป็นเหตุให้สงสัยว่าพระมณฑปเดิมจะมีลักษณะอย่างไร จึงเดินไถลไปดู เห็นหัวนาคที่กระไดพระมณฑปทำผิดกัน เป็นหน้าคนสวมมงกุฎนาค พระองค์เจ้าประดิฐวรการเคยบอกว่าเขาเรียก “นาคจำแลง” ทางความคิดจึ่งนึกขึ้นได้ว่า พระมณฑปเดิมอยู่บนไพทีต้องมีกระไดขึ้นเป็นชั้นๆ ครั้นเปลี่ยนทำให้อยู่ด้วยกันกับพระศรีรัตนเจดีย์และปราสาทพระเทพบิดร กระไดเดิมก็ไม่ได้ใช้ จึงเอาหัวนาคกระไดเก่ามาใช้เสียที่อื่น

ออกจากพระมณฑปลงไปดูหอพระมนเทียรธรรม เห็นบานมุกซึ่งเอาเข้าประจุไว้ที่ประตูช่องหน้า มีหนังสือแลบออกมาพ้นกรอบประตูนิดหนึ่ง จึงทราบว่ามีหนังสือจารึกเหมือนกับบานมุกที่พระวิหารยอด ได้วานพระยารัตนพิมพาภิบาลให้ช่วยคัดให้ ก็ได้มาเป็นดังนี้

“ศุภมัศดุพระพุทธศักราช ๒๒๙๕ พระวษา ณ วัน ๗ ๑๒ ค่ำ ปีมะแมตรีณิศก พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้เขียนลายมุกบานประตูพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม ช่าง ๒๐๐ คน เมื่อ ณ วัน ๔ ๑๒ ปีมะแมตรีณิศก ลงมือทำมุก ๖ เดือน ๒๔ วันสำเร็จ พระราชทานช่างผู้ได้ทำการมุกทั้งปวง เสื้อผ้ารูปพรรณทองเงินและเงินตราเป็นอันมาก เลี้ยงวันแล ๒ เพลา ค่าเลี้ยงมิได้คิดเข้าในพระราชทานด้วย คิดแต่บำเหน็จ ประตูหนึ่งเป็นเงินตรา ๓๐ ชั่ง”

อนี้ก็มีรูปความคถ้ายกันกับจารึกบานมุก ประตูการเปรียญวัดป่าโมกซึ่งเอามาบรรจุไว้ ณ พระวิหารยอด ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เจ้าพระยารามมารดน้ำสงกรานต์ เห็นเป็นโอกาสดีจึงได้ถามถึงรอยพระราชบาทได้ความมีมูลว่า เมื่อครั้งทรงเล่นดุสิตธานี ได้ทำเขาพระบาทขึ้นไว้ที่นั่นด้วย ทรงพระดำริให้ประดิษฐานรอยพระราชบาทแห่งพระองค์ไว้ จึ่งโปรดให้ช่างจัดการทำ เขาก็แต่งปูนขาว (ปลาสเตอ) เข้าไปถวายให้ทรงเหยียบ แล้วก็ถ่ายทำทองแดงหล่อประดิษฐานไว้ที่นั่นเป็นการเล่น เมื่อเลิกดุสิตธานีแล้วพระยาอนิรุทธจึงเอามาเก็บรักษาไว้ ครั้นถึงงานวชิราวุธานุสสรณ์ จึงเอาออกตั้งอวด ทีจะคิดเห็นว่าคนไม่ได้เห็นกันอยู่โดยมาก เรื่องราวเป็นดังนี้

สนองลายพระหัตถ์

ลายพระหัตถ์เวร ลงวันที่ ๙ เมษายน ควรจะได้รับในวันเสาร์ แต่ได้รับเอาวันอาทิตย์ เป็นการช้าไปตามเคย แต่ก็เรียบร้อยตามเคย จะกราบทูลสนองลางข้อที่จับใจ และจะต้องขอประทานผัดผ่อนไปกราบทูลต่อภายหน้าบ้าง เพราะไม่มีเวลาจะเขียน ข้อที่จะกราบทูลนั้นมีต่อไปนี้

เรื่อง “มฤตกวัตร” สำหรับใช้การปิดพระศพนั้นถูกแล้ว แต่เผอิญมีผู้ใหญ่ตายต่อไปอีกจนมีคนโทษเอาว่าเพราะคำ “มฤต” แปลว่าตาย จึ่งมีผู้ตายต่อไป นั่นก็ถูกแล้ว และภายหลังสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ศราทธพรต” นั่นก็ถูกแล้ว แต่ไม่ทราบว่าชื่อก่อนใครคิด และใช้ปิดพระศพกันมากี่คราว และมาเปลี่ยนชื่อใหม่เมื่อไรก็จำไม่ได้ และใช้เคลื่อนไปจากเดิมนั้นก็ถูกแล้ว

แขกสวด “ขรัวหยา” นั้น ได้เขียนถวายมาข้างต้นแล้ว ด้วยบังเอิญยังไม่ได้รับลายพระหัตถ์ มีเวลาก็เขียนไว้ โดยไม่ทราบว่าจะตรัสไปถึง เมื่อตกถึงยี่เกที่จะกราบทูลได้มาก เพราะเป็นเรื่องร้องเรื่องเล่นเรื่องปี่พาทย์ราดตะโพน แต่ไม่มีเวลาจะเขียนกราบทูล ต้องขอประทานขึ้นกะทะผัดไปก่อน ยี่เกกับลูกหมดนั้นผิดกัน ยี่เกนั้นแต่งตัว ลูกหมดไม่แต่งตัว เหมือนกับเล่นเสภารำ ลางทีก็ฟังกันไม่ศัพท์จับเอามากระเดียด เรียกว่า “ลูกบท” ก็มี

เรื่องลูกประคำนั้นพระดำริดีเต็มที สำหรับใช้ใส่คะแนนภาวนาเป็นแน่นอน แต่มีจำนวนกี่เมล็ดนั้นเกล้ากระหม่อมก็สงสัยอยู่มาก เห็นเขาทำให้เทวรูปถือก็ไม่ยาว หญิงไอก็บอกว่ายายชีฝรั่งก็ใช้เป็นพวงเล็กๆ ถามว่ากี่ลูกก็ตก เกล้ากระหม่อมคิดจะถามภราดรฮีแลร์ก็ได้รับพระอธิบายเสียก่อน ตามที่เห็นพวกคริสตังใช้ ก็เห็นใช้เป็นเครื่องยศสวมคอพระโปปีและบาทหลวงลางคนเห็นปลายประคำเป็นไม้กางเขน เสียใจที่นึกว่าเขาจะมีมาเก่าแก่ ที่แท้เซนต์โดมินิค บัญญัติขึ้นได้ ๑๙๑ ปีเท่านั้น จำนวนที่ว่ามีกี่ลูกเห็นจะไม่แน่คงจะมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ใครต้องการจะภาวนาอะไร ที่กราบทูลว่ากำลังเทวดาอัฐเคราะห์นั้นก็ผู้ใหญ่บอก และผู้ใหญ่ก็สงสัยอยู่เหมือนกัน พวกขรัวขลังลงเลขยันต์อ้างว่าพุทธคุณ ๕๖ ธรรมคุณ ๓๘ สังฆคุณ ๑๔ รวม ๑๐๘ แต่ก็แลไม่เห็นว่าไปทางไหนกัน พุทธคุณตามที่เคยได้ยินก็นวอรหาทิคุณมี ๙ เท่านั้น ชะรอยเราจะถือจำนวน ๑๐๘ กันว่าเป็นสำคัญแล้วอะไรๆ ก็จำหน่ายให้ได้ ๑๐๘ ทั้งนั้น ทางพระญวนท่านจะว่ากระไรก็ยังไม่ทราบ

ใบปกหนังสือฉลองสมณศักดิ์พระอุบาลี ตามที่ตรัสถึงนั้น เกล้ากระหม่อมไม่ได้เห็น

ประดิทินหลวงนั้นข้น ได้ยินว่าได้รับกันไม่ทั่วถึง แปลว่าตีพิมพ์ไม่มากพอ จะขอเขาอีกเขาก็ไม่มีให้ จึงได้ส่งถวายมาแต่อีกเล่มเดียว สำหรับหญิงเหลือ หลานแมวกับหลานน้อยนั้นจำต้องงด

การเลิกสวดภาณยักษ์ภาณพระ ถึงจะยังไม่เลิกพิธีตรุษ ทีก็จะเรียวลงไปเต็มทีถึงที่ดีมาแต่ก่อนก็มีแต่วัดมหาธาตุกับวัดระฆังเท่านั้น วัดมหาธาตุดีในเชิงสวด วัดระฆังนั้นดีในเชิงร้อง ท่านกำมะลอก็เข้าใจว่าตายแล้ว ถึงจะยังอยู่ก็คงร้องไม่ไหวแล้ว ถึงเทศน์มหาชาติก็จะต้องสูญไปเช่นเดียวกัน แม้แต่ก่อนก็นาน ๆ จึ่งมีดีสักทีหนึ่ง

ตามที่ทรงจัดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ระลึกมหาจักรีนั้นดีเต็มที เป็นการแสดงกตเวที ขอถวายอนุโมทนาด้วยอย่างยิ่ง

ข่าวกรุงเทพ ฯ

เมื่อวันที่ ๑๓ มีการทำบุญ ๗ วันศพชายถาวร เกล้ากระหม่อมไปเห็นเขาตกแต่งงามดี เต็มไปด้วยดอกไม้ สมกับเป็นคนชอบเล่นต้นไม้

และในวันนั้นเอง พระยาวิเศษสัจธาดา (อิ่ม) ก็ตาย เขาอาบน้ำศพกันเมื่อวันที่ ๑๔ เกล้ากระหม่อมก็ไป มีความผิดถึงสองอย่าง อย่างหนึ่งไม่รู้ว่าบ้านครูอิ่มอยู่ที่สะพานอ่อน อีกอย่างหนึ่งพระยาฤทธิ์ไกรเกรียงหาญ (สาย) ก็ยังบวชอยู่ นึกว่าสึกแล้ว ไม่ได้ไปเยี่ยมเยียนเลย ได้ไปเห็นหีบใส่ศพตั้งอยู่ชั้นต่อเอง หีบใบนั้นไม่เคยเห็น ได้ถามเขาว่าหีบเชลยศักดิ์หรืออย่างไร พระยาฤทธิไกรบอกว่าหีบหลวง เรียกว่า “ก้านแย่ง” พิจารณาเห็นเป็นดอกสี่เหลี่ยมใหญ่ มีก้านร้อยอยู่ในระหว่างดอกสองก้าน ซ่อมปิดทองใหม่ ดูไม่นึกว่าเป็นของเก่า เว้นแต่ต้นไม้นั่นเห็นได้ว่าเป็นของเก่า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ