วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

มีข่าวที่ควรจะกราบทูลคราวนี้ ๓ เรื่อง

ข่าว

๑) เมื่อวันที่ ๑๑ แม่โตมาบอกว่าไปเยี่ยมหม่อมเติม ท่านเสริมสิ้นชีพเสียแล้ว เป็นโรคเลือดฉีดแรง อย่างที่ตรัสบอกไปในลายพระหัตถ์เวร ตายในห้องน้ำโดยปัจจุบัน ทีก็เข้ารูปเป็นอัมพาตอย่างแรง ครั้นวันที่ ๑๒ ธันวาคม มีใบดำบอกมาว่าจะอาบน้ำศพเวลา ๑๗.๐๐ น. จึงได้ไปตามกำหนด ได้อาบน้ำศพตามประเพณี และได้เห็นศพประกอบหีบทองทึบตั้งบนชั้นกระจก ๒ ชั้นที่บ้านเธอ

๒) วันที่ ๑๒ ธันวาคมนั้นเอง ได้รับใบดำอีกฉบับหนึ่ง บอกว่าหม่อมเจ้าคอยท่า ปราโมช สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม จะอาบน้ำศพในวันที่ ๑๒ นั้น เวลา ๑๖.๓๐ น. สองแห่งผิดเวลากันครึ่งชั่วโมง อะร้าอร่าม จึงตกลงใจว่าไปรายท่านคอยทีหลัง รดน้ำให้ที่หีบศพอย่างคิดไป ศพประกอบหีบทองทึบ ตั้งบนกระจก ๒ ชั้น มีฉัตรเบญจาตั้ง ๔ คัน สิ้นชีพไปว่าอย่างคนไทยเก่าก็โรคชรา ถามถึงอายุเขาบอกว่า ๘๔ รู้สึกว่าอยู่ได้แก่มากทีเดียว

๓) เมื่อวันที่ ๑๕ นี้ ได้ไปเผาศพพระยาดำรงธรรมสาร (สร่าง วิเศษศิริ คือเจ้าของตึก ๗ ชั้น) ที่วัดสามจีน ซึ่งเปลี่ยนเป็นวัดไตรมิตร ที่จริงไม่ใช่เปนคนรู้จักมักคุ้นกัน เว้นแต่เกี่ยวข้องอยู่่หลายทาง ทั้งได้ทราบว่าที่วัดนั้นมีเตาเผาศพอย่างฝรั่งทำขึ้นไว้ใหม่ด้วยจึงอยากเห็น ทั้งผู้ตายก็มีทางเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยจึ่งไป เตาเป็นอย่างไรจะพรรณนามาถวายเวลาก็คับขัน จึ่งงดไว้จะกราบทูลในฉบับหน้า หนังสือซึ่งได้แจกในงานนั้น เล่ม ๑ ชื่อว่า “บทรัฐนิยม” เล่ม ๑ กับชื่อ “ฉันไม่โกรธ” เล่ม ๑ เล่มแรกเป็นเรื่องการบ้านเมือง เล่มหลังเป็นธรรมะ ไม่ได้พยายามที่จะส่งมาถวายทั้ง ๒ เล่ม

แปลคำ

๔) ชื่อ “มหาดไทย” กับ “กลาโหม” ได้คิดหนักแล้ว แต่ไม่ตกลงใจแน่เลย คำ “มหาดไทย” รักจะให้เป็นคำไทย “มหาด” คำนี้มีอยู่ดาษดื่น ใช้เป็นชื่อชนิดคน แต่จะเป็นคนชนิดใดก็รู้สึกมืดมัว คำ “มหาด” ไม่ใช่มีแต่ “มหาดไทย” “มหาดเล็ก” ก็มี แปลมหาดไทยว่าพลเรือนก็ดูเข้าที แต่กลัวจะหลงไปด้วยอุปาทานยึดเอากฎหมายศักดินา เพราะจัดเข้าคู่กันไว้กับกลาโหม ซึ่งว่าเป็นกระทรวงทหารสงสัยอยู่มาก เห็นกรมในกลาโหมไม่ควรเป็นทหารก็มี กรมในมหาดไทยเกณฑ์เข้าตารางทัพก็มี ตลอดจนเสนาบดีมหาดไทยก็ให้เป็นแม่ทัพ อนึ่ง คำกลาโหมนั้นก็ชอบกล ค่าที่ถือว่าเป็นกระทรวงทหารจึ่งแปลเอาคำ “กลาห” ว่าเป็นรบ แต่ที่จริงลางข้างนั้นเกิน ถ้าแปลว่ารบก็ควรเป็น “กลห” แล้วคำ “โอม” ข้างท้ายก็ตัดทิ้งเสียไม่แยแส ศาสตาจารย์ ฟิโน แปลว่าผู้รู้การบูชาไฟ นั่นก็แปลไปตามคำ “กลา” หรือ “กระลา” ติดต่อกับคำ “โหม” ถ้าถือเอาแต่แปลคำก็ฟังได้ แต่ถ้าจะเอารูปเอารอยก็ฟังไม่ได้ น่ากลัวจะเรียกผิดเขียนผิด แต่คิดถึงว่าเดิมทีจะเป็นอะไรก็คิดไม่ออก จึ่งได้กราบทูลมา เผื่อว่าจะได้ทรงพระดำริไว้บ้าง จะได้ตรัสบอกให้เป็นทางได้คิดต่อไป

อนึ่ง ศักดินาในกฎหมายเขียนว่า “ทหารหัวเมือง” พิจารณาดูชื่อเจ้าเมืองเก่าๆ ก็เป็นชื่อทหารทั้งนั้น อาจที่หัวเมืองทั้งปวงจะรวมอยู่ในกลาโหมหมดก็เป็นได้ ที่มาแยกขึ้นมหาดไทยบ้าง กลาโหมบ้าง กรมท่าบ้าง มาแยกทีหลังเป็นแน่ แม้จะมีปรากฏอยู่ในกฎหมายเขียนเติมเอาทีหลังก็ได้ จะเห็นได้ที่กรมท่า เข้าใจว่าเป็นกรมตั้งขึ้นภายหลัง แต่ก่อนไม่มี

ลายพระหัตถ์

๕) วันที่ ๑๔ นี้ ได้รับลายพระหัตถ์เวรปะปิด ซึ่งลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ตามกำหนดอันควรได้รับ จะกราบทูลถึงการปะปิด แต่ก่อนนี้ใช้กระดาษตีพิมพ์ตราปะปิด เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปใช้กระดาษเปล่าปิด มีแต่ตราประทับที่รอยปิด ๕ คราวมาแล้ว เห็นสมควรมาก ตีพิมพ์กระดาษสำหรับปะปิดเปลืองไปเปล่าๆ จะกราบทูลสนองข้อความในลายพระหัตถ์ที่ได้รับใหม่นั้นลางข้อต่อไปนี้

๖) เรื่องสัตว์หิมพานต์อาจกราบทูลได้มาก เพราะได้ศึกษามาในทางนั้นมาก

กินนรจีน เป็นของทำขึ้นเมื่อครั้งพระเมรุสมเด็จพระนางสุนันทา เจ้าต๋งเป็นผู้คิด คิดตามแนวสัตว์หิมพานต์ซึ่งเคยสำหรับงานพระเมรุมาแต่ก่อนซึ่งจับโน่นชนนี่ ทำที่วังพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ หลวงเลขาวิจารณ์ (จีน ซึ่งเรียกกันว่า “หลวงจัน”) เป็นผู้ปั้นตลอดถึงเขียนที่รูปจีนเบื้องบน แต่ที่กะว่าให้ทำกี่คู่นั้นไม่ทราบว่าใครกะ แต่ไม่มีอย่างอื่น ต้องเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกะ

หลวงจีนนั้นก็ประหลาด เกล้ากระหม่อมเคยพบมาก่อนทีหนึ่งแล้วมาอวดดีต่างๆ ก็ให้นึกเกลียดหน้า แต่ครั้นฝ่าพระบาทตรัสใช้ให้แต่งห้องโรงทหารมหาดเล็ก ในงานเฉลิมพระชันษาคราวหนึ่งเป็นอย่างจีน ให้ทำกับนายต่วน (นายใหญ่) เขาบอกว่างานมากนัก จะไปตามเพื่อนมาช่วย เพื่อนของเขาที่โผล่หน้ามาก็คือนายจีนนั่นเอง ตั้งแต่รวมงานกันคราวนั้นมาก็เลยคุ้นเคยกัน แต่ก็ไม่พ้นอวดดีไปได้ เว้นแต่ค่อยยังชั่วลง เพราะจะรู้สึกว่าเกล้ากระหม่อมก็เข้าใจการช่างอยู่บ้างหรืออย่างไรไม่ทราบ

พระดำรัสตามพระดำริ ว่าสัตว์หิมพานต์เดิมทีคงมีน้อย แล้วมาปรุงขึ้นสำหรับการพระเมรุจึงมีมากนั้น เป็นการถูกแท้ทีเดียว ตำราสัตว์หิมพานต์ก็เห็นมีแต่ตำราทำสำหรับการพระเมรุเท่านั้น ตำราตัวจริงไม่เห็นมี หมดดีเสียที่รูปสิงห์กับราชสีห์ก็เข้าใจว่าเป็นคนละอย่าง ทำรูปสิงห์ไปอย่างหนึ่ง รูปราชสีห์ไปอีกอย่างหนึ่ง ได้เคยสังเกตมาแล้ว รูปราชสีห์คชสีห์มีมาแล้วแต่อินเดีย รูปนกหัสดินก็มีแต่หัวไม่มีงวงมีงา เป็นอย่างนกอินทรีเท่านั้นเอง เว้นแต่เฉี่ยวเอาช้างไปกินตั้งสองสามตัวแสดงว่าใหญ่

นก “ทัณฑมานวก” นั้นได้เคยค้นมาทีหนึ่งแล้ว ในพระบาลีว่ามีปากยาวดุจไม้ท้าวจดอยู่บนใบบัว แสดงว่าตัวเล็กมาก ไม่ใช่ตัวเป็นครุฑ ที่ทำตัวให้เป็นครุฑก็เพราะไม้ท้าวนำไป ถ้าตัวไม่เป็นคนก็ไม่ได้ ไม่มีมือถือไม้ท้าว

ครุฑนั้นก็ประหลาด ในทางสังสกฤตเป็นชื่อเฉพาะตัวเดียว แต่ในทางบาลีเป็นชื่อสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งมีอยู่มากมาย เช่นเรื่องพระอินทร์ลักพาเอานางสุชาดาไป อำนาจความกระเทือนของรถก็ทำให้ลูกครุฑตกลงมาจากรัง ครุฑนั้นลิ้นกวีที่ว่าไว้เดิมก็เป็นนก แต่แล้วลิ้นกวีที่ว่าต่อๆ ไปเอากิริยาคนใส่มากขึ้น รูปก็ต้องกลายเป็นครึ่งนกครึ่งคนไป ไม่เช่นนั้นก็ทำกิริยาอย่างใดไม่ได้ “เวนตย” ซึ่งมาเป็น “เวนไตย” นั้นก็เป็นครุฑตัวต้นโดยจำเพาะ แปลงมาแต่คำ “วินตา” อันเป็นชื่อแม่ หมายความว่าเกิดแต่นางวินตา “มยุรเวนไตย” เป็นจับโน่นชนนี่ รูปร่างเป็นครึ่งวิทยาธรครึ่งนก ถือหางนกยูงแสดงว่าเหลวขาดความรู้

“กินนร” นั้นชอบกลทางบาลีสังสกฤตเป็นตัวผู้ ว่าหน้าเป็นม้าตัวเป็นคน เป็นบริวารของท้าเวสวัณ นัยหนึ่งว่าเป็นคนธรรพพวกเล่นเพลงของเทวดา โดยลักษณะนี้เรียกว่า “อัศวมุขี” ก็เรียก เลือนมาทางไทยกลายเป็น “อัคขมูขี” เพราะฟังไม่สรรพจับมากระเดียด ที่ตรงตามเดิมก็มี คือนางแก้วหน้าม้า แต่กลายเป็นผู้หญิงไป กินนรผู้หญิงต้องเป็น “กินนรี” ทางบาลีสังกฤตแปลว่านางฟ้า หรือถัดมาก็เป็นอัปสร คือละครของเทวดา ตามที่ว่านี้เข้ารูปเรื่องนางมโนหราที่ว่าใส่ปีกหาง ที่แท้ “กินนร” หรือ “กินนรี” ไม่มีกล่าวถึงปีกหางเลย แต่ทำไมจึงทำเกี่ยวกับนกไปไม่ทราบ รูปที่พบเป็นครึ่งคนครึ่งนกก็มี ที่เป็นรูปคนติดปีกติดหางอย่างนางมโนหราก็มี ล้วนแต่เป็นนางทั้งนั้น ที่ทำรูปกินนรผู้ชายก็มี แต่มีน้อย จะต้องปรับว่าทำเหลวด้วยไม่รู้

๗) แม่สีทั้ง ๕ นั้น เหตุใดจึ่งเรียกว่าแม่สี เพราะเหตุว่าจะผสมสีอะไรก็ใช้สีซึ่งเป็นแม่นั้นผสมไปสิ้นด้วยกัน เช่นสีชมพูก็คือขาวกับแดง สีแสดก็เหลืองกับแดง สีเขียว (ใบไม้) ก็คือเหลืองกับคราม สีเขียวแก่ก็คือเหลียงกับดำ สีม่วงก็คือแดงกับคราม เช่นนี้เป็นต้น

๘) เรื่องเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วนั้น เป็นของยังไม่เคยทราบจึ่งกราบทูลถามมา ที่จริงหน้าที่เปลื้องเครื่องพระแก้วก็เคยได้ปฏิบัติ แต่เจ้าพนักงานเขาเปลื้องไว้เสร็จแล้ว ผู้ที่ได้ชื่อว่าไปเปลื้องเครื่องพระแก้วนั้น ที่จริงไม่ได้เปลื้องเป็นแต่ไปสรงน้ำหอมเท่านั้น แล้วเจ้าพนักงานเขาก็ทรงเครื่องใหม่ จะดูสังเกตฝีมือเครื่องทรงก็ไม่ได้ เห็นแต่ที่ตั้งอยู่บนที่ห่างเต็มทีไม่เห็นฝีมือทำเครื่องทรง

๙) พระกริ่งซึ่งสมเด็จพระสังฆราชให้เมื่องานฉลองอายุที่วัดสุทัศน์ เกล้ากระหม่อมก็อยากทราบว่าเป็นพระที่ท่านหล่อคราวไหน ในใบกำหนดการซึ่งกรรมการศิษย์ของท่านให้มาก็มีการหล่อพระวันหนึ่ง แต่จะเป็นหล่อพระอะไรก็ไม่ปรากฏในนั้น ถ้าเป็นพระกริ่งที่ท่านให้ก็น่ากลัวจะแต่งไม่ทัน นี่ว่าตามแบบเก่า ย่อมเป็นการใหญ่ล้าช้าอยู่ที่แต่ง เพราะเจ้าของพระก็ต้องการให้พระงาม ผู้ทำก็ต้องเลือกเอาผู้แต่งซึ่งเคยแต่งที่พึงไว้ใจได้ เมื่อพระหลายองค์ผู้แต่งคนเดียวก็จำต้องล่าช้าอยู่เอง แต่ถ้าไม่พิถีพิถันอย่างนั้น สุดแต่ใครสามารถะแต่งให้เกลี้ยงได้ก็ให้แต่งแล้วก็ไม่จำจะต้องช้า ขนาดพระก็ทีจะเท่ากับพระกิ่งเขมร เว้นแต่หน้าพระและห่มผ้านั้นเป็นอย่างไทย ข้อสงสัยอันนี้ได้ถามตัวท่านแล้ว ท่านบอกว่าเป็นพระที่หล่อใหม่ในการฉลองอายุนั้น การแต่งช้าหรือเร็วย่อมเกี่ยวแก่การหล่อ ถ้าหล่อได้เกลี้ยงการแต่งก็เร็ว ถ้าหล่อได้ขุรขระมากการแต่งก็ช้า พระองค์เจ้าประดิษฐวรการท่านบอกว่าการหล่อมีฤกษ์นั้นยากกว่าการหล่อตามใจ เพราะจะต้องกะให้การเผาพิมพ์และหลอมทองพอดีกับเวลาฤกษ์ ยิ่งการเททองด้วยแล้วก็ยิ่งยากหนักขึ้น เพราะถึงเวลาฤกษ์แล้วยังไม่เสด็จออกจะทำอย่างไร ต้องมีวิธีที่จะแก้ไขผ่อนผัน เพราะการเผาพิมพ์จะได้ที่ก็มีกำหนด ถ้าเผาอ่อนไปเททองก็ไม่เดิน ถ้าแก่ไปพิมพ์ก็แตกเททองมีลำลาบมาก การหลอมทองก็ลำบากเหมือนกัน ถ้าอ่อนไปก็เทไม่เดิน ถ้าแก่ไปก็ไหม้ทำให้เนื้อน้อยไปเทไม่เต็มแม่พิมพ์

๑๐) การส่งศพชายวิบูลย์ซึ่งชมว่าเป็นการสะดวกดีนั้น ชมด้วยหากว่าถ้าคิดจะเผาแล้วเผาที่กรุงเทพฯ สะดวกกว่าเผาที่ปีนัง เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกว่าเขาทำกันในบ้านเมืองนั้น เช่นที่กราบทูลถึงพระสถาปนาแกบ่น นั่นก็ไม่ใช่อะไรเป็นเหตุด้วยทำต่างไปจากประเพณีของบ้านเมืองจึงหาอะไรได้ยาก

๑๑) นิทานโบราณคดี เรื่องพระพุทธรูปแปลกประหลาด ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานเข้าไปนั้น เรื่องพระพุทธนรสีห์ไม่สู้ประหลาดเพราะได้ทราบเรื่องอยู่แล้ว แต่เรื่องพระพุทธรูปอันจะตั้งชื่อขึ้นบัดนี้ว่า “พระวิวาท” นั้นได้เคยตรัสเล่ามาบ้าง แต่ไม่ได้ทราบตลอดเรื่อง เมื่อได้อ่านเรื่องทราบความตลอดจึงพอใจยิ่งนัก ในการที่พระพุทธรูปทำให้เกิดวิวาทนั้น ไปซัดเอาพระเข้าเปล่าๆ ที่จริงวิวาทกันโดยธรรมดาเท่านั้น

ทองที่หล่อพระ ถ้าเป็นทองเหลือง (ผสมทองแดงกับตะกั่ว) แล้วเกล้ากระหม่อมปรับว่าเป็นของใหม่ เพราะวิธีผสมอย่างนั้นเป็นของเพิ่งคิดได้ เก่าขึ้นไปเขาผสมอย่างอื่น

นึกถึงคนเล่นของเก่า เกล้ากระหม่อมเห็นเขลาที่สุด จะมีประโยชน์อะไรแก่ของเก่า อย่างพวกกิมตึ๋งเขาเรียกว่า “เก่ากะลา” นั่นเห็นดีที่สุด เกล้ากระหม่อมไม่ถือเวลา สุดแต่ว่างามตาพอใจแล้ว ถึงจะเป็นของทำเมื่อวานนี้ก็ช่างเป็นไร พูดถึงเล่าของเก่าก็นึกเรื่องขึ้นมาได้ วันหนึ่งไปไหนกลับมาถึงบ้าน เห็นรูปพระกาลทรงนกแล้วสลักด้วยไม้ผุพังแล้วมาผูกไว้ที่เสาเรือน ประหลาดใจจึ่งถามเด็กว่านี่มาแต่ไหน เด็กบอกว่าจางวางรอดเอามาขาย จึ่งให้แก้ออกส่งคืนไปทันที บอกว่าให้เอาไปขายคนเล่นของเก่าเถิด

เสียทีที่ได้ไปถึงเมืองทุ่งยั้งแต่ไม่ได้ไปเที่ยวดู จะเป็นด้วยอุปสรรคอะไรก็จำไม่ได้ ฝ่าพระบาทได้เสด็จไปทอดพระเนตร ถ้าทรงพระเมตตาโปรดตรัสเล่าให้เกล้าทราบบ้าง มากกว่าที่ตรัสเล่าไว้ในนิทานโบราณคดีก็จะเป็นพระเดชพระคุณหาน้อยไม่

เบ็ดเตล็ด

๑๒) ชายจุมภฎให้พระพุทธรูปธิเบตองค์หนึ่ง หน้าตักสัก ๔ นิ้ว ตั้งใจทำเป็นพระทรงเครื่อง เครื่องลางอย่างหล่อติดในตัวก็มี ที่ทำขึ้นทีหลัง เอาผูกเข้าด้วยเชือกก็มี สังเกตการตกแต่งเห็นเป็นเก่ามาก แต่อะไรๆ ก็ไปผิดไปจากที่เคยเห็น ที่ภายในฐานนั้นมีม้วนกระดาษยัดไว้เต็ม ชักออกมาคลี่ดูเห็นเป็นหนังสือรูปสังสกฤต เว้นแต่อ่านไม่ออกเพราะผิดกับหนังสือสังสกฤต แต่ละตัวมีขีดมากมาย คิดว่าคงเป็นตัวผสม ด้วยเคยเห็นฝรั่งเขาเขียนภาษาธิเบตเป็นตัวอะไรลั่งๆ ควบกัน แม้จะได้ถ่ายออกเป็นหนังสือฝรั่งแล้ว ก็อ่านไม่ออกอยู่นั่นเอง คิดว่าจะเป็นคำสวดมนต์อย่างเดียวกับที่ใส่กระบอกหมุน คงเป็นสรรเสริญพระพุทธคุณ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ